กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน

Notices

ตอบ
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 30-12-2018, 21:18
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,459
ได้ให้อนุโมทนา: 151,110
ได้รับอนุโมทนา 4,400,223 ครั้ง ใน 34,048 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๑

ขอให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจออกมา ถ้าเผลอสติไปคิดถึงเรื่องอื่น เมื่อรู้ตัวให้กลับมาอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเสียใหม่ จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ จะขอกล่าวถึงหน้าตาของฌาน ซึ่งก็คืออัปปนาสมาธิ โดยเฉพาะปฐมฌาน ให้พวกเราได้รู้จักกันไว้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลาย ทำอย่างไรก็ต้องเข้าให้ถึง ถ้าเข้าไม่ถึง เราก็ไม่มีกำลังที่จะสู้กิเลส ที่จะละกิเลส ที่จะตัดกิเลสได้

ปฐมฌานนั้นประกอบด้วยองค์ ๕ ก็คือมีอาการ ๕ อย่าง ได้แก่ วิตก คือนึกว่าเราจะภาวนา วิจาร คือการที่กำหนดรู้ว่า ตอนนี้เราหายใจเข้า ตอนนี้เราหายใจออก ลมหายใจแรงหรือเบา ยาวหรือสั้น คำภาวนาว่าอย่างไร รู้อยู่ วิจารนี้จัดเป็นส่วนของอุปจารสมาธิ คำว่า อุปจาระ แปลว่า ใกล้ขอบเขต ใกล้ขอบเขตของสมาธิ

ลำดับต่อไปก็จะเป็นปีติ ปีตินี้ประกอบไปด้วยอาการ ๕ อย่าง ขุททกาปีติ มีอาการขนลุก บางคนขนลุกเกรียวทั้งตัว เป็นเม็ด ๆ หรือเป็นหนามขนุนเลย บางคนก็มีอาการขนลุกเป็นระยะ ๆ บางคนก็รู้สึกว่าคันตรงโน้น คันตรงนี้ เหมือนอย่างกับว่าขนของเราขยับทีละเส้น เป็นต้น

ขณิกาปีติ จะมีอาการหนึ่งที่หลายคนรู้สึกอับอาย ก็คือน้ำตาไหล ถึงเวลาน้ำตาจะไหลออกมาเอง นึกถึงความดีของพระพุทธ ของพระธรรม ของพระสงฆ์ ความดีของการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่างไรก็ตาม น้ำตาจะไหลออกมาทันที

ลำดับต่อไปคือ โอกกันติกาปีติ ตัวจะโยกไปโยกมา ซ้ายขวา แกว่งหน้าแกว่งหลัง บางคนก็รุนแรงถึงขนาดหกคะเมนตีลังกา ดิ้นตึงดังโครมครามเหมือนผีเจ้าเข้าสิงไปเลย ลำดับต่อไปเรียกว่า อุพเพงคาปีติ จะลอยขึ้นจากพื้น สูงบ้างต่ำบ้างแล้วแต่ตนเอง บางทีก็ลอยไปไกล ๆ
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 02-01-2019 เมื่อ 10:00
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 01-01-2019, 21:33
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,459
ได้ให้อนุโมทนา: 151,110
ได้รับอนุโมทนา 4,400,223 ครั้ง ใน 34,048 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

อย่างสุดท้ายเรียกว่า ผรณาปีติ รู้สึกซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ตัวพองตัวใหญ่ รู้สึกว่าหน้าใหญ่เท่าจานเท่ากระด้งก็มี บางคนรู้สึกว่าตัวรั่วเป็นรู มีอะไรไหลออกจากตัวซู่ซ่าไปหมด บางคนก็เห็นแสงเห็นสีต่าง ๆ บางคนก็รู้สึกว่าตัวแตกตัวระเบิดเป็นจุณไปเลย

อาการทั้ง ๕ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นกับเรา ขอให้เรารู้ว่าเราก้าวเข้าถึงอุปจารสมาธิเต็มตัวแล้ว ถ้าถามว่าจะก้าวข้ามอาการเหล่านี้ได้อย่างไร ? มีทางเดียวคือปล่อยให้ขึ้นเต็มที่ อายไม่ได้ กลัวไม่ได้ ถ้าปล่อยให้ขึ้นเต็มที่เมื่อไรก็จะก้าวพ้นไป ถ้าขึ้นไม่เต็มที่ ทำสมาธิถึงตรงนี้เมื่อไรก็จะเป็นอีก

ถามว่าในเมื่อเรียกว่าปีติ แปลว่าความยินดีไม่ใช่หรือ แล้วทำไมถึงมีอาการแปลก ๆ ? อย่างเช่นว่าร้องไห้หรือว่าเต้นตึงตังโครมคราม อรรถกถาจารย์ท่านเปรียบเอาไว้ว่า เหมือนอย่างกับพ่อแม่ทิ้งลูกให้อยู่บ้านตามลำพัง ถึงเวลาตนเองก็ไปทำงานกลางทุ่งกลางท่าในป่าในเขา หรือไม่ก็เดินทางไปในบ้านในเมือง ในตลาดไกล ๆ บ้าง หายไปเป็นวันเป็นคืน กลับมาถึงลูกเห็นหน้าพ่อแม่ดีอกดีใจร้องไห้โฮเลย บางคนก็วิ่งตะโกนลั่น พ่อมาแล้ว..แม่มาแล้ว เป็นต้น

สภาพจิตของเราก็เป็นลูกที่ห่างพ่อห่างแม่ คือฟุ้งซ่านไป พอย้อนทวนกลับเข้ามาหาความสงบที่ตนเองคุ้นเคย ก็เลยเกิดอาการปีติต่าง ๆ อย่างที่ว่ามา จำไว้ว่ากลัวก็ไม่ได้ อายก็ไม่ได้ ถ้าอายแล้วไปยับยั้งก็จะหยุดได้ แต่ถ้าจิตเริ่มเป็นสมาธิแม้แต่นิดเดียวก็จะเป็นอีก ขนาดนอนเฉย ๆ แค่นึกถึงคำภาวนาก็ดิ้นตึง ๆ อยู่บนเตียงแล้ว นอกจากปล่อยให้ขึ้นเต็มที่แล้ว ไม่มีวิธีอื่นที่จะไปจัดการ
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-01-2019 เมื่อ 13:23
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 26 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 01-01-2019, 21:37
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,459
ได้ให้อนุโมทนา: 151,110
ได้รับอนุโมทนา 4,400,223 ครั้ง ใน 34,048 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ลำดับต่อไปก็จะเกิดอาการที่เรียกว่า สุข ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ฌานทั้ง ๕ เป็นลำดับที่ ๔ คือมีอาการสงบเยือกเย็น มีความสุขมากอย่างชนิดที่ไม่สามารถที่จะพูดเป็นภาษามนุษย์ได้ เพราะว่าสมาธิจิตตอนนี้เริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นฌาน หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านใช้คำว่า อุปจารฌาน ใกล้ความเป็นฌานแล้ว กำลังสูงมากพอสามารถกดกิเลส คือ รัก โลภ โกรธ หลง ให้ดับลงได้ชั่วคราว

ไฟรัก ไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลง ที่เผาผลาญเราอยู่ตลอดเวลา โดนกดดับไปได้ด้วยอำนาจของอุปจารฌานนี้ คนที่โดนไฟเผาอยู่ตลอดเวลา อยู่ ๆ ไฟดับลงไป มีความสุขอย่างไรพูดเป็นภาษามนุษย์ไม่ได้ บาลีใช้คำว่า ปัจจัตตัง เป็นเรื่องที่รู้เฉพาะตัว จนกว่าเราจะเข้าใจเองถึงจะเข้าใจอย่างแท้จริง สิ่งที่อธิบายด้วยคำพูดและตัวหนังสือเป็นเพียงแค่ของหยาบ ๆ เท่านั้น

เมื่อก้าวข้ามตรงจุดนี้ไป สภาพจิตก็จะปักมั่น เป็นเอกัคตารมณ์ องค์ประกอบสุดท้ายขององค์ฌาน ตอนนี้สภาพจิตของเราจะถึงพร้อมด้วยองค์ ๕ คือ คิดนึกอยู่ว่าจะภาวนา ได้แก่ วิตก ลมหายใจแรงหรือเบา ยาวหรือสั้น ใช้คำภาวนาว่าอย่างไรก็รู้อยู่ คือมีวิจาร เกิดอาการ ๕ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งในปีติขึ้นมา มีความสุข เยือกเย็นซาบซ่านอย่างไม่เคยปรากฏในชีวิตมาก่อน ท้ายที่สุดอารมณ์ปักมั่นเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับลมหายใจและคำภาวนาตรงหน้า ไม่ไปไหน

ความจริงอาการทั้ง ๕ อย่างนี้เกิดขึ้นตามลำดับไป เพียงแต่เกิดจะเร็วจนเหมือนกับเกิดขึ้นพร้อมกันก็มี บุคคลที่สภาพจิตหยาบอาจจะแยกไม่ออก คิดว่าเกิดพร้อมกัน แต่บุคคลที่สภาพจิตละเอียดจะแยกออกได้ว่าเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ทีละลำดับไป เมื่อถึงตรงนี้ สภาพจิตของเราจะทรงตัว มีกำลังเพียงพอในการกดกิเลสให้ดับลงชั่วคราว ถ้าเราอาศัยกำลังตรงนี้ในการพิจารณาตัดละ รัก โลภโกรธ หลง เราก็สามารถที่จะเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าในระดับของพระโสดาบันหรือสกทาคามี

ดังนั้น..อัปปนาสมาธิเบื้องต้นคือปฐมฌาน เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทุกคนต้องหวังและเข้าถึงให้ได้ หลังจากนั้นเราจะใช้สมาธิในลักษณะอย่างไร หรือกำหนดตัดละกิเลสอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป


ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๑

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 02-01-2019 เมื่อ 13:27
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 27 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
ตอบ


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 03:44



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว