กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน

Notices

กระทู้ถูกปิด
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 14-08-2009, 10:36
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,367
ได้ให้อนุโมทนา: 150,682
ได้รับอนุโมทนา 4,397,011 ครั้ง ใน 33,956 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒

ขยับตัวนั่งในท่าที่สบายที่สุดของเรา ถ้านั่งสบายมากไม่ได้ ก็เอาแค่เท่าที่ทำได้ อย่าลืมหายใจเข้าออกยาว ๆ สัก ๒-๓ ครั้งก่อน หลังจากนั้นค่อย ๆ กำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจเข้านึกว่าพุท หายใจออกนึกว่าโธ หายใจเข้าภาพพระไหลเข้าไปในท้อง หายใจออกภาพพระไหลออกมาอยู่บนศีรษะ พยายามทำอย่างนี้ให้มีความคล่องตัวทุกวัน ถ้ามีความคล่องตัวเพียงพอ เราสิ้นชีวิตลงไป เราสามารถที่จะเลือกได้ ว่าเราจะไปเกิดที่ไหน หรือจะไม่นิยมการเกิดเลยจะเข้าสู่นิพพานก็ย่อมได้ ดังนั้นเรื่องอานาปานสติ ลมหายใจเข้าออก เป็นสิ่งสำคัญมาก

ลำดับต่อจากนั้นไปก็เป็นเรื่องของพรหมวิหาร ๔ เราแผ่เมตตาไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า ตั้งความหวังดี ปรารถนาดีแก่เขาทั้งหลายเหล่านั้น ว่าให้เขาทั้งหลายพ้นจากความทุกข์ มีแต่ความสุข อย่าได้มีเวรมีกรรมและเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย การแผ่เมตตาถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากว่าทำให้กำลังสมาธิของเราทรงตัว ทำให้จิตใจของเราชุ่มชื่นเบิกบาน ไม่อิ่มไม่เบื่อกับการปฏิบัติ เป็นต้น

หลังจากการแผ่เมตตาแล้วเราก็มาดูให้เห็นถึงความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ของตัวเราก็ดี ของผู้อื่นก็ดี ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีอยู่กับเขาทั้งหลายเหล่านั้นเป็นปกติ ถ้าเราลองนึกย้อนกลับไป ตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่ในท้องแม่

การที่อยู่ในท้องแม่นั้นมีความทุกข์หลายประการเหลือเกิน ประการแรก อยู่ในที่แคบต้องคดงออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลาหลายเดือน ทั้งปวดทั้งเมื่อย ประการที่สอง ก็คือ การอยู่ในท้องแม่ต้องเจอกับไฟธาตุในร่างกายของแม่ที่คอยเผาคอยเคี่ยวอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งสมบูรณ์เพียงพอที่จะคลอดออกมาสู่โลกภายนอกได้ ซึ่งอย่างน้อยก็ประมาณ ๙-๑๐ เดือน หลังจากนั้นคลอดออกมา กระทบความหนักของอากาศ ความร้อนความหนาว เจ็บแสบไปทั้งตัว จะเห็นได้ว่าเด็กเกิดใหม่จะร้องไห้จ้า เพราะว่าทนการกระทบของอากาศไม่ได้ ลักษณะอาการอย่างนั้นเห็นชัดเลยว่าเป็นทุกข์

หลังจากนั้นก็ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของชีวิต หิวต้องกิน กระหายต้องดื่ม ปวดอุจจาระ ปัสสาวะต้องถ่าย เจ็บไข้ได้ป่วยต้องรักษาพยาบาล ถ้าหากว่าฐานะทางบ้านไม่ถึงพร้อม ไปโรงพยาบาลไม่ได้ ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ก็จะขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นเราจะเห็นว่าตลอดเวลาเรามีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น

หลังจากนั้นเมื่อเติบโตขึ้นมาก็ต้องศึกษาเล่าเรียน ต้องไปทุกข์กายทุกข์ใจอยู่ที่โรงเรียน ทำการบ้านไม่ทันบ้าง ไม่เข้าใจบทเรียนบ้าง ทะเลาะกับเพื่อนบ้าง จะต้องตรากตรำดูหนังสือในการสอบบ้าง ชีวิตมีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่าโชคดีเรียนเก่ง สามารถที่จะจบตามเวลาที่กำหนด ถ้าโชคไม่ดีเรียนไม่เก่ง ก็อาจจะต้องตกซ้ำชั้น แม้ว่าสมัยนี้จะไม่มีการซ้ำชั้นแล้ว แต่ก็ยังต้องไปเรียนซ่อมจนกว่าจะผ่าน หลังจากนั้นเมื่อเรียนจบแล้ว การที่เติบโตขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็จำเป็นที่จะต้องมีคู่ครองตามสภาพเรียกร้องของธรรมชาติ

พอเริ่มรักใครหวังเขาเป็นคู่ครอง ก็มีความทุกข์เป็นปกติ เนื่องจากว่ากลัวเขาจะไม่รักตอบ กลัวเขาจะไปปันใจให้คนอื่น พยายามที่จะดิ้นรนไขว่คว้าเขามาเป็นของเรา แทบจะกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายจะรักเราหรือเปล่า ถ้าหากเราเกิดมาพร้อมกับบุญกุศลที่หนุนเสริม เรียนจบได้โดยง่าย คู่ครองก็ยินดีที่จะแต่งงานด้วย เมื่อแต่งงานเข้าไปความทุกข์ก็เพิ่มขึ้น

ก่อนหน้านั้นทุกข์อย่างไรก็ทุกข์คนเดียว แต่ตอนนี้เป็นเรื่องของคนสองคนแล้ว ถ้าหากว่ามีลูกยิ่งมากคนเท่าไหร่ภาระก็มากขึ้นเท่านั้น อย่างที่โบราณเขาว่ามีลูกไปหนึ่งคนจนไปเจ็ดปี สมัยนี้มีลูกหนึ่งคนจนไป ๒๒ ปี อย่างน้อยต้องรอจนกว่าลูกจะเรียนจบปริญญาตรี มาทำงานช่วยเหลือครอบครัว จึงจะพ้นจากสภาพนี้ได้ชั่วคราว

เราจึงได้เห็นว่าความทุกข์อยู่กับเราตลอดเวลา หลังจากแต่งงานไปแล้วก็มีลูก ขันธ์ ๕ ไม่พอ กลายเป็นขันธ์ ๑๐ เป็นขันธ์ ๑๕ มีอีกคนก็เป็นขันธ์ ๒๐ ความทุกข์เกิดขึ้นตลอดเวลา เพียงแต่ว่ามันโดนปิดบังอยู่ ทำให้ไม่สามารถจะมองเห็นได้ชัดเจน เราก็ไม่ได้คิดถึงว่ามันทุกข์

อย่างเช่นว่านั่งนาน ๆ แล้วมันเมื่อย จริง ๆ ความเมื่อยก็คือความทุกข์ แต่เราเคยชินกับการเปลี่ยนอิริยาบถ หรือการเดินไปเดินมา เป็นต้น ในเมื่อตัวเราอยู่กับความทุกข์ เรารู้จักทุกข์แล้วดีพอหรือยัง
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 26-12-2009 เมื่อ 14:04
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 14-08-2009, 11:19
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,367
ได้ให้อนุโมทนา: 150,682
ได้รับอนุโมทนา 4,397,011 ครั้ง ใน 33,956 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ธรรมชาติของทุกข์คือสิ่งที่เราต้องทน สิ่งใดก็ตามที่ทำให้เราต้องทนไม่มากก็น้อย ล้วนแล้วแต่เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น ความทุกข์เกิดขึ้นต้องมีสาเหตุ ถ้าไม่มีสาเหตุทุกข์เกิดไม่ได้

ทุกข์ในชีวิตของเรานั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า เกิดขึ้นจากตัณหา คือ ความทะยานอยาก มีภวตัณหา อยากมี อยากได้ อยากเป็นตามสภาพ วิภวตัณหา ไม่อยากมี ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น อย่างเช่น แก่แล้ว...ไม่อยากแก่ เจ็บแล้ว...ไม่อยากเจ็บ ป่วยแล้ว...ไม่อยากป่วย ตายก็...ไม่อยากจะตาย เป็นต้น เมื่อเป็นดังนี้ แสดงว่าความทุกข์ครอบงำเราอยู่ตลอดเวลา

ในเมื่อสาเหตุของความทุกข์คือความอยาก ทำอย่างไรเราจะลดความอยากหรือละความอยากไปได้ อันดับแรก ก็ต้องมีอำนาจเพียงพอที่จะไปต่อต้านกับความอยากทั้งหลายเหล่านั้น อำนาจทั้งหลายเหล่านั้นจะได้มาโดยศีล สมาธิ และปัญญา

ศีล คือการรักษากายวาจาของเราให้อยู่ในกรอบ สมาธิ คือการทรงกำลังใจตั้งมั่นเพื่อให้เกิดกำลัง และปัญญาคือการรู้แจ้งเห็นจริงตามสภาพของชีวิต จิตใจยอมรับมันได้ ปลดมันลงโดยไม่แบกเอาไว้ ถ้าเป็นดังนี้ก็ชื่อว่าเรารู้จักทุกข์ และรู้จักวิธีจัดการกับทุกข์ ก็คือ ไม่ให้ความใส่ใจกับมันมากมาย ลักษณะเหมือนกับการแบกสิ่งที่หนัก ๆ เอาไว้ และขณะเดียวกันก็ต้องรู้เท่าทันตามความเป็นจริงของมันด้วย ว่าตราบใดที่เรายังอยู่ในสังคม สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นต้องมีไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เราโดนคำครหานินทาเป็นต้น

เมื่อเรารู้ว่าศีล สมาธิ และปัญญาจะช่วยให้เราพ้นจากความทุกข์ได้ ก็ต้องเร่งทำให้มากไว้ เราอาจจะต้องใช้สิ่งหนึ่งเมื่อใดก็ได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราจำเป็นต้องมีการเตรียมการ

สิ่งต่าง ๆ ที่ต้องบำรุงดูแลรักษาร่างกายล้วนแต่สร้างความทุกข์แก่เราทั้งสิ้น ถ้าเรายิ่งอยากต้องการมากเท่าไรความทุกข์ก็ยิ่งเกิด ทำอย่างไรที่ศีล สมาธิ ปัญญาของเราจะมีให้มากพอ ที่จะระงับความอยากจนถึงจุดนี้ เพื่อที่จะไม่สร้างสาเหตุของความทุกข์ เมื่อเราไม่สร้างสาเหตุความทุกข์ก็ไม่เกิด สาเหตุใหญ่ก็คือ เราเกิดขึ้นมา ถ้าปรารถนาการเกิดเมื่อไหร่ แปลว่าเราปรารถนาความทุกข์ สถานที่ที่ไม่เกิดไม่ตาย มีที่เดียวคือพระนิพพาน เป็นที่ที่พ้นทุกข์ทั้งปวง เราควรที่จะไปที่นั้น
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 14-08-2009 เมื่อ 15:16
สมาชิก 43 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 14-08-2009, 15:40
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,367
ได้ให้อนุโมทนา: 150,682
ได้รับอนุโมทนา 4,397,011 ครั้ง ใน 33,956 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ดังนั้น..เราต้องควบคุมศีลของเราให้อยู่ในกรอบ เพื่อรักษากายวาจาของเราให้มีกำลัง ไม่ไหลไปตามสภาพของทางโลก เพื่อเพาะสร้างกำลังให้เข้มแข็งจะได้ก้าวล่วงไปสู่แดนเกษมนั้นได้ เราต้องสร้างสมาธิให้เกิด เพื่อจะได้มีกำลังกาย กำลังใจ ในการที่จะฝ่าฟันข้ามพ้นทะเลทุกข์ เราต้องสร้างปัญญาให้เกิดเพื่อจะได้หลบหลีกก้าวข้ามความทุกข์ไปให้ได้

เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราทั้งหมดมุ่งหวังเพื่อความพ้นทุกข์ เราก็มาพิจารณาว่าจิตใจของเรา ปลดออกจากร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์นี้แล้วจริง ๆ หรือยัง ถ้ายัง...ติดอยู่ตรงจุดไหนบ้าง ยังรักอยู่หรือไม่ ยังโลภอยู่หรือไม่ ยังโกรธอยู่หรือไม่ ยังหลงอยู่หรือไม่ ถ้าหากยังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ ก็พยายามที่จะละมันเสีย อย่างเช่นละโลภด้วยการให้ทาน ละโกรธด้วยการรักษาศีลและเจริญพรหมวิหาร ละความหลงด้วยการเจริญสมาธิให้มีสติมั่นคงอยู่ตรงเฉพาะหน้า เป็นต้น

การปฏิบัติของเราที่มุ่งพ้นจริง ๆ ก็ให้เน้นเข้าหาอารมณ์พระอริยเจ้า คือ พระโสดาบันเป็นอย่างน้อย ทำความเคารพพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระอริยสงฆ์อย่างจริงจัง ไม่ล่วงเกินด้วยกาย วาจา หรือใจ รักษาศีลทุกสิกขาบทให้สมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดด้วยตัวเอง ไม่ยุงยงให้คนอื่นทำ ไม่ยินดีเมื่อคนอื่นทำ ท้ายสุดตั้งใจเอาไว้ว่าตายเมื่อไหร่ขอไปพระนิพพานที่เดียว

หลังจากนั้นเพื่อการประกันความเสี่ยง ก็ให้จับภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพานเอาไว้ เอาจิตเกาะท่านให้มั่น อยู่กับลมหายใจเข้าออกของเรา ตั้งใจว่าเราตายเมื่อไรขออยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรงนี้ คืออยู่บนพระนิพพาน เมื่อถึงจุดนั้นแล้วเอาจิตปักมั่นอยู่ตรงจุดนั้น แล้วภาวนาให้สมาธิทรงตัว โดยการกำหนดระยะเวลาตามสมควรที่เหมาะ ที่ควรแก่ตัวของเราเอง

สำหรับตอนนี้ระยะเวลาในการปฏิบัติของเราซึ่งมีน้อยอยู่ ไม่เพียงพอ ก็ให้ทุกท่านตั้งใจรักษากำลังใจเอาไว้ โดยการแบ่งความรู้สึกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งกำหนดภาพพระ กำหนดลมหายใจหรือคำภาวนาไปด้วย อีกส่วนหนึ่งก็พร้อมที่จะทำหน้าที่การงานต่าง ๆ ตามสภาพร่างกายของเราไปด้วย ดังนั้นเมื่อทุกท่านค่อยคลายกำลังสมาธิออกมา แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งอยู่กับคำภาวนาอยู่กับภาพพระของเรา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามให้กำลังใจส่วนนั้น เกาะพระหรือเกาะคำภาวนาไว้เสมอ ส่วนที่เหลือเราก็ใช้ในการทำหน้าที่ของเรา อย่างเช่นการอุทิศส่วนกุศลในขณะนี้ของเรา เป็นต้น

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันอาทิตย์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
กระทู้ถูกปิด


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 
คำสั่งเพิ่มเติม

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:25



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว