กระดานสนทนาวัดท่าขนุน


กลับไป   กระดานสนทนาวัดท่าขนุน > ห้องธรรมะพระอาจารย์ > พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) > เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน

Notices

กระทู้ถูกปิด
 
คำสั่งเพิ่มเติม
  #1  
เก่า 24-11-2010, 16:21
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,494
ได้ให้อนุโมทนา: 151,149
ได้รับอนุโมทนา 4,405,396 ครั้ง ใน 34,081 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

ขอให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตน ความสำคัญก็คือ ต้องตั้งกายให้ตรง เพื่อให้ลมเดินได้โดยสะดวก หายใจเข้าออกยาว ๆ สัก ๒ - ๓ ครั้ง เพื่อระบายลมหยาบออกให้หมด

หลังจากนั้น ให้กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่กับลมหายใจเข้า - ลมหายใจออก หายใจเข้ากำหนดรู้ตามไป ว่าตอนนี้ลมผ่านจมูก..ผ่านกึ่งกลางอก..ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก ลมออกจากท้อง..ผ่านกึ่งกลางอก..มาสุดที่ปลายจมูก จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ตามที่เราถนัดและชำนาญ

สำหรับวันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติธรรมประจำต้นเดือนพฤศจิกายน วันสุดท้ายของเรา
ถ้าใครรู้สึกว่าไม่เพียงพอ ถึงเวลาทางวัดมีการบวชปฏิบัติธรรม สามารถที่จะไปลงชื่อร่วมบวชกันได้ ความจริงก็เริ่มรับสมัครแล้ว แต่พวกเรามักจะลืมรูปถ่ายกัน

ถ้าใครจะสมัครบวชปฏิบัติธรรมของวัดท่าขนุน รุ่นที่ ๓ วันที่ ๓๑ ธันวาคม และ ๑ – ๒ มกราคมนี้ ก็ให้เตรียมรูปถ่าย ๑ นิ้วมาด้วย ๑ รูป และที่ลืมไม่ได้ก็คือหมายเลขประจำตัวบัตรประชาชน เนื่องจากทางวัดเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ต้องมีการทำหลักฐานเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จึงต้องเก็บรายละเอียดด้วย

สำหรับการปฏิบัตินั้น เมื่อไปอยู่ที่วัด ถ้าในช่วงของการนั่ง ก็แล้วแต่เราว่าเคยถนัดภาวนาอย่างไร แต่การเดินนั้น ท่านให้เดินตามแบบของสติปัฏฐาน ๔ สายพองหนอ ยุบหนอ คือกำหนดการเดินเป็น ๖ ระยะด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่แล้ว เวลาของเราไม่ค่อยพอ ก็มักจะเดินอยู่ไม่เกินระยะที่ ๓ – ๔ เท่านั้น

การเดินจงกรมนั้นมีอานิสงส์มาก อันดับแรก ก็คือ เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อผ่อนคลายจากการที่เรานั่งสมาธิเป็นเวลานาน ๆ อันดับที่ ๒ ก็คือว่า ถ้าหากว่าเราสามารถภาวนาพร้อมกับการเดินได้ ต่อไปสมาธิที่ได้จากการภาวนาจะเสื่อมยาก

การที่เรานั่งภาวนา ถ้าหากว่าลุกขึ้นไปทำการทำงานต่าง ๆ สมาธิก็มักจะคลายตัว หลุดหายไปเสมอ แต่ถ้าเราเดินภาวนาจนชิน ร่างกายเคลื่อนไหวเป็นปกติอยู่แล้ว ถึงเวลาถ้าทรงสมาธิได้ สมาธิจะคลายตัวยากกว่ามาก
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-11-2010 เมื่อ 17:45
สมาชิก 59 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #2  
เก่า 25-11-2010, 08:17
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,494
ได้ให้อนุโมทนา: 151,149
ได้รับอนุโมทนา 4,405,396 ครั้ง ใน 34,081 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

อันดับที่ ๓ ได้ออกกำลังกาย ทำให้เป็นผู้มีโรคน้อย โดยเฉพาะทางสายอีสาน บางทีเดินจงกรมกันข้ามวันข้ามคืน ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็ยิ่งกว่าการวิ่งมาราธอนเสียอีก

อันดับที่ ๔ อาหารที่รับประทานเข้าไปจะได้รับการย่อยได้ดี เพราะร่างกายของเราเคลื่อนไหว ลำไส้ก็เคลื่อนไหวด้วย ระบบการย่อยอาหารก็ทำหน้าที่ได้เต็มที่ขึ้น

อันดับสุดท้าย พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า บุคคลที่ชำนาญในการเดินจงกรม จะเดินทางไกลแล้วเหนื่อยยาก คำว่าเหนื่อยยากก็คือ คนอื่นอาจจะเหนื่อยมาก แต่เราเองเหนื่อยน้อย เพราะเคยชินกับการเดินเป็นปกติอยู่แล้ว

คราวนี้อานิสงส์ของการเดินจงกรมที่เราควรจะพิจารณามีอยู่ ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือ เป็นการผ่อนคลายในอิริยาบถของเรา เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนเราให้ภาวนาใน ๔ อิริยาบถ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน ไม่ใช่แค่อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง

ถ้าถามว่าเราจะนั่งอย่างเดียวผิดไหม ? ก็ไม่ผิด แต่บางวาระที่กำลังใจไม่ยอมรับนั้น การนั่งแค่ ๕ นาที ๑๐ นาทีก็แย่แล้ว ต้องให้มีสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในการปฏิบัติของเรา อย่างเช่นว่า เดินภาวนาบ้าง ยืนภาวนาบ้าง นอนภาวนาบ้าง

อีกข้อหนึ่ง ก็คือ สมาธิที่ได้จากการเดินจงกรมนั้นเสื่อมยาก เพราะว่าการเดินจงกรมเป็นการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว อย่างที่อาตมาย้ำกับพวกเราอยู่บ่อย ๆ ว่า เมื่อลุกจากการภาวนาแล้ว อย่าทิ้ง ให้ตั้งสติประคับประคองอารมณ์เอาไว้ให้อยู่กับเรานานที่สุด ถ้าหากใครเคยเดินจงกรมภาวนามาก่อน จะทำได้ง่าย แต่ถ้าไม่เคยมาก่อน จะรู้สึกเหมือนกับแบกช้างไว้ทั้งตัว

ดังนั้น..หากพวกเราฝึกเดินจงกรมเอาไว้บ้าง นอกจากจะมีคุณประโยชน์หลายประการแล้ว ประโยชน์ใหญ่ที่เห็นชัดก็คือ กรรมฐานที่ปฏิบัติได้จะเสื่อมยาก ทำให้เราสามารถรักษาอารมณ์การปฏิบัติให้ต่อเนื่องยาวนานกว่าคนทั่วไป กำลังใจของเรายิ่งผ่องใสต่อเนื่องยาวนานมากเท่าไร ปัญญาที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในข้อธรรมต่าง ๆ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นมากเท่านั้น
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 28-11-2010 เมื่อ 11:07
สมาชิก 59 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #3  
เก่า 25-11-2010, 23:47
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,494
ได้ให้อนุโมทนา: 151,149
ได้รับอนุโมทนา 4,405,396 ครั้ง ใน 34,081 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

จึงให้ทุกคนลองไปศึกษาการเดินจงกรมดูบ้าง การเดินจงกรมนั้น ถ้าเราอยู่ในที่ร่ม อย่างเช่นอยู่ในตัวอาคาร ก็ไม่เป็นไร เพราะเราสามารถที่จะเดินไปทิศใดก็ได้ แต่จากการที่ได้รับการสั่งสอนมาจากครูบาอาจารย์สายพระป่า หรือสายของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโตนั้น ท่านบอกว่า ระยะเดินจงกรมที่เหมาะสมต้องให้ได้ประมาณ ๒๕ ก้าว ไกลกว่านั้นก็ไม่ค่อยดี ใกล้กว่านั้นก็เดินไม่ทันจะได้อย่างใจ

ส่วนท่านใดก็ตามที่เดินจงกรมนอกอาคาร อย่างเช่น ใต้ต้นไม้ หรือตามสถานที่ที่จัดไว้นั้น ต้องพิจารณาทิศทางก่อนนิดหนึ่ง ทิศทางการเดินจงกรมที่เหมาะสมนั้น แนวแรก เป็นแนวเหนือ-ใต้ แนวที่ ๒ เป็นแนวตะวันออกเฉียงเหนือกับตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนแนวที่ ๓นั้น เป็นแนวตะวันตกเฉียงเหนือกับตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือจะเยื้อง ๆ ทะแยงกับทิศตะวันออก

ที่ไม่นิยมเดินทิศตะวันออก – ตะวันตกตรง ๆ เพราะว่าทิศตะวันออก-ตะวันตกตรง ๆ นั้น ถ้าหากว่าเป็นเวลาเช้า แดดเช้าก็จะส่องหน้า เป็นเวลาเย็น แดดบ่ายก็จะส่องหน้า ดังนั้น..การเดินจงกรมก็จำเป็นที่จะต้องดูทิศดูทางบ้าง

โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยให้การอบรมมา บางท่านทำทางเดินจงกรมสำหรับตัวเองถึง ๓ สายด้วยกัน โดยท่านให้เหตุผลว่า สายที่ ๑ เดินถวายเป็นพุทธบูชา สายที่ ๒ เดินถวายเป็นธรรมบูชา สายที่ ๓ เดินถวายเป็นสังฆบูชา จะมีการเดินจงกรมอย่างเช่นว่า สายที่ ๑ สองชั่วโมง สายที่ ๒ สองชั่วโมง สายที่ ๓ สองชั่วโมง สลับกันไป เป็นต้น แต่บางท่านก็เดินสายละ ๕ - ๖ ชั่วโมงก็มี

ส่วนของเราเอง ถ้าหากว่า อยู่ในบ้านของเรา ระยะทางจำกัด ก็อาจจะใช้วิธีที่อาตมาเคยเดิน สมัยบวชใหม่ ๆ อยู่ที่กุฏิมุมวัด คือที่วัดท่าซุงนั้น บริเวณทางด้านโบสถ์จะมีกำแพงล้อมรอบ และมีกุฏิมุมกำแพง ๔ ทิศ ทิศละ ๑ หลัง อาตมาอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตรงหลังร้านอาหารของป้ากิมกี เป็นกุฏิแคบ ๆ ยาวแค่ ๙ ฟุตเท่านั้น ก็คือ ๒ เมตรเศษ ๆ

ระยะทางไม่พอเดินจงกรม จะออกไปเดินข้างนอกก็กลัวว่า จะเป็นการอวดผู้อื่นว่าเราเป็นนักปฏิบัติ จึงต้องแอบเดินในกุฏิ อาตมาใช้วิธีเดินเป็นเลขแปดอาราบิก ก็คือ เป็นวงกลมสองวง หมุนไปหมุนมาสลับกัน ทำให้ได้ระยะทางที่ยาวขึ้นมาก เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ต้องถือว่าเป็นเทคนิคเฉพาะตัว ท่านใดถ้าหากว่าบ้านช่องคับแคบ แต่อยากเดินจงกรม สามารถที่จะนำวิธีการนี้ไปใช้ได้
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 28-11-2010 เมื่อ 11:07
สมาชิก 53 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #4  
เก่า 26-11-2010, 20:36
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,494
ได้ให้อนุโมทนา: 151,149
ได้รับอนุโมทนา 4,405,396 ครั้ง ใน 34,081 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

แต่ขอเตือนว่า ท่านที่เดินจงกรมแล้วจับลมหายใจภาวนาไปด้วยนั้น ระยะแรก ๆ ถ้าหากว่าจับลมครบ ๓ ฐาน เราจะก้าวไม่ออก อย่างที่เมื่อวานอาตมาได้คุยกับพวกเราว่า การจับลมครบ ๓ ฐาน นั้นเป็นอารมณ์ของปฐมฌาน อารมณ์ปฐมฌานนั้น จิตกับประสาทร่างกายจะเริ่มแยกออกจากกัน ถ้าไม่มีความคล่องตัว จะควบคุมร่างกายไม่ได้

ดังนั้น..ถ้าจับลมครบ ๓ ฐานใหม่ ๆ เวลาจะก้าวเดิน จะก้าวไม่ออก เท้าจะติด ท่านที่เจอปัญหาอย่างนี้ ขอให้ทราบว่าเป็นเรื่องปกติ ให้เราคลายอารมณ์ออกมานิดหนึ่ง แล้วเริ่มต้นใหม่ พอซ้อมทำบ่อย ๆ จนชิน จะสามารถภาวนาจับลม ๓ ฐานพร้อมกับการก้าวเดินได้ ถ้าท่านทำได้คล่องตัวแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นของแถมคือ ท่านสามารถทรงฌานใช้งานได้

การทรงฌานสมาบัติทั่ว ๆ ไปนั้น ฌานที่จะเกิดจากการฝึก เมื่อเริ่มเป็นปฐมฌานแล้ว ร่างกายจะเคลื่อนไหวไม่ได้ เพราะจิตกับประสาทเริ่มแยกออกจากกัน แต่ถ้าหากว่าท่านทรงฌานใช้งาน ไม่ว่าท่านจะทรง ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ หรือสมาบัติ ๘ ก็ตาม ท่านสามารถที่จะทำให้ร่างกายเคลื่อนไหว ทำนั่นทำนี่ หรือว่าพูดคุยกับผู้อื่นได้เป็นปกติ ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าท่านทำได้คล่องตัวจะใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล ในการระมัดระวังกิเลสไม่ให้กินใจของเราได้ในแต่ละวัน

การเดินจงกรมจึงเท่ากับว่าเป็นการฝึกฌานใช้งานของพวกเรา เมื่อทรงฌานใช้งานได้คล่องตัวแล้ว เราก็นำเอากำลังของฌานสมาบัตินี้ มาควบคุมจิตของเรา ให้สามารถประคับประคองอารมณ์การปฏิบัติให้อยู่กับเราได้ทั้งวัน ไม่ว่าเราจะพูด จะคิด จะทำ สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตาม กำลังใจของเราจะนิ่งเท่ากับตอนที่เรานั่งอยู่
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 28-11-2010 เมื่อ 11:07
สมาชิก 45 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
  #5  
เก่า 26-11-2010, 20:37
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,494
ได้ให้อนุโมทนา: 151,149
ได้รับอนุโมทนา 4,405,396 ครั้ง ใน 34,081 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ในเดือนนี้ ขอฝากเรื่องการเดินจงกรมไว้ หมายเอาว่า อันดับแรก ถ้าเราเคลื่อนไหว แล้วสามารถทรงสมาธิได้ สมาธิที่เกิดจากการเคลื่อนไหว หรือเดินจงกรมจะเสื่อมได้ยาก อันดับที่ ๒ ก็คือ สามารถสร้างฌานใช้งานให้เกิดขึ้นกับตนเองได้ บุคคลที่ทรงฌานใช้งานได้ โอกาสที่จะชนะกิเลสก็จะมีสูงกว่า

สำหรับตอนนี้ ให้ทุกคนกำหนดภาวนาตามแบบที่ตนเองถนัด ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก พร้อมกับคำภาวนาที่ตนเองชอบ ถ้าลมหายใจเบาลง หรือว่าคำภาวนาหายไป ให้กำหนดรู้ไว้เฉย ๆ อย่าอยากให้ลมหายใจเบาลง อย่าอยากให้คำภาวนาหายไป

ขณะเดียวกัน..ถ้ารู้สึกว่าตนเองไม่ภาวนาหรือไม่หายใจ ก็อย่าอยากให้กลับมาหายใจใหม่ กำหนดอารมณ์ตามรู้แบบสบาย ๆ ไว้ จิตจะดิ่งลึกเข้าสู่สมาธิที่มากขึ้นกว่าเดิมที่เราต้องการ ตอนนี้ให้ทุกคนกำหนดภาวนาไป จนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญาณบอกหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-11-2010 เมื่อ 02:36
สมาชิก 44 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา
กระทู้ถูกปิด


ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน )
 

กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:42



ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว