กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน

Notices

กระทู้ถูกปิด
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 29-07-2009, 10:11
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,456
ได้ให้อนุโมทนา: 151,087
ได้รับอนุโมทนา 4,400,079 ครั้ง ใน 34,045 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒

ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตนเอง ถนัดนั่งขัดสมาธิ...ก็ขัดสมาธิ ถนัดนั่งพับเพียบ....ก็นั่งพับเพียบ เพียงแต่ว่าตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่เฉพาะตรงหน้า หายใจเข้าออกสัก ๒-๓ ครั้ง เพื่อระบายลมหยาบออก จากนั้นกำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป กำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา หายใจเข้า...ความรู้สึกทั้งหมดตามเข้าไปด้วย ให้รู้ว่ามันผ่านจมูก ผ่านอก ลงไปสู่ที่ท้อง
หายใจออก....ให้มันรู้ว่าออกจากท้อง ผ่านกลางอก ผ่านที่จมูก หายใจเข้าพร้อมกับคำภาวนาที่เราถนัด หายใจออกพร้อมกับคำภาวนาที่เราถนัด ให้กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่างนี้ ถ้าจิตไปคิดเรื่องอื่นให้สลัดทิ้งเสีย กลับมาอยู่กับลมหายใจของเราตามเดิม

ความกังวลนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า ปลิโพธะ อ่านกันง่าย ๆ ว่าปลิโพธ มีอยู่ ๑๐ อย่างด้วยกัน คืออาวาสปลิโพธ กังวลด้วยที่อยู่ อย่างเช่นว่า บางคนคิดเป็นห่วงบ้าน ปิดดีแล้วหรือยัง ล็อกประตูดีแล้วหรือยัง ถ้าหากจิตไปคิดไปห่วง ก็ไม่สามารถที่จะทำให้สมาธิทรงตัวได้ ต้องทำใจไปเลยว่าตอนนี้เราอยู่ที่นี่ ถึงแม้มันไม่ได้ปิดไม่ได้ล็อกก็ตามที เราก็ไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้ในตอนนี้

หรือทำใจให้ได้เหมือนอย่างอุบาสิกาในพระไตรปิฎก ที่ไปฟังพระลูกชายของตนเองเทศน์ แล้วสาวใช้มาบอกว่าโจรกำลังปล้นบ้าน เธอตอบว่า 'แม่คุณอย่าทำให้ฉันฉิบหายจากความดีเสียเลย โจรอยากได้อะไรก็จงเอาไปเถิด เราจะฟังธรรม' อันนี้คือสามารถตัดปลิโพธิ คือความกังวลได้อย่างเด็ดขาด ใส่ใจอยู่กับธรรมเฉพาะหน้าเท่านั้น

ข้อที่สองเรียกว่า กุลปลิโพธ ก็คือ ความยึดห่วงอยู่กับตระกูล อยู่กับครอบครัว ห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ว่าจะเป็นอย่างไร และท้ายสุดห่วงแม้กระทั่งตนเองว่าจะเป็นอย่างไร

ตรงนี้ก็ต้องเอาตัวอย่างพระภิกษุในพระไตรปิฎก ไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านตลอดสามเดือน เมื่อออกจากบ้านนั้นไป ก็เจอกับพระอุปัชฌาย์ที่เป็นลุง บอกว่าตนเองไปอยู่ที่บ้านมาสามเดือน เขาถวายของสิ่งนั้นสิ่งนี้มา แล้วก็นำถวายพระอุปัชฌาย์ พระอุปัชฌาย์ที่เป็นลุงก็รับของจากพระภิกษุผู้เป็นหลาน พระอุปัชฌาย์เมื่อมาเยี่ยมบ้าน เดินเข้าไปในบ้าน น้องสาวเห็นก็ดีใจ แต่พอเห็นว่าลูกชายไม่ได้มาด้วย ก็ร้องไห้คร่ำครวญคิดว่าลูกจะตายแล้ว โดยไม่รู้ว่าลูกตนเองมาอยู่จำพรรษาที่บ้านตลอดสามเดือน แสดงว่าลูกคงไปบวชเสียตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อกลับมาตอนโตเป็นหนุ่มใหญ่แล้วคงจำไม่ได้ ผู้เป็นพี่ชายที่เป็นอุปัชฌาย์จึงต้องเอาสิ่งของที่รับจากบ้านมายืนยัน ว่าลูกชายมาจำพรรษาอยู่ที่นี่ตลอดสามเดือน ผู้เป็นแม่จึงได้สติว่า เออหนอ อัศจรรย์จริง ๆ ลูกของเราตัดความห่วงความกังวลได้ขนาดนี้ แม้แต่เวลาที่อยู่ด้วยก็ไม่เคยปริปากมาสักคำเดียวว่าเราเป็นลูกของแม่ เป็นผู้มักน้อยสันโดษ ตั้งใจปฏิบัติธรรมโดยตรง ดังนั้นเรื่องทั้งหลายเหล่านี้เราต้องดูคนโบราณว่าเขาทำอย่างไร ขึ้นชื่อว่าเป็นห่วงในตระกูล ห่วงได้ แต่อย่ากังวล เพราะว่าทำให้จิตใจเราเศร้าหมองแล้วไม่ตั้งมั่น

ข้อต่อไปเขาเรียกว่า ลาภปลิโพธ ก็คือ ความกังวลในลาภสักการะ ถ้าเป็นของเราก็คือพวกกิจการงานต่าง ๆ ถ้าหากว่าไม่ได้ทำอาจจะเสียหาย อาจจะไม่มีรายได้ที่เคยรับประจำ เป็นต้น ขอให้โยนทิ้งไปจากใจเลยว่าตอนนี้เราอยู่ที่นี่ กังวลไปก็ไม่มีประโยชน์ มันจะเป็นอย่างไรช่างมัน กลับไปแล้วค่อยแก้ไขจัดการใหม่
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 26-12-2009 เมื่อ 13:53
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 29-07-2009, 10:28
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,456
ได้ให้อนุโมทนา: 151,087
ได้รับอนุโมทนา 4,400,079 ครั้ง ใน 34,045 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ข้อที่สี่เรียก คณปลิโพธ เป็นห่วงเพื่อนฝูง นั่งอยู่ตรงนี้ก็ไปคิดถึงคนที่ไม่ได้มา เออหนอ...น่าเสียดายจริง เขาไม่ได้มา ทำให้ไม่ได้มานั่งปฏิบัติธรรมอย่างเรา เรามัวแต่ห่วงเขาจิตใจก็เลยฟุ้งซ่านไม่ตั้งมั่น

ข้อที่ห้าเรียกว่า กัมมปลิโพธ คือ ห่วงงาน ตรงนี้ชัดเลย งานที่ทำค้างอยู่ งานที่ทำไม่เสร็จ ไปคิดไปกังวล จิตใจก็ไม่รวมตัวเป็นสมาธิ


ข้อที่หก ท่านเรียกว่า อัทธานปลิโพธิ ห่วงกังวลกับการเดินทาง ต้องเตรียมการอย่างนั้น ต้องเตรียมการอย่างนี้ เสื้อผ้ายังไม่ได้จัดใส่กระเป๋า ยารักษาโรคยังไม่ได้เตรียมไว้ มะรืนนี้จะมีพุทธาภิเษกแล้ว เราจะขนอะไรไปดี มัวแต่กังวลอยู่ จิตใจฟุ้งซ่านก็ไม่ตั้งมั่นได้

ข้อเจ็ดเขาเรียกว่า ญาติปลิโพธ หรือญาตะปลิโพธ ความห่วงกังวลในญาติของตัวเอง คนนั้นเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างนั้น คนนี้ทะเลาะกับครอบครัว เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องนอกกายทั้งหมด เป็นเรื่องของคนอื่นทั้งหมด มีเวลาแล้วค่อยไปช่วยเขาแก้ไข แต่ตอนนี้เรามีหน้าที่ปฏิบัติ ขอให้ทำของเราให้เต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องของเขา

ข้อที่แปดเรียก อาพาธะปลิโพธ หรืออาพาธปลิโพธ คือ กังวลอยู่กับความเจ็บป่วย เราเองแข้งขาไม่ดี นั่งนาน ๆ จะลุกขึ้นได้หรือเปล่า หรือตัวเราเองมีโรคประจำตัวอยู่ นั่งนาน ๆ มันจะทรุดหนักไหม ยาอมใต้ลิ้นก็ไม่ได้เอามา เวลาอาการโรคกำเริบแล้วจะเป็นอย่างไร มัวแต่กังวลอยู่จิตใจก็ไม่ทรงตัวเสียที

ข้อเก้าท่านเรียกว่า คันถปลิโพธิ คือ ห่วงด้วยการศึกษาเล่าเรียน ตรงนี้ไม่ว่าผู้ที่เป็นนักเรียน ไม่ว่าพระหรือฆราวาสจะทราบดี หนังสือตรงนี้ยังไม่ได้ท่องเลย พรุ่งนี้อาจารย์บอกจะเก็บคะแนนแล้ว บาลีข้อนี้ยังท่องไม่ได้ พรุ่งนี้อาจารย์จะให้ไปสอบปากเปล่า มัวแต่ห่วงมัวแต่กังวลอยู่ จิตก็เลยไม่ตั้งมั่น

ข้อสุดท้ายท่านเรียก อิทธิปลิโพธิ คือ ความกังวลในเรื่องของฤทธิ์ เรื่องของฌาน เรื่องของสมาบัติ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นของแถมในการปฏิบัติ ถ้ากำลังใจทรงตัวตั้งมั่นจริง ๆ ของพวกนี้จะเป็นเองโดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะสายของพวกเรา เป็นการปฏิบัติสายอภิญญา ของเก่ามีมากแล้วทุกคน ถ้าใจนิ่ง ใจสงบมีพลังงานแล้วจริง ๆ ถึงเวลาจะใช้งานได้โดยอัตโนมัติ

ไม่ต้องไปกังวลว่ามันจะได้หรือไม่ได้ มันจะมีหรือไม่มี เรานั่งกรรมฐานครั้งนี้เราจะรู้เห็นอะไรหรือเปล่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันพาฟุ้งซ่านทั้งนั้น เพราะว่าจุดมุ่งหมายจริง ๆ ของเรา ต้องการความสงบระงับ ไม่ให้รัก โลภ โกรธ หลงเกิดได้ จิตใจของเราจะได้ผ่องใสเยือกเย็น ปัญญาจะได้เกิดขึ้นง่าย
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 29-07-2009 เมื่อ 12:57
สมาชิก 42 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 29-07-2009, 10:40
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,456
ได้ให้อนุโมทนา: 151,087
ได้รับอนุโมทนา 4,400,079 ครั้ง ใน 34,045 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ในวันนี้ที่มาทบทวนเรื่องทั้งหลายเหล่านี้เพราะว่าปฏิบัติไปแล้ว บางคนไปยึดไปกังวลกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ โดยที่ลืมไปว่าจะต้องละ จะต้องสลัดทิ้งมัน ทำให้อารมณ์ใจไม่ทรงตัว แล้วก็ไปฟุ้งซ่านซมซานอยู่กับมัน กำลังใจไม่ทรงตัว กำลังในการต่อต้านกิเลสก็ไม่มี อย่าว่าแต่จะตัดจะละเลย แค่สู้มันก็สู้ไม่ไหวแล้ว

เมื่อท่านสลัดเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ออกจากใจทั้งหมด อยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน กำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลออกไปตามคำภาวนา ไหลตามออกมาพร้อมกับคำภาวนา หรือกำหนดภาพพระไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา

เมื่ออารมณ์ใจทรงตัวแน่วแน่แล้ว ก็ให้กำหนดใจแผ่เมตตาให้เป็นปกติ ส่งความหวังดีปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วสากลพิภพ ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นพ้นจากความทุกข์ ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นอยู่ดีมีสุข ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้นอย่ามีเวร มีกรรมและเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ให้เป็นความรู้สึกที่ออกจากใจของเราจริง ๆ รักเขาเสมอตัวเรา สงสารอยากให้เขาพ้นทุกข์ พลอยยินดีเมื่อเขาอยู่ดีมีสุข ช่วยแล้วเต็มความสามารถ ช่วยไม่ได้ก็ต้องปล่อยวาง ยอมรับว่าวาระกรรมของเขามันยังแรงอยู่ไม่สามารถจะช่วยมากกว่านี้ได้

เมื่อรักษากำลังใจของพรหมวิหาร ๔ จนทรงตัวแล้ว ก็ให้พิจารณาดูร่างกายของเรา ว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร เป็นทุกข์อย่างไร ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราอย่างไรบ้าง ถ้าสภาพจิตยอมรับเราก็จะก้าวสู่ความเป็นพระอริยเจ้าได้ง่าย แรก ๆ การพิจารณาต้องเอาให้ละเอียดมากที่สุด เหมือนกับตีอวนครั้งหนึ่งจะเอาปลาทั้งทะเล แต่พอทำบ่อย ๆ เข้า ความชำนิชำนาญเกิดขึ้น คราวนี้เราก็มุ่งเป้าเฉพาะจุดได้ เนื่องจากแค่บอกว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา มันก็ยินยอมแล้ว รับแล้ว เชื่อแล้วว่าเป็นดังนั้น

ที่เรามุ่งเป้าเฉพาะจุดว่า ร่างกายเรานี้ไม่เที่ยงอย่างไร หรือจะดูว่าเป็นทุกข์อย่างไร หรือจะดูว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอย่างไร เมื่อเห็นตนเองมีสภาพอย่างนั้นแล้ว กายของคนอื่นก็เป็นอย่างนั้น วัตถุธาตุต่าง ๆ ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าหากเราเห็นชัดเจนว่าทุกอย่างไม่มีอะไรทรงตัว เกิดมาเมื่อไรก็พบกับความทุกข์ยากเช่นนี้ ความอยากเกิดก็จะค่อย ๆ ลดน้อยถอยลง คลายลง การก้าวสู่ความเป็นพระอริยเจ้าก็จะเป็นเรื่องง่าย

ดังนั้น..ทุกท่านอย่าได้ทิ้งลมหายใจเข้าออก และหมั่นพิจารณาอยู่เสมอ ๆ บุคคลถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ก็ไม่ชื่อว่าปฏิบัติตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า บุคคลที่เห็นไตรลักษณ์แล้ว ปลดได้ วางได้ เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมัน โอกาสก้าวสู่ความเป็นพระอริยเจ้าก็มีมากกว่าผู้อื่น

สำหรับวันนี้ก็ขอตักเตือนไว้สำหรับการปฏิบัติที่ถือว่าจริง ๆ แล้วเป็นพื้นฐานเบื้องต้น แต่เราอาจจะมองข้ามจนลืมไปแล้ว ให้ทุกคนกำหนดใจอยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับคำภาวนาของเรา อยู่กับภาพพระของเรา อยู่กับการพิจารณาของเรา ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดเวลา แล้วจะให้สัญญาณบอกให้เลิกได้

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันอาทิตย์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 26-12-2009 เมื่อ 13:51
สมาชิก 44 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
กระทู้ถูกปิด


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 
คำสั่งเพิ่มเติม

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:21



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว