กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน

Notices

ตอบ
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 20-04-2012, 16:21
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,443
ได้ให้อนุโมทนา: 151,069
ได้รับอนุโมทนา 4,399,743 ครั้ง ใน 34,032 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๕

ให้ทุกคนขยับตัวนั่งในท่าที่สบาย การนั่งสำคัญตรงที่อย่าเกร็งร่างกาย แต่ว่าต้องตั้งกายให้ตรงไว้ เพื่อให้ลมหายใจของเราเดินได้สะดวก ให้ทุกคนหายใจเข้าออกยาว ๆ สัก ๒ - ๓ ครั้ง เพื่อระบายลมหยาบออกให้หมด หลังจากนั้นปล่อยให้ลมหายใจเป็นไปตามปกติของสภาพร่างกาย หายใจเข้า..เอาความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..เอาความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา ใช้คำภาวนาตามความถนัดที่เคยชินของเรา

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นการปฏิบัติธรรมประจำเดือนเมษายนวันที่สอง

ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีปรากฏการณ์บางอย่าง ทำให้นักปฏิบัติของเราเกิดอาการใจร้อน ใจเร็ว มีการกระทบกระทั่ง ทะเลาะเบาะแว้งกัน มีปากมีเสียงกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ลับหลังนั้นก็เป็นไปทั้งทางโทรศัพท์ก็ดี ทางอินเตอร์เน็ตก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ความจริงก็เป็นเรื่องปกติของโลก แต่สำหรับนักปฏิบัติแล้ว เป็นการวัดตนเองได้ดีที่สุดว่า การปฏิบัติของเราก้าวหน้าขึ้นหรือว่าถดถอย ?

เนื่องเพราะว่าการมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันนั้น อาจเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ทำให้เกิดความเข้าใจต่างกันไป แต่ว่าไม่ได้มีการปรับความเข้าใจกัน ไม่ปรับความเข้าใจกันยังไม่พอ ยังนำเรื่องทั้งหลายเหล่านั้นขยายความออกไปอีก ก็จะทำให้บุคคลที่ถือหางของแต่ละฝ่ายเกิดอารมณ์ร่วม แต่เป็นอารมณ์ในด้านที่ไม่ดี เนื่องจากว่าตัวกระทบก็คือปฏิฆะสังโยชน์นั้น พื้นฐานก็คือโทสะนั่นเอง

ฉะนั้น..การที่เราเป็นนักปฏิบัติ จำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนอารมณ์ปฏิบัติของเราอยู่เสมอ จะได้รู้ว่าตอนนี้เราทำไปถึงที่ใดแล้ว ? มีความก้าวหน้าหรือถอยหลังอย่างไร ? จำเป็นต้องเร่งในจุดไหน ? ต้องผ่อนในจุดไหน ? หรือว่าปรับเปลี่ยนทิศทางในการปฏิบัติของตนอย่างไร ? ถ้าหากว่าไม่มีการทบทวน การปฏิบัติของเราก็จะสำเร็จได้ยาก การไตร่ตรองทบทวนตัวนี้ก็คือวิมังสาในอิทธิบาท ๔ นั่นเอง

คราวนี้สิ่งที่จะเป็นเครื่องวัดการปฏิบัติของเรานั้น ในส่วนที่หยาบที่สุดก็คือนิวรณ์ ๕ ได้แก่ ความยินดีในรูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ ๑ ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นผู้อื่น ๑ ความง่วงเหงาหาวนอนชวนขี้เกียจปฏิบัติ ๑ ความฟุ้งซ่านหงุดหงิดรำคาญใจ ๑ และความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ ๑ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่งอยู่ในใจเรา แสดงว่าคุณภาพของใจเราตกต่ำมาก
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 20-04-2012 เมื่อ 17:11
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 80 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 21-04-2012, 15:34
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,443
ได้ให้อนุโมทนา: 151,069
ได้รับอนุโมทนา 4,399,743 ครั้ง ใน 34,032 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

โดยเฉพาะตัวอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ คือความฟุ้งซ่าน หงุดหงิดและรำคาญใจนั้น ตัวฟุ้งซ่านสามารถนำให้เกิดทั้งราคะ โลภะ โทสะ และโมหะ เมื่อเป็นดังนั้น การฟุ้งของเราต่อให้เป็นการฟุ้งในเรื่องจะกระทำความดี ก็ยังเป็นการฟุ้งซ่านของใจอยู่ คุณภาพของใจเรายังไม่ดีพอ ถ้าท่านที่ได้ทิพจักขุญาณ สามารถดูสีใจของตนเองได้ว่า ตอนนี้มีความขุ่นมัวอย่างไร ใจของเราผ่องใสหรือขุ่นมัว หรือเคลือบไปด้วยสีสันอื่น ๆ ที่ระบุเอาไว้ว่ากำลังใจของเราไม่ได้มุ่งตรงอยู่กับการภาวนา

เมื่อวัดด้วยนิวรณ์ ๕ แล้ว ในส่วนต่อไปที่เป็นเครื่องวัดก็คือศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ก็ดี ศีล ๘ ก็ดี หรือถ้าเป็นสามเณรก็ศีล ๑๐ พระภิกษุสงฆ์ก็ศีล ๒๒๗ เรารักษาศีลทุกสิกขาบทครบถ้วนสมบูรณ์บริบูรณ์หรือไม่ ? เมื่อเรารักษาศีลทุกสิกขาบทได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เรายุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดหรือไม่ ? เมื่อรักษาด้วยตนเองได้ ไม่ยุยงให้ผู้อื่นทำ เวลาเห็นผู้อื่นละเมิดศีลเรายังมีความยินดีหรือไม่ ? นี่เป็นเครื่องวัดกำลังใจของเราที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการหนึ่ง

ถ้าหากว่าไปที่ประการใหญ่สุดเลยก็คือดูจากสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อ ก็คือ เรายังเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเราหรือไม่ ? แต่ว่าการจะเห็นร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรานั้น จะว่าไปแล้วเป็นกำลังใจระดับสูงจนเกินไปสำหรับการปฏิบัติในเบื้องต้นอย่างพวกเรา เราก็มาดูว่าเราหลงลืมความตายหรือไม่ ? คือต้องมีสติระลึกรู้อยู่ว่าร่างกายนี้จะต้องตายอยู่ตลอดเวลา หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตาย

หรือถ้ากำลังใจสูงไปกว่านั้น ระลึกรู้อยู่เสมอว่าร่างกายต้องตายยังไม่พอ ยังเห็นในความสกปรกโสโครก เป็นรังของโรค มีความรังเกียจในร่างกายนี้ ไม่ปรารถนาอีก ถ้าหากว่ากำลังใจก้าวสูงไปกว่านั้นได้ ก็จะเห็นชัดเจนว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-04-2012 เมื่อ 15:46
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 65 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 22-04-2012, 07:11
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,443
ได้ให้อนุโมทนา: 151,069
ได้รับอนุโมทนา 4,399,743 ครั้ง ใน 34,032 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ข้อที่ ๒ ก็คือ ความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ของเรามีความมั่นคงเพียงใด ? เรายังล่วงเกินในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยกายวาจาใจอยู่หรือเปล่า ? ถ้าหากว่ายังล่วงเกินอยู่ ก็แปลว่าจิตใจของเรามีคุณภาพที่ต่ำมาก ไม่ควรแก่งาน ไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติ

การรักษาศีลของเราจริงจัง เด็ดขาด แน่นอนหรือเปล่า ? ถ้าไม่จริงจัง ไม่เด็ดขาด โอกาสที่จะได้ดีก็น้อย ใจของเรายังผูกพันอยู่กับเพศตรงข้ามหรือไม่ ? แม้ว่าจะถอนตัวห่างเหินออกมาแล้ว แต่ว่ายังมีความยินดีระลึกถึงอยู่ในลักษณะของกามวิตก หรือกามสัญญาหรือไม่ ? ใจของเรายังมีความโกรธ เกลียด อาฆาตแค้นผู้อื่นอยู่หรือไม่ ?

ความโกรธมีได้เป็นปกติ แต่อย่าผูกโกรธ คือโกรธแล้วโกรธเลย ถึงเวลาหันหลังให้ก็ลืมไปเสีย ถ้าผูกโกรธอยู่แสดงว่าสภาพจิตใจของเราตกต่ำย่ำแย่แล้ว จะโดนกิเลสชักจูงไปได้ง่าย เรายังยึดติดในรูปทั้งของตนเองและของผู้อื่นหรือไม่ ? โดยเฉพาะในรูปละเอียดคือรูปฌาน ติดในความสุขของการทรงฌาน จนกระทั่งไม่มีการขยับขยายก้าวขึ้นไปสู่การพิจารณาวิปัสสนาญาณหรือเปล่า ?

ในส่วนของอรูปฌานก็เช่นกัน แต่ว่าในส่วนนี้แก้ไขได้ง่าย เพราะว่าเราแค่เอากำลังฌานนั้นเกาะภาพพระหรือเกาะพระนิพพานไว้ ก็เป็นอันว่าเราใช้กำลังของฌานสมาบัติ ไม่ว่าจะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานก็ดี ไปในทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ถ้าหากว่าไม่ได้เกาะภาพพระ หรือเกาะพระนิพพานไว้ เรายังใช้กำลังในทางที่ผิดอยู่ สามารถวัดตนเองได้จากจุดนี้

หลังจากนั้นให้มาดูว่าเรายังมีมานะ ความถือตัวถือตนหรือไม่ ? ยังเห็นว่าเราเหนือกว่าเขา เห็นว่าเราเสมอเขา เห็นว่าเราต่ำต้อยกว่าเขาหรือไม่ ? ต่างคนต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น ต่างคนต่างประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ ทั้งสิ้น ไม่มีใครดีกว่า ไม่มีใครเลวกว่า ถึงเวลาร่างกายก็เสื่อมสลายตายพังไปเป็นปกติ

เรายังมีความฟุ้งไม่ว่าจะด้านดีหรือด้านชั่วหรือไม่ ? ความฟุ้งในด้านชั่วนั้นเห็นได้ง่าย แต่ความฟุ้งในด้านดีเห็นได้ยาก เพราะเราคิดว่าสิ่งนั้นดี อย่างเช่นว่า ฟุ้งซ่านในเรื่องของบุญกุศล อยากจะสร้างบุญสร้างบารมีมาก ๆ บางรายขวนขวายถึงขนาดไปกู้ยืมเงินมาเพื่อที่จะทำบุญก็มี เมื่อเป็นดังนี้ก็แสดงว่า จิตใจของเรายังอยู่ในสภาพที่ใช้งานไม่ได้ เพราะว่าขาดปัญญา แม้กระทั่งการทำความดี ก็ยังทำให้ตนเองและคนรอบข้างเดือดร้อนอยู่
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 23-04-2012 เมื่อ 07:14
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 57 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #4  
เก่า 23-04-2012, 07:25
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,443
ได้ให้อนุโมทนา: 151,069
ได้รับอนุโมทนา 4,399,743 ครั้ง ใน 34,032 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ส่วนข้อสุดท้ายของสังโยชน์ก็คือ เรายังมีความยินดีพอใจในสิ่งต่าง ๆ เช่น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิดหรือไม่ ? ถ้ามีความยินดีอยู่ก็คือฉันทะเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้ราคะ อยากมีอยากได้เป็นปกติ

ฉันทะกับราคะเมื่อรวมกันจะเป็นอวิชชา คือความมืดบอดที่บดบังปัญญาของเราอยู่ ตาเห็นรูปแล้วชอบใจ ก็แปลว่าฉันทะความพอใจเกิดขึ้น ถ้าเผลอสตินิดเดียว ราคะความยินดีอยากมีอยากได้ก็จะปรากฏตามมา หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิดก็เช่นกัน

ดังนั้น..เราสามารถวัดตัวเองได้ว่า การปฏิบัติของเราก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า ก็คือ ๑. ดูจากนิวรณ์ ๕ ประการว่ากินใจเราได้หรือไม่ ? ๒. ดูจากศีลตามสภาพของตน ๓. ดูจากสังโยชน์ที่ร้อยรัดเราอยู่ ข้อไหนเราสามารถทำให้เบาบางลงได้ ข้อไหนที่เรายังยึดติดอยู่เต็มร้อยส่วน ?

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเรามีการตรวจสอบ ทบทวน ไตร่ตรอง พิจารณาอยู่เสมอ เราก็จะรักษา กาย วาจา ใจ ของเราให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ไปคลุกคลีอยู่กับส่วนที่ไม่ดีไม่งาม ในลักษณะของการนินทาว่าร้ายหรือปะทะคารมกับผู้อื่น

การปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องดูที่ตัวเอง แก้ที่ตัวเอง เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของโลก ขึ้นชื่อว่าโลกนั้น หนักหนาเกินกำลังของเราที่จะแก้ไขได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ดูที่ตัวเองแก้ไขที่ตัวเอง ปรับปรุงกาย วาจา ใจ ของเราให้ดีขึ้น การกระทบกระทั่งกันก็จะไม่มีอย่างที่ผ่านมา

ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๕
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 23-04-2012 เมื่อ 11:40
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 49 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #5  
เก่า 12-05-2012, 08:23
ชินเชาวน์'s Avatar
ชินเชาวน์ ชินเชาวน์ is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Oct 2008
ข้อความ: 259
ได้ให้อนุโมทนา: 13,956
ได้รับอนุโมทนา 50,225 ครั้ง ใน 1,280 โพสต์
ชินเชาวน์ is on a distinguished road
Default

สามารถรับชมได้ที่

http://www.sapanboon.com/vdo/demo.ph...ame=2555-04-07

ป.ล.
- สามารถชมบนไอโฟนและแอนดรอยด์ได้
- ห้ามคัดลอกไฟล์ไปเผยแพร่ที่อื่นเด็ดขาด !
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 23 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
ตอบ


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 
คำสั่งเพิ่มเติม

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 21:36



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว