กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน

Notices

กระทู้ถูกปิด
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 25-01-2010, 11:37
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,456
ได้ให้อนุโมทนา: 151,087
ได้รับอนุโมทนา 4,400,090 ครั้ง ใน 34,045 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๓

เมื่อทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตนแล้ว ก็ให้กำหนดลมหายใจเข้าออก พร้อมกับคำภาวนาหรือภาพพระของเรา หายใจเข้า กำหนดรู้ตามไป หายใจออก กำหนดรู้ตามไป

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ ถือว่าเป็นวันที่สองของปีใหม่แล้ว และเป็นวันที่สองของการปฏิบัติกรรมฐานของเดือนมกราคม เมื่อวานเรากล่าวถึงการประเมินตนเองตามหลักของอิทธิบาท ๔ เพื่อที่จะดูว่า ในรอบปี ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ในส่วนของศีล สมาธิ และปัญญาของเรานั้น มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งก้าวหน้าหรือถอยหลังเป็นประการใด ?

ซึ่งได้ย้ำไปว่า ประเมินตนเองนั้น เราต้องไม่เข้าข้างตนเอง เพราะถ้าหากเราเข้าข้างตนเอง คือ ประเมินตนเองในด้านที่สูงที่ดีอยู่ตลอด โอกาสที่จะแก้ไขตนเองก็มีน้อย สำหรับวันนี้จะกล่าวต่อจากอิทธิบาท ๔ ก็คือ ในส่วนของสัมมัปปธาน ๔

สัมมัปปธาน ๔ เป็นความเพียร ๔ ประการ คือ ความเพียรในการที่จะละความชั่ว ๑ ความเพียรในการระมัดระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในใจของเรา ๑ ความเพียรในการสร้างความดีให้เกิดขึ้นในใจของเรา ๑ และความเพียรในการรักษาความดีในใจของเราให้มั่นคงยาวนาน ๑

อิทธิบาท ๔ ก็ดี สัมมัปปธาน ๔ ก็ดี อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘ รวมแล้วท่านเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นธรรมอันเป็นองค์คุณเครื่องตรัสรู้ คือ สามารถช่วยให้เราบรรลุมรรคผลได้ทั้งนั้น

ในส่วนของสัมมัปปธาน ๔ นั้น อยากจะกล่าวว่า เป็นเครื่องประกันผลการปฏิบัติให้แก่เรา เปรียบเสมือนกับตรารับประกันสินค้า เพราะถ้าเราสามารถตามดู ตามรู้กำลังใจของเราเองว่า ในขณะนี้มีความชั่วอยู่หรือไม่ ? ถ้ามีอยู่เราก็ขับไล่มันออกไป แล้วระมัดระวังเอาไว้ อย่าให้มันเข้ามา การระมัดระวังไม่ให้ความชั่วเข้ามา เขาเรียกว่า สังวรปธาน การขับไล่ความชั่วออกไป เขาเรียกว่า ปหานปธาน

แล้วเรามาดูว่า ใจเรามีความดีอยู่หรือไม่ ? ถ้าไม่มีความดีอยู่ ให้สร้างความดีนั้นขึ้นมา ถ้ามีความดีอยู่แล้ว ให้ทำดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป การสร้างความดีขึ้นมา ท่านเรียกว่า ภาวนาปธาน การรักษาความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เรียกว่า อนุรักขนาปธาน

ที่กล่าวว่าเปรียบเหมือนตรารับประกันสินค้า คือ ประกันว่าสินค้าของเรามีคุณภาพแน่นอน เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับบริษัทห้างร้าน ถ้าหากเราพบจุดบกพร่องก็ต้องรีบแก้ไข รีบกำจัด เพื่อให้หมดจากข้อบกพร่องนั้น ๆ แล้วคอยตรวจสอบระวังไม่ให้ข้อบกพร่องนั้นเกิดขึ้นอีก ขณะเดียวกัน ถ้าหากว่ามีจุดเด่น สมมติว่ายังไม่มี..เราก็สร้างให้มีจุดเด่นขึ้นมา ถ้ามีจุดเด่นอยู่แล้ว ก็ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าหากบริษัทของเราได้ชื่อว่า กำจัดในส่วนที่ไม่ดี สร้างเสริมแต่สินค้าที่ดี ๆ มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดกวดขัน ก็ถือว่าเป็นตรารับประกันอันหนึ่ง ที่ผู้บริโภคใช้สอยจะมีใจยอมรับในสินค้าบริษัทของเรา

ถ้าหากเราปฏิบัติตามสัมมัปปธาน ๔ แล้ว ก็เป็นเครื่องประกันได้ว่า เราต้องสามารถละความชั่วทั้งปวง และทำความดีให้ถึงพร้อมได้แน่ ๆ จึงได้กล่าวว่า สัมมัปปธาน ๔ เปรียบเหมือนตรารับประกันสินค้า ถ้าผลิตออกจากโรงงานนี้ จะต้องเป็นสินค้าที่ดีอย่างแน่นอน
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-01-2010 เมื่อ 18:37
สมาชิก 59 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 25-01-2010, 11:46
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,456
ได้ให้อนุโมทนา: 151,087
ได้รับอนุโมทนา 4,400,090 ครั้ง ใน 34,045 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ในส่วนถัดไปนั้น อินทรีย์ ๕ และพละ ๕ มีหน้าตาเหมือนกันทุกประการ เพียงแต่ว่าอินทรีย์ ๕ นั้น เป็นการสั่งสมความดีจาก ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และ ปัญญา เอาไว้ ส่วนพละ ๕ นั้น เป็นการนำกำลังที่สั่งสมไว้นั้น ไปใช้งานในสถานการณ์ที่แท้จริง

ศรัทธา คือความเชื่อ อย่างเช่นว่า เชื่อในการกระทำ คือ เชื่อกรรม เชื่อในผลของการกระทำ คือ เชื่อในวิบากกรรม เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เหล่านี้เป็นต้น วิริยะ คือ ความพากเพียรในการที่จะปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ไม่เบื่อหน่าย ไม่ท้อถอย สติ คือ กำลังใจที่ทรงตัว รู้ตัวอยู่เสมอ ว่าตอนนี้เราเป็นอะไร เราทำอะไร ทำเพื่ออะไร สมาธิ คือ กำลังใจที่ทรงตัวตั้งมั่น สามารถป้องกันไม่ให้กิเลสต่าง ๆ เข้ามากินใจของเราได้ และปัญญา การรู้แจ้งเห็นจริง ตามสภาพความเป็นจริงของร่างกายของเราก็ดี ร่างกายคนอื่นก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายในโลกนี้ก็ดี ว่ามีสภาพความเป็นจริงอยู่สามอย่าง คือ ไม่เที่ยง ๑ เป็นทุกข์ ๑ ไม่มีอะไรที่ยึดถือมั่นหมายเป็นเราเป็นของเราได้ ๑

โบราณาจารย์ ท่านเปรียบอินทรีย์ ๕ กับ พละ ๕ ไว้ว่า เหมือนกับรถม้า ที่เทียมด้วยม้า ๔ ตัว ม้าคู่แรกคือศรัทธากับปัญญา ม้าคู่ที่สอง คือ วิริยะกับสมาธิ โดยมีสติ เปรียบเหมือนตัวรถและคนขับรถ เมื่อมีสติควบคุม ศรัทธา..ปัญญา..วิริยะ...สมาธิ เป็นเครื่องนำรถม้านั้นไปสู่จุดหมาย ถ้าเรานึกถึงภาพรถเทียมม้าสี่ตัว คือ สองคู่ ก็จะเห็นภาพได้ชัดขึ้น

ท่านบอกว่า ศรัทธากับปัญญาต้องเสมอกัน ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะเชื่ออย่างงมงาย ไม่มีปัญญาคอยประกอบ โดนล่อลวงให้หลงผิดได้ง่าย วิริยะกับสมาธินั้นก็ต้องเสมอกัน พอเหมาะพอดีกัน ความเพียรมากเกินไปก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค ความเพียรย่อหย่อนเกินไปก็เป็น กามสุขัลลิกานุโยค

อัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตนให้ลำบากจนเกินไป อย่างเช่นว่า อาจจะทำสมาธิทั้งวันทั้งคืนโดยไม่พักผ่อนเลย กามสุขัลลิกานุโยค คือ การที่ยังประกอบอยู่ด้วยกาม คือ ติดสบายจนเกินเหตุ อย่างเช่นว่า อาจจะนอนทั้งวันทั้งคืนโดยไม่ทำสมาธิเลย เมื่อเป็นดังนั้น ท่านจึงให้ทำในส่วนที่พอเหมาะพอดี เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางสายกลาง ถ้าหากทำพอเหมาะพอดี สมาธิก็จะทรงตัวตั้งมั่นได้เร็ว

โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่ทำสมาธิภาวนา มักจะอยากได้ฌานนั้นฌานนี้ อยากจะได้ทิพจักขุญาณอย่างนั้นอย่างนี้ อยากจะได้อภิญญาอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้ากำลังใจของเรายังทรงความอยากเช่นนี้อยู่ โอกาสที่จะได้ดีก็มีน้อย เพราะว่าตัวอยากเป็นอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นความฟุ้งซ่าน ทำให้รำคาญใจเมื่อไม่ได้อย่างใจ

ถ้าถามว่าในเมื่อไม่อยากแล้วจะปฏิบัติไปทำไม ? ไม่ใช่ว่าไม่อยาก...อยากได้ แต่เมื่อถึงเวลา ตอนปฏิบัติให้ลืมความอยากเสีย ให้เราตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างเดียว โดยทำใจในลักษณะว่าเรามีหน้าที่ภาวนา เราก็ภาวนาไป ส่วนผลจะเกิดหรือไม่เกิด จะเป็นฌานหรือไม่เป็นฌาน จะทรงอภิญญาหรือไม่ทรงอภิญญา เราไม่ใส่ใจ ถ้าทำอย่างนี้ได้ สมาธิจะทรงตัวตั้งมั่นได้เร็ว
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-01-2010 เมื่อ 18:42
สมาชิก 58 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 26-01-2010, 18:09
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,456
ได้ให้อนุโมทนา: 151,087
ได้รับอนุโมทนา 4,400,090 ครั้ง ใน 34,045 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ดังนั้นว่า ถ้าหากเรามีอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ พอใจที่จะทำ วิริยะ พากเพียรทำไป จิตตะ กำลังใจจดจ่อ ปักมั่นต่อเป้าหมายแน่วแน่ไม่แปรผัน วิมังสา มีการไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ว่าเราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? ทำถึงไหนแล้ว ? ยังเหลืออีกใกล้ไกลเท่าไรจึงจะก้าวสู่จุดหมาย ? เป็นต้น

ในส่วนของสัมมัปปธานทั้ง ๔ คือ ระมัดระวังที่ใจของเรา ดูว่าใจเรามีความชั่วอยู่หรือไม่ ? ถ้ามีให้ไล่มันออกไป แล้วระมัดระวังไว้อย่าให้ความชั่วนั้นเข้ามา ใจของเรามีความดีอยู่หรือไม่ ? ถ้าหากว่าไม่มีความดีให้เร่งสร้างความดีขึ้นมา ถ้ามีความดีอยู่แล้วให้สร้างความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ในส่วนของอินทรีย์ ๕ และพละ ๕ นั้น ให้นึกถึงรถม้าที่เทียมด้วยม้า ๒ คู่ ๔ ตัว ก็คือ ศรัทธาให้คู่กับปัญญา อย่าน้อมใจเชื่อเสียอย่างเดียว ต้องทำให้ได้ผลก่อนแล้วจึงเชื่อ วิริยะคู่กับสมาธิ ทำให้พอเหมาะ ทำให้พอดี เรามีหน้าที่ทำ ผลจะเกิดอย่างไรช่างมัน โดยมีสติควบคุมอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับคนขับรถม้านั้น

ถ้าทำอย่างนี้ได้ ผลในการเจริญกรรมฐานของเรานั้นจะมีมาก สมาธิยิ่งทรงตัวมากเท่าไร จิตใจก็ยิ่งสงบเยือกเย็น ความผ่องใสปรากฏมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งมีความผ่องใสมากเท่าไร ดวงปัญญาก็สามารถที่จะมีความรู้เห็นได้ชัดเจนแจ่มใสเท่านั้น เมื่อมีปัญญาก็ย่อมไปคุมศีลและสมาธิให้ทรงตัวยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ที่จริงแล้ว ถ้าเราปฏิบัติอยู่แค่ลมหายใจเข้าออก ก็จัดว่าเรามีอิทธิบาท ๔ อยู่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เพราะว่าเราพอใจที่จะทำ กำลังพากเพียรทำอยู่ ความรู้สึกทั้งหมดปักมั่นอยู่กับการภาวนา ทบทวนอยู่เสมอว่าตอนนี้ลมหายใจแรงหรือเบา ยาวหรือสั้น มีลมหรือไม่มีลม มีคำภาวนาหรือไม่มีคำภาวนา เท่ากับเราปฏิบัติในสัมมัปปธาน ๔ ก็คือขับไล่ความชั่วออกจากใจ รักษาระมัดระวังไว้ไม่ให้ความชั่วเข้ามา สร้างความดีให้เกิดขึ้นกับใจ และพยายามทำความดีนั้นให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-01-2010 เมื่อ 05:14
สมาชิก 43 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #4  
เก่า 26-01-2010, 18:13
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,456
ได้ให้อนุโมทนา: 151,087
ได้รับอนุโมทนา 4,400,090 ครั้ง ใน 34,045 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ขณะเดียวกันในส่วนของอินทรีย์ ๕ และพละ ๕ นั้น เราปฏิบัติภาวนาเพราะเรามีศรัทธา ความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราปฏิบัติภาวนาเพราะเรามีปัญญา รู้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นของดี ถ้าหากเราทำ โอกาสที่จะเข้าถึงความหลุดพ้นก็มีขึ้น เราจึงทำ ในส่วนวิริยะความเพียรนั้น ก็เหมือนในส่วนวิริยะของอิทธิบาท ๔ ส่วนของสมาธินั้นจะทรงตัวหรือไม่ทรงตัว เป็นเรื่องของผลที่จะเกิด เรามีหน้าที่ภาวนา

ถ้าเป็นดังนี้ เพียงการจับลมหายใจเข้าออกของเราเท่านั้น ก็จัดว่าเราทำในสัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ รวมแล้ว ๑๘ อย่างด้วยกันโดยพร้อมเพรียงกัน ก็แปลว่าการปฏิบัตินั้น เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตาม ธรรมะทั้งหลายเหล่านี้ก็รวมลงในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้ทั้งสิ้น

ดังนั้น..หน้าที่สำคัญของเรา คือ รู้ลมหายใจเข้าออก รู้คำภาวนา รู้ภาพพระของเรา โดยเฉพาะกำหนดจุดสุดท้าย ว่าขึ้นชื่อว่าร่างกายที่หาความเที่ยงแท้ไม่ได้นี้ หรือว่าโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์นี้ เราไม่ต้องการ เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน

แล้วเอาใจจดจ่ออยู่กับพระนิพพาน หรือภาพพระเอาไว้ กำหนดภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัว จากนั้นแบ่งความรู้สึกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งรักษาภาพพระ รักษาคำภาวนาของเราไว้ อีกส่วนหนึ่งก็ใช้ในการทำหน้าที่ของเรา จะเป็นการทำงานทำการก็ดี ปฏิบัติกิจในการยืน เดิน นอน นั่ง ดื่ม กิน คิด พูด ทำ ก็ดี ก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ ไปพร้อมกับการรักษาการภาวนาไปได้ด้วยเช่นกัน


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันเสาร์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๓
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-01-2010 เมื่อ 05:17
สมาชิก 42 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
กระทู้ถูกปิด


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 
คำสั่งเพิ่มเติม

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:58



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว