View Full Version : ญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์
ลัก...ยิ้ม
02-10-2014, 11:16
นี่เราให้พิจารณาถึงอสุภะอสุภังให้เต็มที่ กำหนดตั้งอยู่ยังไง..เอาตั้ง กำหนดให้ทำลายเมื่อไร เอา.. ให้ทำลายให้รวดเร็วเท่าไรก็รวดเร็ว เมื่อมันชำนาญแล้ว กำหนดมาตั้งไว้ที่หน้าของเรานี่ ทีนี้เอาความจริง จะดูความเคลื่อนไหวของอสุภะนี้ มันจะเคลื่อนไหวไปไหน เราจะหาความจริงจากจุดนี้ คือจุดนี้เป็นจุดที่เราเข้าใจว่า ชำนาญแล้วในการพิจารณาอสุภะ แล้วเอาจุดนี้มาตั้งไว้ตรงหน้าของเรา มันจะเคลื่อนย้ายไปไหนไม่ต้องมีใครมาบอกมาสอน เราดูไว้เวลานั้นอย่าทำลาย อสุภะอสุภังที่ตั้งไว้ในเวลานั้นอย่าทำลาย มันจะเคลื่อนย้ายไปไหน มันจะไปข้างหน้า มาข้างหลัง หรือจะไปทางซ้าย ทางขวา หรือจะเข้าจะออกให้ดูความจริง อันนี้จะแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนเมื่อพอแล้ว
เมื่อพอแล้ว ธรรมชาตินี้จะหมุนเข้าไปสู่จิตใจของเราเอง... พิจารณาอสุภะตัวนี้ให้ดี มันจะเคลื่อนย้ายไปไหน เวลานั้นจะไม่ทำลาย มันเป็นยังไง พิจารณาปัญญาให้ถึงฐานแห่งกามกิเลส เอาดูตัวนี้ เวลามันพอแล้วมันจะบอกเองนะ อสุภะตัวนี้.. คือเราไม่ทำลาย ตั้งไว้นั้นแหละ เอา.. มันจะไปไหนให้อยู่ในปัจจุบัน มันจะไปไหน ให้เป็นเครื่องตัดสินของท่านผู้บำเพ็ญธรรมะ ขั้นนี้เอง จากนั้นแล้วผ่านขั้นนี้ เข้าไปแล้วมันบอกเอง เรื่องกามกิเลส เรื่องตัดสินมันจะบอกในตัวเอง
‘จุดนี้เป็นจุดที่จะตัดสินกามราคะ ตัดสินได้โดยไม่ต้องไปถามผู้ใดแหละ’
ถึงขั้นอสุภะอสุภังมีความชำนิชำนาญแล้วตั้งไว้อย่างนี้ อยู่อย่างนี้ ถ้าหากว่าให้มันอยู่กับที่ มันก็อยู่กับที่แล้วไม่เคลื่อนไหวไปมาที่ไหน ก็แสดงว่ายังไม่พอ พิจารณาแตกกระจัดกระจาย ทำลายไปอีก ตั้งขึ้นมาอีก แล้วมาทดสอบดูอีก เอาจนกระทั่งมันอยู่นิ่ง มันไม่ไปไหนมาไหนแล้ว ทีนี้มันจะไปไหน อสุภะหลง หรือจิตใจเราหลง มันจะตัดสินขึ้นมาในที่นั่นเอง นี่เป็นจุดสำคัญ ...”
ลัก...ยิ้ม
03-10-2014, 10:43
https://public.bl3302.livefilestore.com/y2pdja0rwVMPNFyOr1xikCk8-wa-xq2WgLkRuFez3TZh8jaQUuIjU0jrOHf-UfKvpMLTsdDoKjtjWaod-UVf2ujQA/%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%AA%E0%B9%89.jpg?psid=1
เทศนาอบรมพระอีกคราวหนึ่ง กล่าวถึงการปฏิบัติขององค์ท่านเอง เมื่อออกก้าวเดินทางด้านปัญญา ภายหลังสมาธิมีความพร้อมและแน่นหนามั่นคงเป็นทุนเดิมอยู่นานแล้ว เมื่อพิจารณาร่างกายจึงเกิดความคล่องแคล่วแกล้วกล้า สามารถเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว เทศนากัณฑ์นี้กล่าวถึงวิธีการทดสอบตนเองว่า จิตยังมีกามราคะอยู่หรือไม่ ดังนี้
“... ก็เร่งทางด้านปัญญา เร่งทางกายนี้ก่อน.. ตอนอสุภะนี่สำคัญอยู่มากนะ สำคัญมากจริง ๆ พิจารณาอสุภะนี่ มันคล่องแคล่วแกล้วกล้า มองดูอะไรทะลุไปหมด ไม่ว่าจะหญิงจะชาย จะหนุ่มจะสาวขนาดไหน
‘เอ้า.. พูดให้เต็มตามความจริงที่จิตมันกล้าหาญน่ะ ไม่ต้องให้มีผู้หญิงเฒ่า ๆ แก่ ๆ ละ ให้มีแต่หญิงสาว ๆ เต็มอยู่ในชุมนุมนั้นน่ะ เราสามารถจะเดินบุกเข้าไปในที่นั่นได้ โดยไม่ให้มีราคะตัณหาอันใดแสดงขึ้นมาได้เลย’
นั่น..ความอาจหาญของจิตเพราะอสุภะ มองดูคนมีแต่หนังห่อกระดูก มีแต่เนื้อแต่หนังแดงโร่ไปหมด มันเห็นความสวยความงามที่ไหน เพราะอำนาจของอสุภะมันแรง มองดูรูปไหนมันก็เป็นแบบนั้นหมด แล้วมันจะเอาความสวยงามมาจากไหนพอให้กำหนัดยินดี เพราะฉะนั้น มันจึงกล้าเดินบุก เอ้า ! .. ผู้หญิงสาว ๆ สวย ๆ นั้นแหละ บุกไปได้อย่างสบายเลย ถึงคราวมันกล้าเพราะเชื่อกำลังของตัวเอง
แต่ความกล้านี้ก็ไม่ถูกกับจุดที่จิตอิ่มตัวในขั้นกามราคะ จึงได้ตำหนิตัวเองเมื่อจิตผ่านไปแล้ว ความกล้านี้มันก็บ้าอันหนึ่งเหมือนกัน แต่ตอนที่ดำเนินก็เรียกว่าถูกในการดำเนิน เพราะต้องดำเนินอย่างนั้น เหมือนการตำหนิอาหารในเวลาอิ่มแล้วนั่นแล จะผิดหรือถูกก็เข้าในทำนองนี้
ลัก...ยิ้ม
06-10-2014, 15:35
https://public.bl3302.livefilestore.com/y2pWEog5qdVdqlZw8t7D1woDn9bli74GFwWWwZ95wuWerYUkKch5R4vSpKtgr4RjL9SjDYLsgDJDp51ID15f5qQGg/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%81.jpg?psid=1
https://public.bl3301.livefilestore.com/y2pY8EuDV4euTSYi3FLsBB0hxHhWfTml0Ly1tqogLouqBYloJRzum_iQe1b_AjeMDkAlonxf5IXgW2halUq1IHe5w/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%9A.jpg?psid=1
การพิจารณาอสุภะอสุภัง พิจารณาไปจนกระทั่งว่าราคะนี้ไม่ปรากฏเลย ค่อยหมดไป ๆ และหมดไปเอาเฉย ๆ ไม่ได้บอกเหตุบอกผล บอกกาล บอกเวลา บอกสถานที่ บอกความแน่ใจเลย ว่าราคะความกำหนัดยินดีในรูปหญิงรูปชายนี้ ได้หมดไปแล้วตั้งแต่ขณะนั้น เวลานั้น สถานที่นั้น..ไม่บอก จึงต้องมาวินิจฉัยกันอีก ความหมดไป ๆ เฉย ๆ นี้ไม่เอา คือจิตมันไม่ยอมรับ
ถ้าหมดตรงไหนก็ต้องบอกว่าหมด ให้รู้ชัดว่าหมดเพราะเหตุนั้น หมดในขณะนั้น หมดในสถานที่นั้น ต้องบอกเป็นขณะให้รู้ซิ ฉะนั้น จิตต้องย้อนกลับมาพิจารณา หาอุบายวิธีต่าง ๆ เพื่อแก้ไขกันอีก เมื่อหมดจริง ๆ มันทำไมไม่ปรากฏชัดว่าหมดไปขณะนั้นขณะนี้นะ
พอมองเห็นรูปมันทะลุไปเลย เป็นเนื้อ เป็นกระดูกไปหมด ในร่างกายนั่น.. ไม่เป็นหญิงสวยหญิงงาม คนสวยคนงามเลย เพราะอำนาจของอสุภะมีกำลังแรง เห็นเป็นกองกระดูกไปหมด มันจะเอาอะไรไปกำหนัดยินดีเล่าในเวลาจิตเช่นนั้น ทีนี้ก็หาอุบายพลิกใหม่ว่า
‘ราคะนี้มันสิ้นไปจนไม่มีอะไรเหลือนั้น.. ! มันสิ้นในขณะใด ? ด้วยอุบายใด ? ทำไมไม่แสดงบอกให้ชัดเจน ?’
ลัก...ยิ้ม
21-10-2014, 11:00
จึงพิจารณาพลิกใหม่ คราวนี้เอาสุภะเข้ามาบังคับ พลิกอันที่ว่าอสุภะที่มีแต่ร่างกระดูกนั้นออก เอาหนังหุ้มห่อให้สวยให้งาม นี่เราบังคับนะ ไม่งั้นมันทะลุไปทางอสุภะทันทีเพราะมันชำนาญ นี่จึงบังคับให้หนังหุ้มกระดูกให้สวยให้งาม แล้วนำเข้ามาติดแนบกับตัวเอง นี่..! วิธีการพิจารณาของเรา เดิมจงกรมก็ให้ความสวยความงาม รูปอันนั้นน่ะ ติดแนบกับตัว ติดกับตัวไปมาอยู่อย่างนั้น
‘เอ้า ! มันจะกินเวลานานสักเท่าไร ? หากยังมีอยู่มันจะต้องแสดงขึ้นมา หากไม่มีก็ให้รู้ว่าไม่มี’...”
หลังจากเอาวิธีการนี้มาปฏิบัติได้ ๔ วันเต็ม ๆ ก็ไม่แสดงความกำหนัดยินดีขึ้นมาแต่อย่างใด ถึงจุดนี้ท่านกล่าวว่า
“... ทั้ง ๆ ที่รูปนี้สวยงามที่สุดมันก็ไม่แสดง มันคอยแต่จะหยั่งเข้าหนังห่อกระดูก แต่เราบังคับไว้ให้จิตอยู่ที่ผิวหนังนี่ พอถึงคืนที่ ๔ น้ำตาร่วงออกมาบอกว่า ‘ยอมแล้ว ไม่เอา’ คือมันไม่ยินดีนะ มันบอกว่า ‘ยอมแล้ว’
ด้านทดสอบก็ว่า ‘ยอมอะไร ถ้ายอมว่าสิ้นก็ให้รู้ว่าสิ้นซิ ยอมอย่างนี้ไม่เอา ยอมชนิดนี้ ยอมมีเล่ห์เหลี่ยม เราไม่เอา’
กำหนดไป กำหนดทุกแง่ทุกมุมนะ แง่ไหน มุมไหนที่มันจะเกิดความกำหนัดยินดี เพื่อจะรู้ว่าความกำหนัดยินดีมันจะขึ้นขณะใด เราจะจับเอาตัวแสดงออกมานั้นเป็นเครื่องพิจารณาถอดถอนต่อไป พอดึกเข้าไป ๆ กำหนดเข้าไป ๆ แต่ไม่กำหนดพิจารณาอสุภะนะ ตอนนั้นพิจารณาแต่สุภะอย่างเดียวเท่านั้น ๔ วันเต็ม ๆ เพราะจะหาอุบายทดสอบหาความจริงมันให้ได้
ลัก...ยิ้ม
04-11-2014, 09:28
พอสัก ๓ – ๔ ทุ่มล่วงไปแล้วในคืนที่ ๔ มันก็มีลักษณะยุบยับ เป็นลักษณะเหมือนจะกำหนัดในรูปสวย ๆ งาม ๆ ที่เรากำหนดติดแนบกับตัวเป็นประจำ ในระยะนั้นมันมีลักษณะยุบยับชอบกล สติทันนะ เพราะสติมีอยู่ตลอดเวลานี่ พอมีอาการยุบยับก็กำหนดเสริมขึ้นเรื่อย ๆ
‘นั่นมันมีลักษณะยุบยับเห็นไหม จับเจ้าตัวโจรหลบซ่อนได้แล้วทีนี้ นั่นเห็นไหม มันสิ้นยังไง ถ้าสิ้นทำไมจึงต้องเป็นอย่างนี้’
กำหนดขึ้น ๆ คือคำว่ายุบยับนั้นเป็นแต่เพียงอาการของจิต แสดงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้ทำอวัยวะให้ไหวนะ มันเป็นอยู่ภายในจิต พอเสริมเข้า ๆ มันก็แสดงอาการยุบยับ ๆ ให้เป็นที่แน่ใจว่า
‘เอ้อ นี่มันยังไม่หมด เมื่อยังไม่หมดจะปฏิบัติยังไง ?’
ทีนี้ต้องปฏิบัติด้วยอุบายใหม่โดยวิธีสับเปลี่ยนกัน ทั้งนี้เพราะทางไม่เคยเดิน สิ่งไม่เคยรู้จึงลำบากต่อการปฏิบัติอยู่มาก พอเรากำหนดไปทางอสุภะนี้ สุภะมันดับพรึบเดียวนะ มันดับเร็วที่สุดเพราะความชำนาญทางอสุภะมาแล้ว
พอกำหนดอสุภะ.. มันเป็นกองกระดูกไปหมดทันที ต้องกำหนดสุภะ ความสวยงามขึ้นมาแทนที่สับเปลี่ยนกันอยู่นั้น นี่ก็เป็นเวลานานเพราะหนทางไม่เคยเดิน มันไม่เข้าใจก็ต้องทดสอบด้วยวิธีการต่าง ๆ จนเป็นที่แน่ใจ จึงจะตัดสินใจลงทางใดทางหนึ่งได้
ทีนี้วาระสุดท้าย เวลาจะได้ความจริงก็นั่งกำหนดอสุภะไว้ตรงหน้า จิตกำหนดอสุภะไว้ให้ตั้งอยู่อย่างนั้น ไม่ให้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือตั้งให้คงที่ของมันอยู่อย่างนั้นละ จะเป็นหนังห่อกระดูกหรือว่าหนังออกหมดเหลือแต่กระดูก ก็ให้มันรู้อยู่ตรงนั้นแล้วจิตเพ่งดูด้วยความมีสติจดจ่อ อยากรู้อยากเห็นความจริงจากอสุภะนั้นว่า
เอ้า ! มันจะไปไหนมาไหนกองอสุภะกองนี้ จะเคลื่อนหรือเปลี่ยนตัวไปไหนมาไหน คือเพ่งยังไงมันก็อยู่อย่างนั้นละ เพราะความชำนาญของจิต ไม่ให้ทำลายมันก็ไม่ทำ เราบังคับไม่ให้มันทำลาย ถ้ากำหนดทำลาย มันก็ทำลายให้พังทลายไปในทันทีนะ เพราะความเร็วของปัญญา แต่นี่เราไม่ให้ทำลาย ให้ตั้งอยู่ตรงหน้านั้น เพื่อการฝึกซ้อมทดสอบกัน หาความจริงอันเป็นที่แน่ใจ
ลัก...ยิ้ม
06-11-2014, 12:33
พอกำหนดเข้าไป ๆ อสุภะที่ตั้งอยู่ตรงหน้านั้น มันถูกจิตกลืนเข้ามา ๆ อมเข้ามา ๆ หาจิตนี้ สุดท้ายเลยรู้เห็นว่าเป็นจิตเสียเอง เป็นตัวอสุภะนั้น จิตตัวไปกำหนดว่าอสุภะนั้น มันกลืนเข้ามา ๆ เลยมาที่ตัวจิตเสียเองไป เป็นสุภะและอสุภะหลอกตัวเอง จิตก็ปล่อยผลัวะทันที ปล่อยอสุภะข้างนอกว่าเข้าใจแล้วทีนี้ เพราะมันขาดจากกัน มันต้องอย่างนี้ซิ
‘นี่มันเป็นเรื่องของจิตต่างหาก ไปวาดภาพหลอกตัวเอง ตื่นเงาตัวเอง อันนั้นเขาไม่ใช่ราคะ อันนั้นไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ ตัวจิตนี้ต่างหากเป็นตัว ราคะ โทสะ โมหะ’
ทีนี้พอจิตรู้เรื่องนี้ชัดเจนแล้ว จิตก็ถอนตัวจากอันนั้นมาสู่ภายใน พอจิตแย็บออกไป มันก็รู้ว่าตัวนี้ออกไปแสดงต่างหาก ทีนี้ภาพอสุภะนั้นมันก็เลยมาปรากฏอยู่ภายในจิต ทีนี้มันไม่เป็นความกำหนัดอย่างนั้นนะซิ มันผิดกันมาก เรื่องความกำหนัดแบบโลก ๆ มันหมดไปแล้ว มันเข้าใจชัดว่ามันต้องขาดจากกันอย่างนี้ คือมันตัดสินกันแล้ว เข้าใจแล้ว...”
ลัก...ยิ้ม
14-11-2014, 09:59
เรียงลำดับอริยภูมิ
เทศนาอบรมพระขององค์หลวงตาภาคปฏิบัติ เกี่ยวกับการละสังโยชน์ของพระอริยบุคคลแต่ละชั้น มีข้อสังเกตบางประการที่ต่างจากภาคปริยัติ ท่านเมตตาแสดงธรรมนี้ไว้ตั้งแต่ ๔๗ ปีที่แล้ว คือเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ดังนี้
...เบื้องต้นพระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกอรหันต์ผู้ปฏิบัติและรู้เห็นตามพระพุทธเจ้าก็ดี ท่านเป็นคนมีกิเลสประเภทเดียวกันกับพวกเรา แต่อาศัยความพากเพียรพยายาม ไม่ลดละการบำเพ็ญ เพื่อชำระซักฟอกสิ่งมืดมนของใจ ท่านพยายามบำเพ็ญโดยความสม่ำเสมอ ไม่หยุดชะงัก หรือทอดทิ้งความพยายาม ใจที่ได้รับการบำรุงจากปุ๋ยที่ดีคือกุศลกรรม ก็ค่อย ๆ เจริญขึ้นโดยลำดับ จนสามารถบรรลุธรรมถึงชั้นอริยภูมิอันสูงสุด คือพระอรหัตผล คำว่าพระอริยเจ้านั้น แปลว่าผู้ประเสริฐ เพราะธรรมที่ท่านได้บรรลุเป็นธรรมอันประเสริฐ มีอยู่ ๔ ชั้นดังนี้ ชั้นพระโสดา ชั้นพระสกิทาคา ชั้นพระอนาคา และชั้นพระอรหัต
ลัก...ยิ้ม
18-11-2014, 08:19
ผู้สำเร็จชั้นพระโสดาบัน ท่านกล่าวไว้ว่าละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิหนึ่ง วิจิกิจฉาหนึ่ง สีลัพพตปรามาสหนึ่ง สักกายทิฏฐิที่แยกออกตามอาการของขันธ์มี ๒๐ โดยตั้งขันธ์ห้า แต่ละขันธ์ ๆ เป็นหลักของอาการนั้น ๆ ดังนี้ ความเห็นกายเป็นเรา เห็นเราเป็นกาย คือเห็นรูปกายของเรานี้เป็นเรา เห็นเราเป็นรูปกายอันนี้ เห็นรูปกายในอันนี้มีในเรา เห็นเรามีในรูปกายอันนี้รวมเป็น ๔ เห็นเวทนาเป็นเรา เห็นเราเป็นเวทนา เห็นเวทนามีในเรา เห็นเรามีในเวทนา นี่ก็รวมเป็น ๔ เหมือนกันกับกองรูป แม้สัญญา สังขาร วิญญาณก็มีนัย ๔ อย่างเดียวกัน โปรดเทียบกันตามวิธีที่กล่าวมาคือ ขันธ์ห้าแต่ละขันธ์มีนัยเป็น ๔ สี่ห้าครั้งเป็น ๒๐ เป็นสักกายทิฏฐิ ๒๐ มีตามท่านกล่าวไว้ว่า พระโสดาบันบุคคลละได้โดยเด็ดขาด
แต่ทางด้านปฏิบัติของธรรมะป่า รู้สึกจะคลาดเคลื่อนไปบ้างเฉพาะสักกายทิฏฐิ ๒๐ นอกนั้นไม่มีข้อข้องใจในด้านปฏิบัติ จึงเรียนตามความเห็นของธรรมะป่าแทรกไว้บ้าง คงไม่เป็นอุปสรรคแก่การฟังและการอ่าน อย่าได้ถือเป็นอารมณ์ขัดข้องใจ ผู้ละสักกายทิฏฐิ ๒๐ ได้เด็ดขาดนั้น เมื่อสรุปแล้วก็พอได้ความว่า ผู้มิใช่ผู้เห็นขันธ์ห้าเป็นเรา เห็นเราเป็นขันธ์ห้า เห็นขันธ์ห้ามีในเรา เห็นเรามีในขันธ์ห้า คิดว่าคงเป็นบุคคลประเภทไม่ควรแสวงหาครอบครัวผัว-เมีย
เพราะครอบครัว (ผัว - เมีย) เป็นเรื่องของขันธ์ห้า ซึ่งเป็นรวงรังของสักกายทิฏฐิที่ยังละไม่ขาดอยู่โดยดี ส่วนผู้ละสักกายทิฏฐิได้โดยเด็ดขาดแล้ว รูปกายก็หมดความหมายในทางกามารมณ์ เวทนาไม่เสวยกามารมณ์ สัญญาไม่จำหมายเพื่อกามารมณ์ สังขารไม่คิดปรุงแต่งเพื่อกามารมณ์ วิญญาณไม่รับทราบเพื่อกามารมณ์ ขันธ์ทั้งห้าของผู้นั้นไม่เป็นไปเพื่อกามารมณ์ คือประเพณีของโลกโดยประการทั้งปวง ขันธ์ห้าจำต้องเปลี่ยนหน้าที่ไปงานแผนกอื่น ที่ตนเห็นว่ายังทำไม่สำเร็จ โดยเลื่อนไปแผนกรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
ลัก...ยิ้ม
09-12-2014, 11:53
ผู้ละสักกายทิฏฐิ ๒๐ ได้โดยเด็ดขาด คิดว่าเป็นเรื่องของพระอนาคามีบุคคล เพราะเป็นผู้หมดความเยื่อใยในทางกามารมณ์ดังกล่าวแล้ว ส่วนพระโสดาบันบุคคล คิดว่าท่านรู้และละได้โดยข้ออุปมาว่า
‘มีบุรุษผู้หนึ่งเดินทางเข้าไปในป่าลึก ไปพบบึงแห่งหนึ่ง มีน้ำใสสะอาดและมีรสจืดสนิทดี แต่น้ำนั้นถูกจอกแหนปกคลุมไว้ ไม่สามารถจะมองเห็นน้ำโดยชัดเจน เขาคนนั้นจึงแหวกจอกแหนที่ปกคลุมน้ำนั้นออก แล้วก็มองเห็นน้ำภายในบึงนั้นใสสะอาดและเป็นที่น่าดื่ม จึงตักขึ้นมาทดลองดื่มดูก็รู้ว่าน้ำในบึงนั้นมีรสจืดสนิทดี เขาก็ตั้งหน้าดื่มจนเพียงพอกับความต้องการที่เขากระหายมาเป็นเวลานาน เมื่อดื่มพอกับความต้องการแล้วก็จากไป ส่วนจอกแหนที่ถูกเขาแหวกออก ก็ไหลเข้ามาปกคลุมน้ำตามเดิม
เขาคนนั้น แม้จากไปแล้วก็ยังมีความติดใจ และคิดถึงน้ำในบึงนั้นอยู่เสมอ และทุกครั้งที่เขาเข้าไปในป่านั้น ต้องตรงไปที่บึงและแหวกจอกแหนออก แล้วตักขึ้นมาอาบ ดื่ม และชำระล้างตามสบายทุก ๆ ครั้งที่เขาต้องการ เวลาเขาจากไปแล้ว แม้น้ำในบึงนั้นจะถูกจอกแหนปกคลุมไว้อย่างมิดชิดก็ตาม แต่ความเชื่อที่เคยฝังอยู่ในใจเขาว่า น้ำในบึงนั้นมีอยู่อย่างสมบูรณ์หนึ่ง น้ำในบึงนั้นใสสะอาดหนึ่ง น้ำในบึงนั้นมีรสจืดสนิทหนึ่ง ความเชื่อทั้งนี้ของเขาจะไม่มีวันถอนตลอดกาล’
ข้อนี้เทียบกันได้กับโยคาวจร ภาวนาพิจารณาส่วนต่าง ๆ ของร่างกายชัดเจนด้วยปัญญาในขณะนั้นแล้ว จิตปล่อยวางจาก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หยั่งเข้าสู่ความสงบหมดจดโดยเฉพาะ ไม่มีความสัมพันธ์กับขันธ์ทั้งหลายเลย และขณะนั้นขันธ์ทั้งห้าไม่ทำงานประสานกับจิต คือต่างอันต่างอยู่ เพราะถูกความเพียรแยกจากกันโดยเด็ดขาดแล้ว ขณะนั้นแลเป็นขณะที่เกิดความแปลกประหลาด และอัศจรรย์ขึ้นมาอย่างไม่มีสมัยใด ๆ เสมอเหมือนได้ นับแต่วันเกิดและวันปฏิบัติมา แต่ก็ได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ปรากฏขึ้นในเวลานั้น จิตก็ได้ทรงตัวอยู่ในความสงบสุขชั่วระยะกาล แล้วจึงถอนขึ้นมา พอจิตถอนขึ้นมาจากที่นั้นแล้ว ขันธ์กับจิตก็เข้าประสานกันตามเดิม
แต่หลักความเชื่อมั่นว่า จิตได้หยั่งลงถึงแดนแห่งความสงบอย่างเต็มที่หนึ่ง ขันธ์ทั้งห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้แยกจากจิตโดยเด็ดขาดในเวลานั้นหนึ่ง ขณะจิตที่ทรงตัวอยู่ในความสงบเป็นจิตที่อัศจรรย์ยิ่งหนึ่ง ความเชื่อทั้งนี้ไม่มีวันถอนตลอดกาล เพราะเป็นความเชื่อประเภทอจลศรัทธา ความเชื่อมั่นไม่หวั่นไหวโยกคลอนไปตามคำเล่าลือ โดยหาหลักฐานและเหตุผลมิได้ และเป็นความเชื่อมั่นประจำนิสัยของโยคาวจรผู้นั้น จากประสบการณ์นั้นแล้ว ก็ตั้งหน้าบำเพ็ญต่อไปเช่นที่เคยทำมา ด้วยความดูดดื่มและเข้มแข็ง เพราะมีธรรมประเภทแม่เหล็ก ซึ่งเป็นพลังของศรัทธาประจำกายในใจ จิตก็หยั่งลงสู่ความสงบและพักอยู่ตามกาลอันควร ทำนองที่เคยเป็นมา แต่ยังไม่สามารถทำใจให้ขาดจากความซึมซาบของขันธ์ได้โดยสิ้นเชิงเท่านั้น แม้เช่นนั้น ก็ไม่มีความท้อถอยในทางความเพียรเพื่อธรรมขั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ
ลัก...ยิ้ม
24-12-2014, 17:44
ส่วนคุณสมบัติประจำใจของพระโสดาบันบุคคลนั้น คือหลักความเชื่อมั่นประเภทอจลศรัทธา เป็นผู้เชื่อมั่นต่อผลที่รู้เห็นประจักษ์ใจแล้ว และเชื่อมั่นต่อคุณธรรมเบื้องสูงที่ตนยังไม่รู้ไม่เห็น สมานัตตตา ความเป็นผู้วางตนเสมอ ไม่ถือตัวด้วยมานะชนิดใดชนิดหนึ่งกับคนทุกชั้น เป็นผู้มีธรรมครองใจ ไม่ถืออะไรให้ยิ่งกว่าเหตุการณ์ที่เห็นว่าถูกต้องด้วยเหตุผล พระโสดาบันบุคคลยอมรับและปฏิบัติตามทันที ไม่ยอมฝ่าฝืนหลักความจริง ไม่ว่าพระโสดาบันบุคคลจะเป็นคนชาติชั้นวรรณะใด ย่อมให้ความสนิทสนมและความสม่ำเสมอกับคนทั่วไปไม่ลำเอียง
แม้คนชั่วที่เคยประพฤติตัวไม่ดีมาแล้ว ตลอดจนสัตว์ดิรัจฉาน พระโสดาบันบุคคลก็ไม่รังเกียจ โดยเห็นว่า เขากับเราตกอยู่ในวงแห่งกรรมดี - ชั่วเหมือนกัน ใครมีกรรมประเภทใด จำต้องยอมรับตามหลักกรรมที่ตนทำมา และยอมรับตามหลักความจริงที่เขาทำ หรือเขายกเหตุผลขึ้นมาอ้างโดยถูกต้องในขณะนั้น โดยไม่ต้องรื้อฟื้นอดีตคือความเป็นมาเขา ตลอดชาติชั้นวรรณะมาเป็นอุปสรรคต่อความจริง ที่ตนเห็นว่าถูกต้อง.. รีบยึดถือมาเป็นคติทันที นี้เป็นหลักธรรมประจำอัธยาศัยของพระโสดาบันบุคคล
ถ้าคำที่กล่าวมาด้วยความจนใจทั้งนี้เป็นการถูกต้อง พระโสดาบันบุคคลแสวงหาครอบครัวผัว - เมีย ก็ไม่ขัดข้องต่อประเพณีของผู้ละสักกายทิฏฐิ ๒๐ อันเป็นรวงรังของกามารมณ์ยังไม่ได้เด็ดขาด สักกายทิฏฐิ ๒๐ ก็ไม่เป็นอุปสรรคแก่พระโสดาบันทางครอบครัวเพราะเป็นคนละชั้น
ลัก...ยิ้ม
05-01-2015, 17:56
ท่านนักปฏิบัติโปรดยึดเอาเข็มทิศจากสวากขาตธรรม นำไปปฏิบัติจนเกิดความรู้ความเห็นขึ้นจำเพาะตน และกลายเป็นสมบัติของตนขึ้นมา นั่นแหละจะมีทางทราบได้ว่างานของเราเป็นงานประเภทหนึ่ง งานของท่านเป็นงานประเภทหนึ่ง แต่รวมผลรายได้เป็นตัวเงินอันเดียวกัน จะได้รับร้อยบาท พันบาท หมื่นบาท หรือมากกว่านั้น ก็ทราบชัดว่าเงินจำนวนนี้เกิดจากผลงานที่ตนได้ทำความอุตส่าห์พยายามแสวงหามา มีมากหรือมีน้อยจะเป็นที่อุ่นอกอุ่นใจแก่ตนเอง อาจจะดีกว่าการคาดคะเนทรัพย์ในกระเป๋าของคนอื่น หรือการนำปริมาณทรัพย์ของคนอื่นมาถกเถียงกัน โดยคู่ความทั้งสองไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากความแพ้ความชนะนั้น ๆ เลย ทั้งเป็นการตัดทอนสันทิฏฐิโก ที่ทรงมอบให้เป็นสมบัติของผู้บำเพ็ญจะรับไปเป็นมรดกให้ลดคุณภาพลง
วิจิกิจฉาคือความสงสัย โดยสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ ถ้าตายแล้วเกิด แต่จะเกิดในภพชาติที่เคยเกิดหรือไม่ หรือจะเกิดเป็นอะไรในภพต่อไป คนตายแล้วเปลี่ยนภพชาติเกิดเป็นสัตว์ หรือสัตว์ตายแล้วเปลี่ยนภพชาติเกิดเป็นคนได้หรือไม่ คนตายแล้ว สัตว์ตายแล้ว.. ไปอยู่ที่ไหนกัน กรรมดี - กรรมชั่วมีจริงไหม ? และที่ทำลงไปแล้วให้ผลหรือไม่ ภพหน้าชาติหน้ามีจริงไหม ? นรกสวรรค์มีจริงไหม ? มรรคผลนิพพาน มีจริงไหม ? ทั้งนี้อยู่ในข่ายแห่งความสงสัยทั้งนั้น
พระโสดาบันบุคคลคิดว่าท่านละได้ เพราะท่านรู้เห็นหลักความจริงประจำใจ ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งมวลที่กล่าวมา และยังเชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างฝังใจแบบถอนไม่ขึ้น ทั้งเชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและพระธรรม ว่าเป็นสวากขาตธรรมและเป็นนิยยานิกธรรม สามารถนำผู้ปฏิบัติตามให้ถึงความพ้นทุกข์ได้โดยลำดับอย่างฝังใจอีกเช่นเดียวกัน
ลัก...ยิ้ม
09-01-2015, 11:40
ตามหลักความจริงของกฎธรรมชาติแล้ว ไม่มีอะไรสูญในโลก มีแต่ความเปลี่ยนแปลงของสังขารทุกประเภท ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติเดิมเท่านั้น เปลี่ยนแปลงตัวเองลงสู่ธรรมชาติคือธาตุเดิมของเขา และเปลี่ยนแปลงตัวเองจากธรรมชาติเดิมขึ้นมาสู่ธาตุแฝง เช่น เป็นสัตว์ บุคคล เป็นต้น
กรรมดี กรรมชั่ว ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประจำสัตว์ ผู้มีกิเลสเครื่องผลักดันและมีความรู้สึกในแง่ดีชั่วต่างกัน จำต้องทำกรรมอยู่โดยดีแล้วกรรมดีกรรมชั่วจะสูญไปไม่ได้ แม้ผลดีผลชั่วซึ่งผู้ทำกรรม จะรับเสวยเป็นความสุขความทุกข์.. จำต้องมีเป็นคู่กันโดยจะเสื่อมสูญไปไม่ได้เหมือนกัน นอกจากผู้ทำใจให้หมดเชื้อจากภพชาติแล้วเท่านั้น จะเป็นผู้หมดปัญหาในเรื่องเกิดตาย เพราะการทำดีทำชั่วและได้รับผลดีชั่ว ทั้งนี้เป็นสาเหตุมาจากเชื้อแห่งภพชาติที่ฝั่งอยู่ภายในใจเป็นมูลฐาน นอกจากนี้แล้วจะไม่อยู่ในอำนาจคำปฏิเสธและคำรับรองของผู้ใด เช่นเดียวกับความมืด ความสว่าง ตั้งอยู่เหนือโลกธรรมของโลก
ฉะนั้น สีลัพพตปรามาส ท่านแปลว่าการลูบคลำศีลพรต เป็นสังโยชน์เครื่องข้องอันดับสาม การลูบคลำเกิดจากความไม่ไว้ใจ ถ้าเป็นลูกหญิงลูกชายก็เป็นที่ไม่ไว้ใจของพ่อแม่ อาจจะทำความหนักใจให้พ่อแม่ได้รับทุกข์อยู่เรื่อย ๆ เช่น ลูกหญิงประพฤติตัวไม่สมศักดิ์ศรีของหญิง ทำคุณค่าของหญิงให้ต่ำลง เป็นคนชอบเที่ยว ชอบเกี้ยวผู้ชาย ชอบทำตัวในลักษณะขายก่อนซื้อ ใครชมว่าดี ว่าหญิงคนสวยที่ไหน เกิดความติดใจ เชื่อง่าย จ่ายไปโดยไม่คิดมูลค่าเพื่อความเป็นคู่ครอง ไปที่ไหนแฟนคอยแอบแฝงและติดตามเป็นพวง ๆ ประหนึ่งเขาร้อยปูนาปลาทะเลไปขายที่ตลาด ครั้นแล้วกลายเป็นเขาร้อยหญิง ปรามาสหญิง ประเภทนี้เรียกว่าหญิงปรามาส เป็นที่ลูบคลำของชายทั่ว ๆ ไป ด้วยเป็นหญิงปรามาสสำหรับพ่อแม่ จะต้องหนักใจในการว่ากล่าวสั่งสอนซ้ำ ๆ ซาก ๆ ด้วยเป็นหญิงชอบค้าประเวณี อันเป็นที่อับอายและขายหน้าของวงศ์สกุลด้วย
ถ้าเป็นลูกชายก็ทำความหนักใจให้พ่อแม่อีกทางหนึ่ง เช่น ประพฤติตัวเป็นคนเกเร ขี้เกียจเรียนหนังสือและไปโรงเรียน เพื่อนชวนไปเที่ยวและเกี้ยวผู้หญิงที่ไหนเป็นที่พอใจ ไปโดยไม่บอกลาผู้ปกครองทางบ้านและทางโรงเรียน ให้ทราบนอนเท้าปลายเท้าเลย ไปแสวงหาความสนุกสนานรื่นเริงโดยวิธีชิงสุกก่อนห่าม ครูทางโรงเรียนเห็นท่าไม่ดี เพราะเด็กขาดโรงเรียนไปหลายวัน เข้าใจว่าเด็กขโมยมาที่บ้าน รีบมาหาผู้ปกครองทางบ้าน ถามเรื่องราวของเด็กคนเกเร พ่อแม่ผู้ปกครองทางบ้านเกิดงงงันอั้นตู้ และพูดออกมาด้วยความตื่นเต้นตกใจว่า อ้อ..ก็ได้มอบเด็กให้อยู่กับครูที่โรงเรียนแล้ว ทางบ้านก็ไม่สนใจ เพราะเข้าใจว่าเด็กอยู่ประจำที่โรงเรียน
เรื่องก็เลยยุ่งกันใหญ่ เพราะผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่รู้เรื่องของเด็ก ไฟที่เด็กก่อขึ้นเพื่อประโยชน์เฉพาะตัว จึงลุกลามไปไหม้ทั้งครู ผู้ปกครอง ทางโรงเรียนและพ่อแม่ของเด็กทางบ้าน ให้กลายเป็นเพลิงทั้งกองไปด้วยกัน ทั้งนี้เป็นเรื่องหนักใจแก่พ่อแม่ไม่น้อยเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นลูกชายประเภทที่กล่าวนี้ เรียกว่าชายปรามาส พ่อแม่ต้องทนทุกข์แล้วทุกข์เล่า สั่งสอนแล้ว อบรมแล้ว ไม่มีเวลาปิดปากสนิทลงได้เลย ต้องลูบต้องคลำอยู่เช่นนั้น ไม่เป็นอันกินอยู่หลับนอนให้สนิทได้
ลัก...ยิ้ม
20-01-2015, 17:21
ถ้าเป็นสามีก็คือสามีที่ไม่น่าไว้ใจ กลัวจะไปคบชู้สู่แฟนในสถานที่ต่าง ๆ เวลาลับหูลับตาลูกเมีย เที่ยวพ่วงผู้หญิงตามตรอกตามซอก แล้วนำไฟปรมาณูมาเผาผลาญลูกเมียและครอบครัว เพราะตามธรรมดาผู้ชายชอบเป็นนักเที่ยว นักเกี้ยวผู้หญิงและนักฉวยโอกาส ผู้หญิงคนใดใจลอยพลอยเชื่อง่าย มักจะถูกต้มจากฝ่ายชายเสมอ ผู้ชายที่ไม่ค่อยจะเห็นคู่ครองเป็นของสำคัญ โดยมากมันเป็นคนเสียหายในทางกามารมณ์ เบื้องต้นก็เห็นเหยื่อ (หญิง) ที่ผ่านเข้ามาอย่างลอย ๆ นั้นว่าเป็นอาหารว่าง แต่ไม่ได้คำนึงถึงปลาที่ติดเบ็ดจนถึงตายเพราะเหยื่อล่อ ปล่อยเลยตามเลยจึงต้องเสียคน
ผู้มีครอบครัวเป็นหลักฐาน ประพฤติให้หนักไปทางกามารมณ์จึงเป็นความเสื่อมเสียแก่ตนและครอบครัว หญิงผู้มีสามีประเภทชอบแสวงหาอาหารว่างเป็นนิสัย จึงเป็นที่หนักใจยิ่งกว่าภูเขาทั้งลูก กินอยู่หลับนอนไม่เป็นสุข ฉะนั้น สามีประเภทอาหารว่างนี้จึงควรให้นามว่า สามีปรามาสของภรรยา เพราะต้องรับประทานข้าวกับน้ำตา เนื่องจากความประพฤติระแวงจากสามีเสมอ ปล่อยอารมณ์ให้สบายใจสักนิดไม่ได้เลย
ลัก...ยิ้ม
26-01-2015, 11:59
ถ้าเป็นภรรยาก็เป็นภรรยาที่ไม่น่าไว้ใจของสามีเช่นเดียวกัน เป็นคนผลาญทรัพย์กลับใจ มีนิสัยเหมือนวานร (ลิง) ทั้งเป็นคู่รัก ทั้งเป็นคู่เวร ชอบเที่ยวแสวงหาสิ่งแปลก ๆ เป็นอาหารในเวลาวิกาลแบบนกค้างคาว กลับมาถึงบ้านก็ทำการเคี่ยวเข็ญสามี ทำท่าตีโพยตีพายหาโทษร้ายป้ายสีสามี เพื่อหาอุบายหนีจากสามีไปตามชู้ กิจการงานซึ่งเป็นหน้าที่ของแม่บ้านในครอบครัวจะจัดทำไม่นำพา สอดหูส่ายตามองไปมองมา ล้วนแต่เป็นมารยามองทางหาแฟน หนักเข้าก็นำเงินไปมอบให้ชายชู้ จ้างคนมาฆ่าสามีของตัวเพื่อครองรักกับเขา ถ้าเป็นหญิงประเภทนี้ก็ควรให้นามว่าภรรยาปรามาส เพราะก่อกรรมทำเข็ญให้สามีได้รับความทุกข์ทรมาน และปวดร้าวในหัวใจไม่มีวันสร่าง ทั้งเป็นการเสี่ยงภัยต่อชีวิตอันอาจเกิดขึ้นจากภรรยาเพชฌฆาต ผู้คอยสังหารอยู่ตลอดเวลาที่ได้โอกาส
ถ้าเป็นสมบัติ มีรถราเป็นต้น ก็เป็นที่ไม่น่าไว้ใจ จะขับขี่ไปทางไหนก็กลัวอันตราย ต้องเข้าโรงซ่อมบ่อย ๆ ไม่เช่นนั้นก็จะพาเจ้าของไปคว่ำจมดินที่ไหนไม่แน่ทั้งนั้น ต้องตรวจดูเครื่องทุกเวลาก่อนจะขับขี่ไปไหนมาไหน ลักษณะที่กล่าวมาทั้งนี้ เข้าในข่ายของคำว่าปรามาส คือการลูบคลำทั้งนั้น
ถ้าเป็นศีลก็เป็นศีลประเภทล้มลุก คนผู้รักษาศีลก็เป็นบุคคลล้มลุก เดี๋ยวก็ทำศีลให้ขาด เดี๋ยวก็ไปรับศีลใหม่ รับแล้วรับเล่า ขาดแล้วขาดเล่า จนตัวเองก็ไม่แน่ใจว่าตนมีศีลหรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่รับศีลแล้วรับศีลเล่าอยู่นั่นเอง ทั้งนี้หมายถึงศีลของสามัญชนทั่ว ๆ ไป เพราะรับแล้ววันนี้คราวนี้ แต่วันหน้าคราวหน้าต้องรับอีก เหล่านี้เรียกว่าสีลัพพตปรามาส เพราะลูบคลำศีลเหมือนลูบคลำบาดแผล
ลัก...ยิ้ม
30-01-2015, 10:27
พระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน แม้จะเป็นฆราวาสก็เป็นผู้แน่วแน่ในศีลที่ตนรักษาอยู่ ไม่รับศีลแล้วรับศีลเล่าเหมือนสามัญชน เพราะท่านเชื่อเจตนาของตนและรักษาศีลด้วยความระมัดระวัง ไม่ยอมให้ศีลขาดหรือด่างพร้อยด้วยเจตนาล่วงเกิน แม้จะเป็นผู้นำหน้าของหมู่ชน ก็เพียงรับเป็นจารีตของผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น แต่เจตนาจะรับเพราะเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีศีลขาดหรือด่างพร้อยนั้น ไม่มีในพระโสดาบันบุคคลเลย
พระสกิทาคาท่านว่า ทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาลง นี่ทางด้านปฏิบัติไม่มีข้อข้องใจ จึงขอยุติไว้เพียงนี้
พระอนาคามี ละสังโยชน์ได้ ๕ คือ ๓ ที่ผ่านมาแล้ว และละเพิ่มได้อีก ๒ ข้อ คือกามราคะ ความยินดีในประเพณีของโลก และปฏิฆะความหงุดหงิดใจ ส่วนกามราคะนั้น อยู่ในวงของรูปกายตามความเห็นของธรรมะป่า ว่าสักกายทิฏฐิ ๒๐ นั่นแลเป็นบ่อของกามราคะแท้ ควรเป็นภาระของพระอนาคามี.. เป็นผู้ละได้โดยเด็ดขาด เพราะผู้จะก้าวขึ้นสู่ภูมิอนาคามีโดยสมบูรณ์ จำต้องพิจารณาขันธ์ห้าโดยความรอบคอบด้วยปัญญา แล้วผ่านไปด้วยความหมดเยื่อใย คือสามารถพิจารณาส่วนแห่งร่างกายทุกส่วน เห็นด้วยความเป็นปฏิกูลด้วย โดยความเป็นไตรลักษณ์ด้วย ประจักษ์กับใจจนทราบชัดว่า ทุกส่วนในร่างกายสะท้อนนี้ มีความเป็นปฏิกูลเต็มไปหมด
ความปฏิกูลของร่างกายที่ปรากฏเป็นภาพอยู่ภายนอก กลับย้อนเข้ามาสู่วงของจิตภายในโดยเฉพาะ และทราบชัดว่าความเป็นสุภะทั้งนี้ เป็นเรื่องของจิตออกไปวาดภาพขึ้นมา แล้วเกิดความกำหนัดยินดีก็ดี ความเป็นอสุภะที่จิตออกไปวาดภาพขึ้น แล้วเกิดความเบื่อหน่าย และอิดหนาระอาใจต่อความเป็นอยู่ของร่างกายทุกส่วนก็ดี ในภาพทั้งสองนี้จะรวมเข้าสู่จิตดวงเดียว คือมิได้ปรากฏออกภายนอกดังที่เคยเป็นมา จิตได้เห็นโทษแห่งภาพภายนอกที่ตนวาดขึ้นอย่างเต็มใจ พร้อมทั้งการปล่อยวางจากสุภะและอสุภะภายนอก ที่เกี่ยวโยงกับส่วนร่างกายที่ตนเคยพิจารณา ถอนอุปาทานความถือกายนอกได้โดยสิ้นเชิง เรื่องของกามราคะซึ่งเกี่ยวกับกาย ก็ยุติลงได้ในขณะที่ถอนจิตถอนอุปาทานจากกาย โดยผ่านออกระหว่างสุภะและอสุภะต่อกัน.. หมดความเยื่อใยในสุภะและอสุภะทั้งสองประเภท
ปฏิฆะ ความหงุดหงิดของใจ ข้อนี้ทางด้านปฏิบัติไม่มีแปลกต่างและข้องใจ จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้
อันดับสี่คือ อรหัตภูมิ ท่านว่าละสังโยชน์ได้ ๑๐ คือสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ที่กล่าวผ่านมาแล้ว กับสังโยชน์เบื้องบนอีก ๕ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
ลัก...ยิ้ม
05-02-2015, 12:02
รูปราคะ ความกำหนัดยินดีในรูป ไม่ได้หมายถึงรูปหญิง รูปชาย และรูปพัสดุสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งเป็นของภายนอกและเป็นส่วนหยาบ ๆ แต่หมายถึงนิมิตที่ปรากฏกับจิตอยู่ภายในโดยเฉพาะ คือภาพที่ได้จากภายนอกตามที่กล่าวผ่านมา ซึ่งย้อนกลับเข้ามาอยู่ในวงของจิตโดยเฉพาะ ผู้พิจารณาจำต้องถือนิมิตนี้เป็นอารมณ์ของจิต หรือเป็นเครื่องเพ่งเล็งของจิต จะว่าจิตยินดีหรือติดรูปฌานก็ถูก เพราะจิตชั้นนี้ต้องทำการฝึกซ้อมความเข้าใจ เพื่อความชำนาญอยู่กับนิมิตภายในโดยไม่เกี่ยวกับกายอีกเลย จนเกิดความชำนิชำนาญในการปรุงและทำลายภาพภายในจิต ให้มีการปรากฏขึ้นและดับไปแห่งภาพได้อย่างรวดเร็ว
แต่การเกิด – ดับของภาพ ทั้งนี้เป็นการเกิด – ดับอยู่จำเพาะใจ มิได้เกิด – ดับอยู่ภายนอกเหมือนแต่ก่อนซึ่งจิตกำลังเกี่ยวข้องอยู่กับกายเลย แม้ความเกิดดับของภาพภายใน เมื่อถูกสติปัญญาจดจ้องเพ่งเล็งอยู่ไม่หยุด ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปโดยลำดับ ความเกิด – ดับของภาพชนิดนี้ นับวันและเวลาเร็วเข้าทุกที จนปรากฏเหมือนฟ้าแลบแล้วดับไป ผลสุดท้ายก็หมดไป ไม่มีนิมิตเหลืออยู่ภายในใจเลย พร้อมทั้งความรู้เท่าทันว่า ภาพนี้มีความสลายไปเช่นเดียวกับสภาวธรรมอื่น ๆ จากนั้นก็เป็นสุญญตา ว่างเปล่า ไม่มีนิมิตภายในจิต แม้ร่างกายจะทรงตัวอยู่ แต่ในความรู้สึกนั้นปรากฏเป็นความว่างเปล่าไปหมด ไม่มีภาพใด ๆ เหลืออยู่ภายในจิตเลย
ลัก...ยิ้ม
06-02-2015, 15:14
อรูปราคะ คือความยินดีในสุขเวทนาหรือรูปฌาน ข้อนี้ทางด้านปฏิบัติไม่มีข้อข้องใจ จึงขอยุติไว้
มานะ ความถือ แยกออกเป็นมานะ ๙ คือความสำคัญใจ ๙ อย่าง เช่น ตัวมีภูมิธรรมต่ำกว่าเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง ยิ่งกว่าเขาบ้าง ตนมีภูมิธรรมเสมอเขา สำคัญว่าต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง ยิ่งกว่าเขาบ้าง และตนมีภูมิธรรมยิ่งกว่าเขา แต่สำคัญว่าต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง ยิ่งกว่าเขาบ้าง
ความสำคัญทั้งนี้เป็นการผิดทั้งนั้น ถ้าพูดตามธรรมชั้นสูง เพราะความสำคัญเป็นเรื่องของกิเลส จึงควรแก้ไขจนไม่มีอะไรมาแสดงความสำคัญภายในใจ จะชื่อว่าเป็นใจที่บริสุทธิ์ เพราะหมดความคะนองส่วนละเอียด
ลัก...ยิ้ม
13-02-2015, 12:08
อุทธัจจะ คือความฟุ้งของใจนี้ ไม่ได้หมายถึงความฟุ้งซ่านแบบสามัญชนทั่ว ๆ ไป แต่เป็นกิริยาแห่งความขยันหมั่นเพียร และเพลิดเพลินของพระอริยเจ้าชั้นนี้ ท่านทำการขุดค้นหาต้นตอของวัฏฏะ ด้วยสติปัญญาอันแหลมคมของท่านต่างหาก แต่การทำทั้งนี้รู้สึกจะมุ่งสำเร็จให้ทันกับความหวังของใจ ที่มีกำลังกล้าต่อแดนพ้นทุกข์ จึงไม่ค่อยคำนึงถึงมัชฌิมาคือความพอดี ได้แก่การพักผ่อนจิตให้เข้าสู่ความสงบสุขคือสมาธิ เพราะปัญญาชั้นนี้คิดไปเท่าไร ก็ยิ่งเห็นทางถอดถอนกิเลสอาสวะโดยลำดับ ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้พิจารณามีความเพลิดเพลินต่องานของตน จนลืมพักจิตในความสงบเพื่อเป็นกำลังทางด้านปัญญาต่อไป เพราะเห็นว่าการพักจิตในสมาธิก็ดี การพักหลับนอนก็ดี เป็นการเนิ่นช้าต่อทางดำเนิน ฉะนั้น จิตจึงมีความเร่งรีบและเพลิดเพลินต่อการพิจารณาจนเลยเถิด ซึ่งเป็นทางผิดได้อีกทางหนึ่ง ท่านจึงได้ให้นามว่าสังโยชน์..คือเครื่องผูกมัดใจ
อวิชชา ถ้าหมายถึงอวิชชาทั่ว ๆ ไปในสามัญชนและสามัญสัตว์ ก็ขอแปลแบบพระป่าว่า รู้แกมโง่.. ฉลาดแกมโกง ทั้งรู้ทั้งหลง จับเอาตัวจริงไม่ได้เรียกว่า อวิชชาชั้นหยาบ ส่วนอวิชชาชั้นละเอียดที่ท่านกล่าวไว้ในสังโยชน์เบื้องบนนั้น ตามความรู้สึกของธรรมะป่าว่า คือความหลงจิตดวงเดียวเท่านั้น เพราะสิ่งอื่น ๆ สามารถรู้เท่าและปล่อยวางได้ แต่กลับมาหลงตัวเองท่านจึงให้นามว่า “อวิชชา” แปลว่ารู้ไม่รอบ รู้ไม่ชัดเจน ยังมีเงาปิดบังตัวเองไว้ ต่อเมื่อสติปัญญาเพียงพอเพราะอาศัยการขุดค้นไตร่ตรองเสมอ นั่นแล.. จิตจึงจะรู้ขึ้นมาว่า อวิชชาคือความหลงตัวเองเท่านั้น พอปัญญาได้หยั่งทราบ อวิชชาก็ดับลงในขณะเดียว ไม่มีอวิชชาตัวไหนจะยังเหลืออยู่ในจิตอีกเลย
ลัก...ยิ้ม
26-02-2015, 18:14
คำว่าอุทธัจจะ คือความฟุ้งในการพิจารณาก็ดี มานะความถือจิตก็ดี ย่อมหมดปัญหาลงในขณะเดียวกันกับขณะอวิชชาดับไป เพราะหมดต้นเหตุที่จะทำให้เพลิดเพลินและถือมั่นโดยประการทั้งปวงแล้ว เรื่องทั้งหมดก็มีอวิชชาคือสิ่งที่แปลกประหลาดอันเดียวเท่านั้น เป็นต้นเหตุสำคัญในไตรภพ เพราะเป็นสิ่งน่ารู้และน่าหลงเคลือบแฝงอยู่ในตัวของมันอย่างพร้อมมูล ผู้ปฏิบัติถ้าไม่สันทัดทางด้านปัญญาจริง ๆ จะหาทางออกจากอวิชชาได้โดยยาก เพราะอวิชชาทั่ว ๆ ไปกับตัวอวิชชาจริง ๆ รู้สึกผิดแปลกกันมาก อวิชชาทั่ว ๆ ไปได้แก่ ธรรมชาติที่รวมความหลงทั่งภายนอกและภายในเป็นตัวกิเลสไว้ด้วยกัน เช่นเดียวกับไม้ทั้งต้นซึ่งรวมสิ่งต่าง ๆ ของมันไว้ ส่วนอวิชชาจริง ๆ ได้แก่ ธรรมชาติที่ถูกตัดต้นโค่นรากจากความเพียรมาเป็นลำดับ จนหายพยศจากสิ่งต่าง ๆ เข้ามาเป็นระยะ ๆ สุดท้ายก็มารวมลงที่จิตแห่งเดียว
จุดนี้แล.. เป็นจุดตัวจริงของอวิชชาแท้ แต่ขณะนี้อวิชชาไม่มีสมุนเป็นบริวารเหมือนสมัยที่กำลังเรืองอำนาจ ตัวอวิชชาแท้นี้เป็นที่เก็บรวมสิ่งต่าง ๆ ที่แปลกประหลาด ซ่อนไว้กับตัวของมันหลายอย่าง ซึ่งเราไม่เคยคาดหมายไว้ก่อนเลย เช่นเดียวกับยาพิษที่แทรกอยู่กับวัตถุชิ้นเล็ก ๆ เป็นเครื่องล่อสัตว์ให้ตาย ฉะนั้น สิ่งแทรกซึมอยู่กับตัวอวิชชาแท้นั้น ที่พอจะนำมาอธิบายให้ท่านผู้ฟังได้ก็เพียงเล็กน้อย เพราะไม่สามารถจะนำมาเทียบกับสมมุติ ให้เหมือนตัวจริงของสิ่งเหล่านี้ได้สมความต้องการ สิ่งแทรกซึมนั้นคือความผ่องใสเด่นดวง ประหนึ่งเป็นสิ่งสำเร็จรูปโดยสมบูรณ์แล้วหนึ่ง ความสุขเป็นความสุขที่พ้นจากแดนสมมุติทั้งปวงหนึ่ง ความองอาจภายในตัวเอง ประหนึ่งจะไม่มีสิ่งอาจเอื้อมเข้าไปเกี่ยวข้องได้หนึ่ง ความติดใจและสงวนธรรมชาตินั้น ประหนึ่งทองคำธรรมชาติหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้แล เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินเพื่อสันติธรรมอันแท้จริง โดยเจ้าตัวไม่รู้สึกในเวลานั้น ต่อเมื่อได้ผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปแล้ว จึงจะทราบความผิดถูกของตน เมื่อย้อนกลับคืนมาพิจารณาข้างหลังที่เคยดำเนินมาก็ทราบได้ชัดว่า เราดำเนินมาถึงที่นั้นคดโค้งไปหรือผิดเพี้ยนไป ระยะนั้นเราติดความสงบ คือติดสมาธิมากไป ระยะนั้นเราพิจารณาทางด้านปัญญามากไป ไม่สม่ำเสมอทั้งด้านสมาธิและด้านปัญญา ความเพียรจึงช้าไปในระยะนั้น ๆ ย่อมทราบย้อนหลังโดยตลอด สิ่งที่จะให้เกิด - ตายต่อปีอีกคืออะไร ย่อมทราบชัดจากขณะอวิชชาดับไปแล้ว จากนั้นเป็นผู้หมดกังวลทั้งอดีตที่เคยเป็นมาของตน ทั้งอนาคตที่จะพาให้เป็นไปข้างหน้า เพราะปัจจุบันจิตขาดจากการติดต่อกับเรื่องทั้งหลายโดยประการทั้งปวงแล้ว...”
ลัก...ยิ้ม
06-03-2015, 14:12
บ้าหลงสังขาร
องค์หลวงตากล่าวถึงการปฏิบัติของท่าน หลังออกจากสมาธิเข้าสู่การพิจารณาทางด้านปัญญา จนถึงภาวะที่จิตพ้นจากกามกิเลสไปแล้ว ท่านว่าจากนั้นก็เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ ซึ่งหมุนแล้วเป็นเกลียวเพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว ประหนึ่งว่านิพพานอยู่ชั่วเอื้อมเท่านั้น ดังนี้
“... รอไม่ได้เลย หมุนติ้ว ๆ สติปัญญาอัตโนมัตินี้ คือสติปัญญาแก้กิเลส ฆ่ากิเลสเป็นอัตโนมัติ ไม่ว่ายืน ว่าเดิน ว่านั่ง ว่านอน เว้นแต่หลับเท่านั้น พอตื่นนอนขึ้นมา สติปํญญานี้จะจับงานอัตโนมัติของตนแล้วเป็นลำดับลำดา นี่คือสติปัญญาอัตโนมัติทำงาน แก้กิเลสเป็นอัตโนมัติ ทีนี้เรื่องความพากความเพียรที่เราจะหมุน อย่างที่ว่าเพียรพยายามถูไถกันไป อย่างนี้ไม่มีในวงที่ว่าสติปัญญาอัตโนมัติ มีแต่หมุนตัวไปเองเพื่อความพ้นทุกข์ ๆ แก้กิเลสโดยอัตโนมัติ อยู่ที่ไหนแก้ตลอด ๆ ไม่มีคำว่าพัก
‘โห.. เอาเสียจนบางคืนนอนไม่หลับเลยนะ เป็นคืนสองคืน นอนไม่หลับ’…”
เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ท่านว่ามันยิ่งเห็นโทษเห็นภัยของกิเลสอย่างหนัก ขณะเดียวกันก็เห็นคุณค่าของความหลุดพ้น มีน้ำหนักเท่า ๆ กัน เมื่อเป็นเช่นนี้ การต่อสู้ห้ำหั่นระหว่างธรรมกับกิเลสจึงไม่มีวันที่จะยอมแพ้กันได้เลย ท่านเล่าอย่างถึงใจว่า
“... มันก็พุ่งน่ะสิ มีแต่ว่าตายเท่านั้น เรื่องแพ้ไม่พูดเลย แพ้ก็ต้องแบกหามลงเปลไปเลย ที่จะให้ยกมือยอมแพ้นั้นไม่มี ซัดกันขนาดนั้น.. ถ้าได้ลงทางจงกรมแล้วมันไม่รู้จักหยุด ไม่ว่าเวล่ำเวลา ร้อนหนาว มันไม่ได้สนใจ คือจิตมันอยู่ที่นี่ มันไม่ได้ออกนะ ออกไปตามดินฟ้าอากาศนี้ไม่ได้ ออกไปหาร่างกายนี้... วันหนึ่งมันก็ไม่ได้ออก มันฟัดกันอยู่ภายใน เหมือนนักมวยเข้าวงใน ว่างั้นเถอะนะ ใครจะไปสนใจเรื่องความเจ็บความปวด มันไม่สนใจนะ
อันนี้กิเลสมันเข้าวงในนะ ระหว่างธรรมกับกิเลส... ฟัดกันวงในมันเป็นอย่างนี้ หมุนติ้ว ๆ เดินจงกรมตั้งแต่ฉันอาหารเสร็จแล้ว จนกระทั่งถึงเวลาปัดกวาดตอนเย็นนะ มันเดินได้ยังไง คือมันไม่รู้เวล่ำเวลา
จนกระทั่งเวลาหยุดจากทางจงกรมแล้ว มองเห็นกาน้ำมันจะตายเลย มันไม่ได้กินน้ำ โดดคว้ากาน้ำมารินนี้ กลืนนี้ โห.. กลืนไม่ทัน สำลัก กั๊ก ๆ ๆ เวลามันฟัดกันนี่ ไม่ได้สนใจกับสิ่งเหล่านี้นะ เวลาออกมาแล้ว มาเห็นกาน้ำนี่สิ โอ้โห.. โดดใส่เลยเชียวนะ มันจะตาย แหม.. มันขนาดนั้นนะ
เราไม่ถึงฝ่าเท้าแตก แต่ออกร้อน โอ้โห.. เหมือนไฟลนแหละ พอมาถึงที่พักถึงรู้นะ ตอนนั้นไม่รู้ แดดก็ไม่รู้ร้อน มันไม่สนใจกับแดดกับฝนอะไร แต่ไม่ได้เคยตากฝนเดินจงกรม แต่ตากแดดนี่เคยแล้ว เราเอาผ้าอาบน้ำมาพับครึ่งแล้วก็มัดผูกบนศีรษะนี้ แล้วก็เอาผูกใส่คางเหลือแต่ตา
เดินจงกรมกลางแจ้งทีเดียวบนไร่ร้างสวนร้างเขา เอากันอยู่นั่น ไม่มีร่มเลย ร่มไม่ร่ม.. ช่างหัวมัน ฟาดลงนั้นเลย ทำได้นะ ไม่สนใจกับร้อนกับหนาวอะไรเลย เพราะอันนี้มันรุนแรงภายในใจ
นี่.. แล้วไม่ใช่เดินอยู่วันหนึ่งวันเดียว นั่นซี.. มันเป็นประจำของมันอย่างนั้น พอเข้าทางจงกรมแล้วเท่านั้นแหละ ไม่มีเวล่ำเวลานาทีมายุ่งกวน มีแต่อันนี้ฟัดกันอยู่ภายใน หมุนติ้ว ๆ เราก็เดิน ก็เดินไปยังงั้นล่ะ แต่ทางนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลา เดินสะเปะสะปะไปตามเรื่องของมัน ที่นี้เดินไม่หยุดสิ วันนี้ก็เดิน วันหน้าก็เดิน.. หลายวันต่อหลายวัน...
เดินจงกรมไม่รู้จักหยุด.. ไม่รู้ว่าเหนื่อยว่าอะไร เพราะมันหมุนติ้ว ๆ อยู่นี่ งานอยู่นี้เดินไป บางทีเดินจงกรมนี้ โน่น.. เซซัดเข้าไปในป่าโน้น โครมครามในป่าโน้นเพราะจิตมันไม่ออก ตาก็มืดมัวไปหมดละซี มีแต่ขาก้าวไป ๆ ก็เข้าไปโน่น แล้วออกมาอีกที..เอาอีกอยู่งั้น คำว่าน้ำท่าอะไร ๆ ไม่สนใจทั้งนั้นเมื่อถึงขั้นตะลุมบอนกัน...”
ลัก...ยิ้ม
12-03-2015, 14:10
ท่านว่าในขั้นสติปัญญาอัตโนมัตินี้ จะหมุนฆ่ากิเลสตลอด เทียบได้กับเวลากิเลสมีกำลัง จิตใจหมุนไปทางไหน คิดไปแบบไหนจะเป็นกิเลสทั้งนั้น ไม่ได้เป็นธรรม มีแต่ลากเราไปเป็นกิเลส แล้วเอากองทุกข์ขนมาทับหัวใจเรา อันนี้เป็นอัตโนมัติของกิเลส ดังนี้
... ปุถุชนเรานี้คิดเรื่องใดก็ตาม กิเลสต้องเป็นอัตโนมัติของมันตลอด ๆ ไป นี่..เวลากิเลสมีกำลังมากเป็นอย่างนั้นนะ ทีนี้บทเวลาสติปัญญาขั้นนี้ขึ้นมา มันรับกันล่ะซิ พอสติปัญญาขั้นนี้ขึ้นมา.. มันฆ่ากิเลส ที่นี้ฆ่ากิเลส มันก็เพลินในการฆ่ากิเลส เพลินไปเพลินมา.. เลยกลายเป็นอัตโนมัติไป หมุนติ้ว ๆ เลย อยู่ไม่ได้.. ต้องฆ่าตลอด ๆ นี้เรียกว่า วิวัฏจักร หมุนกลับ
แต่ก่อนกิเลสมันเป็นวัฏจักร หมุนจิตเข้ามาสู่ความทุกข์ทั้งหลาย ทีนี้เป็นวิวัฏจักร.. ด้วยสติปัญญาอัตโนมัติ มันหมุนจิตกลับออกจากกองทุกข์ หมุนเรื่อย ๆ หมุนติ้ว ๆ จนกระทั่งกลางคืนทั้งคืนนั่งภาวนา มันพิจารณาของมันตลอด นอนมันก็พิจารณาของมันตลอด อยู่อิริยาบถไหนเรียกว่าไม่มีอิริยาบถ คือมันเป็นสติปัญญาตลอดเวลา ไม่ว่าจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน มันจะเป็นสติปัญญาฟัดกับกิเลสตลอดเวลา แม้ที่สุดเราฉันจังหันอยู่นี้ จิตมันไม่ได้อยู่กับอาหารนะ มันจะทำงานของมันอยู่ในนั้น หมุนติ้ว ๆ ซัดกันอยู่ในนั้น นี่ละ..สติปัญญาอัตโนมัติ นี่ละ..ฆ่ากิเลส ที่นี้เริ่มละนะ เริ่มเรื่อย ๆ ๆ ไป
ถ้าลงได้ก้าวลงไปเดินจงกรมแล้วไม่รู้จักหยุดจักยั้งน่ะ จนกระทั่งเวลาเช่นเวลาปัดกวาด ฉันจังหันเสร็จแล้วลงเดินจงกรม นานขนาดไหนฟังซิ มันรู้เมื่อไรว่าเช้า สาย บ่าย เย็น ที่ไหน มีแต่กิเลสกับธรรมฟัดกันอยู่ภายในใจ หมุนติ้ว ๆ นี่ถ้าเป็นนักมวยก็เรียกว่าเข้าวงใน ไม่รู้จักเป็นจักตาย นักมวยเข้าวงในกันเป็นอย่างนั้น อันนี้กิเลสกับธรรมเข้าวงในกันก็แบบเดียวกัน วงนี้วงจะออกจากทุกข์แล้วนี่ หมุนติ้ว ๆ เดินจงกรมตั้งแต่ฉันจังหันเสร็จแล้ว จนกระทั่งถึงเวลาปัดกวาด ถึงด้อม ๆ มาจากทางจงกรม วันนี้ก็เดิน คืนนี้ก็เดิน วันหน้าก็เดิน คืนหน้าก็เดิน เดินไม่หยุดไม่ถอย ฟัดกับกิเลสจนกระทั่งกิเลสขาดสะบั้นลงเมื่อไรถึงจะหยุดได้ แล้วมันมีเวลากี่วัน กี่ปี กี่เดือน นั่น..ฟังซิน่ะ เดินอยู่อย่างนั้นตลอด
ถ้าลงได้เดินก็ไม่รู้จักหยุด ถ้าได้นั่งก็เอาไม่รู้จักเคลื่อนจักไหว เพราะทางภายในมันไม่ได้ออก มันหมุนของมันอยู่ภายใน นี่ละ.. ฝ่าเท้าถึงแตกเพราะเดินไม่หยุด วันนี้ก็เดิน วันหน้าก็เดิน เดินหลายวันหลายคืนมันก็แตกล่ะซิ ทีนี้มาพิจารณาถึงเรื่องความเพียรที่มันเป็น ที่ท่านเดินจงกรมฝ่าเท้าแตกเพราะเหตุนี้เอง ถ้าธรรมดาเราบังคับบัญชา เราเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน เรายังไม่อยากเชื่อนะ แต่พอก้าวเข้าถึงขั้นความเพียรอัตโนมัติ สติปัญญาอัตโนมัตินี้แล้ว เชื่อทันทีเลย นี่..ลงเดินจงกรมก็เหมือนกัน มันได้เห็นแล้วนี่ ถ้าลงได้เดินแล้วไม่รู้เวล่ำเวลา เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หิวโหยอะไร ไม่เคยสนใจเลย น้ำท่าไม่ได้สนใจ
อะไรไม่ได้สนใจทั้งนั้นเลย มีแต่หมุนติ้ว ๆ อยู่ภายใน ๆ ๆ วันนี้ก็เป็นอย่างนี้ กลางคืนก็เป็นอย่างนี้ ถ้าว่านั่งก็ไม่รู้จักลุก ถ้าว่าเดินก็ไม่รู้จักหยุด ทำอะไรเป็นอันว่าคือมันหมุนอยู่ภายใน มันไม่ออกข้างนอก เรื่องที่ว่าร้อนว่าหนาว ว่าชุ่มว่าเย็น ว่าหิวว่ากระหาย อย่าเอามายุ่งเลย.. อยู่ภายนอก อันนี้อยู่ภายใน ไม่สนใจกับอะไรทั้งนั้น มันจะร้อนแผดขนาดไหน.. แดดไม่ได้สนใจนะ ไม่มีคำว่าร้อน กิเลสกับธรรมฟัดกันอยู่ภายใน อันนี้หมุนติ้ว ๆ มันจะออกไปอะไร หาดินหาฟ้าอากาศล่ะ นั่นละ ที่นี้ยอมทันที อ๋อ... ท่านเดินจงกรมผ่าเท้าแตก ยอมรับทันที อ๋อ.. เดินแบบนี้เอง เดินฝ่าเท้าแตก
ลัก...ยิ้ม
17-03-2015, 11:28
เราเองฝ่าเท้าไม่แตก แต่ได้เอามาดูจริง ๆ พอมานั่งหยุดพักเดินจงกรม ฝ่าเท้านี้เหมือนไฟลนนะ ออกร้อนวูบ ๆ ๆ ๆ ‘โอ้โห.. ทำไมฝ่าเท้าเราจึงเป็นอย่างนี้’
พลิกออกมาก็มาดู หรือฝ่าเท้าแตกหรือยังไง ! มาดู..ไม่แตก แต่เวลาเอามือลูบ ๆ มันเสียวแปลบ ๆ นี่.. จวนจะทะลุแล้วนะ ฝ่าเท้ามันทะลุถึงเนื้อ.. เข้าใจไหม หนังเรานี่ เดินนานเข้ามันบางเข้า ๆ มันทะลุจะถึงเนื้อ เรามาลูบดูฝ่าเท้าเรานี้มันก็ไม่แตก หรือมันฝ่าเท้าแตก..! ทำไมมันออกร้อนหนักหนา..! มาดูมันไม่แตกแล้วเอามือลูบดู โอ๊ย..เสียวแปลบ ๆ ออกร้อน นี่.. ถ้านานกว่านี้จะแตก นี่จับได้ตรงนี้ เราฝ่าเท้าไม่แตก แต่ว่าจะแตกถ้านานกว่านี้ไป..แตกแน่ ๆ นี่ละเรื่องของความเพียรของผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ไม่ต้องมีใครบอกนะ เป็นอยู่ในหัวใจนี้แล้ว ยังไงก็ไม่อยู่
‘ตายก็ให้ตายไปเลย ที่จะมาถอยให้กิเลสบีบคั้นอย่างแต่ก่อนไม่ได้แล้ว นั่นเห็นโทษขนาดนั้น ถึงว่าถอยไม่ได้แล้วต้องเอาตายเข้าว่าเลย ถึงธรรมขั้นที่กระจ่างแจ้ง จะให้หลุดพ้นโดยถ่ายเดียวแล้วจะอยู่ไม่ได้เลย ต้องหลุดโดยถ่ายเดียว ไม่หลุดก็ เอ้า..ตาย ให้ถอย ให้ยกมือไหว้ไม่มี เอาตายเข้าว่าเลย’
ทีนี้เวลามันไปเต็มที่แล้ว นั่งเหนื่อยแล้วนอน นอนให้มันหลับ.. มันไม่ยอมหลับ มันหมุนของมันเหมือนกับนั่งอยู่นั้นละ หมุนฆ่ากิเลส ‘เอ๊..นั่งก็เหนื่อย เอ้า..ลุกขึ้นมานั่งอีก สุดท้ายแจ้ง..ไม่หลับเลย อ้าว..กลางวันยังจะไม่หลับอีกนะ มันยังหมุนของมันอยู่ตลอดเวลา วันนี้ไม่หลับ วันหลังก็ไม่หลับอีกกลางคืน เอ้า..มันจะตายแล้วนะ ทำไมเป็นอย่างนี้’
ลัก...ยิ้ม
18-03-2015, 17:50
เรื่องอ่อนนะ..คือมันจะเป็นความลำบาก เป็นความอ่อนเพลียภายในหัวอกของเรานี่ คือสติปัญญามันทำงานอยู่ตรงนี้ สังขารคือทำงานนั่น เข้าใจไหม..มันทำงานอยู่ในนี้ สังขารมันทำงาน สังขารสัญญาที่คาดที่หมาย ที่คิดกับกิเลสจะฆ่ากิเลส มันไปด้วยกันนั่นแหละ แต่เป็นสังขารของมรรค สัญญาของมรรค ไม่เป็นสัญญาของสมุทัย สังขารของสมุทัยเหมือนแต่ก่อน เข้าใจไหมล่ะ แต่มันก็หมุนของมันอยู่นี้
ทีนี้มันก็เหนื่อยล่ะซิ ทำงานอยู่ตลอดเวลา เหนื่อย..ที่นี้เราจะมาพัก พักมันก็ไม่ถอย มันหมุนของมัน เรียกว่าทางแพ้ไม่มี พูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้นนะ เรื่องแพ้ไม่มี เมื่อเรื่องแพ้ไม่มี..มันก็ต้องหมุนของมันเรื่อย อันนี้ก็แจ้ง
‘อู๋ย.. ยังไงกัน กลางวันก็เป็นอย่างนี้ มันจะไม่ตายเหรออย่างนี้ วิตกนะ วิตกวิจารณ์ หือ..ขนาดนี้มันจะไม่ตายเหรอ มันทำไมลำบากลำบนนักหนา’
จนกระทั่งถึงได้ย้อนหลังมาคิด ที่เราเคยคิดค้นเดามาแต่ก่อนด้วยความคาดความหมาย เวลานี้เราลำบากลำบน แต่ก่อนเพราะเรายังไม่ได้รากได้ฐาน แต่เวลาได้รากได้ฐาน จิตมีความละเอียดลออเข้าไปเท่าไร การงานของเราจะค่อยเบาไป ๆ สะดวกสบายไปและพ้นทุกข์ไปเลย มันคาดนะ นั่นนะ.. มันคิดมันด้นมันเดา แต่เวลามันได้เหตุได้ผลของมันมากเท่าไร.. มันยิ่งหมุนของมันใหญ่ มันไม่ได้คิด แต่เวลามันไปเจอจัง ๆ ที่เป็นปัจจุบันตัวเป็นเอง.. มันก็เอามาคิด
‘โห.. ที่เราคาดคิดเอาไว้ ว่าแต่ก่อนเวลาจิตเราหยาบนี้มันก็ต้องทุกข์ลำบาก เวลาจิตละเอียดเข้าไปเท่าไรมันก็ค่อยสบาย ๆ อย่างนี้ มันผิดทั้งเพ เวลามันได้ผลมันยิ่งหมุนของมันใหญ่เลย มันยังไงกัน ๆ คิดแย็บเดียวเท่านั้น เดี๋ยวมันก็หมุนของมันไปอีก ๆ’
จนกระทั่งไม่ไหวแล้วต้องวิ่งขึ้นหาพ่อแม่ - ครูอาจารย์ แต่สำหรับพ่อแม่ครูอาจารย์กับเรานี้ ท่านจะเห็นเหตุผลอะไรไม่ทราบนะ ถ้าหากว่าเป็นไม้ก็ยกมาทั้งท่อนเลย ให้ไปจาระไนเอง ให้ไปเลื่อยเอง ท่านไม่เลื่อยให้ ไม่จาระไนให้ ไม่อธิบายแยกแยะนะ ท่านจะโยนตูมมาให้เลย...”
ลัก...ยิ้ม
26-03-2015, 11:51
โดยปกติ หลวงปู่มั่นจะพูดกับท่านแบบธรรมดาคล้ายพ่อแม่กับลูก แต่หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการภาวนาแล้ว จะไม่พูดแบบธรรมดาเลย แต่จะจริงจัง เด็ดขาด และพูดอย่างคึกคักเต็มที่ ซึ่งถูกกับจริตนิสัยที่ผาดโผนจริงจังของท่านมาก คราวนี้ก็เช่นกัน
“... ทีนี้ก็ขึ้นไปหาท่านละซิ นี่ที่พ่อแม่-ครูอาจารย์ว่าให้พิจารณาทางด้านปัญญานั้น
‘เวลานี้ มันออกแล้วนะ’ ก็ว่างั้น
‘มันออกยังไงว่าซิ’ ท่านว่า ‘โอ๋ย.. มันไม่ได้นอนทั้งวันทั้งคืนเลย เวลามันได้หมุนตลอดเลย ทั้งวันทั้งคืนไม่ได้นอน นี่.. ก็ไม่ได้นอนมาสองคืนแล้ว’
ท่านก็ใส่เปรี้ยงเลยนะ ‘นั่นละ มันหลงสังขาร’ ท่านว่า ‘นั่น.. ฟังซิ สังขาร’
ทางนี้ก็ปั๊บเข้าไป ‘ถ้าไม่พิจารณา มันก็ไม่รู้’
‘นั่นละ บ้าหลงสังขาร’…”
ลัก...ยิ้ม
07-04-2015, 16:54
แบ่งพัก แบ่งสู้
หลวงปู่มั่นใส่ปัญญา “บ้าหลงสังขาร” ให้แก่ท่าน โดยไม่มีการอธิบายหรือแจกแจงอะไรให้เลย ทั้งนี้เพื่อให้ท่านได้ขบคิดใช้สติปัญญาของตนพิจารณาหาทางแก้ไขเอาเอง ดังนี้
“... ท่านเอาทั้งรังทิ้งเลย ปัญญานี้เอาทิ้งเลย ให้หาใหม่ เป็นอย่างนั้นละ คำว่าหลงสังขาร คือทางกิเลสมันก็เอาสังขาร ความคิดความปรุงนี้ออกไปใช้ เข้าใจไหมล่ะ ? ทีนี้ทางมรรคทางปัญญา ก็ต้องเอาสังขารนี้ออกมาใช้ทางด้านปัญญา เมื่อเวลาใช้มาก ๆ มันไม่รอบคอบต่อสังขารที่เป็นฝ่ายมรรค สังขารฝ่ายสมุทัยก็แทรกเข้ามา ๆ ‘นั่นละ มันหลงสังขาร’
คือหลงสังขาร ตัวมันเป็นสมุทัย เราไม่รู้เข้าใจไหม ท่านว่าอย่างนั้น ทีนี้มันลงนะ เห็นจะเป็นอย่างท่านว่า แต่ความหมุนของเราที่มันหมุนด้วยปัญญานี้.. ไม่ถอยนะ เวลามันจะตายจริง ๆ ก็รั้งเข้ามาสู่สมาธิ รั้งเข้ามานะ..
สมาธินี้มันเกรียงไกรขนาดไหน ฟังซิ.. ติดถึง ๕ ปีมันไม่ได้สนใจนะ เหมือนหมูขึ้นเขียงมันว่างั้น เวลามันจะตายจริง ๆ ก็ย้อนเข้ามาสู่สมาธิ กำหนดภาวนาสมาธิถึงขนาดได้บริกรรมจิตของเรา มันเป็นสมาธิแน่นหนามั่นคงมาขนาดไหน ทำไมจึงต้องใช้คำบริกรรมกำกับ ก็คือว่ามันเพลินกับเรื่องปัญญามากกว่าสมาธิ เพราะฉะนั้น เวลาเราจะถอนเข้ามาให้อยู่ในสมาธิ มันไม่ยอมอยู่ มันจะพุ่งเข้าหางานแก้กิเลส เราจึงต้องบริกรรม คำว่าบริกรรมนี้ นึกพุทโธ ๆ เราชอบพุทโธ เอาพุทโธติดไว้เลย ให้สติอยู่กับจิตติดอยู่กับนี้ ไม่ให้ออกไปทำงาน คือสติถ้าออกจากนี้มันก็ไปหางาน งานฆ่ากิเลสทางด้านปัญญา ทีนี้หมุนงานฆ่ากิเลสทางด้านปัญญาด้วยสตินั้น เข้ามาสู่สติกำกับคำบริกรรม มันก็อยู่กับคำบริกรรมบังคับไว้ เผลอไม่ได้นะ
แต่เราไม่อยากพูดคำว่าเผลอนี่ มันเผลอเมื่อไร ถ้าเราอ่อนนี่ทางปัญญามันจะออกทันที ออกพุ่งหาปัญญา จึงต้องบังคับ ๆ เอาไว้ พุทโธ ๆ ๆ ถี่ยิบเลยนะ ไม่ยอมให้มันคิดทางไหน สักเดี๋ยวมันก็แน่ว ๆ เมื่อคำบริกรรมกับสติติดแนบกัน ไม่ยอมให้ออกไปทำงานด้านปัญญาแล้ว ทางนี้มันก็ค่อยสงบตัวลง ๆ แล้วแน่วลงเลยนะ ลงสู่ฐานเดิมของสมาธิเราที่เคยเป็น ทีนี้ถึงลงขนาดนั้นแล้วมันยังต้องได้บังคับเอาไว้ คือความเพลินทางปัญญามันมีน้ำหนักมากกว่านี้อยู่ พอเบามือมันจะพุ่งออกโน้นเลย เราต้องบังคับไว้ตลอด
จนกระทั่งจิตสงบแน่วอยู่เต็มที่เต็มฐาน ทีนี้.. มันเหมือนถอดเสี้ยนถอนหนามนะ ความทุกข์ ความลำบากลำบน ในธาตุในขันธ์ที่มันอ่อนเปียกเพราะการพิจารณามาก มันจะสงบตัวลงไป ๆ เหมือนกันหมด ทีนี้.. จิตสงบแน่วไม่คิดไม่ปรุงอะไรเลย อยู่ด้วยความสงบอันเดียวเหมือนสมาธิแต่ก่อน
ลัก...ยิ้ม
10-04-2015, 10:52
พออยู่นั่นแล้ว มันจึงเป็นเหมือนถอนเสี้ยนถอนหนาม ความทุกข์ทั้งหลายที่ลำบากลำบนในการพิจารณานี้มันถอนออกหมดเลย เหลือตั้งแต่ความรู้ล้วน ๆ กับความเอิบอิ่ม นี่เรียกว่าหล่อเลี้ยงจิตด้วยสติ พักจิตด้วยสติ จิตมีกำลังขึ้นมา พอได้กำลังพอสมควรแล้ว ทีนี้เราก็เริ่มเคลื่อนที่จะให้ออกทางด้านปัญญา ไม่ต้องบอก มันเร็วที่สุดนะ ถึงขนาดเราต้องบังคับเอาไว้ให้อยู่ จนกระทั่งมันมีกำลังเต็มที่แล้ว แน่ใจว่าได้กำลังทางด้านจิตใจเต็มที่แล้วเราถึงปล่อย พอปล่อยพับก็ผึงเลยทางด้านปัญญา นี่อันหนึ่งที่มันเห็นประจักษ์นะ
พอจิตที่ได้รับความสงบนี้หนุนจิตให้มีกำลังเต็มที่แล้ว ปัญญาก็แกล้วกล้า.. คมเหมือนกับมีด เรานี่ลับหิน..ว่างั้นเถอะ เราก็ได้รับการพักผ่อนนอนหลับเรียบร้อยแล้วมีกำลัง หรือเข้าสมาธิก็เป็นกำลังอยู่แล้ว พอออกนั้นเรียกว่ามีดได้แก่ปัญญานี้.. ได้ลับหินคือสมาธิแล้ว ออกคราวนี้มันพุ่ง ๆ ๆ ยิ่งคล่องตัวยิ่งกว่านั้นนะ
ตั้งแต่ก่อนเราก็ออก.. ไม่ทราบว่าเอาทางสันลง เอาทางคมลง เวลามันหมุนของมันเต็มที่ แต่เวลาออกจากสมาธินี้แล้ว มันหมุนไปตรงไหนนี้.. ขาดสะบั้น ๆ มันก็จับได้ ๆ นี่ ที่นี้เวลามันจะตายจริง ๆ ธรรมดาไม่จริง มันไม่ยอมเข้ามาพักสมาธิ แต่มันก็จับเงื่อนได้ เวลามันจะตายจริง ๆ มันก็ถอนย้อนจิตมาสู่สมาธิ มันจะตายจริง ๆ มันถึงจะเข้านะ ไม่ตายจริง ๆ มันไม่ยอม คือมันเพลินทางด้านปัญญา อย่างนี้ตลอดไปเลยนะ
ท่านจึงเรียกว่าอุทธัจจะในสังโยชน์เบื้องบน สังโยชน์ ๕ เบื้องบน รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ๕ อย่างนี้เรียกว่าสังโยชน์เบื้องบน อรหัตมรรคเท่านั้นเป็นผู้ก้าวเดิน จะพ้นอยู่ในสังโยชน์เบื้องบนห้า สังโยชน์ต่ำห้า สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ สังโยชน์เบื้องบนก็คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ทีนี้มันอยู่ในขั้นอุทธัจจะ คำว่าอุทธัจจะนี้ มันเพลินในการพิจารณา ไม่ใช่ฟุ้งซ่านรำคาญแบบโลก ๆ เขานะ ที่ว่าสังโยชน์เบื้องบนนี้.. มันเพลินการพิจารณาต่างหาก คำว่าอุทธัจจะ ๆ มันไม่อยากพักสมาธิ มันเพลินกับการพิจารณาเพื่อแก้กิเลสโดยลำดับ ๆ มันเพลินของมัน จึงต้องได้รั้งมาสู่สมาธิเป็นกาลเป็นเวลา เวลามันผ่านไปแล้ว.. มันก็รู้เอง
อย่างที่ท่านว่า “นั่นน่ะ มันหลงสังขาร ๆ”
ลัก...ยิ้ม
23-04-2015, 10:46
บทเวลามันผ่านไปแล้วมันมาแยกแยะได้หมดนะ.. อ๋อ ท่านว่าอย่างนั้น หมายความว่าอย่างนั้น ๆ มันย้อนรู้หมดเลยนะ นี่..ที่ท่านเอาซุงทั้งท่อนมาให้เราไปเจียรนัยเอง ครั้นเวลามันรู้.. มันตามรู้ทั้งหมด อ๋อ.. ท่านให้เราคิดเอาความหมาย ท่านพูดให้พิจารณาหรือแจงให้ ท่านก็อาจจะทำ แต่สำหรับเรา.. ท่านไม่เคยนะ อันไหนต้องโยนให้ทั้งท่อนเลย.. ให้ไปเจียรนัยเอา มันก็ย้อนหลัง ๆ มาพิจารณาถึงเรื่องเหล่านี้ เช่นอุทธัจจะ.. ความฟุ้ง มันความเพลินในความเพียร มันไม่อยากเข้าสมาธิ มันเพลินถ่ายเดียว เพราะฉะนั้น จึงต้องรั้งเข้ามาสู่สมาธิให้พอเหมาะพอดีกัน เป็นอย่างนั้น...”
แม้จะใช้วิธีรั้งการฆ่ากิเลสเอาไว้ด้วยคำบริกรรม พุธโธ.. เพื่อสงบ พักงานเข้าสู่สมาธิ ทำให้มีกำลังวังชาเหมือนกับได้ถอดเสี้ยนถอดหนาม ถึงขนาดนั้นแล้วก็ตาม ท่านว่ายังต้องคอยบังคับไว้มิให้พุ่งออกทำงานอีก เพราะสติปัญญาจะตามต้อนกิเลสเรื่อยไป ดังนี้
“... เวลาออกทางด้านปัญญานี่ โถ !..ไม่มีในตำรา เราก็เรียนมาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงกล้าพูดได้ กิเลสประเภทไหนเป็นยังไง สติปัญญานี้เหนือกว่า ๆ ตามต้อนกันทัน เผากันไปเรื่อย ๆ มันเป็นเอง นั่นละที่มันเพลิน มันไม่ได้หลับได้นอน มันเพลินฆ่ากิเลสเพราะมันเห็นภัยอย่างสุดหัวใจแล้ว ถึงขนาดที่ว่า
‘ยังไงกิเลสไม่ตาย เราต้องตาย’…”
ลัก...ยิ้ม
24-04-2015, 17:31
จิตไม่เผลอด้วยสติปัญญาอัตโนมัติ
ท่านเปรียบการพักหลับเป็นกำลังอันหนึ่งทางธาตุขันธ์ การพักจิตเข้าสู่สมาธิเป็นกำลังอันหนึ่งทางจิตใจ เพราะเมื่อกำลังวังชาไม่พอก็เป็นเหมือนมีดไม่คม ฟันเท่าไรก็ไม่ขาดง่าย ๆ การพักสู่สมาธิจึงเป็นเหมือนหินลับมีดพร้อมใช้งานต่อไป ดังนี้
“... นี่ละ ขั้นสติปัญญาอัตโนมัติ พอจากนี้หมุนเข้าไป ละเอียดลออเข้าไป ๆ แล้วก็เชื่อมโยงถึงมหาสติมหาปัญญา เพียงขั้นสติปัญญาอัตโนมัตินี้ก็ไม่มีเผลอแล้ว จิตจะเผลอ สติสตังเผลอไม่มีแล้ว พอก้าวเข้าสู่มหาสติมหาปัญญา นอกจากไม่เผลอแล้วยังละเอียดลออซึมซาบไปหมดเลย
สติปัญญาอัตโนมัตินี้ยังเป็นคลื่น ๆ ถ้าทำงานก็เหมือนเขาฟักลาบยำลาบ ถึงจะยำถี่ยิบขนาดไหน มันก็เป็นคลื่นแห่งการยำลาบอยู่นั้นแหละ ทีนี้พอก้าวจากสติปัญญาอัตโนมัตินี้เข้าไปสู่มหาสติมหาปัญญา ทีนี้ราบรื่นไปเลย ซึมซาบ ฆ่ากิเลสก็ซึมซาบ อะไรซึมซาบทั้งหมดไปตาม ๆ กัน นี่เรียกว่ามหาสติมหาปัญญา ...
ทีนี้ การพิจารณาสติปัญญาอัตโนมัติก็ถือเอาขั้นอนาคาฯ นี้ อารมณ์ของอนาคาฯ นิมิตของอนาคาฯ นี้ ฝึกซ้อมจนชำนิชำนาญแล้วกลายเป็นว่างไปหมด หมดนิมิตที่เกี่ยวกับจิต ซึ่งเรามาตั้งฝึกซ้อมนี้หมดไป ๆ หมดเร็วเข้า ๆ สุดท้ายหมด.. ตั้งขึ้นพับดับพร้อม ๆ เหมือนฟ้าแลบ ๆ ต่อไปอย่างงั้น ไม่มี ไม่มีจะเป็นอะไร ที่นี่นะ จิตมันว่างไปหมดแล้ว มันหากเป็นเอง สิ่งที่มีเงื่อนต่อมันมีเหมือนกับไฟได้เชื้อ เชื้อไฟมีอยู่ที่ไหน ไฟจะลุกลามไปตามเชื้อโดยไม่บังคับกันแหละ ขอให้มีเชื้อไฟเถอะ ไฟจะลุกลามไปตาม
อันนี้ขอให้มีเชื้อกิเลสอยู่ที่ตรงไหน สติปัญญาซึ่งเป็นเหมือนกับไฟ ความพากความเพียรเหมือนกับไฟจะหมุนเข้าไปพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนาก็ถือเอาเวทนาทางกายบ้าง ถือเอาเวทนาทางจิตบ้าง ส่วนมากจะเป็นเวทนาทางจิตนะ ทางกายผ่านไปแล้วไม่ค่อยสนใจ สัญญา สังขาร วิญญาณ มักจะมีแต่สุขเวทนาภายในจิตใจ ทุกขเวทนามีแต่ว่าน้อย ๆ ลงไปโดยลำดับ สุขเวทนานั้นเด่น ๆ นี่ก็อยู่ในขั้นสมมุติ สัญญา สังขาร วิญญาณ เฉพาะอย่างยิ่งคือสังขาร พอปรุงแพล็บ ๆ ปรุงมาจากไหน ปรุงมาจากใจ ดับไป ดับไปไหนมาจากใจ
สัญญาหมายปั๊บ มาจากไหน สติปัญญานี้จะหมุนตาม ๆ ทันทีโดยหลักธรรมชาติ สุดท้ายมันก็หมุนออกจากใจ หมุนเข้ามาก็หมุนเข้ามาสู่ใจ ติดตามเข้าไปหาพระราชวังหลวง คืออวิชชาปัจจยา สังขารา ได้แก่ กษัตริย์วัฏจักรอยู่ในท่ามกลางนี้แหละ อวิชชาเป็นกำแพงล้อมเอาไว้ ตัวอวิชชาจริง ๆ อยู่ในกำแพง เพราะฉะนั้น จึงติดตามเหล่านี้เข้าไว้ ติดตามอันนี้เข้าไปเรื่อย ๆ ฝึกซ้อมกันเรื่อย พอมันเข้าใจ.. เข้าใจหลายครั้งหลายหน เข้าใจเรื่อย ๆ เข้าไปก็ตามเข้าไปถึงอวิชชาปัจจยา สังขารา กลายเป็นปัจจยาการขึ้นมาภายในจิตดวงนั้น เรียกว่าอริยสัจสี่ เป็นเต็มตัวแล้วเข้าไปนั้น แล้วจิตมันตามเข้าไปหลายครั้งก็ไปเห็นต้นตออันใหญ่หลวงคือ อวิชชาปัจจยา ซึ่งเป็นกษัตริย์วัฏจักรภายในหัวใจของเรา เพราะสิ่งอื่นมันปล่อยหมดแล้ว จิตใจว่างไปหมด ทั้ง ๆ ที่จิตก็ยังไม่ว่างตัวเอง แต่สิ่งภายนอกทั้งหลายมันว่างไปหมด ต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศ วัตถุต่าง ๆ นี้ว่างไปหมด ไม่มีในจิตใจ จิตใจกลายเป็นความว่างไปหมดแล้ว เหลือตั้งแต่ภายในตัวเองยังไม่ว่าง อ่านให้มันถึงอย่างงั้นซิ นักปฏิบัติให้ถึงตัวอะไรยังไม่ว่าง ก็อวิชชาปัจจยา สังขารา ยังสำคัญว่าอันนั้นว่าง อันนี้ว่าง ตัวเองลืมตัวเอง ตัวเองยังไม่ว่าง ให้ย้อนเข้ามาจนกระทั่งถึงตัวจริงของอวิชชา...”
ลัก...ยิ้ม
20-05-2015, 17:07
ระดับจิตของพระอนาคามี
เทศนาอบรมพระคราวหนึ่งขององค์หลวงตา กล่าวถึงวิธีการปฏิบัติเมื่อระดับจิตได้ขาดจากกามราคะลงไปแล้ว ดังนี้
...ในธรรมขั้นนี้ประจักษ์แล้ว ทีนี้เมื่อมันประจักษ์แล้วจะหายสงสัยเอง เรื่องกิเลสตัวนี้เป็นมาจากอะไร จากนั้นก็พยายามตั้งภาพอันนั้นแหละ ที่เราเคยพิจารณาเป็นมาตลอดนั้น ตั้งขึ้นไว้อย่างเก่านั้นแหละ แล้วมันจะหมุนตัวเข้ามา ๆ ในหัวใจของเรา ทีนี้เร็วขึ้น ๆ นี่การฝึกซ้อมปัญญาทางด้านกามกิเลส อสุภะอสุภังเป็นของสำคัญมาก
จากนี้แล้ว สภาพอันนี้ฝึกซ้อม มันปรากฏขึ้นมาช้าเร็วขนาดไหนจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เอาสภาพที่เราเคยกำหนดไว้นี้แล้ว ว่าเป็นการฝึกซ้อมให้มีความชำนิชำนาญในขั้นนี้ให้จงได้ นี่ละ.. พอได้ที่แล้วก็ฝึกซ้อมเรื่อย จิตใจจะละเอียดเข้าไปเรื่อย ในภาพเหล่านี้ก็จะละเอียดเข้าไป ๆ นี่แหละ พระอนาคามี ท่านจึงไม่ลงมาเกิดอีก คือกามกิเลสนี้เป็นตัวสำคัญ มีแต่ดึงลง ๆ ท่าเดียว หมุนลงท่าเดียว ให้สัตว์ทั้งหลายได้รับความทุกข์ทรมาน เพราะกด เพราะถ่วง บีบบี้สีไฟอย่างลึกลับภายในจิตใจอยู่นั้นแล
ทีนี้เมื่อเวลาได้เข้าใจในนี้แล้ว จิตใจของเราเมื่อได้ระดับแล้ว เป็นที่แน่ใจ เอาละ..ทีนี้หมดแล้ว ขาดจากกันแล้ว ทีนี้ฝึกเข้าไป ซ้อมเข้าไป จิตอันนี้จะมีความชำนิชำนาญไปอีกขั้นหนึ่ง มีความละเอียดไปอีกขั้นหนึ่ง ๆ เอา ฝึกซ้อมเข้าไปเรื่อย ๆ นี้เองที่เป็นสักขีพยานตามที่ท่านแสดงไว้ในอรรถในธรรมว่า
พระอนาคามีนั้น เมื่อบรรลุถึงขั้นอนาคามีแล้ว ท่านจะไม่กลับมาเกิดอีก คือจิตดวงนี้จะไม่ถูกกด ถ่วงดึงลงเหมือนแต่ก่อนเมื่อมีกามราคะผูกพันอยู่ พอหลักใหญ่ของกามราคะขาดลงไปแล้ว เรียกว่าสอบได้แล้ว ๕๐% นี่หมายถึงฐานะของเราผู้เป็นเนยยะ ผู้ได้รู้ช้ารู้เร็ว จึงบอกลำดับลำดาไว้
พอได้รู้ชัดเจนแล้ว จิตใจนี้จะไม่หมุนลงนะ ไม่มีอะไรมาดึงใจนี้ลง มีกามกิเลสเท่านั้นดึงลง ๆ ตลอดเวลา พอกิเลสขาดออกไปในขั้นนี้แล้ว จิตจะค่อยหมุนขึ้นเป็นลำดับ พิจารณาฝึกซ้อมจิตใจดวงนี้แหละด้วยอสุภะ ดังที่เคยปฏิบัติมานั้น.. จิตใจจะละเอียดลงไป ๆ และความหมุนตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ ละเอียดขึ้นเรื่อย ๆ นี่ละ.. พระอนาคามีที่ผ่านไม่กลับมาเกิด ก็คือมีกามกิเลสอันเดียวนี้เท่านั้นดึงลง มาสู่นรกอเวจีได้เพราะกามกิเลส พออันนี้ขาดลงไปแล้วจิตใจจะเบาลงไป ๆ เบาจนกระทั่งเบาหวิว ๆ กำหนดพับ ๆ ซักฟอกตัวเอง ๆ ในส่วนที่เป็นมลทินอันละเอียดติดแนบอยู่กับจิต ซึ่งอยู่ในขั้นอนาคามีที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ มลทินเหล่านี้จะค่อยกระจายละเอียดลงไป ๆ ด้วยการฝึกซ้อมของเรา
พอละเอียดเข้าไปเท่าไร.. จิตยิ่งหมุนสูงขึ้น ๆ เรื่อย อย่างที่ท่านเทียบไว้ในสุทธาวาส ๕ ชั้น อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา นี่แหละ ระดับพระอนาคามี พอได้ระดับเบื้องต้นที่ว่าสอบไล่ได้แล้ว หากว่าตายก็จะไปเกิดในอวิหา แล้วเลื่อนไปอตัปปา ละเอียดเข้าไปก็สุทัสสา เข้าสุทัสสี ละเอียดเข้าไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตายก็รู้เป็นลำดับ ละเอียดเข้าไปเต็มที่แล้วขึ้นอกนิฏฐา นี่เป็นชั้นที่ ๕ ของสุทธาวาส ๕ ชั้น พอจากชั้นนี้แล้วก็ดีดผึงก้าวเข้าสู่นิพพาน เพราะฉะนั้น พระอนาคามี.. เมื่อสำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้ว ท่านจึงไม่กลับมาเกิดอีก ถ้าว่าเกิดก็ไปเกิดในอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสีเรื่อยไป แล้วพร้อมที่จะไม่กลับคืนมา ไปจนกระทั่งทะลุพระนิพพานไปเลย
ลัก...ยิ้ม
21-05-2015, 11:34
นี่ภาคปฏิบัติ ภาคปัญญา การพิจารณาทางด้านปัญญานี้ต้องพิจารณาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถึงกาลเวลาพิจารณา เวลาที่จะเข้ามาพักสมาธิมีความสงบ เพื่อเอากำลังหนุนทางด้านปัญญา เราก็เข้ามาพักสมาธิคือความสงบใจเสีย.. อย่าไปกังวลกับความคิดอ่านไตร่ตรองเรื่องปัญญาเลย ให้อยู่กับความสงบ.. สงบได้ดีเท่าไรยิ่งเป็นของดี อยู่ตรงนี้ พอจิตอิ่มพอในความสงบแล้ว พอถอยออกมาเท่านั้น ทีนี้เอาพิจารณาทางด้านปัญญาอย่างยิ่งกับทางสมาธิ ปล่อยไปเลยสมาธิ เหมือนเป็นคนละโลก ในขณะนั้น ให้ก้าวเดินทางด้านปัญญา เมื่อเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วก็ถอยมาพักสมาธิ นี้เป็นการก้าวเดินอย่างราบรื่นดีงามของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ... แล้วก้าวเดินไปอย่างนี้เรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงอกนิฏฐาเต็มภูมิ นี่ท่านเรียกว่าพระอนาคามีเต็มภูมิ ไปเต็มที่นั่นนะ.. ตั้งแต่อวิหา อตัปปานี้ยังไม่เต็มภูมิ แต่ได้ฐานเรียบร้อยแล้วว่าสำเร็จเป็นพระอนาคามี ถ้าบันไดก็ขั้นต้น บันไดของพระอนาคามีมีถึง ๕ ขั้น ถ้าเทียบบันได ขั้น ๑ อวิหา ๒ อตัปปา ๓ สุทัสสา ๔ สุทัสสี ๕ อกนิฏฐา นี่ลำดับของพระอนาคามี ที่ได้ในขั้นต้นแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์แบบเหมือนผู้รู้ธรรมโดยขิปปาภิญญา
การกล่าวทั้งนี้ เรากล่าวตามธรรมดาของเนยยะ อยู่กลาง ๆ ของคนเราธรรมดา ไม่ได้กล่าวถึงพวกอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู ซึ่งรวดเร็ว พอถึงปั๊บนี่.. พุ่งเลย อวิหา อตัปปา อนาคามี นี่พุ่งทะลุถึงกันถึงนิพพานเลย นี่เป็นประเภทหนึ่ง ไม่ได้นับเข้ามาในนี้ ส่วนมากนักปฏิบัติของเรามักจะก้าวเดินไปตามนี้ เพราะเป็นการบำเพ็ญของผู้ที่อยู่ในท่ามกลาง ยากลำบาก ช้าก็ช้า..แต่ถึง นี่เป็นอย่างนี้นะ ผู้ที่รวดเร็วนั้น พอบรรลุปึ๋ง ๆ ถึงที่สุดเลย นี่เรียกว่าอุคฆฏิตัญญู เรียกว่าขิปปาภิญญา ผู้รู้ได้เร็วต่างกันอย่างนี้ แต่ให้แยกแยะเอานะ นี่การพิจารณาทางด้านปัญญาให้พิจารณาอย่างนี้
เรื่องกิเลสกามราคะนี้รุนแรงมาก หนักมากที่สุด ถ่วงจิตใจมากทีเดียว ไม่ว่าหญิงว่าชาย เป็นแต่เพียงไม่พูดถึงกัน เรานำมาพูดเฉพาะนักบวชที่เป็นผู้จะเสียสละสิ่งเหล่านี้ แล้วนำมาแก้ไขดัดแปลงกัน แก้ไขถอดถอนกันจึงรู้สึกว่าอันนี้ยาก ยากจริง ๆ เวลาเข้าถึงขั้นนี้ที่จะปล่อยวาง ที่จะสำเร็จเป็นขั้นที่สามคืออนาคามีได้นั้น เป็นนักมวยก็เรียกว่านักมวยชุลมุน ต่อยกันอยู่วงใน หมุนติ้ว ๆ อยู่วงใน คือสติปัญญาขั้นนี้ ขั้นหมุนตัวติ้ว ๆ อยู่กับอสุภะอสุภัง พออันนี้ผ่านได้แล้วก็กลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติขึ้นมา โดยที่นำอันนี้แหละ มาฝึกมาซ้อมอยู่โดยสม่ำเสมอก็กลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ...
ลัก...ยิ้ม
27-05-2015, 17:32
พระอนาคามีสอบขึ้นขั้น
“... ผู้สำเร็จพระอนาคามีขั้นต้น ถ้าสอบก็เรียกว่าสอบได้ ๕๐% แล้วเป็นอันว่าสอบได้ สอบได้เพียงขั้นแรก ๕๐% นี้เมื่อตายลงไปแล้วก็ควรแก่อวิหาอนาคามีชั้นแรก ส่วนใหญ่คือว่าสอบได้แล้วนั้น เรียกว่าส่วนใหญ่นั้นตายแล้ว กามราคะหมด แต่ส่วนที่ปลีกย่อยที่เป็นกระแสของราคะตัณหานี้.. ยังมีเป็นชั้น ๆ ตอน ๆ ไป เพราะฉะนั้นผู้สำเร็จพระอนาคามีแล้ว เว้นผู้ที่เป็นขิปปาภิญญา คือบรรลุธรรมอย่างรวดเร็วเสีย ผู้บรรลุธรรมเป็นไปตามธรรมดากลาง ๆ นี้ จะต้องได้ก้าวเป็นลำดับลำดาไป
พอสอบได้เป็นพระอนาคามี.. กามกิเลสได้สิ้นไปจากใจแล้วซึ่งเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปลีกย่อยที่มีเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ไม่ถึงกับจะทำให้เกิดกามกิเลสได้อีกต่อไปนั้นยังมีอยู่ ท่านจึงชำระกามกิเลสประเภทนี้ นี่ละ ท่านเรียกว่าสติปัญญาเป็นอัตโนมัติ คือเป็นตั้งแต่ชั้นนี้ขึ้นไป ชั้นที่จะฆ่าฟันแหลกกับกามกิเลสชั้นแรกนั้น เป็นชั้นชุลมุนวุ่นวาย ถ้าเป็นนักมวยก็คลุกวงในกันตลอดเวลา จนกระทั่งกิเลสตัวสำคัญนี้ขาดสะบั้นลงไปแล้ว จากนั้นก็เป็นสติปัญญาอัตโนมัติ ท่านฝึกซ้อมกามราคะที่ส่วนใหญ่สิ้นไปแล้ว ส่วนที่ยังบริษัทบริวารนี้ เป็นเหมือนกับว่าเป็นผุยเป็นผงยังมีอยู่ ท่านก็ฝึกซ้อมอันนี้แหละเป็นลำดับลำดา
ลัก...ยิ้ม
28-05-2015, 14:12
เมื่อละเอียดเข้าไป ก็ก้าวเข้าไปสู่... จากอวิหาแล้วก็ไป อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี นี่ฝึกขึ้นไปเรื่อย ๆ จิตจะค่อยเลื่อนชั้นขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงอกนิฏฐา นี่เต็มภูมิ เรียกว่าราคะไปสิ้นสุดโดยสิ้นเชิงในขั้นอกนิฏฐานี้ จากนั้นก็ก้าวเข้าสู่นิพพาน สิ้นโดยลำดับถึงขั้นนิพพานทีเดียว นี่พูดถึงการปฏิบัติธรรม คำว่ากามกิเลสส่วนใหญ่ขาดไป เพราะฉะนั้น ในสุทธาวาส ๕ ชั้น จึงต้องมีเป็นลำดับลำดาไป ให้เหมาะให้ควรแก่ผู้ที่ชำระกามกิเลสนี้ได้ยังไม่หมดโดยสิ้นเชิงทีเดียว ยังเหลืออยู่เป็นผุยเป็นผง ก็จะได้ชำระซักฟอกกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงชั้นสุดยอด คืออกนิฏฐาแล้วก็ก้าวเข้าสู่นิพพาน เรียกว่าสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว
ที่กล่าวถึงเรื่องจิตไม่ตาย นี่เป็นอย่างนี้เอง ผู้ที่สำเร็จเฉพาะอย่างยิ่ง คือผู้สำเร็จพระอนาคามีนี้ ตายเวลาไหน.. ท่านจะทราบของท่านทันที ว่าท่านจะไปเกิดในภูมิใด.. อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา คำว่าเกิดนั้น ท่านเรียกในที่ทั่ว ๆ ไป แต่คำว่าค่อยเลื่อนชั้นไปตามลำดับของจิตนี้.. สนิทดีสำหรับผู้ปฏิบัติ จะว่าเกิดชาตินี้ ตายจากอวิหาแล้วไปอตัปปาอย่างนั้น ไม่ค่อยสนิทในภาคปฏิบัติ ถ้าว่าเลื่อนชั้นไปเรื่อย ๆ สมกับนามของใจว่าเป็นนามธรรมแล้ว ไม่มีรูปร่าง อย่างอื่นพอให้เกิดให้ตายต่อไปอีก ก็รูปร่างเป็นนามธรรม จึงเรียกว่าเกิดก็ได้ตายก็ได้ ให้สนิทจริง ๆ ก็คือเลื่อนชั้นไปเป็นลำดับลำดา จนกระทั่งถึงอกนิฏฐาแล้วก็ก้าวเข้าสู่นิพพาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี้สนิทใจ...”
ลัก...ยิ้ม
19-06-2015, 18:10
พระโสณะฝ่าเท้าแตก
พระจักขุบาลจักษุแตก
“...พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงไว้เรียบร้อยแล้ว ก็มาเห็นประจักษ์ เอามาเป็นพยานกัน ท่านว่าพระโสณะเลิศเลอทางความพากเพียรมาก
... พระโสณะนี่ ท่านประกอบความเพียรจนกระทั่งเดินจงกรมฝ่าเท้าแตก
.. พระจักขุบาลตาแตก นี่แหละ..ตั้งสัจอธิษฐานจะไม่นอน รักษาตา หมอเขาว่า ‘ให้นอนหยอดตา หยอดยาใส่ตา’ ท่านบอกว่า ‘ไม่นอน..เพราะตั้งความสัตย์แล้ว’ ‘ถ้าท่านไม่นอน ท่านก็ตาบอด’ เขาก็บอก
‘บอดก็บอด’ ท่านว่าอย่างนั้นนะ นั่น..เห็นไหม ท่านไม่ได้เชื่อหมอ ท่านเชื่อธรรมต่างหาก
‘เอ้า.. บอดก็บอด คำสัตย์คำจริง เราประกาศออกมาแล้วว่าเราจะไม่นอน เราจะนอนไปไม่ได้’
ไม่นอน สุดท้ายตาแตก ตาแตกข้างนอก ใจจ้าเข้ามาข้างใน เห็นไหม .. กิเลสแตกข้างใน นี่พระจักขุบาลถึงขนาดตาแตก ท่านก็ไม่ยอมถอย พระโสณะเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก ท่านก็ไม่ถอย.. กิเลสแตก เห็นไหม ท่านเอาขนาดนั้นนะ ท่านถึงได้สิ่งเลิศเลอ...”
ลัก...ยิ้ม
30-06-2015, 17:06
อุปัฏฐากพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่มั่น
อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น
เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อหลวงปู่มั่นนั้น องค์หลวงตาพยายามใช้ความสามารถอย่างเต็มกำลังสติปัญญาทุกสิ่งทุกอย่าง เฉพาะอย่างยิ่งในระยะ ๕ พรรษาสุดท้ายที่อยู่กับหลวงปู่มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ หลวงปู่หล้าได้เล่าถึงความเอาใจใส่ และความเคารพบูชาขององค์หลวงตาที่มีต่อหลวงปู่มั่นว่า
“... ด้านบิณฑบาต หลวงปู่มั่นพาลูกศิษย์ปฏิบัติยินดีภัตที่ตกลงในบาตร ไม่ค่อยส่งเสริมในการตามส่งทีหลังอันเป็นปัจฉาภัต ยินดีฉันรวมในบาตรทั้งหวานทั้งคาว ไม่ซดช้อน เอามือเป็นช้อน ด้านจีวรยินดีบังสุกุลวางไว้ที่กุฏิบ้าง บันไดใกล้ที่ขึ้นลงบ้าง ทางไปส้วมและใกล้ทางจงกรม และทางไปบิณฑบาตบ้าง และในศาลาที่ประชุมฉันบ้าง แต่หลวงปู่มีภาพพจน์ลงไปอีก มีข้อสังเกตของพระอาจารย์มหาบัว เล่าให้ผู้เขียนฟังเป็นพิเศษจึงสังเกตได้
พระอาจารย์มหาบัวเล่าให้ฟังว่า
‘หล้าเอ๋ย ผมสังเกตหลวงปู่มั่นได้คือ ผ้าบังสุกุลอันใดที่เจ้าศรัทธา เขาทำกองบังสุกุลไว้เป็นส่วนรวม เช่น ที่หนทางบิณฑบาตและศาลา และที่ร่มไม่ไกลจากกุฏิองค์ท่าน แม้ท่านจะขาดเขินสักเพียงใดก็ดี องค์ท่านไม่ค่อยจะใช้ให้เขา หรือไม่ใช้เลยก็ว่าได้ องค์ท่านให้แต่เฉพาะที่เขาเอามาบังสุกุลไว้ที่กุฏิ ใกล้บันได ใกล้ส้วม ใกล้บริเวณทางจงกรมขององค์ท่านเท่านั้น สังเกตดูถ้าไม่เชื่อ’
เมื่อสังเกตดูก็เป็นจริงแท้ ๆ เพราะองค์ท่านลึกซึ้ง.. ใช้ของไม่มีราศีแก่ท่านผู้ใด และของที่เขาเอามาบังสุกุลใกล้บริเวณที่องค์ท่านอยู่และพักนั้นก็ดี องค์ท่านไม่ได้หวงไว้ใช้องค์เดียว เมื่อลูกศิษย์ขาดเขินก็ให้ทั้งนั้น
ลัก...ยิ้ม
10-07-2015, 10:00
ในยุคบ้านหนองผือ พระอาจารย์มหาลึกซึ้งมากทุกวิถีทาง หลวงปู่มั่นไว้ใจกว่าองค์อื่น ๆ ในกรณีทุก ๆ ด้าน ควรจะเปลี่ยนไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ดี หรือครบทั้งไตรก็ดี หรือสิ่งใดที่ควรเก็บไว้เป็นพิเศษเฉพาะองค์หลวงปู่ก็ดี ในด้านจีวรและของใช้เป็นบางอย่าง ตลอดทั้งเภสัช เป็นหน้าที่ของท่านพระอาจารย์มหาทั้งนั้น เป็นผู้แนะนำให้คณะสงฆ์รู้ความหมายลับหลังหลวงปู่มั่นทั้งนั้น และหลวงปู่มั่นก็มิได้นัดหมาย ให้พระอาจารย์มหาบัวทำประโยชน์เพื่อองค์ท่านเองอย่างนั้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ลึกหรือตื้นด้วยประการใด ๆ เลย พระอาจารย์มหาเคารพลึกซึ้งเป็นเอง...”
เรื่องความละเอียดลออเกี่ยวกับการเฝ้าสังเกตการขบฉันของหลวงปู่มั่นนั้น หลวงปู่หล้าก็ยังเคยกล่าวชื่นชมท่านไว้ว่า
“... พระอาจารย์มหา เวลาอยู่กับหลวงปู่มั่นคงจะนึกอยากจะเว้นอาหารอยู่ แต่มีเหตุผลในใจว่าเราเป็นพระผู้ใหญ่อยู่กับองค์ท่าน เราจะได้สังเกตองค์ท่าน ว่าวันหนึ่ง ๆ องค์ท่านฉันได้เท่าไร ข้าวหมดขนาดไหน กับอะไรหมดขนาดไหน เราจะได้สังเกตประจำวัน เพื่อจะจัดถวายได้ถูก เท่าที่มีมาโดยเป็นธรรม แม้องค์ท่านหยิบใส่บาตรเองก็ดี เราจะสงวนรู้ว่าหยิบอะไรบ้าง เพราะเราเป็นห่วงองค์ท่านมาก เมื่อองค์ท่านฉันได้บ้าง เราก็พลอยเบาใจ...”
และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อมีโอกาสจำเป็นต้องลาองค์หลวงปู่มั่นเพื่อไปธุระที่จังหวัดอุดรธานีชั่วคราว หลังจากเสร็จธุระแล้วขากลับท่านจะพยายามจัดหาเอาของใช้ของฉันที่อุดรธานี ที่ถูกกับธาตุกับขันธ์ขององค์ท่าน เพราะท่านคอยสังเกตอยู่ตลอด จนรู้ว่าอันใดองค์ท่านฉันได้สะดวกธาตุขันธ์ ท่านก็จะเอาใส่เข่งเต็มเอี๊ยด แล้วให้เณรแกงหม้อเล็ก ๆ ถวายองค์ท่านวันละหม้อเป็นประจำโดยมิให้หลวงปู่มั่นทราบ แต่ต่อมาหลวงปู่มั่นก็ล่วงรู้ได้และได้ห้ามปราบไว้ แม้อย่างนั้นด้วยความเคารพรักและเป็นห่วงในธาตุขันธ์ของครูบาอาจารย์ซึ่งล่วงเลยเข้าวัยชรามากแล้ว ท่านก็หาอุบายทำของฉันถวายหลวงปู่มั่นอีกจนได้ ดังนี้
“... บางเวลาจึงหาอุบายลาท่านมาอุดรฯ ไม่มีอุบายไม่ได้ ต้องมีอุบายเต็มตัว ข้อแก้ตัวมาเต็มตัวเลย หาอุบายมาจังหวัดอุดรฯ แต่ละครั้งนี่ ความจริงตั้งใจมาหาเอาของไปถวายท่าน จึงต้องหาอุบายที่จะทำให้ท่านยอมอนุญาต พอท่านอนุญาตแล้วเวลาจะไปก็ต้องมีอุบาย พยายามจะไม่ให้ท่านจับได้ ทำทีไปหาแก่นขนุนมาย้อมผ้าบ้าง อะไรที่จำเป็นจะได้ไม่ถูกท่านตีแสกหน้าเอา
ลัก...ยิ้ม
15-07-2015, 14:30
ถึงอุดรฯ แล้วสั่งโยมให้เขาไปหากว้านของในตลาด อันไหนที่เห็นท่านชอบ สั่งเลย..จัดใส่เข่งจนเต็มที่แล้ว แล้วจึงหาเอาแก่นขนุนใส่ไปด้วยเพื่อเป็นข้อแก้ตัว ‘แก่นขนุนนี่หละคือแก่นแก้ตัวเวลาจำเป็น ท่านซักถามจะเอานี้เป็นข้อแก้ตัว’
สิ่งของพร้อมมูลแล้วจึงขึ้นรถกลับ พอขากลับมาถึงอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครแล้ว ทางรถไปต่อไม่ได้ก็เอาเกวียนเขามาบรรทุกของที่เตรียมเอาไปถวายท่าน เต็มล้อ*เทียวนะ
พอกลับถึงวัดบ้านหนองผือ ต้องทำแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ลุกลี้ลุกลนตลอด ให้เณรมาขนทันที เก็บเข้าไปซ่อนไว้หมด ไม่ให้มีพิรุธ ไม่ให้ท่านเห็น ไม่ให้ล้อเกวียนเข้าไปลึกนะ กลัวท่านจะมองเห็น ต้องจอดไว้ข้างนอกแล้วก็ขนออกไปเก็บไว้ในกระต๊อบ เก็บไว้ที่ไหนดี ?
‘เณรเพ็งนี่แหละ (พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต วัดถ้ำกลองเพล) เป็นผู้ที่คอยปฏิบัติกับเรา แล้วก็คอยดูท่าน’
พอเรียบร้อยแล้วจึงไปหาท่าน พอท่านทราบว่าเรามาแล้ว ตอนเช้าท่านเดินบิณฑบาตออกมานี้.. ตาท่านส่าย ๆ รอยล้อรอยเกวียน เราเอาไม้กวาดไปกวาดไว้หมดนะ ไม่ให้เห็น เราก็ว่าเรารอบคอบดี แต่ไม่พ้นตาท่าน จับจนได้.. ไปเห็นรอยล้ออยู่นั้น กวาดไม่หมดจึงถามว่า ‘นี่รอยเกวียนมาจากไหน ?’ ท่านจี้เข้าไปเลย
เอาอีกละ กูตายที่นี้ ‘อ๋อ ! มาจากทางอำเภอพรรณาฯ เห็นแก่นขนุนดี ๆ ก็เลยเอาแก่นขนุนมา’
กราบเรียนท่าน ท่านก็เลยนิ่งเลยนะ นี่เห็นไหม ท่านจับได้แล้วนั่น อยู่ ๆ ต่อมาสักพัก ท่านปัดกวาด มองโน้นมองนี้ กวาดนั้นกวาดนี้ เดินไป.. ตรงดิ่งเปิดกุฏิที่เราเก็บของที่ขนมาจนได้ โถ !
‘อะไรเต็มอยู่ในนี่’ ท่านจี้ถาม
‘อู๊ย ! เราจะตาย เราหาข้อแก้ตัว’
เรื่องอาหารการฉันนี้ อะไรที่ถูกกับธาตุกับขันธ์ของท่าน ก็เราเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ตลอด ท่านชอบฉันอะไรบ้าง เราสังเกตอยู่ตลอด อันไหนที่ท่านเมตตาฉัน เห็นว่าถูกกับธาตุกับขันธ์ท่าน เราจะไปหาสิ่งนั้นมาเป็นเข่ง ๆ ต้องเอามาอย่างเต็มเหนี่ยว
ถ้าได้โอกาสลาท่านไปเที่ยวกรรมฐานทางไหน ในป่าในเขามีอะไรที่ถูกกับธาตุกับขันธ์ท่านก็ไปหาเอามาอีก ก็ไม่ได้นึกว่าท่านจะรู้ บทเวลาท่านใส่นี้
‘โอ๋ย..ใส่นี้หงายหมาเลย ไม่ได้หงายธรรมดา ไม่มีท่าต่อสู้ สู้ท่านไม่ได้ว่างั้นเถอะ เปรี้ยงทีเดียวหงายเลย’…”
เรื่องการขบการฉัน หยูกยา ผ้านุ่งผ้าห่ม บริขาร และเครื่องใช้ไม้สอยทุกสิ่งทุกอย่างของหลวงปู่มั่น ท่านจะคอยสังเกตพินิจพิจารณา และกระทำอย่างตั้งใจจดจ่อ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่ธาตุขันธ์ร่างกายของหลวงปู่มั่นมากที่สุด ความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย หรือทุกข์ยากลำบากส่วนตนนั้นไม่ถือเป็นประมาณ หรือเป็นปัญหาอุปสรรคยิ่งกว่าการให้ครูบาอาจารย์ได้รับความสะดวก เรียกได้ว่ายามใดที่ท่านอยู่.. ยามนั้นครูบาอาจารย์ก็เบาใจ
ลัก...ยิ้ม
24-07-2015, 14:31
หลวงปู่มั่นเอาผ้าห่มมาให้
หลวงปู่มั่นให้ความไว้วางใจ โดยมอบให้ท่านเป็นผู้จัดสรรจตุปัจจัยไทยทานตามความจำเป็นแก่พระเณรภายในวัด ในเรื่องนี้เคยเล่าไว้ว่า
“อย่างของที่ตกมานี่ ท่านอาจารย์มั่นมอบเลยนะ ‘ท่านมหาฯ จัดการดูแลพระเณรนะ’
หลวงปู่มั่นพูดเท่านั้น แล้วปล่อยเลยนะ เขามาทอดผ้าป่ากองพะเนินเทินทึก เราเป็นผู้ดูแลทั้งหมดเลย องค์ไหนบกพร่องตรงไหน องค์ไหนบกพร่องอะไร ๆ จัดให้ จัดให้ สำหรับเราไม่เอา ครั้นเวลาเราไม่อยู่บ้าง ท่านสืบถามพระนี่
‘ท่านมหาฯ ท่านได้เอาอะไรไหม ? ของที่เอามามอบให้ท่านจัดให้พระเณร ท่านเอาอะไรไหม ?’
พระตอบ ‘ท่านไม่เอาอะไรเลย’ ท่านนิ่งนะ.. เฉย ท่านจับได้หมด พิจารณาแล้ว เราทำทั้งหมดด้วยความเป็นธรรม ท่านรู้...
เราไม่เอาอะไรนี่ ขนาดท่านเอาผ้าห่มของท่านไปบังสุกุลให้เรา มีที่ไหน ไม่เคยมีนะ เพราะท่านเห็นเราไม่ใช้ผ้าห่ม หนาวขนาดไหน.. เราก็ไม่เอา เราเด็ดของเราอยู่อย่างนั้นตลอด...
เราก็ไม่ได้บอกว่าเราไม่มีผ้าห่ม เพราะเราไม่เอา ผ้ามีเท่าไหร่เราก็ไม่สนใจ นอกจากการปฏิบัติตนเองให้เคร่งครัด และสุดท้ายท่านก็เอาผ้าห่มท่านมาให้เรา ถ้าเอาผ้าห่มผืนใหม่ ๆ มาให้เราก็กลัวเราไม่ห่ม ถ้าเอาผ้าห่มใหม่ให้ ท่านก็กลัวเราจะไม่ใช้ นั่นเห็นไหมอุบายของท่าน ต้องเอาผ้าของท่านที่ท่านห่มอยู่นั่น พับเรียบร้อยแล้วไปบังสุกุลให้เรา
เอาดอกไม้ เอาเทียนไป โอ๊ย.. ทุก ๆ อย่าง ท่านเป็นอาจารย์ ปรมาจารย์ชั้นเอกทุกอย่าง ไปก็ขึ้นไปวางที่นอนของเราเลย กุฏิหลังเตี้ย ๆ ท่านขึ้นไปเอง เอาไปวางไว้ วางไว้กลางที่นอน มีดอกไม้ มีเทียนวาง
ผ้าห่มเป็นผ้าที่ท่านห่มอยู่แล้ว ผ้าใหม่ท่านกลัวเราจะไม่ใช้ นั่นแหละ.. ท่านหาอุบายต้องเอาผ้าท่านเอง ว่างั้นเถอะ เราขึ้นไปแล้วไปดู
‘อู๊ย ! มันผ้าพ่อแม่ครูอาจารย์ ผ้าที่ท่านครองอยู่ทุกวัน ท่านห่มอยู่ทุกวัน’
เรารู้ทันทีเลย เราปฏิบัติอยู่ทุกวันกับผ้าท่าน ทำไม่จะไม่รู้ นี่แสดงว่าให้ใช้ ให้ใช้หน่อยเถอะ ก็ดูรอยเท้าท่านมาจากทางกุฏิ ด้อม ๆ ขึ้นมานี้ก็กลับไป ตามดูรอยรองเท้าท่าน ท่านคงสงสารเรามาก เห็นว่าเราไม่ใช้ผ้าห่ม ก็คือความเด็ดขาดของเราเอง ไม่ใช่อะไรนะ ผ้าห่มมีแต่เราไม่เอา ท่านก็รู้ ท่านเอามาบังสุกุลเราก็ห่มใช้ ว่างั้น เพราะท่านเห็นนิสัยอย่างนั้น เอาจริงเอาจังทุกอย่าง...”
ลัก...ยิ้ม
31-07-2015, 12:22
เณรเป็นเนื้อ เราเป็นเขียง ถูกหลวงปู่มั่นสับยำ
เหตุการณ์ช่วงหนึ่งเกิดขึ้นที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านสั่งให้เณรเพ็ง (หลวงปู่บุญเพ็ง เขมาภิรโต) ทำอาหารเล็ก ๆ ที่สังเกตว่าถูกธาตุขันธ์หลวงปู่มั่นเป็นประจำทุกวัน ซึ่งหลวงปู่มั่นก็ไม่อยากเสริม จึงหาวิธีขนาบลูกศิษย์ทั้งสอง ดังนี้
“... ของอะไรที่ถูกกับธาตุขันธ์ท่าน เราจะพยายามหามา ๆ ๆ ไม่ให้ท่านรู้นะ รู้ไม่ได้ เณรเพ็ง.. เณรเพ็งละเป็นเขียงรอง ให้เณรเพ็งมาทำ ท่านสับเณรเพ็ง เณรเพ็งเป็นเนื้อบนเขียง เราเป็นเขียง ท่านเป็นมีด.. ยำลง เณรเพ็งก็ไม่ทราบจะปฏิบัติต่อใครอย่างไร
ท่านว่า..มาทำหาอะไร นี่นะ.. บิณฑบาตมาล้นบาตร ๆ กินให้ตาย มันก็ตายนี่นะ ท่านไปอย่างนั้นนะ มายุ่งทำไม’
ท่านว่างั้น อันนี้เป็นเรื่องของท่าน เราก็ไปกระซิบกับเณรเพ็งให้ทำอย่างนั้น ๆ แก้ตัว..เข้าใจไหม หาอุบายแก้ตัว เณรเพ็งก็ทำตามเราทุกอย่าง เพราะเณรก็เคารพเรา
ทีนี้เวลาบิณฑบาตนั่นละ..ที่มันขบขันมาก เณรก็ทำอาหารเล็ก ๆ อยู่ในครัว ตามธรรมดาบิณฑบาตท่านออกหน้า แล้วพระเณรจะหลั่งไหลไปตามท่าน ๆ ลงจากศาลาหอฉันนั่นน่ะ พอท่านออกไปแล้ว พระเณรก็ตามหลังท่านเป็นสายยาวเหยียดไป แต่วันนั้นเผอิญอะไรไม่รู้ พระเณรออกไปหมดแล้ว ท่านยังไม่ไป.. ท่านยังอยู่นั้น
ทีนี้เณรเพ็งก็ว่า ‘กูตาย..พระเณรไปกันหมดแล้ว’ แสดงว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ไปแล้วก็เลยวิ่งจากครัว มาพบท่าน
‘เหอ..มาไงม้าแข่งนี่ จะขับไล่ท่านเพ็งออกจากวัดนะ ม้าแข่งมาจากไหนต้องออกจากวัด เณรนี้มันยังไงกัน เณรม้าแข่งนี่’
โอ๊ะ..กูตายวันนี้ ทำไงท่านจะเอาเณรออกจากวัด ก็เรานั่นแหละจะเป็นคนแก้ไม่ใช่ใคร ไม่สบายเลยวันนั้น บิณฑบาตท่านพูดอะไรกับเรา เราก็นิ่งเฉยไม่พูดเลย ทุกวันมีตอบบ้างอะไรบ้าง วันนั้นนิ่ง ท่านคงจะทราบว่ามหาฯ องค์นี้มันจะตาย วันนี้กูจะไล่เณรเพ็งออกไป มันจะไปแบกเณรเพ็งเอาไว้นี่ กูพูดอะไรมันก็ไม่พูด ท่านรู้นะ เรื่องเหล่านี้รู้หมด
พอฉันเสร็จแล้วเพราะเราเคยปฏิบัติ ฉันเสร็จแล้วไปเช็ดไปกวาดถูที่บริเวณท่านฉัน ให้พระเณรเอานั้นลงไป มีอะไรก็คุยกับท่านเรื่องนั้นเรื่องนี้ไป คุยไปคุยมาดึงเข้ามา ๆ ๆ ใกล้เข้ามาหาเณรเพ็งนี่นะ พอถึงนั้นเฉียดตรงนั้นแล้ว เอ้อ.. ขึ้นเลย
‘ไหน..เณรเพ็งว่าไง ท่านมหาฯ’ ขึ้นเลย เข้าจุดแล้วนี่ จึงกราบเรียนท่าน
เรากราบเรียนท่านอย่างมีเหตุมีผลนะ ท่านก็ฟัง พอสุดท้ายท่านยังไว้ลวดลายนะ เราขอเมตตาจากท่าน เพราะมันลุกลี้ลุกลน มันรีบ มันกลัวจะไม่ทัน มันก็เป็นบ้าง อะไร ๆ นี้ ขอเมตตาเอาไว้เสียก่อน
‘เออ..คราวหลังเป็นอย่างนี้ไม่ได้นะเพ็ง’
ท่านรู้เราแล้วตั้งแต่บิณฑบาต เราไม่พูดอะไรเลย มหานี้มันจะอกแตกละวันนี้ กูจะไล่เณรเพ็งหนีคงว่างั้นนะ แต่กับเราท่านก็ไม่ว่าอะไรนะ เรื่องเณรเพ็งนี้ก็มีภาคทัณฑ์เอาไว้
‘เพ็งทำอย่างนี้อีกไม่ได้นะ’ ท่านว่า
นั่นท่านให้อภัยแล้ว แต่มีลวดลายเอาไว้นั้นอีก ท่านเพ็งจึงเป็นเนื้อบนเขียง ข้างบน ก็เป็นท่านนั่นละ สับลงไป เราเป็นเขียงรองเอาไว้ ท่านเพ็งเป็นลาบพอดี เป็นอย่างนั้นละ อยู่กับพ่อแม่ครูนี่เป็นของง่ายเมื่อไร พ่อแม่ - ครูอาจารย์จอมปราชญ์สมัยปัจจุบัน พ่อแม่ – ครูอาจารย์มั่นเป็นจอมปราชญ์ในสมัยปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นไม่ทัน ความคิดความอ่านมันก็เกิดขึ้นเอง ปัญญาเมื่อคิดมันเกิดเองให้ทันกับเหตุการณ์ ที่ท่านคล่องแคล่วว่องไว เฉลียวฉลาดแหลมคม เราก็ฟิตของเราว่าตัวโง่ ว่าอย่างนั้นเถอะนะ เป็นตัวจอมโง่เข้ารับกันไม่อย่างนั้นไม่ทันกาล...”
ลัก...ยิ้ม
11-08-2015, 17:16
แม้จะเสี่ยงต่อการถูกดุด่าว่ากล่าว เพราะหลวงปู่มั่นไม่เสริมในสิ่งที่ขัดปฏิปทาที่เคยดำเนินมา แต่ด้วยความห่วงใยในธาตุขันธ์พ่อแม่ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณสูงสุดซึ่งชราภาพมากแล้ว อยากให้มีกำลัง มีอายุยืนยาว อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่หมู่ศิษย์อีกนานแสนนาน ท่านก็ยอมเสี่ยงได้ ดังนี้
“... นี่ก็ขอร้องท่านนะ เวลาท่านจวนตัวเข้ามาเต็มที่แล้ว ขอให้ท่านซดช้อนเพราะบิณฑบาตก็ไม่ได้แล้ว ท่านก็ยังไม่ยอม ก็เรียนท่านว่า
‘แต่มันจำเป็น พ่อแม่ครูอาจารย์พาลูกศิษย์ลูกหาบึกบืนมาก็พอแล้ว อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะปฏิบัติต่อธาตุต่อขันธ์พอจะเป็นไปได้ ได้วันหนึ่ง สองวันก็เป็นที่ภาคภูมิใจแก่สัตว์โลกทั้งหลายแล้ว ขอให้พ่อแม่ครูอาจารย์ได้ทำตามธาตุตามขันธ์ ไม่มีใครมายึดแหละ ไม่ใช่พระเทวทัตมาอยู่ที่นี่ ถ้าเป็นพระลูกศิษย์มีครูแล้วไม่มีใครยึด’
เราละเป็นตัวสำคัญกับพ่อแม่ครูอาจารย์ ผู้อื่นไม่กล้าพูด เรามันกล้า.. กล้าด้วยเหตุด้วยผล ใครจะมายึดพ่อแม่ครูอาจารย์ในเวลานี้ ใครยึดก็เป็นเทวทัต เราว่างั้น ถ้าลูกศิษย์มีครูแล้วไม่ยึด เพราะธาตุขันธ์ของพ่อแม่ครูอาจารย์เป็นยังไง เวลานี้ไม่มีใครรู้ พ่อแม่ครูอาจารย์มีความสะดวกสบายด้วยการขบการฉัน ด้วยวิธีใดก็ขอนิมนต์เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก อยู่ไปกี่วันก็เป็นประโยชน์แก่โลกไม่ใช่น้อย ๆ ฉันไม่สะดวก อะไรไม่สะดวก ธาตุขันธ์ก็ยิ่งทรุดลงไป ๆ แล้วก็ยิ่งมีแต่ทางเสื่อมทางเสียโดยถ่ายเดียว
ท่านก็ฉันให้บ้าง สักเดี๋ยวท่านก็พลิกอีกแหละ เราก็เอาอีก เพราะนิสัยของท่าน นิสัยปัญญานี่ พลิกพับ ๆ ๆ...”
สำหรับการดูแลเรื่องหมากพลู บุหรี่ ที่ชาวบ้านทำมาถวายหลวงปู่มั่นนั้น ท่านเคยพูดไว้เช่นกันว่า “ท่านตำหมากวันหนึ่งไม่มากนะ ตอนเช้า ตอนบ่าย และตอนเย็น ๆ บุหรี่ก็ไม่มาก ตอนเช้า ตอนบ่าย แล้วตอนค่ำ บุหรี่นี้จะมีถึง ๓ ครั้ง แต่หมากก็น่าจะเหมือนในระยะเดียวกัน เวลาลูกศิษย์ลูกหาขึ้นไปหาท่าน ท่านคุยแล้วก็ตำหมากถวายท่าน”
ลัก...ยิ้ม
19-08-2015, 11:48
หลวงปู่มั่นยกเรื่องหมูเป็นคติ
“.. บางทีพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านพูดมีตลกขบขัน อยู่กับท่านมันหากหัวเราะไม่ได้.. เราจะตาย บางทีกลั้นหัวเราะไม่อยู่ มันอดหัวเราะไม่ได้นะ มันทำไมเป็นอย่างนั้น ท่านพูดแปลก ๆ หากเป็นคติด้วยขบขันด้วยอยู่ในตัวนี่แหละ
วันหนึ่งเรามันดื้อสิ หมูตัวขนาดกระโถน แต่มันอ้วน ๆ มันเดินไปขุดดินขึ้นมาริมถนน จนเป็นร่อง มันก็เอาจมูกมันขุดหญ้าแห้วหมูกินเพลิน ท่านก็เดินบิณฑบาตไปทางนั้น พูดไปพลาง.. มองหางตาแย็บมาหาเรา
‘นี่เห็นไหม หมูเขาไม่มีจอบมีเสียบ เขายังขุดได้ เห็นไหม เขาไม่ยอมตาย เขาขุดกินหญ้าแห้วหมูเห็นไหม พระเราจะไปโง่อะไรนักหนา ปัญญามี ขุดลงไปสิ!’
ท่านว่าอย่างนั้น อุบายของท่านออกอย่างนั้น อันนี้พอผ่านไปแล้ว เราก็ไปเจอหมูตัวถัดกันไป มันกำลังเอาจมูกขุดดินกินหญ้าแห้วหมู เราไม่ได้ตั้งเจตนาอะไรนะ เราเดินไปนั่น เวลามันขุดอยู่นี่มันจะทำยังไง เราจึงสอดเท้าเข้าไปใต้ท้อง มันตื่นกระโดดหนีตกลงร่อง ตกไปแล้วมันไม่แล้วยังหงายท้องขาชี้ฟ้า
ท่านมองมา “มันเป็นอะไร มันเป็นอะไร ๆ”
เราไม่ทราบว่าจะพูดยังไง มันขบขันนี่สิ เรื่องมันขบขันนะ “ว่าแต่พระไม่มีปัญญา บทเวลาหมูตัวมีปัญญาตกไปงี้ หงายท้อง” มันอดหัวเราะไม่ได้
ทีนี้ถึงเวลาให้พร ท่านเป็นองค์ ยถาฯ สัพพีฯ ส่วนเราเป็นคนรับสัพพีฯ พอถึงคำว่า สัพพีฯ เรารับไม่ได้เราก็นิ่ง กลั้นหัวเราะ จะรับได้อย่างไรมันคอยจะพุ่งออกมาอยู่นี่ (หัวเราะ) เราก็เลยรับไม่ได้นี่นะ ท่านก็สัพพีคนเดียว หมู่เพื่อนก็เลยรับทางโน้น เราก็เลยสัพพีไม่ได้เลยนะ ทีนี้พอพ้นหมู่บ้านแล้ว ท่านก็ว่า “ทำไมขึ้น ยถาฯ ให้ สัพพีฯ ไม่เห็นรับ”
“ผมอยากหัวเราะ มันขำจะตาย”
“หึ! เท่านั้นก็อยากหัว (หัวเราะ)” ท่านว่า
มันขบขันนะ เพราะท่านพูดท่านไม่มีอะไรนี่ ไอ้เรามันเป็นบ้านี่ อดหัวเราะไม่ได้ ที่เราทำหมูไม่ใช่อะไรนะ เราทำด้วยความรักหมูต่างหาก เราไม่ได้ทำความแกล้งท่านอะไร แม้นเม็ดทรายหนึ่งก็ไม่มี แต่นี่เราพูดสนุกเฉย ๆ ทำไมมันถึงฉลาดนัก หมูเรานี่นะ เหมือนลักษณะอย่างนั้น แต่ความจริง เราไม่มีเจตนาอย่างนั้น คือมันอ้วนมันน่ารักนี่
นั่นล่ะ เรื่องมันเป็นอย่างนั้น ขบขันจะตาย ท่านมีอุบายแปลก ๆ ที่เราไม่เคยคิดเคยคาดนะ ไปเจออะไรนี่.. จะออกมาปุ๊บ ๆ เป็นคติทั้งนั้น นี่เป็นนิสัยของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น สมกับท่านเป็นครูเป็นอาจารย์
คำที่ว่า “ศาสดา” ไม่ใช่ขึ้นบนธรรมมาสน์นั่งเทศน์แล้วถึงจะว่าศาสดานะ บทอากัปกิริยาทุกอย่าง ความเคลื่อนไหวไปมาขององค์ศาสดานั่นแหละ คือครูเอกนะ เป็นคติ จับมาเป็นคติได้หมดเลย ไม่จำเป็นจะต้องตั้งหน้าตั้งตาเทศน์ ให้การอบรมสั่งสอนถึงจะว่าเป็นศาสดา ความเคลื่อนไหวไปมาขององค์ศาสดานั่นล่ะ คือครูของโลกตลอด ยึดได้หมด เป็นคติ
อันนี้พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นก็เหมือนกัน เคลื่อนไหวอะไรออกไปมีแต่เป็นคติ พูดออกมาแย็บ ๆ หนึ่งก็มีคติเตือนใจ บางทีเวลาท่านเปิดเต็มที่ ท่านบอกว่า “ถ้าจะสมมติ เอาบริเวณที่เขาล้อมรั้วของวัดนี้ มันกว้างขนาดไหน คนเต็มทั่วโลกนี้ สู้จิตวิญญาณในบริเวณวัดนี้เท่านั้น.. ไม่ได้
คือท่านยกเอาคน เฉพาะคนทั้งหมดทั้งโลกนี้ ไม่รวมสัตว์นะ ก็ยังสู้จิตวิญญาณในวงวัดนี้ไม่ได้ ท่านว่าอย่างนี้ นั่นลึกลับมาแต่ไหน ลึกลับสำหรับสายตาคน แต่ไม่ลึกลับสำหรับความจริงต่อความจริง ความจริงต่อความจริงคืออะไร ? คือธรรมชาติที่รู้ ก็รู้ตามความจริง...”
ลัก...ยิ้ม
25-08-2015, 11:58
ตัดคอรองแทนหมู่เพื่อน
เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระแก่หลวงปู่มั่น ท่านจะคอยเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลพระเณร คอยสังเกตอัธยาศัยใจคอพระเณรที่อยู่รวมกัน ทราบกันว่า ในยามที่พระเณรมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นคราใด ท่านมักจะออกรับผิดกับหลวงปู่มั่นแทนหมู่เพื่อน ชนิดยอมตัดคอออกรองเลยก็ว่าได้ ดังนี้
“... ตอนจะฉัน ท่านเอาตอนที่ปิดประตูตีหมา เพื่อมันจะได้ขี้ทะลักออก เรานั่งอยู่นี้ ก็ท่านนั่งอยู่นั้น กำลังจะฉันท่านพูดเปรย ๆ ขึ้นว่า
‘พระเรานี้ แต่ละองค์ ๆ นิสัยไม่เหมือนกัน องค์หนึ่งเด่นทางหนึ่ง ๆ ท่านกงมาก็เด่นทางผ้า มาทีไรต้องได้ผ้ามาเป็นไม้ ๆ
ทั้ง ๆ ที่ผ้าหายากนะ สมัยนั้นสงครามโลก ผ้าหายาก ท่านหามาแต่ไหนก็ไม่รู้แหละ
อาจารย์สีลา บ้านวา อากาศอำนวย นี้เก่งทางมีดโกนทอง มาทีไรเป็นกำ ๆ เป็นมัด ๆ มาเลย แจกพระเณรได้ทั่วทั้งวัด
องค์นั้นเก่งทางนั้น ๆ เราก็ฟังไปอย่างนั้นแหละ องค์นั้นเด่นทางนั้น ๆ เราก็มีแต่เพลิน ฟังทั้งอ้าปากค้าง... พอท่านชมองค์นั้นองค์นี้หมดแล้ว ก็หันมาหาเราชี้นิ้วเลยว่า
‘นี่ ! ตัวยุ่งที่สุดคือตัวนี้ นี่ยุ่งที่สุด ไปที่ไหนอะไรแหลกไปเลย อะไร ๆ ที่ไหน มันไปยุ่งเอาหมด อะไรอยู่ที่ไหนมันไปเห็นหมด ไปยุ่งหมด’
‘กูตาย’ เราอุทานในใจ เอาแล้วที่นี้จะสู้ท่านได้ยังไง เรามัวแต่ฟังท่านเพลิน เวลาท่านจะฟาดเรานี้ เราไม่ได้ดู ท่านใส่เอาอย่างถนัด เราก็หมอบ ก็มันเป็นความจริง นึกว่าท่านจะไม่รู้ เห็นไหมล่ะอย่างนั้นแล้วเวลาท่านตี
เรื่องพระเณรก็เหมือนกัน เรานี้เรียกว่ารับแทนหมู่เพื่อนในวัด เด็ดดุก็อยู่กับเรา แต่เวลาจำเป็นนี้.. เราตัดคอเข้ารอง ใครผิดที่ไหนเราก็หาอุบายสอดเข้าไป หาอุบายเข้าไม่ได้ ไม่ได้แต่งขึ้นนะ มันหากมีเงื่อนพอเข้าถึงได้เราก็ไป อันนั้นผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้
เราก็บอกว่า ‘เรื่องราวมันเกี่ยวกับเรื่องกระผม เราสั่งให้หมู่เพื่อนทำอย่างนั้น ๆ’ เราก็ว่าไป พอมาถึงเรา เราเป็นคนผิดแล้วท่านก็นิ่งเสีย นิ่งหนหนึ่ง นิ่งสองหน นิ่งหลายหนต่อหลายหน พระเณรไม่ใช่น้อยองค์นี่ เดี๋ยวองค์นั้นผิดอย่างนั้น องค์นี้ผิดอย่างนี้ มีแต่เราเป็นผู้ไปตัดคอรอง
ครั้นนาน ๆ เข้าก็เอาตอนฉันจังหันนั่นละ ตอนเงียบ ๆ บทเวลาจะขึ้น ท่านกล่าวว่า..
‘พระเณรผิดท้ายวัดหัววัดก็มหาบัวผิด พระเณรหูหนวกตาบอดผิดก็มหาบัวผิด เป็นใบ้เป็นบอก็มหาบัวผิด มหาบัวผิดทั่วทั้งวัด พระเณรหูหนวกตาบอดเป็นบ้าเป็นบอมาจากไหน เข้ามาในเขตวัดนี้มีแต่ผู้ถูกทั้งหมด มหาบัวผิดคนเดียว เหอ...! มหาองค์นี้มันโง่ถึงขนาดนั้นเชียวเหรอ’
ท่านรู้แล้วว่าเราตัดคอรองหมู่เพื่อน เราก็หมอบเสียอย่างนั้นละ..เห็นไหม ? ท่านจับได้หมด เวลาพระเณรจะเป็นจะตาย.. เราก็ตัดคอรอง แต่เวลาออกมาแล้วก็สอน อย่างน้อยก็สอน มากกว่านั้นจับบิดเอาเลย ‘ทำไมทำอย่างนั้น ๆ’ จี้เอาเลย ก็เราเป็นคนรองออกมาแล้ว นั่นละ..ไม่ได้นึกว่าท่านจะรู้จะจับได้ เห็นไหมล่ะ จับได้หมดเลย อย่างนี้สิเราถึงได้เทิดทูน
ลัก...ยิ้ม
09-09-2015, 13:19
พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นนี้ท่านตามดูจริง ๆ จับทั้งส่วนหยาบ ส่วนละเอียด จับหมดเลย เพราะฉะนั้น เราถึงเทิดทูนสุดยอด อะไรก็ตามท่านเห็นหมด เราพยายามทำแบบไหน ท่านเห็นหมด แต่ท่านก็พอที่จะคิดบ้างว่า
‘นี่มันก็ต้องใช้ปัญญาเต็มภูมิมันนั่นแหละ แต่ปัญญานี้มันเป็นปัญญาหางอึ่ง’
เพราะฉะนั้น เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับพ่อแม่ – ครูอาจารย์มั่นนี้ลงใจทันที เราสุดกำลังความสามารถของเราที่จะพินิจพิจารณาสังเกตสังกาท่าน ไม่ว่าหลักธรรมหลักวินัยไม่มีเคลื่อนคลาดเลย ที่เราเทิดทูนสุดยอดก็คือ เรื่องความฉลาดแหลมคมของท่าน การปฏิบัตินี้ตรงแน่วตามตำรับตำรา พระวินัยข้อไหน ๆ ตรงไหนท่านเก็บหอมรอมริบเรียบหมด ไม่มีเรี่ยราดสาดกระจาย พรรณนาไม่หมด เรื่องเรดาร์ท่านจับเรานี่ท่านจับจริง ๆ ไม่ใช่ธรรมดา...”
มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านไม่สบาย ป่วยหนักจนลุกไม่ขึ้น ทั้งลมก็แรงตลอด ฝนก็ตกทั้งคืน ใบไม้จึงร่วงหล่นมากมาย พอเช้ามาหลวงปู่มั่นไม่ได้ยินเสียงปัดกวาดใบไม้เหมือนทุก ๆ วัน รู้สึกผิดจากปกติมาก หลวงปู่มั่นจึงถามขึ้นทันทีว่า
“หือ..พระเณรไปไหนหมด..หือ ? ท่านมหาไปไหน ?”
พระเณรตอบว่า “ท่านอาจารย์มหาป่วย”
หลวงปู่มั่นพูดแบบดุ ๆ ขึ้นทันทีว่า “หือ..ท่านมหาป่วยเพียงองค์เดียว วัดร้างหมดเลยเชียวหรือ ?”
ที่กล่าวเช่นนี้ เป็นเพราะโดยปกติประจำวันท่านจะคอยใส่ใจ เป็นธุระนำหน้าหมู่คณะออกทำข้อวัตรต่าง ๆ ทุกชิ้นทุกอันอยู่เสมอ เมื่อมาเจ็บป่วยจนลุกไม่ขึ้น พระเณรจึงยังไม่ทันทราบ เลยไม่มีใครพาเริ่มต้นทำข้อวัตร ทำให้เช้าวันนั้นดูเงียบผิดปกติ
ลัก...ยิ้ม
22-09-2015, 18:12
ยาดีของหลวงปู่มั่น
และในบางครั้งที่ท่านป่วยไข้อย่างหนัก มีอยู่เหมือนกันที่หลวงปู่มั่นเมตตาเอายาไปให้ฉันด้วยตนเองเลยทีเดียว ท่านเล่าให้ฟังอย่างไม่มีวันลืมเหตุการณ์นี้ไปได้เลย ดังนี้
“... เรามีนิสัยวาสนาอย่างหนึ่งเหมือนกัน คือไม่ค่อยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่ไป ยิ่งเวลาออกปฏิบัติอยู่นั้นยิ่งไม่สนใจกับหมอเลย ยาไม่เคยติดย่ามแม้เม็ดเดียว อยู่แบบหมูแบบกวาง เวลามันจะป่วยมันไปหาโรคมาจากไหน ? ทำไมเป็นได้ ? ธรรมแก้ตัวเอง แก้อย่างนั้น เวลามันจะหายมันไปหาโอสถมาจากไหน ? เกิดที่ไหนมันก็ตายที่นั่นแหละ
เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยใครเอายามาให้ เราบอก ‘อย่ามายุ่ง’ ทีนี้หลายครั้งหลายหน ท่านเห็น ท่านก็มาเองล่ะสิ คึกคักเข้าไปถึงตัวเราเลยนะ เรานอนไข้อยู่นะ
‘นี่ ! นี่ ! ได้ยามาแล้วนะ ท่านมหานะ นี่ ! ได้ยาดีวิเศษมาให้ พอฉันปุ๊บจะหายทันที เอ้า ! เอ้า ! ฉัน’ ท่านว่าอย่างนั้นเลย มือยื่นให้พร้อมเลย ตกลงเราก็ต้องฉัน
ถ้าเป็นเรื่องพ่อแม่ – ครูอาจารย์มั่นนี้ เราไม่เคยปฏิเสธเลย ท่านพูดเลยว่า ‘ยานี้สำคัญมาก ยาดีนะ ฉันแล้วหาย หาย หาย จะหายก่อนฉันด้วยซ้ำนะ’
ท่านเสกสรรยาของท่าน แล้วท่านก็ยื่นเข้ามาให้เลย
‘เอา... เอา... เอาให้มันหายเดี๋ยวนี้เลย’
นี่ถ้าว่าเด็ดจริง ๆ ท่านก็เป็นอย่างนั้นนะ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น เพราะท่านทราบว่านิสัยเราเป็นอย่างนั้น เวลาเด็ดเราก็ยอมรับ เพราะเรามันจริงจังท่านจึงเอามาเอง ฉันแล้วก็ไม่หาย เราก็ไม่สนใจว่าหายหรือไม่หาย ... นี่พูดถึงพ่อแม่ – ครูอาจารย์มั่น ท่านปฏิบัติต่อเรา ท่านเอาอย่างนั้น กับองค์อื่น ๆ ก็ไม่เห็นท่านทำ...”
ลัก...ยิ้ม
28-09-2015, 11:26
ฟันหลวงปู่มั่นหลุด
วันหนึ่งท่านเนตร (พระอาจารย์เนตร กนฺตสีโล) นั่งอยู่ติดทางบันได ส่วนเราก็นั่งอยู่นี่ติดกับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น สนทนากันสักประเดี๋ยวพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นพูดขึ้นว่า
"โอ้! ฟันเราหลุด ฟันหลุดหายตอนอาบน้ำ”
“หลุดหายที่ห้องน้ำเหรอ ?”
“เออ ! ก็ที่ห้องน้ำนั่นแหละ” ท่านว่าอย่างนั้น
พอว่าอย่างนั้น เราก็ลุกปุ๊บ ท่านเนตรก็ลุกปั๊บเลย ท่านอยู่ใกล้ห้องน้ำกว่าเรา ท่านจึงลงได้เร็วกว่าเรา เราอยู่ด้านข้างใน กว่าจะออกมา ท่านเนตรไปก่อนแล้ว
พอไปถึงห้องน้ำ เราก็จับหลังท่านไสล้มลง ตาก็ล่อกแล่กสาดส่องมองหา แต่ท่านเนตรก็พบฟันก่อนเรานะ พอดูดี ๆ กลายเป็นฟันลอง (ปลอม) อู้ย !.. นึกว่าฟันจริง หมดท่าเลย ...(หัวเราะ)...
เออ ! บาปมันสู้บุญไม่ได้นะ เรามันไม่ซื่อสัตย์สุจริตนี่ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านก็ดูอยู่ คงคิดว่า “พวกบ้าสองตัวนี้มันทำอะไรกัน ?”
ลัก...ยิ้ม
02-10-2015, 10:00
ถวายเปลือกน่อง
ในการปฏิบัติต่อที่พักหลับนอนของหลวงปู่มั่นนั้น ท่านก็ทำอย่างละเอียดลออที่สุด แม้อย่างนั้น หลวงปู่มั่นก็มีอุบายที่จะเตือนมิให้นิ่งนอนใจ ดังนี้
“... จัดที่หลับที่นอนให้เราก็พยายามเต็มที่เต็มฐาน เราจัดที่นอนให้ท่านปูเสื่อปูอะไร ที่นอนท่านบอกอย่างดีนะ บอกอย่างนี้ ๆ โอ๊ย.. จดจำเก่งยิ่งกว่าอะไรนะ เราก็พยายามทำแต่ไม่นานก็พลิกปุ๊บ แต่ก่อนได้ยินแต่เพื่อนฝูงเล่าให้ฟัง ครูบาอาจารย์ ผู้ท่านปฏิบัติมาก่อนเล่าให้ฟัง
‘เรื่องทำกับพ่อแม่ครูอาจารย์นี้มันไม่ถูกแหละ เพราะมันไม่ถูกอยู่ที่หัวใจเรา เดี๋ยวท่านก็พลิก เดี๋ยวท่านก็ดุ เราก็จำเอาไว้ก็จริง ทำเหมือนกับว่าจะเอาดินสอขีดไว้โน่นละ แม้แต่วางกาก็เหมือนกับจะเอาดินสอขีดเอาไว้ กำหนดไว้ให้ดี สุดท้ายก็เอาปั๊บอีกแหละ ทำไมทำอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ ๆ ซี’
ท่านก็พลิกไปนิดหน่อยเท่านั้นละ ไม่มาก ความจริงคือ จิตของเราพอเห็นว่าถูกแล้วมันนอนใจนะ ไม่ระเวียงระวัง มันนอนใจ ท่านพลิกปั๊บ ตรงนั้นไม่ให้นอนใจ ให้ได้ใช้ความคิดความหมาย เรารู้ตามหลังนั่นน่ะ
‘อ๋อ... เป็นอย่างนี้เอง’
ท่านให้ใช้ความคิด ไม่ใช่ทำแบบเซ่อ ๆ ถูกอยู่กับคำว่าถูก นอนอยู่นั้นเสีย ไม่ได้ใช้ความคิดเลยไม่เกิดปัญญา นี่.. สอนให้เกิดปัญญาจะว่าไง ท่านสอนเพื่อความฉลาดทุกระยะแล้วท่านก็พลิกเรื่อย ๆ
แต่ก่อนเราก็ไม่เข้าใจอะไรนัก ทีนี้ต่อมา ๆ เข้าใจ อ๋อ.. เป็นอย่างนั้น ๆ เพราะท่านไม่ได้คุ้นกับอะไร.. จิตท่าน แล้วอุบายวิธีที่ไม่คุ้นกับอะไรนั้นน่ะ มันเป็นอุบายที่ถูกต้องสำหรับผู้มีกิเลสที่จะถอดถอนกิเลส ความนอนใจไม่ใช่เป็นสิ่งถูกต้อง นี่.. ยอมรับท่าน...”
ลัก...ยิ้ม
07-10-2015, 12:28
อีกเรื่องหนึ่งที่องค์หลวงตาว่า เป็นสิ่งที่สลักลึกอยู่ภายในใจของท่านตลอดมา คือเรื่องเปลือกน่อง เมื่อนำมาทุบตีและแผ่ออกแล้ว ใช้ทำเป็นอาสนะนั่งได้เป็นอย่างดี ดังนี้
“.. ท่านอาจารย์มั่นท่านว่า ‘แต่ก่อนเคยใช้เปลือกน่อง ทุกวันนี้ไม่ค่อยได้ใช้ ไม่มีต้นน่อง”
ชื่อต้นไม้ ชื่อ “น่อง” เป็นต้นไม้เปลือกหนา ๆ เวลาเราต้องการจะเอามาปูนี้ เราไปตีย่น ๆ ๆ เข้ารอบต้นทุก ๆ ด้าน แล้วแผ่ออกมา มันก็อ่อนนุ่ม ๆ อยู่ในตัวของมันเอง เอามาตากแห้งเรียบร้อย แล้วก็เอามานั่งทำเป็นอาสนะ พอท่านพูดถึงเรื่องเปลือกน่องว่า
‘แต่ก่อนใช้เปลือกน่องอยู่เป็นประจำ แถวถิ่นนี้ไม่มีเปลือกน่องเลย ไม่ได้ใช้เปลือกน่อง’
เราก็กราบเรียนท่านทันทีว่า ‘มี’
ท่านถามว่า ‘จะมีอยู่ที่ไหน ?’
‘อยู่ทางโน้นมี กระผมไปเที่ยวถ้ำนั้น ๆ จังหวัดสกลนคร มี..มีเยอะ’ กราบเรียนท่านอย่างนั้น
‘กระผมจะไปหามาถวายให้’ ท่านนิ่ง ๆ
แล้วจากนั้นมาอีก ๒ – ๓ วัน ก็กราบเรียนท่านถึงเรื่องที่จะไปเอาเปลือกน่องว่า ‘จะต้องค้างคืน จากหนองผือเดินทางไปไม่มีรถยนต์ ต้องเดินไป’
พอตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ตอนค่ำนั้นก็กราบเรียนท่านว่า ‘วันพรุ่งนี้กระผมจะได้ออกเดินทางแต่เช้า ไปฉันจังหันที่อำเภอพรรณาฯ จะไม่ได้มาเกี่ยวข้องเรื่องต่าง ๆ กับพระ กับเณร กับข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ’
ทีนี้ก่อนที่จะออกเดินทางหนูมันชุม ถ้าสิ่งของไม่เก็บให้ดี ๆ ไม่ได้ หนูมันเข้าไปกัดฉีกไปทำลายหมด บริขารเราก็ไม่มีมากนี่นะ มีเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็จัดเอาของเล็ก ๆ น้อย ๆ มาใส่ถุงย่ามเอาไว้ เสร็จเรียบร้อยแล้วเราก็วางพิงหมอนไว้ที่นั่นแหละ แล้วก็สั่งกับพระเอาไว้ว่า
‘เวลาผมออกไปแล้วนั้น ให้พากันไปเอาย่ามที่ผมเอาของใส่ไว้ข้างในนั้น ให้เอาไปเก็บไว้ดี ๆ นะ ไม่งั้นหนูมันจะกัด’ เราสั่งพระไว้เรียบร้อย พระก็ทราบแล้ว
ทีนี้เราก็ออกเดินทางแต่เช้า พอท่าน (หลวงปู่มั่น) ฉันจังหันเสร็จแล้ววันนั้น ท่านก็ถามพระ ‘ฮึ ! ท่านมหาไปแล้วหรือ ?’
‘ไปแต่เช้าแล้วขอรับ’ พระตอบ
นึกว่าองค์ท่านจะไม่มีอะไรนะ พอฉันเสร็จแล้วลุกจากที่นั่งไปกุฏิเรา ตรงขึ้นข้างบนเลย ขึ้นไปคว้าเอาย่ามที่เราเอาวางไว้ข้างหมอน สะพายย่ามเราลงมานะ พระก็รุมไปหาท่าน ท่านกำลังเอาย่ามเราไปกุฏิท่านนะ แปลกมากอยู่ รู้สึกท่านเมตตามาก เราพิจารณาเพราะไม่เห็นท่านทำกับองค์ใด ๆ อย่างนี้
ทีนี้พอท่านเดินลงมาจากกุฏิเรา พระก็รุมเพื่อจะไปรับย่ามกับท่าน
‘อย่ามายุ่ง’ ท่านว่าอย่างนี้นะ ท่านก็เดินเรื่อย ๆ พระก็เดินตามไป พอไปถึงกุฏิท่านแล้ว ท่านก็เอาย่ามของเราวางข้าง ๆ ท่าน แล้วพระก็รุมตามไปกราบท่าน จากนั้นก็เอาแล้วนะ ทีนี้นะ
‘นี่..ท่านมหาไปทำประโยชน์รู้กันไหมนี่ แล้วของที่ท่านวางไว้นั้น ทำไมทิ้งไว้อย่างนั้น ไม่เห็นใครไปดูแลเก็บสิ่งของ ๆ ท่าน มันยังไงกัน ?’ ท่านว่าอย่างนั้น
พระก็เลยกราบเรียนท่านว่า ‘ก่อนที่ท่านจะไป ท่านได้สั่งพวกกระผมเรียบร้อยแล้ว ว่าท่านได้จัดย่ามวางไว้ข้างหมอน ให้ไปเก็บด้วย หนูมันจะกัด พวกกระผมฉันจังหันเสร็จเรียบร้อยจึงจะไปเอามาเก็บ แต่พ่อแม่ครูอาจารย์ไปเอามาเสียก่อน’
ท่านก็เลยนิ่งนะ
พอคุยกันพอสมควรแล้ว พระก็คลานขึ้นมาเอาย่าม ท่านก็ไม่ว่าอะไร รู้สึกว่าท่านจ้องมากนะ สำหรับเรา..เหมือนเรดาร์ จับตลอดเลยความเคลื่อนไหวของเรา ไปไหนมาไหนจับตลอด...”
================================
*เปลือกน่อง* ชื่อพื้นเมือง จ้อยนาง ยาค่าง ย่าน่อง (เชียงใหม่) ชะแวะ ยางน่องขาว (นครราชสีมา) เทียนขโมย (เพชรบูรณ์) ย่านาง (ภาคกลาง ภาคเหนือ) ชื่อวิทยาศาสตร์ Antiaris toxicaria Lesch. sbsp. toxicaria ลักษณะไม้ต้น น้ำยางสีขาว ใบเดี่ยวเรียบสลับ มีขนปกคลุมหนาแน่น ดอกช่อ ออกที่ง่ามใบ ผลรูปรี สีแดงเข้ม เมื่อสุกสีดำ สรรพคุณ เปลือกและใบ แก้ไข้ น้ำคั้นจากใบใช้ในปริมาณน้อย เป็นยากระตุ้นหัวใจ น้ำยาง ใช้เป็นยาพิษ ทาลูกหน้าไม้ยิงสัตว์ เมล็ด แก้ท้องร่วง แก้ไข้ แก้บิด
ลัก...ยิ้ม
09-10-2015, 11:08
แรงกรรม.. อุจจาระราดทางหลวงปู่มั่น
มีเรื่องหนึ่งที่องค์หลวงตาเล่าไว้ แต่ไม่ได้บอกไว้ว่าเกิดขึ้นหมู่บ้านใด เรื่องเกิดขึ้นในตอนเช้า ขณะหลวงปู่มั่นเดินบิณฑบาตผ่านทุ่งนาของเขา แต่เจ้าของไม่ต้องการให้ท่านเหยียบผ่านคันนาของเขาไป ดังนี้
“... เขาว่าทำคันนาเขาเสียหาย เขาก็เอาขี้ไปราดตามคันนาไว้ ไม่ให้ท่านเดินผ่านมาบิณฑบาตที่นั่น เขาโกรธเคียดให้ท่าน สำหรับท่านเฉยอยู่ ท่านไม่สนใจล่ะ
แล้วสุดท้ายในที่สุด คนพวกนี้ก็เลยกลายเป็นคนบ้ากันทั้งครอบครัว มันช่างเป็นไปต่าง ๆ นานา ไม่เป็นบ้าก็เป็นใบ้ ที่เป็นหมดทั้งครอบครัวเพราะพวกนี้ก็พลอยยินดีในเรื่องนี้ไปด้วย แต่คนที่ลงมือทำเป็นพ่อ
พอพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นออกมาบิณฑบาต ท่านจึงเหยียบขี้ที่เขาเทราดไว้ เปรอะเปื้อนเท้าไปหมด
เมื่อเป็นดังนั้น พวกคนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันคงจะดีใจ พลอยยินดีไปด้วย คือสมรู้ร่วมคิดเป็นใจแล้วกรรมส่งผลให้เป็นบ้า ผู้เฒ่าหัวหน้าครอบครัวก็เป็นบ้า แล้วลูกเต้าเกิดมาเป็นบ้าก็มี เป็นใบ้ก็มี คนดี ๆ หาไม่ค่อยได้ในบ้านนั้น เป็นกันอยู่อย่างนั้น จนชาวบ้านเขาลือกันว่าเป็นเพราะทำกับท่าน
ตั้งแต่นั้นมาไม่มีจะกิน ยากจน คนเขาชี้หน้าด่าทอกันหมดทั้งหมู่บ้าน เพราะใคร ๆ เขาก็รู้กันทั้งหมู่บ้าน ว่าทำกรรมอันน่าทุเรศกับท่านอย่างนั้น เวลากรรมบันดลบันดาลมันให้ผล มันเป็นให้โลกเขาเห็นทั้งบ้านทั้งเมืองเหมือนกัน นี่แหละที่เรียกว่า กรรมตามทัน...”
ลัก...ยิ้ม
12-10-2015, 14:23
ไม้กวาดสอนศิษย์
แม้หลวงปู่มั่นจะให้ความเมตตาเป็นพิเศษหลายอย่าง แต่ก็มีเหมือนกันที่ทำให้ท่านต้องถูกหลวงปู่มั่นดัดนิสัยเอาบ้าง ดังนี้
“... ท่านดัดนิสัยเราหนหนึ่ง เราไม่ลืมเลย เรื่อง “ไม้กวาดด้ามหนึ่ง” ที่เราคิดว่าใช้ไม่ได้แล้ว จึงทิ้งเข้าไปในป่า วันต่อมา เราไปเดินจงกรมอยู่ในป่า ถึงเวลาปัดกวาด เราออกมาแล้วเอื้อมมือไปหยิบไม้กวาดที่สอดไว้ใต้ถุนกุฏิ แล้วไปเห็นไม้กวาดด้ามที่เราทิ้งในป่ามาเหน็บอยู่ที่นั่น
‘อ้าว ! ไม้กวาดนี้มันมาได้ยังไง !’
เราจับเอาไม้กวาดออกมาดู ‘อ้อ ! ไม้กวาดนี้เป็นไม้กวาดที่เราทิ้งไปเมื่อวันก่อน ใครหนอเอามาเหน็บไว้ที่นี้ ? คงเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์นั่นแหละ ท่านสอนเรา’ เห็นดังนั้น เราก็หมอบเลย
ตั้งแต่นั้นมา “ไม้กวาดด้ามนั้น” ก็เป็นอาจารย์เอกทีเดียว ถ้าพอซ่อมได้ยังไง เราจะซ่อมเต็มเหนี่ยวเลยนะ นี่แสดงว่ามันพอใช้ได้อยู่.. เอาไปทิ้งทำไม ! ท่านเทศน์สอนเรา ไม้กวาดนี้ต้องซ่อมให้เรียบร้อย จนใช้ไม่ได้แล้วถึงจะทิ้ง ถ้าทิ้งครั้งที่สองนี้ ท่านน่าจะเอามาตีหน้าผากเรา ครั้งนี้ยังไม่ตี อย่างนั้นล่ะ...ท่านสอนเรา อุบายท่าน เราก็ปฏิบัติตามนั้นเลย...”
ลัก...ยิ้ม
16-10-2015, 11:18
คุณยายกั้ง ผู้มีญาณหยั่งรู้
ในหมู่บ้านหนองผือมีบ้านอยู่ ๗๐ หลังคาเรือน มีคุณยายนุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่งชื่อ “กั้ง” อายุราว ๘๐ ปี เป็นนักภาวนาสำคัญคนหนึ่ง ที่หลวงปู่มั่นเมตตาเป็นพิเศษเสมอมา คุณยายอุตส่าห์ตะเกียกตะกายไปศึกษาธรรมกับท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือเสมอ ดังนี้
“... แกใช้ไม้เท้าเป็นเครื่องพยุงออกไปหาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น กว่าจะถึงวัดต้องพักเหนื่อยระหว่างทางถึง ๓ - ๔ ครั้ง ทั้งเหนื่อยทั้งหอบ น่าสงสารมาก บางทีท่านพระอาจารย์มั่นก็ทำท่าดุเอาบ้างว่า ‘โยมจะออกมาทำไม มันเหนื่อยไม่รู้หรือ แม้แต่เด็กเขายังรู้จักเหนื่อย แต่โยมแก่จนอายุ ๘๐ – ๙๐ ปีแล้ว ทำไมไม่รู้จักเหนื่อยเมื่อยล้า มาให้ลำบากทำไม ?’
แกเรียนตอบท่านอย่างอาจหาญ ตามนิสัยที่ตรงไปตรงมาของแกว่า ‘ก็มันอยากมา มันก็มาซิ’...”
คุณยายแกมีหลานชายคนหนึ่ง เป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น คอยส่งบาตรทุกวัน พอองค์ท่านรับบาตรเสร็จแล้ว ก็จะสะพายบาตรไปส่งที่วัดทุกวันไม่เคยขาด องค์หลวงตากล่าวถึงการภาวนาของคุณยายว่า
“คุณยายแกภาวนาดี มีหลักเกณฑ์ทางจิตแล้ว แกยังมีปรจิตวิชชา คือสามารถรู้พื้นเพดีชั่วแห่งจิตคนอื่นได้ด้วย และมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลก ๆ ภายนอกด้วย เวลาแกมารับการอบรมกับท่านอาจารย์มั่น แกเล่าความรู้แปลก ๆ ถวายท่านด้วยความอาจหาญมาก ท่านทั้งขบขันทั้งหัวเราะ ทั้งเมตตาว่ายายแก่นี้อาจหาญจริง ๆ ไม่กลัวใคร”
คุณยายสามารถรู้เรื่องความคิดจิตใจของใครต่อใครได้ จนบางครั้งหลวงปู่มั่นยังได้ถามคุณยายแบบขบขันว่า “รู้เรื่องนั้นไหม ?”
คุณยายก็ว่า “รู้”
“แล้วเรื่องนี้รู้ไหม ?” ก็ว่า “ก็รู้อีก”
หลวงปู่มั่นเลยลองถามว่า “แล้วรู้ไหม ? จิตของพระในวัดหนองผือนี้”
คุณยายว่า “ทำไมจะไม่รู้” แถมพูดแบบขู่เลยว่า “รู้หมดแหละ”
คุณยายเคยเล่าเรื่องภาวนาให้หลวงปู่มั่นฟังอย่างอาจหาญว่า “มองมาวัดหนองผือแห่งนี้สว่างไสวทั่วหมดเลย มีแต่พระภาวนา ดวงเล็ก ดวงใหญ่ เหมือนดาวอยู่เต็มวัด”
เวลาเล่าถวายหลวงปู่มั่น คุณยายจะพูดแบบอาจหาญมากไม่กลัวใคร แม้พระเณรจำนวนร่วมครึ่งร้อยซึ่งมีท่าน (องค์หลวงตามหาบัว) รวมอยู่ด้วย จะนั่งฟังอยู่เวลานั้นด้วยก็ตาม คุณยายก็จะพูดได้อย่างสบาย ไม่สนใจว่าใครจะคิดอะไร พวกพระทั้งหลายพากันรีบล้างบาตร แล้วค่อยมาแอบฟังคำพูดของแก อยู่ทางด้านหลังหอฉัน แกพูดอาจหาญตามหลักความจริงไม่สะทกสะท้าน ดังนี้
“...เวลาพวกทวยเทพทั้งหลายมากราบพ่อแม่ครูอาจารย์ที่หนองผือ หลั่งไหลมา เขามาทิศทางพระไม่อยู่นะ พวกทวยเทพทั้งหลาย เขาเคารพพระมาก คือเขาจะมาทางด้านไม่มีพระ ถ้าพระมากทางด้านไหน เขาจะไม่มาทางนั้น เขาไม่มาสุ่มสี่สุ่มห้านะ”
พ่อแม่ครูอาจารย์บอกกับโยมยายกั้งพูดเข้ากันได้ ท่านบอกว่า
‘ทางด้านนี้พวกเทพมา ใครอย่าไปทำสุ่มสี่สุ่มห้าแถวนั้นนะ นอนก็เหมือนกัน.. หลับครอก ๆ แครก ๆ ให้พวกเทพเขามาปลงธรรมสังเวชไม่ได้นะ ให้รักษามารยาท’
พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านพูดก่อนแล้ว โยมยายกั้งนี้แกมาพูดแบบเดียวกัน แกรู้จิตคนอื่น แกเห็นจริง ๆ รู้จริง ๆ ใครสะอาดผ่องใสขนาดไหนแกเห็น เวลาแกมาเล่านี้ คือแกนิสัยตรงไปตรงมา พูดไม่กลัวใครเหมือนขวานผ่าซาก รู้อย่างไร.. พูดอย่างนั้น แกเป็นคนตรงไปตรงมา พวกพระก็สนุกฟัง..
ลัก...ยิ้ม
22-10-2015, 17:19
ยายกั้งมาเล่าถวาย ถึงการล่วงรู้จิตของท่านและพระเณรในวัด รู้สึกน่าฟังมาก พระเณรทั้งแสดงอาการหวาด ๆ บ้าง แสดงอาการอยากฟังแกเล่าบ้าง แกเล่าว่า
‘นับแต่จิตท่านอาจารย์ลงมาถึงจิตเณร ความสว่างไสวลดหลั่นกันลงมาเป็นลำดับลำดา เหมือนดาวใหญ่กับหมู่ดาวเล็ก ๆ ที่อยู่ด้วยกัน ฉะนั้น รู้สึกน่าดูและน่าชมเชยมาก ที่มองดูจิตพระเณรมีความสว่างไสวและสง่าผ่าเผย ไม่เป็นจิตที่อับเฉาเฝ้าทุกข์ที่กลุ้มรุมดวงใจ แม้เป็นจิตพระหนุ่มและสามเณรน้อย ๆ ก็ยังน่าปีติยินดี และน่าเคารพนับถือตามภูมิของแต่ละองค์ ที่อุตส่าห์พยายามชำระขัดเกลาได้ตามฐานะของตน’
บางครั้งแกมาเล่าถวายท่าน เรื่องแกขึ้นไปพรหมโลกว่า ‘เห็นพระจำนวนมากมายในพรหมโลก ไม่เห็นมีฆราวาสสลับสับปนกันอยู่บ้างเลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?’
แกหัวเราะแล้วเรียนท่านว่า ‘ลืมเรียนถามพระท่าน เวลาลงมาแล้วจึงระลึกได้ก็มาเรียนถามท่าน ต่อไปถ้าไม่ลืม เวลาขึ้นไปอีกจึงจะเรียนถามพระท่าน’
แล้วแกจึงเรียนถามท่านต่อไปอีกว่า ‘เมื่อคืนนี้ใครกัน มองตรงไหนมีแต่หน้าเต็มไปหมด ?’
ท่านตอบให้ด้วยความเมตตาว่า ‘อ๋อ ! นั่นมันท้าวมหาพรหม เขามานมัสการเรา’ ท่านอาจารย์ตอบปัญหายายกั้งมีความหมายเป็นสองนัย
นัยหนึ่งตอบตามความจริง นัยสองตอบเป็นเชิงแก้ความสงสัยของยายกั้งที่ถาม ต่อมาท่านห้ามไม่ให้แกออกรู้สิ่งภายนอกมากไป เสียเวลาพิจารณาธรรมภายในซึ่งเป็นทางมรรคทางผลโดยตรง ยายกั้งก็ปฏิบัติตามท่าน..”
ความรู้ที่พิเศษอีกตอนหนึ่งก็คือ ที่คุณยายทายใจหลวงปู่มั่นอย่างอาจหาญมาก และไม่กลัวว่าท่านจะดุจะว่าอะไรบ้างเลย คุณยายทายว่า
“จิตหลวงพ่อพ้นไปนานแล้ว ฉันทราบจิตหลวงพ่อมานานแล้ว จิตหลวงพ่อไม่มีใครเสมอทั้งในวัดนี้หรือที่อื่น ๆ จิตหลวงพ่อประเสริฐเลิศโลกแล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปเพื่ออะไร ?”
หลวงปู่มั่นจึงตอบทั้งหัวเราะ และเป็นอุบายสอนคุณยายไปพร้อมว่า
“ภาวนาไปจนวันตายไม่มีถอย ใครถอยผู้นั้นมิใช่ศิษย์ตถาคต”
คุณยายเรียนท่านว่า “ถ้าไปได้ก็พอไป แต่นี่จิตหลวงพ่อหมดทางไปทางมาแล้ว มีแต่ความสว่างไสวและความประเสริฐเต็มดวงจิตอยู่แล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปไหนอีกเล่า ฉันดูจิตหลวงพ่อสว่างไสวครอบโลกไปหมดแล้ว อะไรมาผ่านหลวงพ่อก็ทราบหมด ไม่มีอะไรปิดบังจิตหลวงพ่อได้เลย
แต่จิตฉัน มันยังไม่ประเสริฐอย่างจิตหลวงพ่อ จึงต้องออกมาเรียนถาม เพื่อหลวงพ่อได้ชี้แจงทางเดินให้ถึงความประเสริฐอย่างหลวงพ่อด้วยนี้”
ทุกครั้งที่คุณยายมา จะได้รับคำชี้แจงจากหลวงปู่มั่นทางด้านจิตตภาวนาด้วยดี ขณะเดียวกัน พระเณรต่างองค์ต่างก็มาแอบอยู่แถวบริเวณข้าง ๆ ศาลาฉัน ซึ่งเป็นที่ที่คุณยายสนทนากับท่าน เพื่อฟังปัญหาธรรมทางจิตภาวนา ซึ่งโดยมากเป็นปัญหาที่รู้เห็นขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ เกี่ยวกับอริยสัจทางภายในบ้าง เกี่ยวกับพวกเทพพวกพรหมภายนอกบ้าง ทั้งภายในและภายนอกเมื่อคุณยายเล่าถวายจบลง ถ้าท่านเห็นด้วย ท่านก็ส่งเสริมเพื่อเป็นกำลังใจในการพิจารณาธรรมส่วนนั้นให้มากยิ่งขึ้น ถ้าตอนใดที่ท่านไม่เห็นด้วยก็อธิบายวิธีแก้ไข และสั่งสอนให้ละวิธีนั้น.. ไม่ให้ทำต่อไป
หลวงปู่มั่นเคยชมเชยคุณยายท่านนี้ให้พระฟังว่า
“แกมีภูมิธรรมสูงที่น่าอนุโมทนา พวกพระเรามีหลายองค์ที่ไม่อาจรู้ได้เหมือนคุณยาย”
ลัก...ยิ้ม
26-10-2015, 12:54
ผีจะเอาลูกไปเป็นเมีย
“ที่บ้านกุดละโฮง กุดนี้.. กุดใหญ่นี้มันแรงอยู่นะ นี่ที่ว่าโยมผู้หญิงคนนั้น แกอยู่บ้านหนองบัว บ้านนี้ละบ้านเรา ไปบิณฑบาตนี่ละ ชื่อบ้านหนองบัว เวลานี้เขาทำเขื่อนน้ำอูนท่วมหมดแล้ว ยกหนีไปหมด
อันนี้ก็สำคัญมากนะ เพราะแกรู้ภายในดี แกเล่าเรื่องภาวนาให้พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นฟังที่หนองผือ ผัวของแกชื่อบุญมา แต่เมียนั้นจำชื่อไม่ได้ แต่เมียนั่นละภาวนาเก่ง ไปหาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่าน แก้ถึงเรื่องแกรู้นิมิตต่าง ๆ พวกเปรต พวกผีอะไร แกอยู่บ้านหนองบัว ลูกของแกนั่นป่วยกะออดกะแอดอยู่อย่างนั้น เอายาอะไรมากินมาใส่ก็ไม่หาย ๆ
ทีนี้เวลาแกภาวนาล่ะซี แกไปเล่าให้พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นฟังเป็นตุเป็นตะจริง ๆ พูดอย่างอาจหาญด้วย พูดถึงเรื่องลูกสาวแกน่ะ.. ป่วยกะออดกะแอดอยู่อย่างนั้น ไม่มีทางหาย ทำยังไงก็ไม่หาย แกเลยนั่งภาวนากลางคืน แกว่า
‘พวกผีอยู่กุดละโฮง เขาเตรียมจะกินเลี้ยงกัน มันมีบ้านใหญ่โต.. บ้านผี เขาเตรียมจะกินเลี้ยงกัน คือจะแต่งงานกับผู้หญิงคนนี้ ผีคนนั้น.. ผีที่อยู่ในกุดละโฮงนั้น เขาจะมาเอาเด็กคนนี้ไปเป็นเมีย เขากำลังเตรียมจะแต่งงานกัน’
ทางนี้ภาวนาไปก็ไปเจอละซิ แกก็เลยไปไล่เบี้ยกันเลยกับเขา ซัดกันเสียจน โถ.. เกิดเรื่องกับผี ไม่ใช่เล่นแกว่า เขาบอกว่าจะเอาเด็กคนนี้
‘เอาไปได้ยังไงลูกของฉัน ฉันมีสิทธิ์เต็มตัว ดีไม่ดีฉันจะมาฟาดบ้านนี่ให้แตก เอ้า.. ถ้าฝืนไปเอาลูกของฉันมาแต่งงานนี้ ฉันก็จะไปเอาพวกนี้มาแต่งงานอีกเหมือนกัน ฉันจะเอากี่คนก็ไม่ทราบแหละ’ แกว่างั้นนะ
นี่หมายถึงความรู้ของแกที่ฟัดกับผี แกก็เก่งนะ โวหารของแกคือ ถ้าพวกแกเอาลูกของฉันไปแต่งงานเป็นลูกสะใภ้แล้ว ฉันจะเอาลูกหลานของแกมาให้ลูกของฉันแต่งงานบ้าง เอามันทั้งผู้หญิงผู้ชายในนี้แหละ ‘จะยอมให้ฉันไหม’
‘ไม่ยอม’
‘ถ้าไม่ยอม ลูกของฉันก็ต้องไม่ยอมเหมือนกันซี’
ตกลงเลยยกเลิก คือถ้าทางนี้จะเอาลูกของแกนี้ไปแต่งงาน พอแต่งก็ตายใช่ไหมล่ะ ? คนนี้ต้องตาย ทางนี้ไปถกกันกับผีกุดละโฮง ... แกก็ไปถกกับตาคนนี้ที่เขาจะแต่ง โอ๊ย.. ยกกันมาชุมนุมกันทั้งบ้านเลยแกว่าอย่างนั้นะ แกบอกว่า
‘เอ้า.. เหตุผลเป็นอย่างนี้ ถ้าเอาลูกสาวของฉันมาแต่งงานนี้ ฉันก็จะเอาลูกสาวลูกชายของผีไปแต่งงานกับลูกของฉัน หลานของฉันมีเท่าไร ฉันจะมากว้านเอาพวกนี้ไปแต่งงานให้หมด จะยอมไหม ?’
‘โอ๊ย.. ยอมไม่ได้ คนหนึ่งเป็นผี คนหนึ่งเป็นคน’
‘อันนี้ลูกของฉันก็เป็นคน อันนี้เป็นผีนี่ ถ้ายอมฉันก็จะให้ เสียดายฉันก็จะให้ แต่ฉันจะเอามากกว่า ทางนี้จะเอามากกว่า ดีไม่ดีบ้านผีแตก’
แกว่างั้นนะ ทางนั้นไม่ยอม ‘ถ้าไม่ยอมก็ต้องเลิกกันซี’ ตกลงเขายอมรับ.. เลิก
ลัก...ยิ้ม
27-10-2015, 12:14
พอจิตถอนออกมาแล้ว เอ้า.. ทีนี้ลูกของเรานี้ไม่ต้องไปหายามาใส่มันเลย แกยันกับผัวเลย ลูกของเราคนนี้ป่วยเพราะอะไร ! เพราะผีเขาจะเอาไปแต่งงานจนจะตายแล้วนี่ ทีนี้ได้ตัดสินกันแล้ว ฟัดกันกับทางผีเสียจนแหลกเมื่อคืนนี้ เราจะเอาลูกผีมาแต่งงาน ผีก็จะเอาลูกเราไปแต่งงาน ต่างคนต่างไม่ตกลงกันก็ต้องเลิกกัน ไม่ยุ่งกัน ที่นี้ผียอมเลิกแล้ว แล้วเด็กของเรานี้ก็ไม่ต้องหายาแล้ว มันหายเอง หายจริง ๆ นะ หายวันหายคืนไปเลย ไม่ต้องหายา เรื่องของผีก็เลิกกันไป นี่เก่งไหม.. แกภาวนา เห็นไหม
ไปเล่าให้พ่อแม่ครูอาจารย์ฟัง แต่อันนี้เราไม่เคยเล่าใช่ไหม เราไม่เคยเล่าให้ฟัง พูดอย่างเป็นตุเป็นตะ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นไม่ได้คัดค้านสักคำเดียว เห็นไหม ท่านยิ้ม ๆ เก่งไหมแก อาจหาญมากนะ อย่างนี้ละ ความรู้ถ้าเป็นในจิตแล้ว ไปพูดให้พ่อแม่ครูอาจารย์ฟังแบบเป็นตุเป็นตะเลยเทียว ท่านไม่ค้าน มีแต่ยิ้ม ๆ นั่นเห็นไหม ความจริงท่านรู้แล้ว.. ท่านจะไปค้านยังไง ความรู้ของผู้หญิงคนนี้ โอ๋ย.. แปลกประหลาดมากนะ พิสดารมาก เวลาแกไปเล่าให้ฟัง ให้พ่อแม่ครูอาจารย์ฟัง เรานั่งฟังตลอดนี่นะ เวลาเราอยู่ที่นั่น นี่ละที่เราไปอยู่ที่นั่น มันก็มีของมันเหมือนกัน
เป็นยังไง ผีมีหรือไม่มี นี่ละ.. เอาตัวจริง ๆ ของนักภาวนามาพูด เขาพูดมีเหตุมีผล ฟังซิ เวลาเขาไปถกกันกับบ้านผี โถ.. ผีไม่ใช่น้อย ๆ กุดละโฮงนี้ บ้านผีทั้งนั้น เขาว่างั้นนะ อยู่นี่เต็มหมดเลย เวลาไปฟัดกับเขา เขาสู้เราไม่ได้ .. เก่งไหมล่ะ แกภาวนาฟัดกับผี แล้วไปพูดให้พ่อแม่ครูอาจารย์ฟังนี้ โอ๊ย.. อย่างอาจหาญเสียด้วยนะ
นี่ละความรู้ในจิตจริง ๆ มันไม่ได้สะทกสะท้านนะ ผึง ๆ เลย มันแน่นในหัวใจนี่ ภาวนาดี ท่านก็บอกให้ตีตะล่อมจิตเข้าไปสู่ภายใน แล้วให้พิจารณาร่างกายส่วนต่าง ๆ นี่เป็นทางแก้กิเลสตัณหา สิ่งเหล่านั้นเป็นตามอุปนิสัยไปธรรมดา เป็นสิ่งที่รู้ที่เห็น เหมือนเราเดินไปไหน ไปเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เห็นเปรตเห็นผี เห็นเทวบุตรเทวดา ก็เหมือนเราเห็นผู้เห็นคน เห็นสัตว์ต่าง ๆ ในสองฟากทางไปนั่นแหละ ไม่ใช่เรื่องแก้กิเลส แน่ะ..ท่านสอน
เรื่องแก้กิเลสต้องหมุนสติปัญญาเข้ามาสู่ภายใน กิเลสอยู่ภายใน พิจารณาร่างกายท่านก็สอน สิ่งเหล่านั้นมันก็มีอย่างนั้นแหละ มีตาเราก็เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีตาใจเราก็เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ซึ่งเป็นอุปนิสัยของกันและกัน ท่านก็บอกแต่ไม่ใช่เรื่องแก้กิเลส ถ้าหลงตามมันแล้วผิดแน่ ท่านสอนเข้ามาภายใน เราฟังละเอียดลออ...
ลัก...ยิ้ม
06-11-2015, 12:10
ตายแล้วจะเกิดในท้องหลาน
“...คุณยายกั้งคนนี้แหละ แกจะไปเกิดในท้องหลานสาว พอพิจารณาลงไป จิตละเอียดแน่วลงไปแล้ว กำหนดดูแล้วเป็นสายเหมือนใยบัวนี่ เป็นสายยาวเหยียด ตามสายไป.. ตามไป ๆ เข้าท้องหลาน จากนั้นก็ปุ๊บปั๊บขึ้นมา โอ๋.. กระวนกระวาย ทีนี้พอออกจากนั้นแล้ว ก็วิ่งมาหาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเรานี่ มาเล่านี่ ใครก็ฟังกันทั้งวัด.. ปฏิเสธได้เหรอ
‘โห.. หลวงพ่อ ทำไมเป็นอย่างนั้น’
โยมภาวนาเมื่อคืนนี้เป็นอย่างนั้น ๆ นะ ก็เลยเล่าให้ฟัง พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นแทนที่จะปฏิเสธว่าไม่จริง ไม่นะ พอทางนั้นเล่าให้ฟังท่านนั่งนิ่งสักนาทีกว่า ๆ ท่านไม่พูดอะไรละ ทางโน้นเล่าพอจบลงแล้วทางนั้นก็นิ่งทางนี้ก็นิ่ง สักเดี๋ยวแพล็บออกมาเลย
‘ให้กำหนดตัดนะ เวลานี้ยังไม่ได้ไปถือกรรมสิทธิ์... ให้กำหนดตัด เพียงไปจับจองไว้เท่านั้นแหละ นั่นละโยม นี่ตายแล้วจะไปเกิดท้องหลานรู้ไหมล่ะ เวลานี้กำลังไปจับจอง แต่เจ้าตัวยังไม่ไป ให้รีบกำหนดตัดนะ ให้ตัดสายใยนั้นนะ’
โอย.. ใครก็ฟัง ตานี้ไม่หลับแหละ จนตาแห้ง ลืมตาจ้อง ปากก็อ้าด้วย ปากหลวงตาบัวก็อ้าด้วย มันอ้าด้วยกันหมด ก็พบสิ่งไม่เคยได้ยินใช่ไหมล่ะ ? ท่านบอกกำหนดให้ตัดนะ ไม่ได้นะ โยมนี้ตายพอออกจากนี่ปั๊บ ตายแล้วจะไปอยู่ท้องหลานคนนี้นะ เวลานี้กำลังไปจับจองที่ไว้อยู่แล้ว แต่เจ้าตัวยังไม่ไป
นั่นฟังสิ ให้กำหนดตัดคือตัดทางโน้น มันก็ขาดจากกรรมสิทธิ์ที่จับจองนั้นก็แล้วไป นี่ละ.. ที่ว่าสภาหนูขึ้น พวกหนึ่งไปจับจองว่าจะเกิดแล้ว ทำไมจึงต้องไปตัดอย่างนั้น มันไม่เป็นการฆ่าสัตว์ ฆ่ามนุษย์เหรอ..ว่างั้น ถึงได้แก้กันว่าไม่ได้เป็นการฆ่า เพราะอันนี้เป็นเพียงไปจับจองเฉย ๆ ยังไม่ได้โยกย้ายตัวไป เพียงไปจับจองที่นี้เท่านั้น เหมือนเราไปจับจองบ้านใหม่ ไปจองไว้แล้วก็กลับมาอยู่บ้านเก่า ออกจากนี้เราก็ไปอยู่บ้านใหม่ ยังไม่ได้ไป..ถูกทำลายเสียก่อน นั่นละ..เรื่องราวมันเป็นอย่างนั้น
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของพิสดารมากจริง ๆ สำคัญก็คือปรับใจเจ้าของ.. ให้ภาวนาให้จิตสงบเย็น แล้วจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เคยรู้เคยเห็น จะเห็นที่ในใจ ๆ แปลกประหลาดอัศจรรย์มีอยู่ในนี้หมดเลย อยู่ในใจที่เป็นเวทีของธรรมนี่ ธรรมเข้าในเวที ธรรมอยู่ในภาชนะนี้ แล้วจะแสดงลวดลายออกทุกแง่ทุกมุมเลย แต่ก่อนธรรมไม่มีที่สถิต แล้วก็เหมือนไม่มีธรรมอยู่อย่างนั้นนะ พอมีที่สถิต มีที่ยับยั้ง มีที่อยู่อาศัยแล้ว ทีนี้ก็แสดงลวดลาย แสดงได้หมด ..’
‘นี่ได้ทราบว่า อัฐิของแกเป็นพระธาตุ เราเชื่อว่าอย่างนั้นเลย ยายกั้งนี้เราเชื่อแล้วแหละ เพราะตอนนั้นแกเดินจงกรมนี้ เอาไม้เท้าเดินอยู่บนกุฏิ หมายถึงความเพียรหมุนอยู่ภายใน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ให้แกนั่งอยู่นานไม่ไหว ต้องเดิน เพราะอันนี้หมุนอยู่ตลอด เราไม่ลืม
ลัก...ยิ้ม
16-11-2015, 12:28
พระนางพิมพา
คุณยายกั้งเป็นตัวอย่างสตรีผู้หนึ่งที่บรรลุธรรมในสมัยหลวงปู่มั่น ซึ่งในสมัยพุทธกาลมีสตรีที่บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก ขอยกตัวอย่างพระธรรมเทศนาขององค์หลวงตาเกี่ยวกับพระนางพิมพา ซึ่งเป็นสตรีผู้รู้ธรรมเห็นธรรมผู้หนึ่งในสมัยพุทธกาล ดังนี้
“...พระพุทธเจ้ากับพระนางพิมพาที่สร้างบารมีด้วยกัน นั่นละ...เป็นอันเดียวกันมาตลอด ตั้งแต่สร้างพระบารมีเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ไปเกิดในภพใดชาติใด ก็ต้องไปเกิดพบกัน ๆ เป็นคู่บารมีกันมาจนได้ตลอดเลย นี่ละ..ซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน เวลาพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาแล้ว พระนางพิมพาก็ตามเสด็จ เห็นไหม .. เวลาพระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวชนั้น ก็ทรงเล็งเห็นถึงเรื่องโลกมีคุณค่าขนาดไหน พระชายามีคุณค่าขนาดไหนก็คิด เมื่อเทียบกับประโยชน์ของโลกแล้ว พระชายานี้ก็เท่ากับเม็ดหินเม็ดทราย ฟังซิ...กว้างขวางขนาดไหน.. ประโยชน์ของโลก โลกสามแดนโลกธาตุ เทวบุตรเทวดา อินทร์ พรหม เปรต ผี ประเภทต่าง ๆ ทั่วแดนโลกธาตุ.. จึงต้องยอมเสียสละ จะลาพระชายาก็ไม่ลา ลูกก็ติดอยู่กับอกแม่ ถ้าไปชมลูก แม่มันตื่นขึ้นมากอดคอก็เสร็จเลย จะไปไหน..สิทธัตถะ ? มัดคอเข้าเรื่อย พูดคำไหนมัดเข้าเรื่อย ๆ ... จึงต้องเสียสละออกไป ไปบำเพ็ญอยู่ ๖ ปีนั้น ..
พระราชบิดาทรงทูลอาราธนาไปเสวยพระกระยาหารที่พระตำหนัก ดูว่าพระติดตามไปตั้ง ๒ หมื่นนะ ฟังซิ...พอฉันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็รับสั่ง พระสงฆ์ ๒ หมื่นนั่นก็กลับกันไปหมดแล้ว ส่วนพระองค์กับพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร ยังอยู่ ๓ พระองค์จะไปเยี่ยมพิมพา แล้วพอดีก็ได้รับคำเผดียงจากพระราชบิดาอีก
‘โอ๊ย.. พระนางพิมพาเป็นคนที่ดีมาก หาไม่ได้แล้ว’ นี่ปู่ชมลูกสะใภ้เข้าใจไหม
‘พระนางพิมพานี้หายากแล้ว ไม่มีใครเหมือน นี่มาถึงระยะนี้แล้วจะไม่ไปโปรดไปเยี่ยมพิมพาบ้างเหรอ ? ถึงขนาดที่มาฉันนี่แล้ว พระตำหนักพระนางพิมพาก็อยู่ข้าง ๆ นั่น’
ทางนั้นไม่กล้าออกมา พระนางพิมพานะ คนจะมากขนาดไหนไม่กล้าออกมา
พอทูลเผดียงอย่างนั้น พระองค์ก็รับสั่งกับพระว่า ‘สารีบุตรกับโมคคัลลาน์ไปด้วย เราจะไปเยี่ยมพิมพา’ ครั้นเข้าไปแล้วกำชับ เพราะสายเกี่ยวโยงกันมีความแน่นหนามั่นคงมามากน้อยเพียงไร นานแสนนานขนาดไหน... ‘หากว่าพิมพาจะมาทำอะไรกับเราก็ตาม สารีบุตร โมคคัลลาน์นี้ ให้เฉยเป็นแบบหูหนวกตาบอดไปเลย นางพิมพาจะมาทำอะไร ๆ ก็ตาม ไม่ให้สนใจ ให้ทำตามพระอัธยาศัยของพิมพา ซึ่งมีความสนิทสนม ความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวมาตั้งแต่กัปตั้งกัลป์แล้ว วาระนี้เป็นวาระที่จะแสดงทุกสิ่งทุกอย่างให้เห็นชัดเจน ความหมายว่าอย่างนั้น แล้วเธอจะทำอะไรก็ช่าง อย่าไปสนใจ’
พอพระองค์เสด็จเข้าไปที่รับแขก ทางนี้ก็ไปทูลพระนางพิมพาว่า พระลูกเจ้าเสด็จมาถึงแล้ว เวลานี้ประทับอยู่ที่นั้น พอเสด็จออกมาปรี่เข้าเลย...เห็นไหมล่ะ ? กอดพันเลยทีเดียว เห็นไหมล่ะ ? รู้เรื่องอะไรไหม ? สนใจอะไรไหม ? อำนาจแห่งบุพเพนิวาสชาติปางก่อน เคยเกี่ยวโยงกันมาแน่นหนาขนาดไหน เกินกว่าที่จะมาอ้ำมาอาย มาอะไรกับกิริยาท่าทางของโลกสมมุตินี้เพียงเท่านั้น สิ่งที่หนักหน่วงถ่วงจิตใจมากี่กัปกี่กัลป์ คราวนี้เข้าด้ายเข้าเข็มแล้วก็ประจักษ์อยู่ในหัวใจ พอมาก็เข้าสวมกอดเลย พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ พระองค์ก็เฉยไม่ได้สนใจ มากอดทางนี้เฉย ก็พระจิตของพระพุทธเจ้าเล็งญาณดูตลอดเวลา ถึงวาระไหนควรจะปฏิบัติต่อกันอย่างไรบ้าง พระพุทธเจ้าทรงทราบตลอดเวลา แล้วปล่อยให้นางพิมพาทำให้สมใจที่รัก พูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้น แล้วก็ทรงแสดงย่อ ๆ ว่า
‘นี่เป็นวาระของเราที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ไปด้วยกันแล้ว ก็แสดงย่อ ๆ ออกมา เราอุตส่าห์พยายามตะเกียกตะกายออกบวชมาแล้ว ก็ได้สำเร็จมรรคผลขึ้นมาเต็มกำลัง’
ทีนี้ก็จะมาถึงนางละนะ คือความหมายว่านางนั้นคืออะไรของเรา ความหมายก็พูดย่อ ๆ แสดง ทีนี้จะเอากันไปให้พ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง.. ก็สอนทางนั้นก็ค่อยได้สติ ที่กอดรัดอยู่นั้นเป็นไปเองนะ ค่อยถอยตัวออกเอง นั่นละ...ธรรมเข้า ค่อยถอยตัวออกเอง จนกลายเป็นประทับนั่งเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามมาก ทางนี้ก็แสดงธรรมให้ฟัง เกิดความเชื่อความเลื่อมใสถึงใจเลย นั่นเป็นปฐมฤกษ์ จากนั้นก็สำเร็จโสดาฯ สกิทาฯ เรื่อยไป เราไม่พูดไปมากละ
นี่คือความผูกพันเป็นอย่างนั้นแหละ เป็นมาตั้งแต่ก่อน พระองค์ทรงทราบหมด พวกเราไม่ทราบจะว่ายังไง ความเป็นคนดี ความเป็นผู้ที่จะทำประโยชน์ให้โลกมากมาย จึงต้องชั่งต้องตวง ประโยชน์กับพระนางพิมพาไม่มากเท่ากับประโยชน์แก่สัตว์โลกทั่ว ๆ ไป จึงต้องสละพระนางพิมพา แต่สละออกไปเพื่อจะเอา ไม่ได้สละเพื่อจะปัดทิ้ง สละไปเสียก่อน ได้แล้วก็มาเอากันไป...เห็นไหมล่ะ ? ก็อย่างนี้ละ..นี่..ความดี..พี่น้องทั้งหลาย เมื่อเคยสืบต่อเกี่ยวเนื่องกันด้วยคุณงามความดี เป็นอวัยวะเดียวกัน เป็นจิตใจดวงเดียวกันแล้ว เกิดในภพใดชาติใดไม่ต้องบอก
ปุพเพ สันนิวาเสนะ ปัจจุปันนะ หิเตนะ วา เอวันตัง ชายะเต เปมัง อุปะลังวะ ยะโถทะเก
บุพเพนิวาสชาติปางก่อน เป็นสิ่งที่สนิทสนมกลมกลืนกันมา ไม่มีใครแยกได้เลย พอพบกันปั๊บมันเป็นของมันเอง นี่คือความเคยชิน เป็นมาอย่างนี้ จากนั้นมาอยู่ด้วยกันก็บำรุงกันในปัจจุบัน ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน ยิ่งมีความแน่นหนามีความอบอุ่นมากขึ้น ๆ ท่านจึงเทียบเหมือนกับว่าดอกบัว กอบัวที่ได้รับเปือกตมเปือกโคลนที่หล่อเลี้ยงแล้ว มันก็มีความชื่นบานขึ้นไปโดยลำดับ อันนี้การมาอยู่ด้วยกัน ได้รับความซื่อสัตย์สุจริต ความฝากเป็นฝากตายต่อกัน ก็ต่างฝ่ายต่างเป็นเครื่องบำรุงน้ำใจซึ่งกันและกัน สนิทสนมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไป แปลในธรรม นี่ละ...ที่ว่าดอกบัวที่เกิดในโคลนตม โคลนตมแลหล่อเลี้ยงดอกบัวให้ชุ่มเย็น ใครที่มาเกิดด้วยกันในวงวัฏวนนี้ ก็เหมือนเกิดในเปือกตมแล้วต่างคนต่างทำความดี ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน แล้วก็เป็นอันเดียวกันไปเลย สุดท้ายก็ยกกันขึ้น อย่างพระนางพิมพากับพระพุทธเจ้า..เห็นไหมล่ะ..?”
ลัก...ยิ้ม
16-11-2015, 17:08
หลวงปู่มั่นอาพาธ ไปพักวัดร้างบ้านนาใน
เหตุการณ์ในคราวหนึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ หลวงปู่มั่นนึกอยากไปพักที่วัดร้างบ้านนาในสักระยะหนึ่ง หลวงปู่หล้าได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ ดังนี้
“...หันมาปรารภ ปี ๒๔๙๑ ในฤดูแล้ง หลวงปู่มั่นก็เริ่มป่วย มีไข้สลับมีไอด้วย องค์ท่านป่วยแต่ยังไปบิณฑบาตได้อยู่ อีกประมาณ ๖ – ๗ วัน องค์ท่านนึกอยากจะไปพักบ้านนาในสักวาระ องค์ท่านก็สั่งเสียหลวงตาทองอยู่ว่า
‘อยู่เอ๋ย จะไปพักวัดร้างบ้านนาในสักวาระก่อน เพราะไกลกันจากวัดป่าบ้านหนองผือประมาณหนึ่งกิโล’
แล้วก็บอกหลวงปู่มหาให้ดูแลหมู่ องค์ท่านจะไปกับองค์นั้นองค์นี้ ก็ไม่ลั่นวาจาออกชื่อ ... แล้วพระอาจารย์มหาพิจารณาว่าควรให้องค์หนึ่งไปกับองค์ท่าน แล้วตกลงลับหลังหลวงปู่ว่าควรให้ท่านทองคำไปด้วย แล้วก็จัดแจงบริขารรวดเร็วพลันทันกาลแล้ว องค์ท่านไปพักได้สองคืน พระเณรยังไม่กล้าเข้าไปเยี่ยม เพราะเกรงองค์ท่านดุ ว่าเรามาวิเวก พากันมายุ่งทำไม ?
พระเณรผู้อยู่ข้างหลังเงียบเหงาไปทั้งวัด ว้าเหว่มาก ปรากฏแก่ตาแก่ใจว่า ต้นไม้ต่าง ๆ ในวัดและบรรยากาศเงียบเหงา ลมก็ไม่พัดมา คล้ายกับว่าว้าเหว่ไปตามกันหมด...
ลัก...ยิ้ม
19-11-2015, 15:10
พอตกพลบค่ำ ๕ โมงเย็น ก็ไปกราบพระอาจารย์มหาแล้วปรารภว่า
‘กระผมอยู่ไม่เป็นสุข อยากจะไปเยือนหลวงปู่ที่อยู่กับครูบาทองคำ ๒ องค์ ทั้งกลัวองค์ท่านจะดุ จิตใจกระผมว้าเหว่มากขอรับ กระผมนึกว่าจะไปองค์เดียว แม้จะกลับตอนกลางคืนองค์เดียว จะเป็นประการใดหนอ ?’
องค์พระอาจารย์มหาตอบว่า ‘เออ..ผมก็ว้าเหว่เหมือนกัน ท่านลองไปดูซิ ผมไม่ว่าดอก’
กราบลาองค์ท่านแล้วก็รีบไป พอไปถึงก็ค่ำมืดพอดี ขณะนั้นองค์หลวงปู่และครูบาทองคำนั่งอยู่พื้นดิน พอเรายังไม่ทันนั่งลงกราบ องค์หลวงปู่พูดขึ้นเย็น ๆ ว่า
‘เออ..คุณหล้ามา ไปเอาฟืนนั้นมาใส่ไฟให้กัน ดุ้นไหนไม่เรียบร้อยก็เก็บเสียเน้อ’
การจับไข้ขององค์หลวงปู่ก็เบาลงแล้ว ชะรอยจะเป็นด้วยอากาศโปร่งกว่ากันบ้างหรือยังไงไม่ทราบได้ ครั้นตอนดึกประมาณ ๔ ทุ่มเศษก็กราบลากลับวัด แล้วพระอาจารย์มหายังมิทันได้หลับ ขึ้นจากทางจงกรมใหม่ ๆ ไฟตะเกียงจุดริบหรี่อยู่ ขึ้นไปกราบองค์ท่าน (พระอาจารย์มหาฯ) เล่าถวายทุกประการ องค์ท่านคำนึงพิจารณาแบบบรรจง องค์ท่านกล่าวว่า
‘เออ.. พรุ่งนี้ฉันเช้าเสร็จผมจะพาหมู่เราทั้งหมด และชาวบ้านหนองผือทั้งหมดไปอาราธนากราบเท้า นิมนต์วิงวอนให้องค์หลวงปู่คืนมาวัดเราตามเดิม เพราะชาววัดชาวบ้านก็ว้าเหว่เงียบเหงา กินมิได้นอนไม่หลับ แม้ตัวของผมก็สลดใจและว้าเหว่มาก คราวนี้องค์ท่านจะไปวิเวกจริงหรืออะไร ๆ ผมก็พิจารณายากอยู่สักหน่อย ไม่ว่าแต่สักหน่อยละ.. พิจารณายากกันดี ๆ นี้เอง หล้าเอ๋ยหล้า’
ลัก...ยิ้ม
20-11-2015, 18:41
ครั้นตื่นเช้าบิณฑบาตฉันเสร็จ โยมก็หลั่งไหลเข้ามารวมกันที่วัดป่า องค์พระอาจารย์มหาฯ ก็ประกาศ พระในวัดเตรียมตัวห่มผ้าจีวร และโยมก็เอาแคร่สำหรับจะหามองค์หลวงปู่ไปพร้อมด้วย ทั้งชาวบ้านชาววัดประมาณร้อยคน พอไปถึงก็เงียบสงัด ไม่มีใครกรอบแกรบและไอจาม กราบพร้อมกันหมดแล้ว โยมผู้ฉลาดขอโอกาสกราบเรียนว่า
‘เวลาที่องค์หลวงปู่มาพักวิเวก เพียงสองสามวันนี้เท่ากับว่านานถึงร้อยพันปี ทั้งชาวบ้านและชาววัดไม่เป็นอันกินอันนอน ว้าเหว่มาก ขอกราบเท้าเรียนถวายองค์หลวงปู่ ได้โปรดกรุณากลับตามเคยเทอญ โทษของเกล้าอันใดมี ขอได้โปรดประทานอภัยให้เกล้าและทุกถ้วนหน้าเทอญ
การปฏิบัติทุก ๆ ประการ หลวงปู่เห็นสมควรประการใด ทั้งชาวบ้านและชาววัดจะยอมทำตาม ไม่มีขัดหฤทัยของธรรมแห่งองค์หลวงปู่ตามสติกำลังอยู่ทุกเมื่อเทอญ'
ครั้นแล้วก็ค่อยจัดแจงแต่งบริขารขององค์หลวงปู่ นิมนต์หลวงปู่ขึ้นบนแคร่หามเดินช้า ๆ เงียบ ๆ โยมหามออกก่อน พระตามหลัง ที่นั่งขององค์ท่านปูอาสนะด้วยเบาะยัดใบกล้าแห้ง องค์ท่านนั่งขัดสมาธิไม่ขึงขังและไม่อ่อนแอ แลดูถึงใจไม่มีจะเทียบได้ ..
จนถึงวัด ครั้นองค์หลวงปู่ขึ้นถึงกุฏิเรียบร้อยแล้ว บรรดาลูกศิษย์ที่ถือนิสัยก็มีรีบห่มผ้าเฉวียงบ่า มาขอโอกาสต่อนิสัยตามเคย ต่อแต่นั้น ข้อวัตรในระหว่างลูกศิษย์กับหลวงปู่ก็ของใครของมันตามเคยที่ทำมา
ขอให้เข้าใจว่า มีพระอาจารย์มหาและหลวงตาทองอยู่เท่านั้นที่ไม่ได้ขอนิสัย เพราะองค์ท่านทั้งสองนี้มีพรรษาสูงพอควรแล้ว แต่พระอาจารย์มหานั้นขอหรือไม่ขอ ก็มีข้อวัตรประจำหลวงปู่แบบลึกซึ้งอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะสงสัยจะเอามากล่าววิจัยเลย เพราะองค์ท่านเป็นมือขวาช่วยหลวงปู่รองรับอยู่...”
ลัก...ยิ้ม
25-11-2015, 14:19
หลวงปู่ฝั้น.. กราบเยี่ยมหลวงปู่มั่น
องค์หลวงตากล่าวถึงเหตุการณ์อัศจรรย์ในวันหนึ่ง ที่หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ลูกศิษย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของหลวงปู่มั่น ได้เข้ามากราบเยี่ยมหลวงปู่มั่น ดังนี้
“... ตามธรรมดาครูบาอาจารย์องค์ไหนก็ตาม ซึ่งเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านมากราบเยี่ยม เราจะไม่ละสายตาว่าท่านปฏิสันถารต้อนรับทั้งภายนอกภายในกันอย่างไรบ้าง เราจะจับให้ได้ทุกองค์ทีเดียว เพราะลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านมีเยอะ อย่างท่านอาจารย์ฝั้นลงมาเป็นลำดับลำดา ท่านอาจารย์อ่อน ใครต่อใครที่มา
ท่านอาจารย์ฝั้น ท่านมีความรู้แปลก ๆ ต่าง ๆ พอท่านขึ้นไปกราบพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านทั้งพูดทั้งยิ้ม พอกราบลงท่านก็กล่าวว่า ‘เออ! หอมอะไรแปลก ๆ แต่ไม่ใช่ธูป’ ท่านพูดแล้วก็อมยิ้ม
‘เออ! ใช่แล้ว’ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านตอบสั้น ๆ เท่านั้น
เราก็จับเอาคำพูดนั้นไว้ ‘ที่ว่าใช่แล้ว มันใช่อะไรหนอ ?’ เราก็สงสัยอยู่นานวัน
วันหลังพอได้โอกาสดี ๆ เราจึงไปกราบเรียนถามท่านว่า ‘ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านพูดกับท่านอาจารย์ฝั้น ตอนที่ท่านอาจารย์ฝั้นขึ้นมากราบแล้วยิ้ม ๆ แล้วบอกว่ามันหอมอะไรน้า แปลก ๆ แต่ไม่ใช่ธูป แล้วพ่อแม่ครูอาจารย์ตอบว่า เออ!.. ใช่แล้ว นั่นมันหมายความว่าอย่างไร ?’
‘โห.. พวกรุกขเทพมาฟังเทศน์เต็มหมดเลย คำที่ว่าหอมอะไรที่ไม่ใช่ธูปนั้น ท่านฝั้นท่านพูดถึงรุกขเทพต่างหาก’
ความหมายของท่านก็คือว่า ท่านอาจารย์ฝั้นมาที่นี่ พวกรุกขเทพทั้งหลายมารอเป็นทิวแถวเต็มไปหมด เวลาท่านทั้งสองสนทนาธรรมกัน พวกรุกขเทพทั้งหลายก็ได้โอกาสฟังธรรมไปพร้อมด้วย...”
ลัก...ยิ้ม
27-11-2015, 11:45
ดูแลพระเณรทำข้อวัตรหลวงปู่มั่น
โดยปกติองค์หลวงตาจะเป็นผู้ดูแลให้คำแนะนำเรื่องต่าง ๆ ว่าอันใดต้องทำ อันใดควรทำ อันใดต้องเว้นหรืออันใดควรเว้น เพื่อไม่ให้เป็นที่ขวางหูขวางตา ขวางอรรถขวางธรรมของหลวงปู่มั่น ท่านจะวางระเบียบหน้าที่การงานตามธรรมให้เหมาะสมและเข้าอกเข้าใจกัน ให้ความเคารพตามอายุพรรษา ผู้ใดเคยดูแลบริขารชิ้นใดของหลวงปู่มั่นก็ให้เอามาตามนั้น ไม่มีการก้าวก่ายกัน ท่านกล่าวถึงการดูแลอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นในช่วงอยู่วัดป่าบ้านหนองผือในระยะท้าย ๆ ไว้ ดังนี้
“... ตอนเช้าพอออกมาจากห้อง แต่ก่อนเรานั่นแหละจะเข้าถึงท่านก่อนเพื่อน เข้าไปในห้องท่าน พอท่านเปิดประตู บริขารอะไร ๆ เรานั่นแหละจะเป็นผู้ขนออกมาให้พระให้เณร ครั้นพอนาน ๆ มาท่านก็ปรารภว่า ‘เออ ! พระที่มีอายุพรรษามาแล้ว ไม่ควรที่จะมาเกี่ยวข้องกับข้อวัตรปฏิบัติสำหรับเรามากนัก เพียงมาอยู่ห่าง ๆ ปล่อยให้พระเณรเหล่านี้มาทำข้อวัตรปฏิบัติต่อไป จะไม่มีนิสัยติดตัวมันล่ะ ถ้าไม่ให้มันทำบ้าง’
เมื่อปรารภเช่นนั้น ตั้งแต่นั้นมาเราก็อยู่ห่าง ๆ เป็นแต่เพียงบอกกับพระว่า องค์ไหนเอาบริขารชิ้นใด ๆ ของท่านลงมา ไม่ให้ก้าวก่ายกัน เราเป็นเพียงอยู่ห่าง ๆ บางทีก็นั่งอยู่ข้างนอกห้องในกุฏิ คอยดูแลพระเณรเอาบริขารท่านลงไป บางทีก็ไม่ขึ้น แต่จะมายืนอยู่ใต้ถุนกุฏิคอยดูพระเณรเอาของลงมา...”
เมื่อหลวงปู่มั่นไม่เห็นท่านสักสองวันสามวันผ่านไป หลวงปู่มั่นก็มักจะถามกับพระว่า
“นี่ ! ท่านมหามามั้ย ? ตอนเช้าท่านมหามามั้ย ?”
พระเณรก็ตอบว่า “มาครับ ท่านอยู่ข้างล่าง”
หลวงปู่มั่นก็นิ่งไปเสีย ท่านว่าเหมือนกับเรดาร์จับอยู่ตลอด พอเว้นห่างสองสามวันผ่านไปไม่เห็นอีก ท่านก็ถามขึ้นมาลักษณะเดิมอีก พระเณรก็ตอบแบบเดิม ท่านก็นิ่งอีก แม้ในช่วงที่หลวงปู่มั่นเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านก็ถามกับพระเณรว่า
“ท่านมหาพิจารณายังไงละ ? เราเจ็บไข้ได้ป่วยเอามากแล้วนะ ท่านมหาได้พิจารณาอย่างไร ?”
พระเณรก็ตอบว่า “ท่านจัดเวรดูแลเรียบร้อยแล้ว”
คือให้มีพระอยู่ข้างบนสององค์ นั่งภาวนาเงียบ ๆ อยู่ข้างล่างสององค์เดินจงกรมเงียบ ๆ สำหรับท่านเป็นผู้คอยควบคุมเวรอีกต่อหนึ่ง
ลัก...ยิ้ม
30-11-2015, 12:32
ท่านพ่อลีมากราบหลวงปู่มั่น
ในระหว่างที่หลวงปู่มั่นพักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ มีลูกศิษย์รุ่นเก่า ๆ มาคารวะท่านเสมอ ท่านพ่อลีก็เป็นลูกศิษย์รุ่นใหญ่ ๆ ผู้หนึ่งมาตั้งแต่เริ่มแรก และได้เข้ามากราบท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือเช่นกัน ดังนี้
“... ทั้งพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นและท่านพ่อลีเองก็เคยไปมาหาสู่กันอยู่เสมอเท่าที่ได้สังเกต ในเวลาท่านไปกราบนมัสการพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นที่วัดป่าหนองผือนั้น รู้สึกว่าพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านแสดงอากัปกิริยาเต็มไปด้วยความเมตตาอย่างมากมายเห็นได้อย่างเด่นชัด
คราวที่ท่านพ่อลีมากราบเยี่ยมท่าน ท่านเป็นผู้สั่งสอนเราเองว่า ‘ให้ไปจัดที่พักในป่าลึก ๆ นอกบริเวณรั้ววัด ให้ท่านได้พักสบาย ๆ เพราะสงัดดีกว่าที่อื่น ๆ’
หลังจากนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นยังตามไปดูสถานที่พักนั้นอีกด้วย นี่ก็เป็นเหตุให้ประทับใจไม่ลืม และการให้โอวาทสั่งสอนใน ๒ – ๓ คืนที่ท่านพ่อลีพักอยู่นั้น รู้สึกว่าประทับใจอย่างมากมายทีเดียว เพราะท่านพ่อลีเป็นศิษย์ที่ท่านเมตตาไว้วางใจ นาน ๆ จะได้มากราบนมัสการท่านครั้งหนึ่งและได้สนทนาธรรมกัน ท่านจึงได้สนทนาธรรมกันอย่าเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มอรรถ เต็มธรรมทุกขั้นตอน ซึ่งยากที่จะหาฟังได้ในเวลาอื่น
‘เราได้พบท่านพ่อลีครั้งแรกมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ท่านมีนิสัยเด็ดเดี่ยว อาจหาญชาญชัยมากในการประพฤติปฏิบัติ’…”
ลัก...ยิ้ม
01-12-2015, 11:29
พลาด... เทศน์ครั้งสุดท้าย
หลวงปู่มั่นพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือ ๕ พรรษา เฉพาะองค์ท่านเองพักอยู่กับที่ ไม่ค่อยได้ไปเที่ยววิเวกทางไหนเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากตอนมาอยู่ทีแรกอายุท่านราว ๗๕ ปีเข้าไปแล้ว สุขภาพก็นับวันทรุดลง เพียงพักอยู่เป็นร่มเงาของบรรดาศิษย์ที่กำลังแสวงหาธรรม ได้อาศัยความร่มเย็นก็เป็นที่ภาคภูมิใจแล้ว และเนื่องจากวัดป่าบ้านหนองผือเป็นศูนย์กลางของคณะปฏิบัติทั้งหลาย ทั้งที่เที่ยวอยู่ในที่ต่าง ๆ แถบนั้น ทั้งที่พักอยู่ตามสำนักต่าง ๆ ที่ไปมาหาสู่หลวงปู่มั่นได้อย่างสะดวกสบาย ทั้งทำเลบำเพ็ญสมณธรรมมีมาก หาเลือกได้ตามชอบใจ มีทั้งป่าธรรมดา มีทั้งภูเขา มีทั้งถ้ำ ซึ่งเหมาะแก่ผู้แสวงหาที่บำเพ็ญ
ท่านว่าคงเป็นด้วยเหตุผลเหล่านี้ ที่ทำให้หลวงปู่มั่นพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือนานกว่าที่อื่น ๆ นับว่าท่านทำประโยชน์แก่พระเณรและประชาชนได้มากกว่าที่อื่น ๆ ในเขตจังหวัดสกลนคร ส่วนประโยชน์กับภูตผีเทวดาไม่ค่อยมีมาก มาหาท่านเป็นบางสมัย ไม่บ่อยเหมือนเมื่ออยู่เชียงใหม่ ท่านกล่าวว่าเมื่อครั้งหลวงปู่มั่นเทศน์แบบฟ้าดินถล่ม คือเอาอย่างเต็มเหนี่ยวถึง ๓ ชั่วโมงที่วัดเจดีย์หลวงนั้น เป็นครั้งสุดท้ายที่เชียงใหม่ซึ่งท่านมีโอกาสได้ร่วมฟังด้วย แต่ในคราวที่บ้านหนองผือนี้ ท่านกลับพลาดโอกาสฟังเทศน์ของหลวงปู่มั่น เทศน์ครั้งนี้เป็นประเภทฟ้าดินถล่มเช่นกัน นานถึง ๔ ชั่วโมงเต็ม ที่สำคัญก็คือเป็นเทศน์ครั้งสุดท้าย ดังนี้
“...พูดง่าย ๆ ว่าเป็นครั้งสุดท้าย เทศน์ที่หนองผือเหมือนกัน เราก็พูดกับท่านอย่างชัดเจนก่อนที่จะลาท่านไปเที่ยว มาทางวาริชภูมิ (อ. วาริชภูมิ จ. สกลนคร) ... จากอำเภอวาริชภูมิไปหาหนองผือทางตั้งพันกว่าเส้น…
ที่นี้เวลาเราจะกราบลาท่านไปที่ไหน รู้สึกว่าท่านจะไม่อยากให้ไป แต่ท่านก็เห็นใจในเรื่องความพากเพียรของเรา ท่านคิดถึงเรื่องพระเรื่องเณร ส่วนมากท่านคิดถึงเรื่องนี้ เพราะเวลาเราอยู่พระเณรเรียบหมด เวลาเราออกไปแล้วพระเณรอาจจะระเกะระกะ ขวางหูขวางตาให้ท่านหนักใจได้
ลัก...ยิ้ม
08-12-2015, 12:16
ที่นี้พอถึงเวลาจะไปแล้ว เช่นปรึกษากันอย่างวันนี้ เว้นอีกวันสองวัน ทีนี้เวลาจะไปลาจริง ๆ ครองผ้าขึ้นไปแหละ พอขึ้นไปท่านมองเห็น... ท่านก็ถามว่า ‘จะไปทางไหน ?’
‘ว่าจะไปทางถ้ำพระโน้น ทางบ้านตาดภูวง’
ท่านพูดของท่านไปเรื่อย ๆ ก่อนจนนานพอสมควรแล้วก็เปิดโอกาสให้อย่างนี้ละ เราก็กราบเรียนถามถึงเรื่องการงานภายในวัด
‘ถ้ามีอะไรที่จะจัดจะทำ กระผมก็จะได้ช่วยหมู่เพื่อนทำให้เสร็จเรียบร้อยทุกอย่าง หากว่าไม่มีอะไรก็อยากจะกราบนมัสการปรึกษาพ่อแม่ครูอาจารย์ไปภาวนาสักชั่วระยะหนึ่ง’
ท่านถาม ‘จะไปทางไหนล่ะ ?’
‘คราวนี้คิดว่าจะไปไกลสักหน่อย’ คือตามธรรมดาเราไม่ค่อยไปไกล ไปประมาณสัก ๒๐ – ๓๐ กิโลเท่านั้นล่ะ... ๔๕ กิโล คราวนี้จะไปไกลหน่อย ไปทางอำเภอวาริชภูมิ’
‘เอ้อ...ดี ทางโน้นก็ดี’ ท่านว่า ‘สงบสงัดดี มีแต่ป่าแต่เขาทั้งนั้นแหละ’ ท่านว่า ‘แล้วไปกี่องค์ล่ะ ?’
‘ผมคิดว่าจะไปองค์เดียว’
‘เออ...ดีละ ไปองค์เดียว’ ท่านก็ชี้ไป ‘ใครอย่าไปยุ่งท่านนะ ท่านมหาจะไปองค์เดียว’
(เมื่อถึงวันจะไป) ท่านก็ให้ปัญหาถึง ๔ ข้อ เราไม่ลืมนะ เพราะตามธรรมดาเราขึ้นไปหาท่านไม่ค่อยครองผ้าแหละ เพราะไม่มีผู้คนก็มีแต่พระแต่เณรในวัด ไม่มีใครไปยุ่งกวน สงบสงัด ตอนเช้าจะไปหาท่าน ฉันจังหันเสร็จแล้วก็ขึ้นไป มีแต่ผ้าอังสะเพราะท่านก็ไม่ได้ถืออะไรนี่ มีแต่พวกกันเอง แต่วันนั้นเราครองผ้าไป พอขึ้นไป
‘หึ ! ท่านมหาจะไปไหนนี่ ? จะไม่ไปละมั้ง จะอยู่ด้วยกันนี้ละมั้ง’
เราก็เฉยไม่รู้จะว่าไง สะเทือนใจแล้วนะทีนี้ ทั้ง ๆ ที่ท่านรู้แล้วว่าเราจะลา ก็ตกลงกันแล้วเรียบร้อยแล้ว ท่านยังใส่ปัญหานะ เราก็กึกเลยเชียว นี่ถ้าหากว่าท่านไม่มีเงื่อนไข ครองผ้าขึ้นมาแล้วก็ตามเราจะไม่ลาท่าน เรากลับเลย
ทีนี้ท่านสงสารอยู่ ท่านมีเงื่อนไข พอขึ้นไปกราบแล้วท่านก็คุยไป ไม่ได้ปรารภถึงว่าเราจะไปไหนมาไหนเลย พอนั่งคุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว
‘หึ ! อยากจะไปเที่ยวเหรอ’ ท่านว่า
‘ก็คิดว่าอยากจะไปวิเวกภาวนาชั่วระยะกาล’ เราเรียนท่านว่าอย่างนั้น
ท่านนิ่งแล้วให้เหตุผลนะ นิ่งอยู่สักครู่หนึ่งแล้วท่านก็ปรารภมาว่า
‘ถ้าอยู่ก็ได้กำลังใจ
ไปก็ได้กำลังใจ อยู่ดีกว่า
ถ้าอยู่ก็ได้กำลังใจ
ไปไม่ได้กำลังใจ อยู่ดีกว่า
ถ้าอยู่ไม่ได้กำลังใจ
ไปได้กำลังใจ ไปดีกว่า
ถ้าทั้งไปทั้งอยู่
ไม่ได้กำลังใจ ให้อยู่ดีกว่า’
คำพูดของท่านแยกออกมาละเอียดมาก ‘เออ ! ไป’ ท่านว่า
ที่นี้เวลาจะไป ก็จำได้ว่า เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ เราไม่ลืมนะ ก่อนจะไปก็ ‘กระผมไปคราวนี้ คงจะไม่ได้กลับมาร่วมทำมาฆบูชาคราวนี้’ เราก็ว่าอย่างงั้น ไป ๙ วัน ๑๐ วันกลับมา ทางมันไกลนี่ เดินด้วยเท้าทั้งนั้นแหละ
‘เอ้อ บูชาคนเดียวนะ มาฆบูชาคนเดียวจริง ๆ นี่’ ท่านว่าอย่างนั้นแล้ว ชี้เข้าตรงนี้นะ ‘พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เป็นมาฆบูชาทั้งนั้นแหละ เอาตรงนี้นะ’
จากนั้นก็ไป ... พอเราไปสัก ๖ – ๗ วันมั้ง ‘เออ ! ท่านมหาไปอยู่ยังไงนา’ ถามถึงเรื่อยนะ
คือท่านพูดเรื่องอะไรเกี่ยวกับเรา พระเณรจะเป็นผู้เล่าเรื่องให้เราฟังหมดนั่นแหละ สำหรับท่านเองเฉยนะ เราก็จับไว้ลึก ๆ ท่านถามถึงเรายังไง เราทราบแล้วเราก็เงียบ คือเป็นอย่างงั้นตลอดมาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ เราก็ไม่อยากไปจากท่าน เพราะรู้สึกว่าท่านเมตตามากทั้งที่อนุญาตให้ไป แต่ต้องถามถึงเรื่อยว่า ‘หึ ! ท่านมหาไม่เห็นมานะ หลายวันแล้ว’
ลัก...ยิ้ม
15-12-2015, 12:56
บางทีธรรมะท่านขึ้นภายในใจ ‘เออ ! วันนี้บาลีผุดขึ้นแล้ว ท่านมหามาจะให้ท่านมหาแปลให้ฟังนะ’ ท่านว่าอย่างนั้น
รอท่านมหามาก่อนแล้วค่อยพูด พอเรามาท่านก็ว่า ‘นี้บาลีขึ้นแล้วนะ ยกบาลีขึ้น ปึ๋ง ปึ๋ง เอ้า ! แปล ใครเป็นมหา’
เราก็ขอนิมนต์พ่อแม่ครูอาจารย์โปรดเมตตาไปเลย ท่านก็ผางทันทีเลยก็ท่านรู้หมดแล้วนี่ ท่านหาอุบายที่จะก้าวเดินธรรมของท่านโดยเอาเราเป็นพื้นฐานต่างหาก เพราะธรรมะภายในใจท่านมักจะเกิดเป็นบาลี บาลีเป็นภาษามคธ ความเข้าใจขึ้นพร้อมกันเลย บาลีขึ้นยังไง ความเข้าใจไม่ต้องแปลคือขึ้นพร้อมกัน.. ความเข้าใจปรากฏขึ้นพร้อมกัน
นี่เราพูดเรื่องพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเมตตา ท่านเมตตาเราสุดขีด เราปฏิบัติต่อท่านมันเข้ากันได้ เรียกว่าทุกกระเบียดก็ไม่ผิด เราเป็นปุถุชนก็ตาม แต่ความเทิดทูนเคารพเลื่อมใสที่มีต่อท่านนั้นมันเต็มหัวใจ ทีนี้พอถึงวันมาฆบูชา สาย ๆ หน่อยประมาณสัก ๑๑ โมง ท่านถามพระ
“ท่านมหาไม่มารึ ? เห็นท่านมหาไหม ?”
พระว่า “ไม่เห็นครับกระผม”
“ไปไหนกันนา ?” พอบ่าย ๒ โมง ๓ โมง เอาอีกถามอีก ตกเย็นเข้ามาอีกถามอีก
‘เอ๊ ! มันยังไง ท่านมหาไปยังไงนา ?’ เหมือนกับว่า ท่านมีความหมายของท่านอยู่ในนั้น เหมือนกับว่าท่านจะเทศน์ให้เต็มที่เพราะท่านจะป่วย ก่อนนั้นท่านไม่ได้ป่วยนี่นะ แต่ท่านทราบของท่านไว้แล้วเรื่องเหล่านี้ ตอนที่เราจะลาท่านไป ท่านก็ดี ๆ อยู่นี่ พอถึงเวลาท่านลงมาศาลา หันหน้ามาปุ๊บ
‘หือ ? ท่านมหาไม่ได้มารึ ?’
‘ไม่เห็นครับ’ ใครก็ว่า ‘อย่างงั้น’
‘เอ๊ ! มันยังไงนา ? ท่านมหานี่ยังไงนา ?’ ว่าอย่างนี้แปลก ๆ อยู่ ทั้ง ๆ ที่ได้ตกลงเรียบร้อยแล้ว ท่านมีอะไรของท่านอยู่ แล้วท่านก็เทศน์ตั้งแต่นั้นจนกระทั่งถึง ๖ ทุ่มฟาดวันมาฆบูชานี้ โอ๋ย.. เอาอย่างหนักเทียวนะ ๔ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๒ ทุ่มถึง ๖ ทุ่มเป๋ง
เทศน์จบลงแล้ว ‘โอ๊ย.. เสียดายท่านมหาไม่ได้มาฟังด้วยนะ’ ว่าอีกนะ ซ้ำอีก ก็เหมือนอย่างว่าเทศน์ครั้งสุดท้าย จากนั้นมาท่านไม่ได้เทศน์อีกเลยนะ
ลัก...ยิ้ม
22-12-2015, 11:28
พอเดือน ๔ แรมค่ำหนึ่ง ผมก็มาถึง ผมไปเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ถึงเดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ก็เป็น ๑ เดือนพอดี เดือน ๔ แรม ๑ ค่ำ ผมกลับมา ผมจำได้แต่ข้างขึ้นข้างแรม.. จำวันที่ไม่ได้ เหตุที่จำได้ก็เพราะว่า ผมขึ้นไปกราบท่านตอนบ่าย พอท่านออกจากที่แล้วผมก็ขึ้นไปกราบ
‘มันยังไงกันท่านมหานี่’ ท่านว่าอย่างนี้ ‘เทศน์เสียจนฟ้าดินถล่มก็ไม่มาฟังกัน’
นี่เราถึงได้ย้อนพิจารณากัน อ๋อ.. ที่พระท่านเล่าให้ฟังอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นเพราะเหตุนี้เอง
‘เทศน์เสียจนฟ้าดินถล่ม นี่ผมเริ่มป่วยแล้วนะ เริ่มป่วยมาตั้งแต่วานซืนนี้’ นั่นท่านว่า...”
ลัก...ยิ้ม
22-12-2015, 14:37
https://public.blu.livefilestore.com/y3p4gjOCAq5upbQiP4gCQQ53mUkuATqivLKieIpvldliezZc8S_x4uZjeMMWbMTp5bNXZZsl4Izk_DRTgJN8j8i32f44m2JlcII_hotyIZwybs/%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99.jpg?psid=1
หลวงปู่มั่นเตือนล่วงหน้า
การอบรมพระเณรของหลวงปู่มั่น มีเป็นการเฉพาะภายในวัดป่าบ้านหนองผือ และประชุมอบรมพระที่มาจากสถานที่ต่าง ๆโดยรอบ ดังนี้
“.. วงกรรมฐานนี้การอบรมถือเป็นอันดับหนึ่ง พอถึงกาลเวลาแล้วเหมือนเด็กหิวนม จะได้มาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์.. จิตใจยิ้มแย้มแจ่มใส หน้าตาผ่องใสมาจากที่ต่าง ๆ ที่ท่านไปภาวนาอยู่ไม่ไกลนัก สถานที่ ๔ กิโลบ้าง ๕ – ๖ กิโลบ้าง พอถึงวันประชุมท่านอบรมนี่ พระมาจากที่ต่าง ๆ บางแห่งถึง ๙ กิโล ๑๐ กิโลก็มา ท่านอบรมตอน ๒ โมงคือกลางคืนจะมีเฉพาะภายในวัด แต่สำหรับข้างนอกท่านมีการประชุมอบรมกันตามวัน
ท่านถือเอาวันลงปาฏิโมกข์รวม ตามหลักธรรมหลักวินัยคือ ปาฏิโมกข์นั้นสวดหลักเกณฑ์ของพระวินัยสำหรับพระผู้ปฏิบัติ ตามพระวินัยวัน ๑๕ ค่ำมีผู้สวดปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์เป็นข้อยืนยันของพระ ผู้รักษาพระวินัยมายืนยันสวดปาฏิโมกข์สำหรับวงกรรมฐาน ถึงวันเช่นนั้นพระอยู่ในที่ต่าง ๆ หลั่งไหลมาด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนเด็กหิวนมแม่นั่นแหละ ไม่ผิดอะไรกัน ด้วยความพออกพอใจ วันนี้จะได้ยินได้ฟังการอบรมจากท่าน เพราะที่อยู่ห่าง ๆ จะได้มาเป็นบางเวลา ไม่เหมือนที่อยู่ในวัดกับท่าน อยู่ในวัดก็เรียกว่าเป็นกรณีพิเศษอยู่โดยดี แต่อยู่นอก ๆ จะได้มาในวันอุโบสถ..
ลัก...ยิ้ม
25-12-2015, 14:47
วันอุโบสถปาฏิโมกข์ส่วนมากท่านจะเทศน์เวลาบ่าย ๒ โมง บ่ายโมงก็เริ่มลงอุโบสถสวดปาฏิโมกข์ พอบ่าย ๒ โมงท่านก็ให้โอวาทพระสงฆ์..
โอวาทนั้นจะเด็ดมากอยู่นะ เพราะมีแต่พระล้วน ๆ โอวาทท่านจะเด็ดเฉียบขาด ๆ แม่นยำ ๆ ...”
เมื่อหลวงปู่มั่นชราภาพมากแล้ว ท่านจะพูดเตือนพระเณรอยู่เสมอให้ตั้งอกตั้งใจ เพราะการอยู่ด้วยกันมิใช่เป็นของจีรังถาวร มีแต่ธรรมเท่านั้นเป็นสิ่งที่ควรยึดอย่างมั่นใจตายใจ ครูอาจารย์เป็นของไม่แน่นอน อย่านอนใจว่า ได้มาอยู่กับครูกับอาจารย์แล้วท่านจะอยู่กับเราตลอดไป เมื่อนานเข้า ๆ หลวงปู่มั่นก็เปิดออกมาอีกว่า
“... ใครจะเข้มแข็ง ความพากเพียรอะไรก็ให้เข้มแข็ง มีความรู้ความเป็นอะไรภายในจิตใจ เอ้า.. ให้มาถามมาเล่าให้ฟัง ภิกษุเฒ่าจะแก้ให้.. นี่เวลาภิกษุเฒ่าตายแล้วยากนะ ใครจะแก้เรื่องจิตใจทางด้านจิตภาวนา นี่ไม่นานนะ”
ท่านย้ำลง “ไม่เลย ๘๐ นะ... ๘๐ ก็นี่มันนานอะไร พากันมานอนใจอยู่ได้เหรอ...”
ลัก...ยิ้ม
28-12-2015, 11:35
เมื่อหลวงปู่มั่นพูดเตือนดังกล่าว พระเณรทั้งหลายต่างสลดสังเวชใจ.. รีบตั้งหน้าตั้งตาเร่งปฏิบัติกัน สำหรับตัวท่านเอง ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ตอนสำคัญนี้ให้พระเณรฟังว่า
“... เหมือนกับว่าจิตนี่มันสั่นริก ๆ อยู่ พอได้ยินอย่างนั้นแล้วความเพียรก็หนัก เวลาครูบาอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ เราก็ได้พึ่งพาอาศัยร่มเงาท่านแก้ข้ออรรถข้อธรรมที่สงสัย ก็เร่งความเพียรเข้าเต็มที่ ๆ พอท่านย่างเข้า ๘๐ พับ ท่านก็เริ่มป่วยแหละ พอป่วยแล้วท่านบอกไว้เลยเชียว...แน่ะฟังซิ ซึ่งท่านเคยป่วยเคยไข้มาไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เป็นไข้มาลาเรียเป็นไข้อะไรท่านไม่เคยพูดถึงเรื่องเป็นเรื่องตาย แต่พอเป็นคราวนี้เพียงเริ่มเป็นเท่านั้น ไม่ได้มากอะไรเลยท่านบอกว่า ‘ผมเริ่มป่วยมาตั้งแต่วานซืนนี้นะ’
เพราะเราเพิ่งกลับมาจากไปเที่ยวภาวนาอยู่ที่อำเภอวาริชภูมิ มาถึงท่านตอนค่ำ เราไปถึงวันค่ำหนึ่ง.. ท่านก็ป่วย ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ผมจำได้ขนาดนั้นนะ วันค่ำหนึ่งเราก็กลับมาถึงท่าน
‘ผมเริ่มป่วยมาตั้งแต่วานซืนนี้นะ’ วานซืนก็หมายถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ‘นี่ป่วยครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายนะ ไม่หาย ยาจากเทวดาชั้นพรหมไหน ๆ ก็มาเถอะ ไม่มียาขนาดใดในโลกนี้จะมาแก้ให้หาย.. ไข้นี้จึงเป็นไข้สุดท้าย แต่ไม่ตายง่ายนะ เป็นโรคทรมาน เขาเรียกว่าโรคคนแก่ อย่าไปหาหยูกหายามาใส่มารักษา มันเป็นไปตามสภาพของขันธ์นี้แหละ เอามารักษาก็เหมือนกับใส่ปุ๋ยแล้วรดน้ำไม้ที่ยืนต้นตายแล้วนั่นแหละ จะให้มันผลิดอก ออกใบ ออกผล เป็นไปไม่ได้ ยังแต่เวลาของมันเหลืออยู่ที่จะล้มลงจมแผ่นดินเท่านั้น นี่ก็อยู่.. แต่มันยังไม่ล้มเท่านั้นเอง จะให้หายด้วยยาไม่หายนะ นี่เพียงเริ่มเป็นเท่านั้น’
ท่านว่าอย่างนั้น แน่ไหม ? ฟังซิ ... ท่านอาจารย์มั่นแม่นยำมาก ท่านเคยบอกกับพระอยู่เรื่อย ๆ เวลาลงอุโบสถเสร็จเรียบร้อย.. ผมถึงได้กราบสุดหัวใจผม ท่านเปิดออกมาอย่างนั้นไม่มีอะไรผิด
‘ย่างเข้า ๘๐ ไม่เลย ๘๐ นา โรคนี้เป็นไข้วาระสุดท้าย จะไม่หายจนกระทั่งตาย จะตายด้วยป่วยคราวนี้แหละ แต่ไม่ตายง่าย เป็นโรคทรมาน’
ก็เป็นจริงทุกอย่างที่ท่านพูด ตั้งแต่เดือน ๔ ถึงเดือน ๑๒ ฟังซิ ๗ – ๘ เดือน ท่านเริ่มป่วยไปเรื่อย ๆ เหมือนกับค่อยสุมเข้าไป ๆ สุดท้ายก็เป็นอย่างว่านั้น...”
ลัก...ยิ้ม
04-01-2016, 12:43
หมู่คณะฟังหลวงปู่มั่นเทศน์
คราวหนึ่งในช่วงต้นปี ๒๔๙๒ ขณะที่องค์หลวงตากำลังธุดงค์อยู่บ้านคำบิด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนครนั้น หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล และหมู่คณะก็ได้ธุดงค์ไปพบ และขอพักอยู่กับท่านระยะหนึ่ง และเมื่อใกล้วันวิสาขบูชาก็ได้พบกันอีกครั้งที่วัดป่าบ้านหนองผือ ในประวัติหลวงปู่บุญจันทร์ได้กล่าวถึง วิธีปฏิบัติขององค์หลวงตาต่อพระอาคันตุกะที่เข้ากราบหลวงปู่มั่นในครั้งนั้นไว้ ดังนี้
“... หลวงปู่ (บุญจันทร์) พร้อมด้วยลูกศิษย์ .. เที่ยววิเวกขึ้นไปบนภูอ่างสอ ซึ่งเป็นภูเขาสูงลูกหนึ่งที่ใหญ่ในเทือกเขาภูพาน ที่ภูอ่างสอนี้เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ๆ เขียวชอุ่ม และมีสัตว์ป่าที่เที่ยวหากินกลางคืน ส่งเสียงร้องประกอบกับความวิเวกวังเวงในเวลาดึกสงัด ทำให้จิตใจตื่นอยู่ตลอดเวลาและตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เมื่อพักวิเวกอยู่บนภูอ่างสอพอสมควรแล้ว ... จึงลงจากภูอ่างสอมุ่งหน้าสู่บ้านคำบิด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร..
พอมาถึงบ้านคำบิดได้ทราบว่า ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน พักวิเวกอยู่ที่เสนาสนะป่าหนองน่อง บ้านคำบิด จึงได้พาลูกศิษย์เข้ากราบนมัสการและพักอยู่กับท่าน ๗ คืน ตอนเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านคำบิด เวลากลับออกจากบ้าน หลวงปู่จะรับบาตรท่านพระอาจารย์มหาบัว แต่ท่านไม่ยอมให้รับง่าย ๆ อาศัยความพยายามทำด้วยความเคารพ ทำด้วยความจริงใจ ในที่สุดท่านจึงยอมให้รับบาตรท่าน พอกลับถึงที่พัก จัดแจงฉันภัตตาหารตามมีตามได้ เสร็จแล้วจึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์มหาบัวเดินทาง (ต่อไป) ...
(ต่อมา) ในระยะนั้นเป็นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ใกล้จะถึงวันวิสาขบูชา ในขณะนั้น หลวงปู่ท่านมีความสงสัยในอุบายธรรมที่ได้ปฏิบัติอยู่ ... มองไม่เห็นใครที่จะแก้ความสงสัยนี้ได้ มีแต่ท่านพระอาจารย์มั่นเท่านั้นที่จะแก้ความสงสัยนี้ได้ หลวงปู่จึงให้ลูกศิษย์คอยอยู่ที่สำนักป่าหนองเม้า บ้านจำปา.. (และ) เดินทางไปที่บ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน .. บ้านต้อง .. บ้านหนองโดก
(ต่อมาได้) เดินทางด้วยเท้าเข้าไปบ้านหนองผือนาในพร้อมกันกับท่านพระอาจารย์เพียร วิริโย ... พอเดินทางถึงวัดป่าหนองผือเป็นเวลาใกล้ค่ำ ได้พบท่านพระอาจารย์มหาบัวที่วัดหนองผืออีก จึงได้กราบเรียนถามท่านถึงเวลาที่จะเข้ากราบนมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น.. พระอาคันตุกะที่ไปถึงใหม่จะต้องรอคอยก่อน
ท่านพระอาจารย์มหาบัวจะเป็นผู้เข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นก่อนว่า ‘ท่านให้พักในวัดหนองผือด้วยหรือไม่อย่างไร ? หรือท่านจะให้พักกุฏิหลังไหน ?’
เมื่อท่านสั่งอย่างไรก็ทำตามอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำตามอำเภอใจของตนเอง พอท่านพระอาจารย์มหาบัวเข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็บอกเสนาสนะให้ และบอกให้สรงน้ำเสร็จแล้ว จึงขึ้นไปกราบนมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นบนกุฏิท่าน เมื่อหลวงปู่สรงน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนุ่มห่มครองจีวรให้เรียบร้อย สำรวมใจให้อยู่ในความสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อย่างอื่น มีสติอยู่กับใจตัวเอง หลวงปู่เล่าว่า การสำรวมนั้นได้สำรวมระมัดระวังมาโดยตลอด พอคิดว่าจะไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ใหญ่มั่น ยิ่งเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ พอขึ้นไปบนกุฏิท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ต้องระมัดระวังไม่ให้มีเสียงอะไรรบกวนท่าน ในขณะนั้น ได้มีพระเถระและพระภิกษุรูปอื่นขึ้นไปนั่งฟังธรรมอยู่ก่อนแล้ว ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นกำลังแสดงธรรมอยู่ พอหลวงปู่ขึ้นไปแล้วก็กราบเบา ๆ เสร็จแล้วก็นั่งกำหนดจิตฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นต่อไป...”
ลัก...ยิ้ม
06-01-2016, 11:39
ภายหลังหลวงปู่มั่นได้แสดงธรรมและถามถึงที่มาแล้ว ท่านก็พูดว่า
“จะพิจารณาอะไร ? ผมปฏิบัติมานี้ ๔๐ ปีแล้ว ผมไม่หนีจากกายกับใจ.. พิจารณากายแล้วก็พิจารณาใจจนหายสงสัย”
แล้วท่านก็แสดงธรรมต่อไป พอหลวงปู่บุญจันทร์ได้รับโอวาทคำตอบจากหลวงปู่มั่นทั้งที่ยังไม่ได้ถามอะไร หลวงปู่ก็หมดความสงสัยลงในขณะนั้น
สำหรับหลวงปู่เพียร วิริโย เป็นพระอีกรูปหนึ่งที่ได้ฟังเทศน์หลวงปู่มั่นอยู่ในขณะนั้นด้วย ในประวัติของท่านกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า
“…ออกมาพักภาวนาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองโดกอีก ช่วงนี้มีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ท่านอาจารย์บุญมี ปริปุณฺโณ แล้วผมก็ได้พักอยู่ด้วยกันที่นี่
พอดีใกล้วันวิสาขบูชา เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านอาจารย์บุญจันทร์ กมโล ท่านก็จะเข้าไปกราบหลวงปู่ใหญ่มั่น และท่านก็ได้เข้ามาพักที่นี่ ๑ คืน พอวันรุ่งขึ้นฉันจังหันเสร็จแล้ว ท่านก็จะเข้าไปกราบหลวงปู่ใหญ่มั่น ผมเลยได้ร่วมเดินทางไปพร้อมกับท่าน นับว่าเป็นการเข้าไปกราบหลวงปู่ใหญ่มั่นอีกเป็นครั้งที่ ๒ ของผม
พอไปถึงคืนนั้นก็ขึ้นไปกราบหลวงปู่ใหญ่มั่น ได้ฟังเทศน์ท่าน ท่านได้เมตตาถามขึ้นว่า ‘ท่านองค์ไหนมาจากท่านสิงห์ทอง ?’
ผมได้ตอบกราบเรียนท่านไปว่า ‘เกล้ากระผมครับ’ แล้วก็นั่งฟังเสียงนาฬิกาอยู่ที่กุฏิของท่านนั่นเอง...”
หลวงปู่เพียรเล่าความรู้สึกในการฟังเทศน์หลวงปู่มั่นครั้งแรกว่า “หลวงปู่มั่นเมตตาเทศน์ให้ฟัง แต่ผมฟังไม่รู้เรื่องว่าท่านเทศน์อะไรบ้าง ผมเองตอนนั้นก็เหมือนลิงเหมือนควายตัวหนึ่ง”
สำหรับการฟังเทศน์หลวงปู่มั่นในครั้งที่สอง หลวงปู่เพียรบอกว่า “หลวงปู่ใหญ่มั่น ท่านเอาธรรมะข้างในมาเทศน์ให้ฟัง ผมก็เลยฟังไม่รู้เรื่องที่ท่านเทศน์”
การพบกันเวลาออกวิเวกและการต้อนรับพระอาคันตุกะขององค์หลวงตาในครั้งนั้น ทำให้ท่านมีความคุ้นเคยสนิทใจในธรรมต่อกัน จนต้องได้เกี่ยวข้องช่วยเหลือกันอีกในกาลข้างหน้า
ลัก...ยิ้ม
14-01-2016, 17:26
หมู่เพื่อนแก้นิมิต ๙ ปีสำเร็จ
เมื่อครั้งองค์ท่านจะออกปฏิบัติ มีนิมิตตาปะขาวมาหาแล้วนับข้อมือให้ดู นับถึง ๙ ก็หันมามองดูหน้า ท่านก็รับรู้ความหมายกันว่าปฏิบัติ ๙ ปีสำเร็จ แต่ครั้นมาถึงวันออกพรรษาที่ ๑๖ ยังไม่เป็นไปตามนั้น จึงทำให้รู้สึกเสียกำลังใจจนต้องได้ปรารภปัญหากับหมู่เพื่อน ดังนี้
“...ภาวนาเก็บไว้ ๙ ปี มาขายโง่ให้หมู่เพื่อนฟัง เพื่อนฝูงก็เป็น ภาวนาด้วยกัน วันนี้ผมจะขายโง่ให้ท่านฟังว่า
‘ผมเก็บความรู้สึกนี้ เวลาภาวนาปรากฏว่าตาปะขาวเข้ามาหา นั่งภาวนาอยู่พอจิตสงบเข้าไปปั๊บ.. ตาปะขาวเดินเข้ามา เดินเข้ามาก็มานับข้อมือให้เห็น นับเป็นข้อ ๆ ถึง ๙ ข้อ พอถึง ๙ ข้อแล้วก็เงยหน้ามาดูเรา ทางนี้ก็รู้รับกันว่า ๙ ปีสำเร็จ’
คิดว่าตั้งแต่วันบวชมาถึง ๙ ปีสำเร็จ พอถึง ๙ ปี ปีที่ ๙ แล้ว แหม.. ไฟนรกเผาหัวอกจะตาย โอ๊ย.. มันจะ ๙ ปียังไงยังงี้มีแต่ไฟนรก แล้วคิดไปอีกว่าหรือตั้งแต่วันปฏิบัติออกไป ๙ ปีสำเร็จนะ ทีนี้เลยแยกไปนั้น
ทีแรก ๙ ปี ๙ พรรษาสำเร็จ แต่ที่ไหนได้ ๙ พรรษาจิตนี้เป็นไฟมันจะสำเร็จได้ยังไง.. เอา..! ถ้างั้นแยกไป เอาตั้งแต่ปฏิบัตินี้ ๙ ปีว่างั้นนะ ก็เลยแยกไป ๙ ปี ... แต่ไม่ได้บอกว่าบวชมา ๙ ปีหรือปฏิบัติ ๙ ปีสำเร็จนะ เราก็จับอันนั้นเอาไว้เลย...
๙ ปีนี้ไม่ได้เรื่องแล้ว เป็นไฟ ๙ ปีที่บวชมานี้ คงเป็น ๙ ปีในการปฏิบัติมากกว่า ๙ ปีเราหมายถึงวันออกพรรษา เรานับเป็น ๙ ปีแล้วนะ พอออกพรรษาปุ๊บ.. จิตนี้หมุนพอแล้ว หมุนติ้ว ๆ แล้วแต่ก็ยังไม่สำเร็จ มาออกพรรษาเสียวันนั้น
‘แล้วกันทำไมว่า ๙ ปีสำเร็จ นี่ออกพรรษาวันนี้แล้ว ทำไมยังไม่สำเร็จ แต่จิตที่ละเอียดลออยอมรับ รับกันหากยังไม่สำเร็จ’
จึงไปเล่าให้เพื่อนฝูงฟัง ‘โอ้.. ผมจะมาขายโง่ให้ท่านฟัง นี่ผมภาวนา ปรากฏทางภาวนาว่ามีตาปะขาวมาบอกว่า ๙ ปีสำเร็จ ผมก็บวชมาถึง ๙ ปี ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร เลยแยกออกมาปฏิบัติ ๙ ปีสำเร็จ นี่ก็ออกพรรษาวันนี้ เป็น ๙ ปีแล้วยังไม่สำเร็จเลย แต่ความละเอียดของจิตยอมรับว่าละเอียด หากยังไม่สำเร็จ’
ท่านก็แก้ดีนะ เป็นคติได้ดี ผู้ปฏิบัติภาวนาด้วยกัน ‘โห.. ไม่ใช่คำว่า ๙ ปีนี้ ต้องหมายถึงตั้งแต่ออกพรรษาถึงเข้าพรรษาหน้านู้น ๙ ปีถึงจะครบถ้วน อันนี้มันพึ่งออกพรรษามา นี้ยังอีกเท่าไรถึงวันเข้าพรรษายังอีกนานอยู่นะ ยังไม่ใช่ ๙ ปีวันออกพรรษา ๙ ปีนี้จนกระทั่งถึงพรรษาหน้า ๙ ปีเต็มนั่นละ สำเร็จไม่สำเร็จก็รู้กันตรงนั้นละ เดี๋ยวนี้ยังไม่ใช่ ๙ ปี’
พระท่านแก้ดีนะ ‘หือ.. อย่างนั้นเหรอ !’ คึกคักตั้งใหม่ คราวนี้จิตก็ละเอียดอยู่นะ ฟาดกันเสียตั้งแต่นั้นละ มาเป็นเครื่องปลอบใจดี เราก็คิดเพื่อนฝูงภาวนาด้วยกัน องค์นี้ท่านก็เด็ดเดี่ยว เก่งเหมือนกัน พูดเป็นคติเครื่องเตือนใจได้ จึงฟาดกันอีกตั้งแต่วันออกพรรษา..
อันนี้เราก็ระลึกถึงคุณของท่านอยู่นะ ท่านแก้ดีอยู่ .. นี่เราก็ไม่ลืมนะ คือเก็บไว้ตลอดไม่พูดให้ใครฟังเลย ... เพื่อนฝูงนักภาวนาด้วยกันนี้ปรึกษาหารือกันได้กำลังใจนะ นี่เราก็ไม่ลืม เพื่อนฝูงเตือนเรา ไม่ให้หมดหวังว่างั้นเถอะ เรานี้รู้สึกจะหมดหวังตั้งแต่วันออกพรรษาปั๊บ.. มันยังไม่สิ้นนี่ ท่านก็มาแก้ให้อีก ..
องค์ที่ว่านี่เพื่อนฝูงด้วยกัน เป็นคู่ปรึกษาหารือกันได้ว่าอะไรเป็นยังงั้น จิตใจเด็ดเดี่ยวเหมือนกัน.. ท่านพูดเป็นคติดี ไอ้เรานึกว่าหมดหวังแล้วตั้งแต่วันออกพรรษาปึ๋ง.. นั่นละหมดหวัง เราก็ไม่ลืมนะ นี่เพื่อนฝูงด้วยกันนะ ปรึกษาหารือกันทางจิตภาวนา .. มีแก่ใจขยับเข้าอีก แต่ก่อนก็ขยับอยู่แล้ว ทีนี้เพื่อนมาเพิ่มกำลังใจให้...”
ลัก...ยิ้ม
29-01-2016, 14:31
คิลานุปัฏฐากหลวงปู่มั่นสุดหัวใจ
การป่วยครั้งนี้ของหลวงปู่มั่นเป็นจริงทุกอย่างตามที่ท่านพูด ตั้งแต่เริ่มป่วยในเดือน ๔ สุมไปเรื่อย ๆ จนถึงระยะออกพรรษา และเมื่อถึงวาระที่หลวงปู่มั่นป่วยหนักมากแล้ว องค์หลวงตากล่าวว่า ถ้าองค์ท่านไม่นอนทั้งคืน ท่านก็ไม่นอนทั้งคืนด้วยเช่นกัน และถึงแม้จะต้องได้นั่งอยู่กับที่นานมากเข้า ๆ จนเริ่มรู้สึกเจ็บเอวมาก แต่เพราะความเคารพรักหลวงปู่มั่น แม้จะเจ็บมากเพียงไร ก็ไม่ถือเป็นอารมณ์ยิ่งกว่าการคอยเฝ้าดูแลองค์หลวงปู่มั่นอย่างใจจดใจจ่อที่สุด ดังนี้
“เวลาพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านป่วยหนักเข้าเท่าไร เราปฏิบัติต่อท่านเหมือนว่าเรานอนอยู่งีบเดียวเท่านั้นนะ รีบตื่นไปดูทุกอย่างก็รู้สึกว่าท่านเมตตาเรามาก ท่านจวนเข้าไปเท่าไร (หมายถึงอาพาธหนักขึ้น) เรายิ่งติดแนบตลอด หนีไปไหนไม่ได้ คอยดู คอยสังเกต คอยเตือนพระเณรให้ปฏิบัติต่อท่าน ให้เป็นความสงบร่มเย็นเฉพาะท่าน ไม่ให้มีอะไรมากระทบกระเทือน เราต้องเอาอย่างหนักทีเดียว”
เมื่อองค์ท่านงีบหลับไปบ้าง ท่านก็ถือโอกาสนั้นออกไปเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ด้วยการไปเดินจงกรมในบริเวณใกล้เคียง โดยไม่ลืมที่จะให้พระที่ไว้ใจได้ คอยดูแลองค์ท่านอยู่เงียบ ๆ ตลอดเวลาแทนท่าน บอกพระองค์นั้นไว้ด้วยว่า
“หากมีอะไรให้รีบบอกทันทีและคอยสังเกตดูว่า ถ้าองค์ท่านมีทีท่าว่าจะตื่นขึ้นก็ให้รีบบอกทันทีเช่นกัน”
การที่พระผู้เฝ้าไข้องค์ท่านต้องคอยบอกท่านอยู่เสมอ ๆ เพราะต่างก็สังเกตพบว่าเวลาองค์ท่านตื่นขึ้น เมื่อลืมตาขึ้นมามักจะถามขึ้นว่า “ท่านมหาไปไหน ? ๆ”
พระผู้เฝ้าไข้ก็จะรีบวิ่งไปบอกท่านทันทีในจุดที่นัดหมายกันไว้แล้ว ท่านเองก็รีบมาทันทีเช่นกัน ท่านเล่าถึงความหวงความห่วงใยที่มีต่อหลวงปู่มั่นโดยเฉพาะเวลาป่วยหนักว่า
“... เราเคยคิดเกี่ยวกับท่าน เวลาท่านป่วย เอาท่านมาบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคมแล้วอยู่นั่น ตอนดึก ๆ ไม่มีใคร มีแต่เราอยู่กับท่าน พระเณรก็อยู่ข้างนอก ผู้หลับก็มี ผู้ไปพักก็มี แต่สำหรับเรานั้นอยู่ในมุ้งเป็นประจำ สมมุติว่าท่านหลับทั้งคืน เราก็ไม่นอนทั้งคืนเลย คือเราไม่ยอมให้ใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับท่าน ขนาดนั้นนะ ความหวงของเรานะ
หวงพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น หวงขนาดนั้นนะ มันหากเป็นในหัวใจนิสัยสันดานเรานี่นะ คือหวงท่าน.. ไม่อยากให้ใครไปแตะต้องท่านเลย คือกลัวเขาจะไปจับพิรุธท่าน ท่านไม่ดีอย่างนั้น จะไปตำหนิท่านอย่างนั้นอย่างนี้ คือเรามันเทิดทูนท่านสุดหัวใจแล้ว ยิ่งถ่ายหนักถ่ายเบาด้วยแล้ว เราจะไม่ยอมให้ใครเข้าไปยุ่งเลย เราจะทำหน้าที่คนเดียวหมด...
เวลาเงียบ ๆ ท่านนอนมีลักษณะเหมือนครวญคราง เสียงร้อง อี้ ๆ อี้ ๆ เราก็ฟัง
ทีนี้มันก็วิตกขึ้นมา แต่ความวิตกนี้ระวังนะ ไม่ใช่ปล่อยให้มันวิตก ให้มันคิดขึ้นมาโดยอิสระ คือมีเครื่องระงับกันอยู่นี่ คอยมีสิ่งที่คอยตบคอยตีกันอยู่นะ พอมันปรุงขึ้นมาว่า ‘ขณะที่ท่านแสดงลักษณะอย่างนี้นั้น ท่านจะเผลอบ้างหรือไม่นะ’ เท่านั้นล่ะนะ
มันเหมือนกับว่ามีอันหนึ่งมาตบตีกันเลย ถ้าอยู่ในมือก็เรียกว่าหลุดมือไปเลยนะ ตกทันทีเลย ไม่คิดต่อไปอีก แต่ก็ไม่ลืมนะความคิดที่แย็บออกมา ท่านไม่แสดงมากนะ พอนิด ๆ ๆ เท่านั้นนะ ตามธรรมดาของขันธ์มันก็แสดงเต็มตัวของมันละ ธรรมดาของคนทั่ว ๆ ไปแต่นั่นท่านพอระงับได้ ท่านก็ระงับของท่านไป..”
ดังนั้นในยามที่หลวงปู่มั่นป่วยหนักเช่นนี้ ท่านจะเป็นผู้ทำธุระต่าง ๆ เกี่ยวกับองค์ท่านด้วยตัวเองทั้งหมด เฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายหนักถ่ายเบาขององค์ท่าน เหตุผลที่เป็นเช่นนี้องค์หลวงตาเมตตาอธิบายว่า
“...เราทำต่อท่านด้วยความจงรักภักดีเทิดทูนขนาดไหน ไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งเลย และท่านก็ไม่เคยตำหนิอะไร เราทำกับท่านถึงจะโง่หรือฉลาด เราขอถวายทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ท่านไม่เคยตำหนิเรา จะถ่ายหนักถ่ายเบาอะไร.. เราจัดการเองหมด ไม่ให้ใครมายุ่ง กลัวใครจะไปคิดไม่ดีในเรื่องอะไร ๆ ที่เป็นอกุศลต่อท่านเพราะปุถุชนเป็นได้นี่นะ
เราถึงเป็นปุถุชนก็ตาม แต่เรามันไม่ใช่อย่างนั้น เรามอบหมดแล้วนี่มันต่างกันตรงนี้นะ สติปัญญาที่เรานำมาใช้กับท่านก็เรียกว่าเต็มกำลังของเรา...
เวลาถ่ายหนักนี่สำคัญมาก ไม่ให้ใครเห็นด้วยนะ เราทำของเราไม่ให้ใครมองเข้าไปเห็นเลยนะ เอาร่างกายเอาตัวของเราบังไว้หมดเลย ทำคนเดียวของเรา แต่ก่อนไม่มีกระดาษ ไม่มีถุงพลาสติก มีแต่กระโถนกับผ้าขี้ริ้ว ผ้าอะไร กระดาษก็มีแบบกระดาษห่อพัสดุ
เวลาท่านถ่าย เราก็เอามือรองที่ทวารท่านเลย หย่อนปั๊บใส่ปุ๊บ หย่อนปั๊บใส่ปุ๊บ เสร็จแล้วเอาผ้าคอยเช็ดตรงนั้น ให้ท่านถ่ายลงกับมือเราเลยนะ ไม่ให้ใครเข้าไปยุ่งเลย...
เราก็เอามือเรานี่กอบโกยอุจจาระใส่กระโถน เสร็จเรียบร้อยแล้วเราถึงจะยื่นออกไป ผู้ที่คอยรับอยู่ข้างนอกเต็มอยู่แล้วนะ แต่ไม่มีใครกล้าเข้ามา เพราะเราไม่ให้เข้า...
เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราทำความสะอาดเอง ทำเองเสร็จแล้วเราก็รีบออกมา เพราะพระอยู่ข้างนอกเต็มหมด อยู่ในนั้นมีแต่เราคนเดียว...”
ลัก...ยิ้ม
04-02-2016, 18:09
เป็นตายไม่ว่า เพื่อหลวงปู่มั่น
ในระยะที่หลวงปู่มั่นไอด้วยโรควัณโรคซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ผู้เข้าไปใกล้ชิดติดพันด้วยย่อมมีโอกาสที่จะติดเชื้อสูงมาก และจะต้องเสียชีวิตแน่นอน ดังนี้
“...โรควัณโรคสมัยนั้นแก้ไม่ตก ใครเป็นแล้วต้องตายเท่านั้น พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านป่วยเป็นวัณโรค แต่เดชะบุญอันหนึ่งที่มันก็คิดคาดไม่ถูกเหมือนกัน เพราะวัณโรคนี้ใครเป็นเข้าไปแล้วมันก็ต้องติดวัณโรค
เราอยู่กับท่านคลอเคลียกันอยู่เหมือนพ่อกับลูก พอตกตอนเย็นเขาจะเอาสำลีนั้นมาวางไว้ใส่กาละมัง ท่านจะไอ ไอแล้วขากเสลดไม่ออก เราก็ต้องช่วยเอาสำลีนี้ห่อมือกว้านช่วยท่าน กว้านอยู่ตลอด หนาวเท่าไรยิ่งไอ
คำว่า วัณโรค ก็รู้อยู่ แต่เราก็ไม่เคยไปสนใจกับวัณโรค มีแต่สนใจกับท่านอย่างเดียว ใครก็บอกว่า ‘โอ้ย ! เวลาคลุกคลีกับท่านมาก ๆ จะทำให้เป็นวัณโรค’
‘จะเป็นอะไรวะ ? เราไม่สนใจ’
จนกระทั่งทุกวันนี้ เราอยู่มาปกติไม่มีอะไร...”
นอกจากจะไม่กังวลกับการติดเชื้อวัณโรคจากหลวงปู่มั่นแล้ว ท่านยังต้องอยู่คลอเคลียใกล้ชิดติดพันกับองค์ท่านอยู่ตลอด แม้เวลาไอ.. ท่านก็เอาสำลีกว้านเสลดออกด้วย และยิ่งในเดือน ๑๑ – ๑๒ อากาศหนาวเย็นเข้ามา องค์ท่านก็จะไอหนักขึ้น ถ้าคืนไหนไม่ได้นอน ท่านก็ไม่นอนด้วย เพราะต้องช่วยกว้านอยู่ตลอดคืน ท่านว่าสำลีที่ใช้แล้วนี้ถึงกับล้นพูนกะละมังเลย เพราะต้องกว้านออกเรื่อย ๆ เหตุการณ์ในตอนนี้ท่านก็เคยเล่าไว้ว่า
“ถ้าวันไหนท่านไม่หลับ เราก็ไม่ได้หลับ ถ้าวันไหนท่านได้หลับบ้าง เราก็ออกไปเดินจงกรม กลางวันไม่ไอ.. ท่านจะอยู่สบาย ก็ให้พระที่พอไว้ใจได้องค์ใดองค์หนึ่งอยู่แอบ ๆ ท่าน อยู่ข้าง ๆ แต่ไม่ได้เข้ามุ้งกับท่าน เราก็ได้พักในตอนนั้น ถ้ากลางคืนนี้ เตรียมพร้อมตลอดเวลา
ถ้าพูดถึงพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น เราเทิดทูนสุดหัวใจ เรามอบหมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรเหลือติดเนื้อติดตัวเรา เรามอบหมดเลย ความลำบากลำบนเราไม่สนใจ เรามอบหมดเลย”
ที่หลวงปู่มั่นคอยถามถึงท่านมหาอยู่เสมอ นี่ไม่ใช่เพิ่งจะมีขึ้นในระยะนี้เท่านั้น ก่อนหน้านี้ก็มี และแม้ในคราวที่ท่านออกเที่ยววิเวกหลายต่อหลายวันเข้า องค์ท่านก็เริ่มถามกับพระเณรขึ้นแล้วว่า
“... เอ ท่านมหาไปไหนนา ? ไปหลายวันแล้วนะ...”
ครั้นเมื่อท่านกลับมาถึงวัด หลวงปู่มั่นก็ไม่พูดอะไร แต่พระเณรก็แอบเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ท่านฟัง ท่านก็ทำเหมือนกับไม่รู้อะไร แต่พอท่านได้ออกเที่ยวอีกหลายวัน หลวงปู่มั่นก็ได้ถามพระเณรขึ้นอีก เช่นว่า
“เออ...มหาไปหลายวันแล้วนะ...ไม่เห็นนะ”
ความเมตตาอย่างน่าประทับใจที่ครูบาอาจารย์มอบให้นี้ ก็คงด้วยเพราะองค์ท่านล่วงรู้ถึงหัวใจของท่าน ที่ยอมมอบทุกอย่างชนิดไม่มีอะไรเหลือ เพื่อเทิดทูนเคารพบูชาคุณอย่างสุดหัวใจต่อองค์ท่านนั่นเอง
ลัก...ยิ้ม
12-02-2016, 18:25
http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph___11_274.jpg
ดวงประทีปใกล้สิ้นแสง หลวงปู่มั่นสั่งไว้
เหตุการณ์ในระยะที่หลวงปู่มั่นอาพาธหนักเข้า ๆ นี้ หลวงปู่หล้าก็ได้บันทึกไว้เช่นกันว่า
“...ครั้นล่วงเวลามา ๒๔๙๒ ปวารณาออกพรรษาแล้ว องค์หลวงปู่ก็ชรา อาพาธทวีเข้า พระอาจารย์มหาก็ได้จัดพระเณร เปลี่ยนวาระเข้าเฝ้ารอบ ๆ ใต้ถุน และรอบกุฏิขององค์หลวงปู่ แต่ครูบาวัน ครูบาทองคำ และข้าพเจ้าไม่ได้เปลี่ยน เพราะได้ถูกให้นอนเฝ้าที่ข้างบนระเบียงกุฏิองค์ท่าน และก็มีงานประจำตัวคนละกระทง ข้าพเจ้ามีงานประจำตัวคือรักษาไฟอั้งโล่ และคอยชำระอาจมของหลวงปู่
วันหนึ่งตอนกลางวันประมาณสี่โมงเช้ากว่า ๆ หลวงปู่องค์ท่านสั่งข้าพเจ้าว่า
‘ถ้าเราตายรีบพากันเผาโดยด่วนเน้อ’ ปรารภแบบเย็น ๆ เบา ๆ
‘ถ้าเผาแล้ว จงส่งข่าวไปหาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์และญาติของเรา’
กล่าวสั้น ๆ เบา ๆ แล้วองค์ท่านหลวงปู่ก็นอนนิ่งภาวนา ไม่รู้จะกราบเรียนอย่างไร เพราะอ้ายกิเลสน้ำตามันออกมาแล้ว ทั้งเอี้ยวคอไปแลดูครูบาวัน ครูบาวันก็แลดูประสบสายตากัน แต่ต่างคนก็ต่างนิ่งอยู่เงียบ ๆ
อีกสักครู่หลวงปู่องค์ท่านบอกเย็น ๆ ว่า ‘เอาไฟไปดับเสีย เพราะร้อนบ้างแล้ว พากันไปพัก จะอยู่องค์เดียวไปสักพักก่อน’ แล้วพากันเก็บสิ่งของเงียบ ๆ ไม่ให้กระเทือนก๊อก ๆ แก๊ก ๆ กราบเล้วก็พากันลงมาพร้อมกัน
ครูบาวันก็ขึ้นกุฏิของท่าน ส่วนข้าพเจ้ายังไม่ขึ้นกุฏิของตน ทอดสายตาแลดูกุฏิของพระอาจารย์มหา (บัว) เห็นองค์ท่านพักอยู่ธรรมดา ก็ขึ้นไปกราบองค์ท่าน พร้อมทั้งประนมมือขอโอกาสกราบเรียนว่า
‘วันนี้องค์หลวงปู่กล่าวว่า ถ้าเราตายรีบพากันเผาโดยด่วนเน้อ ปรารภแบบเย็น ๆ เบา ๆ ถ้าเผาแล้วจงส่งข่าวไปหาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์และญาติของเรา แล้วองค์หลวงปู่ก็นอนนิ่งภาวนา พออีกสักครู่ก็บอกให้เอาไฟออก เพราะร้อนแล้ว แล้วก็บอกให้พวกกระผมลง ว่าจะพักอยู่องค์เดียวสักพักก่อน ดังนี้ พวกกระผมเก็บของเรียบร้อยแล้ว ก็ลงมาพร้อมกันกับครูบาวัน กระผมก็ไม่ได้พูดกับครูบาวันอันใดเลย ต่างคนก็ต่างนิ่ง แต่มองดูหน้ากันอยู่เงียบ ๆ ขอรับ’
พระอาจารย์มหาถามว่า ‘ในเวลาองค์หลวงปู่สั่งนั้น คุณอยู่ที่ไหน ?’
เรียนว่า ‘เฝ้าไฟอยู่ใกล้เตียงขององค์หลวงปู่ เพียงหัวเข่าหลวงปู่”
องค์ท่านถามต่อไปว่า ‘ท่านวันอยู่ไกลใกล้ขนาดไหน และทำอะไรอยู่ ?’
เรียนว่า ‘ครูบาวันอยู่ห่างหลวงปู่ประมาณวากว่า ๆ มีธุระเลือกยาอยู่เงียบ ๆ’
องค์ท่านถามต่อไปอีกว่า ‘ท่านวันได้ยินหรือไม่ ?’
เรียนตอบว่า ‘ได้ยิน เพราะกระผมได้เอี้ยวคอไปแลดูครูบาวัน ประสบตากันอยู่ ครูบาวันก็ไม่พูดอะไร กระผมก็ไม่พูดอะไร ต่างคนก็ต่างเงียบ แล้วการสั่งเสียขององค์หลวงปู่จะเป็นความจริงหรือประการใดขอรับ’
พระอาจารย์มหาตอบว่า ‘จริงทีเดียว’
กราบเรียนว่า ‘ถ้าเป็นความจริง ไฉนจึงสั่งกระผมเป็นคำฝากไปหาครูบาวันในตัว เพราะครูบาวันนั่งอยู่ใกล้องค์หลวงปู่มากกว่ากระผม และกระผมเล่าก็เป็นผู้น้อยพรรษา และไฉนจึงไม่สั่งพระอาจารย์มหาซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่องค์สำคัญขอรับ’
พระอาจารย์มหาตอบว่า ‘ไม่เป็นอย่างนั้นดอก เพราะองค์ท่านมองเห็นว่า พระองค์นี้เป็นพระอ่อนพรรษาก็จริง แต่แก่อายุ ทั้งยอมตัวเข้าใกล้เราด้วย ขณะนี้เราไม่ต้องการพูดมากหลายคำ ถ้าหากว่าเราพูดกับพระผู้ใหญ่ มันจะตอกเราหลายคำ เธอหากจะนำคำอันนี้ไปเล่าให้พระผู้ใหญ่ฟังเอง เพราะเธอเป็นผู้สนใจอยู่แล้ว อันนี้เป็นเพียงเริ่มธรรมาสน์เฉย ๆ ดอกหล้า พรุ่งนี้จะพูดดังกว่านี้ให้คณะสงฆ์ได้ยินหมดละ เผง ๆ ทีเดียวละ’
ครั้นเป็นวันใหม่ ฉันเสร็จแล้ว คณะสงฆ์ขึ้นไปมากจนหมดวัด (องค์ท่านหลวงปู่มั่น) ก็ปรารภขึ้นดัง พร้อมทั้งบรรยายกว้างขวางออกไปละเอียด อย่างที่พระอาจารย์มหาทายไว้ ไม่ผิดเลย องค์ท่านหลวงปู่บรรยายออกไปว่า
‘ถ้าเอาเราไว้นานก็จุกจิกมาก ลูก ๆ หลาน ๆ จะจุก ๆ จิก ๆ ขาดจากวิเวก จะมีแต่วิวุ่นและสัตว์ก็จะตายมาก และพระองค์เจ้าก็ ๗ วันเท่านั้น.. ถวายพระเพลิง ถึงกระนั้น มัลลกษัตริย์ เขาก็เอาไฟไปถวายพระเพลิงตั้งแต่วันที่ ๓ แล้ว แต่ไฟไม่ติดถึง ๓ ครั้ง เพราะเทวดาบันดาลไม่ให้ไฟติด เพราะคอยพระมหากัสสปะ กำลังเดินทางมาพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ นี้ เราเป็นขี้เล็บขี้เท้าของพระองค์เจ้า เก็บเราเอาไว้ก็คอยพระมหากัสสปะเหม็นเท่านั้น’ ดังนี้ สั่งซ้ำ ๆ ซาก ๆ ด้วย
ผู้เขียนมิได้มีความสงสัยในองค์หลวงปู่ ว่าจะมักใหญ่ใฝ่สูงในเรื่องฌาปนกิจอันใดเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะได้เห็นด้วยตาเต็มตา เห็นด้วยใจเต็มใจ และพยานอันสำคัญคือพระอาจารย์เนียม ๑๘ พรรษา พระอาจารย์สอก็ ๙ พรรษา ๒ ศพปีเดียวกัน สิ้นลมปราณวันไหนก็เผาวันนั้นอีกด้วย ที่องค์หลวงปู่อยากจะเผาลูกศิษย์แบบหนึ่ง แล้วอยากจะให้ทำให้ท่านแบบหนึ่งนั้น.. เป็นไม่มีเลย เป็นเรื่องของผู้อยู่ข้างหลังต่างหากที่เอาไว้ช้า เพราะมีมติจะสร้างโบสถ์ไว้ให้เป็นปูชนียสถานทางวัตถุ เพื่อให้ถึงใจแก่ประชาชนผู้หนักไปในทางวัตถุ พระปฏิบัติเลยกลายเป็นปัญหาโบสถ์มาจนทุกวันนี้ละเอ๋ย...
องค์หลวงปู่มั่นผู้ชราพาธเพิ่มหนักเข้า ออกพรรษาแล้ว ครูบาอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าจำพรรษาอยู่ต่างทิศ ต่างจังหวัด ต่างอำเภอ ต่างตำบล ก็ทยอยกันเข้ามาเฝ้าองค์หลวงปู่ที่วัดป่าบ้านหนองฝือ ต่างก็ออกความเห็นมติตามเจตนาแต่ละองค์ ๒๔๙๒ เดือนพฤศจิกายนนั้นเอง เป็นข้างขึ้นของเดือนนั้น
มีพระอาจารย์เทสก์ (หลวงปู่เทสก์ในปัจจุบัน) สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่เขาน้อย ท่าแฉลบ จ. จันทบุรี มีหลวงปู่อ่อน สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านหนองโคก อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร มีหลวงปู่ฝั้น สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่วัดป่าธาตุนาเวง ที่เรียกว่าวัดภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร มีพระอาจารย์กงมา หรือหลวงปู่กงมา สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่วัดดอยธรรมเจดีย์ แต่กำลังเริ่มก่อสร้างอยู่ยังไม่ทันกว้างขวาง ไปบิณฑบาตบ้านนาสีนวล แต่องค์ท่านไป ๆ มา ๆ อยู่วัดป่าบ้านโคก เพราะวัดเดิมอยู่นั้นถูกขึ้น อ.เมือง จ.สกลนคร มีพระอาจารย์กู่หรือหลวงปู่กู่ก็ว่า จำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านโคกมะนาว อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร มีพระอาจารย์มหาทองสุก วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร และสมัยนั้นวัดป่าบ้านหนองฝือ องค์หลวงปู่มั่นก็ขึ้นบัญชีพระประจำปีกับวัดสุทธาวาสอยู่ มีพระอาจารย์สีโห สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่นครราชสีมา เป็นวัดใดสงสัยจำไม่ชัด มีพระอาจารย์กว่า สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาบ้านนาหัวช้าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนครนั้นเอง ให้เข้าใจว่า พระอาจารย์กู่ก็ดี พระอาจารย์กว่าก็ดี หลวงปู่ฝั้นก็ดี เป็นเครือญาติใกล้ชิดกันในฝ่ายตระกูลวงศ์ แต่พระอาจารย์กู่มีพรรษาเหนือกว่าหลวงปู่ฝั้น ได้สิ้นลมปราณไปหลังหลวงปู่มั่นพรรษาหนึ่งเท่านั้น มีพระอาจารย์วิริยังค์ สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่วัดป่าใน อ.ขลุง จ.จันทบุรี และก็ไป ๆ มา ๆ อยู่วัดป่ากงสีไร่ อันเป็นอำเภอขลุงนั้นเอง จึงเขียนไว้เป็นที่ระลึก...”
ลัก...ยิ้ม
17-02-2016, 17:49
มาฆบูชา
“วันมาฆบูชา คล้ายกับวันปลงพระชนมายุสังขารของพระพุทธเจ้า ที่จะทรงลาโลกลาสงสาร หรือลาเรือนจำแห่งวัฏจักร สละธาตุขันธ์ทิ้ง เพราะเป็น “ภารา หเว ปัญจักขันธา” มาเป็นเวลาแปดสิบพรรษาแล้ว ซึ่งเป็นภาระที่หนักมาก ทรงแบกมาถึง ๘๐ ปี หนักตลอดเวลา ไม่เคยเบาเลยคือธาตุขันธ์นี้แล อย่างอื่นยังมีเบาบ้างหนักบ้าง พอได้หายใจโล่ง ข้าว น้ำ เราหาบหิ้วมาหนัก ๆ นี่ เราคดกินไป รินไป ใช้อย่างอื่นไปก็หมดไป หมดไปแล้วก็เบาไป ส่วนธาตุขันธ์แบกมาตั้งแต่วันเกิดไม่เคยเบา หนักมาเรื่อย ๆ ยิ่งเฒ่ายิ่งแก่ กำลังวังชาที่จะแบกจะหามไม่พอ ก็ยิ่งปรากฏว่าหนักขึ้นไปโดยลำดับ ท่านจึงว่า “ภารา หเว ปัญจักขันธา” ขันธ์ทั้งห้านี้เป็นภาระอันหนักมาก”
แบกรูป แบกกายหนักแล้วยังไม่กลัว ยังแบกทุกขเวทนาที่มีอยู่ในกาย แบกสัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งล้วนแต่เป็นของหนัก และยังทิ่มแทงหัวใจเราอีกด้วย ไม่เพียงแต่หนักเฉย ๆ มันยังมีหนามอันแหลมคมเสียบแทงเข้ามาภายในใจอีก
พระพุทธเจ้า ท่านทรงอดทนแบกธาตุขันธ์นี้มาจนถึง ๘๐ พรรษา วันนี้พูดง่าย ๆ ก็ว่า
“โอ๊ย ! ขันธ์นี้เหลือทนแล้ว ลาเสียทีเถอะ !” อันเป็นการปลงพระทัยว่าจะทรงปลงพระชนมายุสังขาร จากนี้ไปอีกสามเดือนจะทรงสลัดปัดทิ้งภูเขาภูเรานี่เสียที ทรงตรึกในวันเพ็ญเดือนสามเช่นนี้ ในวันเพ็ญเดือนสามนั้นเองปรากฏว่า ยังมีพระสาวก ๑,๒๕๐ องค์ ต่างองค์ต่างมาด้วยอัธยาศัยน้ำใจของตัวเอง ซึ่งไม่ต้องถูกเชื้อเชิญนิมนต์มาแม้แต่องค์เดียว มารวมกันในวันนั้นโดยพร้อมเพรียง จึงได้ประทานพระโอวาท เป็น “วิสุทธิอุโบสถ” ขึ้น ให้บรรดาสาวกอรหันต์ทั้งหลายเป็นเครื่องรื่นเริงในธรรมของพระพุทธเจ้าที่ประทานในวันนั้น ในบทความย่อ ๆ ว่า
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาป ความเศร้าหมองอันเป็นความทุกข์ทั้งปวง หนึ่ง ... จะทำด้วยวิธีใด ใจจึงจะไม่เศร้าหมอง ? กุสะลัสสูปะสัมปะทา จงยังความฉลาดให้ถึงพร้อม เพื่อจะแก้ไข เพื่อซักฟอกความเศร้าหมอง คือ “บาป” นั้นออกจากใจ แล้วกลายเป็น สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ขึ้นมา คือใจจะผ่องใส... นี่คือพระโอวาทของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ อะนูปะวาโท อย่าไปกล่าวไม่ดีกับผู้หนึ่งผู้ใด อะนูปะฆาโต อย่าฆ่า อย่าทำลาย หรือทำร้ายสัตว์ มนุษย์ ไม่ดี ปาฏิโมกเข จะ สังวะโร สำรวมอยู่ในข้ออรรถข้อธรรมที่จะเป็นเครื่องถอดถอนกิเลส มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง ให้รู้จักประมาณในการกินอยู่พูวาย อย่าให้ฟุ่มเฟือยจนเกินเหตุ สำหรับนักปฏิบัติให้รู้จักประมาณในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับตน ปันตัญจะสะยะนาสะนัง ให้แสวงหาที่นั่งที่นอนอันสงัด เพื่อกำจัดกิเลสด้วยความวิเวกนั้น ๆ อะธิจิตเต จะ อาโยโค พึงประกอบจิตให้ยิ่งในอรรถธรรม ด้วยสติปัญญาไปโดยลำดับ
นี่เป็นพระโอวาทที่ประทาน เป็นเครื่องรื่นเริงแก่บรรดาพระสาวกอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ในเวลาบ่ายซึ่งคล้ายกับวันนี้ พระโอวาททั้งหมดนั้นเป็นเครื่องรื่นเริงสำหรับสาวกอรหันต์เหล่านั้น ไม่ใช่แสดงเพื่อให้ท่านเหล่านั้นยึดเป็นเครื่องมือ เพื่อซักฟอกกิเลส หรือนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสาสวะออกจากจิตใจแต่อย่างใด เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วทั้งนั้น จึงเรียกว่า “วิสุทธิอุโบสถ” ที่ประทานพระโอวาทในท่ามกลางพระสาวกอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์นี้ก็เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ปรากฏอีกเลยในศาสนาของพระพุทธเจ้า ทั้งตอนที่ยังทรงพระชนม์อยู่และเวลาที่ปรินิพพานไปแล้ว และตลอดไปคงไม่มีซ้ำอีก
ที่เราระลึกถึงท่านเหล่านั้น ก็เพราะท่านเป็น “อัจฉริยบุคคล” เป็นบุคคลอัศจรรย์ ในท่ามกลางแห่งมนุษย์ทั่วโลกที่ล้วนเป็นผู้มีกิเลสโสมม หมักหมมอยู่ภายในใจ ไม่ปรากฏแม้คนหนึ่งจะบริสุทธิ์อย่างท่าน
เมื่อขยายความออกก็มีเท่านี้ นี่เป็นพระโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่ประทานไว้ ...
ถึงวันเพ็ญเดือนหก ก็เป็นวันปลงสังขารตามที่ทรงประกาศไว้ ตั้งแต่วันเพ็ญเดือนสามซึ่งคล้ายกับวันนี้ จากนั้นมาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์สิ่งบังคับก่อกวน ก็หมดสิ้นไปจากพระพุทธเจ้า เป็น “อนุปาทิเสสนิพพาน” ล้วน ๆ หมดความกังวล หมดความรับผิดชอบในสมมุติทั้งปวง ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย นี่เรียกว่า “ธรรมเหนือโลก” “ธรรมสุดส่วน”...”
ลัก...ยิ้ม
24-02-2016, 14:53
https://public.blu.livefilestore.com/y3pL7XlDVYsIID4YEtnY_-rfd3wL-XZgp2qbMsHgAl3xKBitE8fyc3D7p5hWUXNRvOGyl2yTn37Z2o9grosrqiGeG6g_nc8GBaR-4DmpzZ6yuY/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99.jpg?psid=1
วัดแตกสาแหรกขาด
หลวงปู่หล้าเล่าเหตุการณ์ครั้งสำคัญในระยะนั้นโดยละเอียดต่อไปว่า
“ ...เมื่อองค์ท่านพระเถระเหล่านี้ต่างก็มีศรัทธา มารวมกันในยามออกพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือดังกล่าวแล้ว ในเรื่องหลวงปู่.. องค์ท่านชราพาธเพิ่มทวีขึ้นก็ประชุมปรึกษากัน ส่วนหลวงปู่กงมายืนยันทางเดียวด้วยน้ำใสใจจริงว่า ‘ควรนิมนต์หลวงปู่พักวิเวกวัดป่าบ้านม่วงไข่ก่อน’ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่เป็นหลายครั้ง
ส่วนองค์หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่อ่อน หลวงปู่ฝั้น พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์มหาทองสุก พระอาจารย์มหาบัว พระอาจารย์กว่าเหล่านี้ ตามพฤติการณ์ไม่ได้จ้ำจี้จ้ำไช กราบเท้าเรียนแล้วแต่องค์หลวงปู่จะสะดวก แต่ก็ไม่ขัดขวางหลวงปู่กงมาด้วยประการใด ๆ อะไรนัก ตกลงองค์หลวงปู่มั่นก็รับไปแบบจำใจ
ตื่นขึ้นเป็นวันใหม่ไปบิณฑบาตแต่เช้า ฉันเสร็จแล้วก็เตรียมตัวโกลาหล แล้วลูกศิษย์ที่ขอนิสัยด้วยประจำวัดหลวงปู่มั่นก็แบ่งออกเป็น ๒ พวก พวกที่ไปก่อนให้ไปก่อนแต่เฉพาะผู้มีข้อวัตรจำเป็นอันเว้นไม่ได้ซึ่งเกี่ยวกับองค์หลวงปู่ ให้ไปสามองค์ก่อนคือ ๑. ครูบาวัน ๒. ข้าพเจ้า ๓. พระสีหา เท่านั้น ในข้อนี้พระอาจารย์มหาบัวเป็นผู้แต่ง เพราะพระเถระนอกนั้นจำพรรษาอยู่ต่างถิ่น พระอาจารย์มหาบัวและหลวงตาทองอยู่ ให้ควบคุมหมู่ผู้อยู่ข้างหลังไปพลางก่อน เพราะการตัดเย็บจีวรก็ยังไม่เสร็จสิ้นเท่าไรนัก เพราะจุก ๆ จิก ๆ กับงานฉุกเฉินหลายด้าน วัดแตกสาแหรกขาด
ฝ่ายพระอาจารย์ต่าง ๆ ที่มาต่างทิศก็ยกทัพไปพร้อมกองหน้าหมด เงียบเหงาเย็นเงียบ ออกเดินทาง ๓ โมงเช้า เอาแคร่มาหามหลวงปู่ทั้งพระทั้งโยมประมาณ ๒๐๐ คน หามไปตามทางเกวียนผ่านบ้านหนองผือไปทางทิศตะวันตก ค่อยเดินไปเท้าต่อเท้าแล้วเลี้ยวขวาโค้งตรงไป อ. พรรณานิคม
อนิจจาเอ๋ย.. บ้านหนองผือเศร้าโศกโศกา น้ำตาหลั่งไหล เพราะเอาองค์มิ่งขวัญเขาหนีไกลไปจากถิ่นบ้านเขา สารพัดผู้จะคร่ำครวญรำพันพิไรเสมือนพากันตายไป.. เงียบไปทั้งบ้าน
พอผ่านบ้านหนองผือไปประมาณ ๒ กิโลเมตร องค์หลวงปู่พูดเย็น ๆ ขึ้นว่า ‘พากันหามไปปิ้งไปเผาที่ไหนหนอ !’ ..
(ในตอนนั้น) ครูบาวันและคุณสีหาได้กระติกน้ำองค์ละลูกสะพายออก (ไป) ก่อน พวกที่หามแคร่ไปไกลกันกว่า ๑๐ วา ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็เดินออกหน้า พวกที่หามแคร่ไปไกลกว่านั้นเป็นลำดับ ส่วนพวกตามหลังแคร่ไปก็เป็นระยะ ๆ เป็นทิวแถว ส่วนพวกเกวียนที่ขนของก็ตามหลัง บาตรบริขารโยมสะพายเอาหมดแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้แทรกแซงโยมเข้าใกล้ที่หามได้
ข้าพเจ้าไม่ได้หามใส่บ่าหรอก เป็นเพียงเอามือขวาจับชู เอียงตัวซิกแซ็กเดินไป โยมเขาหาม.. เขาเอาผ้าผูกเป็นงวงสะพายบ้าง เอามือจับคนละมือบ้างเพราะมากคน บางแห่งก็หย่อนลง บางแห่งก็ยกขึ้นเพราะดินสูงต่ำ ที่ไหนหญ้ารกปกคลุมทางเพียงเข่าและแข้งขาก็เรียบร้อยไปหมด เพราะคนนั้นเหยียบบ้าง คนนี้เหยียบบ้าง ..
ได้ทางพอควรก็พักดื่มน้ำ องค์หลวงปู่ดื่ม ๒ – ๓ จิบแล้วนอนตะแคงข้างขวาอยู่บนแคร่ที่ปลงวางไว้.. พักประมาณสิบหรือสิบห้านาทีโดยคาดคะเนก็เดินทางต่อ พอถึงทุ่งนาแห่งหนึ่งเป็นหนทางมีตมโคลนเลอะเทอะ และจวนแจจะค่ำมืด ไม่มีทางเว้น แต่ที่นาเขา.. ข้าวเขากำลังจะพอเกี่ยว เขามีศรัทธาไขรั้ว รื้อรั้วออกให้ฝ่าเหยียบข้าวไป
คนทั้ง ๒๐๐ กว่าฝ่าตะลุยข้าวไปจนสุดทุ่งนาเขา จึงได้ลัดใส่หนทางอันพ้นโคลนตม ข้าวก็ล้มไปเรียบร้อยพร้อมทั้งหล่น พร้อมทั้งขาด นับว่าศรัทธาเขาเกิดขึ้นสด ๆ แก้ปัญหาซึ่งหน้าได้โดยสุจริตใจ จะหาได้ยากในสมัยนี้และเป็นข้าวที่กอโตและเป็นรวงโต เมล็ดโตด้วย การเสียหายอย่างน้อยก็ไม่ต่ำว่าหกร้อยกิโลกรัม เรียกว่าบุญองค์หลวงปู่เป็นปาฏิหาริย์อยู่ในตัวแล้ว ..
ขณะที่กำลังจะแวะผ่านข้าวเขานั้น พระมหาเถระได้พูดกันว่า ‘ไม่ควรเอาองค์หลวงปู่ไปพักม่วงไข่ เพราะเป็นวัดร้างมาหลายปี มีต้นไม้ทึบมาก อากาศไม่โปร่ง และเดี๋ยวนี้ก็ค่ำแล้ว และองค์หลวงปู่เล่าอาการก็หนักเข้า เพราะจะอ่อนเพลียในการหามมาข้ามป่าโคกดง ก๊อก ๆ แก๊ก ๆ’
จึงตกลงแวะบ้านกุดก้อม (ดงภู่ก็ว่า) เป็นวัดป่าพระอาจารย์กู่ พอถึงที่นั่นก็หนึ่งทุ่มกว่า ๆ โดยประมาณ อาการหลวงปู่ก็หนักขึ้นทวีมาก ต่อรุ่งเช้าจึงเบาลงบ้าง
ในวันนั้นฉันจังหันแล้ว มีพระองค์หนึ่งจะไปตัดช่องกระดานศาลาใกล้ที่พักป่วยขององค์หลวงปู่ เพื่อให้เป็นช่องขององค์หลวงปู่ถ่ายอาจม องค์หลวงปู่ปรารภดัง ๆ ขึ้นว่า ‘อย่ามาทำเลย ท่านหล้าเธอกำกับของเธอประจำอยู่ มาทำแล้วก็ไม่ถูกความประสงค์ของเธอดอก’
ในระหว่างพักอยู่วัดป่ากุดก้อม คือบ้านภู่หรือว่าดงบ้านภู่ก็เรียกกันหลายอย่าง มีพระเถระมาเพิ่มขึ้นอีกคือ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ จ. อุดรฯ พระอาจารย์สีลา วัดป่าบ้านวา อ. วานรนิวาส จ. สกลนคร รวมพระเณรทั้งหมด ๔๐ รูป และมาพักได้ ๓ คืน พระอาจารย์มหาบัวก็ทิ้งบ้านหนองผือมา และหมู่ทั้งหลายก็ทยอยจากมา จากบ้านหนองผือได้ ๑๑ วัน ครูบาทองคำก็มากับหมู่อีก เหลือแต่หลวงตาทองอยู่องค์เดียว ส่วนองค์หลวงปู่มั่นก็ป่วยหนักเข้า ๆ พักอยู่ที่นั้นได้ ๑๑ คืน ...”
ลัก...ยิ้ม
02-03-2016, 14:41
พาผมไปสกลนครให้จงได้
กล่าวถึงเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๒ หลังจากองค์หลวงตากลับจากวิเวกมาถึงวัดแล้วนั้น หลวงปู่มั่นได้เล่าให้ฟังว่า ท่านเริ่มป่วยตั้งแต่ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ท่านว่าเริ่มป่วยคราวนี้ไม่เหมือนกับคราวใด ๆ ซึ่งแต่ก่อนเวลาท่านป่วย ถ้ามีผู้นำยาไปถวายท่าน ท่านก็ฉันให้บ้าง มาคราวนี้ท่านห้ามการฉันยาโดยประการทั้งปวงแต่ขึ้นเริ่มแรกป่วย โดยให้เหตุผลว่า การป่วยคราวนี้ไม่มีหวังได้รับประโยชน์อะไรจากยา เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ตายยืนต้นอยู่เท่านั้น ธาตุขันธ์ที่แก่ชราภาพขนาดนี้แล้วย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกัน.. หยูกยาจึงไม่เป็นผลอะไรกับโรคคนแก่ ดังนี้
“... ท่านว่า แม้ท่านจะห้ามยามิให้นำมาเกี่ยวข้องกับท่าน แต่ก็ทนต่อคนหมู่มากไม่ไหว คนนั้นก็จะให้ท่านฉันยานั้น คนนี้ก็จะให้ท่านฉันยานี้ คนนั้นจะฉีด คนนั้นจะฉัน หนักเข้าท่านก็จำต้องปล่อยตามเรื่อง มีคนมากราบเรียนถามเรื่องยาถูกกับโรคของท่านหรือไม่... ท่านก็นิ่ง ไม่ตอบโดยประการทั้งปวง เมื่ออาการของท่านหนักจวนตัวเข้าจริง ๆ ท่านก็บอกกับคณะลูกศิษย์ ทั้งพระและญาติโยมว่า
‘จะให้ผมตายในวัดป่าหนองฝือนี้ไม่ได้ เพราะผมน่ะตายเพียงคนเดียว แต่ว่าสัตว์ที่ตายตามเพราะผมเป็นเหตุจะมีจำนวนมากมาย เพราะฉะนั้น ขอให้นำผมออกจากที่นี้ไปจังหวัดสกลนคร เพื่อให้อภัยแก่สัตว์ซึ่งมีจำนวนมาก อย่าให้เขาพลอยทุกข์และตายไปด้วยเลย ที่โน้นเขามีตลาดซึ่งมีการซื้อขายกันอยู่แล้ว ไม่มีทางเสียหายซึ่งเนื่องจากการตายของผม’
พอท่านพูดและให้เหตุผลอย่างนั้น ทุกคนต้องยอมทำตามความเห็นของท่าน จึงเตรียมแคร่ที่นอนมาถวาย และอาราธนานิมนต์ท่านขึ้นนอนบนแคร่ แล้วพร้อมกันหามท่านออกไปในวันรุ่งขึ้น พอถึงวัดป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครแล้ว ก็พาท่านพักแรมค้างคืนอยู่ที่นั้นหลายคืน ท่านก็คอยเตือนเสมอว่า
‘ทำไมพาผมมาพักค้างคืนที่นี่ล่ะ ผมเคยบอกแล้วว่าจะไปจังหวัดสกลนคร ก็ที่นี่ไม่ใช่สกลนคร’
ท่านว่าเมื่อจวนตัวเข้าจริง ๆ ในสามคืนสุดท้าย ท่านไม่ค่อยจะพักนอนแต่คอยเตือนให้รีบพาท่านไปสกลนครเสมอ เฉพาะคืนสุดท้ายไม่เพียงแต่ไม่หลับไม่นอนเท่านั้น ยังต้องบังคับว่า ‘ให้รีบพาผมไปสกลนครในคืนวันนี้จงได้ อย่าขืนเอาผมไว้ที่นี่เป็นอันขาด’
ท่านพูดย้ำแล้วย้ำเล่าอยู่ทำนองนั้น แม้ที่สุดท่านจะนั่งภาวนา ท่านก็สั่งว่า ‘ให้หันหน้าผมไปทางจังหวัดสกลนคร’
ที่ท่านสั่งเช่นนั้นเข้าใจว่า เพื่อให้เป็นปัญหาอันสำคัญแก่คณะลูกศิษย์ จะได้ขบคิดถึงคำพูดและอาการที่ท่านทำอย่างนั้น ว่ามีความหมายแค่ไหนและอย่างไรบ้าง ? พอตื่นเช้าจะเป็นเพราะเหตุไรก็สันนิษฐานยาก เผอิญชาวจังหวัดสกลนครซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน พร้อมกันเอารถยนต์มารับท่าน ๓ คัน แล้วอาราธนานิมนต์ให้ท่านไปจังหวัดสกลนคร ท่านก็เมตตารับทันทีเพราะท่านเตรียมตัวจะไปอยู่แล้ว ก่อนจะขึ้นรถยนต์ หมอได้ไปฉีดยานอนหลับให้ท่าน จากนั้นท่านก็นอนหลับไปตลอดทาง จนถึงวัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร…”
เหตุการณ์ในตอนนี้ หลวงปู่หล้าได้บันทึกไว้ว่า
“...ตื่นเช้าชาวสกลนครตลอดถึงคุณหมอ แพทย์ใหญ่ในสกลนครก็มาถึงแต่เช้าตรู่ ชาวสกลนครกราบเท้าเรียนถวายวิงวอนว่า ‘ขอนิมนต์ให้ไปพักวัดป่าสุทธาวาส’
นิมนต์วิงวอนถึง ๓ – ๔ ครั้งติด ๆ กัน องค์หลวงปู่ปรารภว่า ‘เออ หามศพตกป่าช้าหนอ ไม่มีวันได้หามคืน บัดนี้มาถูกเราแล้ว’
องค์หลวงปู่กล่าวต่อไปว่า ‘ถ้าไปก็ลำบากอีกละ’ เพราะลูกศิษย์ก็มาต่างทิศ มากเข้า ๔๐ องค์รวมทั้งเก่าใหม่ เขากราบเรียนว่า ‘มากน้อยเท่าไรก็ตามขอรับ จะเอารถขนวันยันค่ำนั่นแหละ’
แท้จริงสมัยนั้นมีรถวิ่งไปมาจากสกลนคร – อุดรธานี ๒ – ๓ คัน กับรถกรมทางคันหนึ่ง หนทางก็เป็นหินลูกรังปูถี่ ๆ ห่าง ๆ ลัก ๆ ลั่น ๆ ยังไม่เรียบร้อยได้...”
การที่หลวงปู่มั่นเร่งให้พาเข้าสกลนครโดยเร็ว แต่ครั้นเมื่อแพทย์และชาวสกลนครมากราบนิมนต์วิงวอนถึงองค์ท่านเองแล้ว หลวงปู่มั่นท่านก็มีทีท่านิ่ง ๆ แต่กลับมีลักษณะห่วงใยพระเณร ฆราวาส ศิษย์ผู้ติดตามทั้งหลาย ว่าจะเดินทางกันอย่างไรได้ครบถ้วน และทันกับปัจฉิมกาลของท่านอีกด้วย เพราะสมัยนั้นขาดแคลนรถบริการ การรับส่งพระ ฆราวาสขนาดนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าเดินไปก็คงต้องใช้เวลาอีกยาวนาน อาจไม่ทันการณ์ เมื่อหลวงปู่มั่นกล่าวขึ้นในลักษณะนี้ คณะชาวสกลนครจึงขานรับในทันที ความมุ่งหมายของหลวงปู่มั่นจะไปสกลนครให้จงได้ จึงบรรลุผลทันกาลพร้อมลูกศิษย์ทั้งมวล หลวงปู่หล้ากล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ต่อไปว่า
“... แล้วก็กราบเท้าเรียนถวายให้องค์หลวงปู่ฉันอาหาร องค์หลวงปู่ก็นั่งฉันได้อยู่ ไม่ได้พยุงชู ฉันประมาณ ๕ – ๖ คำเล็กแห่งอาหารเหลว ๆ ที่ซดด้วยช้อน ครั้งเสร็จแล้วคุณหมอใหญ่ จ. สกลนครก็ฉีดยานอนหลับให้ ด้วยการขออนุญาต ๔ – ๕ ครั้ง องค์หลวงปู่ก็ยอมให้ฉีดแบบฝืน ๆ แล้วก็เตรียมตัวออกเดินทางโกลาหล
.. แล้วเอาแคร่มาหามองค์หลวงปู่ข้ามทุ่ง องค์หลวงปู่นอนตะแคงข้างขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมกัน หามข้ามทุ่งไปสู่ถนน ไกลประมาณเกือบกิโลเมตรจึงถึงถนน แล้วเอาองค์หลวงปู่ขึ้นรถกรมทาง เอานอนด้านหน้า
ครูบาวัน อาจารย์วิริยังค์ ข้าพเจ้า คุณสีหา ก็ไปขบวนกองหน้า ส่วนหลวงปู่ก็นอนนิ่งไม่กระดิกพลิกไหวตัวอะไรเลย ปรากฏแต่ลมเข้าออกแบบเบา ๆ
ลัก...ยิ้ม
04-03-2016, 18:22
พอถึงวัดป่าสุทธาวาสแล้ว ก็หามองค์หลวงปู่ขึ้นกุฏิพิเศษหลังหนึ่งอันมีระเบียงรอบทั้งสี่ด้าน มุงกระดานกั้นฝา มีประตูเข้าห้องนอนสองทาง มีหน้าต่างบริบูรณ์ รอบ ระเบียงนอกมีลูกกรง ห้องนอนนั้นกว้างประมาณ ๓ เมตร ปริมณฑลระเบียงโดยรอบสามด้านนั้น กว้างประมาณ ๒.๕๐ เมตร ส่วนด้านหน้านั้นกว้างประมาณ ๔ เมตรหรือ ๕ เมตรนี้แหละ เพราะเป็นกุฏิ ๒ ห้อง แล้วก็มีระเบียงรอบสี่ด้าน แล้วกั้นห้องหนึ่งเป็นห้องนอน
แล้วครูบาอาจารย์ต่างทิศก็แตกตื่นกันมาเป็นระยะ ๆ องค์หลวงปู่สิงห์ โคราช หลวงปู่บุญหลาย หลวงปู่สาร พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สิม ตลอดพระหนุ่มเณรน้อย ฝ่ายปฏิบัติหลั่งไหลเข้ามาเป็นลำดับ ไม่สามารถจะบอกชื่อลือนามได้
แล้วก็เอาองค์หลวงปู่เข้าห้องนอนตะแคงข้างขวา พอตกเวลาประมาณ ๖ โมงเย็น หลวงปู่กงมาบอกว่า ‘ท่านทองคำ ท่านหล้า ท่านสีหา พากันบอบโบยหิวนอนมานานแล้ว จงพากันรีบนอนอยู่ระเบียงนี้แต่หัวค่ำเสีย พระอาจารย์ฝั้นกับผมจะช่วยเฝ้าในห้ององค์หลวงปู่ ส่วนท่านวัน เขาพักกุฏิหนึ่งกับวิริยังค์กับท่านเนตรแล้ว ส่วนท่านมหาบัวพักรุกขมูลร่มไม้ในวัด เธอเร่งความเพียร เกรงหลวงปู่จะสิ้นลมก่อน’ ..”
องค์หลวงตาได้เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญในช่วงนี้ต่อไปว่า “...เวลา ๐๑.๐๐ น. ท่านก็เริ่มตื่น พอตื่นจากหลับแล้ว จากนั้นท่านก็เริ่มทำหน้าที่เตรียมลา ภารา หเว ปัญจักขันธา ขันธ์ห้าเป็นภาระหนัก จะมรณภาพ...
ก่อนหน้า (มรณภาพ) ประมาณ ๒ ชั่วโมงเศษ ท่านนอนท่าตะแคงข้างขวา แต่เห็นว่าท่านจะเหนื่อยมาก เพราะนอนท่านี้มานาน จึงพากันเอาหมอนที่หนุนอยู่หลังท่านถอยออก เลยกลายเป็นท่านอนหงายไป พอท่านทราบก็พยายามขยับตัวหมุนกลับ จะนอนท่าตะแคงข้างขวาตามเดิม พระเถระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านก็พยายามเอาหมอนหนุนหลังท่านเข้าไปอีก ท่านเองก็พยายามขยับ ๆ เช่นเดียวกัน เมื่อเห็นอาการของท่านอ่อนเพลียมาก และหมดเรี่ยวแรงก็เลยหยุดไว้แค่นั้น
ดังนั้นการนอนของท่านจะว่านอนหงายก็ไม่ใช่ จะว่านอนตะแคงข้างขวาก็ไม่เชิง เป็นอาการเพียงเอียง ๆ อยู่เท่านั้น ทั้งเวลาของท่านก็จวนเข้ามาทุกที บรรดาศิษย์ก็ไม่กล้าแตะต้องกายท่านอีก จึงปล่อยท่านไว้ตามสภาพ คือท่านนอนท่าเอียง ๆ จนถึงเวลา ซึ่งเป็นความสงบอยู่ตลอดเวลา
ในวาระสุดท้ายนี้ ต่างก็นั่งสังเกตลมหายใจของท่านแบบตาไม่กะพริบไปตาม ๆ กัน การนั่งของพระที่มีจำนวนมากในเวลานั้นต้องนั่งเป็นสองชั้น คือชั้นใกล้ชิดกับท่าน และชั้นถัดกันออกมา ชั้นในก็มีพระผู้ใหญ่ มีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นต้น ชั้นนอกก็เป็นพระที่มีพรรษาน้อย แล้วถัดกันออกไปก็เป็นพระนวกะและสามเณร บรรดาพระ ทั้งพระเถระและรองลำดับกันลงมาจนถึงสามเณร
ในขณะนั้น รู้สึกจะแสดงความหมดหวังและหมดกำลังใจไปตาม ๆ กัน แต่ไม่มีใครกล้าปริปากออกมา นอกจากมีแต่อาการที่เต็มไปด้วยความหมดหวังและความเศร้าสลดเท่านั้น เพราะร่มโพธิ์ใหญ่มีใบหนาซึ่งเคยเป็นที่อาศัยและร่มเย็นอย่างยิ่งมาเป็นเวลานาน กำลังถูกพายุจากมรณภัยคุกคาม จะหักโค่นพินาศใหญ่ขณะนั้นอยู่แล้ว การทำหน้าที่ของท่านก็กำลังเป็นไปแบบมองดูแล้วหลับตาไม่ลงทั้งท่านผู้อื่นและเรา
ขณะที่ท่านจะสิ้นลมจริง ๆ รู้สึกว่าอาการทุกส่วนของท่านอยู่ในความสงบ และละเอียดมากจนไม่มีใครจะสามารถทราบได้ว่า ท่านสิ้นลมไปในขณะใดนาทีใด เนื่องจากลมหายใจของท่านละเอียดเข้าเป็นลำดับ จนไม่ปรากฏว่าท่านสิ้นไปเมื่อไร เพราะไม่มีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งแสดงอาการในวาระสุดท้ายพอให้ทราบได้ว่าท่านสิ้นไปในวินาทีนั้น แม้จะพากันนั่งสังเกตอยู่เป็นเวลานานก็ไม่มีใครรู้ขณะสุดท้ายของท่าน
ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ซึ่งเป็นประธานอยู่ในที่นั้นเห็นท่าไม่ได้การ จึงพูดขึ้นว่า ‘นี่ไม่ใช่ท่านสิ้นไปแล้วหรือ ?’
จากนั้นท่านก็ดูนาฬิกาเป็นเวลา ๐๒.๒๓ น. จึงได้ยึดเอาเวลานั้นเป็นเวลามรณภาพของท่าน...”
ลัก...ยิ้ม
14-03-2016, 17:15
เหตุการณ์ในครั้งนั้น องค์หลวงตาเองพยายามสอดศีรษะเข้าไป เพื่อเฝ้าสังเกตดูภาพหลวงปู่มั่นนิพพานอย่างละเอียดลออในขณะที่จวนเจียนเต็มที่แล้วดังนี้
“...พระอรหันต์นิพพานนี้ไม่รู้นะ ดูพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเราละจ้อใหญ่ ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ก็มี เช่นอย่างหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทสก์ไปอยู่ข้างใน เราเอาหัวสอดเข้าดูท่าน เวลาท่านจะสิ้นลม.. ตาเราไม่กระพริบถึงขนาดนั้นน้ำตาพุ่งเลย สลดสังเวช
คุณพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นมีคุณเหลือล้นพ้นประมาณจริง ๆ น้ำตาร่วงเลย พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นล่วงไปขนาดนั้นเลย มันไม่ทราบขาดสะบั้นลงหมดเลยนะ ตัวเองเหมือนไม่มีความดี ความดีเหมือนอยู่กับท่านหมด พอท่านสิ้นลมปั๊บเหมือนว่าโลกธาตุจมไปตาม ๆ กันเลยนะ
อำนาจคุณเหลือล้นพ้นประมาณ .. เวลาท่านจะล่วงไปอีกก็เอาอีก ดูจ้ออยู่อย่างนี้ เราตาไม่กระพริบเลย หัวจ่อดูท่าน เวลาท่านจะไปจริง ๆ ลมหายใจมาสองสามงาบ พองาบที่สามอ่อนลง จากนั้นก็เบาลง ๆ ลมหายใจเบาลง ๆ ๆ และหายเงียบเลยนะ ไม่รู้ขณะท่านสิ้นเมื่อไร ไม่รู้ รู้ตั้งแต่ตอนต้น หายใจปากงาบ ๆ สามพักเท่านั้นละ จากนั้นก็อ่อนลงแล้วเงียบไป.. ไปเลย เราเห็นต่อหน้าต่อตา แหม.. น้ำตาเพราะอำนาจแห่งคุณของท่าน
แต่ก่อนท่านไม่เคยพูดนะ อยู่ด้วยกันมาสักกี่ปีท่านไม่เคยพูดว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ พอตอนวาระสุดท้ายนี่แหละ ‘ไปคราวนี้จะไม่กลับนะ’
เท่านั้นละ.. สะดุดเลย เราก็ดีนะ ท่านไม่เคยพูดนะ.. ไปคราวนี้จะไม่กลับล่ะ ท่านว่าไม่กลับก็คือว่าไปเลย สิ้นแล้ว
ผู้สิ้นกิเลสดับ ก็หมายถึงพระอรหันต์ดับ ไปคราวนี้จะไม่กลับ ท่านว่าเท่านั้น คำพูดคำเดียวนี่.. สะดุดจนกระทั่งทุกวันนี้...”
ลัก...ยิ้ม
18-03-2016, 17:48
หลวงปู่มั่นมรณภาพ หัวใจแทบสลาย
ท่านมีโอกาสอยู่จำพรรษาร่วมกับหลวงปู่มั่นโดยลำดับ ดังนี้ บ้านโคก ๑ พรรษา บ้านนามน ๑ พรรษา และแห่งสุดท้ายที่บ้านหนองผือ ๕ พรรษา สำหรับวันมรณภาพของหลวงปู่มั่นตรงกับเวลา ๒ นาฬิกา ๒๓ นาที ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี องค์หลวงตากล่าวถึงความรู้สึกในคืนที่หลวงปู่มั่นได้ถึงแก่มรณภาพดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานดังนี้
“... ในคืนนั้นท่านมรณภาพ เวลานั้นเกิดความโกลาหลอลหม่านแบบไม่มีใครช่วยใครได้ อย่างลึกลับในสมาคมมหาวิปโยคพลัดพรากในยามดึกสงัด ต่างองค์ต่างงุ่มง่ามลูบคลำไปตามความเซ่อซ่า ลืมสติสตัง มิได้กำหนดทิศทางมืดแจ้งอะไรเลย เพราะอำนาจความเสียใจไร้ชิ้นดี ที่เกิดจากความพลัดพรากแห่งดวงประทีป ที่เคยให้ความสว่างไสวมาประจำชีวิตจิตใจได้ดับวูบสิ้นสุดลง ปราศจากความอบอุ่นชุ่มเย็นเหมือนก่อนมา
บางท่านเป็นลมราวจะสลบล้มลงสิ้นใจไปพร้อมกับขณะท่านสิ้นลม เหมือนอะไร ๆ ก็สิ้นสุดไปตามท่านเสียสิ้น ราวกับทุกสิ่งได้ขาดสะบั้นหั่นแหลกเป็นจุลวิจุณไปเสียสิ้น ราวกับโลกธาตุนี้ไม่มีอะไรเป็นสาระ พอเป็นที่เกาะของจิตผู้กำลังกระหายที่พึ่ง ได้อาศัยเกาะพอได้หายใจแม้เพียงวินาทีหนึ่งเลย
ปรากฏแต่ท่านองค์เดียวเป็นชีวิตจิตใจเพื่อฝากอรรถฝากธรรม และฝากเป็นฝากตายทุกขณะลมหายใจเอาเลย ส่วนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์สาวก ใจก็ไม่ปรากฏว่าประมาท หากแต่ท่านอยู่ลึกตามความรู้สึกในขณะนั้น ไม่สามารถอาจเอื้อมรื้อฟื้นขึ้นมาเป็นที่พึ่ง และเป็นสักขีพยานได้อย่างใจหวัง เหมือนท่านซึ่งอยู่ตื้น ๆ ทั้งเห็น ๆ และซึมซาบถึงจิตใจอยู่ทุกขณะ ที่ท่านอบรมชี้แจงข้ออรรถข้อธรรมในเวลาสงสัยเรียนถามท่าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชนิดใดที่ตนไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพัง พอท่านเมตตาอนุเคราะห์ชี้แจงให้เท่านั้น เป็นตกไปในทันทีทันใด มิได้เผาลนหัวใจอยู่ต่อไปนานเลย
ลัก...ยิ้ม
22-03-2016, 18:25
‘นี้เป็นจุดที่สลักลึกลงในหัวใจ.. ทำให้เกิดความกระเทือนใจมากเวลาท่านพลัดพรากไป นั่งรำพึงแบบคนตายที่ยังหายใจอยู่ ในชีวิตพระเพิ่งมีครั้งนี้ในชีวิต’
ตาชำเลืองไปเห็นองค์ท่านที่นอนปราศจากลมหายใจและความรู้สึกใด ๆ ด้วยความสงบทีไร.. น้ำตาร่วงพรู น้ำตาร่วงพรูอย่างไม่เป็นท่าทุกที ทางภายในลมสะอึกสะอื้นในหัวอกหนุนให้เกิดความตื้นตันขึ้นมาปิดคอหอยแทบจะไปเสียในขณะนั้น มีสติระลึกขึ้นมาชั่วขณะว่า ‘เราจะไม่ขาดใจตายไปกับท่านเดี๋ยวนี้เชียวหรือ ?’
พยายามพร่ำสอนตนว่า ท่านตายไปด้วยความหมดห่วงอาลัยอันเป็นเรื่องของกิเลสโดยสิ้นเชิง แต่เราตายไปด้วยความห่วงอาลัย.. จะเป็นข้าศึกต่อตนเอง ด้วยอาลัยเสียดาย และความตายของเราไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่เราและแก่ท่าน
เวลาท่านมีชีวิตอยู่ก็มิได้สั่งสอนให้เราคิดถึงท่านและตายกับท่านแบบนี้ แบบนี้เป็นแบบที่แฝงอยู่กับโลกที่เขาใช้กันตลอดมา
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ‘ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคต ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต’ ฉะนั้น ความคิดถึงแบบนี้จึงยังไม่เข้ากับธรรมเหล่านี้ได้สนิท
สิ่งที่จะเข้ากันได้สนิท คือการปฏิบัติตนตามคำสอนที่ท่านสอนไว้แล้วอย่างไรด้วยความถูกต้องแม่นยำ นั่นเป็นความคิดถึงท่านโดยถูกต้อง
แม้จะตายเพราะการฝึกทรมานตนตามหลักธรรม ก็ชื่อว่าตายอย่างถูกต้อง ควรคิดและปฏิบัติตนตามแบบนี้ จะสมกับว่าเรามาศึกษากับท่านเพื่อเหตุเพื่อผล
จึงพอได้สติสตัง คิดน้อมเอาธรรมมายับยั้งชโลมใจที่กำลังถูกมรสุมพัดผันทั้งดวง และพอมีชีวิตรอดมาได้ ไม่จมลงแบบไม่เป็นท่าเสียแต่ครั้งนั้น...”
ลัก...ยิ้ม
28-03-2016, 16:12
https://public.blu.livefilestore.com/y3pFc1Nks7HP0UtV_FMApgidtHBTIisN_qw2x9UfY_fIdVRi42_pW4w-pCP6H_YVY_F4G_uo60qOdW_WAHKVddRUCGIIkXqFAz9udbw2ZYLoAUoWjktJVe5XpTMRDlx4ayP/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99.jpg?psid=1
ผู้มีพระคุณสูงสุดจากไป.. อาลัยอาวรณ์สุดประมาณ
ด้วยสมาธิที่แน่นหนาและด้วยความเพียรด้านปัญญาอย่างจริงจัง ทำให้ท่านสามารถถอดถอนกิเลสออกได้เป็นลำดับ ๆ ไป จนก้าวเข้าถึงความละเอียดอ่อนของจิต และเห็นอวิชชาในจิตเป็นของอัศจรรย์ เป็นของน่ารัก.. น่าสงวน น่าติดข้อง น่าเฝ้ารักษาอยู่อย่างนั้น เป็นอัศจรรย์ทั้งวันทั้งคืน ระยะนี้อยู่ในช่วง ๔ เดือนก่อนหน้าที่หลวงปู่มั่นจะมรณภาพ
ถึงแม้สติปัญญาจะเป็นอัตโนมัติหมุนตลอดทั้งวันทั้งคืน หรือแม้จิตจะละเอียดเพียงใดแต่ยังมีภาระทางงานทางใจอยู่ ยังต้องการครูบาอาจารย์ที่เป็นที่ลงใจ และสามารถช่วยชี้แนะจุดสำคัญที่กำลังติดอยู่นี้ให้ผ่านพ้นไปได้ การมรณภาพของหลวงปู่มั่นจึงทำให้เกิดความสลดสังเวชแก่ท่านอย่างเต็มที่ ดังนี้
“... วันท่านอาจารย์มั่นมรณภาพ ได้เกิดความสลดสังเวชอย่างเต็มที่ จากความรู้สึกว่าหมดที่พึ่งทางใจแล้ว เพราะเวลานั้นใจก็ยังมีอะไร ๆ อยู่ และเป็นความรู้ที่ไม่ยอมจะเชื่ออุบายของใครง่าย ๆ ด้วย
เมื่อชี้ไม่ถูกจุดสำคัญที่เรากำลังติดและพิจารณาอยู่ได้อย่างท่านอาจารย์มั่นเคยชี้ ซึ่งเคยได้รับผลจากท่านมาแล้ว ทั้งเป็นเวลาเร่งความเพียรอย่างเต็มที่ด้วย
ฉะนั้น เมื่อท่านอาจารย์มั่นมรณภาพแล้วจึงอยู่กับหมู่คณะไม่ติด คิดแต่จะอยู่คนเดียวเท่านั้น จึงพยายามหาที่อยู่โดยลำพังตนเองและได้ตัดสินใจว่า จะอยู่คนเดียวจนกว่าปัญหาของหัวใจทุกชนิดจะสิ้นสุดลงจากใจโดยสิ้นเชิง จึงยอมรับและอยู่กับหมู่เพื่อนต่อไปตามโอกาสอันสมควร...”
ลัก...ยิ้ม
31-03-2016, 18:09
เมื่อการมรณภาพของหลวงปู่มั่นผ่านไป ผู้คนที่อยู่แวดล้อมเรือนร่างองค์หลวงปู่มั่นก็เริ่มเบาบางลง
โอกาสเช่นนั้น ท่านจึงเข้าไปกราบที่เท้า และนั่งรำพึงรำพันปลงความสลดใจสังเวช.. น้ำตาไหลนองอยู่ปลายเท้าเกือบ ๒ ชั่วโมง พร้อมทั้งพิจารณาธรรมในใจของตนเองกับโอวาทที่หลวงปู่มั่นให้ความเมตตา.. อุตส่าห์สั่งสอนมาเป็นเวลาถึง ๘ ปีที่อาศัยอยู่กับท่านว่า
“... การอยู่เป็นเวลานานถึงเพียงนั้น แม้คู่สามีภรรยาซึ่งเป็นที่รักยิ่ง หรือลูก ๆ ผู้เป็นที่รักของพ่อแม่ อยู่ด้วยกัน ก็จะต้องมีข้อข้องใจต่อกันเป็นบางกาล แต่ท่านอาจารย์กับศิษย์ที่มาพึ่งร่มเงาของท่าน เป็นเวลานานถึงเพียงนี้ ไม่เคยมีเรื่องใด ๆ เกิดขึ้น
ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งเป็นที่เคารพรักและเลื่อมใสหาประมาณมิได้ ท่านก็ได้จากเราและหมู่เพื่อนผู้หวังดีทั้งหลายไปเสียแล้วในวันนั้น
อนิจจา วต สังขารา เรือนร่างของท่านนอนสงบนิ่งอยู่ด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสและอาลัยยิ่งกว่าชีวิต จิตใจซึ่งสามารถสละแทนได้ด้วยความรักในท่านกับเรือนร่างของเราที่นั่งสงบกาย.. แต่ใจหวั่นไหวอยู่ด้วยความหมดหวัง และหมดที่พึ่งต่อท่านผู้จะให้ความร่มเย็นต่อไป
ทั้งสองเรือนร่างนี้รวมลงในหลักธรรมคือ อนิจจา อันเดียวกัน ต่างก็เดินไปตามหลักธรรมคือ อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เกิดแล้วต้องตาย จะให้เป็นอื่นไปไม่ได้
ส่วนหลวงปู่มั่น ท่านเดินแยกทางสมมติทั้งหลายไปตามหลักธรรมบทที่ว่า เตสัง วูปสโม สุโข ท่านตายในชาติที่นอนสงบ ให้ศิษย์ทั้งหลายปลงธรรมสังเวชชั่วขณะเท่านั้น
ต่อไปท่านจะไม่มาเป็นบ่อแห่งน้ำตาของลูกศิษย์เหมือนสมมติทั่ว ๆ ไป เพราะจิตของท่านที่ขาดจากภพชาติ เช่นเดียวกับหินที่หักขาดจากกันคนละชิ้น จะต่อให้ติดสนิทกันอีกทีไม่ได้ ฉะนั้น...”
ท่านนั่งรำพึงรำพันอยู่ด้วยรู้สึกหมดหวังในใจว่า “ปัญหาทั้งหมดภายในใจที่เคยปลดเปลื้องกับท่าน บัดนี้เราจะไปปลดเปลื้องกับใคร ? และใครจะมารับปลดเปลื้องปัญหาของเราให้สิ้นซากไปได้เหมือนอย่างท่านอาจารย์มั่นไม่มีแล้ว
เป็นกับตายก็มีเราคนเดียวเท่านั้น เช่นเดียวกับหมอที่เคยรักษาโรคเราให้หายไม่รู้กี่ครั้ง ชีวิตเราอยู่กับหมอคนเดียวเท่านั้น แต่หมอผู้ให้ชีวิตเรามาประจำวันก็ได้สิ้นไปแล้วในวันนี้ เราจึงกลายเป็นสัตว์ป่าเพราะหมดยารักษาโรคภายใน”
เมื่อนั่งอาลัยอาวรณ์ถึงหลวงปู่มั่นด้วยความเคารพรักและเลื่อมใส พร้อมทั้งรู้สึกหมดหวังที่พึ่งทางใจระคนกันไป แต่แล้วท่านก็กลับได้อุบายต่าง ๆ ขึ้นมาในขณะนั้นว่า
“... วิธีการสั่งสอนของท่านเวลามีชีวิตอยู่.. ท่านสั่งสอนอย่างไร ? ต้องจับเงื่อนนั้นแลมาเป็นครูสอน และท่านอาจารย์มั่นเคยย้ำว่า ‘อย่างไรอย่าหนีจากรากฐาน คือผู้รู้ภายในใจ เมื่อจิตมีความรู้สึกแปลก ๆ ซึ่งจะเกิดความเสียหาย ถ้าเราไม่สามารถพิจารณาความรู้ประเภทนั้นได้ ให้ย้อนจิตเข้าสู่ภายในเสีย อย่างไรก็ไม่เสียหาย’ …”
หลวงปู่มั่นสอนไว้อย่างนี้ ท่านก็จับเอาเงื่อนนั้นไว้ แล้วนำไปปฏิบัติต่อตนเองจนเต็มความสามารถ
ลัก...ยิ้ม
07-04-2016, 11:47
ข่าวหลวงปู่มั่นกระจายทั่วประเทศ
ท่านเล่าถึงบรรยากาศในช่วงเตรียมงานฌาปนกิจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความดีงามและความพร้อมเพรียงสามัคคีของพี่น้องชาวสกลนคร ทำให้ท่านฝังลึกลงสู่จิตใจอย่างไม่มีวันหลงลืมได้เลย ดังนี้
“... พอรุ่งเช้า ทั้งพระผู้ใหญ่ ทั้งข้าราชการทุกแผนกในตัวจังหวัด ทราบข่าวมรณภาพของท่านอาจารย์ ต่างก็รีบออกมากราบเยี่ยมศพท่าน และปรึกษาหารือกิจกรรมเกี่ยวกับศพท่าน ว่าจะควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อความเหมาะสม และเป็นการถวายเกียรติโดยควรแก่ฐานะท่านที่เป็นพระอาจารย์องค์สำคัญ ที่ประชาชนเคารพเลื่อมใสมากแทบทั่วประเทศไทย พร้อมกับนำเรื่องท่านไปออกข่าวทางวิทยุและหนังสือพิมพ์ เพื่อประชาชนที่เป็นลูกศิษย์และผู้ที่เคารพเลื่อมใสท่าน ซึ่งอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกลได้ทราบโดยทั่วกัน
พอข่าวท่านมรณภาพกระจายไปถึงไหน ทั้งประชาชนและพระเณรทั้งใกล้และไกล ต่างพากันหลั่งไหลมากราบเยี่ยมศพท่านถึงที่นั้นมิได้ขาด นับแต่วันมรณภาพจนถึงวันถวายฌาปนกิจศพท่าน ทั้งที่มากลับและมาค้างคืน โดยมากที่มาจากทางไกลก็จำต้องค้างคืน เพราะการคมนาคมไม่ค่อยสะดวกเหมือนทุกวันนี้ ... ศพท่านทั้งฝ่ายพระผู้ใหญ่ และข้าราชการเห็นต้องกันว่า ควรเก็บไว้จนถึงเดือนสามข้างขึ้น คือต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ค่อยถวายฌาปนกิจศพท่าน ด้วยเหตุนี้จึงได้พร้อมกันจัดหีบถาวรเพื่อบรรจุศพท่าน
ลัก...ยิ้ม
08-04-2016, 18:09
ในวันต่อมาเวลาบ่าย ๔ โมง ประชาชน พระเณรจำนวนมากมายพร้อมกันสรงน้ำศพท่าน เสร็จแล้วเอาผ้าขาวพับห่อพันองค์ท่านหลายชั้น ภายนอกจีวรที่ครองถวายเรียบร้อย แล้วอาราธนาเข้าในหีบศพถาวร หลังจากนั้นคณะศรัทธามากท่าน มีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เป็นประธาน ปรึกษากันตกลงจัดให้มีการสวดมนต์ถวายท่านทุกคืน และมีการแสดงธรรมด้วยในวาระเดียวกัน ส่วนหีบศพท่านด้านหน้าปิดด้วยกระจก เพื่อท่านผู้มาแต่ไกลยังไม่เห็นองค์ท่าน ประสงค์อยากดูย่อมเป็นความสะดวก.. ไม่เสียใจว่ามาถึงแล้วไม่ได้เห็นท่าน
การสวดมนต์ถวายท่าน มีประชาชนและพระเณรมาร่วมพิธีวันละมาก ๆ งานคราวนี้ได้เห็นน้ำใจที่พี่น้องชาวสกลนครเรา ทั้งท่านข้าราชการทุกแผนก ตลอดจนพ่อค้าประชาชนทั่วหน้ากัน ที่มีศรัทธาแข็งแรงและห้าวหาญในการบริจาคและเอาการเอางานในธุระหน้าที่ ไม่มีความย่อท้ออ่อนแอเลย นับแต่วันท่านอาจารย์ไปถึงและมรณภาพ จนถึงวันงานถวายฌาปนกิจศพท่าน พี่น้องชาวสกลนครเราต่างวิ่งเต้นขวนขวาย ที่จะให้พระเณรได้รับความสะดวกในปัจจัยสี่ และกิจการใหญ่โตที่ขวางหน้าอยู่ให้สำเร็จไปด้วยดีและมีเกียรติ โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยและสิ้นเปลืองใด ๆ ทั้งสิ้น
พระมากมายที่มากราบนมัสการเยี่ยมศพท่านอาจารย์ ในระหว่างก่อนจะถึงวันงานเป็นเวลาสามเดือน และพระเณรอยู่ประจำเพื่อดูแลกิจการจำนวนเป็นร้อยขึ้นไป พี่น้องทั้งหลายมิได้ย่อท้อ ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยต่างพร้อมใจกันมีศรัทธาใส่บาตรจนกว่าพระเณรจำนวนมากจะผ่านไปหมดทุกองค์.. แทบเป็นลม แม้เช่นนั้นก็ไม่ยอมลดละความเพียร คงพร้อมกันพยายามโดยสม่ำเสมอ อาหารบิณฑบาตไม่เคยบกพร่องเลย มีแต่เหลือเฟือตลอดสาย ไม่ว่าพระเณรจะมาเพิ่มมากเพียงไร ไม่มีวิตกวิจารณ์ว่าอาหารจะบกพร่องขาดเกิน ... ผู้เขียนไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้เห็นความอดทน ความทนทาน ความเสียสละทุกด้านของพี่น้องดังกล่าวขนาดนี้ พอเห็นแล้วถึงใจ.. จำติดตาติดใจไม่ลืมเลย จึงขอจารึกไว้ในใจตลอดจนอวสาน ไม่มีวันหลงลืมเลย ..
พระเณรที่มาช่วยดูแลงานที่ควรทำ เพื่อเตรียมรับท่านที่มาในงานโดยมีฆราวาสญาติโยมเป็นแรงงาน ก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย เพราะเพียงระหว่างที่ยังไม่ถึงวันงานก็มีพระเณรมากอยู่แล้ว ยิ่งถึงวันงานเข้าจริง ๆ ได้กะการกันไว้ว่า ทั้งพระเณรและฆราวาสที่จะมาในงานนี้ต้องเป็นจำนวนหมื่นขึ้นไป ฉะนั้นจำต้องพากันเตรียมจัดทำปะรำต่าง ๆ ทั้งที่พักทั้งโรงครัวไว้มากเท่าที่จะมากได้...
พอจวนวันงานจะมาถึง พระเณรและประชาชนนับวันหลั่งไหลมาทุกทิศทุกทางทั้งใกล้ทั้งไกล ... งานนี้ไม่มีมหรสพคบงันใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นงานกรรมฐานล้วน ๆ เครื่องไทยธรรมที่ประชาชนต่างมีศรัทธานำมาสมโภชโมทนาช่วยเหลือในงานนี้ อยากจะพูดว่ากองเท่าภูเขาลูกย่อม ๆ เรานี่เอง ... อาหารมีมากจนเหลือเฟือ ตลอดงานไม่มีอดอยากขาดแคลนเลย ไม่เคยปรากฏว่ามีการดื่มเหล้าเมาสุรา ทะเลาะวิวาทฆ่าตี และฉกลักขโมยปล้นจี้สิ่งของของกันและกันเลย ..
ตอนกลางคืนราว ๒ ทุ่ม มีการสวดมนต์และมาติกาบังสุกุลถวายท่านทุกคืน และมีการแสดงธรรมทุกคืน ตอนเช้าหลังจากเสร็จแล้วมีการมาติการบังสุกุลไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยมีกำหนดเวลาตายตัวนัก เพราะศรัทธาและพระเณรมีมาก .. รายชื่อของพระเณรที่มาในงานทางกองบัญชีพระได้จดชื่อ และฉายาท่านไว้พร้อมแล้วแต่ขณะท่านมาถึงวัดทีแรก ...”
ลัก...ยิ้ม
11-04-2016, 16:35
https://public.bl3301.livefilestore.com/y3prBHzCa7qzeEYfE6rDuWSyzqmLxp4aN1RV1ceQ2ignIPTdPZS9X5kJ-5FSUEm3caMF8qiz6B6F11oLOzLgee7p253XURv2E4hec1MufWyMqCqidj9WpI2oTw0chnVK7qH/%E0%B8%9A%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B9%87%E0%B8%8D%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A32.jpg?psid=1
๖. เข้าถึงธรรมธาตุ
สภาวจิตขั้นละเอียดขององค์หลวงตา ทำให้ท่านต้องหลีกเร้นออกจากหมู่คณะ เพื่อหาสถานที่บำเพ็ญขั้นอุกฤษฎ์ จนถึงกระทั่งค่ำคืนอันเงียบสงัด บนเทือกเขาภูพาน จิตของท่านก็สามารถปล่อยวางภาระ.. สิ้นเครื่องผูกพัน หลุดพ้นจากอาสวกิเลส เป็นสอุปาทิเสสนิพพานสมความตั้งใจ
ลัก...ยิ้ม
12-04-2016, 17:13
มหาสติมหาปัญญา
“ของกลาง” มัดตัว
เมื่อได้อาราธนาศพหลวงปู่มั่นไว้ที่วัดป่าสุทธาวาสแล้ว ท่านก็หลบไปหาภาวนาอยู่ตามป่าตามเขา ตามธรรมดาจะไปคนเดียว แต่ครั้งนี้มีพระติดตามด้วยองค์หนึ่ง ไม่ว่าจะไล่อย่างไรก็ไม่กลับ เลยติดตามไปจนได้ ดังนี้
“... เป็นพรรษาที่ ๑๖ นะ นั่นละตอนที่เรากำลังหมุนติ้ว ใครติดตามไม่ได้ ท่านสีทาแอบตามไปจนได้ เราไล่ไปอยู่โน่น.. คนละฟากป่าโน่น เราอยู่ที่นี่ให้เหมือนอยู่คนเดียว เรียกว่าไม่ให้พบกันเลยทั้งวัน บิณฑบาตท่านก็ไปสายหนึ่ง เราก็ไปสายหนึ่งไม่เห็นกัน... ไปบิณฑบาตมันก็หมุนของมันตลอด ๆ ใครใส่บาตรไม่ทราบผู้หญิงผู้ชาย ไม่สนใจนะ จิตจะทำงานนี้ตลอด ๆ ได้มาฉันเพียงพอมีชีวิตให้อยู่เป็นไปเท่านั้น แม้เวลาฉันจังหันจิตก็ไม่ได้อยู่กับอาหารการกินนะ มันจะหมุนของมันระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกัน นี่ละเวลาธรรมมีกำลังแล้ว.. กิเลสอยู่ที่ไหนมันตามเผาตามฟันกันแหลก ๆ ..
มาพบกันเวลาฉัน นอกนั้นไม่พบกันเลยเพราะเราต้องการอยู่คนเดียว อันนี้แอบติดตามเราเหมือนปลิงมันเกาะติดนั่นเอง จึงบังคับให้ไปอยู่ทางโน้น กลางค่ำกลางคืนเวลาไหนห้ามไม่ให้มาหาเรา เราบอกกันอย่างนี้ .. เราหลบหนีขนาดไหนวิ่งตามเราไปได้ ..
‘ถ้ายังเห็นเราอยู่ที่ร้านนี้เมื่อไร อย่าเข้ามานะ ถ้าจะมาทำอะไรก็ให้มาตอนเราไปเดินจงกรม’
เราบอกอย่างนั้น เพราะทางจงกรมของเราอยู่ในป่า .. เราก็อยู่ทางนี้ พระองค์นั้นอยู่ทางโน้น พอดีอันนี้เป็นเขื่อนลำน้ำอูนนี่นะ นี่มันอยู่ข้าง ๆ ที่เราพักน่ะ ที่เราพักนั้นก็เหมาะดี ภาษาอีสานเรียกว่าไม้บง ไม้ไผ่บง อู้ย ! ร่มเย็น เราก็เดินจงกรมตรงนี้สบาย
ลัก...ยิ้ม
27-04-2016, 11:17
ที่นี้เขาก็มาทอดแหตรงที่มันเป็นคุ้งน้ำ เราเห็นเขาทอดแห.. เสียงอึกทึกครึกโครมเราก็เลยหนีไปอยู่ในป่าลึก ๆ เราไปเดินจงกรมอยู่โน่น จนกระทั่งมืดเราถึงมา
อันนี้เรื่องถึงบทมันนะ ไอ้เณรนั่นจำชื่อมันได้จนกระทั่งบัดนี้ ชื่อ “เณรแปลง” มาจากบ้านหนองโคก เณรแปลงมันมีผ้าเช็ดตัวผืนหนึ่ง มันออกเข้าไปวัดป่าหนองบัว ก็เดินผ่านป่าของเราที่พักอยู่นั่นไป
เวลาไปนั้น เณรแปลงมันไปเผลออย่างไรไม่ทราบ ผ้าที่พาดบ่ามานี้ตกหล่นลงข้างทางที่ชาวบ้านเขาขึ้นมาจากห้วยอูน ขากลับมาเณรไม่เห็นผ้าจึงพูดให้พระฟังว่า ‘โอ๊ย ! ผ้าผมหาย’ พูดกับพระองค์ที่มากับเราฟัง
ทีนี้พวกที่เขาตกปลาเสร็จแล้วก็ขึ้นมา เห็นผ้านี้ตกอยู่ ผู้เห็นทีแรกนั้นไม่ได้ว่าแผ่ปลาล่ะ บอก ‘ครูบาวัดนี้ทำผ้าตก’ จึงเอาผ้าไปพาดไว้
พอผู้มาทีหลังเห็น จึงนึกว่าเป็นสัญลักษณ์ว่าพระแผ่ปลา (ขอบิณฑบาตปลา) เขาจึงร้อยปลาเป็นพวงแล้วก็แขวนไว้ข้าง ๆ ร้านเราที่เราพัก ไอ้เราไม่รู้เรื่อง เราอยู่ในป่าโน้น
นี่สิ ! ที่ว่าเหตุผลมันถูกมัดใช่ไหมล่ะ มันหากเป็นของมันเองอย่างนี้แหละ ทีนี้พอตอนเช้าเราออกบิณฑบาตกลับมา ชาวบ้านเขามาคอยอยู่แล้ว เขาก็ร้อยปลามา.. นี่เป็นครูบาองค์ที่ไปแผ่ปลาเขาเมื่อวานใช่ไหม ?
‘โยม ! ทำไมว่าอย่างงั้น’ เราก็ว่าอย่างนี้
‘ก็เห็นเอาผ้าเหลืองผืนหนึ่งพาดไว้นั้น เขาก็ร้อยปลาแล้วก็แขวนไว้ตรงจุดเดียวกันนั้น’
‘แล้วกัน ยังไงกันนี่ ไหนไปเรียกพระองค์นั้นมาดูสิ’
ก็เรียกพระอีกองค์นั้นมา มาก็มาถาม ‘ท่านรึเปล่า ไปแผ่ปลาเขาเมื่อวานนี้’ เราว่าอย่างนั้นนะ ‘ฮึ แผ่ตอนไหน อ้าว ! ไม่ได้แผ่’ พระองค์นั้นก็งงอีกเหมือนกันนั่นแหละ
‘ไม่แผ่จะเป็นใคร มันก็มีเรา ๒ คนเท่านั้นในป่านี้ ต้องจับเรา ๒ คนเท่านี้’ นี่เห็นไหม เหตุผลของกลางมันมัดแล้วใช่ไหมล่ะ มันก็มีเรา ๒ คนนี่ พระที่ไหน จะมาอยู่ที่นี่ เรา ๒ คนเท่านั้นจะติดคุกติดตะราง แล้วก็ซักพระองค์นั้น พระองค์นั้นก็หน้าเสียหมด พองงไปงงมาเลยระลึกได้
‘อ้อ ! เมื่อวานนี้เณรแปลงมันมานี่ บอกผ้าหาย ผ้าหายไม่ทราบหายตรงไหน ถ้างั้นอาจจะใช่ ไหน...มาดูผ้าดีกว่า เอาผ้ามาดู’
พอเริ่มหัวเราะกันได้บ้างล่ะที่นี้นะ เพราะมันมีช่องออกได้แล้วนี่ ให้ตามไปหาเณรแปลงบ้านหนองโคกนะ ให้โยมนี่ไป ไปถามว่า ‘ผ้านี้เป็นผ้าของเณรแปลงจริงไหม’
พอเณรเห็น เณรก็หัวเราะแย้ก ๆ ‘โอ๊ย ! ใช่แล้ว ผ้าของผมเอง’ (หัวเราะ) ‘โอ๊ย ! ผ้านรก ผ้าอเวจี ผ้าเทวทัต มันไปทำลายเราอยู่ในป่า เอาเผาไฟนะ ผ้านี้มันไม่ได้เป็นมงคลแล้วผ้านี้’ เราก็บอกอย่างนั้น...”
เรื่องนี้เป็นข้อคิดว่า หากบังเอิญ “ของกลาง” ไปเกี่ยวข้องพาดพิงด้วยพยานหลักฐานต่าง ๆ แบบสมเหตุสมผลแล้ว อาจมัดตัวคนดีให้ติดคุกติดตะรางได้ แม้ไม่ได้ทำผิดเลย
ลัก...ยิ้ม
04-05-2016, 17:29
ปัญญาปริภาวิตัง จิตตัง
สัมมเทว อาสเวหิ วิมุจจติ
จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ
ลัก...ยิ้ม
09-05-2016, 12:47
ไตรลักษณ์อย่างหยาบ กลาง ละเอียด
“... เมื่อจิตยังไม่สงบ เราจะพิจารณาสิ่งใดก็ไม่ชัดเจน แม้จะพิจารณาทางปัญญาก็กลายเป็นสัญญาไปเสียโดยมาก นี้หมายถึงสัญญาที่จะก่อเหตุเป็นสมุทัย สะสมเป็นกิเลสขึ้นภายในใจ เพราะความรู้ความเห็นที่มาผ่านทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อใจได้รับความสงบแล้ว จะพิจารณาสภาวธรรมก็เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เช่นเดียวกับบุคคลที่กำลังหยุดนิ่งอยู่ มองดูอะไรก็เห็นชัด ฉะนั้น สมาธิพระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญมา คำว่า “สมาธิ” นี้ หมายถึงความสงบของใจ หรือความแน่นหนามั่นคงของใจ เมื่อใจได้รับความสงบแล้ว ความสุขจะปรากฏขึ้นมาในขณะนั้น ถ้ายังไม่สงบก็ยังไม่ปรากฏเป็นความสุขขึ้นมา เมื่อมีความสงบสุขแล้ว.. เราพอมีช่องทางจะพิจารณาทางปัญญา
คำว่า “ปัญญา” หมายถึงความสอดส่อง มองดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ทะลุปรุโปร่งเป็นลำดับ หรือความแยบคาย ออกจากใจอันเดียว สัญญา คือความจำ ปัญญา คือความคลี่คลายในสิ่งที่ตนจดจำไว้นั้น เช่นเดียวกับเรามัดไม้หลายกิ่งหลายแขนงเข้าเป็นมัด ๆ สัญญาเช่นเดียวกับตอกหรือลวดที่เรามัดไม้เป็นกำไว้ ปัญญาเป็นผู้คลี่คลายไม้ที่เรามัดไว้นั้น ให้เห็นว่ามีกี่ชิ้นด้วยกัน มีไม้อะไร และชื่อว่าอะไรบ้าง เรื่องของปัญญาจึงเป็นธรรมชาติ.. คลี่คลายดูสภาวธรรมซึ่งเป็นของมีอยู่ในตัวของเรา
อนึ่ง คำว่า “สมาธิ” การทำใจให้มีความสงบเยือกเย็น ท่านผู้ฟังทั้งหลายคงจะเคยได้ทราบแล้วว่ามีหลายขั้น ขณิกสมาธิ จิตที่รวมลงเพียงขณะเดียวแล้วถอนขึ้นมาเสีย อุปจารสมาธิ คือสมาธิที่รวมสงบแล้วถอนออกมาเล็กน้อยแล้วออกรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มาสัมผัสใจในขณะนั้น จะเป็นเรื่องสัตว์ บุคคล หรือภูติผีก็ตาม จัดเข้าในวงอุปจารสมาธินี้ ส่วนอัปปนาสมาธิ จิตที่หยั่งลงแล้วมีความสงบอย่างเต็มที่ และรวมอยู่ได้เป็นเวลานาน ๆ คำว่า “อัปปนาสมาธิ” นี้มีความหมายกว้างขวางมาก จิตรวมอยู่ได้นานด้วยมีความชำนิชำนาญในการเข้าออกของสมาธิด้วย ต้องการเวลาใดได้ตามความต้องการด้วย
แต่เราผู้บำเพ็ญในทางปัญญานั้น ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้วจึงจะต้องพิจารณาทางปัญญา เรื่องของสมาธิ คือความสงบ จะสงบมากน้อยพึงทราบว่า เป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาคือปัญญาเป็นขั้น ๆ ไป เพราะปัญญามีหลายขั้น ขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด สมาธิในขั้นหยาบก็เป็นบาทฐานของวิปัสสนาขั้นหยาบได้ ขั้นกลาง ขั้นละเอียดก็เป็นบาทฐานของปัญญาขั้นกลาง ขั้นละเอียดได้ และในขณะเดียวกันพึงทราบว่า สมาธิกับปัญญานั้นเป็นธรรมคู่เคียงโดยจะแยกจากกันไม่ออก ควรใช้ปัญญาคู่เคียงกันไปกับสมาธิตามโอกาสอันควร คือถ้าเราจะดำเนินในทางสมาธิโดยถ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องปัญญาเลยแล้ว จะเป็นเหตุให้ติดสมาธิคือความสงบ
เมื่อจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว ต้องพิจารณาในทางปัญญา เช่นพิจารณาธาตุขันธ์โดยทางไตรลักษณ์ วันนี้ก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันหน้าก็พิจารณาอนิจจา ทุกขัง อนัตตา ไตร่ตรองอยู่เช่นนี้ทุกวันทุกคืนไป ไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่ชำนาญในทางปัญญา ต้องมีความคล่องแคล่วชำนาญเช่นเดียวกันกับทางสมาธิ ปัญญาในเบื้องต้นต้องอาศัยการบังคับให้พิจารณาอยู่บ้าง ไม่ใช่จิตเป็นสมาธิแล้วจะกลายเป็นปัญญาขึ้นมาทีเดียว ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วกลายเป็นปัญญาขึ้นมาเอง โดยผู้บำเพ็ญไม่ต้องสนใจมาพิจารณาทางด้านปัญญาเลยแล้ว จิตก็ไม่มีโอกาสจะติดสมาธิ ดังที่เคยปรากฏดาษดื่นในวงนักปฏิบัติ ความจริงเบื้องต้นต้องอาศัยมาพิจารณา ปัญญาจะมีความคล่องแคล่วและมีความสว่างไสว ทั้งรู้เท่าทันกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้องเป็นลำดับ จะเป็นไตรลักษณ์ที่หยาบก็จะเห็นในทางปัญญา
ไตรลักษณ์อย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียดนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณา เช่นเราพิจารณาในส่วนร่างกายจัดว่าเป็นไตรลักษณ์ส่วนหยาบ พิจารณาในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จัดเป็นไตรลักษณ์ส่วนกลาง พิจารณาเรื่องจิตที่เป็นรากเหง้าแห่งวัฏฏะจริง ๆ แล้ว นั่นคือไตรลักษณ์ส่วนละเอียด เมื่อจิตได้ก้าวเข้าสู่ไตรลักษณ์ส่วนหยาบ ไตรลักษณ์ส่วนกลาง ไตรลักษณ์ส่วนละเอียด จนผ่านพ้นไตรลักษณ์ทั้งสามนี้ไปแล้ว ธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นในอันดับต่อไปอย่างไม่มีปัญหาใด ๆ นั้น จะเรียกว่า อัตตาก็ตาม อนัตตาก็ตาม ไม่เป็นไปตามความสมมุตินิยมใด ๆ ทั้งนั้น เพราะอัตตากับอนัตตาเป็นเรื่องของสมมมุติซึ่งโลกก็มีอยู่ด้วยกัน ธรรมชาติอันนั้นไม่ใช่สมมุติ โลกทั้งหลายจึงเอื้อมถึงได้ยาก เมื่อมีอัตตาและอนัตตาเป็นเครื่องเคลือบแฝงอยู่ในใจ ...”
ลัก...ยิ้ม
17-05-2016, 19:14
ตื่นผี “อะแอ้ม”
เหตุการณ์อีกเรื่องหนึ่งอยู่ในที่บ้านเดียวกัน แต่ท่านไม่ได้ระบุช่วงเวลา ท่านว่าทำให้เห็นถึงความกลัวตาย กลัวผีของคนทั้ง ๆ ที่ถูกสอนให้ไม่เชื่อว่าผีมีจริง ดังนี้
“... เรื่องความกลัวตาย นี้มันทำให้ลืมศาสนาได้เหมือนกันนะ ... เขาเรียกบ้านแร่บ้านเร่ออะไร เราก็เคยไปอยู่ที่นั่นไปพักภาวนา มีบึงใหญ่ บึงนี้มีจระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งประจำอยู่ในบึงนั้น ถ้าถึงหน้าน้ำจริง ๆแล้ว น้ำอูนนี่แหละ เวลาน้ำล้นฝั่งมาก ๆ นี้ จระเข้ก็ออกจากบึงลงไปน้ำอูนนี่ไปเที่ยว พอจวนน้ำลดลงไปแล้วมันก็ปีนขึ้นมาอยู่ในบึง เพราะลำน้ำอูนกับบึงนี้ห่างกันดูเหมือนจะประมาณสักเพียง ๒ เส้น (๘๐ เมตร) เท่านั้นละมั้ง ?
บึงใหญ่มันอยู่ทางด้านนู้น แม่น้ำมันผ่านไปนี้ จระเข้ตัวนี้มันอยู่นี่ มันเคยเข้าเคยออกไปมาอยู่ตลอด มันรู้ทิศทางดี ถึงหน้าฝนนี่มันก็ลงเที่ยวไปตามลำน้ำอูนไปเรื่อย ไปที่ไหนมันก็ไป พอจวนน้ำจะลดลง ๆ จะสิ้นฤดูฝนแล้วมันก็มานี้แหละ ขึ้นเข้าบึงนี่ บึงนั้นเขาบอกว่าแรงมาก แรงจริง ๆ ใครไปทำอะไรไม่ได้ ภาษา (อีสาน) ทางเรานี่เรียกว่า มันเข็ดมันขวางมาก ทางนี้เขาเรียกว่ามันแรงมาก มันจะแสดงให้เห็นแปลก ๆ ต่าง ๆ แล้ววันนั้นก็อีตาสม (ท่านสม) ไปภาวนาอยู่ที่นั่น (หัวเราะ) ...
เขาบอกว่า ‘โอ๊ย.. อยู่ที่นี่มันแรงนะ มันจะแรงอะไร มันสู้ธรรมได้เหรอ’ นี่ละความโม้ความคุยมันเป็นกิเลสนะ กิเลสกับธรรมก็ฟัดกันล่ะซิ พอไปให้เขาทำทางจงกรมให้ ทำร้านอยู่สูงดูเหมือนจะขนาดนี้ละมั้ง (ชี้ไปที่ระดับใต้ถุนศาลา) เราก็ไม่เห็นไอ้ร้านบ้านั่นนะ ร้านท่านสมอยู่ ... เพราะเราไปพักทีหลัง เขาทำร้านไว้ คือเดินจงกรมแถวนี้ไม่ได้ น้ำเต็มอยู่ ต้องไปเดินบนฝั่งโน้น ให้เขาทำทางจงกรมให้บนฝั่ง นี่มันแปลกไหมล่ะ ? กำลังคนทำทางจงกรมอยู่มาก ๆ นี่นะ ชาวบ้านเขาไปทำทางจงกรมให้เรียบร้อย อยู่ ๆ หมาก็ไล่หมู่ป่ามา เห็นกันทั้งบ้านจะปฏิเสธกันได้อย่างไร ร่ำลือกันทั้งบ้าน (บ้านกุดละโฮง) ‘อู๊ย ผีบึง’
บึงนี้เขาเรียกกุดละโฮง เขาว่าผีบึงนี้แรงแท้ ๆ เห็นชัดเจนวันนี้ ก็เห็นกันทั้งบ้าน เขาไปทำทางจงกรม อยู่ ๆ หมาที่ไปทำงานกับเขานั้นแหละ ไปกับเจ้าของเขา มันก็ไล่หมูใหญ่มา โอ้โห.. หมูทอกโทนใหญ่โตวิ่งมา หมาก็เห่าว้อก ๆ ๆ ไล่กันมา หมา ๒ ตัว ๓ ตัว
ได้หมูตัวนั้นก็วิ่งบึ่งเข้ามาหาคน หมาก็ตามไล่มา พอมาถึงคนนี้วิ่งเข้ากอไผ่ห่าง ๆ นี้หายเงียบเลย หมูตัวนั้นไม่ทราบไปไหน ทีแรกก็เห็นเป็นหมูร้อยเปอร์เซ็นต์วิ่งมา คนก็แตกฮือล่ะซี หมาไล่มันมา มันก็วิ่งมา ๆ พอมาถึงนี้ ไปนี้เข้ากอไผ่ห่าง ๆ นะ หายเงียบไปเลย ต่างคนก็ต่างก็งงงันอั้นตู้ แล้วมันไปไหน ๆ ก็ไม่ทราบไปไหนก็ดูกันอยู่นี้
‘เอ๋ มันไปยังไงน้า’ ไอ้หมาก็เลยโลเล มาถึงที่นั่นหมาก็เลยโลเล หมูไปแล้วไม่ทราบไปที่ไหน
‘โธ่ ทำไมมันเตรียมท่าสู้เราแต่หัวปีนักนา ผีตัวนี้มันคงแรงจริง ๆ ตั้งแต่ทำทางจงกรมอยู่ มันก็ยังแสดงฤทธิ์อย่างนี้ ตอนกลางคืนนี้กับเราคงฟัดกันแน่ ๆ ละ’ เพิ่นว่านะ อีตาสมนี่มันคิดบ้าของมันคนเดียวนั่นแหละ ..
พอดีหกโมงเย็นจวนจะมืด ทางนี้ก็เตรียมท่าอยู่แล้ว คงจะฟัดกับผีนั่นแหละ พอดีกับคนคริสตศาสนาอยู่บ้านแร่ใกล้ ๆ กันนั้นแหละ มันไม่เชื่อว่าผีมี พวกนี้ไม่เชื่อว่าผีมี เขาก็ถือตามนั้นมา ทีนี้มันมาแขวนเบ็ดล่ะซี ตอนค่ำมาแขวนเบ็ดหรือปักเบ็ด ทางนี้ก็นั่งภาวนาอยู่ พอค่ำสักเดี๋ยวได้ยินเสียงเดินจ๋อมแจ๋ม ๆ ๆ มา
‘เอ๊ มันเริ่มแต่หัวค่ำนักนา’ (หัวเราะ) ไอ้อยู่ข้างบน (ท่านสม) นี่ ‘โธ่ มันเริ่มแต่หัวค่ำนะนี่ นี่ยังไม่มืดนะ’ มอง.. ลืมตาดูมันยังไม่มืด ‘มันทำไมมาแต่หัวค่ำนักนา” (หัวเราะ)
ทางนั้นพอปักเบ็ดเป็นพัก ๆ เขาก็หยุด พอปักเบ็ดตรงนั้นเสร็จ เขาก็จ๋อม ๆ มาเรื่อย มาปักตรงนี้แล้วก็จ๋อม ๆ มา ‘โถ ใกล้เข้ามาแล้ว’ (หัวเราะ) ใกล้เข้ามาทุกที ทางนี้ก็เสกคาถา ว่าอย่างนั้นนะ ท่านว่าชัด วิรูปักเขฯ จบ กรณีฯ จบว่างั้นนะ (หัวเราะ) มันยังจ๋อม ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ ‘โธ่ มันจะเอาจริง ๆ นะ’
มีแต่จะเอาจริง ๆ เรื่อย ๆ เข้ามา เห็นท่าไม่ได้การณ์คือมาใกล้ ๆ นี่ มันจะปักเบ็ดผ่านไปนี่ละเรื่องมัน พอมาถึงที่นี่แล้ว มาถึงนี้ เห็นท่าไม่ไหวกลัวมันจะปีนขึ้นไปหา ไม่ใช่อะไรนะ คาถาอะไรก็ไม่ได้เรื่องแล้ว ทางนี้เห็นไม่ไหวก็เลยสู้แบบกระแอมขึ้นว่า ‘อะแอ้ม’
พอกระแอม ‘อะแอ้ม’ ปรากฏว่าทางนั้นก็วิ่งเอาตายว่าเลย วิ่งเอาตัวรอด ฟังเสียงน้ำนี่แตกกระเจิงไปเลย วิ่งหนีตาย เข้าใจไหม นี่ละศาสนาคริสต์.. เขาว่าผีไม่มี ไม่มีเข้าใจไหม บทเวลากลัวผี โอ๋ย.. ไม่มีใครสู้ เลยเป็นไข้อยู่ ๓ วัน ไอ้ผีไม่มีเป็นไข้อยู่ถึง ๓ วัน มันวิ่งไปถึงบ้าน
‘โอ๊ย ใครจะว่าผีไม่มีอย่าไปเชื่อ เราเห็นด้วยตัวของเราเองแล้ว เสียงกระแอมเหมือนเสียงคนเทียวละ ผีมันอยู่บนหัวเราด้วยนะ’ ว่างั้นนะ
ก็ร้านเขาตั้งอยู่นี้ ไอ้นี้ก็หนีตายอย่างว่าละ ทางนี้ อะแอ้ม ขึ้นเลย ทางนั้นก็นึกว่าเป็นผี มันก็วิ่งเสียงน้ำแตกกระเจิงเลย ไปถึงบ้าน ใครว่าผีไม่มีอย่าไปเชื่อ เราเห็นด้วยตาเราเอง เสียงกระแอมเหมือนเสียงคนเชียวละ ที่แท้ (ท่านสม) กระแอม ทางนั้นก็วิ่งไปเป็นไข้ถึง ๓ วันนะ ไอ้กลัวผีเป็นไข้ถึง ๓ วัน
พอตอนเช้ามีท่านสมอยู่ที่นี่ องค์หนึ่งอยู่นู้น หัวบึงไกล ๆ โน่นนะ ตื่นเช้ามาก็โดดลงจากนี้ไปหาองค์นั้น ‘โถ พิลึกจริง ๆ มันฟัดผมตั้งแต่หัวค่ำ ผีนี่สำคัญมาก มันฟัดผมตั้งแต่หัวค่ำเลย’ ‘มันเป็นยังไงว่าซินะ’
‘ก็มาทีแรก มานี่เสียงจ๋อม ๆ เหมือนเสียงคน มาเป็นระยะ ๆ คาถาเสกเรื่อย เสกคาถาไหนก็ไม่มีความหมาย ๆ เข้ามาจนกระทั่งถึงใต้ร้านผมนี่แหละ ผมไม่มีทางสู้ก็เลยกระแอม บทเวลามันวิ่งนี้ แหม.. ผีตัวนี้สำคัญมากนะ เวลามาเดิมจ๋อม ๆ เหมือนเสียงคน เวลาไปเหมือนเสียงช้าง วิ่งน้ำแตกกระเจิงเลย ไปใหญ่เลย’
‘มันใช่เหรอ’ องค์นั้นว่า ‘ไม่ใช่ยังไง เมื่อคืนนี้ผมนอนไม่หลับเลยคอยต่อสู้มันอีก’
‘มันไม่ใช่นา ไม่ใช่คนหรอกเหรอ’
‘มันจะคนอะไร เสียงผีแท้ ๆ แต่มามันเหมือนเสียงคน เดิมจ๋อม ๆ บทเวลามันไปนี้ ผีร้อยเปอร์เซ็นต์เลย’
‘มันใช่เหรอ ไหนพาไปดูน่ะ ผมยังไม่เชื่อ ไม่ใช่เขามาหาปลาเหรอ ไม่ใช่เขามาแขวนเบ็ดเหรอ’ องค์นั้นว่างั้น ทีนี้ชักอ่อนลง ท่านสมนี่ ‘เอ ก็ไม่แน่ละ’ จึงไปดูกัน
พอไปดูแล้ว โอ๋ย.. คน รอยมันวิ่งตามมานี้ กระโดดขึ้นเนินเล็ก ๆ นี้ รอยมันแหลกหมดเลย ‘นี่เห็นไหมดูเสีย ทำอะไรไม่พินิจพิจารณาเป็นอย่างนี้ นี่จะไปโกหกชาวบ้านเขานะ ว่าผีเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้ดูเอานี่’
‘โอ๋ คนจริง ๆ แหละ’ ยอมรับ
เบ็ดนี้ปักไว้เป็นแห่ง ๆ เห็นเป็นพยาน มันวิ่งหนีแล้ว ไอ้ทางนั้นไข้ยังไม่หาย ๓ วัน นี่ศาสนาฝรั่งว่าผีไม่มี ๆ บทเวลามันได้กลัวเป็นไข้ ๓ วัน มันกลัวผีเห็นไหม.. นั่นละเวลากลัวตาย ศาสนาหมดเลย ศาสนาสอนว่าไม่มีผี.. หมดเลยวันนั้น ความกลัวตายพาเผ่นไปใหญ่ เป็นไข้ถึง ๓ วัน นี่พูดถึงเรื่องศาสนาว่าไม่มีผี ๆ ไม่มียังไง มันมีมาแต่โคตรแซ่ของพวกนี้ยังไม่เกิด ผีมีทุกแห่งทุกหน แต่นี่เป็นผีคนเท่านั้นแหละ ผีจริง ๆ มันก็มีอยู่อย่างนั้น...”
ลัก...ยิ้ม
27-05-2016, 12:13
หลวงปู่ฝั้นดัดสาวคะนอง
ท่านเล่าเหตุการณ์คราวหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างที่หลวงปู่ฝั้นท่านเป็นหัวหน้างาน กำลังควบคุมงานพาพวกลูกศิษย์ลูกหา พระเณร และประชาชนญาติโยมสานขัดแตะที่จะเผาศพหลวงปู่มั่น ดังนี้
“... อยู่ ๆ ก็มีเด็กผู้หญิงสองคนคึกคะนอง ขับจักรยานเข้ามานี่ พระท่านก็สานขัดแตะอยู่ ท่านอาจารย์ฝั้นเป็นหัวหน้าอยู่ ธรรมดา ๆ มันก็ขับรถมานี่ สะเปะสะปะมานี่ เฉียดพระนี่ ท่านเลย ‘มันอย่างไรเด็กเหล่านี้’ ท่านว่าอย่างนั้นนะ
‘มันไม่รู้ภาษีภาษาอะไร’ พอว่าอย่างนั้นท่านบอกว่า ‘เอา.. จะให้มันล้มให้ดู จะไม่ให้เจ็บ’ ท่านบอกอย่างนั้นนะ ‘จะให้มันล้มให้ดู ขายหน้ามันสักหน่อย แต่ไม่ให้เจ็บ’ ท่านบอกอย่างนั้นนะ
ทีนี้พระเณรก็ปล่อยหมด คอยจ้องเลยเพราะท่านพูดเสียงดังด้วยนะ
‘มันเก่งนักเด็กเหล่านี้นะ เอาศาสนาปราบมัน’ ขับมาสะเปะสะปะมานี่แล้วเฉียดพระมานี่นะ ท่านก็นั่งอยู่นั้น ... พอออกไปก็ลงตูมเลย ทีนี้พระเณรหัวเราะกันลั่น.. เปิดเลย ป่านนี้มันกลับมาแล้วยังไม่รู้นะ เห็นไหมล่ะ พอว่าอย่างนั้น เห็นไหมล่ะ บาปมีบุญมีมาประมาทได้เหรอท่านว่า ท่านบอกว่าจะให้มันล้มให้ดู พระเณรได้ยินหมดเลย เฉียดพระมานี่ มันคึกคะนอง ไปนั่นก็ล้มทั้งสองต่อหน้าพระ
ทีนี้พระจ้องอยู่แล้ว กำลังสานขัดแตะปล่อยมือหมด จ้องคอย เพราะฟังเสียงคำพูดท่าน คอยดูจังหวะมันจะออก ตามที่ท่านสั่งพอว่าก็ตูมเลย อู๊ย.. มันอายมากนะ นี่แก้กันตกกับมันทะลึ่งพอไปแล้ว เห็นไหม.. บาปมีบุญมีมาประมาทได้เหรอ ท่านอาจารย์ฝั้นมีพลังจิตมาก...แรง...”
ลัก...ยิ้ม
03-06-2016, 18:56
พิธีถวายเพลิงปรากฏเหตุอัศจรรย์
เมื่อถึงเวลาเคลื่อนย้ายหลวงปู่มั่นขึ้นสู่เมรุ ความเศร้าโศกร่ำไห้ก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง ครั้นพอถึงเวลาประชุมเพลิงก็ปรากฏเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้น องค์หลวงตาลำดับเหตุการณ์ของงานในครั้งนั้น ดังนี้
“... งานนี้มี ๓ คืนกับ ๔ วัน และงานนี้เป็นงานที่แปลกและอัศจรรย์เป็นพิเศษ คือคนมามากต่อมากแต่ไม่มีการส่งเสียงหนึ่ง ไม่ทะเลาะวิวาทฆ่าตีกันหนึ่ง ไม่มีการขโมยของกัน ล้วงกระเป๋ากันหนึ่ง เก็บสิ่งของมีค่าได้ยังอุตส่าห์นำไปมอบให้เจ้าหน้าที่ที่กองโฆษณาหนึ่ง ไม่มีคนดื่มเหล้า.. เมาสุรามาอาละวาดเกะกะในบริเวณงานหนึ่ง พระเณรก็สงบเสงี่ยมงามตาน่าเคารพเลื่อมใสหนึ่ง..
ส่วนเมรุเป็นที่บรรจุศพท่านได้จัดขึ้นในบริเวณที่พระอุโบสถตั้งอยู่เวลานี้ รู้สึกสวยงามมาก สมเกียรติ ทำเป็นจตุรมุข มีลวดลายแปลกประหลาดมาก ... ถ้าจำไม่ผิดวันขึ้น ๑๑ ค่ำเป็นวันอาราธนาท่านไปสู่เมรุ ก่อนหน้าเล็กน้อย ... บรรดาลูกศิษย์ทั้งพระและประชาชนได้พร้อมกันทำวัตร ขอขมาโทษท่านเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้นก็อาราธนาไปสู่เมรุ ตอนนี้คงอดทนไม่ไหว ได้เกิดโกลาหลวุ่นวายกันขึ้นอีกจนได้ คราวนี้เป็นคณะลูกศิษย์ฝ่ายฆราวาสหญิงชาย พอเริ่มอาราธนาท่านเคลื่อนที่ไปสู่เมรุ ต่างมีอากัปกิริยาที่ไม่ค่อยแจ่มใสขึ้นมาในขณะนั้น น้ำหูน้ำตากิริยาเศร้าโศกและเสียงร้องไห้เริ่มแสดงออกเป็นลำดับ ... บรรดาลูกศิษย์บริวารต่างร้องไห้ด้วยความอาลัยเสียดาย ... จนศพท่านที่อาราธนาเข้าสู่เมรุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาการที่น่าเวทนาสงสารเหล่านั้นจึงค่อย ๆ สงบลง
พอได้เวลาที่กำหนดไว้ ๖ ทุ่ม คือเที่ยงคืนก็พร้อมกันเริ่มถวายเพลิงจริง แต่ผู้คนในขณะนั้นประหนึ่งจะล้นแผ่นดิน แออัดยัดเยียดเบียดเสียดกันจนจะหาทางเดินไม่ได้ เพราะต่างคนต่างมุ่งอยากดูอยากเห็นในวาระสุดท้ายเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ใจไปนาน ... เพราะปกติฟ้าก็แจ้งขาวดาวสว่างในฤดูแล้งธรรมดาเราดี ๆ นี่เอง
พอถึงเวลาถวายเพลิงท่านจริง ขณะนั้นปรากฏมีเมฆก้อนหนึ่งขนาดย่อม ๆ ไหลผ่านเข้ามา และโปรยละอองฝนมาเพียงเบา ๆ พร้อมกับขณะที่ไฟเริ่มแสดงเปลวและโปรยอยู่ประมาณ ๑๕ นาที เมฆก็ค่อย ๆ จางหายไปในท่ามกลางแห่งความสว่างแห่งแสงพระจันทร์ข้างขึ้น จึงเป็นที่น่าประหลาดและอัศจรรย์อย่างสุดจะคาดจะเดาได้ถูก ว่าทำไมจึงดลบันดาลให้เห็นเป็นความแปลกหูแปลกตาขึ้นมาในท่ามกลางความสว่างแห่งแสงเดือนเช่นนั้น เพราะปกติฟ้าก็แจ้งขาวดาวสว่างในฤดูแล้งธรรมดาเราดี ๆ นี่เอง แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ มีเมฆลอยมาและมีละอองฝนโปรยปรายลงมา ทำให้แปลกตาสะดุดใจระลึกไว้ไม่ลืมจนบัดนี้
การถวายเพลิงท่านมิได้ถวายด้วยฟืนหรือถ่านดังที่เคยทำกันมา แต่ถวายด้วยไม้จันทน์ที่มีกลิ่นหอม ซึ่งบรรดาศิษย์ท่านผู้เคารพเลื่อมใสในท่านสั่งมาจากฝั่งแม่น้ำโขงประเทศลาวเป็นพิเศษ จนเพียงพอกับความต้องการและผสมด้วยธูปหอมเป็นเชื้อเพลิงตลอดสาย ... นับแต่ขณะเริ่มถวายเพลิงท่านได้มีกรรมการทั้งพระและฆราวาสคอยดูแลกิจการอยู่เป็นประจำตลอดงานนั้น และมีการรักษาอยู่ตลอดไปจนถึงเวลาเก็บอัฐิท่าน
ลัก...ยิ้ม
10-06-2016, 09:58
เวลา ๙ น. ของวันรุ่งขึ้น ก็เริ่มเก็บอัฐิท่านและแจกไปตามจังหวัดต่าง ๆ ที่มีผู้มาในงานนี้ เพื่อนำไปเป็นสมบัติกลาง ๆ โดยมอบกับพระในนามของจังหวัดนั้น ๆ เชิญไปบรรจุไว้ในสถานที่ต่าง ๆ ตามแต่จะเห็นควร ส่วนประชาชนก็มีการแจกเหมือนกัน แต่คนมากต่อมากไม่อาจปฏิบัติได้โดยทั่วถึง ..
ตอนเก็บอัฐิท่านเพิ่งผ่านไปนั้น ก็น่าสงสารประชาชนอย่างพูดไม่ออกบอกไม่ถูกอีกวาระหนึ่ง ซึ่งทำให้ประทับตาประทับใจอย่างมาก คือพอคณะกรรมการเก็บอัฐิท่านเสร็จเรียบร้อยลงเท่านั้น ผู้คนชายหญิงต่างชุลมุนวุ่นวายกันเข้าเก็บกวาดเอาเถ้าและถ่านที่เศษเหลือจากที่เก็บแล้วไปสักการบูชา ได้คนละเล็กละน้อยจนสถานที่นั้นเตียนเกลี้ยงยิ่งกว่าล้างด้วยน้ำและเช็ดถูให้เกลี้ยงเสียอีก พอได้ออกมาต่างคนต่างยิ้มแย้มแจ่มใสดีใจอย่างบอกไม่ถูก เหมือนตัวจะเหาะลอยในขณะนั้น มองดูในมือต่างคนต่างกำแน่น... ราวกับจะมีใคร ๆ มาแย่งชิงเอาดวงใจในกำมือไปเสียฉะนั้น
นี้เป็นเหตุการณ์ที่น่าสงสารสังเวชอีกเหตุการณ์หนึ่ง ไม่ด้อยกว่าเหตุการณ์ทั้งหลายที่ผ่านมาในงานท่านอาจารย์มั่นครั้งนี้ ..
ก่อนจะพากันกลับไปถิ่นฐานบ้านเรือนของตน ๆ โดยมากพากันไปกราบลาท่านอาจารย์ที่เมรุ ซึ่งเป็นความมั่นใจว่าท่านย้ายจากศาลาไปอยู่เมรุแล้ว ขณะก้มกราบท่านถึงวาระที่สามจบลง ต่างพากันนั่งนิ่งไปครู่หนึ่ง เป็นลักษณะรำพึงรำพันด้วยความอาลัยเสียดายอย่างสุดซึ้ง แล้วแสดงอาการไว้อาลัยด้วยน้ำตาสะอึกสะอื้นอย่างน่าสงสาร ..
พอคณะนั้นผ่านออกมาด้วยความเศร้าโศกหน้าชุ่มด้วยน้ำตา คณะนี้ก็ก้าวเข้าไปกราบลาท่านด้วยกิริยาท่าทางของคนที่มีความจงรักภักดีและเศร้าโศก .. สับเปลี่ยนเวียนกันไปมาอยู่ที่บริเวณเมรุท่านเป็นชั่วโมง ๆ ...
พอถวายเพลิงท่านอาจารย์มั่นผ่านไปแล้วปรากฏว่า พระเณรสายของท่านมีความกระวนกระวายระส่ำระสายมากพอดู เพราะปราศจากที่พึ่งที่ยึดทางใจ ระเหเร่ร่อนไปทางทิศใต้ทิศเหนือ เหมือนว่าวเชือกขาดอยู่บนอากาศฉะนั้น .. ผู้เขียนได้เห็นโทษครั้งยิ่งใหญ่สมัยท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพผ่านไปเพียงองค์เดียวเท่านั้น แต่ในสายตาและความรู้สึกปรากฏว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องท่านมีความซบเซาเหงาหงอย และอยากจะพูดว่าล้มละลายไปตาม ๆ กันมากมาย ทั้งนักบวชและฆราวาสจนไม่อาจประมาณได้ ...”
โดยสรุปกำหนดงานหลวงปู่มั่นนี้ ท่านทำพิธีเปิดมีกำหนด ๓ คืนกับ ๔ วัน เริ่มแต่วันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ถวายฌาปนกิจศพท่านคืนวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ราว ๖ ทุ่ม พอรุ่งเช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำก็เป็นวันเก็บอัฐิท่าน
ลัก...ยิ้ม
16-06-2016, 14:17
ต้นเหตุเขียนประวัติหลวงปู่มั่น
ย้อนกล่าวถึงระยะที่หลวงปู่มั่นเริ่มป่วยปรากฏว่า เป็นระยะที่สภาวะจิตขององค์หลวงตากำลังหมุนตัว.. ด้วยสติปัญญาจากการออกพิจารณาด้านปัญญามาได้ระยะหนึ่งแล้ว ในวันนั้นหลวงปู่มั่นได้กล่าวข้อความสำคัญ อันเป็นเหตุให้องค์หลวงตาต้องเรียบเรียงหนังสือประวัติหลวงปู่มั่นขึ้นมา ดังนี้
“... ตอนท่านอาจารย์มั่นเริ่มป่วย จิตเราก็เริ่มชุลมุนวุ่นวายของมันไม่มีวันมีคืนเลย ตั้งแต่นั้นมาเรื่อย ๆ จิตเราก็ไม่ว่างเลย ท่านป่วยหนักเข้าเท่าไร เราก็ยิ่งต้องเป็นตัวตั้งตัวตีเกี่ยวกับการดูแลรักษา ตลอดถึงหมู่เพื่อนที่จะไปเกี่ยวข้องกับท่าน เราเป็นผู้คอยให้อุบายคอยแนะนำตักเตือน ไอ้เราเองก็หมุนติ้ว ๆ ลงจากกุฎิท่านก็เข้าทางจงกรม
พอออกจากทางจงกรมมาก็ขึ้นกุฏิท่าน นี่หมายถึงอยู่หนองผือ ออกจากกุฏิท่านก็เข้าทางจงกรม ปล่อยท่านก็ปล่อยไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะปล่อยไม่ได้ แม้หมู่เพื่อนจะมีมากก็ตาม แต่เราคอยแนะ คอยให้อุบาย คอยอะไรอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ
พอมีเวลาบ้างนิดหน่อยก็เข้าทางจงกรม เพราะตอนนั้นจิตมันพิลึกพิลั่นจริง ๆ ที่เรียกว่ามันเป็นของมันเอง ไม่มีใครบอกใครสอน ไม่มีใครแนะใครนำแหละ หากเป็นในตัวของมันเองถึงวาระที่มันเป็น นี่ถ้าเราเรียกก็เรียกว่าภาวนามยปัญญาอย่างว่า
เมื่อถ้าวถึงขั้นภาวนามยปัญญาแล้วต้องหมุนตัวไปเองเป็นอัตโนมัติ ไม่หยุดไม่ถอย มีแต่หมุนอยู่ตลอด หมุนกับกิเลสนั่นแหละไม่ใช่หมุนอะไร ลืมวันลืมคืนลืมปีลืมเดือน ลืมเวล่ำเวลา ไม่ได้ส่งออกนอก มีแต่พันกันอยู่กับกิเลสอาสวะประเภทต่าง ๆ อยู่ภายในนั้น ..
ลัก...ยิ้ม
29-06-2016, 16:58
ตอนนั้นเรากำลังหมุนนะ.. จิตเรา ท่านเริ่มป่วย ตอนนั้นจิตของเราหมุนอยู่แล้ว หมุนเป็นธรรมจักร.. ไม่ได้นอน ถ้าตามธรรมดาแล้วทั้งวันทั้งคืนมันจะตายทิ้งเปล่า ๆ ต้องได้พัก หักเอาไว้ รั้งเอาไว้ อยู่ ๆ ท่านพูดลักษณะเอะใจขึ้นมา เราคิดไว้แล้วนะเป็นแต่เพียงว่าไม่พูด ท่านเอะใจขึ้นมา
‘เอ้อ เราก็มีลูกศิษย์ลูกหาหลายองค์ เฉพาะอย่างยิ่งคือพระ เราเทศนาว่าการสอนมานี้นานแสนนาน ใครได้คิดอะไรไว้บ้างไหม ?’
ท่านว่างั้นนะ ทางนี้เราก็กราบเรียนทันทีเลย ขึ้นก่อนใคร เราขึ้นเลย ‘คิดเต็มหัวอก แต่เวลานี้งานกำลังเต็มหัวใจ’ เราบอก
เราว่าอย่างนี้ ท่านปุ๊บมาหางานเต็มหัวใจเลย เพราะท่านเคยทราบจากเราแล้ว ที่ขึ้นหาท่านบางทีวันละ ๒ หน ๓ หน จิตใจมันหมุนนั่นละ ท่านก็ทราบแต่นั้นแล้ว แต่เวลานี้งานกำลังเต็มหัวใจ
‘เอ้อ ขึ้นเลย เอา..เอางานของตนให้ได้นะ งานนั้นเป็นงานนอก เอางานของตนให้ได้ พระพุทธเจ้าเอางานของตน สำเร็จแล้วสอนโลก สาวกทั้งหลายเอางานของตน.. สำเร็จแล้วสอนโลก นี่เอางานของตนให้สำเร็จสอนโลก’ ท่านว่า
เรื่องของท่านว่าใครคิดอะไรบ้างไหมเลยไม่พูดถึง คิดอะไรก็คือว่า จะจดจารึกเรื่องราวอะไรของท่าน อรรถธรรมของท่านนั่นแหละ เราก็ตอบขึ้นทันทีเลยเพราะเราเข้าใจแล้ว พอท่านพูดอย่างนั้นเข้าใจ คิดเต็มหัวใจ แต่เวลานี้งานกำลังเต็มหัวอก ท่านก็ปั๊บมาทางงานเต็มหัวอกเลย เพราะเคยกราบเรียนท่านอยู่แล้ว
ตั้งแต่ท่านไม่ถามข้อนี้ จิตของเรากำลังหมุนแล้ว ท่านเลยหมุนเข้ามา ‘เอางานของตนให้ได้ ถ้างานของตนเสร็จแล้วจะแตกกระจายไปหมด งานนั้นเป็นงานนอก งานในเป็นสำคัญ ท่านเลยหมุนมาทางงานในเสีย’
ลัก...ยิ้ม
06-07-2016, 17:05
หลวงปู่มั่นบอกให้พึ่งท่านมหานะ
ในช่วงเวลาเดียวกับที่สภาวะจิตของท่านกำลังหมุนเป็นธรรมจักรอยู่นี้ วันหนึ่งหลวงปู่มั่นก็ได้ปรารภกับพระที่ขึ้นไปทำข้อวัตร นวดเส้น ซึ่งมีผลให้หมู่เพื่อนต่างก็คอยแอบจดจ้องหวังพึ่งพาอาศัยท่านต่อไป ดังนี้
“... ท่านนอนให้พระนวดเส้นอยู่ ๒ – ๓ องค์ เวลาท่านจะขึ้น คือตอนนั้นท่านก็ทราบแล้วว่าจิตของเรากำลังหมุน ท่านทราบอยู่แล้ว ท่านเอะใจขึ้นมา ‘เอ้อ นี่เวลาผมตายแล้ว พวกท่านจะอาศัยใครจะเกาะใครล่ะ ?’
พระก็นิ่ง สักเดี๋ยวแอะขึ้นมาอีก ‘เอ้อ...ให้อาศัยท่านมหานะ’
ท่านไม่พูดมากละ พูดกับพระ ท่านไม่พูดกับเราแหละ ท่านเล่าให้พระฟัง ถ้าท่านเล่าเรื่องของเราให้พระฟังแล้ว พระต้องมาเล่าให้เราฟังหมดแหละ แต่เราก็เฉยเหมือนไม่รู้ ท่านก็เฉยเหมือนไม่รู้ เวลาท่านเล่าเรื่องของเรา
‘เอ้อ ให้อาศัยท่านมหานะ ให้เกาะท่านมหานะ ท่านมหาสำคัญอยู่มากทั้งภายนอกภายใน ภายนอกก็ข้อวัตรปฏิบัติ หลักธรรมวินัยตรงเป๋ง ๆ ไม่เคลื่อนคลาด หลักภายในก็คือภายในจิตใจได้แก่จิตภาวนา ก็หมุนติ้วอยู่แล้ว’
ท่านก็พูดเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาท่านล่วงลับไปเท่านั้น พระเณรจึงเกาะเราพรึ่บเลย พระเณรจับอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยสนใจกับใคร เราไปแต่องค์เดียว เราไปเที่ยว บทเวลาท่านมรณภาพ พระเณรเกาะพรึ่บเลยเชียว เรื่อย ๆ มาจนกระทั่งป่านนี้...”
ลัก...ยิ้ม
21-07-2016, 18:44
เมื่อเสร็จงานพิธีศพหลวงปู่มั่น พระเณรหลายสิบรูปต่างคอยติดตามท่านอยู่ตลอด แม้ท่านจะพยายามหลบหลีกปลีกตัวหนีไปทางอื่น ด้วยเพราะเป็นระยะที่ต้องการอยู่ลำพังคนเดียว แต่ก็มีหมู่เพื่อนคอยสืบรอยติดตามไปตลอดเวลา แทบจะทุกสถานที่ เพราะเพิ่งขาดร่มโพธิ์ร่มไทรคือหลวงปู่มั่นไปไม่นานนี้ เดี๋ยวองค์นี้ตามมา สักเดี๋ยวองค์นั้นตามมาอีกแล้ว เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดในระยะนั้น ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ระยะนี้ว่า
“... ถึงระยะที่จะอยู่กับหมู่เพื่อนไม่ได้... มันอยู่ไม่ได้จริง ๆ เสียเวล่ำเวลา ใครมายุ่งไม่ได้นะ คิดดูสิ ไปบิณฑบาตที่ไหน หมู่บ้านใหญ่ ๆ ไม่อยู่ ไปหาอยู่บ้าน ๕ – ๖ หลังคาเรือน... บ้านใหญ่ไม่เอา ถ้ายิ่งบ้านไหนไปแล้วเขารุมมาหา โอ๋ย.. บ้านนี้ไม่ได้เรื่องแน่ นั่น.. เขาจะมายุ่งเราจนหาเวลาภาวนาไม่ได้ ไม่เอา
หนีไปหาอยู่หมู่บ้าน ๓ – ๔ หลังคาเรือน บิณฑบาตกับเขาพอมีชีวิตบำเพ็ญธรรมให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่านั้น ไปบิณฑบาตก็ทำความเพียรตลอด ยุ่งกับใครเมื่อไร ทั้งไปทั้งกลับมีแต่เรื่องความเพียรเหมือนกับเดินจงกรม มันเป็นอยู่ในหลักธรรมชาติของมันเอง เวลามันหมุนของมัน เห็นชัด ๆ อยู่ในหัวใจว่า ‘อยู่กับใครไม่ได้’
นี่มันก็รู้อยู่กับใจเราเอง ระยะหนึ่งมันบอกว่า ‘อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องได้วิ่งหาครูหาอาจารย์ ไม่งั้นจมแน่ ๆ ‘
มันรู้ชัดอยู่ก็ต้องได้เข้าหาครูหาอาจารย์ ถึงวาระที่จะอยู่คนเดียวนี่.. จะอยู่กับใครไม่ได้แล้วมันก็รู้อีก ใครติดตามไม่ได้นะ โอ๋ย ! ขโมยหนีจากพระจากเณรเหมือนขโมย ขโมยใหญ่ ๆ เลยนี่ โน่น...หัวโจรหัวโจกนั่น ขโมยหนีกลางคืน กลางวันหมู่เพื่อนจะเห็น ถ้าพอไปกลางวันได้ก็ไป พอไปกลางคืนได้ก็ไปกลางคืน ดึกดื่นไม่ว่านะ หนีจากหมู่เพื่อน มันไม่สบาย มันอยู่ไม่ได้ ก็งานของเราเป็นอยู่อย่างนี้ มีเวลาว่างเสียเมื่อไร อยู่อย่างนี้ตลอด แล้วจะไปอ้าปากพูดคุยกับคนนั้น อ้าปากคุยกับคนนี้ได้ยังไง งานเต็มมืออยู่นี่ นั่นถึงวาระมันเป็นในหัวใจรู้เอง...”
ลัก...ยิ้ม
27-07-2016, 17:45
อยู่งานศพได้เพียง ๔ วัน
ด้วยสภาวะจิตใจของท่านในระยะนั้นหมุนตัวเป็นอัตโนมัติตลอดวันตลอดคืน จึงทำให้ท่านกลับมาพักอยู่ในช่วงเตรียมงานถวายเพลิงศพหลวงปู่มั่นเพียง ๔ วันเท่านั้น พอเผาศพแล้วท่านก็ปลีกตัวหนีออกไปทันทีจนถูกครูบาอาจารย์บางองค์ตำหนิเอา ดังนี้
“...ในระยะที่ท่านพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นป่วย มรณภาพ จนกระทั่งถวายเพลิงศพท่านนั้น เราจะไม่มีเวลาเลย.. จิตมันหมุนเป็นธรรมจักร อยู่กับใครไม่ได้
ศพท่านเอาไว้ที่วัดป่าสุทธาวาส เรามากราบปั๊บ ๆ แล้วไปเลย เข้าไปอยู่ในป่าเขาคนเดียวทางภูพาน จิตเวลามันก้าวของมัน.. ก้าวไม่มีวันมีคืน ชัดเข้าไปจนสติปัญญาเป็นอัตโนมัติแล้ว หมุนติ้ว ๆ จากนั้นก็เข้ามหาสติมหาปัญญา.. ยิ่งหมุนยิ่งละเอียด ยิ่งซึมซาบ ที่ชัดเจนก็คือว่า ‘อยู่กับใครไม่ได้ในเวลาเช่นนั้น ต้องอยู่คนเดียวกับอารมณ์แห่งธรรม กับกิเลสฟัดกันอยู่บนหัวใจเท่านั้น ใครมายุ่งไม่ได้’
มางานถวายเพลิงศพพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นมาอยู่ได้เพียง ๔ วัน พอเผาศพท่านเสร็จแล้วเปิดเลย จนครูบาอาจารย์บางองค์ก็ว่าเอาเหมือนกันนะ แต่เราไม่สนใจ เพราะท่านไม่รู้เรื่องของเรา ท่านว่า ‘ท่านมหาบัว เวลาท่านอาจารย์มั่นมีชีวิตอยู่เหมือนเงาเทียมตัว พอท่านมรณภาพไปแล้วหายเงียบไปเลย ไม่มามองดูครูบาอาจารย์เลย’
ท่านว่าอย่างนั้นก็มีอันนั้น ก็ภูมิจิตของท่านเป็นอย่างนั้น บอกภูมิแล้วนั่น มันบ่งบอกแล้วว่าผู้ตำหนิเราอย่างนั้นมีภูมิจิตใจเป็นอย่างไร มันบอกในตัว...”
ลัก...ยิ้ม
08-08-2016, 17:36
อุปสรรคในการหลบหลีกหมู่เพื่อนเพื่อออกวิเวกของท่านยังมีอยู่บ้าง เมื่อได้พบกับพระผู้ใหญ่ฝ่ายปริยัติซึ่งเป็นพระอาจารย์เก่าของท่าน ในงานถวายเพลิงศพหลวงปู่มั่นครั้งนี้...ดังนี้
“..ทีนี้ครั้งสุดท้าย ถวายเพลิงหลวงปู่มั่นเรานี่ละ ท่าน (เจ้าคุณพิมพ์ ธัมมธโร) ก็มา แล้วเพื่อนของท่านเจ้าคุณศรีวรคุณ เป็นน้องชายของท่านเจ้าคุณอุบาลี ท่านเป็นเพื่อนกัน นั่งอยู่ด้วยกัน เราเข้าไปกราบท่าน โอ๋ย.. เอาใหญ่เลยทีนี้นะ จะเอากลับกรุงเทพฯ เดี๋ยวนั้น กลับพร้อมกับท่านเลย ไม่ใช่เล่น ๆ ขนาด ๑๖ พรรษาแล้วนั่น ท่านจะเอากลับกรุงเทพฯ ...
ตอนนั้นจิตของเราหมุนเป็นธรรมจักรจะกลับไปได้อย่างไร พูดง่าย ๆ จิตมันเป็นธรรมจักร หมุนอัตโนมัติฆ่ากิเลส มีแต่ฆ่ากิเลสโดยถ่ายเดียว ๆ แล้วจะเข้าไปสั่งสมกิเลสในกรุงเทพฯ ได้อย่างไร พูดตรง ๆ ท่านมีแต่จะให้กลับกรุงเทพฯ ดุอีกด้วยนะ เพราะท่านติดตามมาหลายครั้งหลายหนแล้วไม่ได้ผล คราวนี้ท่านเอาใหญ่ ท่านจะเอากลับกรุงเทพฯ พร้อมไปเลย มิแต่จะให้กลับกรุงเทพฯ ถ่ายเดียว
เราก็นิ่ง ‘เอ๊.. ทำอย่างไรน้า’ จนท่านพูดจบแล้ว เราถึงจะได้กราบเรียนท่าน ยังพูดไม่จบเลย เจ้าคุณศรีวรคุณท่านเป็นเพื่อนกันนี่ ฟังท่านเอาอย่างเข้มข้น ๆ ทางนั้นก็คงจะรำคาญ
‘ก็จะให้เขากลับไปหาอะไรอีก นี่ก็ใหญ่โตขึ้นมา ถ้าเป็นผู้เป็นคนก็มีครอบครัวเหย้าเรือนแล้ว จะให้ท่านไปเป็นเด็กได้อย่างไร ถ้าธรรมดาก็เป็นพ่อตาแม่ยายแล้ว ยังจะให้เป็นลูกเขยเขาอยู่หรือ อายุพรรษาก็มากแล้ว แก่ขนาดนี้แล้ว’
จากนั้นท่านก็ถามมาหาเรา เราอยากตอบตั้งแต่ท่านยังไม่ถาม ‘นี่ท่านมหาพรรษาเท่าไร ?’ ’๑๖ พรรษา’ โน่นน่ะ...ขึ้นอีกนะ
‘๑๖ พรรษาเป็นพระอุปัชฌาย์ก็ได้แล้ว จะเอาคืนไปเป็นลูกเขยใหม่อยู่ได้อย่างไร’
เราก็เลยรอดตัว ท่านนั่งนิ่งนะ รอดตัว องค์นี้ช่วยนะ ไม่อย่างนั้นจะแก้ยากเหมือนกัน แต่เรื่องให้กลับ.. กลับไม่ได้เลย พูดให้ตรงเสีย.. เวลานั้นจิตเป็นธรรมจักรแล้ว หมุนติ้ว ๆ เลย ไม่มีวันมีคืน ไปแต่องค์เดียวอยู่ในป่าในเขา มาเผาศพพ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นเพียง ๔ วัน คืออันนี้มันหมุนตลอด บังคับให้อยู่ได้เพียง ๔ วัน พองานเสร็จแล้วออกเลยทีเดียว เพราะอันนี้มันรุนแรงมาก มีแต่จะพุ่ง ๆ โดยถ่ายเดียว
นี่ละจิต...เมื่อถึงคราวที่มันจะออกเป็นอย่างนั้น เวลากิเลสพันไว้นี้... กิเลสก็กล่อมไปทางต่ำ ๆ ดึงลง ๆ ทางนี้ก็เคลิ้มหลับไปตามมัน ทีนี้พอธรรมตื่นตัวขึ้นมาแล้ว เอาละทีนี้ ฟัดกิเลสทั้งวันทั้งคืน บังคับให้หลับ บางทีไม่หลับ ต้องเอาพุทโธเป็นคำบริกรรม ไม่งั้นมันจะพุ่ง ๆ ทางปัญญาจะฆ่ากิเลส กิเลสตัวไหนโผล่ขึ้นมาขาดสะบั้น ๆ ถึงขนาดนั้นแล้วมันจะกลับไปได้อย่างไร ไปอยู่กับสมเด็จฯ ท่านได้อย่างไร แต่ท่านไม่รู้ภายในของเรานั่นซิ การที่จะกราบเรียนท่านอย่างไร ต้องมีมารยาทด้วยความเคารพ พอดีท่านเจ้าคุณท่านช่วย เราก็เลยรอดตัวไปได้
ฟังซิ...ในงานศพพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นอยู่เพียง ๔ วัน ขนาดนั้นละ.. มันอยู่ไม่ได้ มันพุ่ง ๆ ภายในจิต เรื่องฆ่ากิเลสนี่หมุนติ้ว ๆ มีแต่จะไปท่าเดียว ออกท่าเดียว นี่ถึงกาลเวลามันจะออกมันไม่ฟังเสียงอะไร มีแต่ฆ่ากิเลสตลอดเวลา พองานเสร็จก็โดดเลย พอเผาศพท่านได้ ๔ วันขึ้นเขาวัดดอยธรรมเจดีย์ หลังจากนั้นก็เปิดลงอำเภอบ้านผือ เข้าศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ...”
ลัก...ยิ้ม
18-08-2016, 18:49
สงสัยอุบายธรรม ที่วัดดอยธรรมเจดีย์
วันหนึ่งช่วงเดือน ๓ ข้างแรมหลังเสร็จพิธีถวายเพลิงหลวงปู่มั่นแล้ว ท่านก็ไปภาวนาที่วัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร ระยะนั้น ท่านยังอัศจรรย์กับความสว่างไสวของจิตดังนี้
“... จิตของเรามันสว่างไสว ก็อย่างว่านั่นแหละ คนเป็นบ้า อัศจรรย์ตัวเอง ไม่มีใครอัศจรรย์เท่าเจ้าของอัศจรรย์บ้าในตัวเอง ไม่ใช่อัศจรรย์ธรรม แต่เป็นอัศจรรย์บ้า ความหลง ความยึดจิตอวิชชา มันจึงอัศจรรย์ตัวเอง เวลาเดินจงกรมอุทานออกมาในใจว่า
‘แหม... จิตเราทำไมสว่างเอานักหนานะ ร่างกายเรามองดูมันเห็นพอเป็นราง ๆ เป็นเงา ๆ เพราะความรู้ทะลุไปหมด’
สว่างไปหมดเลยก็อัศจรรย์ล่ะซิ เราถึงว่าอัศจรรย์บ้า...”
ท่านอดอาหารมาได้เพียง ๓ วัน เนื่องจากระยะนั้นอดนานมากไม่ได้แล้ว เพราะนับแต่เริ่มปฏิบัติมาจนขณะนี้เป็นเวลา ๙ ปี ตอนนี้ก็พรรษาที่ ๑๖ แล้ว ท่านก็อดอาหารแบบสมบุกสมบันอย่างนี้ตลอดมา วันนั้นท่านจึงตั้งใจจะฉันจังหัน
เนื่องด้วยท่านพระอาจารย์กงมา (เจ้าอาวาสวัดดอยธรรมเจดีย์ในขณะนั้น) อนุญาตให้ชาวบ้านมาใส่บาตรที่วัดทุกวันพระ พระเณรจึงไม่จำเป็นต้องออกไปบิณฑบาตนอกวัด
ดังนั้นพอได้อรุณแล้ว เพื่อรอเวลาฉันอาหารท่านจึงออกจากกุฏิไปเดินจงกรมทางด้านตะวันตกของวัด ตั้งใจว่าจะเดินอยู่จนกระทั่งได้เวลาบิณฑบาต ขณะที่ท่านเดินจงกรมไปมาอยู่นั้น เกิดรำพึงขึ้นในใจว่า “เอ.. จิตนี่ทำไมอัศจรรย์นักหนานะ มันสว่างไสวเอามาก...”
ท่านอธิบายถึงสภาวะจิตใจของท่านในช่วงนี้ว่า
“... จิตเราอัศจรรย์ที่มันสว่างไสวอะไรนักหนานี่ .. เดินอยู่นั่งอยู่ที่ไหนมองดูอะไรนี้มันสว่างจ้าไปหมดเลย ร่างกายของเรานี่มันเหมือนกับตะเกียงเจ้าพายุเรานี้ แก้วครอบมันใสอยู่ข้างนอก คือจิตนี้เป็นเสมือนไส้ตะเกียงจ้าอยู่ข้างใน ทีนี้มันก็ส่องออกมาทะลุหมด แก้วครอบอยู่นี้เหมือนไม่มีทะลุออกหมด ร่างกายนี้เรียกว่าไม่มี ธรรมชาตินี้มันสว่าง มันซ่านออกไปหมดเลย มันกระจายไปหมด ร่างกายมีเหมือนไม่มี.. เราจึงอัศจรรย์ละซิ ยืนอยู่นั่งอยู่ดูอยู่นี้จะว่าไง จิตมีวันมีคืนที่ไหน..! ความสว่างของจิต.. ไม่มีมืด มีแจ้งนะ เป็นธรรมชาติอย่างนั้นจ้าอยู่
‘โถ.. จิตเรา ทำไมถึงอัศจรรย์ขนาดนี้เทียวนา’
ลัก...ยิ้ม
26-08-2016, 16:12
นั่น...เห็นไหมล่ะ ? กำหนดทดลองดูนะ ไม่ใช่ธรรมดา คือมันสว่างขนาดนี้แล้ว ไปอยู่บนเขานี่นะ เอาภูเขาทั้งลูก.. กำหนดดูภูเขาทั้งลูกนี้เหมือนเงา เหมือนกับแก้วครอบตะเกียงเจ้าพายุนั่นแหละ ภูเขาทั้งลูกนี้เหมือนเงา เหมือนแก้วครอบตะเกียงเจ้าพายุ จิตนี้พุ่งออกหมดเลยจึงได้อัศจรรย์
‘โอ้โห...จิตของเรานี้ทำไมถึงอัศจรรย์ถึงขนาดนี้เชียวนา’
นี่ละพระธรรม...ท่านกลัวเราติด ก็เราติดแล้วนั่นน่ะจะว่าไง ท่านกลัวเราติดจึงขึ้นมา นี่ละที่ว่าธรรมเกิด ฟังเอานะ เมื่อเห็นความอัศจรรย์เจ้าของมองไปที่ไหนมันว่างไปหมดเลย ... นี่ละจิตดวงนี้ เวลาชำระความมัวหมอง มลทินมืดตื้อออกมากน้อยเพียงไรมันจะแสดงตัวเต็มเหนี่ยว ๆ
ทีนี้ก็ขึ้นอัศจรรย์ในตัวเอง โอ้โห.. จิตของเราทำไมถึงอัศจรรย์ถึงขนาดนี้เทียวนา กำหนดดูอะไรมันไม่มีเลย มองดูภูเขาต่อหน้านี้มันทะลุไปต่อหน้าต่อตาเลย อันนี้มันรุนแรงทะลุไปหมด ภูเขาไม่มีความหมายนะ เหมือนกับตะเกียงแก้วครอบไม่มีความหมาย ไส้ตะเกียงความสว่างทะลุออกไปหมดเลย อันนี้ก็เหมือนกันนั่นแหละ เราเทียบได้อย่างนี้
ทีนี้ธรรมเกิดนะ เรียกว่าธรรมเตือน กลัวเราจะติด พอรำพึงอยู่นั้นเราก็นิ่ง สักเดี๋ยวขึ้นมาเป็นคำพูดนะ ออกมาจากหัวใจจริง ๆ เป็นคำพูดเหมือนเราพูดกัน แต่ให้ได้ยินเสียงไม่ได้ยิน หากเป็นคำพูดในใจบอก พอรำพึงถึงเรื่องความอัศจรรย์ของจิตจบลงเท่านั้น อุบายก็ผุดขึ้นมาในขณะจิตหนึ่งเป็นคำ ๆ เป็นประโยค ๆ อย่างไม่คาดไม่ฝันว่า ‘ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ’
ว่าอย่างนั้นเรางงทันที.. งงเป็นไก่ตาแตกไปเลยทั้ง ๆ ที่ธรรมท่านเตือนเราให้รู้ ว่าจุดก็คือจุดผู้สว่างนั้นแหละ แทนที่จะได้อุบายจากอุบายนั้นกลับไม่ได้ นี่ถ้าเป็นท่านผู้รู้ผู้ฉลาดท่านก็ว่า “ธรรมเกิด แต่เรามันโง่จึงไม่อาจคิดขึ้นได้” มิหนำซ้ำยังเพิ่มความสงสัยเข้าไปอีกว่า “เอ..จุดที่ไหน ? ต่อมที่ไหน ?”
ทั้งที่ก็มองเห็นชัด ๆ อยู่แล้ว เพราะจุดสว่างมันเห็นเป็นดวงอยู่ในจิต สว่างจ้าอยู่ภายในจิตนี้ พูดง่าย ๆ ก็เหมือนตะเกียงเจ้าพายุ มันสว่างจากไส้ตะเกียง ไส้มันคือจุดที่สว่างมันก็เห็นอยู่แล้ว จุดแห่งความสว่างมันก็เห็นได้อย่างชัด ๆ แต่มันไม่จี้เข้าตรงนี้ กลับลูบคลำไปที่ไหนตามประสาความโง่นั่นแหละ อุบายผุดขึ้นมาขนาดนั้นแล้วน่าจะยึดได้ มันยังยึดไม่ได้ จึงไม่ได้ประโยชน์จากอุบายที่ผุดขึ้นบอกในเวลานั้น ปล่อยให้เวลาผ่านไปเปล่า ๆ ยังปลงวางกันไม่ได้ จึงได้แบกปัญหานี้ธุดงค์ไปคนเดียวในป่าในเขาทางอำเภอหนองผือ จังหวัดอุดรธานี และทางอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย...”
ลัก...ยิ้ม
01-09-2016, 19:06
ถูกนายพรานด่าว่า
“... สมัยที่เราพักอยู่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร มันเป็นกรรมบันดาลอย่างไรไม่ทราบ.. พูดถึงสัตว์กับพระนี้รู้เข้าใจกันมากทีเดียว ผ้าสีเหลืองหม่นของพระไปไหนไม่เป็นภัยต่อใคร ๆ เราไปอยู่ในป่าในเขาก็มีพวกสัตว์นี้เข้ามาอยู่ด้วย คือว่ามันอยู่ข้างนอกมันกลัวนายพราน กลัวพวกสัตว์ด้วยกัน เช่นเสือร้ายมาเอาไปกินบ้าง คนฆ่าบ้าง ถ้ามาแอบอยู่กับพระย่อมปลอดภัย ไม่ค่อยเป็นอะไร
เราไปพักคนเดียวในป่าเป็นที่ดงลุ่ม ๆ พวกเนื้อ พวกอีเก้ง พวกหมู พวกเสือ พวกหมีเต็มอยู่ในนั้น เห็นว่าที่นั่นมันสงัด ห่างจากหมู่บ้านกิโลกว่า ๆ ไม่ไกลนัก บางบ้านก็ ๒ กิโล บิณฑบาตกับเขาพอได้อาศัย
ขณะนั้นมีพวกนายพรานมาหาล่าเนื้อ เขาดาหน้ากระดานล้อมโอบป่าเข้ามา นายพรานดักอยู่ข้างหน้า ด้านกลางเป็นบริเวณสัตว์อยู่แล้วพวกนี้ไล่ดาหน้าเข้าไป เคาะไม้เคาะอะไรไป ร้องโหวกเหวก ๆ ไป เพื่อไล่ล่าเนื้อให้ไปรวมอยู่ในจุดเดียว
เราก็อยู่ที่ป่านั้น ล้อมเข้ามาจนกระทั่งถึงที่พักเรา มันทำให้เราสลดสังเวชเหลือประมาณ เราก็ดู ... บ้านเราเมืองเรามีศาสนา ถ้าเป็นคนไม่รู้เรื่องเราก็จะบอก นี่มันรู้เรื่องแล้ว มันแกล้งเฉย ๆ เราก็เลยไม่สนใจ ... เพียงคิดในใจว่า
‘เอ! บ้านนี้เมืองนี้ มันเป็นยังไงกันนะ คนเราก็ต้องมีความละอายแก่ใจ เกรงกลัวต่อบาป จะมาหาล่าสัตว์บริเวณพระอยู่ได้ยังไง โอ้!.. ชาวบ้านนี้ ช่างหยาบหนาเสียจริง ๆ’
พวกนายพรานเขามีข้อกติกากัน คือใครไปตรงไหนให้ไปตรงนั้น ไปที่อื่นไม่ได้ เวลาล่าเนื้อ เขามีกติกาอยู่ ๒ อย่าง ๑) นายพรานยิงไม่ถูกเขาเฆี่ยนนายพราน ๒) ถ้าลูกน้องไล่ไปไม่ตรงตามจุดที่เขาทำเครื่องหมายต้องถูกเฆี่ยน เพราะฉะนั้น พวกสัตว์และพวกพรานมันจึงมาถึงที่ที่เราพักอยู่
ไอ้นายพรานคนหนึ่ง เดินจ๊อกแจ๊ก ๆ มายืนอยู่ข้างหน้า มันโกรธที่พวกเนื้อตื่นหนีจึงตะโกนชี้หน้าด่าเป็นภาษาอีสานว่า ‘พระห่ากินหัวมึง! มึงมาอยู่ตายหยังบ่อนนี้! กูจะเอาปืนยิงหัวมึง มึงบ่ฮู้จักบ่อนไล่เนื้อคนหรือ? (พระห่ากินหัว มึงมาอยู่ตายทำไมตรงนี้ กูจะเอาปืนยิงหัวมึง มึงไม่รู้จักสถานที่ล่าเนื้อคนหรือ)
มันด่าว่าแล้วมันก็ไป มันไม่ยิงหัวเราหรอก มันด่าว่าเฉย ๆ แต่กริยามันอุจาด เราก็เฉย พวกลูกน้องได้ยินมันพูดอย่างนั้นก็ยืนฟังหน้าแห้ง เพราะมีบางคนที่เขาเคารพพระ เป็นแต่เพียงนายสั่งให้ไปอย่างไรก็ไปอย่างนั้น หลีกไม่ได้เขาจะเฆี่ยน
สักประเดี๋ยว ... ผู้เฒ่าซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากที่ดูแลเราก็เข้ามา แกจึงไปขนาบพวกนั้น พูดเสียงดังเหมือนกันว่า ‘พวกห่ากินหัวสู ครั้นสูหิวสิตาย สูเป็นหยังบ่เอางัวอยู่คอกกูมาฆ่ากิน สูมาไล่อีหยัง ไล่เนื้อพระวัดพระวา ครูบานี่ กูตั๊วเป็นผู้เอามา เอาเพิ่นมานี่’ (พวกห่านี่ ... ถ้าพวกมึงหิวเนื้อจนจะตาย ทำไมไม่เอาวัวในคอกกูมาฆ่ากิน ทำไมจึงมาไล่ฆ่าสัตว์ในวัดในวา พระรูปนี้ กูเป็นคนไปนิมนต์ท่านมา) พวกพรานฟังแกด่าว่าแล้วก็เฉย บ่ปาก (ไม่พูดอะไร)
ต่อมาอีกไม่นานนักประมาณเกือบ ๆ อาทิตย์ ... ไฟได้ลุกลามไหม้บ้านและยุ้งข้าวของนายพรานคนที่ด่าเราจนเกลี้ยงหมด ทั้ง ๆ ที่เขานอนอยู่บ้านในเวลากลางวันแสก ๆ ไหม้ก็ไหม้เฉพาะบ้านและยุ้งข้าวของแกหลังเดียวเท่านั้น แล้วหลวงก็ปรับสินไหมอีกในฐานละเมิด คือดูแลยุ้งข้าวไม่ได้
ต่อจากนั้นอีก... พอตกเดือนพฤษภาคม แกไปทอดแห ไปได้ปลามาแล้ว เดินไปเก็บใบมะขามอ่อนมาต้มใส่ปลา จึงปีนขึ้นต้นมะขาม ขณะปีนพลาดตกลงมาโดนเสาโคนรั้วปลายแหลม ๆ เสียบตูดทะลุ ตายคาที่
พวกชาวบ้านมาเห็นดังนั้น ก็ร้องเรียกบอกข่าวกันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า ‘มันจะตายกันทั้งบ้าน ไอ้พวกที่ไปหาไล่เนื้อขู่ยิงพระ’ จึงกลัวกันจนจะเป็นบ้าไปเลย
นี่มันเป็นสิ่งน่าคิด ... น่าพิจารณาเราพูดตามเรื่อง ความจริงมันเป็นอย่างนั้น เรื่องศาสนานี่สำคัญอยู่นะ เป็นเรื่องลึก ๆ ลับ ๆ อยู่ ผ้าเหลืองนี้จึงมีอำนาจอยู่ลึก ๆ นะ ... เพราะธรรมเหนือวิทยาศาสตร์ เรื่องบุญเรื่องกรรมเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง...”
ลัก...ยิ้ม
23-09-2016, 17:46
พระโมคคัลลาน์พระสารีบุตร ... นิพพาน
“... พระสารีบุตรมีฤทธาศักดานุภาพมาก มาทูลไปนิพพาน วันนั้นพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ‘เออ นี่สารีบุตร เธอจะนิพพานแล้ว มีอะไร ๆ ก็ฝากน้อง ๆ ไว้เป็นที่ระลึก’
พระองค์แย้มเท่านี้เอง ... พระสารีบุตรก็แสดงฤทธิ์เต็มเหนี่ยว พระโมคคัลลาน์เหมือนกัน เหาะขึ้นเหาะลงอะไร วันนี้ประตูพระเชตวันเปิดหมดเลย บรรดาพระทั้งหลายที่อยู่ในวัดนี้ จะไปส่งพระสารีบุตรซึ่งเป็นพี่ของเธอทั้งหลายให้ไปได้ จะไปนิพพานที่ห้องประสูติ คือจะไปโปรดแม่ในวาระสุดท้าย แม่เป็นมิจฉาทิฐิ พระสารีบุตรก็ไปแสดงฤทธิ์ให้แม่เห็น
เริ่มแต่แสดงฤทธิ์ให้เทวดาชั้นต่าง ๆ ลงมา พระสารีบุตรเปิดโอกาสให้ทั้งเทวดาทั้งแม่ได้เห็นกันชัดเจน เหมือนเรามองเห็นกัน พอเทวดาชั้นนี้เคลื่อนออกไปก็เข้ามาถามลูก ลูกก็บอกว่านี่เทวดาชั้นนั้น เดี๋ยวมาอีก ๆ ฟังให้ดีนะ บรรดาเทวดาทั้งหลายมาเป็นชั้น ๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง.. การแต่งเนื้อแต่งตัว รูปร่างลักษณะทุกอย่าง ๆ จะละเอียดลออขึ้นเรื่อย ๆ แม่ดูอยู่ เพราะแม่เป็นมิจฉาทิฐิไม่ยอมฟังเสียงลูกเลย
เวลาลูกจะมานิพพานยังบอกว่า ‘เออ อุปติสสะออกไปบวชแล้ว แก่จนขนาดนี้จะยังมาสึกอะไรกัน’
คือนึกว่าลูกจะมาสึก พระสารีบุตรจึงอบรมสั่งสอนแม่ ท้าวมหาพรหมมาเป็นวาระสุดท้ายเหลืองอร่ามไปหมด มหาพรหมเป็นหัวหน้าลงมา พระสารีบุตรก็เทศน์โปรดแม่ แม่ร้องไห้นะ
‘โอ้โห ลูกเราเป็นอย่างนี้เชียวเหรอ นึกว่าจะมาสึกบั้นแก่’
แล้วมาเป็นอย่างนี้ให้เราเห็น แม่เกิดความสลดสังเวช ร้องห่มร้องไห้ เหล่านี้เหมือนกับสามเณรของอาตมา ฟังซินะ ตั้งแต่ท้าวมหาพรหมลงมานี้เท่ากับสามเณรของอาตมานั่นแหละ ก็ยิ่งเห็นชัดเจนว่าลูกของเรานี้ใหญ่โตขนาดไหน ยิ่งอัศจรรย์ พอเสร็จจากนั้นท่านก็นิพพาน...”
ลัก...ยิ้ม
30-09-2016, 19:00
แสดงอิทธิฤทธิ์
“ ...เรื่องพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็นหลายแห่งนะ .. เหรียญท่านก็เป็นฤทธิ์เป็นเดชอยู่นะ เหรียญรุ่นแรก ๆ เลยนะ เขาทำอยู่สกลนครเราจำได้ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์นี่แหละทำ พวก ต.ช.ด. ได้เหรียญแล้วเอาติดคอไปคืนวันนั้น เพราะรักสงวนท่านมากเลย เอาท่านไว้ใต้ที่นอนแล้วก็นอนทับกลัวใครจะมาคว้าไปเสีย
ปลดออกจากคอแล้วก็วางไว้ใต้ที่นอน ว่าหมอนก็ไม่ใช่หมอน พวก ต.ช.ด. นอนอยู่ในป่า เอาใส่ไว้ใต้ที่นอน พอนอนหลับไปก็ฝันถึงท่านอาจารย์เสาร์กับท่านอาจารย์มั่นเดินมาด้วยกัน เพราะท่านติดกันมาแต่ไหนแต่ไรมาว่า
‘พวกนี้เอาเรามาทิ้งไว้ในป่า เขาไม่นำพา พวกเราหนีนะไม่อยู่กับพวกนี้’ ว่างั้น
แล้วเขามองตามหลังท่านเดินไปสององค์ เขาสะดุ้งตื่นขึ้นมาคว้าหาเหรียญก็ไม่เห็น เหรียญหายไป อย่างนั้นก็เป็น แปลกอยู่นะ ความฝันนะ พอความฝันผ่านไปแล้วก็ตื่นรู้สึกตัวก็ค้นที่เอาไว้ใต้ที่นอนเลย หายเงียบจริง ๆ เลย ไม่ได้เลย ตำรวจคนนั้นร้องไห้โฮ ไม่ได้จริง ๆ นะ.. หายเลย ค้นจนแหลกก็ไม่มี นั่นดูซิ เหรียญหายไปไหน...”
ลัก...ยิ้ม
07-10-2016, 17:14
ฆ่าล้างแค้นสะดุดปาฏิหาริย์หลวงปู่มั่น
“ ... มันเป็นปาฏิหาริย์ไหมนี่ เขามาเล่าให้ฟัง ไม่ใช่เรื่องโกหก เขาจะไปฆ่ากัน ถือปืนไปเลย ติดไปเลย จะฆ่าถ่ายเดียว เพราะเจ็บแค้นอย่างมากทีเดียว ไม่ได้ฆ่าไม่ได้ ว่างั้นเลย ตั้งหน้าจะไปฆ่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไปอยู่ ๆ มันเป็นปาฏิหาริย์ นี่ละธรรม ใครอย่ามาคาด ๆ เรื่องธรรมนี่เลย ทุกสิ่งทุกอย่างสุดที่เราจะคาดจะเดาได้
เขาเดินไปเลยตั้งใจจะไปฆ่า ไปก็เปรี้ยงเลย ไม่ต้องมีหลบมีหลีกอะไรเพราะมันถึงใจ เดินเข้าไปยิงเลย.. จะตายก็ตาม ขอให้คนนี้มันตายขนาดนั้นนะ กึ๊ก ๆ ไป พอไปไม่ทราบว่ายังไง อยู่ ๆ หลวงปู่มั่นเรานี่กึ๊กขึ้นตรงหน้าเลย นั่นเห็นไหม เขาเคารพหลวงปู่มั่นอยู่แล้ว เห็นไหมล่ะ นี่ละจุดสำคัญ ฟังเอาซิ
ตั้งหน้าตั้งตาจะไปฆ่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ พอไปนั้น ไม่ทราบหลวงปู่มั่นมาจากไหน ผุดขึ้นมายืนจังก้าข้างหน้านี่ ขึ้นเลยทีเดียว ‘เหอ นี่จะไปตกนรกหลุมไหน’
ว่างั้น โห.. ทิ้งปืนเลย กราบราบ กลับไปแล้วเป็นมิตรกัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์อีกเหมือนกัน นั่นเห็นไหม กลับเป็นคนใหม่ขึ้นมากลับตัว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย กราบแล้วกลับมา โห.. เรายังมีวาสนาบารมี พาชมเจ้าของนะ ถึงคราวจะเป็นจะตายจะล่มจะจมจริง ๆ หลวงปู่มั่นท่านมาจากไหน ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นท่าน เขาว่าอย่างนี้นะ เขาบอกเขาไม่เคยเห็น แต่เขาเคารพกราบไหว้บูชาตลอด อย่างฝังใจเหมือนกัน
อันนี้อยู่ ๆ หลวงปู่มั่นมาฉุดลากขึ้น เราจะไปลงนรกขุมไหน ว่างี้เลยนะ ฮึบขึ้นมาอย่างเด็ดขาดเสียด้วยนะ ยืนจังก้าอยู่นี้ แล้วมีที่ไหน เห็นไหมล่ะ โผล่ขึ้นมายืนจังก้าต่อหน้านี้ โห.. ทิ้งปืนแล้วกราบไหว้ เสร็จแล้วกลับเลย กลับตัวร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แล้วยิ่งมีความแน่นหนามั่นคงเข้าทางด้านศีลธรรม ไม่ทำอะไรตั้งแต่บัดนั้น พวกสัตว์ พวกเสืออะไร ตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ฆ่าเลย ฟังซิ.. ตัดได้หมด
นี่ละ อำนาจความดี ไม่อย่างนั้นคนนี้ก็จมลงในนรก คนนั้นก็ตาย คนนี้ก็จมลงนรก แล้วมาโผล่ ๆ ขึ้นมาฉุดลากขึ้นในปัจจุบัน .. ตั้งแต่นั้นมาก็เลยชมบารมีของตัวเอง โห... เรานี่ยังมีบารมีอยู่หนา ถ้าไม่มีบารมียังไงต้องพัง ไอ้นั้นต้องตาย เราต้องลงนรกอย่างแน่ ว่าละ.. กลับตัวเป็นคนดี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไปเลย สละตายกับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กับครูบาอาจารย์ นี่เห็นไหมจุดแห่งความยับยั้ง เห็นอยู่อย่างนี้จะว่าไง ธรรมใครอย่าไปคาดนะ แต่เรื่องกิเลสมันยังคาดวาดภาพไป ธรรมเหนือหมด นี่ละเรื่องการยับยั้งตัวเอง เมื่อมีที่เคารพนับถืออยู่มันมีที่ยับยั้งนะ ถ้าไม่มีเลยก็อย่างว่านั่นแหละ...”
ลัก...ยิ้ม
14-10-2016, 15:42
ความจำเป็นของครูอาจารย์
ท่านกล่าวถึงความฉลาดของหลวงปู่มั่น ที่มีอุบายวิธีติดตามผลการภาวนาของลูกศิษย์แต่ละราย ๆ จะได้ไม่เสียเวลาและก้าวเดินอย่างถูกต้องเป็นลำดับไปดังนี้
“... ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเรานี้มีมากที่สุด พวกเพชรน้ำหนึ่ง ๆ รู้สึกจะเป็นลูกศิษย์ของท่านทั้งนั้น ท่านไม่ยุ่งกับใคร แต่กับพระนี่ โถ.. ท่านติดตามนะ ใครภาวนาเป็นยังไง ๆ ท่านจะติดตามเรียกมาถามเรื่อย แม้แต่อย่างเรานี้ท่านยังใส่ปัญหา คือถ้าเราไม่ได้คุยธรรมะกับท่านโดยเฉพาะ ประมาณสักอาทิตย์กว่า ๆ แล้ว ท่านจะหาอุบายแหย่มา ‘ท่านมหาก็ภาวนาไม่เห็นได้เรื่อง’
ท่านยุหมาจะให้เห่าให้กัดใช่ไหม เพราะเรากำลังเป็นหมาอยู่นี่นะ ท่านก็แหย่มา ‘ท่านมหาภาวนาทุกวันนี้ไม่เป็นท่าแล้ว เสื่อมไปแล้ว’
โห.. ทางนี้มันคึกคัก มันเสื่อมที่ไหนน่ะ หมาตัวนี้มันคึกคัก มันจะเห่าทันทีเลย มันเสื่อมที่ไหนน่ะ พอได้โอกาสก็เข้ากราบเรียนท่าน ที่ว่านั่นก็หายไปเลยนะ ท่านไม่ได้พูดถึงเลย เพราะท่านแหย่หาเรื่องเฉย ๆ ท่านมหานี่ก็เสื่อมไปแล้ว หายเงียบไปเลย
‘แต่ก่อนก็เห็นว่าภาวนาดีหน่อย ทีนี้ก็เสื่อมไปหมดแล้ว’
ทางนี้มันก็คึกคัก จะกัดจะเห่าละซี ‘มันเสื่อมไปไหนน่ะ’ อยากว่าอย่างนั้นนะ พอได้โอกาสเราก็ไปหาท่านคุยเรื่องธรรมะ ท่านฟังเสร็จเรียบร้อยแล้ว.. คำเหล่านั้นก็ไม่มี เพราะท่านแหย่เฉย ๆ เราก็รู้ มันหากมีละท่าของท่าน แหย่ท่านั้นท่านี้
ครั้นนาน ๆ คุยกันนี้ ‘หือ เสื่อมไปถึงไหนแล้ว’ อย่างนั้นนะ มันก็โมโหซิ มันเสื่อมไปไหน ท่านแหย่เอาที่จุดสำคัญ ๆ นะ ... ก็คนหนึ่งเร่งภาวนาจนจะเป็นจะตาย จิตมันก็สง่างามตลอด แล้วอยู่ ๆ ก็มาแหย่เอา คือท่านหาอุบายจะให้คุยธรรมะให้ท่านฟัง ก็มีเท่านั้นละเรื่องน่ะ แต่ท่านไม่ได้พูดธรรมดาน่ะซี
บางทีนั่งอยู่เวลาประชุมพระมาก ๆ อยู่ด้วยกัน นั่งอยู่นี่ ‘ท่านมหาก็เห็นมีวี่ ๆ แวว ๆ บ้างภาวนาทีแรก เดี๋ยวนี้หายหมด เสื่อมหมดแล้ว ‘ว่างี้นะ ทางนี้ก็คึกคักล่ะซี หมาตัวนี้ลุกคึกคักขึ้นจะเห่าแล้ว มันเสื่อมไปไหน เห่าว้อก ๆ มันเสื่อมไปไหนน่า อยากว่าอย่างนั้น ท่านมีอุบายแปลก ๆ นะ
อู๋ย...ท่านฉลาดมาก ฉลาดจริง ๆ ยกให้เลยหลวงปู่มั่นนี้ อุบายวิธีการต่าง ๆ ท่านเอาจริงเอาจัง ติดตามนะ ใครภาวนาได้ผลมากน้อยเพียงไรนี้ ท่านจะติดตามเรื่อย ๆ อย่างนี้ละ ติดตามแบบนี้ละ คนละแบบ ๆ องค์หนึ่งเป็นแบบหนึ่ง ๆ ส่วนเราแบบนี้ว่างั้นเถอะ ทีไรก็แบบนี้เท่านั้น ให้คึกคัก ๆ ขึ้นจะเห่าทันทีเลย แปลกอยู่นะ...”
ลัก...ยิ้ม
20-10-2016, 17:28
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงมั่นใจว่าหากหลวงปู่มั่นยังมีชีวิตอยู่ ปัญหาธรรมภายในใจของท่านที่เป็นอยู่ขณะนี้ หลวงปู่มั่นท่านจะสามารถแก้ให้ได้ในทันที ท่านเปรียบความรู้ความชำนาญของหลวงปู่มั่นที่สามารถแก้ปัญหาของศิษย์ได้อย่างรวดเร็วไว้ดังนี้
...เวลาออกมาจากป่าจากเขา หอบปัญหามาจนจะก้าวไม่ออก พอมากราบเรียนพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านก็ใส่เปรี้ยง ๆ ความสงสัยพังทลายลงไปหมด ตัวเบาหวิว ๆ ถ้าตรงไหนยังไม่ลงกันก็ถกกัน บรรดาครูอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่าน ไม่มีใครเป็นพระตัวชน ตัวขี้ดื้อยิ่งกว่าเรา คือเราต้องการความจริง ท่านก็ทราบความจริงของเรา เพราะเราไม่ใช่เป็นคนหน้าด้านที่จะไปอวดทิฎฐิมานะต่อท่าน ท่านก็ทราบ ท่านจึงแสดงให้เราฟัง
ผู้รู้แก้ปัญหามันผิดกันกับผู้ไม่รู้มาก ก็เหมือนหมอเถื่อนกับหมอปริญญานั่นแหละ ผิดกันยังไงก็ดูเอาสิ หมอเถื่อนนั่นทุ่มกันทั้งหีบ ดีไม่ดีคนไข้ตาย หมอปริญญาเขาไม่ใช่อย่างนั้น เขาถามอาการแล้วตรวจดูแล้ว เขาก็หยิบยามานิดเดียวเท่านั้น ใส่ปั๊บเลย ควรฉีดก็ฉีด ควรให้รับประทานก็รับประทาน มันก็หายไปเลย มันผิดกัน.. ไม่จำเป็นต้องยกยามาทั้งหีบ
นี่ก็เหมือนกัน ธรรมอันใดที่จำเป็นเหมาะสมกับปัญหาที่เกิดเวลานี้ ของคนนี้ใส่เปรี้ยงเดียวเท่านั้น จบเลย...
แต่เนื่องจากขณะนี้หลวงปู่มั่นได้จากไปแล้ว อุบายที่ผุดขึ้นภายในจิตของท่านว่า ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ เป็นปัญหาธรรมที่ท่านยังไม่เข้าใจความหมายในเวลานั้น ท่านจึงได้แต่รู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ว่าหากหลวงปู่มั่นยังมีชีวิตอยู่.. องค์ท่านจะสามารถแก้ปัญหานี้ให้ได้ในทันที ดังนี้
หากท่านอาจารย์มั่นยังทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ ท่านจะแก้อุบายนี้ได้ทันที และจิตอวิชชาดวงสว่างไสวน่าอัศจรรย์นี้จะต้องพังทลายขาดสะบั้นไปในตอนนี้เลยทีเดียว แต่เพราะด้วยขณะนั้นปัญญายังไม่ทันกับอุบายที่ผุดขึ้น จึงไม่สามารถพังทลายได้ มิหนำซ้ำยังติดยังยึดมันเข้าเสียอีกด้วย...
ด้วยเหตุนี้เอง ท่านจึงพูดอย่างถึงใจอยู่เสมอว่า ครูบาอาจารย์ผู้รู้จริงนั้นมีความจำเป็นอยู่ทุกระยะดังนี้
ถ้าสมมติว่านำปัญหานี้มาเล่าถวายท่านอาจารย์มั่นตรงนี้ปั๊บ ... ท่านจะใส่ผางมาทันที ทีนี้จะเข้าใจ .. ปุ๊บเดียวจุดนั้นก็พังทลายไปเลย นี่มันไม่เข้าใจ ปัญหาก็บอกชัดอยู่แล้ว นี่ซิถึงได้ว่าความจำเป็นมีอยู่ทุกระยะนา ...
เรื่องจิตนี่จึงสำคัญที่ครูที่อาจารย์ผู้ให้การอบรมสั่งสอน ผู้ที่ท่านรู้แล้วไม่ต้องพูดมากเลย ท่านใส่ปั๊บเดียวได้ความ ใครจะมาสุ่มครอบทั้งหนองทั้งบึงไม่ได้ จะโยนมาใส่กันทั้งตู้ทั้งหีบมันไม่ได้
เรื่องความจำเป็นกับครูอาจารย์ มันจำเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าขั้นไหน ๆ ความก้าวหน้าของเรามันช้าผิดกัน ปัญหาบางอย่างแก้กันอยู่ ๒ วัน ๓ วัน แก้กันยังไม่ตก... ไม่ตกมันก็ไม่ถอย จะต้องแก้ให้ตกจนได้ นี่ซิมันจะตาย เพราะคำว่าแพ้นั้นมีไม่ได้ ถ้าจะแพ้ให้ตายเสียดีกว่า นอกจากต้องทะลุโดยถ่ายเดียว ถ้าไม่ทะลุก็ต้องเจาะกันอยู่อย่างนั้น หมุนติ้ว ๆ อยู่นั้น...
ลัก...ยิ้ม
28-10-2016, 11:54
หมู่เพื่อนเกาะพรึบ
ท่านไม่เคยคิดมาก่อนเลย ว่าจะมาเป็นครูเป็นอาจารย์ของใครเนื่องจากอุปนิสัยชอบอยู่คนเดียวตลอดมา ดังนี้
“.. จังหวะที่หลวงปู่มั่นมรณภาพ เป็นจังหวะที่หมู่เพื่อนขาดที่พึ่ง จึงเกาะพรึบเลยตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งบัดนี้ พอเผาศพท่านแล้วออกหลบหลีกปลีกตัว หนีไปอยู่ในป่าในเขาลูกไหนลูกไหนก็ตาม ขโมยนี้สุดยอด คำว่าขโมยจากหมู่เพื่อนนี้ คำว่าสุดยอดคือยังไง
กลางคืนเงียบ ๆ ดึก ๆ ก็ไปเพราะหมู่เพื่อนไปรุมนี่ เรารำคาญเราไม่อยากอยู่ ทีนี้พอเงียบ ๆ ก็เดินดู เห็นหมู่เพื่อนบางองค์เดินจงกรม บางองค์นั่งสมาธิ นี่เรียกว่าไปดูลาดเลา เราเตรียมของไว้เรียบร้อยแล้ว พอมาปั๊บ หนีหมู่เพื่อนออกทางนี้นะ สะพายบาตรหนีกลางคืนเงียบไปเลย พอตื่นเช้ามา หมู่เพื่อนยุ่งไปหมดเลยเหมือนฟ้าดินถล่มละ
‘ไปแล้ว ไม่ทราบไปทางไหนละ’
หายเงียบ พอประมาณสัก ๒ อาทิตย์นะ เพราะพวกนี้เก่งนี่นะ... จมูกพระนี่ติดตามถึงเขาลูกไหน ถ้ำไหน ตามถึงหมด... ตามจนกระทั่งถึง ไม่ว่าจะไปอยู่ป่าไหน เขาลูกไหน ถ้ำไหน รู้หมดเลย โอ๋.. เราจึงว่าให้ ‘จมูกหมานี้สู้จมูกพระไม่ได้นะ’
เราว่าถึงยังงี้ ว่าขนาดไหนก็เฉย (หัวเราะ) ขอให้ได้อยู่ด้วยก็เอาอย่างนั้นละนะ ว่าขนาดไหนก็เฉยเหมือนไม่มีหูมีตา ไม่มีจิตมีใจนะ เฉยคือหมายความว่า เราได้ที่แล้วจะว่ายังไงว่าเถอะ ทีนี้เอาอีกนะ พอเผลอเอาอีก บางทีกลางวันแสก ๆ หมู่เพื่อนเดินจงกรมอยู่ในเขาในป่านี่ว่ะ ไปเดินฉากนู้นฉากนี้ดู เราเตรียมของไว้แล้ว ไปเดินดูนั้นดูนี้ เห็นองค์นั้นเดินจงกรมอยู่บ้าง องค์นี้นั่งสมาธิอยู่บ้าง ไปเอาของที่เตรียมออกทางนี้นะ ทางที่ไม่มีใครนี่ไปเลย ๆ อยู่ยังงั้นไม่ทราบว่ากี่ครั้งกี่หน สุดท้ายมันก็พ้นไปไม่ได้นะ...
ลัก...ยิ้ม
03-11-2016, 19:21
มันเกาะไม่ถอยนี่ หลบโน้นหลีกนี้ ๆ ยิ่งท่านสิงห์ทองนี่ยิ่งเกาะใหญ่ ตามเลยเทียว ได้ยินว่าเราไปทางอำเภอบ้านผือเข้าในเขาแล้ว ตามเข้าไป ๆ ได้ยินแต่ข่าว ท่านไปนี้ ๆ ไปโน้น ๆ (พอ) ท่านสิงห์ทองไปพักอยู่ที่นั่น เขาก็มาขอฟังเทศน์ ท่านสิงห์ก็บอก
‘โอ๊ยตาย... ยังไงกันนี่ อาตมาเทศน์ไม่เป็น กำลังเสาะแสวงหาครูอาจารย์อยู่นี้.. อาจารย์มหาบัว ท่านมาพักอยู่ที่นี่ ท่านไปทางไหน ?’
เรากำลังหนักเสียด้วยตอนนั้น หนักภายในจึงได้หลบหนี หลีกหลบตะพึดตะพือละตอนนั้น เกาะเท่าไรก็สลัด เขาบอก ‘ท่านไปทางโน้น ๆ ท่านอาจารย์มหาบัวก็ว่าเทศน์ไม่เป็น ท่านไม่ยุ่งกับใครนะ ใครมาท่านไล่หนีหมดเลย ท่านบอกท่านเทศน์ไม่เป็น บทเวลาวันที่ท่านจะไป.. พวกญาติโยมมามากต่อมาก ท่านทนไม่ไหว ท่านก็เทศน์ให้ฟัง โอ้โห.. บทเวลาเทศน์วัวคู่ร้อยสู้ไม่ได้เลย
แต่ก่อนวัวคู่หนึ่ง ๑๐๐ บาทแล้วเรียกว่าเยี่ยม ว่างั้นเถอะนะ มันไม่เคยมีแหละ วัวคู่หนึ่งที่ซึ้อถึง ๑๐๐ บาทนะ อย่างมากก็ ๖๐ ๗๐ ๘๐ บาทเท่านั้นพอ อันนี้วัวคู่ร้อยสู้ไม่ได้ อันนี้ก็เหมือนกัน ท่านสิงห์ทองเลยว่า ‘โอ๊ย ไม่ใช่ อาตมาเทศน์ไม่เป็น’..
ลัก...ยิ้ม
16-11-2016, 18:59
ธรรมลี (หลวงปู่ลี กุสลธโร) นี้ละที่เกาะเรา เกาะติด เกาะไม่ปล่อย ธรรมลีคงจะเห็นโทษหรือเห็นคุณอย่างไรไม่ทราบ มีอะไรตอบรับเราเรื่อย ๆ คือเราไปคนเดียว เที่ยวกรรมฐานเราไม่ค่อยไปกับใคร เราไปคนเดียว แต่ธรรมลีนี้ขโมยเกาะ ๆ สลัดอย่างไรไม่หลุด เกาะติด นี่คงจะคิดย้อนหลังเพราะขัดนิสัยเรา ท่านคงคิดอย่างนั้นละ ขัดนิสัยเราที่ชอบไปคนเดียว อย่างไม่มีใครติดตามได้เลย แต่ธรรมลีติดตามได้ สลัดอย่างไรไม่หลุดธรรมลี ..
เราไปแต่คนเดียว เที่ยวกรรมฐานไปคนเดียว คนเดียวไม่ใช่อะไรมันเป็นตามนิสัย นิสัยมันชอบเด็ด ถ้าไปคนเดียวป่าช้าอยู่กับเราเท่านั้นพอ ถ้ามีหมู่เพื่อนป่าช้าอยู่สองแห่ง แบ่งนู้นแบ่งนี้ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าไปคนเดียวแล้วป่าช้าอยู่กับเรา มันต่างกันอย่างนั้นละ นี่ธรรมลีชอบเกาะ ธรรมลีนี้เกาะ ใครไม่ได้ติดตามเราได้ง่าย ๆ ละ การเที่ยวนี่พูดได้ชัดเจนเลยว่าเด็ด การเที่ยวธุดงค์เด็ดไปแต่องค์เดียวคือมันสนุก.. มอบเลย ทุกอย่างมอบเลย ๆ ไม่ได้แบ่งรับแบ่งสู้ ถ้ามีเพื่อนมีฝูงมันแบ่งของมัน คิดนั้นคิดนี่ ถ้าไปคนเดียวพุ่งเลย มันต่างกัน เราไปคนเดียวเราพุ่งเลย การทำความเพียรก็พุ่งแบบเดียวกันเลย ไม่ได้มีอะไรแบ่งรับแบ่งสู้ มันผิดกันตรงนั้นละ
แต่นี้ธรรมลีเกาะติด คงจะคิดย้อนหลัง ท่านคือขัดนิสัยเรา ธรรมลีนี้เกาะติด นอกนั้นเกาะไม่ติด กลางคืนเตรียมของเรียบร้อย ถ้าจะไปวันพรุ่งนี้ ไปเที่ยวใครก็ทราบ ๆ เราเตรียมของกลางคืนแล้วก็เดินฉากนู้นฉากนี้ องค์นั้นเดินจงกรม องค์นี้นั่งภาวนา เดินฉากดูหมดแล้ว ของเตรียมไว้แล้ว พอกลับมาออกทางหลังเลย ตื่นเช้ามาไม่เห็นเรา เป็นแต่อย่างนั้น ...”
ลัก...ยิ้ม
18-11-2016, 15:49
ต่อมาเมื่อมีพระเณรติดตามขอรับคำแนะนำจากท่านมากขึ้นทุกที ความเห็นใจที่ท่านเองก็เคยเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์เช่นนี้มาก่อนจึงทำให้ยอมรับภาระในที่สุด
“...ผมไม่ได้เคยคิดว่าได้เป็นครูเป็นอาจารย์ใครทั้งนั้นแหละ เพราะนิสัยไม่มีทางนั้น มีแต่จะเอา ๆ เรื่องของเจ้าของโดยเฉพาะ ๆ เหมือนไม่เคยที่จะไปสนใจไปสอนผู้ใดเลย เวลาปฏิบัติก็มุ่งต่ออรรถต่อธรรมอย่างเดียว ทีนี้เวลาพอลืมหูลืมตาได้บ้าง มันก็ไม่สนใจที่จะสอนใคร เสียอยู่อย่างนี้.. สบายดีว่างั้น
เพราะฉะนั้น เวลาหมู่เพื่อนรุมไปกับผม ผมจึงขโมยหนีเรื่อยนะซิ อยู่คนเดียวสบายดี ไม่มีอะไรมากวน สบายดี มันเป็นอย่างนั้น ทีนี้มันมากต่อมาก รุมเข้า ๆ ก็เลยเป็นอย่างนี้ อย่างที่เห็นนี่ แต่ไม่ได้เป็นกับนิสัยของเจ้าของนะ
ก็อยู่ไปอย่างนั้นแหละ เพราะเห็นหัวใจแต่ละดวงนี้มีคุณค่า คิดถึงเรื่องเราเวลาเลือกคลานเกิดขึ้นมาเจอพ่อเจอแม่อยู่แล้ว ครูอาจารย์เราได้วิ่งหาแทบล้มแทบตาย ไปที่ไหนก็ไม่เหมาะเจาะในหัวใจ มันก็ต้องผ่านไป ๆ จนกระทั่งไปถึงที่เหมาะเจาะแล้วถึงทุ่มกันลง หมู่เพื่อนแสวงหาครูบาอาจารย์ก็คงเป็นอย่างเดียวกันนี้ นี่แหละ...เอามาบวก มาลบ คูณ หาร กันดูแล้ว เราทนอยู่ด้วยเหตุนี้นะ...
เราก็ทนเพื่อหมู่เพื่อน เพราะหัวใจอยู่กับหมู่เพื่อนเท่านั้น ด้วยความเมตตาสงสาร เพราะการดำเนินทางด้านจิตใจนี้ เราเห็นโทษมาพอแล้ว สำหรับเราเอง เราเห็นคุณค่าของครูบาอาจารย์ที่คอยแนะนำสั่งสอนด้วยความถูกต้องแม่นยำ
จากนั้นก็เอาเรื่องเหล่านี้แหละ มาพิจารณาเทียบเคียงถึงเรื่องหมู่เพื่อนทั้งหลายจึงทนนะ นี่นะ.. ผมทนเอาเฉย ๆ
‘ถ้าเป็นตามนิสัยของผมแล้ว นิสัยหมายถึงความชอบใจนะ เราไม่ได้ชอบใจเกี่ยวกับหมู่เพื่อนมีมาก ๆ นี่นะ’
นิสัยของเราเป็นมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว เรื่องความอยู่คนหนึ่งคนเดียวตั้งแต่ปฏิบัติเราก็ปฏิบัติอย่างนั้น .. เรื่อยมาอย่างนั้นจนกระทั่งพ่อแม่ครูอาจารย์มรณภาพไปแล้ว หมู่เพื่อนมารุมเกาะเรานี่ซิ...
ลัก...ยิ้ม
30-11-2016, 12:15
กายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก
“... กายวิเวก ความสงัดแห่งกายในสถานที่อยู่อาศัย ที่ไปที่มาตามบริเวณที่อยู่นี้ นับว่าเป็นสัปปายะ ความสบายพอสมควร จิตวิเวก ท่านผู้มุ่งให้เป็นไปเพื่อความสงัดภายใน ตามขั้นแห่งความสงบของตน ก็มีประจำจิตของท่านผู้บำเพ็ญพอสมควร ส่วนผู้เริ่มฝึกหัดใหม่ ๆ ยังไม่ได้จิตวิเวกภายในใจ จงพยายามบำรุงอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้มีกำลัง ความวิเวกภายในค่อยปรากฏขึ้นเป็นลำดับ ผู้ที่ได้รับความวิเวกภายในพอประมาณแล้ว จงพยายามส่งเสริมให้มีความละเอียดเข้าเป็นลำดับ พร้อมทั้งปัญญาความรอบคอบในความวิเวกของตน และผู้มีธรรมยิ่งกว่านั้น จงรีบเร่งตักตวงความเพียรด้วยปัญญาให้เพียงพอ จะปรากฏเป็นอุปธิวิเวก ความสงัดจากกิเลสโดยสิ้นเชิงประจักษ์ใจขึ้นมาก...”
ลัก...ยิ้ม
15-12-2016, 18:46
พบปราชญ์กลางป่าเขา
ราวปี ๒๔๙๓ หลังเสร็จสิ้นงานประชุมเพลิงหลวงปู่มั่น ท่านได้ไปพักอยู่กับท่านพระอาจารย์หล้า ขันติธโร (วัดป่าขันติยานุสรณ์ บ้านนาเก็น อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี) ในเขาลึกราวครึ่งเดือน ที่พักเป็นป่าเขา อาศัยอยู่กับชาวไร่ บิณฑบาตพอเป็นไปวันหนึ่ง ๆ เดินจากที่พักออกมาหมู่บ้านกว่าจะพ้นจากป่าก็เป็นเวลา ๓ ชั่วโมง ๒๐ นาที ถึงหมู่บ้านก็ร่วม ๔ ชั่วโมง ครั้งนั้นท่านได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับท่านพระอาจารย์หล้า เกิดความซาบซึ้งจับใจในธรรมของท่านมาก ดังนี้
"... ท่านอาจารย์หล้าเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูมิลำเนาเดิมอยู่เวียงจันทน์ ท่านไม่รู้หนังสือเนื่องจากไม่เคยเรียนมาก่อน นับแต่อุปสมบทแล้วท่านอยู่ฝั่งไทย มีหมู่คณะและครูอาจารย์ทางฝ่ายปฏิบัติมาก
ท่านอาจารย์หล้าเริ่มฉันหนเดียว และเที่ยวกรรมฐานอยู่ตามป่าตามเขากับท่านพระอาจารย์มั่นและท่านพระอาจารย์เสาร์มาแต่เริ่มอุปสมบท ไม่เคยลดละข้อวัตรปฏิบัติและความเพียรทางใจตลอดมา ...
ลัก...ยิ้ม
21-12-2016, 16:09
ท่านอาจารย์หล้าอธิบายปัจจยาการ คืออวิชชาได้ดี ละเอียดลออมาก ยากจะมีผู้อธิบายได้อย่างท่าน เพราะปัจจยาการเป็นธรรมละเอียดสุขุมมาก ต้องเป็นผู้ผ่านการปฏิบัติภาคจิตภาวนามาอย่างช่ำชอง จึงจะสามารถอธิบายได้โดยละเอียดถูกต้อง เนื่องจากปัจจยาการหรืออวิชชา เป็นกิเลสประเภทละเอียดมาก ต้องเป็นวิสัยของปัญญาวิปัสสนาขั้นละเอียดเท่า ๆ กัน จึงจะสามารถค้นพบและถอดถอนตัวปัจจยการคืออวิชชาจริงได้ และอธิบายได้อย่างถูกต้อง ...
ท่านอาจารย์หล้ามีนิสัยเด็ดเดี่ยวอาจหาญ ชอบอยู่และไปคนเดียว ท่านมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลก ๆ ได้ดี คือพวกกายทิพย์ มีเทวดา เป็นต้น พวกนี้เคารพรักท่านมาก ท่านว่าท่านพักอยู่ที่ไหน มักมีพวกนี้ไปอารักขาอยู่เสมอ
ท่านมีนิสัยมักน้อย.. สันโดษมากตลอดมา และไม่ชอบออกสังคม คือหมู่มาก ชอบอยู่แต่ป่าแต่เขากับพวกชาวป่าชาวเขาเป็นปกติตลอดมา ท่านมีคุณธรรมสูง น่าเคารพบูชามาก คุณธรรมทางสติปัญญารู้สึกว่า ท่านคล่องแคล่วมาก ...
เวลาท่านจะจากขันธ์ไป ก็ทราบว่าไม่ให้ใครวุ่นวายกับท่านมาก เป็นกังวลไม่สบาย ขอตายอย่างเงียบ.. แบบกรรมฐานตาย จึงเป็นความตายที่เต็มภูมิของพระปฏิบัติ ไม่เกลื่อนกล่นวุ่นวาย...
ลัก...ยิ้ม
27-12-2016, 11:27
พระอุปัชฌาย์ไปธุดงค์ด้วย
ในช่วงเวลานี้ ภาระปัญหาธรรม ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ ยังแก้ไม่ตก การแก้ปัญหานี้ต้องปลีกตัวภาวนาอยู่เพียงลำพังเท่านั้น จึงจะสะดวกต่อการพิจารณา แต่เรื่องกลับเป็นตรงกันข้าม การออกธุดงค์ครั้งนี้ กลับมีความจำเป็นต้องให้ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ พระอุปัชฌาย์ของท่าน ร่วมเดินทางไปด้วยตามความประสงค์ของท่านเจ้าคุณ การร่วมเดินทางคราวนี้เกือบทำให้ท่านเจ้าคุณต้องเข้าใจผิดไป ท่านเล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า
... พรรษา ๑๖ เราย้อนกลับมา เข้าไปในภูเขา ไปอยู่ทางถ้ำผาดัก (อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี) นั่นก็ป่าเสือ ที่นั่นก็ดี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ท่านไปด้วยวันนั้น ท่านว่าเราขอไปด้วย โอ๊ย.. แล้วกัน ก็เราจะไปหาทำความเพียร ท่านก็เป็นอุปัชฌาย์เราด้วย ก็ต้องได้เป็นกังวล.. ก็เป็นจริง ๆ
ทีแรกเราพักอยู่ในบริเวณศาลาเล็ก ๆ ท่านไปเยี่ยมอาจารย์หล้า ... ท่านอาจารย์หล้า ท่านอยู่องค์เดียว ท่านลึก ๆ ไปอาศัยพวกทำไร่ทำสวน อยู่ลึก ๆ ท่านเจ้าคุณก็อยากไปเยี่ยมท่าน ชวนเราไปด้วย เราจะไปลำพัง เราต่างหากนี่นะ ตกลงเราก็ต้องไป ก็ท่านเป็นอุปัชฌาย์เราจะว่าไง ไปแล้วมันก็ไม่สบายอย่างว่า เพราะจิตมันหมุนตลอดเวลา อยู่กับใครไม่ได้
นี่ละ ถึงขั้นมันจะไป ฟังเอาซิ จิต.. ถึงขั้นมันจะผึง จะไปแล้ว อยู่กับใครไม่ได้ แม้แต่อยู่กับพระด้วยกัน อย่างท่านเจ้าคุณกับเพื่อนฝูงด้วยกันยังอยู่ไม่ได้ เสียเวลา เหมือนน้ำไหลบ่า เดี๋ยวคิดกับองค์นั้น พูดกับองค์นี้ไม่ได้ มันจ่อเหมือนนักมวยเข้าวงใน หมุนติ้ว ๆ อยู่งั้นตลอดเวลา เว้นแต่หลับ พอตื่นก็ปุ๊บแล้ว.. เอากันแล้วตลอด ไม่ได้คิดถึงดินฟ้าอากาศที่ไหน ๆ มีแต่หมุนอยู่ภายในตลอด การขบการฉันไม่สนใจ ไปลำพังเจ้าของ อยากฉันเมื่อไรก็ฉัน ไม่อยากฉันหมุนติ้วตลอดเลย นี่เป็นความเพียรในระยะนั้น เรียกว่าความเพียรอัตโนมัติ สติปัญญาอัตโนมัติ หมุนตลอด ถึงขั้นมันจะไป... นี่ละ ธรรมเมื่อมีกำลังแล้วเป็นอย่างนั้น ถึงขั้นนี่แล้วไม่อยู่ จิตหมุนติ้ว ๆ อยู่กับใครไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เราถึงหลบถึงหลีกหนีอยู่องค์เดียว
ลัก...ยิ้ม
06-01-2017, 15:24
พอเผาศพพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นแล้วก็หลีกหนี หลบหนีเรื่อยไม่ให้ใครทราบนะ ไปไม่บอกใครเลย จะออกไปทางไหนไม่บอก ไปอยู่นี้ประมาณ ๒ อาทิตย์บ้างอะไรบ้าง เดี๋ยวพระเณรก็ตาม หลบหนีอีกแล้ว ไปอีกแล้วอยู่อย่างนั้น ก็ไปจนตรอกท่านเจ้าคุณอุปัชฌาย์ไปด้วย..
ก็เราจะไปนู้นแต่ท่านขอไปด้วยน่ะซี เราขโมยหนีจากหมู่เพื่อนแล้วมาโดดเดี่ยวคนเดียว ทีนี้จะเอาให้สุดเหวี่ยง มาก็มากราบท่านด้วยความเคารพเพราะท่านเป็นอุปัชฌาย์ มาอุดรฯ จะเผ่นไปทางอื่นเลยก็ไม่เหมาะ ไปกราบท่านก็ถาม "จะไปเที่ยว เอ้อ.. ถ้าจะไปทางนู้น ข้าจะไปด้วย" กูตาย เรา โอ๊ย.. ยังไง ท่านก็ไปด้วย ไปด้วยท่านก็ไปแบบของท่านละซิ แบบของเราต่างหาก แบบของท่านต่างหาก ครั้นเวลาไปแล้วมันไม่สะดวก นี่คือว่าอยู่กับใครไม่ได้ ทนไปกับท่าน ...
ลัก...ยิ้ม
13-01-2017, 17:30
อยู่นั่นเราไม่สบาย เพราะจิตมันหมุนเป็นธรรมจักร จะอยู่กับใครได้ ก็เลยออกจากนั่นมา อยู่นั่นก็ห่างอยู่นะ ท่านก็ยังวิตกกับเราอยู่ อยู่ห่าง ๆ นั้นก็ดี เป็นอย่างนั้นนะ ว่าเข้าไปอยู่ป่าเสือ จากนั้นมาเราก็ไปเที่ยวดูที่นั่นที่นี่ ไปเห็นนู่นเหมาะ... ป่าลึก ๆ โน่น ให้ญาติโยมเขาไปทำแคร่ให้เรียบร้อย เราไปทำภาวนาของเราที่นั่น จะมาฉันร่วมก็ตอนเช้า จากนั้นแล้วเราก็จะไปโน้น เราคิดว่างั้น เพราะจิตมันหมุนเป็นธรรมจักรตลอดเวลา พรรษา ๑๖ เดือน ๔ ระหว่างนี้มั้ง เดือน ๔ ละ เดือนมีนา เมษา อยู่ทางโน้น อยู่ในป่า
ถ้าอยู่คนเดียวนี้พุ่ง ๆ ตลอด ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ จิตไม่มีคำว่าเผลอ สติปัญญาขั้นนี้แล้วไม่มีเผลอ หมุนกันตลอดเลยเหมือนนักมวยเข้าวงใน จะไปดูเวล่ำเวลา นาฬิกานาทีตีโมงที่ไหน นักมวยเข้าวงใน ถ้าไปดูก็ตาย..เข้าใจไหม ? อันนี้ก็เหมือนกัน กิเลสกับธรรม.. ฟัดกันเข้าวงในเป็นอย่างนั้น ไม่รู้จักเป็นจักตาย หมุนติ้ว ๆ ... อยู่กับท่านมันไม่สะดวก ท่านก็คุยธรรมะ แต่เป็นธรรมะธรรมดาพื้น ๆ นั่นซี ไม่ใช่ธรรมะที่เราหมุนติ้ว ๆ มันก็เข้ากันไม่ได้ อยู่ที่นี่ก็ไม่สบาย ตอนค่ำคืนก็ต้องมาหาท่าน ถ้าเราไปอยู่ไกล ๆ นู้นกลางคืนเราไม่มา เราจะมาแต่ตอนเช้า เราจึงไปอยู่ทางนู้น เราก็ทำให้เขาทำแคร่ให้เล็ก ๆ อยู่ลึก ๆ ไกลจากท่านไป เรียกว่าเหมาะว่างั้นเถอะ
เราจะมาฉันจังหันร่วมจากนั้นแล้วไม่มา ถึงเวลาฉันจังหันเราถึงจะมา เราคิดอย่างนั้นเพราะงานของเราไม่ว่าง ให้เขาทำแคร่ให้เสร็จเรียบร้อยแล้วเราก็มา แล้วท่านก็ไปที่นั่นนะ เวลาเรามาที่พักของเราแล้ว ท่านก็พาโยมไป "ไหน..? มหาบัวไปทำแคร่ที่ไหน ?"
ว่างั้น ให้โยมเขาพาไปดู ตอนค่ำเราอยู่แคร่ เรายังไม่ไป ทำเสร็จวันนั้นแหละแต่ยังไม่ไป ตอนค่ำลาท่านแล้ววันหลังจึงจะไป คิดว่างั้นนะ พอเรากลับมาท่านก็ไปดู เรามาหาท่านตอนค่ำ ทีนี้ท่านเปิดเผยแล้วนะ "ตั้งแต่อยู่ที่นี่เราก็วิตกกับเธอ ไปอยู่ป่าลึก"
ก็ไม่เห็นลึก เพราะตอนเช้าตอนเย็นเราก็มาเกี่ยวข้องกับท่านอยู่ที่นี่นะ มันไม่สะดวกในงานของเรา เพราะฉะนั้นจึงหลีกไปโน้น จะมาเฉพาะตอนเช้าเท่านั้น เราคิดว่างั้น เวลาทำเสร็จแล้วท่านก็ไปดูแล้วกลับมา ตอนค่ำเราก็ไปหาท่าน คิดว่าจะลาท่านไปวันพรุ่งนี้ ว่างั้นนะ
ท่านว่า "เราก็ไปดูที่เธออยู่นะบัว ที่เดิมนี้มันก็เปลี่ยวพอแล้วบัว ยิ่งไปอยู่นั่น โอ๊ย.. เราวิตกนะบัว น่ากลัวนะบัว อย่าไปเถอะ"
ว่าอีกแหละ อู๊ย.. เรายังไงกัน ท่านก็อยู่ตามสภาพของท่าน กับสภาพของเรามันต่างกัน "โอ๊ย อย่าไปเถอะบัว เราเป็นห่วงเธอ นั่นป่าจริง ๆ นะนั่น พวกสัตว์ พวกเสือ น่าเป็นห่วงนะบัว อย่าไปเถอะ"
ท่านเปิดออกแล้วนะ ก็เราจะฝืนท่านยังไงได้...ใช่ไหมล่ะ ตกลงเลยไม่ได้ไป ไปทำร้านไว้เฉย ๆ อันนี้จิตมันหมุนอยู่ตลอด มันอยู่ไม่ได้ หลายครั้งนะ ลาท่านไปที่นั่นที่นี่ ท่านก็มีอุบายพูดอย่างนั้นตลอด เราก็ทนไม่ได้ เราก็ลาหลีกไปนั่นหลีกไปนี่ ก็จับละซิ
ลัก...ยิ้ม
24-01-2017, 17:57
พอครั้งที่สาม เราจะขอไปอยู่ในเขาลูกนี้ ชี้ไป เห็นภูเขา เขาว่ามีสถานที่ดีอยู่ พอลาครั้งที่สามท่านเปิดเลยนะ "เออ...บัวเอ๊ย เรามาอยู่กับเธอนี่ เธอเป็นกังวลกับเรา เธอไม่สะดวก เราไปแล้วเธอจะสะดวกสบายแหละ"
เราไม่รู้จะว่าอย่างไร ก็เรามันอยู่ไม่ได้ มันหมุนตลอด จากนั้นเราก็หาอุบายลาหนีออกไปเลย ท่านก็เลยว่า "เออ...มหาบัวอยู่กับเรานี่ไม่สะดวกสบาย เป็นอย่างไรนะ"
ท่านพูดกับโยมท่านอาจารย์หล้านะ "มหาบัวมาอยู่กับเรา รู้สึกดิ้นทางนู้นทางนี้เรื่อย ท่านไม่รู้เรื่องของเรานะ อยู่กับเราไม่ค่อยสนิท มักจะไปที่นั่น มักจะไปที่นี่ เป็นยังไงนะ...มหาบัว"
ท่านรู้สึกจะมีอะไรกับเรา แต่เรามันหนักในทางนี้ ไม่เป็นกังวล เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องโลก ๆ เรื่องของเราเป็นเรื่องธรรมล้วน ๆ หนีจากท่านเสียจนได้ พอเราหนีมาแล้วไม่กี่วัน ท่านก็หนีมา มาก็มาพูดอยู่ทางวัดโพธิสมภาร พูดให้พระกรรมฐานฟัง ท่านไม่พูดกับประชาชนแหละ ท่านไม่รู้เรื่องของเรา ทีแรกท่านคิดจะยกโทษเรานะ "มหาบัวอยู่กับเราไม่เป็นสุข เป็นอย่างไรไม่รู้นะ เดี๋ยวลาไปนั้น เดี๋ยวลาไปนี้ ลาอยู่อย่างนั้น เป็นอย่างไรอยู่กับเราอยู่ไม่ติด เหมือนจะรังเกียจเราอะไร จนกระทั่งเราให้ไปก็ไปเลย ไม่เป็นสุข มหาบัวเป็นอย่างไรนะ"
พอดีไปคุยกับพระที่เคยคุยธรรมะกับเรา เป็นพระกรรมฐานที่เคยคุยธรรมะกับเรา ท่านเล่าเรื่องเป็นลักษณะที่ว่าไม่พอใจในเรา ว่าเราอยู่กับท่าน.. เราไม่พอใจ คงเป็นอย่างนั้น ... พระองค์นั้นก็เราเคยเล่าให้ฟัง แล้วนี่ท่านเลยเล่าให้ฟังทีนี้นะ
"โอ๊ย.. ท่านไม่รังเกียจ ท่านเล่าเรื่องความเพียรให้ฟัง เวลานี้ท่านกำลังพิจารณาอย่างนั้น ๆ ธรรมะของท่านกำลังเร่ง ท่านอยู่กับใครไม่ได้ ท่านหลีกหนีมา ๆ มีแต่หลักอันเดียว ท่านหลบหลีกจากหมู่จากเพื่อนตลอด เพื่องานของท่านสะดวกสืบต่อเป็นลำดับลำดา ไม่ขาดวรรคขาดตอน ความเพียรของท่านเต็มเม็ดเต็มหน่วย ที่ลาไปที่นั่นที่นี่คงจะเป็นเพราะการภาวนาของท่านเร่ง นี่ท่านมากับพระเดชพระคุณ ท่านอาจจะเป็นห่วงความเพียรของท่าน ท่านถึงไปที่นั่นที่นี่"
"หือ ๆ ? ท่าน (เจ้าคุณธรรมเจดีย์) จ่อฟังนะ เรื่อยเข้าไปนะ จ่อเข้าไป พระองค์นั้นก็เลยเล่าเรื่องธรรมะของเรา ธรรมะประเภทนี้ท่านเลยเล่าให้ฟัง แล้ว ท่านไม่มีวันคืน ท่านอยู่กับใครไม่ได้ ท่านต้องหลีกไปอยู่องค์เดียวของท่านอย่างนั้น "หือ ๆ ?" จ่อเข้าเรื่อยนะทีนี้ เป็นอย่างนั้นแหละ
"อ๋อ เพราะฉะนั้น เธอถึงอยู่กับเราไม่ติด ไปอยู่กับเรา... เธอไปทำที่อยู่ลึก ๆ เราก็เป็นห่วงอยู่แล้ว มิหนำซ้ำยังโดดไปโน้นอีก ไปภูเขาลูกโน้นลูกนี้อีก อ๋อ.. อย่างนั้นเอง"
ทีนี้ลงใจนะ อ๋อ ๆ เป็นอย่างนั้นเอง พระองค์นี้เราเคยเล่าให้ฟัง ว่าท่านอยู่กับใครไม่ได้ ท่านหลีกหนีจากหมู่จากเพื่อนตลอดเวลา มานี้มากับพระเดชพระคุณท่านก็มา มาด้วยความจำเป็นท่านก็มา พระเลยเล่าให้ฟัง แต่ท่านก็อดคิดเรื่องงานของท่านไม่ได้ ต้องหลีกต้องเว้น "เออ.. อย่างนั้นหรือ ? เราไม่รู้ อ๋อ.. เป็นอย่างนั้นเอง"
ทีนี้พอเรากลับมาคราวหลังนี่ ขอโทษเรานะ "เออ.. บัว ตอนเธอไปอยู่กับเรา เราได้คิดผิดกับเธอมามาก ว่าเธอรังเกียจเราอะไรต่อมิอะไร เราเข้าใจผิด นึกว่าเธอรังเกียจ เราอดคิดไม่ได้นะ อยู่กับเราไม่เป็นสุข เดี๋ยวลาไปนู่น เดี๋ยวลาไปนี่ ๆ ไม่รู้กี่ครั้ง ที่นี้พระมาเล่าให้ฟังแล้ว เราพอใจ ๆ เราขอโทษนะบัว ขอโทษเธอนะ"
"หโอ๊ย.. จะเป็นไร" เราก็ว่าอย่างนั้น ทีนี้ท่านเห็นโทษของท่านนะ ที่ว่าเราอยู่ไม่ได้ อย่างนี้เพราะความเพียรเป็นอย่างนั้น ๆ ท่านเปิดออกมาเลย (ตอนนั้น) โน่นอยู่ในเขา ทางที่ว่าไปถ้ำผาดัก ลงจากนั้นแล้วก็มาอยู่ตีนเขา ลาท่านเจ้าคุณมา ท่านเอาไว้ไม่อยู่ว่าอย่างนั้นเถอะนะ จะอยู่ได้อย่างไร มันหมุนติ้ว ๆ ก็มาขัดหัวอกที่นั่น หายจาก (โรคเจ็บขัดในหัวอก) แล้วถึงได้มาสกลนคร แล้วขึ้นวัดดอยธรรมเจดีย์ (ต่อไป) ..."
ลัก...ยิ้ม
02-02-2017, 17:21
หลังจากที่ท่านได้ลาจากท่านเจ้าคุณไป ในระยะนั้นความต่อเนื่องทางความเพียรจึงมีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง กล่าวถึงปัญหาหนึ่งของบรรดาพระกรรมฐาน เกี่ยวกับการออกเที่ยวธุดงค์ในสมัยนั้น มักได้รับผลกระทบจากพระฝ่ายปกครอง แต่สำหรับท่านเองกลับไม่เคยพบปัญหาเช่นนี้เลย ดังนี้
"... ออกปฏิบัติกรรมฐานไปองค์เดียวตลอดเลย .. ตามธรรมดาแต่ก่อนพวกการปกครองไม่ได้แยกกัน ธรรมยุตกับมหานิกาย เจ้าคณะนั้นเจ้าคณะนี้เห็นกรรมฐานไปนี่ โหย.. ถูกไล่ถูกขนาบ พวกนี้อวดก้ามอย่างนั้นละ แต่กับเราไม่เคยถูกไล่นะ เราไปองค์เดียวอย่างนั้นละ หรือหลักธรรมวินัยก็เรียนมาเต็มที่ทุกอย่าง อะไรผิดถูกประการใดก็รู้ แต่เราไม่เคยถูกขับแหละ ส่วนมากพระกรรมฐานไปมักจะถูกขับถูกไล่ แต่เรานี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนไม่เคยมี สถานที่ว่าเก่ง ๆ เราไปก็ไม่เห็นมี คงเป็น "มหา" นี่ละ เป็นกำแพงทำให้ไม่กล้า ไม่เคยมี ไปอย่างนั้นตลอดองค์เดียว..."
สำหรับพระอุปัชฌาย์ของท่านเอง แม้จะเป็นพระในฝ่ายปกครอง แต่ท่านมีความเข้าใจชีวิตพระธุดงค์กรรมฐานเป็นอย่างยิ่ง และยังให้การอุปถัมภ์คุ้มครองช่วยเหลือพระกรรมฐาน ให้ได้รับความสะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรมจนตลอดชีวิตของท่านเลยทีเดียว องค์หลวงตากล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะท่านเจ้าคุณพระอุปัชฌาย์มีความเคารพบูชาและเกี่ยวข้องกับหลวงปู่มั่นมาตั้งแต่เป็นเด็กน้อยแล้ว ดังนี้
" ... เจ้าคุณพระอุปัชฌาย์ของเรา ท่านเป็นธรรมทั้งแท่งเลยนะ เพราะท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นมาตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านบอกว่า...
"นี่...เณรจูม ดูมันหูกาง ๆ ลักษณะมันจะเป็นผู้ใหญ่ได้ เอาไปเรียนหนังสือเสีย ให้มันได้มาเป็นผู้ใหญ่ให้ความร่มเย็นแก่ผู้น้อย
แล้วท่านอาจารย์มั่นก็ไปฝากที่วัดเทพศิรินทราวาส กว่าจะเป็นพระมหาจูม สอบเท่าไรก็ตก ตกเท่าไรก็สอบ จนเขาเรียกท่านว่า "มหาจูมหนังสือเน่า"
พอได้มาเป็นเจ้าคณะมณฑลก็อยู่ให้ความร่มเย็นแก่หมู่คณะมาโดยตลอด เป็นอย่างพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นว่าไว้จริง ๆ ..."
ลัก...ยิ้ม
10-02-2017, 12:01
ป่วยหนัก ... รักษาด้วยธรรมโอสถ
คราวหนึ่งในระยะไล่เลี่ยกัน ท่านไปพักวิเวกทางบ้านกาหม-โพนทอง ซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอบ้านผือ (จังหวัดอุดรธานี) กับอำเภอท่าบ่อ (จังหวัดหนองคาย) ต่อเขตต่อแดนกัน มีแม่น้ำทอนเป็นเขตแดน ชาวบ้านเล่าว่า ในครั้งนั้นท่านวิเวกมาพักวัดร้าง* ห่างป่าช้าประมาณ ๒๐๐ - ๓๐๐ เมตร สมัยนั้นเป็นป่าดงดิบบริบูรณ์มาก มีสัตว์ป่าชุกชุมจนเป็นที่หลบหลีกของเหล่านักเลง ที่ขโมยปล้นจี้หนีอาญาแผ่นดิน เลยป่าช้าไปเล็กน้อยเป็นบ้านหนองกระด้ง หนองกระติ้ว ซึ่งท่านก็เคยแวะพักเช่นกัน
เมื่อท่านมาพักภาวนาอยู่ในป่าแห่งนี้ ชาวบ้านหมู่บ้านกาหม-โพนทองจำนวนมากต่างพากันล้มป่วย ด้วยโรคเจ็บขัดในหัวอกดาดาษกันไปหมดเหมือนโรคอหิวาต์หรือฝีดาษ ถึงขนาดที่วันหนึ่ง ๆ เป็นกันตายกันวันละ ๓ - ๔ คนบ้าง ๕ คนบ้าง บางวันก็มีถึง ๗ - ๘ คนบ้าง เขาก็ไปนิมนต์ท่านมาสวดกุสลาฯ มาติกาบังสุกุลให้คนตายเพราะแถวนั้นไม่มีพระ วันทั้งวันมีแต่กุสลาฯ มาติกาฯ อุทิศส่วนบุญให้คนตายไม่หยุดหย่อน เดี๋ยวมีคนนั้นตายแบกเข้ามาแล้ว สักพักเดี๋ยวแบกเข้ามาใหม่อีกแล้ว ท่านจึงไม่ได้หนีห่างจากป่าช้าเลย จนสุดท้ายโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนมากมายนี้ก็มาเป็นขึ้นกับตัวท่านเอง
อาการของโรคเจ็บเหมือนกับเหล็กแหลนหลาวทิ่มแทงประสานกันเข้าไปในหัวอกในหัวใจ จะหายใจแรงก็ไม่ได้ ยิ่งถ้าหากว่าจามด้วยแล้วแทบจะสลบไปในตอนนั้นเลยทีเดียว เมื่ออาการเกิดขึ้นเช่นนี้ ทำให้ท่านทราบได้ทันทีว่า ถ้าขืนเป็นเช่นนี้แล้วไม่นานคงต้องตายอย่างแน่แท้ เพราะแม้แต่การหายใจก็จะไม่ได้ มันคับเข้าแน่นเข้าเรื่อย ๆ หายใจแรงแทบไม่ได้เลย เมื่ออาการเช่นนี้ปรากฏขึ้น ท่านจึงบอกชาวบ้านว่าเป็นโรคแบบเดียวกันนี้แล้ว ต้องขอหลบตัว
ท่านเล่าว่า ระยะนั้นจิตของท่านละเอียดมากทีเดียว เรื่องร่างกายเป็นอันว่าปล่อยวางกันไปหมดแล้ว.. ไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่นามธรรม ความคิดความปรุงที่ฟัดเหวี่ยงกันอยู่ตรงนั้น จิตก็รู้สึกละเอียดมาก ผ่องใสมาก กล้าหาญมาก
-------------------------------------------------------------------------------------
* ปัจจุบันเป็นทุ่งนา มีเพียงต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์หรือร่องรอยไว้ ป่าช้าเดิมได้ขยับขยาย ปัจจุบันโล่งเตียนเป็นพื้นโดยการฝันน้ำจากฝายน้ำทอนที่ไหลสู่แม่น้ำโฮงและแม่น้ำโขงตามลำดับ บ้านกาหม (เดิมเรียกบ้านกาโฮม หรือกาหม-โพนทอง เพราะมีฝูงกามานอนเป็นจำนวนมากที่ดงแห่งนี้) อยู่ใกล้บ้านโพนทอง ห่างกันประมาณ ๘ กิโลเมตร เดิมทั้งสองหมู่บ้านอยู่ติดกัน แต่เกิดน้ำท่วมจึงย้ายหมู่บ้านห่างกันออกไป
ลัก...ยิ้ม
17-02-2017, 15:49
จากนั้นท่านก็เก็บตัว พักที่ป่ากอไผ่ที่เชิงภูเขา เมื่อโรคเจ็บขัดหัวอกนี้ได้ปรากฏขึ้นก็ทำให้ท่านชักจะรวนเร จึงพิจารณาว่า
“ ... เออ ! คราวนี้เราจะไปตายเสียแล้วเหรอ ในเวลานี้เรายังไม่อยากไป เพราะในหัวใจถึงจะละเอียดขนาดไหนก็ตาม แต่ก็รู้อยู่ว่าจิตนี้ยังไม่ได้เป็นอิสระ ยังมีอะไรอยู่ในจิต หากว่าตายไปในตอนนี้ ก็แน่ใจในภูมิของจิตภูมิของธรรมว่าจะต้องไปเกิดในที่นั้น ๆ ยังไงก็ต้องค้างอยู่ ยังไม่ถึงที่ เหล่านี้ทำให้วิตกวิจารณ์ว่า
‘ยังไม่อยากตาย’ เพราะจิตยังจะค้างอยู่ในชั้นใดชั้นหนึ่ง ในความรู้สึกยังมีอาลัยอาวรณ์อยู่แต่ใช่กับชีวิต เป็นความอาลัยอาวรณ์อยู่กับมรรคผลนิพพานที่คนต้องการจะได้...”
แต่ด้วยเหตุที่โรคมันบีบบังคับตลอดเวลา ทำให้ท่านต้องหมุนกลับมาพิจารณาย้อนหลังว่า
“ไม่อยากตายก็ต้องได้ตาย เมื่อถึงกาลมันแล้วห้ามไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นคติธรรมดา.. ยุ่งไปทำไม เรื่องทุกขเวทนานี้ก็เคยผ่าน เคยรบมาด้วยการนั่งหามรุ่งหามค่ำ นั่งตลอดรุ่ง
แม้ทุกขเวทนามากแสนสาหัส ก็เคยได้ต่อสู้จนได้ความอัศจรรย์มาแล้ว โรคนี้ก็เป็นทุกขเวทนาหน้าเดียวกัน อริยสัจอันเดียวกัน จึงถอยไปไม่ได้”
มีชาวบ้านยกทั้งบ้านพากันไปเยี่ยมท่านเป็นร้อย ๆ ท่านก็ให้เขากลับหมด ไม่ให้ใครมายุ่งเลย จะเหลืออยู่ก็แต่ผู้เฒ่าคนหนึ่งเท่านั้น แกแอบซุ่มดูท่านอยู่ตลอดทั้งคืนด้วยความเป็นห่วงที่กอไผ่ในป่าใกล้ ๆ กันนั้นโดยไม่ให้ท่านรู้ตัว
ลัก...ยิ้ม
23-02-2017, 16:50
ท่านตั้งใจจะขึ้นเวทีต่อกรกับทุกขเวทนาของโรคในคืนนี้ ชนิดจะให้ถึงเหตุถึงผล ถึงพริกถึงขิง ถึงเป็นถึงตายเลยทีเดียว จากนั้นก็เข้าที่นั่งภาวนา โหมกำลังสติปัญญา.. หมุนเข้าพิจารณาทุกขเวทนาในจุดตรงกลางอกที่กำลังเจ็บเสียดแทงอยู่นี้ ท่านเล่าไว้ดังนี้
“ ... พิจารณาทุกขเวทนาในหัวอกนี้ว่าเป็นยังไง ? เกิดขึ้นจากอะไร ? เสียดแทงอะไร ? เวทนาเป็นหอกเป็นหลาวเมื่อไรกัน ? มันก็เป็นทุกข์ธรรมดานี่เอง ทุกข์นี้ก็เป็นสภาพอันหนึ่ง เป็นของจริง... ค้นกันไปมาไม่ถอย เป็นตายไม่สนใจ สนใจแต่จะให้รู้ความจริงในวันนี้เท่านั้น พิจารณาดังนี้
ทุกขเวทนามันมากเท่าไร มันแทงในหัวอก สติปัญญายิ่งหมุนติ้ว ๆ สู้ไม่ถอยจากหัวค่ำจนกระทั่งถึง ๖ ทุ่มกว่า พอเต็มที่เห็นประจักษ์ เวลาถอนนี้.. ถอนอย่างประจักษ์เช่นเดียวกับทุกขเวทนาจากการนั่งตลอดรุ่ง จิตรอบด้วยปัญญา ทุกขเวทนาแบบเดียวกัน ถอนออก ๆ กำหนดตามกัน ๆ ถอนออกจนโล่งหมดเลย หายเงียบไม่มีอะไรเหลือ โล่งหมดในหัวอกนี่ สุดท้ายก็เหมือนกับว่าร่างกายไม่มี ว่างไปหมดเลย พักดูความอัศจรรย์ของจิต
เมื่อทุกขเวทนาดับไปหมดแล้ว มีแต่ความว่างของร่างกาย จากนั้นก็เป็นความว่างของจิต กายหายเงียบ เมื่อจิตมันพอตัวได้กำลังแล้วก็ยิบแย็บ ๆ ถอยออกมา ๆ จิตก็ยังว่าง ร่างกายแม้จะมีอยู่แต่ไม่มีเจ็บมีปวด ไม่มีเสียดมีแทงในหัวอกอย่างที่เคยเป็นมาเลย จึงแน่ใจว่าไม่ตายแล้วทีนี้ โรคนี้หายไม่ยากอะไรเลย แก้กันด้วยอริยสัจ
พอหลังจากนั้นแล้วก็ลงเดินจงกรม เอาตะเกียงแก้วครอบเล็ก ๆ ภาคอีสานเขาเรียกตะเกียงโป๊ะเล็ก ๆ จุดไว้ข้างนอกมุ้งโน้น... ตั้งแต่ต่อสู้กันอยู่โน้นนะ จุดไว้แล้วก็เข้าที่ละ มองเห็นไฟอยู่นอกมุ้งโน้น ไม่ได้เอาเข้ามาในมุ้ง จากนั้นก็ลงเดินจงกรม โอ๋ย.. เดินก็ตัวปลิวไปเลย หายเงียบไม่มีอะไรเหลือ...”
ลัก...ยิ้ม
08-08-2017, 17:42
ท่านเดินจงกรมตลอดรุ่ง คืนนั้น ท่านจึงไม่ได้นอนเลย เมื่อแสงอาทิตย์สว่างพอรำไร ผู้เฒ่าที่แอบอยู่ข้างกอไผ่ก็ปุบปับออกมาด้วยความดีใจ ท่านเห็นผู้เฒ่าจึงทักว่า
“เอ้า โยมมาทำไมล่ะ ?”
“โห ผมนอนอยู่นี้ ข้างกอไผ่นี่” แกว่า
“เอ้า นอนทำไม ? ก็บอกให้ไปตั้งแต่เมื่อคืนนี้”
“โอ๊ย ผมไม่ไป ผมกลัวท่านจะตาย ผมคอยแอบอยู่นี้ ผมก็ไม่ได้นอนเหมือนกันทั้งคืน ไฟของท่านสว่างตลอดรุ่ง เห็นท่านมาเดินจงกรม ผมก็ดีใจบ้าง”
การพิจารณาทุกขเวทนาจากการป่วยคราวนี้ ท่านเคยยกเอามาเป็นตัวอย่างสอนพระให้รู้หลักว่า
“ ... ทุกขสัจนี้เป็นเหมือนหินลับปัญญานะ ถ้าเราพิจารณาแบบพระพุทธเจ้าสอน แบบอริยสัจเป็นของจริง ๆ เรื่องทุกขเวทนานี้เป็นหินลับปัญญาให้คมกล้า ..
เวลาพิจารณาแล้วแก้ถอนกัน มันก็ถอนให้เห็นชัด ๆ นี่นะ .. มันแก้กันได้ด้วยอริยสัจ ปัญญาพิจารณากองทุกข์ แยกแยะกันกับร่างกายของเราออกให้เห็นอย่างชัดเจน ดังที่เราเคยปฏิบัติมาในสมัยที่นั่งหามรุ่งหามค่ำ ไม่ได้ผิดกันเลย แต่เรื่องสติปัญญาต้องขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เราจะไปเอาเรื่องเก่าเรื่องที่เคยเป็นมามาปฏิบัติไม่ได้...
เรื่องแก้กิเลส แก้อะไรทุกสิ่งทุกอย่าง แก้ทุกขเวทนานี้ มันต้องสด ๆ ร้อน ๆ ... อย่าให้เกิดขึ้นมาด้วยการคาดการหมาย มันถึงแก้สด ๆ ร้อน ๆ จริง ๆ ...”
ลัก...ยิ้ม
11-08-2017, 12:24
ผีปอบสาว
หลังจากหายโรคเจ็บขัดในหัวอกด้วยธรรมโอสถแล้ว ท่านก็ไปที่วัดป่าสุทธาวาส ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องผูกพันไว้กับพระอุปัชฌาย์อีก ดังนี้
“... ท่าน (เจ้าคุณธรรมเจดีย์) ก็ไล่ไปสกลนคร เราก็จะไปสกลฯ อยู่แล้ว เราจะไปตามสบายของเรา ท่านผูกพันมากนะ ท่านให้ไปบวชหมอเจริญ วัฒนสุชาติ* ตอนนั้นเขาเรียนแพทย์ ให้ไปสวดกรรมวาจาให้เขา ท่านจะไปบวช แล้วให้เราไปสวดกรรมวาจา ให้รอท่านอยู่วัดสุทธาวาส ...”
เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นช่วงเวลาที่ท่านกลับมาพักวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร อีกครั้งหนึ่งภายหลังงานประชุมเพลิงหลวงปู่มั่นเสร็จสิ้นลง เพื่อร่วมงานบวชตามประเพณีของคุณหมอเจริญ ในช่วงเวลานั้นมีหญิงสาวนางหนึ่ง ได้เข้ามาพูดคุยสนทนากับหมอเจริญ โดยท่านเองก็ได้ร่วมฟังเรื่องราวในครั้งนี้ด้วย ดังนี้
“... อย่างเขาว่าเป็นปอบเป็นผีก็เหมือนกัน คนนั้นเป็นปอบ คนนี้เป็นปอบ มันมีผีมาสิงอยู่ในคน.. เขาเรียกปอบ เอ๊.. ชื่อว่าอะไรนาหญิงคนนี้ หมอเจริญซักเอาเสียจนตาแห้ง นั่งดูหญิงคนนั้น หมอเจริญน่ะ เป็นนักเรียนแพทย์ปัจจุบัน อยากรู้ชัด ๆ เป็นยังไงแน่ แกก็เล่าให้ฟังจริง ๆ โห.. แกเล่าอย่างอาจหาญนี่ นั่นเหมือนกับอ้าปากด้วย ลืมตาไม่หลับด้วย อ้าปากด้วย คือแกพูดมันน่าฟัง
ถ้าวันไหนมันหิว มันดิ้นอยู่ในนี้ เจ้าของจะรู้สึกรำคาญ ว่างั้น ปอบส่วนมากมันจะออกทางตา แพล็บ ๆ ทางตาแล้วก็ไปแล้ว ทางเจ้าของนี้ก็คอยร้อนใจละซิ กลัวว่ามันจะไปกินใครเข้า ถูกหมอ.. เขาเก่ง เขาไล่ติดตามผีมา ก็มาหาทางเรา ถ้าคนไล่ผีไม่เก่ง คนไล่ผีไม่รู้ มันก็กินคน พอมันกินอิ่มแล้วก็กลับมาหาคน กลับมาหาเจ้าของนั่นแหละ มาเข้าเจ้าของ เข้าทางหูบ้าง เข้าทางตาบ้าง.. แว้บเดียว ทีนี้ก็จะรู้สึกง่วงนอนทั้งวัน ถ้ามันได้ไปกินอิ่ม ๆ มาแล้วจะง่วง.. นอนทั้งวันเลย แต่ถ้ามันหิวแล้วเจ้าของก็จะรู้สึกกระวนกระวาย คือมันกวนอยู่ภายใน ครั้นถ้าออกไปกิน เขาก็ถูกเขาไล่ละซิว่า ‘อีนี้เป็นปอบ อีนั้นเป็นปอบ’
เขาไล่ตามมาก็มาโดนเอาเราเข้า เหตุที่จะเป็นปอบก็เพราะแกไปสักว่าน เขาเรียกว่านกระจาย สักอยู่บนหัวนี่.. ให้เขาสักว่านให้ที่กระหม่อม แล้วอยู่ยงคงกระพันด้วยนะ เมื่อสักว่านแล้ว แทงก็ไม่เข้า ฟันไม่เข้า ปืนยิงไม่ออก... นั่นละเหตุที่จะมาเป็นปอบก็เพราะว่านอันนี้ คือรักษาไม่ได้
แกว่ามีวิชาที่ขัดกันกับสิ่งนี้ เช่นกินของดิบอย่างนี้นะ ถ้าหากกินเนื้อดิบปลาดิบอย่างนี้เข้าไป มันจะขัดกับวิชานี้ ถ้าขัดแล้วก็ทำให้เป็นปอบได้ ถ้าไม่ขัดก็ไม่เป็นอะไร สิ่งที่ทำให้ขัดกันก็เช่น ไม่ให้กินเนื้อหรือไม่ให้กินปลาดิบ หรืออย่างลาบเลือด หรือเครือกล้วยก็ห้ามไม่ให้ไปลอด นี้ก็ไปลอดไม่ได้..มันผิด นี่ละที่แกเล่าให้ฟัง
เราก็ฟังดูเหมือนกัน เอ๊.. พิลึก ที่วัดป่าสุทธาวาสนี่ละ เรากำลังจะไปวัดดอยธรรมเจดีย์กับหมอเจริญ หมอเจริญกำลังจะบวช ให้ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ไปบวช... แกบวชให้แม่ แม่ขอก็เลยบวชให้ ก็พอดีผู้หญิงคนนั้นแกมาคอยรถอยู่ที่หน้าวัด แต่ก่อนรถไม่ค่อยมีแหละ มาที่กุฏิ พวกนี้ก็นั่งอยู่นั้น แกมาก็เลยพูดกันไปพูดกันมา จึงได้รู้ว่าแกเป็นปอบ ‘ทุกวันนี้ยังเป็นอยู่เหรอ’
เป็นอยู่แกว่างั้นนะ ‘ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ ยังแก้ไม่ตก เพราะว่านเขาสักไว้กระหม่อมนี้ แล้วไปทำผิดเลยกลายเป็นปอบไป...’
… ถ้าหมอเขาเก่ง ๆ มันไปกินใครอย่างนี้ เขาไปขับผี พอจับมัดได้แล้ว เอาเชือกนะมัด เขาเรียกเชือกปะกำ เป็นเชือกวิชา เมื่อเขามัดผูกนี้ไว้แล้วมันก็ออกไม่ได้ จากนั้นเขาก็ซักถามซิ ‘เป็นใคร ? มาจากไหน ?’
เป็นนั้นชื่อว่าอย่างนั้น ๆ ‘แล้วใครเป็นเจ้าของ ?’ มันก็ชี้บอกเจ้าของ
‘ยายนี้แหละ’ คนยังสาว ๆ อยู่นะ ไม่ใช่ยายอะไรแหละ หมอเจริญนี้เชื่อเลย...
โอ้โห.. ! วิชามันแปลกนะ เอาไปคิดแหละ พวกหมอแผนปัจจุบันนี่นะ สิ่งเหล่านี้เขาไม่เชื่อว่ามี ทีนี้หมอเจริญนี่แหละเชื่อ ไปเห็นแล้วไม่เชื่อได้ยังไง เพราะเขาพูดเป็นตุเป็นตะ พูดเป็นหลักความจริง หลักฐานพยานก็สักอยู่บนกระหม่อมเขา ก็บอกว่าสักอยู่ตรงนี้ นี่ละตัวมันพาเป็นเหตุ ก็มีหลักฐานพยานอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วจะไม่เชื่อได้ยังไง มันกินคนเขาก็บอกว่ามันไปกินคน...”
ภายหลังเสร็จงานบวชคุณหมอเจริญแล้ว ท่านก็ออกเดินทางขึ้นภูเขาหลังวัดดอนธรรมเจดีย์ในทันที
............................................................
* คุณหมอเจริญ วัฒนสุชาติ ต่อมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา ปัจจุบันเกษียณอายุราชการ
ลัก...ยิ้ม
18-08-2017, 12:21
คืนแห่งความสำเร็จ
น้ำซับน้ำซึม ด้วยสติปัญญา
ในระยะนั้นองค์หลวงตากล่าวถึง.. ความเพียรในการบำเพ็ญจิตตภาวนาของท่านว่า เป็นไปเองโดยไม่ต้องได้บังคับ ทั้งนี้เป็นผลมาจากภาวนามยปัญญา อันเป็นสติปัญญาที่หมุนตัวเองโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีการบังคับบัญชาในเรื่องความพากความเพียรเลย กลับต้องได้รั้งเอาไว้ มิเช่นนั้นแล้วสติปัญญานี้จะทำงานจนเลยเถิด ด้วยเพราะเห็นโทษแห่งวัฏจักรอย่างถึงใจนั่นเอง ใจจึงมีกำลังมากที่จะถอนตัวออกจากทุกข์อย่างเต็มเหนี่ยว โดยไม่มีคำว่าตายเลย ท่านกล่าวว่า
“... นี่สติปัญญาขั้นนี้ก้าวแล้ว ทีนี้เบิกกว้าง ๆ ออกเรื่อย ๆ เรื่องกิเลสตัณหา วัฏจักรวัฏวนหมุนภายในดวงใจนี้ เหมือนกับว่ามันหดย่อเข้ามา ๆ ทางเบิกกว้างที่จะหลุดพ้นจากทุกข์เบิกกว้างออก ๆ สติปัญญาหมุนตัวเป็นธรรมจักร นี่เรียกว่าธรรมทำงาน ธรรมมีกำลัง ย่อมหมุนตัวกลับเหมือนกันกับกิเลสที่มันมีกำลังหมุน หัวใจของสัตว์เป็นวัฏจักรไปตาม ๆ กันหมด ไม่ว่ากิริยาใดของกิเลสที่มันแสดงตัวออกมา มันทำงานเพื่อวัฏจักรของมันทั้งนั้น ๆ
ทีนี้เมื่อสติปัญญาอันเป็นฝ่ายธรรมมีกำลังแล้วหมุนกลับ ทีนี้หมุนกลับโดยอัตโนมัติ เหมือนกิเลสมันหมุนอยู่ในหัวใจสัตว์โลกเป็นอัตโนมัติของตัวเองนั่นแล พอถึงขั้นสติปัญญาขั้นนี้แล้ว.. เป็นหมุนกลับ ๆ ตลอดเวลา ไม่ว่ายืน ว่าเดิน ว่านั่ง ว่านอน เว้นแต่หลับอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนั้นสติปํญญาขั้นนี้จะฆ่ากิเลสตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ หมุนติ้ว ๆ กิเลสขั้นหยาบหมุนหนัก เรียกว่าปัญญาขั้นผาดโผนโจนทะยาน เหมือนว่าฟ้าดินถล่ม ปัญญาขั้นหยาบกับกิเลสขั้นหยาบ ๆ ฟัดกัน
พอจากนั้นแล้วสติปัญญาก็ค่อยเบาไป ๆ เพราะกิเลสเบาลง ๆ สติปัญญาก็ค่อยเบาไปตาม ๆ กัน หมุนไปตาม ๆ กัน เป็นน้ำซับน้ำซึม ๆ กิเลสซึมซาบไปไหน ? สติปํญญาขั้นอัตโนมัติก้าวเข้าสู่มหาสติปัญญาแล้ว ซึมซาบไปตาม ๆ กันเลย เหมือนไฟได้เชื้อ เอ้า.. ละเอียดขนาดไหน.. ! สติปัญญานี้ก็ละเอียดตามกันไป ๆ โดยอัตโนมัติ...”
ลัก...ยิ้ม
24-08-2017, 16:14
ท่านกล่าวถึงความเข้าใจที่เคยคาดว่า จิตมีความละเอียดเท่าไรก็ยิ่งจะมีความสุขความสบาย งานการจะค่อยเบาบางไป ๆ นั้น มาถึงตอนนี้กลับเป็นตรงกันข้ามไปหมด ดังนี้
“... บางทีจนรำคาญเหมือนกันนะ เพราะมันหมุนไม่หยุดไม่ถอย ‘เอ๊.. นี่มันอะไรกัน ?’ แต่มันคิดได้ชั่วขณะเท่านั้นนะ แต่พอหยุดคิดปั๊บ มันพุ่งใส่งานนั้นเลย คือ ความคาดของเรานั้นกับความจริงนี้.. มันห่างกันคนละโลกเลย คือเราคาดไว้อย่างนี้นะว่า ‘จิตนี้ได้มีความละเอียดลออเข้าไปเท่าไร ก็ยิ่งจะมีความผาสุกสบาย งานก็ยิ่งจะน้อยเข้าไป ๆ สบายเข้าไปเรื่อย ๆ ?’ นี่เราคาดเราคิดนะ
แต่เวลาความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น เข้าสมาธินี้ก็เหมือนงานน้อยจริง ๆ พอพิจารณาปั๊บ ๆ ก็รวมสงบแล้ว อยู่สบายเป็นคนขี้เกียจ นอนตายอยู่ในสมาธินั้น ความจริงเจ้าของขี้เกียจต่างหาก ตอนนี้งานน้อยนี่ คือมันอาศัยความสงบ มันติดความสงบ
พอออกทางด้านปัญญา พอได้เหตุได้ผลทางด้านปัญญาแล้ว ทีนี้มันเห็นผลแล้ว ทีนี้นะ มันเริ่มละ ทีนี่เริ่มหมุนเรื่อย ๆ พิจารณาเข้าไปเรื่อย.. เข้าใจเรื่อย.. แก้เรื่อย ถอดถอนกิเลสได้ด้วย ขาดเรื่อยไปเรื่อย ๆ เอาละ ทีนี่นะ ทีนี้ก็เป็นธรรมจักรหมุนตัวเป็นเกลียว เอาละทีนี้ต้องได้รั้งเอาไว้แล้ว ทีนี้บทเวลามันเพลีย.. ถึงร่างกายก็เพลียด้วย ไม่ได้เพลียแต่ตรงนี้นะ ในร่างกายทุกส่วนก็รู้สึกเพลีย เพราะจิตทำงาน ปัญญาพิจารณาค้นคว้า.. เขาเรียกว่าทำงาน
ก็รำพึง ‘เอ๊.. เราคิดไว้ว่า เมื่อจิตมีความละเอียดลออเข้าไปเท่าไร ยิ่งจะมีความสุขมาก ๆ ทำไมเดี๋ยวนี้ถึงเป็นอย่างนี้ ? มันสุขมากยังไง ? มันวุ่นกับงานตลอดจนแทบจะเป็นจะตาย ถ้าว่างงานมันก็ยิ่งมากเข้าไปโดยลำดับ’
มันไม่เหมือนกันตั้งแต่ก่อนที่เราคาดไว้ว่า จิตละเอียดเข้าไปเท่าไร.. งานยิ่งจะน้อยลงไป ๆ และจะมีความสุขยิ่งสบาย ๆ แล้วหมดไปเลย สิ้นไปเลย นี้เป็นความคาดหมายต่างหาก.. ไม่ใช่ความจริง
ลัก...ยิ้ม
01-09-2017, 15:24
เวลาความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น พอถึงขั้นปัญญานี้แล้ว โอ้โห.. มันกว้างขวางยิ่งกว่าอะไร ! มันหมุนติ้ว ๆ ครอบโลกธาตุในส่วนร่างกายหยาบอันนี้แหละ.. ตัวมันดิ้นมากเหมือนกับน้ำไหลโจนลงมาจากภูเขา เหมือนกับน้ำตกนะ เช่น แม่สาที่เชียงใหม่ มันเหมือนอย่างนั้น ปัญญาขั้นพิจารณาร่างกายมันรุนแรงมากเหมือนกับน้ำตกนั่นแหละ
ทีนี้พอร่างกายนี้หมดแล้ว มันเข้าไปส่วนอาการของขันธ์ ๔ นี้คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นน้ำซับน้ำซึมที่นี่ ไหลรินอยู่ทั้งแล้งทั้งฝน คือตลอดเวลาหากไม่แบบน้ำตก เพราะอันนี้มันส่วนละเอียดแล้ว มันก็หมุนอยู่เหมือนกันเป็นแต่เพียงว่าหมุนแบบนี้ คือหมุนเบา ๆ หากหมุนไม่หยุด ตอนพิจารณาร่างกายนี้เหมือนกับน้ำตกไหลโจนมาจากภูเขา เสียงซ่า ๆ ดังถึงไหนโน้นน่ะถ้าเราจะเทียบ พออันนี้หมดปัญหาไปแล้ว เหลือแต่นามธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทีนี้มันก็ไหลรินอยู่นั่น
มันพิจารณาไม่หยุดไม่ถอยนี่นะ เอ๊.. นี่มันจะสิ้นสุดเมื่อไร ก็เราคิดคาดไว้ตั้งแต่ต้นว่า จิตมีความละเอียดลออเท่าไรก็ยิ่งจะมีความสุขความสบาย งานการก็จะค่อยเบาไป ๆ ทำไมมันกลับตรงข้ามไปเสียหมด แล้วเมื่อไรจะได้สะดวกสบายสักทีว่างี้ พอหยุดกันแล้วปั๊บมันก็ทำงานแล้ว คือเรารั้งมันไว้มันคิดเท่านั้น พอปล่อยปั๊บมันก็โดดปุ๊บใส่งานที่กำลังทำยังไม่เสร็จ คือยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงอันไหนแล้ว มันจะต้องตายด้วยกัน พูดง่าย ๆ เรื่องจะแพ้นี้มันไม่ยอม นอกจากตายกับให้รู้ให้ผ่านไปได้เท่านั้น
จนกระทั่งมันหมดกำลังของมันที่จะไปอีกแล้ว มันก็ระงับไปเอง สติปัญญาที่หมุนตัวเป็นเกลียวอยู่นั้นก็ระงับไปเอง.. เป็นหลักธรรมชาติเหมือนกัน เป็นอัตโนมัติเหมือนกัน...”
ลัก...ยิ้ม
08-09-2017, 12:48
เกี่ยวกับการพิจารณาด้านปัญญา เมื่อผ่านแต่ละขั้นมาถึงอวิชชาซึ่งเป็นสังโยชน์ข้อสุดท้ายของพระอนาคามีก่อนที่จะบรรลุขั้นสูงสุดนั้น ขอยกพระธรรมเทศนาของท่านมาแสดงโดยย่อดังนี้
“... ทีนี้การปฏิบัติเมื่อผ่านขั้นร่างกายนี้ไปหมดแล้ว สุภะก็ไม่ปรากฏ อสุภะอสุภังไม่มีความที่ว่าน่ากล้าน่ากลัวในเรื่องร่างกายก็หมดไป ทีนี้พอเกิดขึ้นมาก็กลายเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นมา เกิดกับดับพร้อม ๆ เรื่องอสุภะอสุภังผ่านไปเลย ๆ สุดท้ายร่างกายก็ไม่มี โลกนี้กลายเป็นโลกว่างไปหมด จากการพิจารณาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรก ถือร่างกายเป็นพื้นฐานแห่งการพิจารณา เมื่อพิจารณาอันนี้ชำนิชำนาญเรียบร้อยแล้ว มันก็ไม่มีเขามีเรา ไม่มีหญิงมีชาย มีแต่ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งเขาทั้งเราเสมอกันหมด แล้วจะไปข้องแวะกับอะไร มันก็เดินไปตามสายกลาง ไม่ข้องแวะกับอะไร
จากนั้นก็เข้าสู่นามธรรม พิจารณาร่างกายจนกระทั่งหมด คำว่าหมดนี้เป็นอย่างไร ? ร่างกายนี้ที่เรายังแยกอสุภะอสุภังอยู่ในขั้นนี้ พอผ่านจากนี้แล้ว อสุภะอสุภังจะไม่มี เกิดขึ้นมาพับดับไปพร้อม ๆ เราจะพิจารณาว่าเป็นของสวยงามไม่สวยงามไม่ทัน เพราะอารมณ์ของจิตอันนี้เกิดรวดเร็ว เกิดกับดับพร้อม ๆ ทีนี้เรื่องอสุภะอสุภัง.. ความสวยงามไม่สวยงามผ่านไป ไม่มีเข้าถึงจิต แล้วกลายเป็นจิตอวกาศไปเลยที่นี่ มองดูอะไรมันก็เป็นอวกาศเหมือนฟ้าแลบ เราจะแยกเป็นของสวยของงามไม่สวยไม่งามไม่ทัน ขั้นของจิตที่พิจารณาไปแล้วเป็นอย่างนี้ นักปฏิบัติจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
ผู้พิจารณาอย่างเชื่องช้า.. ธรรมดาจะเห็นอย่างละเอียดลออในทางเดินแห่งกรรมฐานเพื่อความพ้นทุกข์ จะเห็นได้อย่างละเอียดลออ จิตขั้นนี้พิจารณาอย่างนี้ ขั้นนั้นพิจารณาอย่างนั้นเรื่อยไป จนกระทั่งถึงจิตไม่มีรูปมีนามแล้ว.. ร่างกายของสัตว์ของบุคคลเป็นอวกาศไปหมด ว่างไปหมด แล้วเราจะพิจารณาอะไรว่าเป็นสุภะอสุภะ ว่าสวยว่างาม ไม่สวยไม่งาม พอตั้งพับก็ดับไปพร้อม ๆ เอาอะไรมางาม อะไรไม่งาม มันดับไปพร้อม นี่ขั้นของจิตแห่งการพิจารณากรรมฐาน พอจากนี้แล้วก็มีตั้งแต่เหมือนแสงหิ่งห้อย เหมือนฟ้าแลบแพล็บ ๆ ๆ เกิดดับ ๆ ๆ จากนั้นก็หมุนเข้าไปหาจิตเพราะออกจากจิต
เวลาจิตยังหยาบอาการเหล่านี้ก็ออกมา ส่วนหยาบ ๆ ว่าเป็นของสวยของงาม ไม่สวยไม่งาม จากนั้นก็ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต่อจากนั้นมีแต่เกิดดับ ๆ มันแสดงออกที่จิต.. ดับที่จิต ตามเข้าไปหาจิตนั้นละ..การพิจารณา พอถึงขั้นที่จิตกับอวิชชาอยู่ด้วยกัน เมื่อมีอวิชชานั้นจิตก็หลงจิต หลงตัวเองและหลงสิ่งอื่น ไม่หลงส่วนหยาบ ก็หลงส่วนละเอียด ปล่อยส่วนหยาบ... ส่วนละเอียดยังมันก็พิจารณาตามเข้าไป ตามเข้าไปจนหมด.. ไม่มีอะไรเป็นกิเลส มาม้วนเสื่อกันที่จิต
ลัก...ยิ้ม
22-09-2017, 11:50
อวิชชาปัจจยา สังขารา อวิชชาคืออะไร ? เวลาพิจารณาเข้าไปแล้ว อวิชชาก็คือนางงามจักรวาล พอเข้าไปถึงจิตดวงนั้นแล้ว จะสง่างามผ่องใสมากทีเดียว น่าอัศจรรย์ นี่เรียกว่านางงามจักรวาล หลอกสติปัญญาที่ยังไม่สามารถจะแก้ตกได้เป็นอย่างดี ทีนี้เวลาพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า หลายครั้งหลายหน สิ่งเหล่านี้ก็พังลงไป อวิชชาปัจจยา สังขารา ที่ว่าเป็นนางงามของจิต ทำให้โลกหลงก็พังไปด้วยกัน ทีนี้ก็ไม่มีอะไรงามในโลกนี้ มันก็ว่างไปหมด ภายนอกก็ว่าง
‘รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส สัมพันธ์เต็มในโลกนี้.. ว่างจากจิตหมด แม้ที่สุดอารมณ์ภายในจิตที่ทำความผูกพันแก่ตัวเอง เพราะความคิดความปรุงก็ว่างไปหมด วางไปหมด’
ทีนี้บริสุทธิ์ที่ตรงไหนล่ะ เมื่อมันปล่อยไปหมดแล้ว ก็เหลือแต่จิตล้วน ๆ ท่านให้ชื่อว่าจิตบริสุทธิ์ ดังท่านสำเร็จพระอรหันต์นั่น คือปล่อยหมดแล้วสิ่งอันนี้ ว่างหมด ปล่อย วางด้วย.. ว่างด้วย ปล่อยไปหมด แม้ส่วนภายนอกว่าง จิตยังไม่ว่าง พิจารณาเข้ามาหาจิตจนกระทั่งจิตก็ว่าง อะไรก็ว่าง ว่างเสมอกันหมด ทั้งภายนอกภายในตลอดทั่วถึง นั่นละคือจิตที่บริสุทธิ์ ถ้าว่างข้างนอกยังไม่ว่างตัวเองก็ยังไม่บริสุทธิ์ เช่นเดียวกับเราไปอยู่ในห้อง ห้องนี้มันว่าง มันโล่งมันว่าง ห้องนี้ว่าง ใครไปดู ๆ ก็ว่าห้องนี้ว่าง ๆ ยิ่งให้เจ้าของที่เข้าไปยืนอยู่กลางห้องไปพูดว่าห้องนี้เป็นอย่างไร ห้องนี้ว่าง ๆ ถ้าผู้ละเอียดยิ่งกว่านั้นเข้าไปเป็นอย่างไร มันจะว่างอย่างไร เจ้าของไปยืนขวางห้องอยู่นั้นน่ะ ถ้าอยากให้ห้องมันว่างก็ให้ออกมา พอเจ้าของโดดออกมาจากห้อง ห้องก็ว่างเต็มที่
คิดอย่างอื่นอย่างใดก็ปล่อยมา ๆ แต่ติดตัวเองก็เรียกว่าไปยืนขวางห้อง พอถอนตัวเองออกมา ตัวเองก็ถอน ตัวก็รู้ตัวเอง รู้ภายนอก รู้ภายใน ทั้งจิตใจก็รู้เท่าทันไปหมด เรียกว่าว่างหมด ในห้องนั้นไม่มีอะไรอยู่ ในจิตนี้ไม่มีอะไรอยู่ ตัวเขาตัวเรา.. เป็นอัตตานุทิฏฐิ อะไรเหล่านี้ไม่มี ว่างหมด นี่ละที่ท่านสอนพระโมฆราช ทีนี้ใครก็ตามเมื่อปฏิบัติตามโอวาทที่สอนพระโมฆราชนั้น ผู้นั้นก็เป็นพระโมฆราชขึ้นมาในทันทีทันใด สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ก็คือพระโมฆราชอรหันต์เหมือนกันหมด.. เพราะเป็นผู้ว่างเปล่าแล้วจากสิ่งทั้งหลาย ไม่มีอะไรเข้ามาแผ้วพานได้เลย นั่นละ สุญญโต โลกัง พญามัจจุราชจะตามไม่ทัน มองไม่เห็น...”
ลัก...ยิ้ม
29-09-2017, 11:50
เสียงบรรลือโลกธาตุ ชาติสิ้นแล้ว
ท่านเดินทางออกจากวัดป่าสุทธาวาสในตัวเมืองสกลนครแล้ว ก็ย้อนกลับสู่วัดดอยธรรมเจดีย์อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้พักอยู่กุฏิกระต๊อบหลังเล็ก ๆ อยู่บนยอดเขา เป็นกุฏิต่างจากครั้งก่อนที่เคยเกิดปัญหาธรรมผุดขึ้นในใจ
ระยะนั้นเป็นพรรษาที่ ๑๖ ในชีวิตการบวชของท่าน และเป็นปีที่ ๙ แห่งการออกปฏิบัติกรรมฐานบนเขาลูกนี้ของคืนเดือนดับ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ด้วยความอดทนพากเพียรพยายาม ติดต่อสืบเนื่องตลอดมานับแต่เริ่มออกปฏิบัติอย่างเต็มเหนี่ยวรวมเวลาถึง ๙ ปีเต็ม คืนแห่งความสำเร็จระหว่างกิเลสกับธรรมภายในใจของท่านก็สามารถตัดสินกันลงได้ในเวลา ๕ ทุ่มตรง ดังนี้
“... ก็พิจารณาจิตอันเดียว ไม่ได้กว้างขวางอะไร เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหยาบมันรู้หมด รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั่วโลกธาตุมันรู้หมด เข้าใจหมด และปล่อยวางหมดแล้ว มันไม่สนใจพิจารณาแม้แต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยังไม่ยอมสนใจพิจารณาเลย
มันสนใจอยู่เฉพาะความรู้ที่เด่นดวงกับเวทนาส่วนละเอียดภายในจิตเท่านั้น สติปัญญาสัมผัสสัมพันธ์อยู่กับอันนี้ พิจารณาไปพิจารณามา แต่ก็พึงทราบว่าจุดที่ว่านี้มันยังเป็นสมมุติ มันจะสง่าผ่าเผยขนาดไหนก็สง่าผ่าเผยอยู่ในวงสมมุติ จะสว่างกระจ่างแจ้งขนาดไหน ก็สว่างกระจ่างแจ้งอยู่ในวงสมมุติ เพราะอวิชชายังมีอยู่ในนั้น
อวิชชานั้นแลคือตัวสมมุติ จุดแห่งความเด่นดวงนั้นก็แสดงอาการลุ่ม ๆ ดอน ๆ ตามขั้นแห่งความละเอียดของจิตให้เราเห็นจนได้ บางทีก็มีลักษณะเศร้าหมองบ้าง ผ่องใสบ้าง ทุกข์บ้าง สุขบ้าง ตามขั้นละเอียดของจิตภูมินี้ ให้ปรากฏพอจับพิรุธได้อยู่นั่นแล สติปัญญาขั้นนี้เป็นองครักษ์รักษาจิตดวงนี้อย่างเข้มงวดกวดขัน แทนที่มันจะจ่อกระบอกปืนคือสติปัญญาเข้ามาที่นี่ มันไม่จ่อ มันส่งไปที่อวิชชา หลอกไปโน้นจนได้
อวิชชานี้แหลมคมมาก ไม่มีอะไรแหลมคมมากยิ่งกว่า อวิชชาซึ่งเป็นจุดสุดท้ายว่า ความโลภมันก็หยาบ ๆ พอเข้าใจและเห็นโทษได้ง่าย แต่โลกยังพอใจกันโลภ คิดดูซิ ความโกรธก็หยาบ ๆ โลกยังพอใจโกรธ ความหลง ความรัก ความชัง ความเกลียด ความโกรธอะไร เป็นของหยาบ ๆ พอเข้าใจและเห็นโทษได้ง่าย โลกยังพอใจกัน
อันนี้ไม่ใช่สิ่งเหล่านั้น มันเลยมาหมด ปล่อยมาได้หมด แต่ทำไมมันยังมาติดความสว่างไสว ความอัศจรรย์อันนี้ ทีนี้เมื่อมันมีอยู่ภายในนี้ มันจะแสดงความอับเฉาขึ้นมานิด ๆ แสดงความทุกข์ขึ้นมานิด ๆ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน ไม่คงเส้นคงวาให้จับได้ ด้วยสติปัญญาที่จดจ่อต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ลดละความพยายาม.. อยากรู้อยากเห็นความเป็นต่าง ๆ ของจิตดวงนี้ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องรู้กันจนได้ ว่าจิตดวงนี้ไม่เป็นที่แน่ใจ ตายใจได้ จึงเกิดความรำพึงขึ้นมาว่า
‘จิตดวงเดียวนี้ ทำไมจึงเป็นไปได้หลายอย่างนักนะ เดี๋ยวเป็นความเศร้าหมอง เดี๋ยวเป็นความผ่องใส เดี๋ยวเป็นสุข เดี๋ยวเป็นทุกข์ ไม่คงที่ดีงามอยู่ได้ตลอดไป ทำไมจิตละเอียดถึงขนาดนี้แล้ว จึงยังแสดงอาการต่าง ๆ อยู่ได้’
พอสติปัญญาเริ่มหันความสนใจเข้ามาพิจารณาจิตดวงนี้ ความรู้ชนิดหนึ่งที่ไม่คาดไม่ฝันก็ผุดขึ้นมาภายในใจว่า
‘ความเศร้าหมองก็ดี ความผ่องใสก็ดี ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี เหล่านี้เป็นสมมุติทั้งสิ้น และเป็นอนัตตาทั้งมวลนะ’
เท่านั้นแล สติปัญญาก็หยั่งทราบจิตที่ถูกอวิชชาครอบงำอยู่นั้นว่า เป็นสมมุติที่ควรปล่อยวางโดยถ่ายเดียว ไม่ควรยึดถือเอาไว้
หลังจากความรู้ที่ผุดขึ้นบอกเตือน สติปัญญาผู้ทำหน้าที่ตรวจตราอยู่ขณะนั้น ผ่านไปครู่เดียว.. จิตและสติปัญญาเป็นราวกับว่าต่างวางตัวเป็นอุเบกขามัธยัสถ์ ไม่กระเพื่อมตัวทำหน้าที่ใด ๆ ในขณะนั้นจิตเป็นกลาง ๆ ไม่จดจ่อกับอะไร ไม่เผลอส่งใจไปไหน ปัญญาก็ไม่ทำงาน สติก็รู้อยู่ธรรมดาของตนไม่จดจ่อกับสิ่งใด
ขณะจิต สติ ปัญญา ทั้งสามเป็นอุเบกขามัธยัสถ์นั้นแล เป็นขณะที่โลกธาตุภายในจิตอันมีอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจได้กระเทือน และขาดสะบั้นบรรลัยลงจากบัลลังก์คือใจ กลายเป็นวิสุทธิจิตขึ้นมาแทนที่ ในขณะเดียวกันกับอวิชชาขาดสะบั้นหั่นแหลก แตกกระจายหายซากลงไปด้วยอำนาจสติปัญญาที่เกรียงไกร
ขณะที่ฟ้าดินถล่ม โลกธาตุหวั่นไหว (โลกธาตุภายใน) แสดงมหัศจรรย์บั้นสุดท้ายปลายแดนระหว่างสมมุติกับวิมุตติ ตัดสินความบนศาลสถิตยุติธรรม โดยวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผู้ตัดสินคู่ความ โดยฝ่ายมัชฌิมาปฏิปทา มรรค อริยสัจเป็นฝ่ายชนะโดยสิ้นเชิง ฝ่ายสมุทัยอริยสัจเป็นฝ่ายแพ้น็อกแบบหามลงเปล ไม่มีทางฟื้นตัวตลอดอนันตกาลสิ้นสุดลงแล้ว เจ้าตัวเกิดความอัศจรรย์ล้นโลกอุทานออกมาว่า
‘โอ้โห ๆ ... อัศจรรย์หนอ ๆ แต่ก่อนธรรมนี้อยู่ที่ไหน ๆ มาบัดนี้ ธรรมแท้.. ธรรมอัศจรรย์เกินคาดเกินโลก มาเป็นอยู่ที่จิตและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิตได้อย่างไร.. ! และแต่ก่อนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์สาวกอยู่ที่ไหน ? มาบัดนี้ องค์สรณะที่แสนอัศจรรย์มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตดวงนี้ได้อย่างไร.. ? โอ้โห ! ธรรมแท้ พุทธะแท้ สังฆะแท้.. เป็นอย่างนี้ละหรือ !?’ …”
ลัก...ยิ้ม
05-10-2017, 19:33
ว่างในสมาธิ ว่างในขั้นอรูปธรรม ว่างอกาลิโก
“.. ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เมื่อปัญญาพิจารณารอบคอบแล้วก็ดับไปในขณะนั้น จิตก็ลงสู่ความสงบได้อย่างเต็มที่ ในระยะเช่นนี้จะว่าจิตว่างก็ได้อยู่ แต่ว่างในสมาธิ พอจิตถอยออกมา ความว่างก็หายไป จากนั้นก็พิจารณาไปอีก และพิจารณาต่อไปเรื่อย ๆ จนจิตมีความชำนาญในด้านสมาธิ ขอสรุปความให้ย่อลงเพื่อให้พอดีกับเวลา
เมื่อสมาธิมีกำลังทางด้านปัญญา ก็เร่งพิจารณาตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจนรู้เห็นชัด และสามารถถอดถอนอุปาทานของกายได้โดยสิ้นเชิง จากนั้นจิตก็จะเริ่มว่าง แต่ยังไม่แสดงความว่างอย่างเต็มที่ ยังมีนิมิตภายในแสดงภาพปรากฏอยู่กับใจ เพราะในระยะนี้ใจว่างจากกายและวัตถุภายนอก แต่ยังไม่ว่างจากนิมิตภายในของตัวเอง จนกว่าจะมีความชำนาญโดยอาศัยการฝึกซ้อมไม่ลดละ นิมิตภายในใจก็นับวันจางไป สุดท้ายก็หมด ไม่ปรากฏนิมิตทั้งภายนอกภายในใจ นั่นท่านเรียกว่าจิตว่าง ว่างชนิดนี้เป็นเรื่องว่างประจำนิสัยของจิต ที่มีภูมิธรรมประจำขั้นแห่งความว่างของตน นี่ไม่ใช่ว่างสมาธิและไม่ใช่ว่างในขณะที่นั่งสมาธิ ขณะที่นั่งสมาธิเป็นความว่างของสมาธิ แต่จิตที่ปล่อยวางจากร่างกายเพราะความรู้รอบด้วยนิมิตภายในก็หมดสิ้นไป เพราะอำนาจของสติปัญญารู้เท่าทันด้วย นี่แลชื่อว่าว่างตามฐานะของจิต เมื่อถึงขั้นนี้แล้วจิตว่างจริง ๆ แม้กายจะปรากฏตัวอยู่ก็สักแต่ความรู้สึกว่ากายมีอยู่เท่านั้น แต่ภาพแห่งกายหาได้ปรากฏเป็นนิมิตภายในจิตไม่ ว่างเช่นนี้แลเรียกว่า ว่างตามภูมิของจิตและมีความว่างอยู่อย่างนี้ประจำ ถ้าว่างเช่นนี้ว่าเป็นนิพพาน ก็เป็นนิพพานของผู้นั้นหรือของจิตนั้นขั้นนั้น แต่ยังไม่ใช่นิพพานว่างของพระพุทธเจ้า
ถ้าผู้จะถือสมาธิเป็นความว่างของนิพพาน ในขณะจิตที่ลงสู่สมาธิก็เป็นนิพพานของสมาธิแห่งโยคาวจรผู้ปฏิบัติผู้นั้นเสียเท่านั้น ความว่างทั้งสองประเภทที่กล่าวมานี้.. ไม่ใช่เป็นนิพพานว่างของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุใด ? เพราะจิตที่มีความว่างในสมาธิ จำต้องพอใจและติดในสมาธิ จิตที่มีความว่างตามภูมิของจิต จำต้องมีความดูดดื่มและติดใจในความว่างประเภทนี้ จำต้องถือความว่างนี้เป็นอารมณ์ของใจจนกว่าจะผ่านไปได้ ถ้าผู้ถือความว่างนี้เป็นนิพพาน ก็เรียกว่าผู้นั้นติดนิพพานในความว่างประเภทนี้โดยเจ้าตัวไม่รู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความว่างประเภทนี้จะจัดว่าเป็นนิพพานได้อย่างไร
ถ้าไม่ต้องการนิพพานขั้นนี้ ก็ควรกางเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ออกตรวจตราดูให้ชัดเจนและละเอียดถี่ถ้วน เพราะความว่างที่กล่าวนี้เป็นความว่างของเวทนา คือสุขเวทนามีเต็มอยู่ในความว่างนั้น สัญญาก็หมายว่าง สังขารก็ปรุงแต่เรื่องความว่างเป็นอารมณ์ วิญญาณก็ช่วยรับรู้ทางภายใน ไม่เพียงจะรับรู้ภายนอก.. เลยกลายเป็นนิพพานของอารมณ์ ถ้าพิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้ชัดและความว่างให้ชัด โดยเห็นเป็นเรื่องของสังขารธรรม คือสิ่งผสมนั่นแล จะมีช่องทางผ่านไปได้ในวันหนึ่งแน่นอน เมื่อพิจารณาตามที่กล่าวนี้ ขันธ์ทั้งสี่และความว่างซึ่งเป็นสิ่งปิดบังความจริงไว้ ก็จะค่อยเปิดเผยตัวออกมาทีละเล็กละน้อยจนปรากฏได้ชัด จิตย่อมมีทางสลัดตัวออกได้
แม้ฐานที่ตั้งของสังขารธรรมที่เต็มไปด้วยสิ่งผสมนี้ ก็ทนต่อสติปํญญาไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งเกี่ยวโยงกัน สติปัญญาประเภทค้นแร่แปรธาตุจะฟาดฟันเข้าไป เช่นเดียวกับไฟได้เชื้อลุกลามไปไม่หยุด จนกว่าจะขุดรากเหง้าของธรรมผสมนี้ขึ้นได้เสียเมื่อใด.. เมื่อนั้นจึงจะหยุดการรุกการรบ เวลานี้มีอะไรที่เป็นข้าศึกต่อนิพพาน ว่างตามแบบของพระพุทธเจ้า คือสิ่งที่ติดใจอยู่ในขั้นนี้และขณะนี้แลเป็นข้าศึก สิ่งที่ติดก็ได้แก่ความถือว่าใจของเราว่างบ้าง สบายบ้าง ใสสะอาดบ้าง ถ้าจะเห็นว่าใจมันว่าง แต่มันอยู่กับความไม่ว่าง ใจมันเป็นสุขแต่มันอาศัยอยู่กับทุกข์ ใจใสสะอาดแต่มันอยู่กับความเศร้าหมองโดยไม่รู้สึกตัว ความว่าง ความสุข ความใส.. นั่นแลเป็นธรรมปิดบังตัวเอง เพราะธรรมทั้งนี้คือเครื่องหมายของภพชาติ
ผู้ต้องการตัดภพตัดชาติจึงควรพิจารณาให้รู้เท่าทันและปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ อย่าหวงไว้เพื่อก่อไฟเผาตัว ถ้าปัญญาขุดค้นลงตรงที่สามจอมกษัตริย์แห่งภพปรากฏอยู่ นั้นแลจะถูกองค์การใหญ่ของภพชาติและจะขาดกระเด็นออกจากใจทันที ที่ปัญญาหยั่งลงถึงฐานของเขาตั้งอยู่ เมื่อสิ่งทั่งนี้สิ้นไปแล้วเพราะอำนาจของปัญญา นั่นแลเป็นความว่างอันหนึ่ง เครื่ีองหมายของสมมติใด ๆ จะไม่ปรากฏในความว่างนั้นเลย นี่คือความว่างที่ผิดกับความว่างที่ผ่านมาแล้ว ความว่างประเภทนี้ เราจะว่าเป็นความว่างของพระพุทธเจ้าหรือความว่างของใครนั้น ผู้แสดงไม่สามารถจะเรียนให้ทราบได้ว่าจะควรเป็นความว่างของใคร นอกจากจะเป็นความว่างที่รู้เห็นกันอยู่ด้วยสันทิฏฐิโกของผู้บำเพ็ญเท่านั้น
ความว่างอันนี้ไม่มีกาลสมัย เป็นอกาลิโกอยู่ตลอดกาล ความว่างในสมาธิมีความเปลี่ยนแปลงไปได้ ทั้งด้านความเจริญและความเสื่อม ความว่างในขั้นอรูปธรรม ซึ่งกำลังเป็นทางเดินก็แปรสภาพหรือผ่านไปได้ แต่ความว่างในตนเองโดยเฉพาะนี้ ไม่มีความเปลี่ยนแปลง เพราะตนไม่มีอยู่ในความว่างนั้น และไม่ถือความว่างนั้นว่าเป็นตน นอกจากนี้ ยถาภูตัง ญาณทัสสนัง เห็นตามเป็นจริงในหลักธรรมชาติแห่งความว่างนั้น และเห็นตามเป็นจริงในสภาวธรรมที่ผ่านมาเป็นลำดับ และที่มีอยู่ทั่วไปเท่านั้น แม้ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นธรรมเครื่องแก้ไขก็รู้เท่าและปล่อยวางไว้ตามเป็นจริง ไม่มีสิ่งใดจะเข้าไปแฝงอยู่ในธรรมชาติแห่งความว่างในวาระสุดท้ายนั้นเลย
โปรดนำความว่างทั้งสามประเภทนี้ไปพิจารณา และพยายามบำเพ็ญตนให้เข้าถึงความว่างทั้งสามนี้ เฉพาะอย่างยิ่งความว่างในวาระสุดท้ายซึ่งเป็นความว่างในหลักธรรมชาติ ไม่มีผู้ใดและสมมติใด ๆ อาจเอื้อมเข้าไปทำการเกี่ยวข้องได้อีกต่อไป ความสงสัยนับแต่ขั้นต้นแห่งธรรม จนถึงความว่างอย่างยิ่ง จะเป็นปัญหาที่ยุติกันลงได้ ด้วยความรู้ความเห็นของตนเป็นผู้ตัดสินเอง...”
ลัก...ยิ้ม
11-12-2017, 16:21
พระโมฆราช
“... พระพุทธเจ้าทรงสอนพระโมฆราชว่า
สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต
อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโร สิยา
เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ.
ดูก่อนโมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาโลกให้เป็นของสูญเปล่า ว่างเปล่า ถอนอัตตานุทิฏฐิ ที่ถือว่าเป็นเขาเป็นเรา ซึ่งเป็นเหมือนกับก้างขวางคอนี้ออกเสีย จะพึงข้ามพ้นพญามัจจุราชเสียได้ พญามัจจุราชจะตามไม่ทัน มองไม่เห็นผู้พิจารณาโลกเป็นของว่างเปล่าอยู่อย่างนี้ พระโมฆราชก็บรรลุธรรมขึ้นในธรรมบทนี้ละ เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา...”
ลัก...ยิ้ม
11-12-2017, 16:43
โลกธาตุสะเทือนสะท้าน สลดสังเวชการเวียนว่ายตายเกิด
ผลแห่งความพากเพียรปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุดของท่านในคืนนั้น ทำให้เกิดความสลดสังเวชใจในการเวียนว่ายต่ายเกิดของตน ดังนี้
“... จนถึงคืนวันดับนั้นถึงได้ตัดสินใจกันลงได้ด้วยความประจักษ์ใจ... หายสงสัยทุกสิ่งทุกอย่างเรื่องภพเรื่องชาติ เรื่องความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เรื่องกิเลสตัณหา อาสวะทุกประเภท ได้ขาดกระเด็นออกไปจากใจในคืนวันนั้น ใจได้เปิดเผยโลกธาตุให้เห็นอย่างชัดเจน เกิดความสลดสังเวช น้ำตาร่วงตลอดคืน
ในคืนนั้นไม่ได้หลับนอนเลย เพราะสลดสังเวชความเป็นมาของตน สลดสังเวชเรื่องความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะอำนาจแห่งกิเลสมันวางเชื้อแห่งกองทุกข์ฝังใจไว้ ไปเกิดในภพนั้นชาตินี้ มีแต่แบกกองทุกข์ หามกองทุกข์ ไม่มีเวลาปล่อยวาง จนกระทั่งถึงตายไปแล้วก็แบกอีก ๆ คำว่าแบกก็คือใจเข้าสู่ภพใดชาติใด จะมีสุขมากน้อย.. ทุกข์ต้องเจือปนไปอยู่นั่นแล จึงได้เห็นโทษ เกิดความสลดสังเวช
แล้วก็มาเห็นคุณค่าแห่งจิตใจซึ่งแต่ก่อนไม่เคยคิด ว่าจิตใจจะมีคุณค่ามหัศจรรย์ถึงขนาดนั้น การไม่นอนในคืนนั้นเพราะความเห็นโทษอย่างถึงใจ และความเห็นคุณอย่างถึงจิตถึงธรรม ในตอนท้ายแห่งความละเอียดอ่อนของจิต เราก็เห็นว่าอวิชชาเป็นของดีและประเสริฐไปอย่างสนิทติดจมไปพักหนึ่ง...
ลัก...ยิ้ม
06-02-2018, 17:56
หลงอวิชชาอยู่เป็นเวลา ๘ เดือนไม่เคยลืม เพราะรักสงวนอวิชชาซึ่งเป็นตัวผ่องใส ตัวสง่าผ่าเผย ตัวองอาจกล้าหาญ จึงรักสงวนอยู่นั้นเสีย... ทั้ง ๆ ที่สติปัญญาก็มีเต็มภูมิ แต่ไม่นำมาใช้กับอวิชชาในขณะนั้น เมื่อได้นำสติปัญญาหันกลับมาใช้กับอวิชชาอย่างเต็มภูมิ เรื่องอวิชชาจึงแตกกระจายลงไป ถึงได้เห็นความอัศจรรย์ขึ้นมาภายในจิตใจนั้นแหละ จึงเป็นความอัศจรรย์อย่างแท้จริง ไม่อัศจรรย์แบบจอมปลอมดังที่เป็นมา...”
โลกธาตุสะเทือนสะท้านหวั่นไหวเกิดขึ้น ในขณะที่ธรรมภายในใจของท่านกระจ่างแจ้งขึ้นมาดังนี้
“... อยัญจะ ทะสะสะหัสสี โลกะธาตุ หมี่นโลกธาตุ สังกัมปิ สัมปะกัมปิ สัมปะเวธิ มีความสะเทือนสะท้านทั่วถึงกันหมดเลยไปหมื่นโลกธาตุนี้ อำนาจอานุภาพความสว่างไสวของเทวดาทั้งหลายทั้งแดนโลกธาตุนี้ ไม่มีอานุภาพของเทวดาตนใดจะเสมอเหมือนอานุภาพแห่งธรรมของพระพุทธเจ้า.. ตรัสรู้แล้วกระจ่างแจ้งขึ้นมาในเวลานั้น
แต่เมื่อธรรมนั้นกระจ่างขึ้นมาภายในใจเราซึ่งเป็นธรรมประเภทเดียวกัน.. รู้อย่างเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกันแล้วจะไปทูลถามผู้ใดแม้พระพุทธเจ้าประทับอยู่ข้างหน้า
พูดแล้ว.. สาธุ ! ไม่กราบทูลหรือไม่ทูลถามท่านให้เสียเวลา เพราะคำว่า สันทิฏฐิโก ที่รู้เองเห็นเองนั้นเป็นธรรมที่ประกาศด้วยความเลิศเลอสุดยอดแล้ว ‘นี่เราก็ไปเจอเข้าแล้วประจักษ์ใจ ประหนึ่งว่าแดนโลกธาตุนี้ไหวไปหมด’
ในขณะที่กิเลสตัวกดถ่วงมาตั้งกัปตั้งกัลป์ ตัวพาให้เกิดให้ตาย เพียงเราคนเดียวนี้ การเกิดตายของเรา หากว่าเอาประเทศไทยเป็นป่าช้าแล้วน่ะ ร่างกายของเราเพียงคนเดียวนี้ ไม่มีที่ใดที่จะเก็บจะวางศพของตัวเอง ‘มากไหม พิจารณาสิ !’
เพราะมันเกิดมันตาย มันเกิดมันตายมาไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลาย
จนกระทั่งคืนวันนั้นเป็นวันตัดสินขาดสะบั้นไป.. ระหว่างป่าช้าคือความเกิดตายกับใจของเราที่บริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วจากความเกิดตาย ‘ใจกระจ่างแจ้งขนาดนั้นแล้ว โลกธาตุจะไม่หวั่นไหวได้ยังไง กิเลสมันหนักขนาดไหน ฟังซิ’
หลังจากนั้นแล้ว ความสว่างจ้าครอบโลกธาตุกลับปรากฏขึ้นในใจดวงเดียวที่เคยมืดบอดมากี่กัปกี่กัลป์ นี่แหละ..ความสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นมาโดยไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้าเลย เพราะหายสงสัยทุกอย่าง นี้เรียกว่าจิตมีความกระจ่างแจ้งครอบโลกธาตุแล้ว...”
ลัก...ยิ้ม
13-03-2018, 16:00
น้ำตาร่วง สลดสังเวชและอัศจรรย์ในธรรม
ความรู้เห็นประจักษ์ใจบนดอยธรรมเจดีย์นี่เอง ทำให้ท่านถึงกับน้ำตาร่วงด้วยเหตุผลสองประการ ท่านเล่าไว้ดังนี้
“... ร่วงสองอย่าง ร่วงด้วยความสลดสังเวชภพชาติแห่งความเป็นมาของตนหนึ่ง เพราะความอัศจรรย์ในพระพุทธเจ้า สาวกทั้งหลายที่ท่านหลุดพ้นไปแล้ว ท่านก็เคยเป็นมาอย่างนี้หนึ่ง เราก็เป็นมาอย่างนี้ คราวนี้เป็นความอัศจรรย์ในวาระสุดท้ายได้ทราบชัดเจนประจักษ์ใจ เพราะตัวพยานก็มีอยู่ภายในจิตนั้นแล้ว แต่ก่อนจิตเคยมีความเกี่ยวข้องพัวพันกับสิ่งใด บัดนี้ไม่มีสิ่งใดจะติดจะพัวพันอีกแล้ว..
เกิดความอัศจรรย์ในธรรมที่ปรากฏขึ้นโดยปราศจากสมมุติใด ๆ เข้าไปเจือปนในจิตดวงนั้น ถึงกับทำให้เกิดความขวนขวายน้อย ไม่คิดจะสอนผู้หนึ่งผู้ใด เพราะคิดในเวลานั้นว่าสอนใครก็ไม่ได้ ถ้าลงธรรมกับใจเป็นของอัศจรรย์เหลือล้นถึงขนาดนี้แล้ว ไม่มีใครที่จะสามารถรู้ได้เห็นได้ในโลกอันนี้ เพราะเหลือกำลังสุดวิสัยที่จะรู้ได้
เบื้องต้นที่เป็น ทั้งนี้เพราะจิตยังไม่ได้คิดในแง่ต่าง ๆ ให้กว้างขวางออกไปถึงปฏิปทาเครื่องดำเนิน จึงได้ย้อนกลับมาพิจารณาทบทวนกันอีก ทั้งฝ่ายเหตุคือปฏิปทา ทั้งฝ่ายผลที่ปรากฏในปัจจุบันว่า ถ้าธรรมชาตินี้เป็นสิ่งที่สุดวิสัยที่คนอื่น ๆ จะรู้ได้แล้ว เราทำไมถึงรู้ได้ เราก็เป็นคน ๆ หนึ่งเหมือนกับมนุษย์ทั่ว ๆ ไป เรารู้ได้เพราะเหตุใด ก็ย้อนเข้ามาหาปฏิปทา พิจารณากระจายออกไปจนได้ความชัดเจนว่า
‘ถ้ามีปฏิปทาคือข้อปฏิบัติแล้ว ก็จะต้องได้รู้อย่างนี้’
ท่านผู้ใดบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติให้สมบูรณ์เต็มภูมิ ดังที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้แล้ว ธรรมชาตินี้ไม่ต้องมีใครมาบอก จะรู้เองเห็นเองเพราะอำนาจแห่งมัชฌิมาปฏิปทา เป็นเครื่องบุกเบิกทำลายสิ่งที่รกรุงรังพัวพันอยู่ภายในใจ จนแตกกระจายออกไปหมด เหลือแต่ธรรมล้วน ๆ จิตล้วน ๆ ที่เป็นจิตบริสุทธิ์..”
ลัก...ยิ้ม
08-12-2018, 15:15
ดำเนินตามมรรค ๘ พ้นทุกข์ได้จริง
ท่านกล่าวแสดงให้เห็นเป็นที่แน่ใจได้ว่า หากยังมีผู้พากเพียรดำเนินตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ด้วยข้อวัตรปฏิบัติ อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือมรรคมีองค์ ๘ อย่างจริงจังให้สมบูรณ์เต็มภูมิแล้ว ย่อมประจักษ์ผลเป็นความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ จากการเวียนว่ายตายเกิดได้ด้วยตัวของผู้นั้นเอง ดังนี้
“... ตามธรรมดาร่างกายนี้เมื่อมีกำลังมาก ย่อมส่งเสริมกิเลสได้ดี อย่าว่าส่งเสริมจิตเลย และส่งเสริมกิเลสให้มีกำลังมากขึ้น ราคะก็เริ่มมากขึ้น ความง่วงเหงาหาวนอน ความขี้เกียจขี้คร้านก็เริ่มมากขึ้น ๆ โดยลำดับ ทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นเรื่องของกิเลสมันมากไปตาม ๆ กัน ขึ้นชื่อว่ามารเครื่องทำลายจิตใจแล้วมากไปตาม ๆ กัน อันใดที่ผิดก็ทรงแสดงบอกว่าผิด
การฝึกทรมานตนให้ลำบากเปล่า ๆ ก็ไม่ใช่ทาง เพราะกายไม่ใช่จะเป็นผู้ตรัสรู้ธรรม ใจต่างหากเป็นผู้ตรัสรู้ธรรม การฝึกการทรมานตนในทางกายโดยไม่มีจิตเข้าไปเกี่ยวข้องในการทำงานนั้นเลยก็ไม่เกิดประโยชน์ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ทั้งสองประเภทนี้ไม่ใช่ทาง พระองค์ทรงแนะนำสั่งสอนให้ละให้หยุด ...
มัชฌิมาปฏิปทา ท่ามกลาง เหมาะสม .. เป็นธรรมที่เหมาะสมตลอดเวลาในการแก้ การปราบกิเลสทุกประเภท .. ถ้าเป็นประเภทโลดโผน มัชฌิมาปฏิปทาก็โลดโผน ฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไปจนกิเลสหมอบราบ กิเลสประเภทกลาง มัชฌิมาก็ประเภทกลาง หมายถึงสติปัญญาประเภทกลาง เอาให้กิเลสแหลกหมอบราบไป
กิเลสส่วนละเอียดจนกระทั่งอวิชชาซึ่งเป็นสิ่งละเอียดสุดในบรรดากิเลส ไม่มีกิเลสตัวใดจะละเอียดอ่อนยิ่งกว่าอวิชชา สติปัญญาก็เป็นมหาสติ มหาปัญญา ทันกัน.. ฟาดฟันหั่นแหลกกันแตกกระจายไปหมด ไม่มีกิเลสตัวใดจะมีอำนาจนอกเหนือมหาสติ มหาปัญญา อันเป็นมัชฌิมาปฏิปทาละเอียดอ่อนไปได้เลย ..
ท่านผู้ใดบำเพ็ญวัตรปฏิบัติให้สมบูรณ์เต็มภูมิดังที่พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนไว้แล้ว ธรรมชาตินี้ไม่ต้องมีใครมาบอก จะรู้เองเห็นเอง เพราะอำนาจแห่งมัชฌิมาปฏิปทาเป็นเครื่องบุกเบิกทำลาย สิ่งที่รกรุกรังพัวพันอยู่ภายในใจ จะแตกกระจายออกไปหมด เหลือแต่ธรรมล้วน ๆ จิตล้วน ๆ ที่เป็นจิตบริสุทธิ์
จากนั้นจะเอาอะไรมาเป็นภัยต่อจิตใจ แม้สังขารร่างกายจะมีความทุกข์ความลำบากแค่ไหน ก็สักแต่ว่าสังขารร่างกายเป็นทุกข์เท่านั้น ไม่สามารถที่จะทับถมจิตใจให้บอบช้ำให้ขุ่นมัวได้เลย เพราะธรรมชาตินั้นไม่ใช่สมมุติ ขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นสมมุติล้วน ๆ ธรรมชาตินั้นเป็นวิมุตติ หลุดพ้นจากสิ่งกดขี่ทั้งหลายซึ่งเป็นตัวสมมุติแล้ว แล้วจะเกิดความเดือดร้อนได้อย่างไร เป็นก็เป็น ตายก็ตาย เรื่องของขันธ์สลายลงไปตามสภาพมันที่ประชุมกันเท่านั้น...”
ลัก...ยิ้ม
10-12-2018, 22:50
ไตรโลกธาตุชัดเจนประจักษ์ใจ
ท่านนำความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้นบนยอดเขาวัดดอยธรรมเจดีย์ มาสั่งสอนลูกหลานชาวพุทธด้วยความเมตตาห่วงใย ด้วยเกรงจะลืมเนื้อลืมตัว.. ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ นรกสวรรค์ว่าเป็นของมีจริง ดังนี้
“... จนกระทั่งกิเลสขาดสะบั้นลงไปจากใจ ไม่มีสิ่งใดเหลือเลย ก็ประจักษ์กับใจของเรา สิ่งที่เกี่ยวข้องกับกิเลสที่เรารู้ประจักษ์ใจของเราคืออะไร ? คือ นรก เปรต อสุรกาย บุญบาป เทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม มีหรือไม่มี.. พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าอย่างไร ? ยอมรับ.. กราบอย่างราบเลย หาที่ค้านไม่ได้
เพราะสิ่งเหล่านี้มีมากี่กัปกี่กัลป์นับไม่ถ้วนแล้ว มีมาดั้งเดิม พระพุทธเจ้าพระองค์ใดมาตรัสรู้ ก็มารู้เห็นสิ่งเหล่านี้ นอกจากเห็นกิเลส ฆ่ากิเลสจากพระทัยของท่านแล้ว ก็มารู้เห็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกันกับความรู้ที่จะควรรู้ควรเห็นนี้เหมือนกันหมด
เพราะฉะนั้น การแสดงธรรมสอนธรรมแก่โลก ท่านจึงต้องสอนตามหลักความจริงว่า บาปมี.. เพราะบาปมีมาดั้งเดิม มาแต่กาลไหน ๆ บุญมี.. บุญเคยมีมาตั้งแต่ดั้งเดิม ตั้งแต่กาลไหน ๆ นรกมี สวรรค์มี พรหมโลกมี นิพพานมี ยอมรับว่ามีมาตั้งแต่กาลไหน ๆ แล้ว
เมื่อความรู้ความเห็นซึ่งหยั่งเข้าไปสู่จุดเดียวกันแล้ว เห็นอย่างเดียวกันแล้ว จะเอาอะไรมาค้านกัน เห็นก็เห็นอย่างกระจ่างแจ้ง ไม่สงสัย รู้อย่างกระจ่างแจ้ง อย่างอาจหาญชาญชัยตามความจริงที่มีอยู่นั้น
เวลานำมาพูดจะสะทกสะท้านที่ไหน ใครจะเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม ความรู้ความเห็น ความเป็นไปนี้ไม่ได้คลาดเคลื่อนจากหลักความจริงไปเลย เป็นความจริงล้วน ๆ ...
ภพภูมิทั้งหลายนี่สำหรับสัตว์ทั้งนั้น ไม่มีช่องว่างที่สัตว์ไม่อยู่ไม่มี หมื่นจักรวาล ฟังซิ แสนจักรวาล กว้างขนาดไหนแสนจักรวาล ? จักรวาลหนึ่งกว้างขนาดไหน ? ตั้งหมื่นตั้งแสนจักรวาลโลกนี้กว้างขนาดไหนสัตว์อยู่หมด แล้วก็หมุนเกิดหมุนตายกันอยู่อย่างนั้นตลอด.. อย่างนรกอย่างนี้ ที่ท่านว่าหลุมที่มหันตทุกข์ ชั่วฟ้าแมบ (ฟ้าแลบ) นี้ไม่มีว่าเป็นความสุข เรียกว่ามหันตทุกข์ อนันตริยทุกข์ ทุกข์ไม่มีระหว่างเลย จะปล่อยช่องว่างไว้เพียงชั่วฟ้าแมบอย่างนี้ ว่าชั่วระยะนี้เป็นความสุขแก่สัตว์ประเภทที่มีกรรมหนาที่สุด ...
บาปเราก็ไม่สงสัย บุญไม่สงสัย นรกทุกหลุมไม่สงสัย สวรรค์กี่ชั้นไม่สงสัย ... ตั้งแต่ชั้นแรกจนกระทั่งถึงพรหมโลก ๑๖ ชั้น มีสุทธาวาสเป็นชั้นสุดท้าย ... นิพพานไม่สงสัย ตลอดภพภูมิต่าง ๆ พวกเปรตพวกผี เทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม ที่อยู่สวรรค์ชั้นนั้น ๆ พรหมโลกชั้นนั้น ๆ ตลอดพวกเปรตพวกผีที่อยู่ตามกำเนิดตามภพชาติของตน ที่เสวยกรรมตามลำดับลำดามา เราก็ไม่สงสัย ได้ประจักษ์แล้วในหัวใจนี้ ...
อย่าพากันกล้าหาญต่อบาปนะ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาองค์เอก ทุก ๆ พระองค์สอนว่าบาปมี อย่าทำบาป บุญมี ให้สร้างคุณงามความดีเพื่อบุญเพื่อกุศล นรกมี อย่ากล้าหาญชาญชัยต่อสู้พระพุทธเจ้า อวดดิบอวดดีเก่งกว่าพระพุทธเจ้า ไปลบล้างว่านรกไมมี ตายแล้วจะจมลงทันทีทันใด
ถ้าใครอาจหาญชาญชัยต่อพระพุทธเจ้า กล้าลบล้างว่าบาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี ผู้นั้นแลคือผู้หมดคุณค่าแล้ว ทั้ง ๆ ที่ลมหายใจยังฟอด ๆ อยู่นั้น พอลมหายใจขาดแล้วจะดีดผึงทันที ไม่ได้มีคำว่าใกล้ว่าไกล จากนี้ถึงแดนนรกกี่กิโลกี่เส้นกี่วา ไม่เคยมี พอใจขาด.. ลมหายใจขาดสะบั้นลงไปแล้ว กรรมที่ทำชั่วช้าลามกทั่งในที่ลับทั้งในที่แจ้ง เป็นกรรมโดยแท้ไม่มีที่ลับที่แจ้ง มันแจ้งขาวดาวกระจ่างอยู่ภายในใจของผู้ทำนั่นแล...”
ท่านกล่าวว่า คนตาบอดไม่เชื่อคนตาดีย่อมมีทางตกหลุมตกบ่อได้ฉันใด ผู้มีใจมืดบอดด้วยกิเลสตัณหา.. ไม่เชื่อตาใจของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่าน ย่อมนำความล่มจมมาสู่ตนได้ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านจึงกล่าวย้ำเตือนชาวพุทธผู้ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าว่า
“... ความล่มจมจะมีแก่ผู้ไม่เชื่อนั้นแล นี่เรียกว่า สวากขาตธรรม ท่านตรัสไว้ชอบแล้วนี้ประมวลเข้ามา เรายอมรับทุกประเภทที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้ว ตั้งแต่บาปแต่บุญ นรกสวรรค์ พรหมโลก นิพพาน เทวบุตรเทวดา เปรตผีมี เรายอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ขณะที่กิเลสเปิดจากใจเท่านั้นสว่างจ้าขึ้นมาหมด ไม่เคยคาดเคยคิด เคยรู้เคยเห็น ว่าจะรู้จะเห็นก็เป็นขึ้นมาแบบอัศจรรย์ จึงได้อัศจรรย์ตัวเองว่า ‘เรารู้ได้ยังไง ? เห็นได้อย่างไร ?’
จิตดวงนี้แล ตั้งแต่กิเลสครอบงำอยู่มันก็เหมือนคนตาบอด อะไรจะมีอยู่มากน้อยเพียงไรมันไม่เห็น สีแสงวัตถุต่าง ๆ มองไม่เห็นแต่โดนเอา ๆ นี่จิตที่มืดบอดก็เหมือนกัน มีแต่โดนความทุกข์ความทรมาน โดนบาปโดนกรรมเรื่อยมา แล้วขั้นบำเพ็ญมา ๆ ก็ค่อยหูแจ้งตาสว่างออกไป ๆ สุดท้ายเปิดโล่งหมดทั่วแดนโลกธาตุ สว่างจ้าครอบโลกธาตุ เกิดความอัศจรรย์ในตัวเองว่า
‘เรารู้ได้ยังไง ? เห็นได้อย่างไร ? สิ่งที่ไม่เคยคาดเคยคิดเคยรู้เคยเห็น ก็เห็นก็เป็นขึ้นมาประจักษ์ใจเพราะสิ่งเหล่านั้นมีอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงว่าตาเรามันหลับด้วยกิเลสปิดบังเท่านั้น พอเปิดตา.. คือกิเลสออกจากใจแล้วสว่างจ้าขึ้นมา’
ก็ยอมรับ กราบพระพุทธเจ้าอย่างราบตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งบัดนี้...”
ลัก...ยิ้ม
12-12-2018, 22:18
ฐีติภูตัง พิจารณาปัจจยาการ
“... อวิชชาปัจจยา สังขารา สังขารปัจจยา วิญญาณัง วิญญาณปัจจยา นามรูปัง .. ไปเรื่อย ๆ มันส่งออกมาจากจิตนี้แหละ ท่านอาจารย์มั่นท่านว่า “ฐีติภูตัง อวิชชาปัจจยา สังขารา ท่านว่า ฐีติภูตัง หมายถึงจิต อวิชชาอาศัยจิตเป็น อวิชชาปัจจยา สังขารา ขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาลงที่นั่น เพราะ อวิชชาปัจจยา สังขารา มันออกมาจากจิต เป็นขึ้นจากจิต มีจิตเป็นที่อาศัยของอวิชชา ไม่มีจิต อวิชชาอาศัยไม่ได้ จึงต้องพิจารณาลงไปที่นั่น ชำระกันที่นั่น ฟาดฟันกันลงไปที่นั่นด้วยสติปัญญาอันทันสมัย อวิชชาขาดกระจายไปหมด อวิชชายเตวว อเสสวิราค นิโรธา สังขารนิโรโธ ... เป็นต้น ทีนี้ก็ดับ ๆ ๆ ๆ เรื่อยไปจนถึง นิโรโธ โหติ
นั่น ! ในเบื้องต้นของว่า “สมุทโย โหติ พอกลายเป็น นิโรโธ โหติ อวิชชาดับ อะไร ๆ ที่เกี่ยวโยงกันก็ดับไปหมด กลายเป็นนิโรธดับทุกข์ ดับสมุทัยภายในใจอย่างไม่มีอะไรเหลือเลย !
นี่เป็นขั้นสุดท้ายแห่งการสร้างบ้านสร้างเรือนมา ตั้งแต่คว้าไม้ทั้งต้นมาปลูกบ้านปลูกเรือน มาไสกบลบเหลี่ยม มาเลื่อย มาเจาะ มาสิ่ว ตามความต้องการของนายช่างคือผู้ปฏิบัติ จนกระทั่งสำเร็จขึ้นมาเป็นบ้านหลังอัศจรรย์ มีความสูง สูงพ้นโลก สง่างามขึ้นมาที่จิตใจ ย่อมมีความลำบากเป็นทางเดิน แต่สุดท้ายก็มีความอัศจรรย์อย่างยิ่งจากความลำบากนั้น ความลำบากนั้นจึงเป็นเครื่องสนับสนุนให้ผลนี้เกิดขึ้นเป็นที่พึงพอใจ ดังหลักธรรมท่านกล่าวไว้ว่า “ทุกขัสสานันตรัง สุขัง” สุขเกิดในลำดับความทุกข์ คือการประกอบงานด้วยความทุกข์เสียก่อน ก่อนจะได้รับความสุข...”
ลัก...ยิ้ม
13-12-2018, 22:27
พระอัญญัตรภิกขุ
“... พระอัญญัตรภิกขุ ท่านกำลังสงสัยธรรมขั้นละเอียด จะไปทูลถามพระพุทธเจ้า พอไปถึงใต้ถุนพระคันธกุฏี พอดีฝนตกก็เลยยืนอยู่ที่ใต้ถุนนั้น สังเกตดูน้ำฝนที่ตกมาจากชายคา มากระทบน้ำที่พื้นแล้วเกิดเป็นต่อมฟองขึ้นมา ฟองน้ำตั้งขึ้นมาเท่าไร มันก็ดับไปแตกไป ท่านก็พิจารณาเทียบเคียงกับสิ่งภายใน คือ “สังขาร” ความคิดปรุง เพราะขั้นนี้จิตจะพิจารณาเรื่อง “สังขาร” และ “สัญญา” ความปรุงและความสำคัญต่าง ๆ ของใจมากกว่าอย่างอื่น
ในเวลาน้ำตกลงมากระทบนั้น นอกจากมีความกระเพื่อมแล้ว ก็ตั้งเป็นต่อมขึ้นมา เป็นฟองขึ้นมา แล้วดับไป ๆ ท่านก็พิจารณาเทียบเคียงเข้าไปภายใน คือความคิดปรุงของจิต คิดดี คิดชั่ว มีความเกิดความดับเป็นคู่เคียงกันไปเป็นลำดับ ๆ เสร็จแล้วก็กลายลงมาเป็นน้ำตามเดิม
สังขารนี้เมื่อคิดปรุงเสร็จแล้วก็ลงไปที่จิตตามเดิม ท่านเลยบรรลุธรรมขั้นสูงสุดในสถานที่นั้นเอง พอบรรลุธรรมแล้วฝนก็หยุด ท่านก็กลับไปกุฏี ไม่ไปทูลถามพระพุทธเจ้าอีกเลย เพราะหมดข้อสงสัยแล้ว เป็นสันทิฏฐิโก...”
ลัก...ยิ้ม
15-12-2018, 00:45
พิสูจน์ตายแล้วสูญด้วยจิตภาวนา
“... การพิจารณาในอาการต่าง ๆ ของร่างกายด้วยปัญญา ย่อมเห็นตามเป็นจริงไปโดยลำดับ และถอนอุปาทานในร่างกายไปพร้อม ๆ กัน จนถึงขั้นปล่อยวางรูปกายได้
จิตก็นับวันเด่นดวงและเป็นตัวของตัวยิ่งขึ้น เพราะกระแสของจิตรวมเข้าสู่จุดเดียว จำพวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นอาการหนึ่ง ๆ ของจิต ก็พิจารณาในลักษณะเดียวกันกับกาย คือโดยทางไตรลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสามไตรลักษณ์จนเป็นที่เข้าใจด้วยปัญญา ใจย่อมปล่อยวางได้อย่างหายห่วง
ตอนนี้แล ผู้ปฏิบัติจะทราบได้ชัด เรื่องรวงรังแห่งภพแห่งชาติ และอุปาทานในขันธ์ได้ถูกถอนไปหมดแล้ว ยังเหลือเฉพาะตัวภพ ที่ติดแนบราวกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ
สติปัญญาอัตโนมัติที่แหลมคมทุกด้าน.. ขุดค้นลงที่จุดอันเป็นตัวภพนั้นไม่หยุดยั้งราวกับธรรมจักรหมุนรอบตัว และโค่นตัวภพนั้นลง.. เผาด้วยมหาสติ มหาปัญญา ไม่มีซากสมมุติแม้ปรมาณูเหลืออยู่ภายในใจเลย
ท่านผู้นี้รู้แล้ว รื้อแล้วซึ่งรวงรังแห่งภพชาติ ขาดกระเด็นอย่างไม่มีร่องรอยสมมุติเหลืออยู่เลย ด้วยการพิสูจน์โดยทางจิตภาวนา ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกพาดำเนินมา เมื่อถึงที่นี่แล้วเป็นอันว่าพ้นภัยทั้งมวล ไม่มีอะไรกวนใจอีกต่อไปตลอดอนันตกาล
ท่านผู้ใดอยากรู้อยากเห็นว่า จิตตายแล้วเกิดอีก หรือตายแล้วสูญ กรุณาพิสูจน์ทางด้านจิตภาวนาอันเป็นหนทางให้เข้าถึงความจริง ความจริงมีอย่างไร ! ภายในจิตจะทราบเองด้วยจิตภาวนา ซึ่งถึงขั้นที่ควรรู้ควรเห็น ไม่มีใครและอะไรมาปิดบังไว้ได้ นอกจากกิเลสของตัวปิดบังตัวเองเท่านั้น จะไปตำหนิใครได้ลงคอเล่า
ถ้าต้องการรู้ความจริง คือตายแล้วเกิดอีก หรือตายแล้วาสูญ ที่มีอยู่กับทุกคน จึงควรค้นคิดด้วยทางจิตภาวนา ไม่ควรฝืนคิดโดยลำพังตัวเอง กลัวจะถูกกิเลสพันหนักเข้าจนกลายเป็นแหพันลิง ลิงตัวคะนองอยู่ไม่เป็นสุข มือคว้าเอาแหเข้ามาทอดลงในน้ำ สุดท้ายลิงตัวคะนองเลยกลายเป็นปลาที่ถูกแหพันตายเปล่า ๆ ...”
ลัก...ยิ้ม
15-12-2018, 23:38
สุญญกัป
“... ท่านกล่าวไว้ในธรรมว่า พุทธันดรหรือสุญญกัป ก็หมายถึงความว่างเปล่าจากศาสนา พุทธันดร หมายถึง ระหว่างแห่งพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ที่จะมาตรัสรู้ นั่นก็ว่างจากศาสนา ... ภัทรกัป แปลว่ากัปที่เจริญ ..
กัปหนึ่ง ๆ นั้นมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ทีละองค์บ้าง ทีละสององค์บ้าง สามองค์บ้าง ถ้าเป็นภัทรกัป กัปใหญ่ก็มาตรัสรู้ถึง ๔ – ๕ องค์ ดังภัทรกัปของเราทุกวันนี้ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๕ พระองค์ คือ พระอริยเมตไตรย เป็นองค์ที่ ๕ นี้เรียกว่ากัปหนึ่ง ๆ พอสิ้นกัปนี้แล้วก็เป็นสุญญกัป
ในสุญญกัปนั้นแล เป็นกัปที่สัตว์โลกทั้งหลายได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด ไม่มีน้ำ ไม่มีเครื่องเยียวยารักษาเลย มีแต่ความทุกข์ความทรมานล้วน ๆ จนกว่าว่ากัปนี้ผ่านไป กัปหน้าผ่านมาแล้วพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ถึงจะได้สร้างคุณงามความดี ถึงจะได้ค่อยรอดพ้นไปได้ บรรดาสัตว์ที่รออยู่แล้วก็เลยรอดพ้น ในเวลาที่พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แต่ละพระองค์ ๆ นี่ พวกเราทั้งหลายก็ได้เกิดมาอยู่ในภัทรกัป คือกัปของพระพุทธเจ้า พระสมณโคดม จากนี้ไปก็จะเป็นพระอริยเมตไตรยมา...”
ลัก...ยิ้ม
16-12-2018, 13:14
ศพคน ๆ เดียว ประเทศไทยไม่พอ
เรื่องการเกิดตายของคนแต่ละคน ๆ นี้ ท่านเคยกล่าวอย่างถึงใจให้เห็นทุกข์เห็นโทษของการเกิด และรีบเร่งขวนขวายสร้างคุณงามความดีใส่ตนให้มาก ดังนี้
“... การเกิดการตายนี้ เกิดตายทับถมกันมานี้ สักเท่าไร ๆ แต่ละศพแต่ละคน ๆ มันรู้ไปหมด เวลามันรู้นะ เอาให้มันจริง ๆ จัง ๆ อย่างนี้เลยนะ มันจึงขยะแขยง
‘โห..มันผ่านของมันออกแล้ว มันก็ยังขยะแขยงอยู่นะ โถ ! แต่เวลามันจมอยู่ มันไม่ขยะแขยงนะ บืนอยู่อย่างนั้น เวลามันผ่านออกมาแล้ว มันถึงได้เห็นโทษของมัน ขยะแขยงนะ’
คนหนึ่งสัตว์ตัวหนึ่ง ๆ นี้ ถ้าไม่มีบุญไม่มีกุศลแล้วไม่มีความหมายเลย วนเวียนตายเกิด ตายสูงตายต่ำ ตายเกิดอยู่อย่างนั้นตลอด ตลอดกี่กัปกี่กัลป์ คนหนึ่ง ๆ นี้เอามากอง.. ประเทศไทยนี้ไม่พอกอง ศพของคนคนหนึ่งที่ตายเกิด ๆ เป็นสัตว์ประเภทใดก็ตามมารวมกันนี้
เพียงคนคนเดียวเท่านั้นทั่วประเทศไทยเรานี้ หาที่กองศพไม่มีเลย นานขนาดไหน กี่กัปกี่กัลป์ที่ตายเกิดตายทับกองกันอยู่นี่น่ะ เรียกว่าตายกองกัน ล้วนแล้วตั้งแต่จิตนี่ออกไปร่างนั้นแล้วเข้าสู่ร่างนี้ เข้าสู่ร่างไหนก็ว่าเกิด ร่างไหนหมดสภาพก็ว่าตาย ๆ ว่าเกิดว่าตาย ๆ มันหากหมุนของมันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา นี่ละวัฏวนวัฏจักร...
สิ่งที่มาแก้คืออะไร บุญกุศลเราสร้างมากน้อยเท่าไร ๆ มารวมกัน แล้วค่อยแก้ไปแก้มา แก้มาก ๆ เข้า.. บุญกุศลก็มากเข้า ความหนาแน่นของการแก้ก็หนาแน่นเข้า ๆ อันนี้ก็ค่อยจางไป ๆ ก็สว่างจ้าออก สว่างจ้าก็ดีดผึง ๆ เลย
นี่ละพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ มองดูหัวใจสัตว์โลกที่เขาไม่มีศาสนา คือเขาไม่ได้มองดูหัวใจเลย เขาดูแต่วัตถุเท่านั้น...”
ลัก...ยิ้ม
17-12-2018, 22:23
จิตวิญญาณมีจริง
ท่านกล่าวยืนยันเรื่องจิตวิญญาณว่าเป็นของมีจริงดังนี้
“... จิตวิญญาณอยู่บนฟ้าอากาศเต็มไปหมด เราเห็นได้ที่ไหน เห็นแต่นกมันบินมาบนฟ้าเท่านั้น แต่จิตวิญญาณของสัตว์ที่เต็มยั้วเยี้ย ๆ อยู่ทั้งในน้ำบนบกมีทั่วไปหมด จิตวิญญาณไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค กรรมพาไปไหนไปได้หมด เกิดได้หมดทั้งนั้น เสาะแสวงหาเรื่องบาปเรื่องบุญนี้มันมีอยู่กับใจ บังคับให้ไปเกิดได้หมด...
จิตดวงนี้ไม่เคยตาย ไม่เคยฉิบหายแต่ไหนแต่ไรมา ถ้าพูดถึงเรื่องวัตถุต่าง ๆ ในแดนโลกธาตุนี้ว่าอันไหนมากกว่าอะไร ไม่มีอะไรจะมากยิ่งกว่าจิตวิญญาณของสัตว์โลก เต็มท้องฟ้ามหาสมุทร ใต้ดิน เหนือดิน มีเต็มหมดเลย อันนี้มากที่สุดคือจิตวิญญาณของสัตว์โลก เพราะมันไม่เคยสูญนั่นเอง มันเต็มอยู่นี่ ครองภพ ครองชาติ อยู่ทุกแห่งทุกหนตามเพศตามภูมิ
อย่างที่เราเป็นมนุษย์ก็เห็นกันอยู่ ไม่เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ ก็เห็นกันอยู่อย่างงั้น เป็นไก่ เป็ด นก ปลา เป็นอะไรเราก็เห็นกันอยู่อย่างนั้น ที่ละเอียดกว่านั้นมันก็มี อยู่อย่างเดียวกันนี้เลย ไม่ได้ผิดกัน มันมีอยู่ตามสภาพของตน ๆ เป็นแต่เพียงว่าเราสามารถสัมผัสสัมพันธ์ รู้เห็นได้หรือไม่ได้เท่านั้นเอง นั่นก็เป็นอย่างนั้นละ
มันมีภพละเอียด หยาบ.. หยาบต่างกัน อย่างพวกเทวบุตรเทวดา อินทร์ พรหม พวกเปรต พวกผี ก็เหมือนกับเรานี่มีภพมีชาติเป็นกำเนิด.. ที่เกิดของตัวเองด้วยวิบากกรรมดีชั่วเหมือนกันหมด ไม่มีใครแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ให้ประมาทกัน สัตว์โลกที่เกิดขึ้นมาด้วยกัน อย่าตำหนิกันด้วยชาติชั้นวรรณะ สถานะสูงต่ำอย่าไปตำหนิกัน ...
ตั้งแต่แดนมนุษย์ไปจนกระทั่งถึงสวรรค์ พรหมโลก นิพพาน นี้เป็นแดนแห่งคนมีบุญ คนมีบาปไปไม่ได้ ในสวรรค์แม้แต่ชั้นจาตุมฯ นี้ก็เหมือนกัน เทวบุตรเทวดาเต็มอยู่ในชั้นจาตุมฯ เพียงชั้นแรกชั้นจาตุมฯ ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี เป็นชั้น ๆ นี้ ไม่ว่าชั้นไหน เข้าไปถามดูตั้งแต่ชั้นดาวดึงส์นี้ พวกเทพทั้งหลาย เทวบุตรเทวดา อินทร์ พรหม อยู่ด้วยกองกุศลของตนที่ไปเสวยความดีอยู่นั้น เราไปหาค้นดูว่าในสถานที่นี่มีคนชั่วช้า ลามก นรกจกเปรต ไปทำความชั่วช้าให้แก่สัตว์และมนุษย์ทั้งหลายทั่ว ๆ ไป.. ตายแล้วเขาได้มาขึ้นสวรรค์ในที่นี่มีไหม ? ไม่มีแม้รายเดียว ..
ในตำราแสดงไว้ว่า นรกนั้นมีถึง ๒๕๖ หลุม ตั้งแต่หลุมที่เป็นมหันตทุกข์หนักที่สุดจนถึงหลุมสุดท้าย นี่เรียกว่านรก ๒๕๖ หลุม ... แล้วปลีกย่อยยังมีอีกเยอะ ส่วนใหญ่มี ๒๕๖ หลุม ..
สวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นจาตุมฯ ขึ้นไปถึงชั้นที่หกคือปรนิมมิตวสวัตดี นี่คือสวรรค์ ๖ ชั้น แล้วพรหมโลกอีก ๑๖ ชั้น จากนั้นก็เป็นนิพพาน เหล่านี้ทรงรู้แจ้งแทงทะลุเห็นหมดทุกสิ่งทุกอย่าง จากนั้นก็พวกเปรต ผีประเภทต่าง ๆ สัตว์ทั่วโลกดินแดนในไตรโลกธาตุนี้...”
ลัก...ยิ้ม
18-12-2018, 22:13
กิเลสหลอกว่า “ตายแล้วสูญ”
มีคนจำนวนมากยังเข้าใจว่า เมื่อสิ้นใจตายไปแล้วก็สูญสิ้นจบกันเท่านั้น แท้จริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนย้ำเสมอ ๆ ว่า
“... สัตว์ที่ว่าตายเกิด ๆ มันไม่มีที่ไป เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สูญ มันหากหมุนหากเวียนกันออกจากนี้ไปเป็นสัตว์ เป็นเทวบุตรเทวดา ไปเป็นอินทร์ เป็นพรหมก็มี เป็นเปรต เป็นผีก็มี เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่อย่างนี้ตั้งกัปตั้งกัลป์มาแล้ว จิตวิญญาณดวงนี้ตายไม่เป็น
เพราะฉะนั้น คำว่าตายแล้วสูญถึงขัดกันเอาอย่างมากทีเดียว เป็นกลมายาของกิเลสโดยตรงที่หลอกสัตว์โลกให้ทำชั่ว เพราะถ้าว่าตายแล้วสูญแล้วไม่มีเงื่อนไขสืบต่อ อยากทำอะไรก็ทำ ความอยากทำคือทางเดินของกิเลสอยู่แล้ว ก็ทำตามความอยาก ตายลงไปแล้วไม่สูญละซิ ก็เสวยกรรมอยู่นั้น
อะไรจะมากยิ่งกว่าจิตวิญญาณของสัตว์โลก เต็มอยู่ในโลกอันนี้เพราะมันไม่สูญ.. หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตามอำนาจของกรรม เกิดเป็นนั้นเป็นนี้อยู่อย่างนั้น ตายแล้วก็เกิด ๆ ตายกองกัน พวกนี้พวกตายกองกัน กองทับเขากองทับเราอยู่อย่างนั้น..ไม่มีทางไป
เพราะจิตวิญญาณไม่สูญ มีเต็มท้องฟ้าอากาศ ที่ไหนเต็มไปหมด ไม่มีอะไรมากยิ่งกว่าธรรมชาติอันนี้ หนาแน่นที่สุด นี่ละเรียกว่ากรรมของสัตว์ คือพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ก็มากวาดเอาดวงวิญญาณเหล่านี้ ที่ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเทวบุตรเทวดาแล้ว ก็ถอดออกไป ๆ พ้นไป ๆ
ใครจึงให้สร้างความดีซิ ถ้าอยากพ้นไปตามพระพุทธเจ้าให้สร้างความดี มันเปลี่ยนเรื่อยนะ จิตวิญญาณนี่ เปลี่ยนเป็นภพนั้นชาตินี้ตามอำนาจของกรรม หมดกรรมนี้แล้วก็มีกรรมนั้นต่ออีก ภพนั้นสืบภพนี้ไปเรื่อย กรรมหนักกรรมเบามีอยู่เรื่อย ๆ อย่างนั้นละ ... กรรมพาไปไหนไปได้หมด เกิดได้หมดทั้งนั้น เสาะแสวงหาเรื่องบาปเรื่องบุญนี้มันมีอยู่กับใจ บังคับให้ไปเกิดได้หมด เพราะฉะนั้น จึงอย่าพากันกล้าหาญ ไม่มีอะไรจะเป็นอุปสรรคต่อกรรมดีกรรมชั่วได้ กรรมดีกรรมชั่วนี้ไสเข้าไปได้หมดเลย ที่ท่านว่าไม่มีอานุภาพใดเหนืออานุภาพแห่งกรรมดีกรรมชั่วไปได้ คือครอบโลกธาตุ...”
ลัก...ยิ้ม
19-12-2018, 22:14
กราบพระพุทธเจ้าอย่างราบ
ความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่คืนอัศจรรย์บนวัดดอยธรรมเจดีย์เป็นต้นมา ทำให้ท่านกราบพระพุทธเจ้าอย่างราบ และกราบยอมรับยืนยันในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเมตตาแสดงไว้ทุกอย่าง ไม่มีที่คัดค้าน ไม่มีอะไรติดข้องภายในใจเลย ท่านกล่าวอย่างเด็ดถึงขนาดว่า
“... หากว่าผู้ใดจะมาตัดคอเราถ้าเชื่อตามพระพุทธเจ้าว่า บาปบุญนรกสวรรค์มีแล้วจะตัดคอ.. เรายอมให้ตัดเลย แต่ความเชื่อที่ประจักษ์หัวใจนี้ไม่ยอมตัด เราจะตายทั้ง ๆ ที่คอขาดก็ไม่เสียดาย เพราะเราได้รู้ได้เห็นอย่างนั้นจริง ๆ นี่แหละศาสนาพุทธ เปิดเผยมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว สอนชาวเราทั้งหลาย กิเลสมันก็ปิดมากี่กัปกี่กัลป์แล้ว ให้สัตว์ทั้งหลายลุ่มหลงงกงันไปตามมัน ให้ได้รับความเดือดร้อนมากมาย.. ให้เชื่อเถิด..ถ้าไม่อยากจม..ให้เชื่อพระพุทธเจ้านะ
ศาสนาพุทธนี่เป็นศาสนาชั้นเอก ไม่มีอะไรเหมือนแล้ว พระพุทธเจ้าทรงรู้ ทรงเห็น เป็นจิตที่บริสุทธิ์.. พุทโธสว่างจ้าครอบโลกธาตุแล้วจึงมองเห็นได้หมด เรียกว่าโลกวิทู เมื่อจิตได้เข้าถึงขั้นบริสุทธิ์พุทโธแล้ว จะสว่างจ้า แม้จะไม่ลึกซึ้งกว้างขวางเหมือนพระพุทธเจ้าก็ตาม
พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีใบดก ใบหนาชุ่มเย็น แผ่กระจายกิ่งก้านสาขาออกไปอย่างกว้างขวาง แม้ต้นไม้อื่น ๆ จะไม่กระจายกิ่งก้านสาขาออกไปกว้างขวางอย่างต้นไม้ของพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่ก็เต็มกำลังแห่งกิ่งก้านสาขาของตนที่แผ่กิ่งก้านออกไปนั่นเอง
นี่ความรู้ของพระพุทธเจ้า.. เหมือนกับต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านออกไปสู่แดนโลกธาตุสุดแดนสมมุติ แต่ความรู้ความเห็นของพระสาวกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญยังมีอีก ก็ลดกันลงมา ๆ แต่จะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เลย.. กระจ่างแจ้งด้วยกันหมด นอกจากท่านจะพูดหรือท่านไม่พูดเท่านั้น นี่เป็นโอกาสที่ได้มาพูดให้พี่น้องทั้งหลายฟัง ก็เกี่ยวกับเรื่องการช่วยชาติ แต่ก่อนเราไม่เคยพูด รู้ก็รู้ เห็นก็เห็น ประจักษ์มาตั้งแต่ที่กล่าวนั่นแหละ .. วัดดอยธรรมเจดีย์...”
ลัก...ยิ้ม
20-12-2018, 22:51
มืดเพียงใด พากเพียรไปก็สว่างได้
ความสำเร็จขั้นสูงสุดในชีวิตนักบวชของท่านในครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจากความพากเพียรอุตสาหะอย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่เมื่อครั้งเป็นฆราวาสอยู่นั้น ท่านไม่รู้จักเรื่องบุญกรรมมาก่อนแต่อย่างใด แต่ด้วยท่านมีนิสัยรักเคารพในเหตุผลอรรถธรรมเป็นพื้นฐานมาแต่เดิม ชีวิตของท่านจึงเปลี่ยนแปลงไป ท่านกล่าวไว้ดังนี้
“...เราอ่านเรา.. ที่อ่านมาเพื่อเป็นคติสอนพี่น้องทั้งหลาย คือเราอ่านตัวเราเองมาโดยลำดับตั้งแต่เริ่มแรกเลย ไม่รู้ประสีประสาอะไรเลย มันก็เห็นชัด ๆ ในใจของเรา คือไม่รู้จักบุญจักบาป มีแต่ความอยากได้ สมมุติไปหากินนี้ ไปหาอะไรบ้างที่มันจะได้.. เห็นสัตว์ฆ่าสัตว์ เห็นปลาเอาปลา เห็นไก่เอาไก่ เห็นอะไรเอาทั้งนั้นเพราะอยากได้
มันไม่ได้คำนึงถึงบาปถึงบุญ นั่นละ ดูพื้นฐานของจิต นี่เป็นพื้นฐานของจิตในขั้นนั้น ว่างั้นเถอะ คือว่าไม่ได้สงบเรื่องบาปเรื่องบุญอะไรเลย มีแต่ความอยาก ไปหาอะไรก็อยากได้อันนั้น ไปหากินมันก็ไม่พ้นที่จะฆ่าสัตว์ เห็นสัตว์ตัวใดเอาทั้งนั้นล่ะ
จากนั้นก็มาบวชเป็นพระ นี่ละ ความรู้สึกทางด้านจิตใจเริ่มเปลี่ยนแปลงตอนมาบวชเป็นพระนะ แต่ก่อนเป็นธรรมดา แต่อันหนึ่งที่เป็นนิสัยจิตใจอยู่นั่น.. ความเคารพพระ เลื่อมใสพระและเชื่อศาสนา มันฝังอยู่ในจิตเลย เห็นพระคือไม่อยากพบ ไม่อยากเข้าไปหาใกล้ อายท่าน อายกับกลัวเป็นสิ่งอันเดียวกัน ไม่ค่อยจะเข้าไปหาพระ
ที่ไม่เข้าไปหาคืออายท่าน ลักษณะอายกับกลัวมันอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่เจอหน้ากันจริง ๆ แล้ว ไม่ค่อยได้พบพระ นอกจากจะไปเจออย่างจัง หลีกไม่ได้ ก็หมอบกราบสักที นี่พื้นใจนะ พื้นของจิตที่มันเป็นของมันในหลักธรรมชาติ ธาตุดั้งเดิมมันเป็นอย่างนั้น ไม่ค่อยคิดถึงเรื่องบาปเรื่องบุญอะไร นี่เป็นเรื่องความอยาก อยากได้อะไรก็ไปตามความอยาก ไม่ได้สนใจกับคำว่า “บาป” ว่า “บุญ” อะไร
ถึงวาระจะบวชล่ะ นี่ก็อ่านมาตลอด นี่ละ คำว่า “สายบุญสายกรรม” มันเป็นที่แน่ใจเจ้าของ เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยจนว่ามันจะไปจริง ๆ ก็มีนะ ป่วยบางครั้งหนักมาก แต่สติยังดีอยู่เวลาเป็นไข้หนักนั่นล่ะ ตอนใกล้จะบวช พอหายป่วยแล้วก็ออกบวชปีนั้นล่ะ ป่วยหนักเสียด้วย จากนั้นมาประหวัดเกี่ยวกับเรื่องบวชหนักเข้านะ
‘เอ.. เราจะตายแล้วจริง ๆ เหรอ ? ยังไม่ได้บวชพอมีบุญติดเนื้อติดตัวเลยเหรอ ?’ เป็นคำนึกน้อมในใจว่า ‘ขอให้โรคนี้ หายโรคหายภัย ขอให้ได้บวช..’
แล้วมันก็แปลกนะ โรคนี้มันจะตายอยู่แล้วนะ มันก็หายวันหายคืน ทีนี้ออกมาบวชมันเหมือนกับว่ามีอะไรช่วยนี่ เวลาบวชก็ง่ายมาก ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคเลยเกี่ยวกับเรื่องการบวช อย่างอื่นขัดข้องหมด เกี่ยวกับเรื่องบวชโล่งไปเลย นี่อะไรน่าคิด...
เวลาบวชเราก็เป็นนิสัยอันนี้ด้วย จริงจังมาตลอด จะเป็นฆราวาสก็จริงตลอด เป็นพระมีหลักธรรมวินัยเป็นเครื่องประกัน เป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะแล้วมันก็ยิ่งแน่น แม่นยำ ติดแน่นกับหลักธรรมหลักวินัย
การอ่านหนังสือไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย การอ่านหนังสือนี้สำคัญมาก เราได้มานำพี่น้องทั้งหมดทุกวันนี้ เพราะหนังสือประวัติพระพุทธเจ้า และประวัติพุทธสาวก อ่านแล้วจิตหมุนติ้ว ปลุกจิตใจได้ถึงขนาดนี้.. นี่เรียนหนังสือไปเรียนไป เอะใจไปเรื่อย เรียนหนังสือธรรมะ เรียนไป ๆ เอะใจเรื่อย
‘เอ๊ะนี่.. ท่านตำหนิว่ายังงั้น เราก็เคยทำอย่างนั้นมาแล้ว เอ๊ะเรื่อย ๆ นะ ให้สะดุ้งเรื่อยไป’
ในเรื่องภาวนาไม่ละนะ นี่อันหนึ่งมันแปลกอยู่ เลื่อมใสพระกรรมฐาน เราอยู่เรียนหนังสือ ถ้าเห็นพระกรรมฐานมาพักในวัดเรานี่ เราจะไปถึงก่อนใครล่ะ ไปคุยกับท่าน ท่านคุยน่าฟังนะ ติดใจ ชอบกรรมฐาน ภาวนาก็ไม่ลดละ ภาวนาอยู่เงียบ ๆ ไม่ให้ใครรู้ ทำอยู่แบบนั้นละ ...
นี่อันหนึ่งฝังใจ ฝังนิสัย เรียนหนังสืออยู่กับพวกลิงพวกค่าง เขาไม่รู้ภาษีภาษาอะไร กิริยาท่าทางก็เป็นไปเหมือนเขา แต่ส่วนลึกในหัวใจเรานี้คือ เรื่องภาวนานี้ เราไม่ละ “ธรรม” เป็นหลักใจ ไม่ลดละ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีคำว่าล่วงเกินสิกขาบทวินัยด้วยเจตนาอันลามก...”
ลัก...ยิ้ม
21-12-2018, 23:19
คูหาสยัง หทยัง
“... จิตนั้นอยู่ตรงกลาง และอยู่ในหัวใจเป็นที่อันหนึ่งของจิต ท่านว่า คูหาสยัง หทยัง ในหัวใจมันอยู่ตรงกลาง ในเวลาจิตสงบ เริ่มจากสงบเข้าไป ๆ มันก็รู้อยู่ภายใน ๆ นี่ไม่ได้มารู้ข้างบนนะ มันเป็นอยู่ข้างในตรงกลาง ๆ นี้ จนกระทั่งถึงความสว่างไสว
ไม่ว่าขั้นของสมาธิที่สงบตัวก็อยู่ตรงนี้ ขั้นของปัญญาที่เบิกอะไรต่ออะไรออกก็สว่างไสวอยู่ภายในนี้ ละเอียดเข้าไปขนาดไหนก็อยู่ตรงกลาง ๆ ตลอดเลย ไม่ได้เคยปรากฏว่าอยู่บนสมอง นอกจากเรียน นั่นเห็นได้ชัด(เวลา)เรียน ว่าสมองทำงานจริง ๆ ภาคภาวนานี้ไม่มีขึ้นสมองเลย อยู่ตรงกลาง...”
ลัก...ยิ้ม
21-12-2018, 23:37
พระพุทธเจ้า ๓ ประเภท
“...อสงไขย แปลว่านับไม่ได้... ถ้าเราเทียบก็ไปยุติกันที่ล้าน ๆ ทุกวันนี้เอาล้านเป็นประมาณ พอไปถึงล้านก็หนึ่งล้าน สองล้าน สามล้านไปเลย อันนี้ไปถึงนั้นก็เรียกว่าหนึ่งอสงไขย สองอสงไขย สามอสงไขยไปเลย พระพุทธเจ้ามี ๓ ประเภท... ประเภทแรก ๑๖ อสงไขยแสนมหากัป ประเภทสอง ๘ อสงไขยแสนมหากัป ประเภทสาม ๔ อสงไขยแสนมหากัป
พระพุทธเจ้ามี ๓ ประเภท ความตรัสรู้เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์เสมอกันหมด แต่อำนาจวาสนาบุญญาธิสมภารของพระพุทธเจ้าเป็นไปตามประเภท ประเภทที่หนึ่ง การแนะนำสั่งสอนสัตว์โลกนี้ได้กว้างขวางมากมายทีเดียว ประเภทที่สองก็ลดลงมา พระพุทธเจ้าเรานี้เป็นประเภทที่สาม ขนสัตว์โลกให้พ้นจากกองทุกข์ได้น้อยกว่าสองประเภทเบื้องต้น ...
พระพุทธเจ้าองค์ที่ล่วงมาแล้วจำนวนนับไม่ถ้วนก็มีแบบเดียวกัน ตรัสรู้ธรรมแบบเดียวกัน รู้เห็นธรรมแบบเดียวกัน จึงสอนโลกแบบเดียวกัน ไม่มีศาสดาองค์ใดแหวกแนวที่จะตรัสรู้ต่างกัน และรู้เห็นความจริงทั้งหลายแตกต่างกัน .. ทรงรู้ตามสิ่งนั้น ๆ แบบเดียวกัน การแนะนำสั่งสอนอบรมให้บำเพ็ญคุณงามความดีเพื่อเป็นกำลังปราบปรามความชั่ว หรือโรคร้ายทั้งหลายที่มีอยู่ในจิต ก็ทรงสั่งสอนแบบเดียวกัน ...
ที่ต่างกันพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไว้แล้ว เช่น บางองค์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปีบ้าง ๖๐,๐๐๐ ปีบ้าง พระพุทธเจ้าของเรามีอายุ ๘๐ ปี การลงอุโบสถสังฆกรรมของพระสงฆ์ นับเวลาตั้ง ๗ ปีถึงประชุมสงฆ์ลงอุโบสถสวดปาฏิโมกข์เสียหนหนึ่ง พระพุทธเจ้าบางพระองค์ก็ ๑ ปีหรือ ๖ เดือน ถึงจะลงอุโบสถหนหนึ่ง พระสงฆ์ก็กลมเกลียวกันดี ไม่มีแตกร้าว ไม่มีอธิกรณ์อะไรเกิดขึ้น สำหรับพระพุทธเจ้าของเรา ๑๕ วันลงอุโบสถ คือการประชุมสวดปาฏิโมกข์ท่ามกลางสงฆ์หนหนึ่งเรื่อยมา ... อานุภาพแห่งพระพุทธเจ้ามีแตกต่างกันอยู่บ้างท่านก็แสดงไว้ .. นอกนั้นเหมือนกันหมด
สัพพปาปัสสะ อกรณัง การไม่กระทำบาปทั้งปวงหนึ่ง กุสลัสสูปสัมปทา การยังกุศลคือความฉลาดให้ถึงพร้อมหนึ่ง สจิตตปริโยทปนัง การยังจิตของตนให้ผ่องใสจนกระทั่งถึงความบริสุทธิ์หนึ่ง เอตัง พุทธาน สาสนัง นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านสอนอย่างนี้เหมือนกันหมด จากนั้นท่านก็ขยายความออกไปว่า อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกเข จ สังวโร ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำลายผู้อื่น สำรวมในปาฏิโมกข์ มัตตัญญุตา จ ภัตตัสมิง รู้จักประมาณในการขบการฉัน ปันตัญจะ สยนาสนัง ให้แสวงหาอยู่ในสถานที่วิเวกสงัด เอตัง พุทธานะ สาสนัง อีกเหมือนกัน นี่ก็เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อธิจิตเต จ อาโยโค การกระทำจิตให้ยิ่ง นี่ก็เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ไม่มีอะไรผิดแปลกกันเลย บาปบุญ นรกสวรรค์ พรหมโลก นิพพาน เหล่านี้ ท่านสอนแบบเดียวกันหมด...
ลัก...ยิ้ม
22-12-2018, 22:10
เป็นพระอรหันต์น้อย ๆ แล้ว ??
“... ผู้บำเพ็ญธรรมจะรู้วิถีจิตของตน เวลาลำบาก ๆ ล้มลุกคลุกคลาน ถึงกาลเวลาที่มันค่อยเป็นค่อยไป มันค่อยเป็นค่อยไปของมัน ต่อจากนั้นก็หมุนไปเองเลย หมุนไปเอง ๆ เริ่มเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ จากนั้นก็สติปัญญาอัตโนมัติ ความเพียรโดยลำพังตัวเองนี้เต็มตัว ๆ อยู่ที่ไหนไม่ขาดเลย ตื่นขึ้นมาปั๊บความเพียรเป็นแล้ว ๆ จนก้าวเข้ามาสู่มหาสติมหาปัญญา กิเลสมองแทบไม่เห็นนะ ถึงขั้นมหาสติมหาปัญญานี้มองดูกิเลสทั้ง ๆ ที่มีอยู่เหมือนไม่มีนะ เพราะอำนาจของมหาสติมหาปัญญารุนแรงมาก โผล่ไม่ได้...ขาดสะบั้นเลย
นั่นเห็นไหม ?...เวลาธรรมมีกำลัง กิเลสโผล่ไม่ได้ ขาดสะบั้นไปเลย แต่เวลากิเลสมีกำลัง.. สติตั้งขึ้นมาปั๊บก็ล้มผล็อยขาดสะบั้น เข้าใจไหม ? สติปัญญาขาดสะบั้น กระแสกิเลสฟาดเอาขาดสะบั้น ทีนี้พอเราฝึกซ้อมจิตใจของเราให้สติดี ความเพียรดีแล้ว เข้าไปถึงขั้นสติปัญญาอัตโนมัติแล้ว กิเลสก็ขาดสะบั้น มันแก้กันอย่างนั้น เห็นอยู่ในหัวใจของเรา ยิ่งเป็นมหาสติมหาปัญญาด้วยแล้ว กิเลสมองดูแทบไม่มีนะ มันว่างไปหมด...แทบไม่มี แต่ดีที่ไม่เคยสำคัญตนว่าได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่กิเลสส่วนละเอียดยังมีอยู่ ไม่เคยสำคัญ ถ้ามีอยู่ละเอียดก็ยอมรับว่ามี ๆ อยู่อย่างนั้น
บางทีถึงได้คิดขึ้นมาว่า หือ.. มันเป็นยังไงกิเลส มันม้วนเสื่อไปหมดแล้วเหรอ ! ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์น้อย ๆ ขึ้นมาแล้วเหรอ ! ว่าเฉย ๆ แต่ยังไม่ได้สำคัญตนว่าเป็นอรหันต์น้อย เพราะตอนนั้นมันว่าง.. กิเลสไม่โผล่ อำนาจของสติปัญญามันรุนแรง จากนั้นพอกิเลสขาดสะบั้นลงไปจริง ๆ แล้ว สันทิฏฐิโก ขั้นสุดยอดมาพร้อมกันเลย ทีนี้อรหันต์น้อยอรหันต์ใหญ่ไม่ถามถึงเลย อรหันต์น้อยก็ไม่มี อรหันต์ใหญ่ก็ไม่มี มีแต่สันทิฏฐิโกขั้นสุดยอดในจิต นั่นละ..บริสุทธิ์แล้วเป็นธรรมธาตุ ผางขึ้นมาทีเดียวหมดเลย
จากนั้นแล้วไม่ได้รบละ จะรบกับกิเลสตัวไหน เป็นสัญญาอารมณ์กับอะไรบ้าง คือธรรมดาจิตนี้จะมีข้าศึกเต็มตัวอยู่ตลอดเวลา จะหมุนของมันอยู่นั้นละ หมุนอยู่นี้คืออะไร ? คือสมุทัย อวิชชา ปัจจยา มันหมุนมันดันออกมาให้คิดเป็นสังขารสัญญาอารมณ์ไปเรื่อย ๆ ทีนี้พอดีเข้าไป ๆ จนกระทั่งกำลังวังชาของอวิชชาอ่อนลง ๆ สัญญาอารมณ์ที่หลอกลวงเบาเข้าไป ๆ แทบไม่มี ๆ สุดท้ายก็ไปมีอยู่ที่จิต มีก็มีอย่างเบาบางที่สุด ทีนี้พอ สันทิฏฐิโก ขั้นสุดท้ายโผล่ขึ้นมาเท่านั้นละ เหล่านี้ขาดสะบั้นไปหมด จากนั้นมาแล้วไม่มีอะไรกวนใจ เห็นได้ชัดเจนว่า โอ๊ะ.. โลกอันนี้วุ่นเพราะกิเลส มีกิเลสเท่านั้นเป็นตัวยุ่ง พอกิเลสขาดจากใจแล้วไม่มีอะไรยุ่งเลย
พระอรหันต์ท่านไม่ยุ่ง.. หมด ที่ท่านแสดงไว้ว่า วุสิตัง พรัหมจริยัง กตัง กรณียัง นาปรัง อิตถัตตายาติ พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว กิจอื่นที่จะทำให้ยิ่งกว่านี้ไม่มี ก็คืองานอันใหญ่หลวง งานวัฏวนงานวัฏจักรคืองานฆ่ากิเลส เมื่อกิเลสได้ขาดสะบั้นลงไปแล้วเรียกว่างานอันใหญ่หลวงนี้เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว นี้เป็นงานที่ควรทำ เป็นงานที่ควรชำระให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย กตัง กรณียัง กิจที่ควรทำก็คือการถอดถอนกิเลสได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว กิจอื่นที่ยิ่งกว่านี้ไม่มี กิจสำคัญก็คือกิจถอดถอนกิเลส ตั้งแต่นั้นมากิเลสไม่มี
พระอรหันต์ไม่มีกิเลสตัวใดที่จะมาแทรก ตั้งแต่ที่ขาดสะบั้นลงไป เป็นอกุปธรรมทันทีทันใด แล้วก็ไม่มีข้าศึกอีกเลย อดีต.. อนาคต.. ลบหมด อดีตที่เคยเป็นมาให้วิตกวิจารณ์ ดีใจเสียใจเพราะความเป็นมาของตัวเองก็ไม่มี แล้วข้างหน้าเราจะไปเกิดในภพใดชาติใด จะไปได้รับความทุกข์ความทรมานในนรกหลุมไหน ๆ หรือจะไปสวรรค์ชั้นพรหม.. หมด ขาดสะบั้นไปหมด ปัจจุบันก็รู้เท่าหมดแล้วจ้าไป นั่นเรียกว่าสมมุติหมด อดีตอนาคตปัจจุบันเป็นสมมุติทั้งมวลขาดสะบั้นลงไป ท่านทรงแต่บรมสุข.. ที่เรียกว่านิพพานเที่ยง เที่ยงอยู่ที่ใจซึ่งหมดสิ่งรบกวนคือกิเลส ไม่มีอะไรเหลือแล้ว นั่นละนิพพานเที่ยงอยู่ที่ใจของผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ใครขี้เกียจขี้คร้านแล้วแบกแต่กองทุกข์ ผู้ใดมีความขยันหมั่นเพียร ไม่หยุดไม่ถอยจะมีวันเบาบางไปเรื่อย ๆ นะ...”
ลัก...ยิ้ม
23-12-2018, 13:27
สนทนาธรรมจนลืมเวลา
องค์หลวงตาเมตตาเล่าถึงการสนทนาธรรมกับท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ที่สร้างความรื่นเริงในธรรมถึงกับลืมเวล่ำเวลาดังนี้
“... ศาลาหลังเล็ก ๆ มาสร้างวัดที่แรก ศาลาหลังเล็ก ๆ ท่านสิงห์ทองก็มาด้วยกันนี่แหละ มาสร้างวัดด้วยกันที่แรก ทีนี้ท่านสิงห์ทองก็ลาไปเที่ยว ไปเที่ยวกลับมา กลับมาแล้วก็มานั่งศาลาเล็กหลังนั้นละ คุยกันกับท่านสิงห์ทอง นี่เรียกว่ามันเพลิน ลืมตัวนะ สององค์เท่านั้นละ
สองทุ่มเราลงมาศาลานี้ ท่านสิงห์ทองก็มาคุยกันตั้งแต่สองทุ่ม ฟาดเสียตีสี่..นานไหม ? มันเพลินอะไรก็ไม่รู้ พูดถึงเรื่องภูเขา พูดถึงเรื่องจิตตภาวนา มันเพลินเอา ตอนนี้ละตอนภาวนา ท่านสิงห์ทองก็เล่าเรื่องของท่านให้ฟัง สิ่งใดที่รับกันมันก็ออกรับกัน ๆ เรื่อยจนเพลินนะ ตั้งแต่สองทุ่มจนกระทั่งตีสี่ นานหรือไม่นาน นี่ละว่าเพลิน เพลินอย่างนี้ละธรรม ลืมเวล่ำเวลา จนกระทั่งมันจะรู้สึกอะไรของมัน มาดู
‘เอ้า.. มันดึกแล้วนี่นะ’ มาดูนาฬิกา ‘โอ๊ย..นี่มันตีสี่แล้วนะ เอา.. เลิก ๆ’
ลุกเลยนะ พอว่าตีสี่มันจะสว่างแล้วนี่ เดือนมิถุนายนพอดี ตีห้ามันสว่างแล้ว นี่มันตีสี่มันจะสว่างแล้วนี่นะ เลิกกันก็ลุกเลย เราก็ไป ทีนี้ไปแล้วมันอะไรก็ไม่รู้นะ พอไปถึงกุฏิเรามันหลังเล็ก ๆ นี่ เข้าไปแล้วเอาย่ามวางปุ๊บแล้วดัดเส้นเสียก่อน จะไม่นอนนั่นแหละก็มันเลยเวลาแล้ว ดัดเส้นแล้วถึงจะลงไปเดินจงกรม เราว่างั้นนะ คิดเอาไว้เรียบร้อย แล้วก็มาแผ่สองสลึง ฟาดเสียมันเต็มบาทเลย แผ่สองสลึงแผ่เลยทีเดียว.. หลับ
จนกระทั่งท่านสิงห์ทองไปบิณฑบาตในบ้านกลับมา มาสะกิดนิ้วเท้าเราตอนเราหลับเพลินอยู่ ท่านสิงห์ทองท่านไม่นอน ท่านไปบิณฑบาตกลับมา ถึงเวลาแล้วมาสะกิดเรา เรายังหลับครอก ๆ ‘เอ้า.. พอบิณฑบาตแล้วหรือ ?’
‘พอบิณฑบาตที่ไหน บิณฑบาตมาแล้ว’
‘หือ’ นั่นเห็นไหมบทเวลามันเพลิน เพลินทั้งสองอย่าง เพลินคุยธรรมะกัน เวลาเพลินเราก็ไม่รู้ จนกระทั่งท่านสิงห์ทองไปบิณฑบาต ท่านสิงห์ทองไม่นอน บิณฑบาตกลับมาก็ไปสะกิดเท้าเรา คึกคักตื่นมา เอ้า.. พอบิณฑบาตแล้วหรือ ? พออะไร ไปบิณฑบาตกลับมาแล้วอย่างนั้นก็มี มันเพลินแบบไหน นั่นฟังซิ..”
ลัก...ยิ้ม
24-12-2018, 21:14
จิตตมัคโค
“... จิตตมัคโค คือ ทางเดินของจิตที่จะรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ มันเหมือนกับทางเดินด้วยเท้าของเรา เราเดินด้วยเท้า เดินไปที่ไหนที่อยู่ ๒ ฟากทางมองเห็นหมด เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทีนี้ทางเดินของจิต จิตก้าวเดินไปตามวิถีของธรรม เดินไปไหนสิ่งที่เป็นวิสัยของจิตซึ่งเป็นทางของจิตโดยแท้แล้ว มันจะเห็นบาป บุญ นรก สวรรค์ เปรต ผี อสุรกาย อะไรมันจะเห็น ๆ ของมัน...”
ลัก...ยิ้ม
05-10-2019, 12:10
ต่อสู้กิเลส.. ทุกข์แสนสาหัส
ความซาบซึ้งและเห็นคุณค่าในธรรมดังกล่าวนี้ ทำให้ท่านสมัครใจที่จะเผชิญกับความทุกข์จากความเพียร.. ฝึกฝนจิตอย่างหนัก ดังที่ที่ท่านเคยกล่าวไว้อย่างเด็ดว่า
“... ทุกข์ใด ๆ ที่โลกว่ากันว่าทุกข์หนักหนานั้น เราก็เคยผ่านโลกเห็นโลกมาก่อนพอสมควรถึง ๒๐ ปีเต็ม บางงานก็เหมือนกับว่าจะเหลือกำลังคือหนักมาก แต่เมื่อเทียบแล้วไม่มีงานใดที่จะหนักมากและทุกข์ยากลำบากยิ่งกว่างานต่อสู้กับกิเลส เพราะงานเหล่านั้นแม้จะหนักมากเพียงใด ก็ไม่เคยถึงขนาดสละชีวิตจิตใจกับงานนั้น แต่สำหรับงานฆ่ากิเลสนี้ ต้องยอมสละเป็นพื้นฐานเรื่อย ๆ เลย...”
ตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่งของท่านก็คือ การตื่นนอน ท่านก็ยังอุตส่าห์ฝึกหัดดัดนิสัยกันเสียใหม่อย่างเข้มแข็งจริงจัง ดังนี้
“... พอรู้สึกจะดีดผึงเลย ตั้งแต่เรียนหนังสือไม่เคยที่จะลุกขึ้นมาธรรมดา เพราะความตั้งใจ ความฟิตตัวเอง เป็นจริงเป็นจังกับตัวเอง พอตื่นนี้..ดีดผึง ๆ ถ้ามีเพื่อนนอนอยู่ข้างด้วยนะ หมู่เพื่อนจะตื่นเพราะความสะดุ้งเวลาลุกตื่นนอน เรียนหนังสือก็เป็นแบบนั้น ตั้งแต่เป็นนาคเข้าเรียนก็เป็นแบบนั้นเรื่อยมา ฝึกเสียจนชินเป็นนิสัย...
ทีนี้ยิ่งออกปฏิบัติด้วยแล้วยิ่งเก่ง แล้วไม่เคยนอนซ้ำอีกนะ ถ้าลงได้ดีดผึงไปแล้วเท่านั้น เว้นแต่วันถ่ายท้องไม่ได้หลับไม่ได้นอน นั่นเราก็ยกเว้นให้เฉพาะ ไม่ให้ลุกลาม... มันถ่ายท้องก็ลุกขึ้นไปถ่าย แล้วก็กลับเข้ามานอน อย่างนี้เรายกให้ เป็นกรณีอย่างนี้ นอกจากนั้นเป็นไปไม่ได้เด็ดขาดนะ..ว่างั้นเลย ทีนี้เมื่อทำตลอดตั้งแต่บวชมาจนกระทั่งออกปฏิบัติจนมันชินต่อนิสัย ไม่ต้องตั้งใจลุกอะไรนะ พอรู้สึกนั้นมันจะดีดผึงทันที
จนกระทั่งพรรษา ๑๘ เราไม่ลืมนะ ที่เราฝึกหัดนิสัยใหม่ เพราะมันเป็นนิสัยแล้วแก้ไม่ตกง่าย ๆ นะ ... เวลาภาวนาเราเคยเสียใจให้เราอยู่ นั่งไป..หลับ พอตื่นขึ้นมามันหลับอยู่กับหมอนใบหนึ่ง โอ้..ตายนี่วะ ลุกคึกคักขึ้นเลย ออกเดินจงกรมเลย ไม่ยอมนอน ตั้งแต่ตอนนั้นไม่นอนเลย เอาจนตลอดสว่าง คือดัดกัน ...
พรรษาที่ ๑๗ ล่วงไปแล้ว เราก็มาแก้นิสัยใหม่ คือการตื่นนอนแบบนั้นก็ถูกต้องแบบหนึ่ง เพราะอยู่ในเวลาเร่งความพากความเพียร... ให้ตื่นเนื้อตื่นตัวตลอดเวลา ก็ยอมรับว่าถูกต้อง
แต่เวลานี้ควรจะต้องพักผ่อนธาตุขันธ์พอประมาณ ต่อไปนี้กำหนดสอนเจ้าของ รำพึงในเจ้าของ แล้วเวลาการตื่นนอนก็ควรจะให้รู้ทิศใต้ทิศเหนือที่นั่นที่นี่ แล้วค่อยลุกขึ้นมาธรรมดาด้วยความมีสติธรรมดา ต้องการอย่างนี้ ทีนี้เราจะฝึกให้มันพอรู้สึกตัวแล้วมองรู้ทิศทางแล้ว..ลุกขึ้นธรรมดาเรียบ ๆ ไม่ให้ตื่นปึ๋งปั๋งอย่างนั้น พยายามฝึก... เราก็พยายามฝึกมาร่วมปี.. ให้รู้สึกตัวแล้วลุกขึ้นมาธรรมดา ฝึกอยู่ร่วมปีจึงเปลี่ยนได้...”
ท่านกล่าวถึงจุดนี้ ทำให้เราทราบชัดเจนว่า คนเรานี้ดีได้ด้วยการฝึก ฝึกหัดเช่นไรย่อมเป็นไปเช่นนั้น จะให้อยู่เฉย ๆ แล้วดีขึ้นมาเองย่อมเป็นไปไม่ได้
ท่านยังเล่าถึงความยากลำบากในการต่อสู้กับกิเลส ถึงขนาดต้องยอมเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิตของตน เพื่อแลกกับธรรมอันสุดประเสริฐ ดังนี้
“... เมื่อถึงคลื่นที่จะฟัดกับกิเลสอย่างเต็มเหนี่ยวแล้ว ชีวิตนี้ไม่มีความหมายเลย เรียกว่าตายก็ยอมตาย เสียสละเอาชีวิตเข้าแลกเลย เพราะกิเลสถ้ามันไม่เก่งจริง ๆ แล้ว มันคงไม่สามารถครองหัวใจสัตว์โลกได้ตลอดมาทุกภพทุกชาติเช่นนี้ ครั้นพอจะต่อกรกับมัน ก็เลยต้องฟัดกันให้เต็มเหนี่ยว เรียกว่าทุกข์แสนสาหัส..
นี่ถึงกล้าพูดออกมาได้ เรากับกิเลสนี้มันผูกขึ้นมานะ เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอะไรแหละ มันเอาเรื่องที่เคยต่อสู้กันถึงพริกถึงขิง ถึงเป็นถึงตายมานั่นแหละ กิเลสกับเรานี้ไม่ทราบเป็นยังไง มันเป็นข้าศึกต่อกันอย่างยิ่ง สมมุติว่านั่งฉันจังหันอยู่นี้ว่ากองทัพกิเลสมาแล้ว.. ไหนทีเดียว บาตรนี้ทิ้งตูมเลย.. ใส่กันเปรี้ยงไม่มีคำว่ายกครู
‘เอ้า.. กิเลสตายแล้วถึงจะกลับมาฉันจังหันอีกทีหนึ่ง ถ้าเราตายแล้วก็ไม่ต้องมาฉัน ไม่ต้องมายุ่งมัน ให้กิเลสเผาศพไปเลย คำว่าถอยไม่มี’
เพราะมันเคียดแค้นถ้าพูดถึงความเคียดแค้นแบบโลก ๆ นะ นี่เรายกเอามาพูดให้เป็นข้อเปรียบเทียบกับโลกสมมุติที่มีว่าเคียดแค้น มันถึงใจถึงขนาดนั้นนะ
รอไม่ได้เลย คำข้าวยังคาปากอยู่ก็ทั้งต่อยทั้งเคี้ยว หรือมันลืมเคี้ยวก็ไม่รู้แหละ เอากันเลย ปึ๋งเลยเทียว รอไม่ได้...”
ท่านเคยเปรียบ... ความทุกข์ยากลำบากในการต่อสู้กับกิเลสกับการติดคุกติดตะรางไว้ดังนี้
“... ตั้งแต่บัดนั้น .. ขึ้นเวทีไม่มีการให้น้ำ ถ้าว่าให้น้ำก็ให้เวลาหลับ นอกนั้นไม่มี กรรมการไม่ต้อง ไม่มีกรรมการแยก มันจะตายช้าไป ใครเก่งให้อยู่บนเวที ใครไม่เก่งให้ตกเวที ระหว่างกิเลสกับธรรมฟัดกันบนหัวใจเรา เอ้า.. ใครเก่งให้อยู่บนเวที ใครไม่เก่ง เอ้า..ให้ตกเวที ... ติดคุกติดตะรางนี้ เราสมัครเลยนะ
ความทุกข์ยากลำบากในการประกอบความพากเพียร เราหนักมากขนาดนั้น เขาว่าติดคุกติดตะรางนี้เป็นความทุกข์ความลำบาก เราจะสมัครไปติดคุกติดตะราง เพราะติดคุกติดตะรางกินข้าววันละ ๓ มื้อ จักตอกเหลาตอกได้วันละ ๕ เส้น ฆ่าเวลาไปวันหนึ่ง ๆ พอได้ถึงวันออก แต่ส่วนเราถ้ากิเลสไม่พังจากหัวใจเมื่อไร.. ไม่มีวันออก ต้องเอากันจนเป็นจนตาย มันก็หนักมากละซิ...”
ลัก...ยิ้ม
29-01-2020, 16:01
๘ เดือนกับนางงามจักรวาลอวิชชา ๓ เดือนกับการแก้ปัญหาธรรม
ย้อนมากล่าวถึงปัญหาธรรม “ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ” ที่เกิดขึ้นที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ท่านกอดปัญหานี้ไว้นาน ๓ เดือน หลังออกจากวัดดอยธรรมเจดีย์เพื่อไปร่วมงานทำบุญ ๑๐๐ วันหลวงปู่มั่นแล้ว ออกวิเวกไปทางรอยต่อจังหวัดอุดรธานีและหนองคาย และในที่สุดก็วกกลับมาที่วัดดอยธรรมเจดีย์ จึงสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยองค์ท่านเอง ดังนี้
“... เวลามันผ่านไปแล้วจึงมารู้นะ มีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้ คือจุดของดวงไฟอยู่กลางตะเกียงเจ้าพายุ..เข้าใจไหม ? นี่ละ..เรียกว่าจุดความสว่างไสว นี้ก็เป็นจุด นี้ก็เป็นสมมุติ นี้คือตัวภพตัวชาติ อยู่จุดนี้นะ ความหมายว่างั้น ธรรมที่บอก แต่เรามันจับไม่ได้ ‘โอ้โหย.. ทำไมเป็นอย่างนี้’
เลยงงไปอีก จะจับเอาจุดนั้นไม่จับ พูดแล้วคิดถึงพ่อแม่ครูอาจารย์ โอ๋ย.. ถ้าหากว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ยังมีชีวิตอยู่ คือตอนนั้นท่านล่วงไปใหม่ ๆ เผาศพท่านเรียบร้อยแล้วก็ขึ้นวัดดอยธรรมเจดีย์ ๓ เดือน จิตของเรามันก็เป็นของมันอยู่แล้ว แต่ระยะนั้นขึ้นไปที่สงัดมันยิ่งเพิ่มเข้าไป ทุกสิ่งทุกอย่างมันจ้าไปหมด ทีนี้มันก็เกิดอันนี้ขึ้นมา
นี่ถ้าหากว่าพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นยังอยู่ เราก็จะไปกราบเรียนท่านว่า จิตของเราสว่างไสวอย่างนั้น ๆ แล้วธรรมหรืออะไรก็ไม่ทราบมาเตือนเรา จุดกับต่อมมันเป็นไวพจน์ของกันใช้แทนกันได้ จุดก็จุดความสว่างนี้ สว่างของจิตนี้เหมือนกับไส้ตะเกียงเจ้าพายุนั่นแหละ คำว่าต่อมคืออันนี้ จุดก็คืออันนี้เอง ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน คือมีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้ ผู้รู้ก็คือตัวนี้แหละ คือตัวสว่างที่มันครอบผู้รู้นี้เอาไว้นะ ความสว่างนี้มันเป็นอีกอันหนึ่ง เพราะฉะนั้น..มันถึงพังลงได้ซิ ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้ ผู้รู้คือใจนี้ อยู่ที่ไหนนั้นแลคือตัวภพ นี่ภพชาติอยู่จุดนี้ พอว่าอย่างนั้น.. เรางง ถ้าหากว่าเราจับได้ปุ๊บ.. ว่าจุดต่อมคืออันนี้เอง ก็จะไป (สำเร็จ) เดี๋ยวนั้นเลยนะ
ถ้าไปเล่าให้พ่อแม่ครูอาจารย์ฟังอย่างนี้ ท่านจะใส่ทันทีเลยนะว่า ‘ก็จุดนั้นแล ก็ตัวสว่างนั่นแหละ คือตัวจุดตัวต่อม ตัวภพตัวชาติ นั่นแหละตัวภัย’
ใส่ทีเดียวผางเลยนะ จะสำเร็จในเวลานั้นเลย พูดให้มันตรงเลยเพราะมันจวนเต็มเหนี่ยวแล้วนี่ เราก็ไปติดตรงนั้น ถ้าท่านตีตรงนั้นออกแตกกระจายมันก็ผึงเลย อันนี้ไปงงเป็นบ้า เสียเท่าไร ๓ เดือนเราไม่ลืมนะ จากวัดดอยธรรมเจดีย์นี้ เขาก็นิมนต์ลงไปงานร้อยวันของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น เราก็ต้องได้ลงไปเพราะเคารพมาก เขานิมนต์ลงไปในงานร้อยวัน เราก็ต้องลงไปสกลนครไปงานร้อยวันท่าน
ออกจากนั้นแล้วบึ่งเลย หนีเลยไม่ขึ้นมาวัดดอยอีก ฟาดไปทางอำเภอบ้านผือ อำเภอศรีเชียงใหม่ไปนู้น ถึงกลับมาอีกเป็นเวลา ๓ เดือน จากจุดต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหนเป็นเวลา ๓ เดือน จากนี้ไปกลับมาก็มาปลงกันที่นี่อีกนะ ขึ้นมาอีกวัดดอยที่เก่านั่นแหละ ที่ว่าวันที่ ๑๕ นั่น นี่เป็นครั้งที่ ๒ ครั้งสุดท้ายของมันที่มาพังกันได้
พออันนี้พังลงไปแล้ว ‘โอ้โห.. เอาอีกนะ โอ๊ย.. ที่แสดงก็แสดงอย่างถูกต้อง ทำไมมันโง่เอานักหนานะ ทีนี้เวลามันเปิดก็เปิดจุดนั้นเอง ที่ว่ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ไหน คือจุดต่อมแห่งผู้รู้นั้นพังลงไปหมดแล้ว ผู้รู้จริง ๆ แล้วจ้าหมดเลย’
ทีนี้ความสว่างไสวที่ว่าอัศจรรย์นั้น มันกลายเป็นกองขี้ควายไป ฟังซิน่ะ กองขี้ควายมันดีอะไร ?
นี่ที่เราเห็นว่า กองขี้ควายเป็นทองคำทั้งแท่งคือจุดคือต่อมนี้เอง เราไม่รู้..ธรรมท่านเตือนขึ้นมาจะหลงอันนี้ เวลามันไปพังกันได้แล้ว ไอ้ที่ว่าความสว่างไสวนี้มันกลายเป็นกองขึ้ควายไปนะ ธรรมธาตุที่ถูกความสว่างครอบอันนี้คืออะไร ? นั่นละอันนั้น พออันนี้เปิดจ้า อันนี้พังลงไปแล้ว อันนั้นจ้าขึ้นมา โอ้โห.. ทีนี้พูดไม่ได้ จึงว่าฟ้าดินถล่มว่างั้นเถอะ ไอ้สว่างไสวมาก ๆ นี้กลายเป็นกองขี้ควายไปอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ทีเดียว โถ.. เป็นอย่างนี้นะ จึงได้ โถ.. อวิชชาขนาดนี้เทียวนา ๆ นี่อวิชชา
ลัก...ยิ้ม
30-01-2020, 14:13
ใครอย่าไปคาดอวิชชาว่าเป็นเสือโคร่ง เสือดาว เป็นยักษ์ เป็นผี เวลาไปเจอเข้าแล้วเป็นอย่างนี้ละ.. อวิชชา เป็นนางงามจักรวาล ใครก็ตามถ้าไม่มีใครสอนไปแล้วติดว่างั้นเลย เราพูดอย่างมั่นใจเราติดมาแล้ว พออันนี้พังไปเท่านั้น ธรรมชาติของตัวเองโดยหลักธรรมชาติแท้คือ จิตที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้วเปิดออกหมดแล้วเต็มเหนี่ยว นี่ละที่เข้ากันไม่ได้กับกองขี้ควายอันนี้ซึ่งเป็นเครื่องหลอกของอวิชชา นี่ละ..อวิชชาแท้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่อะไรเป็นอวิชชา
อย่าไปคาด อวิชชาเป็นเสือโคร่ง เสือเหลือง เสือดาว เป็นยักษ์เป็นผี คาดไม่ถูก เวลาเข้าไปเจอจริง ๆ แล้ว โอ๋ย.. นางงามจักรวาลกล่อมหลับหมด อย่างนี้ยิ่งหลับง่าย ว่าแก่นี้ไม่แก่นี้ ให้เห็นหญิงสาวลองดู.. หลง เมียเจ้าของนั่งอยู่ข้างหลังมันเห็นเมื่อไร นี่ถ้าเห็นตัวนี้แล้วลืมบ้าไปเลย เข้าใจไหม เตือนไว้อย่าเป็นบ้านะ เฒ่าแก่แล้วหัวก็ล้านด้วย เดี๋ยวจะไม่มีผมนะ มันต้องซัดกันอย่างนี้ นี่ละเข้าใจไหม อวิชชามันหลอกให้คนลืมตัว หัวล้านไม่ว่าล้าน เห็นสาวนี้วุ่นเลยนะ นี่มันหลอกเอาอวิชชา เข้าใจไหม นี่เราพูดถึงเรื่องอัศจรรย์นะ พออันนี้พังลงไปแล้วพูดไม่ได้เลยว่างั้นเถอะ จนถึงขนาดที่ว่าออกอุทานเลย.. ‘โอ้โห..ขนาดนี้เทียวเหรอ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อย่างนี้ละเหรอ ๆ’ เห็นไหมมันซ้ำนะ ซ้ำด้วยความถึงใจนะ
ก็เราไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ยังไง เวลามันผางขึ้นมานี้ ขึ้นอุทานทันที กองขี้ควายพังลงไปแล้ว อันนี้จ้าขึ้นมานี้.. อย่างนี้เหรอ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อย่างนี้ละเหรอ ๆ นู่นขึ้นเองนะ เราไม่ได้วัดรอยมัน มันเป็นของมันเองเข้าใจไหม กระเทือนไปหมดเลย หือ.. ธรรมแท้เป็นอย่างนี้ละเหรอ ๆ พระสงฆ์แท้เป็นอย่างนี้ละเหรอ คืออันเดียวกันนี้ ทีนี้ก็ประมวลมา เหอ.. พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นั้น กลายมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างไร คือมันเป็นแล้วเข้าใจไหม นี่เรียกว่ามหาสมุทร นี่เป็นแม่น้ำมหาสมุทรแล้ว ถ้าเป็นธรรมธาตุก็เป็นธรรมธาตุเหมือนกันแล้ว ไม่มีคำว่า พุทธ ธรรม สงฆ์ รวมเข้าไปเป็นอันเดียวกันแล้วเลิศอยู่ในนั้นหมด อ๋อ.. อย่างนี้เอง
นี่พูดถึงเรื่องความสว่างของจิตมันเป็นขั้นเป็นตอนนะ เราเทศน์ลำดับของจิตของความว่าง เราก็พูดให้ฟังจนกระทั่งถึงนี่ได้พูดถึงสุดยอดเลย สุดขีด เราพูดเลยนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ความสามารถเราไม่มี เราก็ไม่สนใจกับความสามารถอันใดที่จะเหนือไปอีกด้วยนะ เราไม่เคยสนใจ ..
ลัก...ยิ้ม
01-02-2020, 21:49
ที่พูดถึงเรื่องความสว่างไสวของจิตจนตัวเองก็อัศจรรย์ตัวเอง ที่มันเป็นกิเลสอยู่นั่นแต่เจ้าของไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่เราจะให้พ้นจากกิเลส แต่เวลาไปเจอกิเลส.. ตัวสง่าผ่าเผย ตัวผ่องใสนี้เข้าไปแล้วติดเลยเทียว ไม่มีใครมายอก็เจ้าของยอเจ้าของเอง
‘โอ้โห..จิตเรานี้ทำไมมันถึงสว่างไสวเอานักหนานา โถ.. อัศจรรย์’
กำหนดทดลองดูสิ่งไหน ๆ ก็ไม่เหมือนมัน มองดูที่ไหนมันไม่เหมือนอันนี้ อันนี้มันสว่างจ้า ทำไมจิตใจจึงสว่างไสว อัศจรรย์ถึงขนาดนี้เชียวนา ๆ
นี่ละ..ท่านทั้งหลาย..รู้ไหมว่า เครื่องกล่อมกิเลสกษัตริย์วัฏจักรของกิเลสทั้งหลายคือ อวิชชา.. วิชชาสุดยอดของอวิชชามันกล่อมใจ ถึงขนาดผู้ปฏิบัติธรรมขั้นนี้ ไม่ใช่ขั้นธรรมดานะ อย่างน้อยสติปัญญาอัตโนมัติหมุนตัวไปด้วยความรอบคอบตลอดเวลา แล้วเชื่อมโยงกันกับมหาสติมหาปัญญา ซึบซาบไปด้วยความรอบคอบ เหตุใดจึงมาติดความสว่างอย่างนี้ซึ่งเป็นเหยื่อของอวิชชา ฟังให้ดีนะ..นี่ละเหยื่อของอวิชชาที่กล่อมสัตว์โลกดังที่เคยพูด
ใครอย่าไปวาดภาพหนา วาดภาพอวิชชาเหมือนเสือโคร่งเสือดาว อย่านะ..ผิดทั้งเพ เวลาเจออวิชชาเข้าไปก็คือตัวนี้เอง ยอตัวเอง โถ.. จิตเราทำไมสว่างไสวเอานักหนา อัศจรรย์นักหนา นี่..เห็นไหม..มันเป็นให้ยอเอง คือมันอัศจรรย์อันนี้ จิตอันนี้ก็อยู่กับเรา โหย.. จิตเราทำไมสว่างไสวนักหนานะ นี่ละ..วิชชาสุดยอดของวัฏจักรอยู่จุดนี้ กล่อมโลก.. ถึงขนาดมหาสติมหาปัญญายังติดได้ ฟังซิ..แต่ว่าติดในประเภทของมหาสติมหาปัญญา ติดด้วยความระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา แต่ติดแล้วสลัดได้
โลกติดไม่มีทางสลัด สำหรับผู้บำเพ็ญธรรมถึงขั้นมหาสติมหาปัญญายังติดอันนี้อยู่ แต่ติดเพื่อจะถอน.. คือพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มหาสติมหาปัญญาไม่มีคำว่านอนใจ เรียกว่าติดด้วยความไม่นอนใจ ด้วยความสิ้นปัญญาอยู่นั่นละ.. มันยังหาช่องออกไม่ได้ มันติดแบบมหาสติมหาปัญญาติดกิเลส ติดอวิชชา นี่ละ..ที่ว่าวิชชาสุดท้าย วิชชาสุดยอดของวัฏจักร ก็คือ อวิชชาปัจจยา สังขารา ใครไปวาดว่าเป็นเหมือนเสือโคร่งเสือดาว เหมือนยักษ์เหมือนผี หรือว่าน่าหวาดน่ากลัว..ผิดทั้งเพ เวลาเข้าไปเจอจริง ๆ แล้ว.. ใครจะอ้อยอิ่งยิ่งกว่าอวิชชานี้
จึงเทียบได้ว่านางงามจักรวาล ว่างั้น..เหมาะเลย นางงามจักรวาลกับยักษ์กับผีมันเข้ากันได้ไหมล่ะ ? ที่เราวาดภาพอวิชชาเหมือนยักษ์ เหมือนผี ทีนี้เวลาไปเจออวิชชาจริง ๆ แล้วมันกลายเป็นนางงามจักรวาลไป เห็นไหมล่ะ ไม่รู้.. นี่ก็เรียกว่าอวิชชา ก็คือกิเลส จอมกิเลสจอมกษัตริย์ มันก็ไปรอตัวเองอยู่ในนั้นเสีย โห.. ทำไมจิตเราถึงอัศจรรย์ขนาดนี้ ? ทำไมสว่างไสวเอานักหนา ?์ กำหนดไปที่ไหนจ้าไปหมด ครอบไปหมดเลย อัศจรรย์ตัวเองอยู่คนเดียว ฟังซินะ..พระธรรมท่านก็เมตตาเพราะเห็นว่าติด คำว่าติดไม่ใช่ของดี แม้จะพันอยู่ชั่วระยะใกล้ ๆ ก็ตาม..ก็ไม่ใช่ของดี
ธรรมท่านก็เตือนขึ้นมาว่า ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั่นแลคือตัวภพ คือตัวนี้เอง.. ตัวสว่างกระจ่างแจ้ง นี่..จุดแห่งความสว่างกระจ่างแจ้ง หรือต่อมแห่งความสว่างกระจ่างแจ้ง หรือต่อมแห่งความอัศจรรย์ นี่แลคือตัวภพ แต่เราไม่รู้ซิ ธรรมท่านเตือนบอก เลยงงไปอีก มันงงของมันไปขนาดนั้นละ วิชชาสุดท้ายของวัฏจักรมายุติกันตรงนี้ หลงสุดขีดก็หลงตรงนี้ ถ้าแก้ตรงนี้ไปแล้วผางเลยทีนี้ ฟังซินะที่ว่า ความสว่างกระจ่างแจ้ง ความอัศจรรย์เต็มเหนี่ยว ๆ เต็มที่ในหัวใจเรานี้น่ะ พอมหาสติมหาปัญญาฟัดธรรมชาติที่สว่างกระจ่างแจ้งเต็มที่ขาดสะบั้นลงไปหมด แล้วอันนั้นจ้าขึ้นมา คราวหลังนี้เป็นยังไง ? นี่ละ..จ้าขึ้นมาคราวหลังนี้คือ.. จ้าวิมุตติหลุดพ้น
ลัก...ยิ้ม
04-02-2020, 22:14
จ้าเบื้องต้นนั้นคือ จ้าวัฏจักร.. ความสว่างของวัฏจักรคืออวิชชา ความสว่างของวิวัฏจักรคือจิตที่หลุดพ้นแล้ว ได้แก่ท่านผู้ตรัสรู้ธรรม พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ตรัสรู้ธรรมผางขึ้นมาคราวนี้ ความสว่างอันนี้แลเป็นความสว่างนอกจากวัฏจักรไปเรียบร้อยแล้ว
ทีนี้เวลามาเทียบกับความสว่างของวัฏจักรของอวิชชานี้ อวิชชาจึงกลายเป็นกองขี้ควายไปได้ ฟังซิ..ธรรมชาตินั้นเหนือกันขนาดไหน จึงมาตำหนิความสว่างของอวิชชานี้ว่าเป็นเหมือนกองขี้ควาย เลิศขนาดไหนถึงจะมาตำหนิอย่างนี้ได้ลงคอ พิจารณาซิ..นั่นน่ะ..ที่พูดไม่ได้ อันนั้นเลยแล้ว พูดไม่ถูกทั้งนั้น
ถ้ามีข้อเทียบเคียง มาเทียบเคียงกับอวิชชาที่สว่างไสวนี้ นี้แลคือกองขี้ควายได้เท่านั้น ธรรมชาตินั้นคืออะไรพูดไม่ได้นะ...”
ลัก...ยิ้ม
04-02-2020, 22:22
อวิชชากองขี้ควาย
การต่อสู้กับกิเลสมีความยากลำบากมาก แม้สามารถฝึกฝนสติปัญญาถึงขั้นเกรียงไกรก็ยังหลงมายาของนางงามจักรวาลอวิชชา ดังนี้
“... อวิชชาแท้นั่นละจอมกษัตริย์ของกิเลสทั้งหลาย ถ้าเป็นไม้ก็เรียกว่ารากแก้ว รากฝอยตัดเข้าไป ๆ เข้าไปถึงรากแก้ว ถ้าเป็นต้นก็เรียกว่าแก่น ถ้าเป็นรากก็เรียกว่ารากแก้ว อวิชชาจริง ๆ แม้แต่มหาสติมหาปัญญายังหลงกลมายาของมัน ว่าไง.. ละเอียดขนาดไหน ละเอียดขนาดนั้น ขนาดสติปัญญาอัตโนมัติยังหลงกลมัน เป็นองค์รักษ์รักษามันเสียด้วยซ้ำไป
‘เฮ้อ.. พูดถึงเรื่องความโง่ต่ออวิชชานี่ ก็น่าบัดซบเหมือนกันนะ มันทุเรศ..ไม่ให้อะไรมาแตะต้อง เพราะมันผ่องมันใส มันละเอียดลออ มันอ้อยอิ่ง ไม่มีอะไรเหมือนเลย’
เวลาเข้าไปถึงตัวอวิชชาจริง ๆ แทนที่จะเป็นภาพเหมือนเสือโคร่ง เสือดาว เหมือนยักษ์ เหมือนผีอย่างนั้น มันกลับเป็นนางงามจักรวาลไปซิ เจ้าสติปัญญาที่ฝึกมาอย่างเกรียงไกรนั่นก็เลยกลายเป็นองครักษ์รักษาอันนี้ ไม่ให้อะไรมาแตะต้องมัน
สลัดปั๊บ ๆ อะไรจะมาแตะไม่ได้ สัมผัสอะไร เรื่องอะไรนี้มันสลัดปั๊บ ๆ เลย.. รักษาอวิชชาไว้เสียนี่ กลายเป็นองครักษ์ของอวิชชา ในเบื้องต้นเป็นอย่างนั้น เพราะไม่มีอะไรเหลือ มีอันเดียวเท่านั้น ไม่มีอะไรที่จะพิจารณาแล้ว.. หมด สิ่งเหล่านี้มันรู้หมดแล้ว มันปล่อยทั้งนั้นแหละ ไม่ไปสนใจ รู้อะไรแล้วปล่อย มันจะดูรู้สึกที่สง่าผ่าเผยที่ว่าความผ่องใส องอาจกล้าหาญ
ลัก...ยิ้ม
05-02-2020, 20:58
ถ้าพูดถึงว่า ‘อัศจรรย์ของอวิชชานี้ ก็อัศจรรย์จนขนาดสติปัญญาอัตโนมัติชมเชย’ พูดง่าย ๆ นะ ‘ยกย่องชมเชย ถวายตัวเป็นองค์รักษ์’ พูดง่าย ๆ
แต่เพราะขึ้นชื่อว่าสมมุติแล้วจะละเอียดขนาดไหนก็ตาม มันจะแสดงอาการพิรุธให้เห็นจนได้ ด้วยสติปัญญาอัตโนมัติก็แหลมคมไม่ใช่เล่น เพราะไม่ใช่แต่เพียงรักษาอย่างเดียว ยังต้องสังเกตว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับนี่ ๆ ทีนี้มันก็มีเพราะอันนี้เป็นตัวสมมุติ ทีนี้สมมุติที่จะแทรกกันขึ้นมากับสมมุตินี้ ก็ได้แก่ความผ่องใส ความเศร้าหมอง คือความผ่องใสนั้น.. ผ่องใสตามส่วนของธรรมละเอียด เศร้าหมองก็เศร้าหมองตามส่วนของธรรมละเอียด มันหากมีจนได้ แม้จะละเอียดขนาดไหนสติปัญญานี้ก็ทันก็รู้ เมื่อแสดงขึ้นมาหลายครั้งหลายหนก็ทำให้เอะใจ
‘เอ๊ะ.. ทำไมธรรมชาติอันนี้นึกว่าจะคงเส้นคงวาแล้ว ทำไมจึงมีอาการแปลก ๆ ให้เห็น เดี๋ยวว่าผ่องใส เดี๋ยวว่าเศร้าหมอง ถึงจะละเอียดแค่ไหนก็ตามนะ’
จิตละเอียดแค่ไหน... ความเศร้าหมอง ความผ่องใส ก็จะละเอียดไปตาม ๆ กันนั้นแหละ แม้เช่นนั้นมันก็ไม่ทนกับสติปัญญาที่จ่ออยู่ตลอดเวลาได้ ทั้ง ๆ ที่รักษาอยู่มันก็แสดงอาการให้เห็นพิรุธ.. ก็จับปั๊บเข้าไปซิ เลยเอาจุดนี้เป็นสนามรบละ ที่นี่ ‘เอ๊ะ.. นี่มันอะไรถึงเป็นอย่างนี้’ กว่าจะรู้นะ ว่าเป็นของดิบของดี ว่าเป็นของวิเศษวิโส
‘ทำไมจึงมามีอาการเศร้าหมองบ้าง อาการผ่องใสบ้าง มีลักษณะทุกข์บ้าง สุขบ้าง ทำไมจึงมาเป็นอย่างนี้ ?’
คือทุกข์ ก็ทุกข์ตามส่วนละเอียดของธรรม ของจิตนั่นแหละ ไม่ทุกข์มากก็พอให้รู้จนได้ เพราะสติปัญญาขั้นนี้เป็นขั้นที่แหลมคมมาก ก็จับซิ..นั่นเป็นต้นเหตุให้พิจารณา ทีนี้จุดนั้นเลยเป็นจุดพิจารณาขึ้นแล้วทีนี้ เหมือนกับสภาวธรรมทั้งหลาย เราผ่านไปได้ก็เพราะเราพิจารณาเข้าใจแล้วผ่าน ๆ ไป ทีนี้อันนี้กำลังสงสัยมันก็จ่อเข้ามานี้อีก มันพิจารณาเข้าใจปั๊บก็ขาดลอยไปเลย ไม่มีอะไรเหลือ
ทีนี้เมื่อเราเทียบถึงว่า ความอัศจรรย์ของอวิชชาอันนี้กับความอัศจรรย์ของจิตที่บริสุทธิ์นั้น.. มันเป็นคนละโลกเลย ถ้าหากว่าเราจะเทียบก็เหมือนกับกองขี้ควายกับทองคำทั้งก้อน ผิดกันยังไง ความบริสุทธิ์นั้นเหมือนทองคำทั้งแท่งทั้งก้อน อวิชชานี้เหมือนกับกองขี้ควาย มันห่างกันขนาดนั้นนะ ผิดกันขนาดนั้น เพราะฉะนั้น.. จึงใครก็ตามถ้าไปเจอนี้ได้หลงกลอันนี้แล้ว และค่อยผ่านไปทีหลัง ยังไงก็ต้องเกิดความสลดใจ เห็นความโง่ของตัวเอง
‘โอ้โห ๆ ขนาดนี้เชียวหรือ อวิชชาขนาดนี้เชียวหรือ โอ้โห ๆ เลย เรานึกว่ามันอัศจรรย์ขนาดไหน อัศจรรย์อะไร กองขี้ควาย มันมาหลงกองขี้ควายจนได้’
เพราะสติปัญญาอันนั้นแหละ เพราะทางไม่เคยเดิน สิ่งไม่เคยรู้ แต่เวลาพิจารณาเข้าไป ๆ มันก็ตะล่อมเข้าไป ๆ ก็ไปถึงจุดสุดท้ายของมัน จุดสุดท้ายคือจุดนี้
ถ้าหากว่าแก้ไม่ได้มันก็ต้องอยู่นี่แหละ ยังพาให้หลง แม้จะไม่กลับมาเกิดอีกก็ตาม ก็ยังจะต้องเกิดอีกขั้นนั้นขั้นนี้ ถึงจะต่อไปได้ถึงที่สุดก็ยังเรียกว่าเกิด.. ไปเกิดในพรหมโลก ๕ ชั้นเป็นต้น อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา ๕ ชั้นนี้เป็นชั้นที่อยู่ของพระอนาคามีซึ่งกำลังดำเนินอรหัตมรรค อรหัตมรรคกำลังจะเต็มภูมิแล้ว พอรู้ปั๊บก็เป็นอรหัตผลขึ้นมาเต็มภูมิ...”
เมื่อถึงจุดนี้ย่อมเป็นสิ่งพิสูจน์ปฏิปทาการดำเนินของท่านว่า แม้จะทุกข์ยากลำบากเพียงใด ความพากเพียรเข้มแข็งมุ่งมั่นจริงจังของท่านก็มีน้ำหนักมากกว่า
ธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนพระภิกษุในครั้งพุทธกาล ให้มีพละ ๕ หรืออินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเท่ากับเป็นการตามเสด็จพระพุทธเจ้าตลอดเวลา จึงปรากฏผลเป็นความจริง เป็นความบริสุทธิ์อยู่ภายในใจท่านตลอดไป
ลัก...ยิ้ม
07-02-2020, 12:28
พระครั้งพุทธกาล บวชเพื่อพระนิพพาน
องค์หลวงตากล่าวถึงความจริงจังของพระในครั้งพุทธกาล ดังนี้
“... ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเป็นองค์ประทานพระโอวาทแก่บรรดาพระผู้ปฏิบัติ ที่เข้ามาอบรมศึกษาและศึกษาเพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อมรรคผลนิพพานจริง ๆ ไม่ได้ศึกษาเพียงสักแต่ชื่อแต่นามเพราะความจดจำเพียงเท่านั้น และไม่ได้ศึกษาเพื่อเอาขั้นเอาภูมิดังปัจจุบันนี้
นอกจากท่านจะได้ยินได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์แบบทุกอย่างในเรื่องมรรคผล ท่านยังได้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมในการชำระกิเลสอยู่ทุกกาลอีกด้วย โดยมักหลีกเร้นอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร ไม่ค่อยพลุกพล่านวุ่นวายด้วยฝูงชน
พระผู้มาศึกษาก็ล้วนแต่มีความมุ่งมั่นต่อมรรคผล ต่อวิมุติ ต่อความพ้นทุกข์จริง ๆ โดยมีความพากเพียรเป็นพื้นฐานเพราะเห็นภัยจากการเวียนว่ายตายเกิด งานของพระในครั้งพุทธกาลจึงมีแต่เรื่องของงานเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ซึ่งก็คืองานฆ่ากิเลสโดยตรงนั่นเอง ฉะนั้น..ผลแห่งการปฏิบัติจึงมักบรรลุสมความตั้งใจ เกิดพระอรหันตขีณาสพขึ้นอย่างมากมายในสมัยนั้น รองลงมาก็เป็นพระอนาคามี เป็นสกิทาคามี เป็นโสดาบัน เป็นกัลยาณภิกษุ และกัลยาณปุถุชน...”
ย้อนกลับมาสู่ชีวิตของท่าน แรกเริ่มเดิมทีท่านก็มิได้ตั้งใจอยากบวชแต่อย่างใด ด้วยขนบประเพณีแต่โบราณทำให้พ่อแม่ปรารถนาจะได้บุญจากการบวชของลูก ใจในทีแรกแม้จะยังไม่พร้อม แต่ด้วยน้ำตาพ่อแม่ทำให้ท่านตระหนัก.. เห็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของพ่อแม่ ที่จะขออาศัยพึ่งใบบุญบวชจากลูก เพื่อเป็นทุนอุดหนุนชีวิตหลังสิ้นอายุขัยแล้ว ความกตัญญูรู้คุณทำให้ตัดใจได้ เมื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ นิสัยทำอะไรทำจริงอันติดมาแต่ครั้งฆราวาส ทำให้มีความจริงจังต่อการศึกษาธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า จึงเริ่มเข้าใจจุดหมายแท้จริงของชีวิต
เมื่อเรียนปริยัติก็เรียนเพื่อเก็บหอมรอมริบข้อธรรมและวินัยหลายแง่หลายมุม โดยหวังเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการออกปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานอย่างแท้จริง มิใช่หวังชั้นหวังภูมิยศศักดิ์แต่อย่างใด ความรู้นั้นทำให้พอมีเกณฑ์บรรทัดฐานในการเสาะหาครูอาจารย์ผู้รู้จริงเรื่องมรรคผลและข้อปฏิบัติที่ตรงทาง
จากนั้นเมื่อมีโอกาสเข้าศึกษาอบรมกับหลวงปู่มั่น จึงได้เร่งความเพียรอย่างเต็มสติกำลังความสามารถด้วยจิตภาวนา จนสามารถหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสเข้าสู่แดนแห่งความพ้นทุกข์อันเกษม ชีวิตนักบวชของท่านจึงสมบูรณ์พร้อมด้วยปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ
ลัก...ยิ้ม
08-02-2020, 20:41
พระไตรปิฎกใน
องค์หลวงตา เปรียบเทียบความรู้จากการเรียนปริยัติกับความรู้จากการปฏิบัติไว้ ดังนี้
“...พระไตรปิฎกใน คือ ผู้สิ้นกิเลสแล้ว เป็นผู้ทรงธรรมล้วน ๆ ไว้บริสุทธิ์เต็มที่ พระไตรปิฎกนอก เป็นคนที่มีกิเลส ไปจดจารึกเอามา
แยกเข้าไปอีกว่า พระไตรปิฎกตาดี คือ ท่านผู้สว่างกระจ่างแจ้ง ทรงธรรมแท้ ทรงธรรมที่บริสุทธิ์ พุทโธเต็มที่ไว้ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอรหันต์ ท่านนี่ออกจากหัวใจของท่าน... จ้าไปหมดครอบโลกธาตุ
พระไตรปิฎกตาบอด คือ เราเรียนเท่าไหร่ก็เรียน ฟาดจนจบพระไตรปิฎกก็ได้แต่ชื่อ ได้แต่นาม ได้แต่ความจำ ได้แต่ตำรับตำรา ไม่ได้ความจริงอย่างท่านมา ก็เรียกว่าผู้ไปจดจารึก หรือถ้าเป็นประเภทนั้นก็ตาม แล้วผู้ที่เรียนตามนั้นก็เป็นคนตาบอด คำว่า “บอด” นี้ หมายความว่ากิเลสครอบงำหัวใจ ใจยังมืดมิดปิดตาอยู่ แม้จะเรียนอรรถเรียนธรรม ก็มีแต่ชื่อแต่นามของอรรถของธรรม แต่ใจยังบอดอยู่…”
เพราะเหตุนี้ ท่านจึงเน้นภาคปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์แนะนำให้เข้าสู่ความจริง ดังนี้
“... พระพุทธศาสนาของเราตามตำรับตำรา ท่านก็มีไว้สมบูรณ์ทั้งพระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ท่านบรรจุไว้เรียบร้อย เราก็เรียนมาตามนั้น เรียนตามที่ท่านจดจารึกเอาไว้ในปิฎกต่าง ๆ เข้าสู่หัวใจด้วยความจำ ในระยะนี้การเรียนทั้งหมดไม่ว่าจะเรียนปิฎกใดเข้าสู่ใจ เป็นการเข้าสู่ด้วยความจำ.. ธรรมะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้ท่องบ่นสังวัธยายทั้งหมด รวมเข้ามาสู่ใจนี้เป็นธรรมะภาคความจำ ไหลเข้าสู่ใจด้วยความจำ ยังไม่เข้าสู่ใจด้วยความจริง
เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษามากน้อยจึงไม่พ้นความสงสัยในการดำเนินว่า จะดำเนินอย่างไรดี ดำเนินอย่างไรถูก หรืออย่างไรผิด ความสงสัยนี้จะต้องเป็นพื้นอยู่โดยดีในบรรดานักปริยัติทั้งหลาย ไม่ว่าท่านว่าเรา นี่พูดตามหลักความจริง ซึ่งมีอยู่ในหัวใจของผู้ศึกษาเล่าเรียนมา
เราอยากจะพูดเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยว่าทุกดวงใจเป็นอย่างนั้น เพราะจะเป็นเรื่องที่จะเป็นอย่างนั้นโดยแท้ เนื่องจากไม่มีผู้สันทัดจัดเจนในปฏิปทาเครื่องดำเนินและรู้เห็นจากการดำเนินนั้น อันเป็นฝ่ายผลมาก่อนแล้วมาชี้แจงแสดงบอก จึงทำให้ผู้ที่ศึกษามากน้อยอดสงสัยไม่ได้ จำต้องสงสัยอยู่โดยดี นี่เป็นคตินิสัยของปุถุชนเราโดยทั่ว ๆ ไป
การพูดถึงก็พูดถึงแต่ภาคความจำ ไม่ว่าจะพูดถึงธรรมในปิฎกใด... พระวินัยปิฎก นั้นรู้แล้วว่าต้องอาศัยความจำเป็นหลัก.. สำคัญที่จะประพฤติปฏิบัติตัวอันนี้ไม่พิสดารอะไรมาก ที่พิสดารมากก็คือ พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นธรรมที่พิสดารมากจริง ๆ ...
ผู้ที่เรียนมาทั้งหลายนี้ไม่ได้มีความจริงเข้าสู่ใจ.. แล้วจะเอาอะไรไปประพฤติปฎิบัติ จึงต้องแบกความสงสัยเต็มหัวใจอยู่นั่นแล เรียนก็เรียน รู้ก็รู้ในภาคความจำ แต่วิธีปฏิบัติเมื่อไม่มีผู้ชำนิชำนาญพร้อมทั้งการทรงผลมาแล้วมาพาดำเนิน จึงเป็นเรื่องลำบากอยู่มาก ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้โดยถูกต้องดีงาม และราบรื่นไปโดยสม่ำเสมอเลย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเสาะแสวงหาครูหาอาจารย์ อย่างสมัยปัจจุบันนี้ก็คือ หลวงปู่มั่นเป็นสำคัญ...”
ลัก...ยิ้ม
10-02-2020, 15:58
ผู้ปฏิบัติจริงไม่คลำช้าง
ความรู้ที่เกิดจากการเรียนธรรมกับความรู้จากการปฏิบัติธรรมจนเห็นจริง องค์หลวงตาเคยเปรียบให้มองเห็นภาพง่าย ๆ ดังนี้
“... คนมีกิเลสไปอ่านพระไตรปิฎก ไปเรียนพระไตรปิฎก ถกเถียงกันยุ่งไปหมด เห็นไหมนั่น..เพราะคนมีกิเลส ธรรมเป็นของจริงแค่ไหน หัวใจไม่ได้จริง ใจปลอม มันก็ถกเถียงกันเพราะความปลอม.. ไม่ใช่เพราะความจริง ถ้าผู้ปฏิบัติแล้วมองดูที่ไหนก็รู้หมด เหมือนช้างตัวหนึ่งนั่นละ อันไหนเป็นหางช้าง อันไหนเป็นงวงช้าง อะไรเป็นงา อะไรเป็นหู อะไรเป็นสีข้างมันก็รู้หมด คนตาดี ๆ แต่คนตาบอดไปคลำ คลำตรงไหนก็ว่าช้างเหมือนนั้นเหมือนนี้ไป ก็อย่างนั้นแหละ...
...ตาบอดคนหนึ่งว่า ‘ช้างนี้เหมือนไม้กวาด’ เพราะไปคลำถูกหางช้าง ตาบอดอีกคนหนึ่งไปคลำถูกสีข้างของมันก็ว่า ‘ไม่ใช่นะ ช้างนี้เหมือนฝาเรือน’
อีกคนหนึ่งไปคลำถูกขาของมัน.. เถียงกันอีกละ ‘ไม่ ช้างไม่ใช่ฝาเรือน ช้างไม่ใช่ไม้กวาด ช้างมันคือต้นเสา’
คนหนึ่งก็ไปคลำถูกหูมันอีกแหละ คลำช้างตัวเดียวกันนั่นแหละ คลำคนละแห่ง คนที่ไปคลำถูกหูนี้ก็มาค้านเอานี่ ‘ช้างมันไม่ใช่ต้นเสา มันเหมือนกระด้งฝัดข้าว’
คราวนี้ผู้ที่มาคลำเอางวงของมันนี้ว่า ‘ช้างคือปลิง’ ก็เถียงกันอยู่อย่างนั้นละ และเถียงกันอยู่ใต้ร่มมะกอกด้วยนะ พอดีลมพัดมา มะกอกหล่นตูมใส่หัวตาบอดคนหนึ่ง แกก็ร้องขึ้นว่า ‘เฮ้ย กูพูดแต่ปากนะ มึงถึงขนาดถึงไม้ถึงมือ ตีกูถึงขนาดนี้เชียวหรือ’
ว่าแล้วก็ซัดกันเลย ทีนี้ตาบอด ๖ คนฟัดกันนัวเลยเพราะมะกอกลูกเดียว อันนี้ก็เหมือนกัน คนนั้นว่างั้น คนนี้ว่างี้นะ เวลานี้มะกอกกำลังจะหล่นลง หรือมันหล่นลงแล้วก็ไม่รู้นะ มะกอกหล่นลงในพวกนี้นะ พวกเราเหมือนตาบอดคลำช้างนั่นละ คลำไปถูกตรงไหนก็ว่าธรรมนี้เหมือนนั้น ๆ ไปหมดเลย
คนตาดี มองดูช้างมันเห็นหมดจะไปสงสัยอะไร ช้างทั้งตัวไม่สงสัย คนตาดีดูแป๊บเดียวรู้นั่นแหละ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านดูธรรม ท่านดูเหมือนคนตาดีดูช้าง พวกเราเรียนธรรม ดูธรรม เหมือนตาบอดคลำช้างเถียงกันวันยังค่ำ ..
มะกอกหล่นไปไหนแล้วไม่รู้ มะกอกไม่ได้สนใจใครหรอก .. แต่พวกนี้เลยซัดกันนัวเลย แทนที่จะชำระคดีกันมันก็เลยไม่ได้ชำระ มะกอกมาตีหัวแล้วซัดกันนัวเลย .. ฟัดกันอยู่ในสนามตาบอด มันจะไม่เลิกนะ ทีนี้ไม่ทราบว่ามะกอกมาจากไหน มันก็หายากนะ มะกอกที่จะมาหล่นตูมใส่หน้าผากพวกนี้ มันหายากนะ
สมัยทุกวันนี้จะไม่ค่อยมีแล้วนะมะกอก คือใครไม่ได้สนใจมะกอกยิ่งกว่าคลำช้าง แล้วมาเถียงกันตีกันนั่นแหละ พวกเรามันเรียน เรียนด้วยความจำ ..
ใครเรียนที่ตรงไหนก็ไปยึดกรรมสิทธิ์.. อวดอำนาจ ความรู้ ความฉลาดของตนขึ้นจากความจำนั้น.. แฝงความจำไปอีก เป็นปลอม ๆ ไปอีก เอามาโต้กันเสียเป็นบ้าน้ำลายโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าหากปฏิบัติให้รู้ตามความจริงของธรรมที่ท่านสอนไว้ ... ก็จะไปถามใคร ไปโต้เถียงกันให้เสียเวล่ำเวลาทำไม ถ้าไม่ใช่ตาบอดคลำช้าง
ท่านให้ปฏิบัติซิ ให้รู้ซิ ใครรู้มากน้อยเท่าไร.. อาจหาญ ทำไมจะไม่อาจหาญ สัมผัสด้วยใจ รู้ด้วยใจ เพราะปฏิบัติด้วยใจนี่.. ต้องรู้ทั้งกิเลสหยาบ กลาง ละเอียด รู้ทั้งธรรมอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด และอย่างละเอียดสุด.. สิ้นพ้นความละเอียดไปจนถึงความบริสุทธิ์ ไม่รู้ที่ใจอะไรจะเป็นผู้รู้...”
ลัก...ยิ้ม
13-02-2020, 16:18
ถังขยะ ๔ ประเภท
“…สามแดนโลกธาตุนี่ เป็นถังขยะทั้งนั้น .. คำว่าถังขยะคือ วัฏจักรทั้งหมดนี้เป็นถังขยะ ว่าอย่างนั้นเลย นิพพานหรือธรรมธาตุนั้นนอกพ้นไปหมดแล้ว ไม่ใช่ถังขยะ ... ทีนี้ถังขยะนี้มีหลายประเภท ดังยกออกมาว่า
ถังขยะ อุคฆฎิตัญญู นี้ประเภทเยี่ยม คือเป็นคนมีอุปนิสัยปัจจัยคอยที่จะพ้นไปแล้ว หาทางออกตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น เบญจวัคคีย์ทั้งห้า ถังขยะประเภทนี้ คำว่าถังขยะคือ ท่านยังมีกิเลสอยู่ ถึงท่านจะมีนิสัยเต็มภูมิก็ตาม แต่ยังมีกิเลสอยู่ก็ยังเรียกว่าถังขยะ ..
วิปจิตัญญู ก็ลดกันลงมานิดหนึ่ง นี่ก็เป็นถังขยะเหมือนกัน เพราะจิตยังมีกิเลสอยู่ เรียกว่าถังขยะได้ทั้งนั้น ถ้าลงกิเลสยังแทรกอยู่นิดหนึ่ง.. เรียกว่าถังขยะได้หมด เป็นแต่ว่าถังขยะที่หยาบละเอียดต่างกันเท่านั้น
พอถึงขั้น เนยยะ นี้ก็กึ่งกลาง ทั้งจะลงนรก ทั้งจะไปสวรรค์ เนยยะพอลากพอเข็นกันได้ พออ่อน..กิเลสก็ลากลงนรกได้ ถ้าแข็งก็ลากขึ้นได้ นี่จึงว่าพอแนะนำสั่งสอนได้ หลายครั้งหลายหนพอเป็นไปได้ เป็นถังขยะประเภทที่สาม
ประเภทที่สี่ ปทปรมะ นี้หมดคุณค่าโดยประการทั้งปวง ไม่มีอะไรมีความหมายเลย...”
ลัก...ยิ้ม
14-02-2020, 12:29
ปฏิปทา ๔ อย่าง คือ
สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา...... ทั้งปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว หนึ่ง
สุขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา...... ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า หนึ่ง
ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา.... ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว หนึ่ง
ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา.... ทั้งปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า หนึ่ง
นี่ละ เรียกว่าเป็นนิสัยของแต่ละราย ๆ ... ถ้านิสัยที่ควรจะเอากันอย่างหนักก็ต้องหนัก ไม่หนักไม่ได้ ถ้าควรเบาก็ต้องเบาเอง ... ที่จะฝึกที่จะดัดแปลงตัวเอง ที่จะสังหารกิเลสซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของตัวเองด้วยวิธีการนั้น ๆ
ลัก...ยิ้ม
15-02-2020, 20:31
พระสารีบุตร นอบน้อมต่อพระอัสสชิ
“... พระอัสสชิ ท่านกำลังบิณฑบาต ดูลักษณะท่าทางกิริยามารยาทน่าเคารพน่าเลื่อมใส พระสารีบุตรมีโอกาสออกไปก็ไปเจอท่าน ค่อยติดตามแอบตามดูไป ๆ เออ.. พระสมณะองค์นี้ทำไมมาจากที่ไหน ดูกิริยาท่าทางเหลือบสายตามองขวาเรียบไปตลอด น่าเคารพเลื่อมใส ก็ค่อยตามไป พอพ้นจากหมู่บ้านแล้วค่อยถาม พระผู้เป็นเจ้าบวชมาจากสำนักใด ดูกิริยาท่าทางน่าเคารพเลื่อมใสมาก
ท่านยังพูดถ่อมตนเอาไว้ว่า ‘อาตมานี่พึ่งบวชใหม่ ๆ ในศาสนา ถือศาสนาพุทธ พึ่งบวชใหม่ ๆ ยังไม่รู้อรรถธรรมอย่างลึกซึ้งกว้างขวางอะไรมากนัก แล้วจะแสดงธรรมย่อ ๆ ให้ฟัง ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ คือเกิดจากใจ ทั้งดีทั้งชั่วเกิดจากใจ ดับก็ดับที่ใจ ระงับดับด้วยความถูกต้องก็ระงับดับกันที่ใจ พระสมณโคดมของเราสอนอย่างนี้’
การแสดงธรรมท่านย่อ ๆ แต่เป็นหัวใจของศาสนาเพียงเท่านั้น พระอัสสชิเป็นถึงขั้นพระอรหันต์แต่ท่านไม่ได้พูด ว่าท่านเป็นพระอรหันต์นะ .. ท่านไม่พูดนะ ท่านพูดถ่อมตัว ท่านพูดถึงมหาเหตุ มหาเรื่อง หมายถึงใจดวงนี้ ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดว่องไวอย่างพระสารีบุตรก็ทราบ “มหาเหตุ” ได้ทันที จับความจริงได้ในขณะนั้น พอจบลงเท่านั้นพระสารีบุตรได้สำเร็จพระโสดาบันเลย..
(เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว) ทีนี้พระสารีบุตรก็จอมปราชญ์อีก พระสารีบุตรเป็นถึงอัครสาวกข้างขวา ได้รับเอตทัคคะทางปัญญา เฉลียวฉลาดพอตัว ย่อมจะทราบเรื่องของพระอัสสชิว่าถึงขั้นใดภูมิใด เป็นพระประเภทใดโดยไม่ต้องสงสัย นั่น.. ได้ทราบว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศใดแดนใด พระสารีบุตรจะน้อมเกล้ากราบไหว้ไปในทิศนั้นภูมินั้น ทิศทางโน้นทางไหนก็ตามอยู่ตลอดจนกระทั่งวันนิพพาน
นั่นเป็นยังไง ท่านรู้ภูมิกัน ท่านรู้จักความเหมาะสมของกันและกัน นั่นละ..คุณอย่างนั้น คุณซาบซึ้งมาก ท่านถือเนื้อถือตัวเมื่อไร ท่านถ่อมตนอย่างนั้นละ.. ผู้ที่สิ้นกิเลส...”
ลัก...ยิ้ม
16-02-2020, 11:16
สายน้ำ มหาวิมุตติ มหานิพพาน
องค์ท่านเปรียบผลแห่งการบำเพ็ญของนักปฏิบัติแต่ละราย ๆ เพื่อเข้าสู่แดนนิพพานไว้ดังนี้
“... แม่น้ำสายต่าง ๆ ไม่ว่าสายใดก็ตาม ไหลลงมาแล้วไปรวมลงในมหาสมุทรแห่งเดียวกัน แม่น้ำสายต่าง ๆ เราจะเรียกว่าแม่น้ำสายนั้น ๆ เช่น แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำอะไรก็ตามนะ นี่เรียกว่าสายทางของน้ำไหลลง
พอเข้าถึงมหาสมุทรแล้วเป็นน้ำมหาสมุทรอันเดียวกันหมด แยกกันไม่ออก ไม่มีว่าแม่น้ำสายนั้นสายนี้ เมื่อเข้าสู่มหาสมุทรทะเลหลวงแล้วเรียกว่า แม่น้ำมหาสมุทรอย่างเดียวกันหมด ...
แม่น้ำสายต่าง ๆ เปรียบกับผู้บำเพ็ญในที่ต่าง ๆ อยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อบารมีแก่กล้า พอไหลเข้ามา ใกล้เข้ามา ๆ สร้างคุณงามความดี นี่เรียกว่าแม่น้ำสายต่าง ๆ ไหลเข้ามาอย่างนี้ พอมากเข้า จวนเข้า ๆ ก็ถึงแม่น้ำมหาสมุทรทะเล อันนี้..ก็เข้าถึงมหาวิมุตติมหานิพพาน เมื่อเต็มที่แล้วก็ต้องถึงขั้นสุดยอดแห่งธรรมทั้งหลายได้เหมือนกันหมด
ไม่ได้เลือกว่าเป็นผู้หญิง ผู้ชาย นักบวช ฆราวาสนะ สำคัญอยู่ที่การสร้างบารมีซึ่งเป็นพื้นฐานอันสำคัญ..ที่จะยกผู้บำเพ็ญให้ถึงความหลุดพ้นได้ ที่นี้เมื่อบำเพ็ญเต็มที่ ๆ ก็เหมือนกับแม่น้ำสายต่าง ๆ ค่อยไหลเข้ามา ใกล้เข้ามา ๆ บารมีแก่กล้าก็ใกล้เข้ามา ๆ พอถึงปุ๊บก็เรียกว่า ถึงเต็มภูมิเป็นอรหัตตบุคคลขึ้นมา
นั่นละ มหาวิมุตติมหานิพพานเข้าถึงแล้วทีนี้ ผู้บรรลุธรรมนี้เข้าถึงมหาวิมุตติมหานิพพานแล้ว.. เป็นมหาวิมุตติมหานิพพานเหมือนกันหมด ทีนี้แยกไม่ออกว่าผู้นี้รายนี้ รายนี้มาจากไหน มาจากไหน.. พูดไม่ออกเพราะเข้าถึงแล้ว เรียกว่าแม่น้ำสายต่าง ๆ ไม่มีความหมายละ เพราะเข้าในมหาสมุทรทะเลหลวงอันเดียวกัน
นี่ผู้บำเพ็ญในคุณงามความดีประเภทต่าง ๆ ก็เป็นดุจแม่น้ำลำคลอง แต่ละราย ๆ ไหลเข้า ๆ แล้วเข้าสู่จุดสุดยอดแห่งความพ้นทุกข์ ว่างั้นเลย เรียกว่าความพ้นทุกข์อยู่ที่จุดนั้น อยู่ที่มหาวิมุตติมหานิพพาน นี่..เข้าถึงนั้นแล้ว เป็นมหาวิมุตติมหานิพพานอันเดียวกันหมด
เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่าบรรดาผู้บรรลุธรรมถึงขั้นอรหัตภูมิแล้ว นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงสาวกองค์สุดท้ายเป็นเหมือนกันหมด นั่น..ฟังซิ แยกกันไม่ออก.. ไม่มีคำว่ายิ่งว่าหย่อนต่างกัน แยกกันไม่ออก...
ลัก...ยิ้ม
18-02-2020, 20:33
ขอขมาหลวงปู่มั่น ระลึกพระคุณไม่สร่างซา
องค์ท่านระลึกถึงความผิดของตนเมื่อครั้งกำลังปฏิบัติ ว่าเคยสงสัยในอาการบางลักษณะของหลวงปู่มั่นอยู่บ้างแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่เมื่อขณะนี้ผลแห่งการปฏิบัติได้ประจักษ์กับใจตัวเองแล้ว จึงเกิดความเข้าใจในทันที ดังนี้
“...เวลาดึก ๆ ท่านมีลักษณะเหมือนครวญเหมือนคราง อี๊ ๆ ๆ นิด ๆ ไม่ได้มากนะ ก็เราอยู่นั่นน่ะ มีลักษณะอี๊ ๆ แอ๊ะ ๆ เหมือนร้องเหมือนครางเบา ๆ น่ะ แล้วมันก็แย็บขึ้นมา แย็บเรา..ระวังนะ
‘เอ๊ ! เวลาท่านเป็นอย่างนี้ ท่านจะมีเผลอบ้างไหมนา ?’
เท่านั้นละ พอเราว่าเหมือนอันหนึ่งมันตีปั๊บเลย.. ไม่ให้กำเริบยิ่งกว่านี้ไป พูดง่าย ๆ ก็ระวังอยู่นี่ เพียงแย็บออกไปเท่านั้นละ เวลาท่านมีอาการอย่างนี้ ท่านมีเผลอบ้างไหมนา ? เท่านั้นละ เราก็หยุดทันทีเลย แล้วก็จำไว้ด้วยไม่ลืมนะ หากเป็นธรรมชาติของมันเอง
จนกระทั่งเรื่องผ่านไป ท่านปรินิพพานไปแล้ว เรื่องของเราจึงมาเป็นทีหลัง เราก็กราบขอขมาโทษท่านเลย
อันนี้เราแน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า เราหลุดไปเลยไม่มีอะไรเหลือ...
ที่เราไปคิดเกี่ยวกับเรื่องท่านว่า เอ๊.. ท่านมีลักษณะ อี๊อ ๆ อย่างนี้ท่านจะเผลอบ้างไหมนา..นี้หมด เราแน่ใจ เพราะเราระมัดระวังมาก พอแย็บเท่านั้นเราก็รีบ เหมือนกับรีบตบกันลงทันทีเลย แล้วก็ไม่ลืมขณะจิตที่คิดถึงท่านอย่างนี้ เวลาเรื่องของเราผ่านไปทีหลัง (หมายถึงสิ้นกิเลส) ถึงกลับมายอมเลยทันที
‘โอ้โห ทำไมคิดผิดเอามากมาย คาดพ่อแม่ครูอาจารย์ โห ! คนมีกิเลสไปคาดคนสิ้นกิเลส มันคาดกันได้อย่างนี้เชียวเหรอ’
มันยอม จึงเข้าไปกราบขอขมาโทษอัฐิของท่าน อันนี้ปรากฏว่าโล่งไปเลยทันที ไม่มีปรากฏว่ามีอะไรตกค้าง...”
ลัก...ยิ้ม
25-02-2020, 17:31
ผลแห่งธรรมที่ปฏิบัติจนประจักษ์ใจมาได้นี้ ก็เพราะอุบายคำสอนของหลวงปู่มั่น ฉะนั้น ท่านจึงเคารพบูชาและรู้ซึ้งในพระคุณหลวงปู่มั่นอย่างสุดจิตสุดใจ ชนิดมอบกายถวายชีวิตแก่ท่านได้ ท่านกล่าวยกย่องคุณธรรมและคุณสมบัติของหลวงปู่มั่นว่า เป็นผู้พรั่งพร้อมสมบูรณ์แบบทุกอย่าง ไม่มีสิ่งใดตกเรี่ยเสียหายเลย ไม่ว่าจะเรื่องหลักธรรมหลักวินัย หลวงปู่มั่นสามารถเก็บหอมรอมริบได้หมด
ความเคารพบูชาอย่างสูงสุดของท่านที่มีต่อหลวงปู่มั่นนั้น ท่านเคยกล่าวไว้อย่างจับจิตจับใจผู้ฟังว่า
“... พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านเป็นทั้งพ่อเราทั้งแม่เรา ทุกอย่างรวมอยู่ในนั้นหมด ให้อรรถให้ธรรม ให้ข้อคิดเห็นที่จะเป็นสิริมงคล สิ่งใดไม่ดีปัดเป่าออกไปด้วยคำแนะนำสั่งสอนทุกแง่ทุกมุม จึงเป็นเหมือนกับพ่อกับแม่ของเรา เหมือนเรามีพ่อมีแม่นี่แหละ
เราเคารพท่านสุดขีด.. ในหัวใจของเรานี้อยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นหมดเลย เราพูดจริง ๆ ในบรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เราไม่ได้ประมาทท่าน เราไม่ได้คบค้าสมาคมกับท่านสนิทติดจมจริง ๆ ฝากเป็นฝากตายเหมือนพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น นี่ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ กิ แต่ กา แต่ เอะ แต่ เอ เรื่อยไป ท่านสอนหมดในภาคปฏิบัติธรรมนะ
ส่วนภาคปริยัติเราก็เรียน เรียนไปแล้วแต่ไม่เป็นท่าเป็นทางอะไร เพียงแค่จดได้มา จำได้มาเฉย ๆ ไม่รู้วิธีภาคปฏิบัติเป็นยังไง ท่านต้องบอก อันนี้ทำอย่างนี้ เครื่องมืออันนี้เอาไปทำอย่างนั้น เครื่องมืออันนี้ไปใช้อย่างนี้ ๆ ที่เราเรียนมาเราจำได้.. แต่ปฏิบัติไม่ถูก ปฏิบัติไม่เป็น อาศัยท่านพาปฏิบัติดำเนิน การเรียนมานั้นเราจำได้แต่ไม่รู้จักวิธีปฏิบัติ ท่านก็หยิบออกมา อันนี้ให้ทำประโยชน์อย่างนั้น อันนั้นให้ทำประโยชน์อย่างนั้น ๆ เราก็ยึดก็จับเอาได้จากท่านเรื่อยมาจนเป็นภาคปฏิบัติ
ภาคปฏิบัติก็เอาอีกเหมือนกัน ต้องให้ท่านเป็นแม่เหล็ก เป็นเครื่องดึงดูด เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เราอยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทร เหมือนกับการจับภูเขาทอง.. เหลืองอร่ามไปเลย กิเลสมันกลัวเวลามาอยู่กับท่าน กิเลสมันก็หมอบ อยู่กับท่านสบาย ๆ นี่ก็เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรอันหนึ่ง เป็นแม่เหล็กเครื่องดึงดูดเราให้มีแก่ใจประกอบความพากเพียร.. เอาเป็นเอาตายหนักเบาออกมาจากท่าน ได้รับการศึกษาจากท่าน ทุกสิ่งทุกอย่างท่านแนะนำเต็มภูมิ และพาปฏิบัติเต็มกำลังทุกด้าน... อันนี้ท่านสอนละเอียดลออมากทีเดียว...”
ความเคารพผูกพันระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่แนบแน่นฝังจิตของท่านนั้น จะทราบได้ชัดเจนจากคำเทศน์ของท่านตอนหนึ่งว่า
“ผมไปอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ได้กราบท่านอาจารย์มั่นแล้วนอนไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน แม้ที่สุดจะเดินจงกรมก็ต้องหันหน้าไปไหว้ท่านเสียก่อน ถ้ามีรูปท่านเป็นที่หมายของสมมุติ ก็กราบไหว้รูปของท่าน หากไม่มีอะไรเลย ก็เอาคุณธรรมของท่านประกอบเรื่องของสมมุติน้อมนมัสการไป พระคุณของท่านไม่มีวันจืดจาง ประหนึ่งว่าท่านไม่ได้ล่วงลับไป ธรรมชาติอันหนึ่งเป็นอย่างนั้น เหมือนกับดูเราอยู่ตลอดเวลา”
ลัก...ยิ้ม
27-02-2020, 15:53
ลูกหลานพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น
ด้วยอุบายคำแนะนำสั่งสอนจากผู้รู้จริงเห็นจริงเช่นหลวงปู่มั่นนี้เอง ทำให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาภิกษุบริษัทที่เข้ามาศึกษากับหลวงปู่มั่น มีเป็นจำนวนมากแตกกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพราะได้หลักได้เกณฑ์ที่ถูกต้องจากท่านมาเป็นเครื่องดำเนินจนเป็นที่อบอุ่นใจ ท่านเคยเล่าให้พระเณรฟังเกี่ยวกับปฏิปทาของหลวงปู่มั่นว่า
“พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านพาดำเนินอย่างถูกต้องแม่นยำ ถือเอาธุดงควัตร ๑๓ * นี้เป็นพื้นเพในการดำเนิน และการประพฤติปฏิบัติ จิตใจของท่านก็เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ไม่นอกลู่นอกทางทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือริจะทำเพื่อความเด่นความดังอะไร ออกนอกลู่นอกทางนั้นก็ไม่มี เป็นแนวทางที่ราบรื่นดีงามมาก นี่ละเป็นที่นอนใจ เป็นที่ตายใจ ยึดถือไว้ได้โดยไม่ต้องสงสัย ก็คือปฏิปทาเครื่องดำเนินของท่าน
นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านก็มีจำนวนมากพากันดำเนินมา ยึดถือหลักนั้นแหละมาปฏิบัติได้แพร่หลาย หรือกระจายออกไปแก่บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายเป็นแขนง ๆ จนกระทั่งถึงพวกเรานี้ก็มาจากสายของท่านนั่นเอง เป็นที่แน่ใจไม่สงสัย คือไม่มีคำว่าแฝง ๆ หรือแผลง ๆ อะไรออกไป ให้เป็นที่สะดุดตาไม่แน่ใจอย่างนี้ไม่มี ท่านดำเนินอะไรเป็นที่เหมาะสมทั้งนั้น คือมีแบบมีฉบับเป็นเครื่องยืนยันไม่ผิดเพี้ยนไปเลย
===============================
*องค์หลวงตากล่าวไว้ในหนังสือปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานสายท่านอาจารย์มั่นว่า “... ธุดงค์ ๑๓ แต่ละข้อมีความหมาย ในการปราบปรามกิเลสทุกประเภทได้อย่างอัศจรรย์ ยากที่คาดให้ทั่วถึงได้ ดังนี้ ๑. บิณฑบาตเป็นวัตร ๒. บิณฑบาตตามลำดับบ้าน ๓. ไม่รับอาหารที่ตามส่งที่หลัง ๔. ฉันในบาตร ๕. ฉันหนเดียวในวันหนึ่ง ๆ ๖. ถือผ้าสามผืน ๗. ถือผ้าบังสุกุล ๘. อยู่รุกขมูลร่มไม้ ๙. อยู่ป่า ๑๐. อยู่ป่าช้า ๑๑. อยู่กลางแจ้ง ๑๒. อยู่ในที่เขาจัดให้ ๑๓. ถือไม่อยู่อิริยาบถนอน
ลัก...ยิ้ม
28-02-2020, 19:52
นี่เพราะเหตุไร เพราะเบื้องต้นท่านตะเกียกตะกายก็จริง แต่ตะเกียกตะกายตามหลักธรรมหลักวินัย ไม่ได้นอกเหนือไปจากหลักธรรมหลักวินัย หลักวินัยคือกฎของพระ ระเบียบของพระ ท่านตรงเป๋งเลย และหลักธรรมก็ยึดธุดงค์ ๑๓ ข้อนี้เป็นทางดำเนิน ไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางนี้ไปอย่างทางอื่นบ้างเลย นี่จึงเป็นที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกของท่าน
ต่อจากนั้น ท่านก็ปรากฏเห็นผลขึ้นมาโดยลำดับลำดา ดังที่เคยเขียนไว้แล้วในประวัติของท่าน จนกระทั่งเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลโดยสมบูรณ์ในหัวใจท่านแล้ว ก็ประกาศสั่งสอนธรรมแก่บรรดาศิษย์ทั้งหลาย พร้อมทั้งปฏิปทาเครื่องดำเนินด้วยความองอาจกล้าหาญ ไม่มีคำว่าสะทกสะท้านแม้นิดหนึ่งเลย นี่เพราะความแน่ใจในใจของท่านเองทั้งฝ่ายเหตุทั้งฝ่ายผล ท่านเป็นที่แน่ใจทั้งสองฝ่ายแล้ว
พวกบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายที่เข้าไปศึกษาอบรมกับท่าน จึงได้หลักได้เกณฑ์จากความถูกต้องแม่นยำที่ท่านพาดำเนินมา มาเป็นเครื่องดำเนินของตน แล้วถ่ายทอดไปโดยลำดับลำดา ไม่มีประมาณ เฉพาะอย่างยิ่งภิกษุบริษัทมีกว้างขวางอยู่มาก สำหรับลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นแตกกระจายออกไป
การที่ได้ปฏิปทาเครื่องดำเนินจากท่าน.. ผู้รู้ผู้ฉลาดพาดำเนินมาแล้วเช่นนี้เป็นสิ่งที่หายากมาก นี่ละ..เป็นที่ให้ตายใจนอนใจ อุ่นใจได้ ผิดกับที่เราเรียนมาโดยลำพัง และปฏิบัติโดยลำพังเป็นไหน ๆ
ยกตัวอย่างไม่ต้องเอาที่อื่นไกลที่ไหนเลย ผมเองนี่แหละเรียน จะว่าอวดหรือไม่อวดก็ตาม ก็เรียนถึงมหา แต่เวลาจะหาหลักหาเกณฑ์มายึดเป็นเครื่องดำเนินด้วยความอบอุ่น แน่ใจตายใจสำหรับตัวเอง.. ไม่มี จะว่ายังไง นั่น..มันเป็นอย่างนั้น
จิตเสาะแสวงหาแต่ครูบาอาจารย์อยู่ตลอดเวลา เฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น...”
ลัก...ยิ้ม
29-02-2020, 21:47
มหานิกาย ธรรมยุต.. ศากยบุตรอันเดียวกัน
วัดหรือสำนักใดที่มีความตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม องค์หลวงตาก็ให้ความเคารพนับถือเข้ากันได้อย่างสนิทใจ โดยไม่ถือในเรื่องกลุ่มก้อนหมู่เหล่า ไม่ถือเรื่องชาติเรื่องภาษา เรื่องชั้นวรรณะ ไม่ถือเรื่องชื่อเรื่องนิกายเป็นประมาณยิ่งกว่าธรรมวินัย ดังคราวหนึ่งท่านปรารภเรื่องนี้กับพระฝ่ายมหานิกายว่า
“... พระครั้งพุทธกาล ท่านมีแต่ศากยบุตรเท่านั้น ท่านไม่มีนิกายนั้นนิกายนี้ นิกายนี้ตั้งเป็นชื่อเป็นนามไม่เห็นสำคัญอะไร ตั้งฟากจรวดดาวเทียมก็ไปตั้งชื่อนักโทษซิ มันอยู่ในเรือนจำ แต่ชื่อมันอยู่ฟากจรวดดาวเทียม ใครนับถือไหม นักโทษคนนั้น นี่เขา.. ชื่อเขาสูงนะ นักโทษคนนี้นะ เขามาติดคุกต่างหาก คนจะยอมรับนับถือเขาไหม นั่น.. ศากยบุตรของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ถ้าลงมาประพฤติปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องตามหลักธรรมวินัย ก็เรียกว่าลดคุณค่าของตัวลงโดยลำดับ
ชื่อนามไม่เกิดประโยชน์ ชื่อตั้งไว้อย่างงั้นล่ะ ตั้งแต่เป็ด แต่ไก่ หมู หมา เขาก็มีชื่อ พระก็ตั้งไว้อย่างนั้น หลักใหญ่คือศากยบุตร ขอให้ปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย นั่นแลคือผู้จะทรงมรรคทรงผล และผู้ทรงมรรคทรงผลชื่อนามเฉย ๆ นั้น ตั้งไว้ยังงั้นแหละ ไม่ใช่ผู้ทรงมรรคทรงผล .. โลก.. ประเพณีเป็นมาอย่างนั้น.. อย่างพ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นเรานี้ เป็นผู้พูดซะเองนะ..
ลัก...ยิ้ม
03-03-2020, 21:20
พ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่น ท่านไม่ได้สนใจกับชื่อนะ ท่านสนใจกับหลักธรรมหลักวินัยศากยบุตรต่างหาก ฉะนั้นเวลาลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านที่เป็นพระฝ่ายมหานิกายมาขอญัตติ*๑ กับท่าน ท่านอาจารย์มั่นนี่เองพูดให้เราฟังนะ เราถึงได้พูดได้อย่างอาจหาญ ท่านว่า
‘ท่านเหล่านี้ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เราเห็นประโยชน์แก่ส่วนรวมจำนวนมาก และท่านเหล่านี้จะมาขอญัตติกับเรา’ ท่านว่า ‘ไม่ต้องญัตติ’ ท่านพูดตรง ๆ อย่างนี้เลย .. ท่านสั่งเลยนะ
‘มัคคาวรณ์ สัคคาวรณ์*๒ ไม่มี เพศก็ตั้งขึ้นแล้ว ทางสังคมยอมรับกันทั้งธรรมยุตและมหานิกาย นี่เป็นความยอมรับทั่วหน้ากันแล้วในสังคม ส่วนธรรมวินัยก็เป็นที่เปิดทางให้แล้วสำหรับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่มีคำว่านิกายนั้นนิกายนี้ ขอให้เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น เป็นศากยบุตรของพระพุทธเจ้าได้เสมอหน้ากันหมด’ นี่หลวงปู่มั่นท่านแสดง
‘ผมสงสารเพื่อนฝูงของท่านมีจำนวนมาก ถ้าท่านทั้งหลายญัตติเสียแล้ว หมู่เพื่อนก็จะเข้ากันไม่ติด ไม่ต้องญัตติแหละ’
คำว่าเพื่อนฝูงได้แก่ ธรรมยุติ มหานิกาย ที่เขาตั้งชื่อกันอย่างนั้น ... เพราะโลกเขาถือสมมุติ
‘ถ้าญัตติแล้วก็เป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ นี่คณะของท่านมีเป็นจำนวนมาก ควรจะได้รับประโยชน์จากท่านทางด้านอรรถธรรมบ้าง จึงไม่ให้ญัตติ’
ท่านบอกอย่างเด็ดขาดไปเลย ทางด้านปฏิบัติ สัคคาวรณ์ มัคคาวรณ์ ไม่มีต่อผู้ปฏิบัติดี แต่ผู้ปฏิบัติไม่ดีนี้ไม่มีหวัง ว่างั้นเลยนะ อยู่กับข้อปฏิบัติ ... ท่านเล็งผลประโยชน์โน่นนะ ท่านไม่ได้เล็งนิกายนั้นนิกายนี้นะ
‘พอเวลาญัตติแล้วเขาก็จะถือว่าเป็นคณะนั้นคณะนี้ไปเสีย ผู้ที่ไม่เข้าใจในอรรถในธรรมมันก็เข้าไม่ถึง ผลประโยชน์ก็ขาดไป’ ว่างั้น
‘เมื่อพวกท่านได้กระจายออกไปทางด้านธรรมะนี้แล้ว เวลาไปที่ไหน พวกท่านทั้งหลายนี้มีพวกมากเสียด้วย ก็ยิ่งกระจายมาก ผลประโยชน์ก็มาก จึงไม่ต้องญัตติ..ดี’
ท่านว่า ‘ผลประโยชน์มากกว่าญัตติ’
ท่านพูดตรง ๆ เลยนะ ท่านเล่าให้ฟังนะ พูดถึงลูกศิษย์ลูกหาของท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านไม่ได้ว่าธรรมยุติหรือมหานิกาย ใครปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านชมเชยทั้งนั้น นั่นละ..ผู้เป็นธรรมเป็นอย่างนั้น ...
เอาหลักธรรมหลักวินัยนั่นละ เป็นหลักของพระ อันนี้เป็นหลักที่แน่ใจ ตัวเองก็อบอุ่น ไปที่ไหนเย็นล่ะ เพราะพระมีธรรมมีวินัย มีเมตตาไปพร้อม เย็นไปหมด ไม่มีธรรมไม่มีวินัย ใจดำน้ำขุ่น ตีบตันอั้นตู้ ดูไม่ได้ พระใจดำน้ำขุ่น ตีบตันอั้นตู้ หาเมตตาไม่ได้ เป็นฟืนเป็นไฟในตัวเอง ก็ไปเผาบ้านเผาเมืองต่อไปอีกละ เนี่ย..ไม่ดี
ไปที่ไหนเย็น ดูจิตเจ้าของตลอด นี่ละ..ผู้ปฏิบัติธรรมต้องดูจิตเป็นสำคัญ ศีลก็ดี สมาธิ ปัญญาวิมุตติหลุดพ้นออกไปจากจิต สติปัญญารักษาจิต บำรุงจิตใจให้ดี ... อยู่ไหนเย็นสบายไปหมด นี่ละ..มรรคผลนิพพานอยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่ที่คนนั้นคนนี้ ชื่อนั้นชื่อนี้ นิกายนั้นนิกายนี้นะ อันนั้นตั้งไว้โก้ ๆ ไปอย่างงั้นแหละ ...”
ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไม่ว่านิกายใด ท่านจึงเข้ากันได้อย่างสนิทใจ ดังนี้
“...พระผู้มุ่งธรรมมุ่งวินัยด้วยกันแล้ว ไปที่ไหนสนิทกันหมด ไม่ได้เหมือนโลกนะ ไม่มีนิยมนิกายนั้นนิกายนี้ ขอให้ปฏิบัติดีเข้ากันได้ สนิททันทีเลย ... สำหรับหลวงตาบัวเอง ใครจะว่าบ้าก็ตาม ไม่มีชื่อ ตั้งไว้อย่างนั้นโก้ ๆ ไปอย่างนั้นละ ธรรมยุตมหานิกายใครก็ตาม ถ้าปฏิบัติไม่ดีแล้ว จะเป็นเทวดามาจากฟ้าก็ไม่เป็นประโยชน์ อะไรแหละ ...
แม้จะเป็นนิกายเดียวกัน ชื่อเดียวกันก็ตาม ถ้าปฏิบัติไม่ดีแล้วไม่เข้าหน้านะ ไม่อยากมองดูจนกระทั่งหน้าจะว่าอะไร ธรรมวินัยเป็นเครื่องบังคับหรือเป็นเครื่องยืนยันว่า จะเข้ากันได้สนิทหรือไม่สนิทเพราะอะไร ถ้าธรรมวินัย การปฏิบัติเข้ากันได้แล้ว เป็นศากยบุตรเหมือนกันหมด...”
.....................................................................
*๑ บวชญัตติจากมหานิกายเป็นธรรมยุต
*๒ สิ่งกีดขวางสวรรค์ นิพพาน
ลัก...ยิ้ม
04-03-2020, 16:40
พระธรรมเทศนาขององค์หลวงตา
ว่าด้วยความรู้ปริยัติในภาคปฏิบัติ
อนัตตลักขณสูตรภาคปฏิบัติ
“... รูปัง อนัตตา เวทนา อนัตตา สัญญา อนัตตา สังขารา อนัตตา นั่นเห็นไหม อนัตตลักขณสูตรน่ะ อันนั้นก็อนัตตา อนัตตา ปล่อย ๆ อย่ายึด ปล่อย ๆ เรื่อย ๆ อันนี้ก็ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีแต่ขวากแต่หนาม มีแต่ฟืนแต่ไฟ ปล่อย ๆ อย่าเหยียบอย่าย่าง อย่าไปแตะ อย่าไปจับ อย่าไปยึด ถ้าไม่อยากให้ถูกเผาทั้งมือนั่น พูดง่าย ๆ ว่างั้น เหมือนกับว่าตีข้อมือไว้ เอา.. ก้าวนี้ ตีขาไว้.. ก้าวไปตรงนี้อย่าก้าวไปตรงนั้น ก้าวไปเรื่อย เอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นทางเดินพิจารณานี้ ปล่อยไปเรื่อย เข้าใจเรื่อย ๆ นั่น วุสิตัง พรัหมจริยัง กตัง กรณียัง นาปรัง อิตถัตตายาติ ปชานาตีติ ท่านถึงรู้ว่าจะว่าไง แต่พูดตามความจริงนี้ ผมก็พูดได้แค่นั้นละ
สำหรับ อนัตตลักขณสูตร ถ้าหากเราจะพูดตามสูตรนี้จริง ๆ สำหรับจิตผมนี้ไม่สนิทนะ แต่อาทิตตปริยายสูตร ผมลงร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะภาคปฏิบัติเป็นอย่างนั้นจริง ๆ นี่ ผมว่าถ้าจะคิดว่าท่านเทศน์มามาก แล้วท่านย่นเอามานี้ผมก็ไม่สนิทใจ มันเลยไปลงเอาผู้ที่จดจารึกเสียมากนะ ผู้จดจารึกเป็นคนประเภทใด นั่น.. ถ้าเป็นพระอรหันต์จดจารึกแล้วจะเต็มภูมิ เหมือนอย่างอาทิตตปริยายสูตร อันนั้นผมหาที่แย้งไม่ได้เลย ภาคปฏิบัติลงได้อย่างสนิทร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นี้ไม่เป็นอย่างนั้น อนัตตลักขณสูตรนี่ไม่ลงจิตนี่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อนัตตา พออันนี้เป็น อนัตตา แล้วเบื่อหน่ายไปเลย นิพพินทัง วิรัชชติ วิราคา วิมุจจติ ไปเลย คือเมื่อเบื่อหน่ายในอาการทั้งห้านี้แล้วย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดแล้วย่อมหลุดพ้น
เบื่อหน่ายเพียงห้านี้หลุดพ้นได้ยังไง ถ้าภาคปฏิบัติมันไปกองอยู่ในจิตนั้นน่ะ เห็นได้ชัด ๆ ในภาคปฏิบัติ เราเป็นอย่างนี้นี่นะ คือเอาความจริงนี้ออกมายันกัน พอถึงอาทิตตปริยายสูตร แหม แจงละเอียดมากนะ จักขุสมิงปิ นิพพินทติ รูเปสุปิ นิพพินทติ คือเบื่อหน่ายทั้งทางรูป ทั้งทางตา ทั้งทางเสียง ทั้งทางหู ย้อนหน้าย้อนหลังเรื่อย ๆ ตลอดถึงสิ่งที่มาสัมผัสสัมพันธ์กัน ทำให้เกิดสุขบ้าง ทุกข์บ้าง อะไรบ้าง .. เลยเบื่อหน่าย ๆ ไปหมด ทั้งสุขทั้งทุกข์เรื่อยไปจนกระทั่งถึง มนัสมิงปิ นิพพินทติ ธัมเมสุปิ นิพพินทติ แล้วก็ วิญญาเณปิ นิพพินทติ ว่าไปหมด เบื่อหน่ายในจิต เบื่อหน่ายในธรรม คือสิ่งที่มาสัมผัสกับจิต อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากจิตเบื่อหน่าย แล้วเมื่ออารมณ์เกิดขึ้นจะเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นเวทนาอะไร ๆ ขึ้นมา.. เบื่อหน่ายหมด ๆ แน่ะ ละเอียดมากนะ เข้าถึงจิตแล้วนี่ เบื่อหน่ายเข้าถึงจิตแล้วก็ถึงธรรมซิ ธรรมก็หมายถึงอวิชชาอยู่ในนั้น จะว่าไงเข้าถึงนั้นหมดเลย จนแตกกระจายไปแล้ว นิพพินทติ วิรัชชติ เรื่อยไป นี้ลงเต็มที่ผม แต่อนัตตลักขณสูตรนี้ไปถึงขันธ์ ๕ ไปนั้นหมด ...
อนัตตลักขณสูตรแจงไปถึงขันธ์ ๕ จบแล้วก็ไปเลย เบื่อหน่ายจิตนั่นยังไม่ถึง เอ๊.. ทำให้คิดไปถึงเรื่องผู้รจนานี้ ทำให้คิดไปหลายแง่เหมือนกันนะทุกวันนี้ ตั้งแต่ก่อนผมไม่ได้คิดอะไรมากนักนะ แต่เกี่ยวข้องกับผู้รจนาคัมภีร์เหล่านั้น ๆ เป็นคนประเภทใด ถ้าเป็นประเภทอรหันต์แล้วจะถึงใจ ๆ มาโดยลำดับเลย เพราะเอาความจริงออกมา อันนั้นกางมา ความจริงอันนี้อยู่ในหัวใจนี้ มันวิ่งถึงกันปั๊บ ๆ ประสานกันอย่างนี้ ทีนี้เอาแต่ความจำ ท่านว่าอะไรเอาแต่ความจำเข้าไปใส่มัน ไม่มีคุณค่า มันหลุดมันขาด มันตกไปได้นี่ ถ้าลงความจริงฝังอยู่ในหัวใจแล้ว ว่าไปตรงไหนมันสัมผัสสัมพันธ์กัน ประสานกันอย่างนี้ ๆ มันก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย
เอ้า.. เรายกตัวอย่างเช่น เราจะไปเขียนประวัติของพระอรหันต์ เอาลองดูซิ เพียงความจำเรานี้ จะเขียนประวัติของพระอรหันต์ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นไปไม่ได้ ผมว่างั้นเลย ถ้าเป็นพระอรหันต์เขียนประวัติของพระอรหันต์แล้วเต็มหมดเลย แน่ะ เพราะความจริงเป็นอันเดียวกัน ท่านผ่านไปแล้วก็ตาม ความจริงอันนี้รู้กัน อยู่นี้มันไม่ผ่าน วิ่งถึงกันได้ปุบ ๆ ๆ เลย แน่ะ..นั่นซิ..ตอนถึงขั้นธรรมละเอียดละซิ ตอนมันจะไปไม่ได้ เอาเพียงความจำเฉย ๆไปไม่ได้ ถ้าไม่มีความจริงเป็นเชื้อวิ่งถึงกัน ประสานกันกับประวัติของท่าน นั่นน่ะมันสำคัญ..”
ลัก...ยิ้ม
08-03-2020, 16:12
ทุกข์ สมุทัย ประกาศท้าทายตลอดเวลา
“... สัจธรรม เฉพาะอย่างยิ่ง ๒ อย่าง ประกาศท้าทายเราอยู่ตลอดเวลา เราจะสู้หรือไม่สู้ รบหรือไม่รบ ทุกข์กับสมุทัยประกาศอยู่ในหัวใจเรา ทั้งทางร่างกาย ชาติปิทุกขา ชราปิทุกขา มรณัมปิทุกขา นี้ประกาศทางกาย เรื่องของทุกข์ โสกปริเทว นั่นเป็นทางใจ โสก หมายถึงใจ โสกปริเทวทุกขโทมนัสสุปายาสาปิทุกขา อัปปิเยหิ สัมปโยโค ทุกโข นี่เกี่ยวกับทางใจ นี่ทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจแสดงให้เห็นได้ชัดอยู่ภายในจิตใจ นี่ละที่ว่า เอหิปัสสิโก ท่านจงดู ท่านบอกเรานั้นเอง เอหิ ท่าน ตวัง อันว่าท่าน เอหิ จงมาดู ดูตรงที่นี่ ธรรมส่อแสดงอยู่ที่นี่ ทุกข์ก็ส่องอยู่ที่นี่
สมุทัย คืออะไร สัจธรรม ๒ อย่างนี้เด่นอยู่เวลานี้ หากสติปัญญาของเรายังไม่เด่น อันนี้ต้องเด่นอยู่เสียก่อน ดูให้ดี พิจารณาให้ดี นันทิราคสหคตา ตัตรตัตราภินันทินี เสยยถีทัง กามตัณหา ภวตัณหา วิภาวตัณหา สิ่งที่สหคตไปด้วยความรื่นเริงบันเทิงนั้นเป็นไปจากอะไร เป็นไปจากกามตัณหา ภาวตัณหา วิภาวตัณหา ที่แสดงอยู่ในจิตนี้ มีแต่สัจจธรรมประเภทนี้
เอหิ จงดูที่นี่ คือ เอหิ น้อมใจเข้ามาดูที่นี่ ถ้าหากเป็นกิริยาของคน ก็ เอหิ จงมา แต่นี้เป็นเรื่องของกรรม เป็นเรื่องกระแสของจิต เอหิ จงย้อนจิตเข้ามาดูที่นี่ ...”
ลัก...ยิ้ม
09-03-2020, 10:57
มัชฌิมาปฏิปทา ภาคปฏิบัติของนักบวชและฆราวาส
“... คำว่า สติปัฎฐานก็ดี อริยสัจก็ดี เป็นปัจจุบันธรรมซึ่งปรากฏอยู่กับกายกับใจของเราตลอดเวลา ในมัชฌิมาปฏิปทาทรงตรัสไว้ว่า
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คำว่าเห็นชอบทั่ว ๆ ไปก็มี เห็นชอบในวงจำกัดก็มี และเห็นชอบในธรรมส่วนละเอียดยิ่งก็มี ความเห็นชอบของผู้ถือพระพุทธศาสนาทั่ว ๆ ไปโดยมีวงจำกัด เช่น เห็นว่าบาปมีจริง บุญมีจริง ผู้ทำดีได้รับผลดี ผู้ทำชั่วได้รับผลชั่ว เป็นต้น นี่ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิชั้นหนึ่ง ความเห็นในวงจำกัดของนักปฏิบัติผู้ประกอบการพิจารณาสติปัฏฐาน หรืออริยสัจสี่ โดยกำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ประจำตนทุกอาการด้วยปัญญา
ปลุกศรัทธาความเชื่อมั่นลงในพระสัจธรรม เพราะการพิจารณาไตรลักษณ์เป็นต้นเหตุ และถือไตรลักษณ์ที่มีอยู่ในสภาวธรรมนั้น ๆ เป็นทางเดินของปัญญา และพิจารณาในอริยสัจ.. เห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นจากกายและจากใจทั้งของตนและของคนอื่น สัตว์อื่น ว่าเป็นสิ่งไม่ควรประมาทนอนใจ พร้อมทั้งความเห็นโทษในสมุทัย คือแหล่งผลิตทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่สัตว์เสวยผลไม่มีประมาณตลอดกาล และเตรียมรื้อถอนสมุทัยด้วยปัญญา เพื่อก้าวขึ้นสู่นิโรธ คือ แดนสังหารทุกข์โดยสิ้นเชิง นี่ก็เรียกว่า สัมมาทิฏฐิขั้นหนึ่ง
สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบในธรรมส่วนละเอียดนั้น ได้แก่ ความเห็นชอบในทุกข์ว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง ความเห็นชอบในสมุทัยว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง ความเห็นชอบในนิโรธว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง และความเห็นชอบในมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ว่าเป็นของจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความเห็นชอบโดยปราศจากการตำหนิติชมในอริยสัจและสภาวธรรมทั่ว ๆ ไป จัดเป็นสัมมาทิฏฐิขั้นหนึ่ง
สัมมาทิฏฐิ มีหลายขั้นตามภูมิของผู้ปฏิบัติในธรรมขั้นนั้น ๆ ถ้าสัมมาทิฏฐิมีเพียงขั้นเดียว ปัญญาจะมีหลายขั้นไปไม่ได้ เพราะกิเลสความเศร้าหมองมีหลายขั้น ปัญญาจึงต้องมีหลายขั้น เพราะเหตุนี้เอง สัมมาทิฏฐิจึงมีหลายขั้นตามที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว
ลัก...ยิ้ม
13-03-2020, 12:40
ในปฏิปทาข้อ ๒ ตรัสว่า สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ มี ๓ ประการคือ ดำริในทางไม่เบียดเบียน ดำริในทางไม่พยาบาทปองร้าย ดำริเพื่อออกจากเครื่องผูกพัน
ดำริในทางไม่เบียดเบียน คือ ไม่คิดเบียดเบียนคนและสัตว์ ไม่คิดเบียดเบียนตนเองด้วย ไม่คิดให้เขาได้รับความทรมานลำบากเพราะความคิดของเราเป็นต้นเหตุ และไม่คิดหาเรื่องลำบากฉิบหายใส่ตนเอง เช่น ไม่คิดจะเสพยาเสพติด มีสุรา ฝิ่น และเฮโรอีน เป็นต้น
ดำริในทางไม่พยาบาท คือ ไม่คิดปองร้ายหมายฆ่าใคร ๆ ทั้งสัตว์และมนุษย์ ไม่คิดเพื่อความชอกช้ำและฉิบหายแก่ใคร ไม่คิดให้เขาได้รับความเจ็บปวด บอบช้ำ หรือล้มตายลงไป เพราะความคิดของเราเป็นต้นเหตุ และไม่คิดปองร้ายหมายฆ่าตัวเอง เช่น คิดฆ่าตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ ดังปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เสมอ นี่คือผลเกิดจากความคิดผิด ตัวเองเคยมีคุณแก่ตัว และเป็นสมบัติอันล้นค่าแก่ตัวเอง เพราะความคิดผิดจึงปรากฏว่าตัวกลับเป็นข้าศึกแก่ตัวเอง เรื่องเช่นนี้เคยมีบ่อย พึงทราบว่าเป็นผลเกิดจากความดำริผิดทาง ผู้รักษาตัวและสงวนตัวแท้ เพียงแต่จิตคิดเรื่องไม่สบายขึ้นภายในใจเท่านั้น ก็รีบระงับดับความคิดผิดนั้นทันทีด้วยเนกขัมมอุบาย ไหนจะยอมปล่อยความคิดที่ผิดให้รุนแรงขึ้นถึงกับฆ่าตัวตาย เป็นตัวอย่างแห่งคนรักตัวที่ไหนมี
ความดำริเพื่อออกจากเครื่องผูกมัด นี่ถ้าเป็นความดำริทั่ว ๆ ไป ตนคิดอ่านการงานเพื่อเปลื้องตนออกจากความยากจนข้นแค้น เพื่อความสมบูรณ์พูนผลในสมบัติ ไม่อดอยากขาดแคลน ก็จัดเข้าในเนกขัมมะสังกัปโปของโลกประการหนึ่ง
ผู้ดำริให้ทาน รักษาศีล ภาวนา คิดสร้างถนนหนทาง ขุดบ่อน้ำ ก่อพระเจดีย์ ทะนุบำรุงปูชนียสถานที่ชำรุดทรุดโทรม สร้างกุฏิ วิหาร ศาลา เรือนโรงต่าง ๆ โดยมุ่งกุศลเพื่อยกตนให้พ้นจากกองทุกข์ ก็จัดเป็นเนกขัมมสังกัปโปประการหนึ่ง
ผู้ดำริเห็นภัยในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเกิดในสัตว์และสังขารทั่ว ๆ ไปทั้งเขาทั้งเรา ไม่มีเวลาว่างเว้น เห็นเป็นโอกาสอันว่างสำหรับเพศนักบวชจะบำเพ็ญเป็นเณร นี่ก็จัดเป็นเนกขัมมสังกัปโปประการหนึ่ง
นักปฏิบัติมีความดำริพิจารณาอารมณ์แห่งกรรมฐานของตน เพื่อความปลดเปลื้องจิตออกจากนิวรณธรรมทั้งหลาย โดยอุบายต่าง ๆ จากความดำริคิดค้น ไม่มีเวลาหยุดยั้งเพื่อเปลื้องกิเลสทุกประเภท ด้วยสัมมาสังกัปโปเป็นขั้น ๆ จนกลายเป็นสัมมาสังกัปโปอัตโนมัติ กำจัดกิเลสเป็นขั้น ๆ ด้วยความดำริคิดค้นตลอดเวลา จนกิเลสทุกประเภทหมดสิ้นไปเพราะความดำรินั้น ๆ นี่ก็จัดเป็นสัมมาสังกัปโปประการสุดท้ายแห่งการอธิบายปฏิปทาข้อที่สอง
ลัก...ยิ้ม
16-03-2020, 20:50
ปฏิปทาข้อที่ ๓ ตรัสไว้ว่า สัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ นี่กล่าวชอบทั่ว ๆ ไปก็มี กล่าวชอบยิ่งในวงแห่งธรรมโดยจำเพาะก็มี กล่าวชอบตามสุภาษิตไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ฟัง กล่าวมีเหตุผลน่าฟัง จับใจไพเราะเสนาะโสต กล่าวสุภาพอ่อนโยน กล่าวถ่อมตนเจียมตัว กล่าวขอบบุญขอบคุณต่อผู้มีคุณทุกชั้น เหล่านี้จัดเป็นสัมมาวาจา ประการหนึ่ง
สัมมาวาจา ที่ชอบยิ่งในวงแห่งธรรมโดยจำเพาะนั้น คือกล่าวใน สัลเลขธรรม เครื่องขัดเกลากิเลสโดยถ่ายเดียว ได้แก่กล่าวเรื่องความมักน้อยในปัจจัยสี่เครื่องอาศัยของพระ กล่าวเรื่องความสันโดษ ยินดีตามมีตามได้แห่งปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยชอบธรรม กล่าวเรื่อง อสังสัคคณิกา ความไม่คลุกคลีมั่วสุมกับใคร ๆ ทั้งนั้น วิเวกกตา กล่าวความสงัดวิเวกทางกายและทางใจ วิริยารัมภา กล่าวเรื่องการประกอบความเพียร กล่าวเรื่องการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ กล่าวเรื่องการทำสมาธิให้เกิด กล่าวเรื่องการอบรมปัญญาให้เฉลียวฉลาด กล่าวเรื่อง วิมุตติ คือความหลุดพ้น และกล่าวเรื่อง วิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้เห็นอันแจ้งชัดในความหลุดพ้น นี่จัดเป็นสัมมาวาจาส่วนละเอียด การกล่าวนั้นไม่ใช่กล่าวเฉย ๆ กล่าวรำพัน กล่าวรำพึง กล่าวด้วยความสนใจและความพออกพอใจ ใคร่ต่อการปฏิบัติในสัลเลขธรรมจริง ๆ
ลัก...ยิ้ม
26-03-2020, 17:55
ในปฏิปทาข้อ ๔ ตรัสไว้ว่า สัมมากัมมันโต การงานชอบ การงานชอบทั่ว ๆ ไปประการหนึ่ง การงานชอบในธรรมประการหนึ่ง การงานทำโดยชอบธรรม ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง เช่น การทำนา ทำสวน การซื้อขายแลกเปลี่ยน เหล่านี้จัดเป็นการงานชอบ การปลูกสร้างวัดวาอาราม และการให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ก็จัดเป็นการงานชอบ แต่ละอย่าง ๆ เป็นสัมมากัมมันโตประการหนึ่ง การเดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็จัดเป็นการงานชอบด้วยการเคลื่อนไหวของ กาย วาจา ใจ ทุกอาการพึงทราบว่าเป็นกรรมคือการกระทำ การทำด้วยกาย พูดด้วยวาจา และคิดด้วยใจ เรียกว่าเป็นกรรม คือการกระทำ ทำถูก พูด คิดถูก เรียกว่า สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
คำว่า การงานชอบ มีความหมายกว้างขวางมาก แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะน้อมไปใช้ในทางใด เพราะโลกกับธรรมเป็นคู่เคียงกันมา เหมือนแขนซ้ายแขนขวาของคนคนเดียว จะแยกโลกกับธรรมจากกันไปไม่ได้ และโลกก็มีงานทำ ธรรมก็มีงานทำด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากภาวะของคนและการประกอบไม่เหมือนกัน การงานจะให้ถูกรอยพิมพ์อันเดียวกันย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น ผู้อยู่ในฆราวาสก็ขอให้ประกอบการงานถูกกับภาวะของตน ผู้อยู่ในธรรมคือนักบวช เป็นต้น ก็ขอให้ประกอบการงานถูกกับภาวะของตน อย่าให้การงานและความเห็นก้าวก่ายไขว้เขวกัน ก็จัดว่าต่างคนต่างสัมมากัมมันตะ การงานชอบด้วยกัน โลกและธรรมก็นับวันจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ เพราะต่างท่านต่างช่วยกันพยุง
ลัก...ยิ้ม
05-04-2020, 17:40
ปฏิปทาข้อ ๕ ตรัสไว้ว่า สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ การเลี้ยงชีพด้วยการรับประทานธรรมดาของมนุษย์และสัตว์ทั่ว ๆ ไป ประการหนึ่ง การหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยอารมณ์อันเกิดจากเครื่องสัมผัส ประการหนึ่ง การหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยธรรมเป็นขั้น ๆ ประการหนึ่ง
การแสวงหาอาชีพโดยชอบธรรม ปราศจากการปล้นสดมภ์ฉกลักของใคร ๆ มาเลี้ยงชีพ หาได้มาอย่างไรก็บริโภคเท่าที่มี พอเลี้ยงอัตภาพไปเป็นวัน ๆ หรือจะมีมากด้วยความชอบธรรม ก็จัดเป็นสัมมาอาชีโว ประการหนึ่ง
ใจได้รับความสัมพันธ์จากสิ่งภายนอก คือ รูปหญิงชาย เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสของหญิงชาย และสิ่งของที่ถูกกับจริตชอบ เกิดเป็นอารมณ์เข้าไปหล่อเลี้ยงจิตใจ.. ให้มีความแช่มชื่นเบิกบาน หายความโศกเศร้ากันแสง มีแต่ความรื่นเริงบันเทิงใจ กลายเป็นอายุวัฒนะขึ้นมา แต่ถ้าแสวงผิดทางก็กลายเป็นพิษเครื่องสังหารใจ นี่ก็จัดเป็นสัมมาอาชีพ สำหรับโลกผู้มีมัตตัญญุตา รู้จักประมาณและขอบเขตที่ควรหรือไม่ควร
การบำรุงจิตใจด้วยธรรมะ คือ ไม่นำโลกที่เป็นยาพิษเข้ามารังควานใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสธรรมารมณ์ ให้พึงพิจารณาเป็นธรรมเสมอไป อย่าให้เกิดยินดียินร้ายจะกลายเป็นความฝืดเคืองขึ้นภายในใจ การพิจารณาเป็นธรรมจะนำอาหาร คือโอชารสแห่งธรรมเข้ามาหล่อเลี้ยงหัวใจ ให้มีความชื่นบานด้วยธรรมภายในใจ ให้มีความชุ่มชื่นด้วยความสงบแห่งใจ ให้มีความชุ่มชื่นด้วยความเฉลียวฉลาดแห่งปัญญา ไม่แสวงหาอารมณ์อันเป็นพิษเข้ามาสังหารใจของตน พยายามนำธรรมเข้ามาหล่อเลี้ยงเสมอ
อายตนะภายในมี ตา หู เป็นต้น กระทบกับอายตนะภายนอก มีรูป เสียง เป็นต้น ทุกขณะที่สัมผัสจงพิจารณาเป็นธรรม คือความรู้เท่าและปลดเปลื้องด้วยอุบายเสมอไป อย่าพิจารณาให้เป็นเรื่องของโลกแบบจับไฟเผาตัวเอง จะกลายเป็นความร้อนขึ้นที่ใจ จงพยายามกลั่นกรองอารมณ์ที่เป็นธรรมเข้าไปหล่อเลี้ยงจิตใจอยู่ตลอดเวลา อาหารคือโอชารสแห่งธรรมจะหล่อเลี้ยงและรักษาใจให้ปลอดภัยเป็นลำดับ ที่อธิบายมานี้จัดเป็นสัมมาอาชีวะประการหนึ่ง
ลัก...ยิ้ม
18-05-2020, 10:49
ปฏิปทาข้อ ๖ ตรัสไว้ว่า สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ ท่านว่าเพียรในที่สี่สถานคือ เพียรระวังอย่าให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน หนึ่ง เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป หนึ่ง เพียรยังกุศลให้เกิดขึ้น หนึ่ง เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วอย่าให้เสื่อมสูญไป หนึ่ง โอปนยิโก น้อมเข้าในหลักธรรมที่ตนกำลังปฏิบัติได้ทุกขั้น แต่ที่นี่จะน้อมเข้าในหลักสมาธิกับปัญญาตามโอกาสอันควร พยายามระวังรักษาจิตที่เคยฟุ้งซ่านไปตามกระแสแห่งตัณหาเพราะความโง่เขลาฉุดลากไปหนึ่ง ความดิ้นรนกวัดแกว่งของจิตที่เคยเป็นมา จงพยายามทรมานให้หายพยศด้วยอำนาจสติและปัญญาเป็นเครื่องฝึกทรมาน หนึ่ง
ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นธรรมแก้กิเลสทุกประเภท จงพยายามอบรมให้เกิดขึ้นกับใจของตน ถ้าต้องการไปนิพพานดับไฟกังวลให้สิ้นซาก จงอย่าเห็นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นกรวดเป็นทราย ศีล สมาธิ ปัญญา ทุก ๆ ขั้นได้ปรากฏขึ้นกับตนแล้ว อย่ายอมให้หลุดมือไปด้วยความประมาท จงพยายามบำรุงศีล สมาธิ ปัญญา ทุก ๆ ขั้นที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญเต็มที่ จนสามารถแปรรูปเป็นมรรคญาณประหารกิเลสแม้อนุสัยให้สิ้นซากลงเสียที แดนแห่งวิมุตติพระนิพพานที่เคยเห็นว่าเป็นธรรมเหลือวิสัย จะกลายเป็นธรรมประดับใจทันทีที่กิเลสสิ้นซากลงไป
ลัก...ยิ้ม
19-05-2020, 10:09
ในปฏิปทาข้อ ๗ ตรัสไว้ว่า สัมมาสติ ความระลึกชอบ ได้แก่การตั้งสติ ระลึกตามประโยคความเพียรของตน ตนกำหนดธรรมบทใดเป็นอารมณ์ของใจ เช่น พุทโธ หรือ อานาปานสติ เป็นต้น ให้มีสติระลึกธรรมนั้น ๆ หรือตั้งสติกำหนดในสติปัฏฐานสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งกำหนดเพื่อสมาธิ ทั้งการพิจารณาเพื่อปัญญา ให้มีสติความระลึกในประโยคความเพียรของตนทุก ๆ ประโยค จัดเป็นสัมมาสติที่ชอบข้อหนึ่ง
ลัก...ยิ้ม
31-05-2020, 12:54
ปฏิปทาข้อ ๘ ตรัสไว้ว่า สัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ชอบ ได้แก่สมาธิที่สัมปยุตปัญญา ไม่ใช่สมาธิแบบหัวตอ และไม่ใช่สมาธิที่ติดแน่นทั้งวันทั้งคืนไม่ยอมพิจารณาทางด้านปัญญาเลย โดยเห็นว่าสมาธิเป็นธรรมประเสริฐพอตัว จนเกิดความตำหนิติโทษปัญญา หาว่าเป็นของเก๊ไปเสีย สมาธิประเภทนี้เรียกว่า มิจฉาสมาธิ ไม่จัดเป็นสมาธิที่จะทำบุคคลให้พ้นจากทุกข์ไปโดยชอบธรรม ส่วนสมาธิที่จะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์นั้น ต้องกำหนดลงไปในหลักธรรมหรือบทธรรมตามจริตชอบ ด้วยความมีสติกำกับรักษา จนจิตรวมลงเป็นสมาธิได้ และจะเป็นสมาธิประเภทใดก็ตาม เมื่อรู้สึกจิตของตนสงบหรือหยุดจากการคิดปรุงต่าง ๆ รวมอยู่เป็นเอกเทศอันหนึ่งจากสิ่งแวดล้อมทั้งหลายจนกว่าจะถอนขึ้นมา จัดเป็นสมาธิที่ชอบ
และไม่เหมือนสมาธิซึ่งรวมลงไปแล้วไม่ทราบกลางวันกลางคืน เป็นตายไม่ทราบทั้งนั้น เหมือนคนตายแล้ว พอถอนขึ้นมาจึงระลึกย้อนหลัง ว่าจิตรวมหรือจิตไปอยู่ที่ไหนไม่ทราบ นี่เรียกว่าสมาธิหัวตอ เพราะรวมลงแล้วเหมือนหัวตอ ไม่มีความรู้สึก สมาธิประเภทนี้จงพยายามละเว้น แม้ที่เกิดขึ้นแล้วรีบดัดแปลงเสียใหม่ สมาธิที่กล่าวนี้เคยมีในวงนักปฏิบัติด้วยกัน วิธีแก้ไขคือหักห้ามอย่าให้รวมลงตามที่เคยเป็นมาจะเคยตัวตลอดกาล จงบังคับให้ท่องเที่ยวในสกลกายโดยมีสติบังคับเข้มแข็ง บังคับให้ท่องเที่ยวกลับไปกลับมา และขึ้นลงเบื้องบนเบื้องล่างจนควรแก่ปัญญาและมรรคผลต่อไป
ส่วนสัมมาสมาธิ เมื่อจิตรวมลงไปแล้ว มีสติรู้ประจำอยู่ในองค์สมาธินั้น เมื่อถอนขึ้นมาแล้วควรจะพิจารณาทางปัญญาในสภาวธรรมส่วนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกาย ในจิต ก็พิจารณาในโอกาสอันควร สมาธิกับปัญญาให้เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกันเสมอไป อย่าปล่อยให้สมาธิเดินเหินไปแบบไม่มองหน้ามองหลังโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอะไรทั้งนั้น
สรุปความแล้ว สติ สมาธิ ปัญญา ทั้งสามนี้เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกัน โดยจะแยกจากกันให้เดินแต่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ สมาธิกับปัญญาต้องผลัดเปลี่ยนกันเดิน โดยมีสติเป็นเครื่องตามรักษาทั้งสมาธิและปัญญา
นี่แลปฏิปทาทั้ง ๘ ที่ได้อธิบายมาโดยอิงหลักธรรมบ้าง โดยอัตโนมัติบ้าง ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ ถึงสัมมาสมาธิ พึงทราบว่าเป็นธรรมหลายชั้น แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะนำไปปฏิบัติตามภูมิแห่งธรรมและความสามารถของตน
ในปฏิปทาทั้ง ๘ ประการนี้ ไม่เลือกว่านักบวชหรือฆราวาส ใครสนใจปฏิบัติให้บริบูรณ์ได้ ผลคือวิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นสมบัติอันล้ำค่าของผู้นั้น เพราะศีล สมาธิ ปัญญารวมอยู่ในมรรคนี้ และเป็นเหมือนกุญแจไขวิมุตติทั้งสองให้ประจักษ์กับใจอย่างเปิดเผย
อนึ่ง ท่านนักปฏิบัติอย่าพึงเข้าใจว่า วิมุตติกับวิมุตติญาณทัสสนะทั้งสองนี้.. แยกกันไปอยู่ในที่ต่างแดนหรือแยกกันทำหน้าที่คนละขณะ ที่ถูกไม่ใช่อย่างนั้น เขาตัดไม้ให้ขาดด้วยขวาน ขณะไม้ขาดจากกัน ตาก็มองเห็น ใจก็รู้ว่าไม้ท่อนนี้ขาดแล้วด้วยขวาน เห็นด้วยตากับรู้ด้วยใจเกิดขึ้นในขณะเดียวกันฉันใด วิมุตติและวิมุตติญาณทัสสนะก็ทำหน้าที่รู้เห็นกิเลสขาดจากใจด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ในขณะเดียวกันฉันนั้น จากนั้นแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรให้ยุ่งยากอีกต่อไป เพราะปัญหายุ่งยากก็คือปัญหากิเลสกับใจเท่านั้นที่ใหญ่ยิ่งในไตรภพ เมื่อปล่อยใจอันเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดแล้ว กิเลสซึ่งเป็นสิ่งอาศัยอยู่กับใจก็หลุดลอยไปเอง ศีล สมาธิ ปัญญาและวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็ปล่อยวางไว้ตามเป็นจริง เรียกว่าต่างฝ่ายต่างจริงแล้วก็หมดคดีคู่ความลงเพียงเท่านี้...”
ลัก...ยิ้ม
01-06-2020, 12:24
วิหารจิต วิหารธรรม
พระอรหันตขีณาสพ คือพระอรหันต์ผู้หมดอาสวะแล้ว เพราะกำจัดอาสวะคือกิเลสที่หมักหมมอยู่ในจิต.. ที่ชุบย้อมจิตให้ชุ่มอยู่เสมอได้แล้วอย่างสิ้นเชิง ไม่กลับมาทำอันตรายจิตได้อีกต่อไป เทศน์อบรมพระคราวหนึ่ง องค์หลวงตากล่าวถึงวิหารธรรมของพระอรหันต์ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนี้
“... การภาวนาในท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วมีสองประเภทดังกล่าวนี้ ประเภทที่หนึ่ง เพื่อบรรเทาธาตุขันธ์.. อิริยาบถต่าง ๆ ยืนนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ นอนนานก็ทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เพื่อบรรเทาขันธ์ให้อยู่ในความพอเหมาะพอดี ในระหว่างขันธ์กับจิตที่ครองกันอยู่นี้ ... ประเภทที่สอง เพื่อพิจารณาจิตกับธรรมทั้งหลาย ... อย่างพระพุทธเจ้าก็ส่องโลกธาตุ พิจารณาเล็งญาณดูสัตว์โลกด้วยจิตที่บริสุทธิ์แล้วนั้น พิจารณาอย่างนั้น ๆ แล้วพระอรหันต์ท่านก็ทำเต็มภูมิของท่าน พิจารณาเต็มภูมิเต็มกำลังของท่านนั้นแล ... เกี่ยวกับสัตวโลกทั้งหลายมีความลึกตื้นหนาบาง หยาบละเอียด ตลอดถึงสัตวโลกเป็นยังไง ๆ จะรู้ในเวลาท่านพิจารณานี้แจ่มแจ้งขึ้นอันหนึ่ง อันหนึ่งอยู่ธรรมดาท่านก็รู้ตามธรรมดา ถ้าท่านพิจารณานั้นก็ยิ่งละเอียดลออเข้าไป รู้มากเข้าไปโดยลำดับลำดา ... เพื่ออยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม คือเวลายังครองขันธ์อยู่ ท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เหมือนเรานั้นแล..
แม้แต่พระขีณาสพท่าน ท่านก็ต้องอาศัยสมาธิเป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่สบายในทิฏฐธรรม จนกระทั่งวันท่านนิพพานท่านถึงจะปล่อยนี้ได้ อันนี้เป็นวิหารธรรมของท่านคือสมาธิ ปัญญาพิจารณาเหตุผลเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องธรรมในแง่ต่าง ๆ หรือพิจารณาร่างกายเป็นวิหารธรรมเหมือนกัน มันก็เป็นเครื่องรื่นเริงระหว่างกายกับจิตที่ครองตัวกันอยู่ มันก็ไปด้วยจีรังถาวรถึงอายุขัย
ลัก...ยิ้ม
02-06-2020, 11:28
เดินจงกรมเห็นกระรอกกระแตก็เล่นกับมันเสีย เล่นกับมันด้วยความรักมัน สงสารมัน ไม่ได้เล่นด้วยความคะนองนะ คือความเมตตานั้นล่ะสำคัญมาก เห็นสัตว์อะไรก็เล่นกับสัตว์นั้น เล่นด้วยความสงสาร บางทีหยุดจงกรมดูนี่ นอกจากมีธรรมแง่ใดแง่หนึ่งที่เป็นปัญหาขึ้นมา ธรรมแง่นี้มีความหมายแค่ไหน มันจะมีความสัมผัสมันจะตามเลย จนกระทั่งเข้าใจแล้วก็ปล่อยเฉย ๆ เหมือนกับไม่มีสติปัญญาอะไรเลย.. เฉย
ถ้าหากว่าสัมผัสธรรมบทใดแง่ใด มีความหมายลึกตื้นหยาบละเอียดแค่ไหน พอสัมผัสนั้นมันจะตามเลย ทีนี้มันจะหมุนเลย เพราะฉะนั้นการบิณฑบาตจึงไปกับหมู่เพื่อนไม่ค่อยได้ เดินฉุบฉับ ๆ ตามหลังไม่ค่อยได้ คือเรากำลังพิจารณาของเรา เพลินไปตามเรื่องของเราอยู่ เวลาขากลับมาก็หลีกให้หมู่เพื่อนมาก่อน แล้วเราก็พิจารณาของเรามาเรื่อย
ก็ไม่ทราบว่าจะอยู่กับอะไร อาศัยธรรมพอให้อยู่สะดวกสบาย นั่งภาวนาก็ภาวนาอยู่นั้นนะทุกวันนี้ ภาวนาอยู่นั้น มันเป็นการพยุงระหว่างธาตุขันธ์กับจิตอยู่ด้วยกันเป็นผาสุก
ถ้าเราใช้กิริยาของจิตมาก ๆ นั้น ธาตุขันธ์มันก็เพียบ ถ้าเพียบแล้วมันก็ไปแพ้ทางธาตุขันธ์นั่นแหละ จิตมันจะไปแพ้ได้ยังไง มันแพ้ธาตุขันธ์นี่ คือไม่ถึงอายุขัย พูดง่าย ๆ ก็เหมือนอย่างเรามีเงินร้อยบาท วันหนึ่งเราใช้ ๒๕ บาทพอดีกับครอบครัวของเรานี้ เราไปใช้เสียวันเดียวร้อยบาท มันก็หมดภายในวันเดียว แทนที่จะได้ถึง ๔ วันก็ไม่ได้ เงินร้อยบาทใช้วันละ ๒๕ บาท แทนที่จะถึง ๔ วันมันก็ไม่ถึง
ที่นี้อายุขัยของเราสมมุติว่า ๗๐ หรือ ๘๐ นี้เป็นอายุขัย ถ้าเราสมบุกสมบัน ไม่มีวิหารธรรมให้เป็นเครื่องอยู่ระหว่างขันธ์กับจิตแล้ว จะให้อยู่ถึงโน้นมันก็ไม่ถึงเสีย ถ้าเราพยายามรักษาให้พอเหมาะพอสมกับมันก็ถึงอายุขัยได้ มันรู้อยู่ภายในจิตนี่ ถ้าหากว่ามันขัดกันเมื่อไรแล้ว ฝ่ายธาตุฝ่ายขันธ์นั้นล่ะจะเป็นฝ่ายบอบช้ำ ส่วนจิตอันนี้จะบอบอะไร ถ้าหากว่าจิตเลยสมมุติทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว.. ไม่มีอะไรบอบ อยู่อย่างนั้นเป็นอกาลิโก อกาลิกจิต อกาลิกธรรม
ลัก...ยิ้ม
03-06-2020, 10:29
พระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวก ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ท่านทำความพากเพียรอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันท่านนิพพานก็เพราะเหตุนั้นเอง มีความจำเป็นระหว่างขันธ์กับจิต หากไม่มีเรื่องที่จะถอดถอนกิเลสตัวใดเพราะหมดไปแล้ว ก็จะเอาอะไรมาถอน มันไม่มีอะไร มันเงียบเหมือนบ้านร้าง พูดง่าย ๆ เมื่อกิเลสหมดไปแล้วก็เงียบเท่านั้นเอง
มันไม่เงียบก็เพราะกิเลสก่อกวนยุแหย่อยู่ตลอดเวลา พอธรรมชาตินั้นหมดไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรมาก่อกวนยุแหย่อะไร ๆ ให้ลำบากลำบน ขันธ์นั้นมีแต่ขันธ์ล้วน ๆ คิดปรุงยิบแย็บ ๆ ของมัน คิดปรุงอะไรก็ดับพร้อม ๆ โดยหลักธรรมชาติของมัน
เราไม่ต้องไปเข้มงวดกวดขันหรือระมัดระวังรักษา มันจะเป็นภัยหรือมันจะนำเรื่องอะไรมาสู่เรา.. ไม่จำเป็น เป็นธรรมชาติของมัน คิดเรื่องอะไร.. มันคิดปั๊บ ๆ ผ่านไปพร้อม ๆ ดับไป พร้อม ๆ ทุกขณะที่คิด ดับไปพร้อม ๆ รู้กันอยู่อย่างนั้นเป็นหลักธรรมชาติ เราก็รู้อยู่โดยหลักธรรมชาติ ขันธ์ที่ใช้ก็เป็นไปตามหลักธรรมชาติของมัน
ถ้าหากว่ามีกิเลสอยู่ภายในก็เป็นเครื่องมือของกิเลส ขันธ์นี่มันก็เป็นภัยเหมือนกัน เหมือนมีดเล่มนี้ถ้าเอาไปฟันอะไรให้เป็นโทษก็ได้ ฟันหัวคนก็ได้ ทิ่มแทงใครก็ได้ มาฟันทำผลประโยชน์ก็ได้มีดเล่มนี้ ขันธ์นี้ก็ของกลาง แต่ก่อนเป็นเครื่องมือของกิเลส กิเลสเอาไปใช้ให้ทำลายเจ้าของ ทำลายอะไรต่ออะไรยุ่งไปหมด
ที่นี้พอกิเลสตัวสำคัญดับไปแล้ว เรียกว่าโจรหัวโจกที่เป็นเจ้าของของขันธ์นี้ดับไปแล้ว ก็มีธรรมขึ้นแทนที่แล้วเป็นเครื่องมือของธรรม
ลัก...ยิ้ม
04-06-2020, 19:16
พระพุทธเจ้าประกาศธรรมสอนโลกก็อาศัยขันธ์นี้ เสด็จไปที่ไหนมาไหน ตลอดถึงปรุงภายในจิตที่จะแสดงมาเป็นอรรถเป็นธรรม พินิจพิจารณาเรื่องอะไรนี้ก็อาศัยขันธ์ ปัญญาก็เป็นกิริยาอันหนึ่ง ๆ ยึดเอามาใช้งานเพื่อทำประโยชน์ให้โลก จึงเรียกว่าขันธ์ล้วน ๆ นั่นเป็นอย่างนั้น ใช้ไปถึงอายุขัยถึงกาล
นี่ถ้าหากว่าเราจะเทียบนะ ถ้าหากว่าจิตนี้มีเครื่องมือเป็นของตน คือจิตที่บริสุทธิ์แล้วมีเครื่องมือเป็นของตน โดยไม่ต้องอาศัยสมมุติเป็นเครื่องมือ สมมุติคือขันธ์ ๕ นี้.. เป็นเครื่องมือของกิเลสมันเป็นวัฏจักรเป็นสมมุติ จิตที่เป็นวิมุตติให้มีเครื่องมือเป็นวิมุตติมาใช้
จะไม่มีอันใดที่จะสวยงาม จะน่าดู จะอัศจรรย์ยิ่งกว่าลวดลายของจิตที่บริสุทธิ์แสดงตัวออกไป สมมุติว่าแสดงการเทศนา ว่าการหรือการแนะนำสั่งสอนใครก็ตาม ให้มีเครื่องมือสำหรับจิตนั้น โดยเฉพาะจะไม่มีอะไรน่าดูยิ่งกว่าพระอรหันต์ ท่านแสดงกิริยาแห่งธรรมออกมาด้วยเครื่องมือของท่านโดยเฉพาะ
อันนี้ท่านไม่มีก็ต้องมาอาศัยขันธ์นี่เป็นเครื่องมือ ขันธ์นี้เป็นสมมุติ จิตเป็นวิมุตติ ก็ต้องมาอาศัยสมมุตินี้ใช้ เพราะฉะนั้น กิริยานี้จึงเป็นเหมือนโลก เคยช้าเคยเร็ว จริตนิสัยเป็นอย่างไร ก็ต้องคงเส้นคงวาของมันไปอย่างนั้นตามเดิม จึงเรียกว่านิสัย ควรที่จะพูดหนักเบา มากน้อย เข้มข้นถึงเรื่องธรรมทั้งหลาย ทีนี้ก็เอาเรื่องขันธ์นี้มาใช้ มันก็เป็นลักษณะเหมือนโกรธ เหมือนโมโหโทโสไปเสีย ความจริงเป็นพลังของธรรมแสดงออกมา ไม่ใช่พลังของกิเลส พลังของอารมณ์ที่เกิดจากกิเลสแสดงออกมา ผิดกันตรงนี้ ถ้าหากว่า ธรรมจิตตวิสุทธิมีเครื่องมือเป็นของคนใช้ โอโห ! จะน่าดูที่สุด ไม่มีอะไรน่าดูยิ่งกว่า...”
ลัก...ยิ้ม
05-06-2020, 10:49
วิสุทธิจิต วิสุทธิธรรม
“... ขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นสมมุติล้วน ๆ ธรรมชาตินั้นเป็นวิมุตติ หลุดพ้นจากสิ่งกดขี่ทั้งหลายซึ่งเป็นตัวสมมุติแล้ว แล้วจะเกิดความเดือดร้อนได้อย่างไร เป็นก็เป็น ตายก็ตาย เรื่องของขันธ์สลายลงไปตามสภาพของมันที่ประชุมกันเท่านั้น
จิตดวงนี้เป็นอย่างไร ต่อไปนี้จะไปเกิดที่ไหนก็ทราบอย่างชัดเจน จะไปเกิดที่ไหนเมื่อไม่มีเชื้อ ไม่มีเงื่อนต่อทั้งเงื่อนต้นเงื่อนปลาย ทั้งอดีต อนาคต แม้แต่ปัจจุบันก็รู้เท่าทัน ไม่ได้ยึดได้ถือ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ถือมั่นแล้ว เพราะได้รู้ประจักษ์ใจแล้ว
เมื่อรู้ประจักษ์ใจและปล่อยวางหมดแล้ว มีธรรมอะไรที่ไม่ใช่อนัตตา ไม่ใช่อัตตา คือ วิสุทธิธรรม วิสุทธิจิต จะเรียกวิสุทธิจิตก็ได้ จะเรียกวิสุทธิธรรมก็ได้ จะเรียกนิพพานก็ได้ ไม่มีปัญหาอะไรเมื่อถึงตัวจริง ไม่มีกิเลสสมมุติใด ๆ เข้ามาขัดขวางแล้ว เรียกไม่เรียกก็ไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้น เพราะจิตหลุดพ้นจากปัญหาความยุ่งเหยิงทั้งมวลไปแล้ว ...”
ลัก...ยิ้ม
05-06-2020, 23:57
พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตมังสวิรัตด้วยพระญาณหยั่งทราบที่ละเอียดลออ
“... การที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระญาณหยั่งทราบในเหตุการณ์ทั้งปวง ไม่ทรงอนุญาตมังสวิรัตินั้น ต้องทรงทราบในเหตุการณ์ที่ไม่ทรงอนุญาตนี้ได้ดีกว่าสามัญชนที่มีกิเลสทั่ว ๆ ไปคาดคิดกันอยู่มาก พระองค์ต้องทรงทราบทั้งสัตว์มีชีวิตที่กำลังถูกฆ่า และจิตวิญญาณของสัตว์ที่ถูกฆ่าตายไปจะพึงหวังพึ่งบุญพึ่งกรรมต่อไป เช่นเดียวกับมวลสัตว์ทั่วโลกดินแดน หากเนื้อหนังอวัยวะนั้นถูกจำแนกไปในทางที่ดี สัตว์ผู้เป็นเจ้าของก็จะพึงมีส่วนดีไปด้วย.. ไม่ตายเปล่า
เรื่องทำนองนี้ ย่อมเป็นพุทธวิสัยที่จะทรงพิจารณาทราบโดยลำพัง ไม่เป็นสิ่งที่จะนำมาประกาศแก่โลก อันเป็นการส่งเสริมปาณาติบาตให้กำเริบรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะปกติโลกก็ทำกันอยู่แล้วก่อนแต่พระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ โดยไม่มีใครหักห้ามได้ ซึ่งเท่ากับกั้นน้ำมหาสมุทรด้วยฝ่ามือนั่นแล
บรรดาพระอรหันต์องค์ไหนจะไม่รู้อย่างนั้นไม่มี พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงไม่ทรงห้ามการฉันเนื้อฉันปลา เพราะเป็นสิ่งที่สุดวิสัย เราพูดได้เพียงเท่านั้น ลึกลับกว่านั้นพูดไม่ได้ รู้เต็มหัวใจพูดไม่ได้ นั่นว่าไง กิเลสก็สนุกออกลวดลายซิ ออกมาอวดตัวว่าบริสุทธิ์เพราะไม่ฉันเนื้อฉันปลา เรื่องมังสวิรัติเป็นลวดลายของกิเลส กิเลสไม่ได้ละเอียดลอออะไรพอจะไปให้อภัยในส่วนลึกลับอย่างนั้น กิเลสมันไม่รู้นี่ แต่จิตที่ประกอบด้วยธรรมแล้วปิดไม่อยู่ ความจริงมีอยู่ตรงไหนรู้ตรงนั้น ๆ เห็นตรงนั้น
พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านพูดนิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องฉันเนื้อฉันปลานี่แหละ ฉันอะไร ๆ ก็ไม่ได้คิด ฉันเหล่านี้มันได้คิด แต่มันสุดวิสัยที่จะแก้ สุดวิสัยที่จะหักห้ามไม่ให้เป็นอย่างนี้ โลกเป็นเหมือนน้ำมหาสมุทรมาดั้งเดิมอย่างนั้น ใครจะไปแยกไปแยะตักตวงเอามาใช้อะไร ๆ ก็แล้วแต่บุคคลที่จะนำมาใช้ ที่จะไปกั้นน้ำมหาสมุทรไม่ให้ไหลไม่ได้ ท่านพูดแย็บเท่านั้น
หลัง ๆ มานี้เราก็มาเข้าใจซิ พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านพูดไม่ออก ท่านก็รู้เหตุรู้ผลว่าการพูดออกไปมีแง่หนักเบาได้เสียขนาดไหน ผู้ฟังจะไม่ฟังไปตามความจริงที่รู้ ๆ นั้น มันจะแหวกแนวไปดังที่แหวกแนวอยู่ทุกวันนี้ เอาออกโอ้ออกอวดเรื่องมังสวิรัติ
ใครจะไปเกินพระพุทธเจ้า เรื่องความรู้ในแง่หนักเบาทุกแง่ทุกมุม ไม่อย่างนั้นจะเป็นสัพพัญญูเหรอ พวกไหนใครเป็นสัพพัญญู พวกประกาศตนป้าง ๆ ว่าฉันมังสวิรัติจึงเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ นี่หรือพวกมังสวิรัติ พวกกิเลสเหยียบหัวไม่ว่า เอาลวดลายกิเลสมาเป็นเครื่องมือเหยียบย่ำทำลาย เพียงไม่ฉันเนื้อฉันปลาเท่านั้นแต่จิตเป็นยังไง มันอยู่ที่จิตนี้ต่างหากนี่ อันนี้เพียงเอามาอวดได้แค่กิริยาเท่านั้น ท่านผู้ฉันท่านจิตบริสุทธิ์ขนาดไหน นั่นเอามาเทียบกันซิ มันเข้ากันได้เมื่อไหร่
พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านว่า มันสุดวิสัยจะทำยังไง ส่วนที่เป็นวิสัยใครก็มองไม่เห็น นั่นฟังซิ นี่ที่สำคัญมาก คือตายไม่ให้มันตาย ไม่อยากตายไม่อยากถูกเบียดเบียน ไม่อยากให้ใครฆ่าแต่เขาก็ฆ่า นี่มันสุดวิสัยอันนี้ โลกเป็นมาอย่างนี้แต่ดั้งเดิม ส่วนที่ไม่สุดวิสัยอีกแง่มุมหนึ่ง.. ไม่มีใครรู้ ท่านว่าอย่างนี้ พูดออกมาก็ไม่เกิดประโยชน์..”
ลัก...ยิ้ม
06-06-2020, 12:59
หลวงปู่มั่นฝัน
“... ในบุพพสิกขามีอยู่ว่า “พระอรหันต์นอนหลับแล้วไม่ฝัน” ว่างั้น เราก็เป็นแต่เพียงจำเอาไว้ไม่ได้พิจารณา พระอรหันต์นอนหลับแล้วไม่ฝัน นี่อันหนึ่ง เรื่องความฝันนี้ก็เป็นเรื่องของธาตุของขันธ์นี่.. ทำไมฝันไม่ได้ นี่เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ แท้ ๆ ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่กระดุกกระดิกได้เหมือนทั่ว ๆ ไป ทำไมพระอรหันต์จะฝันไม่ได้ นี่ซิ เอาเหตุผลมาจับกันตรงนี้
เอ้า .. พิจารณาธาตุขันธ์ให้ชัดเจนซิ ทั้งจิตด้วย ทั้งขันธ์ ๕ นี้ด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ด้วย ท่านบรรลุมรรคผลนิพพาน ท่านสังหารขันธ์ ๕ นี้ให้ฉิบหายไปแล้วเหรอ ? ขันธ์ ๕ นี้จึงดีดดิ้นไม่ได้ การดีดดิ้นได้ก็ฝันได้ล่ะซิ นั่นจะว่าไง ขันธ์เป็นขันธ์นี่.. ทำไมจะฝันไม่ได้ นี่ซิมันน่าคิดอยู่ คิดละซิที่นี่ ใครจะว่าเป็นทิฐิก็ตาม มันคิดก็บอกว่าคิด.. เรา
เรื่องความฝันนี้ก็เป็นเรื่องของธาตุของขันธ์ ทำไมพระอรหันต์จะฝันไม่ได้ ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่กระดุกกระดิกได้เหมือนทั่ว ๆ ไป ท่านบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ท่านสังหารขันธ์ ๕ นี้ให้ฉิบหายไปแล้วเหรอ ? ขันธ์ ๕ นี้จึงดีดดิ้นไม่ได้ การดีดดิ้นได้ก็ฝันได้ล่ะสิ ขันธ์เป็นขันธ์ ทำไมจะฝันไม่ได้
พูดตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ ก็อย่างที่หนองผือ พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านกั้นห้องศาลาอยู่ วันนั้นท่านไม่ค่อยสบาย ท่านเป็นหวัดใหญ่ ธาตุขันธ์มันไม่ค่อยสบาย เราจึงเดินจงกรมอยู่ข้าง ๆ ศาลาตรงไปทางห้องที่ท่านพักนั่น แล้วท่านนอนหลับ ท่านละเมอไป เดินจงกรมอยู่ข้าง ๆ ได้ยินเสียงผิดปกติ เอิ๊กอ๊าก เราเลยปุ๊บปั๊บจะวิ่งขึ้นไปหาท่าน แต่ท่านก็เร็วนะ พอรองเท้าปุบปับ ๆ ท่านคงได้ยินเสียงเราเดินฉั้บฉั้บ ๆ เข้าไป ท่านก็เลยกึ๊กกั๊กขึ้นว่า ‘ใครมานั่น’
เราก็กราบเรียนท่านว่า ‘ผมมหา ได้ยินเสียงพ่อแม่ครูอาจารย์ดังผิดปกติ’
‘อ๋อ ! ฝันละซิ ฝันเมื่อกี้นี้ ฝันเรื่องเกี่ยวกับหมา ดุหมา ไล่หมา’ ท่านว่า...”
ลัก...ยิ้ม
06-06-2020, 13:11
ยาเสพติด ฝิ่น กัญชา กับพระอรหันต์
“... อย่างยาเสพติดนี่นะ จะเป็นสุรายาเมา ฝิ่นกัญชา ยาเสพติดประเภทใดก็ตาม ไม่ว่าธาตุขันธ์ใด ไม่ว่าธาตุขันธ์ของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าธาตุขันธ์ของพระอรหันต์ เหมือนกับธาตุขันธ์ของพวกเรา เวลาเอาอันนี้เข้าไปกิน เมื่อมันเคยมันชินแล้วติดได้ด้วยกัน พระพุทธเจ้าไม่ติด ความเป็นพระอรหันต์บริสุทธิ์นั้นไม่ติด แต่ระหว่างขันธ์กับสิ่งเหล่านี้เป็นสมมุติด้วยกันมันไม่ใช่พระพุทธเจ้า เข้าใจไหม มันไม่ใช่อรหันต์ มันเป็นสมมุติ เช่นยาเสพติดกับลิ้นเรานี้มันก็เป็นสมมุติ มันเหมาะกัน มันซัดกันได้แล้วติดได้เข้าใจไหม เอายาเสพติดไปให้พระอรหันต์กินก็เอาไปซิ ติดด้วยกัน แต่หมายถึงว่าลิ้นกับยานี้ติดเท่านั้น เรื่องจิตของท่านไม่มีทางที่จะให้ติด เข้าใจไหม ...
เวลากิเลสมีอยู่ ไม่ว่ารูปว่ากาย ว่าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เสริมให้กิเลสเกิดตลอด พอกิเลสสะบั้นขาดลงไปนี้.. เป็นขันธ์ล้วน ๆ ไม่เป็นกิเลส นี่ละธรรมเกิดอย่างนั้น... ขันธ์นี่เหมือนโลกทั่ว ๆ ไป ไม่มีอะไรผิดแปลกต่างกันนะ ขันธ์โลกเป็นยังไง ขันธ์ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ก็เป็นแบบเดียวกัน เป็นแต่เพียงว่าเป็นขันธ์ล้วน ๆ ไม่มีกิเลสเจือปน การเป็นอยู่หลับนอนอะไร ๆ เหมือนกันหมด คือความรู้ที่อยู่ในขันธ์ วงขันธ์นี้เท่านั้น ที่เป็นอยู่ในขันธ์.. ความรู้ที่รับทราบตลอดเวลาในขันธ์นี้ คือความรู้ที่เกี่ยวกับขันธ์เวลามีชีวิตอยู่ สำหรับความบริสุทธิ์นั้นเรียกว่า.. ทุกอย่างขาดสะบั้นไปหมดตั้งแต่ขณะท่านตรัสรู้ธรรมหรือบรรลุธรรม
เรื่องขันธ์นี้มันเป็นเหมือนโลก ยังบอกแล้วเช่นอย่างยาเสพติด ลองดูซิน่ะ ขันธ์ใครก็ตาม เพราะขันธ์นี้เป็นสมมุติด้วยกัน ติดได้ไม่สงสัย ไม่ว่าขันธ์ปุถุชน ไม่ว่าขันธ์ของพระอรหันต์ ขันธ์ของพระพุทธเจ้า ยาเสพติดเข้าไปในขันธ์นี้มันเข้ากันได้เสมอกัน เพราะฉะนั้นพูดได้ยันเลยว่า ปุถุชนแน่ใจแล้วว่ากินยาเสพติดนั้นติด พระอรหันต์ใครว่าไม่ติด.. ติด ขันธ์ของท่านติด แต่ดวงใจของท่านอรหันต์ไม่ติด ขันธ์ของท่านติด ขันธ์ของพระพุทธเจ้าติด แต่พระพุทธเจ้าไม่ติดยาเสพติด ให้เข้าใจอย่างนั้นซิ แยกอย่างนั้นซิ เพราะเหล่านี้เป็นเรื่องของสมมุติก็ต้องเป็นแบบสมมุติไป
เพราะฉะนั้น ท่านจึงห้าม เมื่อมีความรับผิดชอบในธาตุในขันธ์ของตนจากความบริสุทธิ์ของใจแล้ว ท่านจะไม่แตะต้องสิ่งเหล่านี้ ท่านรักษาได้เข้มงวดกวดขัน ถ้ากินลงไปติดเหมือนกัน เข้าใจเหรอ ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์แล้วไม่ติด อย่าเข้าใจผิดนะ นี่ถอดออกมาจากหัวใจ ฟังให้ชัดเจนนะ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหมือนโลกทั่ว ๆ ไป เป็นแต่เพียงว่าจิตเป็นอันหนึ่งต่างหาก ผ่านไปหมดแล้ว รับผิดชอบอยู่นั้นแต่ไม่ใช่อันนั้น มันเป็นหลักธรรมชาติของมัน เรื่องของขันธ์ก็เป็นไปตามขันธ์ อะไรควรชอบ อะไรไม่ควรชอบ อันนั้นดี อันนี้ไม่ดี รักอันนั้น ไม่รักอันนั้น อยู่ในวงขันธ์ทั้งนั้น.. เข้าใจไหม ธรรมชาตินั้นไม่มี ให้พากันเข้าใจนะ... เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงห้ามตลอดไปเลย สิ่งที่เป็นภัยพระพุทธเจ้าทราบหมด .. พวกยาเสพติดนั้นสงเคราะห์เข้าในสุราเลยทันที ไม่ต้องไปหามาจากที่ไหน อันนี้เป็นภาคที่เป็นพิษเป็นภัย เข้าในสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย ห้ามในทางพระวินัยทันทีเลย...”
ลัก...ยิ้ม
06-06-2020, 23:49
จิตเดิมแท้
“... จิตแท้นี้ต้องเป็น “ความบริสุทธิ์” หรือ “สอุปาทิเสสนิพพาน” ของพระอรหันต์ท่านเท่านั้น นอกจากนี้ไม่อาจเรียก “จิตแท้” อย่างเต็มปากเต็มใจได้ สำหรับผู้แสดงกระดากใจไม่อาจเรียกได้
“จิตดั้งเดิม” หมายถึงจิตดั้งเดิมแห่ง “วัฏฏะ” ของจิตที่เป็นอยู่นี่ซึ่งหมุนไปเวียนมา ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในหลักธรรมว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จิตเดิมแท้ผ่องใส” นั่น ! “แต่อาศัยความคละเคล้าของกิเลสหรือกิเลสจรมา จึงทำให้จิตเศร้าหมอง” ท่านว่า
“จิตเดิมแท้” นั้นหมายถึงเดิมแท้ของสมมุติต่างหาก ไม่ได้หมายถึงความเดิมแท้ของความบริสุทธิ์ เวลาท่านแยกออกมา “ปภัสสรมิหัง จิตตัง ภิกขเว” “ปภัสสร” หมายถึง ประภัสสร คือความผ่องใส ไม่ได้หมายถึงความบริสุทธิ์ นี่หลักเกณฑ์ของท่าน.. พูดถูกต้องหาที่แย้งไม่ได้เลย ถ้าว่าจิตเดิมเป็นจิตที่บริสุทธิ์นั้นจะมีที่ค้านกันว่า “ถ้าบริสุทธิ์แล้วมาเกิดทำไม ?” นั่นแน่ะ!
ท่านผู้ชำระจิตบริสุทธิ์แล้วท่านไม่ได้มาเกิดอีก ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วชำระกันทำไม ? มันมีที่แย้งกันตรงนี้ จะชำระเพื่ออะไร ? ถ้าจิตผ่องใสก็ชำระ เพราะความผ่องใสนั้นแลคือตัว “อวิชชาแท้” ไม่ใช่อื่นใดผู้ปฏิบัติจะทราบประจักษ์ใจของตน ในขณะที่จิตได้ผ่านจากความผ่องใสนี้ไปแล้วเข้าถึง “วิมุตติจิต” ความผ่องใสนี้จะไม่ปรากฏตัวเลย นั่น ! ทราบได้ตรงนี้อย่างประจักษ์กับผู้ปฏิบัติ และค้านกันได้ก็ค้านกันตรงนี้ เพราะความจริงนั้นจะต้องจริงกับใจของบุคคล เมื่อใครทราบใครรู้ก็ต้องพูดได้เต็มปากทีเดียว
ฉะนั้น จิตของพวกเรากำลังตกอยู่ในวงล้อม ทำให้หวาดให้กลัว ให้รักให้ชัง ให้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างชื่อว่าเป็นอาการของสมมุติ เป็นอาการของกิเลสโดยสิ้นเชิง ตัวเราเองไม่ได้พลังจิตเป็นของตนเอง มีแต่พลังของกิเลสตัณหาอาสวะ มันผลักมันดันอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วเราจะหาความสุขความสบายมาจากที่ไหน เมื่อธรรมชาตินี้ซึ่งเป็นของแปรสภาพอยู่ตลอดเวลา ยังมายั่วยุจิตให้เป็นไปตามอีกด้วยโดยที่เราไม่รู้สึก
โลกนี้จะหาความสุขที่ไหน หาไม่ได้ ถ้าไม่ได้ถอดถอนธรรมชาติเหล่านี้ออกจากจิตใจโดยสิ้นเชิงเสียเมื่อไร จะหาความทรงตัวอยู่อย่างสบายหายห่วงไม่ได้เลย จะต้องกระดิกพลิกแพลงหรือต้องเอนโน้นเอนนี้ ตามที่มาเกี่ยวข้องยั่วยวนมากน้อย ฉะนั้นท่านจึงสอนให้ชำระจิต ซึ่งเป็นการชำระความทุกข์ทรมานของตนนั้นแล
ไม่มีผู้ใดที่จะหยั่งถึงหลักความจริงได้อย่างแท้จริงดั่งพระพุทธเจ้า มีพระองค์เดียวที่เรียกว่า “สยัมภู” โดยไม่ต้องได้รับการอบรมสั่งสอนจากผู้หนึ่งผู้ใดเลย ในการแก้กิเลสออกจากพระทัยของพระองค์ ทรงทำหน้าที่ทั้งเป็นนักศึกษาและเป็นครูไปในตัวลำพังพระองค์เดียว จนได้ตรัสรู้ถึงขั้น “ยอดธรรม ยอดคน ยอดศาสดา”
ส่วนทางสมาธิด้านความสงบนั้น ท่านคงได้ศึกษาอบรมมาบ้างเหมือนกันกับดาบสทั้งสอง ไม่ปฏิเสธ แต่นั่นไม่ใช่ทางถอดถอนจิตจนถึงความเป็น “สัพพัญญู” ได้ เวลาจะเป็น “สัพพัญญู” ก็เสด็จจากดาบสทั้งสองไปบำเพ็ญลำพังพระองค์เดียว และทรงรู้เองเห็นเองโดยไม่มีครูสั่งสอนเลย แล้วนำธรรมนั้นมาสั่งสอนโลก...”
ลัก...ยิ้ม
07-06-2020, 00:05
ภวังคจิต
“... ภวังคจิต คำว่าจิตตกภวังค์ บางท่านอาจไม่เข้าใจ จึงขออธิบายไว้บ้างเล็กน้อย คำว่า ภวังค์ แปลอย่างป่า ๆ ตามนิสัยที่ถนัด จึงขอแปลว่า องค์แห่งภพ หรือเรือนพักเรือนนอนของอวิชชามาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แสนกัปนับไม่ถ้วน คำว่า จิตตกภวังค์ คืออวิชชารวมตัวเข้าไปอยู่ในที่แห่งเดียว ไม่ทำงานและไม่ใช้สมุนให้ออกเที่ยวล่าเมืองขึ้นตามสายทางต่าง ๆ นั่นแล ทางออกทางเข้าของสมุนอวิชชาคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมืองขึ้นของอวิชชา คือรูปร้อยแปด เสียงร้อยแปด กลิ่นร้อยแปด รสร้อยแปด เครื่องสัมผัสร้อยแปด ซึ่งล้วนเป็นที่รักชอบของอวิชชาทั้งสิ้น สมุนของอวิชชา คือราคะตัณหาโดยอาศัยสัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ เป็นเครื่องมือช่วยจัดการงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความหวัง
ขณะที่จิตตกภวังค์ด้วยกำลังของสมาธิ อวิชชาก็พักงานไปชั่วระยะหนึ่ง พอจิตถอนขึ้นมาก็เริ่มทำงานอีกตามหน้าที่ของตน แต่ไม่รุนแรงเหมือนที่ยังไม่ถูกหักแข้งหักขาจากสมาธิภาวนา ดังนั้น สมาธิภาวนาจึงเป็นเครื่องมือตัดกำลังของอวิชชาได้ดี เพื่อปัญญาจะได้ทำการกวาดล้างไปโดยลำดับ จนไม่มีอวิชชาเหลืออยู่ภายในใจ คำว่าภวังคจิตนี้ เริ่มทราบได้จากการภาวนาเมื่อจิตรวมสงบตัวลงไป พอถอนออกมาเรียกว่า จิตออกจากภวังค์ และเริ่มยุ่งไปกับเรื่องร้อยแปดที่อวิชชาเป็นผู้บงการ ไม่มีวันสำเร็จเสร็จสิ้นลงไป ฉะนั้น จึงไม่มีงานใดจะยืดยาวจนสืบสาวราวเรื่องหาเหตุผลต้นปลายไม่ได้เหมือนงานของอวิชชาที่แผ่กระจายไปทุกแห่งหนตำบลหมู่บ้านตลอดโลกสงสาร และกล้าได้กล้าเสียต่องานของตน...
ภวังคจิตจะสูญสิ้นไปได้เมื่อไร ภวังคจิตไม่มีวันสูญสิ้นไปโดยลำพัง เพราะเป็นแหล่งสร้างภพสร้างชาติ สร้างกิเลสตัณหามานาน และทางเดินของอวิชชาคือ การสร้างภพชาติบนหัวใจสัตว์โลกอยู่ตลอดไป .. ถ้าต้องการหลุดพ้น ก็ต้องสร้างสติปัญญาขึ้นกับใจจนคล่องแคล่วแกล้วกล้า สามารถทำลายภวังคจิตอันเป็นตัวภพชาตินั้นเสีย ภวังคจิตก็สลายหายซากไปเอง ผู้จะทราบภวังคจิตได้ต้องเป็นผู้มีสมาธิอันมั่นคงและมีสติปัญญาอันแหลมหลัก เข้าเขตข่ายแห่งมหาสติมหาปัญญานั่นแล นอกนั้นไม่สามารถทราบได้ แม้เรียนจบพระไตรปิฏก...”
ลัก...ยิ้ม
07-06-2020, 11:18
พระอรหันต์ตื่นตลอดเวลาแล้วนอนหลับได้อย่างไร ?
“... เวลานี้ศาสนานับวันมีสิ่งที่เป็นภัย สิ่งที่เป็นข้าศึกหนาแน่นขึ้นโดยลำดับ แม้ในวงชาวพุทธของเราเองโดยไม่มีเจตนาจะทำลายหรือจะขัดแย้งมันก็ยังมีได้ เพราะสิ่งที่ขัดแย้งที่ทำลายนั้นไม่ขึ้นกับเจตนา มันก็ขัดได้แย้งได้ ทำลายได้ นี่คือภาคแห่งความจำ ภาคแห่งความคาดคะเน จะไปตรงกับความจริงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่นเขาออกเป็นหนังสือว่า “ถ้าผู้ใดหรือพระองค์ใดยังมีการนอนหลับอยู่แล้ว พระองค์นั้นไม่ใช่พระอรหันต์” นั่น ! พระอรหันต์แท้ไม่ได้หลับ เพียงพักผ่อนธาตุขันธ์เท่านั้น ส่วนจิตใจของท่านตื่นอยู่ตลอดเวลา คือหมายเอา ชาครธรรม ที่มีอยู่ประจำจิตที่บริสุทธิ์ของท่านนั้นน่ะ แต่เวลาเอานำออกมาพูดด้วยความจำ ด้วยความคาดคะเนจึงผิดกันไปคนละโลก หาเข้าใกล้ชิดกับความจริงนั้นแม้แต่น้อยไม่ เลยกลายเป็นคนละเรื่องขึ้นมา
การหลับนอนเป็นเรื่องของธาตุของขันธ์ก็ทราบด้วยดีอยู่แล้ว แล้วผู้รู้อันบริสุทธิ์ซึ่งครองร่างอยู่นั้นคืออะไร คือชาคร หมายถึงธรรมชาติที่ตื่นอยู่ นอกจากวงสมมุติทั้งปวงมีขันธ์เป็นต้น อาการแห่งความทราบในวงขันธ์ จะเป็นอาการใดก็ตามเป็นเรื่องของขันธ์ เป็นเรื่องของสมมุติ อาการเหล่านี้ระงับตัวลงไปก็เรียกว่าขันธ์ระงับ ธรรมชาตินั้นเป็นชาคร อยู่นอกสมมุติคือขันธ์อันนี้ ไม่ได้อยู่ในวงสมมุติคือขันธ์อันนี้ แม้จะอยู่ในท่ามกลางแห่งขันธ์ก็ตาม ชาครนั้นคือ ชาคร เมื่อหลับก็เป็นเรื่องของขันธ์นี้ระงับตัวลงไป ไม่ใช้อาการทุกส่วนของขันธ์ของสมมุติที่มีอยู่ในขันธ์นี้ ส่วน ชาคร นั้นขันธ์จะตื่นไม่ตื่นจากหลับก็ตาม ชาคร ก็คือ ชาคร อยู่นั้นโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง ไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหลับและตื่น นั่น
นี้เอามาคาดซิ เลยกลายเป็นเรื่อง.. พระอรหันต์นอนหลับอยู่แล้วไม่ใช่พระอรหันต์ นี่จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าความคาดความหมาย ความจดความจำ กับความจริงมันต่างกันอย่างไร ต่างกันอยู่มากทีเดียวหรือต่างกันเอามาก อาการทั้งหมดที่แสดงในขันธ์ล้วนเป็นสมมุติด้วยกันทั้งนั้น เพราะขันธ์เป็นรากฐานของสมมุติอยู่แล้ว ขันธ์กระดิกอะไรออกมาก็เป็นสมมุติทั้งหมด พอขันธ์ระงับตัวลงไป สมมุติในวงขันธ์นี้ก็ระงับตัวไปด้วย แล้วชาครนั้นจะมามีส่วนได้ส่วนเสียกับขันธ์นี้อย่างไร เพราะไม่ใช่ฐานะที่จะมาเกี่ยวข้องกันได้ หรือมาสัมผัสสัมพันธ์กันเหมือนโลกทั่ว ๆ ไปได้ ต่างอันต่างเป็นหลักธรรมชาติของตัวอยู่เช่นนั้น
ความรู้ที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ นั้น เราจะนำมาพูดเกี่ยวกับเรื่องความรู้ เช่นเดียวกับความรู้ในขันธ์นี้พูดไม่ได้ อันนี้มันหยาบ ๆ นี่ รู้เด่นอยู่ในขันธ์อันนี้ก็เป็นเรื่องสมมุติอันหนึ่ง นั่น ไม่ต้องพูดถึงว่ารู้ด้วยการคิดการปรุง รู้ด้วยการรับทราบสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เข้ามาสัมผัสสัมพันธ์กับขันธ์ทุกอายตนะ แม้แต่ความรู้อยู่ธรรมดาโดยลำพังตนเอง ที่เด่น ๆ นี้ก็เป็นเรื่องสมมุติอันหนึ่ง นั่น ที่นอกจากนี้ไปคืออะไร นั่นพูดไม่ได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่รู้ แต่ไม่รู้แบบที่รู้อยู่ในวงขันธ์.. อันนี้เป็นเรื่องอาการของสมมุติทั้งมวล จะเอาความรู้เหล่านี้ไปใช้ที่ไหนได้เพราะเป็นเรื่องสมมุติทั้งหมด จะเอาไปใช้ในวิมุติได้เหรอ.. ใช้ไม่ได้
ธรรมชาติที่เป็นวิมุติ ที่เป็นความรู้ของวิมุติอย่างแท้จริงแล้วพูดไม่ได้นี่ เพราะไม่ใช่สิ่งนี้ทั้งนั้น นั่น ถ้าไม่รู้สิ่งนั้นเราก็เหมือนว่าสิ่งนั้นไม่มี จะมีแต่ความรู้ที่เด่น ๆ อยู่ในขันธ์เห็น ๆ ชัด ๆ กันอยู่นี้เท่านั้นว่าเป็นความรู้ที่วิเศษวิโสอะไรไป มันวิเศษอะไรความรู้เหล่านี้ สิ่งที่ว่าวิเศษนั้นไม่ได้พูดว่าวิเศษ ไม่ได้พูดว่าเลว ไม่ได้พูดว่าอะไร บรรดาที่เป็นสมมุตินั้นต่างหาก แม้อยู่ในขันธ์ก็ไม่ใช่ขันธ์ ลองปฏิบัติดูซิ...”
ลัก...ยิ้ม
07-06-2020, 21:32
พระอรหันต์ถ้าไม่บวชจะตายใน ๗ วัน จริงหรือ ?
“... อันหนึ่งในหนังสือก็มี ดูเหมือนจะหลายเล่มอยู่นะ ที่ว่า “ผู้ที่สำเร็จพระอรหันต์แล้วต้องบวชภายใน ๗ วัน ถ้าไม่ได้บวชภายใน ๗ วันแล้วต้องตาย” ว่างั้น นี่อันหนึ่ง
ในหลักธรรมชาติแล้ว ผู้นั้นจะรู้ตัวเองในหลักธรรมชาติ อะไรจะต้องมีขีดมีคั่น มีบังคับบัญชากัน กดกันถึงขนาดว่า ถ้าไม่ได้บวชแล้วเลย ๗ วันไปแล้วตาย คือจะอยู่ได้ภายใน ๗ วัน ผู้สิ้นกิเลสแล้วถ้าไม่บวชเลย ๗ วันไป.. ตาย นี่นะในหนังสือนี่ ผมก็เห็น ไม่ใช่คุยเฉย ๆ เราเห็นจริง ๆ นี่นะ นี่ก็ดี แต่ผมไม่ได้ใช้ความพิจารณาอะไรมากนักแต่ก่อน ก็เหมือนที่ว่าพระอรหันต์นอนหลับแล้วไม่ฝัน นี่อันหนึ่ง ที่ว่าผู้สำเร็จอรหันตภูมิแล้วต้องบวชภายใน ๗ วัน ถ้าไม่บวช.. ตาย นี่ก็เห็น ทีนี้ก็มาทำให้อดคิดไม่ได้นะ ทุกวันนี้ให้คิดเหมือนกัน
อันหนึ่งที่ว่า ถ้าสำเร็จธรรมชั้นสูงสุดคืออรหันตภูมิแล้ว ถ้าไม่ได้บวชจะตายภายใน ๗ วันนี้ก็เหมือนัน ทำให้คิดเหมือนกันนะ วิสุทธิธรรมหรือวิสุทธิจิตนี้เป็นเพชฌฆาตฆ่าขันธ์ ๕ เชียวเหรอ นั่น อันนี้ไม่ใช่เป็นเพชฌฆาตนี่นะ สิ่งใดที่ควรไม่ควร พระอรหันต์ท่านจะรู้ของท่านเอง ถึงขั้นนี้แล้วจะไม่มีใครมาบอกก็ตาม.. ท่านจะรู้วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องขันธ์ของท่าน เหตุใดจะต้องไปตายภายใน ๗ วันวะ นี่อันหนึ่ง จะว่าบ้าก็บ้าแล้วผม เอ้า มันเกินเหตุเกินผลก็ต้องอย่างนั้นซิ
วิธีการจดจารึกนี่สำคัญอยู่นะ เอาแต่ความจำล้วน ๆ อะไรมาก็อาจจะจำสุ่มสี่สุ่มห้า จดมาเรื่อย ๆ อย่างนั้นก็ได้ เราก็ไม่ได้ประมาท เราอาจเป็นทางสันนิษฐาน อะไร ๆ ก็จดมาเรื่อย จารึกมาเรื่อยด้วยความจำ ๆ ไม่มีความจริงเข้าไปแทรกกันบ้างแล้วก็ลำบากเหมือนกันนะ มีความจริงคือตัวไปจดจารึกนั้นน่ะ ถ้ามีความจริงภายในจิตใจ มีภูมิจิตภูมิธรรมแล้ว จะได้ธรรมะละเอียดมามากมาย จะไม่มีแต่ความจำล้วน ๆ มา..”
ลัก...ยิ้ม
09-06-2020, 15:27
ศาสนาเชน
“... เรื่องศาสนาเชน เราพิจารณาแล้วเราไม่สงสัย ศาสนาเชนก็เรียกว่าศาสนาพุทธ เราอ่านหมดแล้วเรื่องศาสนาเชน อ่านเต็มกำลังเลย ศาสนานี้ท่านแสดงถึงธรรมฝ่ายสูง ธรรมขั้นสูง ศาสนาเชนให้ใช้ปัญญา ๆ ผู้ที่เป็นเชน ผู้ที่บรรลุธรรมผ่านเข้าไปจนถึงกับได้ตั้งศาสนาเชนขึ้นมา นั่นผ่านไปแล้ว ก็คือจากพุทธศาสนานั่นเอง พวกนี้ก็มาตั้งอันหนึ่งขึ้นมาเป็นเนื้อหนังของตัวเอง ว่าเป็นศาสนาเชน
ความจริงศาสนาเชน คือภาคปฏิบัติ เอาอย่างนี้เลยให้มันเห็นชัด ๆ เทียบกันได้ทันที ภาคปฏิบัติขั้นปัญญา ก้าวเข้าถึงขั้นปัญญาอัตโนมัติ อะไร ๆ จะเป็นปัญญาทั้งหมด มองเห็นอะไร ได้ยินอะไรก็ตาม ไม่เห็นก็ตาม สติปัญญานี้จะก้าวเดินไปตลอดเวลาเป็นอัตโนมัติ จากนั้นก็บรรลุธรรม พอบรรลุธรรมแล้ว.. เขาเลยเอาสติปัญญาขั้นนี้เป็นศาสนาของเขาไปเสีย เขาหาได้รู้ไม่ว่า ศาสนธรรมขั้นละเอียดนี้มาจากพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าแสดงศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม.. ขึ้นศีล สมาธิ ออกจากสมาธิก็ปัญญา ปัญญานี้.. ปัญญาขั้นละเอียดเข้าถึงที่ว่าสติปัญญาอัตโนมัติ แล้วบรรลุธรรมไปเลย
เขาเลยเอาจุดนี้มาเป็นศาสนาของเขา เป็นศาสนาเชน ความจริงเป็นกิ่งก้านของพุทธศาสนาตอนปลาย ตอนยอดที่จะถึงที่สุด เข้าใจไหม นี่เราพิจารณาแล้ว อ๋อ.. เขาเอาอันนี้เองไปเป็นศาสนาเชน ก็มันยันกันอยู่นี้ในหัวใจนี่ เราจะสงสัยไปไหน เราผ่านมาหมดแล้ว อันนั้นผ่านไปก่อนก็ตาม เราผ่านทีหลังมันก็เหมือนกันแล้ว แล้วไปเถียงกันทะเลาะกันหาอะไร เข้าใจไหมล่ะ อ๋อ.. อันนี้เอง ที่ว่าเป็นศาสนาเชน คือธรรมะส่วนละเอียดของพระพุทธเจ้าที่จวนจะบรรลุธรรม จนกระทั่งถึงขั้นบรรลุธรรม คือจุดนี้ แล้วเขาเอาจุดนี้เป็นจุดสุดยอดของเขาไปเลย เขาไม่สนใจ เขาไม่ทราบว่าจุดนี้มาจากอะไร มาจากปัญญา มาจากสมาธิ มาจากศีล เข้าไปเรื่อย ๆ เข้าใจเหรอล่ะ
นี่เราพิจารณาหายสงสัย อ๋อ.. ศาสนาเชนไปตรงนี้เอง ก็มีสองเท่านั้นที่เชื่อได้อยู่เวลานี้ ตายใจได้เลย แต่ศาสนาเชนใช้ปัญญา ทีนี้ผู้ถือศาสนาเชนตั้งแต่ ก.ไก่ ก.กา ไป ก็ได้โดดใส่ด็อกเตอร์ ด็อกเตอร์คือขั้นสติปัญญาอัตโนมัติ ท่านไปถึงขั้นด็อกเตอร์แล้วบรรลุธรรม ทีนี้พวกนั้นมาไม่ต้องเรียน ก.ไก่ ก.กา ล่ะ ฟาดใส่ด็อกเตอร์เลย มันก็เลยเป็นด็อกหมาไปละซิ ผู้นั้นท่านเดินตามนั้น ไอ้เราไม่รู้เรื่องจะเอาอันนั้นไปปฏิบัติ ทีนี้ใครมาถือศาสนานี้.. ต้องใช้ปัญญาทั้งนั้น ๆ ใช้ถึงวันตายมันก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ขั้นของปัญญาขั้นนั้น ก.ไก่ ก.กา ยังไม่ได้ ไปฟาดเอาด็อกเตอร์ ใครเชื่อถือได้ยังไง...”
ลัก...ยิ้ม
09-06-2020, 15:46
“อาจารย์ของเราก็มีสอง เราชี้นิ้วได้เลย
อาจารย์ทางฝ่ายวิปัสสนาก็... หลวงปู่มั่น อาจารย์ทางฝ่ายปริยัติก็... สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
สององค์นี้แหละ อยู่บนหัวใจเรา”
ลัก...ยิ้ม
10-06-2020, 00:09
๗. บ่มเพาะแม่ทัพธรรม
ภายหลังการพิจารณาธรรมขั้นละเอียดสุดจบสิ้นลงบนหลังเขาวัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร กิจควรทำในพระพุทธศาสนาขององค์หลวงตาเป็นอันสิ้นสุด การบำเพ็ญบารมีเพื่อประโยชน์ตนสมบูรณ์แล้วโดยประการทั้งปวง ข้อวัตรปฏิบัติ ปฏิปทา และความเด็ดเดี่ยวจริงจังของท่าน ดึงดูดพระเณร และนักปฏิบัติให้เข้ามาศึกษาอบรมด้วย ทำให้มีแม่ทัพธรรมที่ได้รับการอบรมจากท่านเกิดขึ้นในวงกรรมฐานจำนวนมาก
ลัก...ยิ้ม
10-06-2020, 00:24
เปิดวิมุตติธรรม
หลังจากผ่านเหตุการณ์ในยามดึกของคืนฟ้าดินถล่มบนเขาวัดดอยธรรมเจดีย์แล้ว รุ่งเช้าวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๘๓) องค์หลวงตาก็ลงจากวัดดอยธรรมเจดีย์มาถึงวัดป่าสุทธาวาส เพื่อเข้ากราบบูชาสังเวชนียสถาน ระลึกบุญคุณพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่มั่นผู้มีพระคุณสูงสุดของท่าน พอดีในวันนั้นมีกล้องถ่ายภาพ ท่านพระอาจารย์มหาทองสุกจึงมีเมตตากุลีกุจอจัดการให้ท่านถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก ดังนี้
“... ท่านอาจารย์มหาทองสุกท่านเอาพัดมาใส่ให้เลย ท่านถามว่า ‘เป็นยังไง เรียนหนังสือมาแทบล้มแทบตาย ได้เคยเห็นพัดมหาไหมล่ะ’
คือเราไม่เคยสนใจกับสิ่งเหล่านี้ จึงเรียนท่านว่า ‘อู๊ย ! กระผมไม่เคยสนใจกับมัน’ พอว่างั้น ท่านก็ปุ๊บปั๊บวิ่งเข้าไปเอาพัดในห้องท่านมาตั้งกึ๊ก ‘มหาบัว มาถ่ายรูป มหาทั้งคนไม่มีพัดยศติดบ้างมันมีอย่างหรือ เรียนมาแทบเป็นแทบตาย ต้องเป็นเครื่องหมายของทางโลกทางธรรมบ้าง’
ท่านว่าของท่านเอง แล้วกุลีกุจอจัดการของท่านเอง ช่างเขามาที่นั่น ถ่ายรูปเดี๋ยวนั้นเลย ‘เอ้า ! นั่งตรงนี้ นั่งให้เราถ่ายรูป ตั้งพัดยศไว้ข้างหลัง’
เราก็เฉย..ทำตามท่าน นี่เป็นพัดยศท่านอาจารย์ทองสุก เอามาให้เราถ่ายรูป...”
ที่วัดป่าสุทธาวาสแห่งนี้ ยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับท่าน คือเป็นสถานที่เปิดเผยความรู้ธรรม เห็นธรรมภายในใจแก่พระผู้ร่วมบำเพ็ญสมณธรรมมาด้วยกันตั้งแต่ครั้งอยู่กับหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ดังนี้
“ท่านเพ็งนี้เอง คือผู้ที่เราบอกเป็นคนแรก เมื่อเราพ้นจากสมมุติทั้งปวงแล้ว”
ที่ท่านให้ความเมตตาต่อพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เช่นนี้ก็เนื่องจากติดสอยห้อยตามมานาน และในระยะที่หลวงปู่มั่นยังมีชีวิตอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านพระอาจารย์บุญเพ็งยังเป็นสามเณรอยู่ มีความขยันขันแข็ง อดทนและใส่ใจในการงานดี ท่านจึงคิดสงสารว่า
“หากมีโอกาสได้ฟังธรรมอัศจรรย์ครั้งนี้ จะเป็นกำลังใจให้ขันแข็งในการบำเพ็ญเพียรยิ่งขึ้น และจะเป็นที่แน่ใจตายใจว่า มรรคผลนิพพานนั้นมีจริง”
ด้วยเมตตาเช่นนี้ ท่านจึงเรียกมาแล้วค่อยเปิดเรื่องว่า
“นี่ ! จะเล่าอันหนึ่งให้ฟังนะ ท่านเคยติดสอยห้อยตามผมมาเป็นเวลานานแล้ว แล้วคำที่ผมจะพูดเวลานี้ ท่านเคยได้ยินได้ฟังไหม ?”
จากนั้นท่านก็เล่าเรื่องบนวัดดอยธรรมเจดีย์ในคืน ๑๕ ค่ำให้ฟังจนจบ แล้วจึงพูดขึ้นว่า “พอฟังแล้วเป็นยังไงคำนี้ ท่านเคยอยู่กับผมมาเป็นเวลานาน เคยได้ยินไหม ? ผมเคยพูดให้ฟังไหม ?”
พระอาจารย์บุญเพ็งตอบด้วยความตื่นเต้นปิติในใจเป็นล้นพ้นว่า “โห กระผมไม่เคยฟังอย่างนี้มาก่อนเลย”
จากนั้นท่านเมตตาสอนพระอาจารย์บุญเพ็งต่อไปว่า
“นั่นละ ให้ตั้งใจหนา อย่างนี้ละ ธรรมพระพุทธเจ้าเป็น อกาลิโก มีเป็นพื้นฐานประจำตลอดเวลา เป็นปัจจุบัน เอาให้จริงนะ นี่ได้เห็นเสียแล้ว.. หายสงสัยทุกอย่าง หายสงสัยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หายหมดเลย เป็นอันเดียวกันหมด
แล้วเราว่าอย่างนี้ เราไม่สงสัยพระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหน ๆ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ตรงไหน จิตกับธรรมนี้เป็นอันเดียวกันแล้ว กับพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอันเดียวกันแล้ว ไม่แยก ไม่มีแยก เป็นอันเดียวกัน"
ต่อมาภายหลัง พระอาจารย์บุญเพ็งผู้ฟังธรรมครั้งสำคัญ เปิดเผยถึงความรู้สึกในอดีต ขณะที่ฟังนั้นว่า
“ตั้งใจรับฟังด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงสุด ถึงแม้ว่าในระยะนั้นจะยังไม่เข้าใจในอรรถธรรมที่ลึกซึ้งละเอียดลออได้ตลอดก็ตามที แต่ก็ได้เก็บคำสอนที่ออกมาจากเมตตาธรรมของท่านไว้เป็นข้อระลึก และเป็นกำลังใจในการบำเพ็ญสมณธรรมอย่างมิรู้ลืมตลอดมา”
หลังจากพักวัดป่าสุทธาวาสกับพระอาจารย์มหาทองสุกได้ ๒ คืน ท่านกับพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต ก็ออกเดินทางไปถ้ำ อำเภอวาริชภูมิ บ้านนาเชือก ทุ่งเชือก ตั้งใจว่าจะเข้าอยู่จำพรรษาในถ้ำแห่งนี้ต่อไป
ลัก...ยิ้ม
10-06-2020, 13:08
ย้อนกลับวัดป่าบ้านหนองผือ
เมื่อองค์หลวงตาและท่านพระอาจารย์บุญเพ็งเดินทางมาถึงถ้ำอำเภอวาริชภูมิ บ้านนาเชือก ทุ่งเชือก เพื่อเตรียมตัวเข้าจำพรรษาเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อได้พบโยมคนหนึ่งถึงกับทำให้ท่านต้องเปลี่ยนใจ ดังนี้
“... เผอิญผู้เฒ่าทิดผาน คนบ้านหนองกุง แกเคยไปหาเราที่วัดบ้านหนองผือบ่อย ๆ ทราบว่าเรามา แกจึงขึ้นไปหาเราที่ภูเขาอำเภอวาริชภูมิ ก็ไปเล่าสภาพของวัดป่าหนองผือให้ฟังว่า ‘โอ๋ย ! น่าสลดสังเวช ดูสภาพหนองผือเหมือนบ้านร้าง วัดร้าง แต่ก่อนพระเณรเหลืองอร่าม ๆ เต็มวัดตลอด มีหลวงปู่มั่นเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ประชาชนญาติโยมยิ้มแย้มแจ่มใส ทำบุญใส่บาตรเหมือนแดนสวรรค์อยู่ในบ้านหนองผือ
พอท่านหลวงปู่มั่นล่วงไปแล้ว เวลานี้เหมือนวัดร้าง ซบเซาหมดเลย ยังเหลืออยู่แต่พระหลวงตา ๒-๓ องค์’
ฟังแล้วเราสะดุดใจอย่างแรง.. ไม่ถามไม่ตอบเลยพอแกพูดอย่างนั้น แกก็เล่าธรรมดา แกไม่รู้ว่าเราเอาจริงเอาจัง ไปสะดุดเราอย่างไรบ้าง พอแกไปแล้ว ก็พิจารณาเต็มเม็ดเต็มหน่วยถึงบุญถึงคุณของบ้านหนองผือ เวลานี้จะกลายเป็นวัดร้าง ยังไงกันนี่
พอตอนเช้า ฉันเสร็จแล้ว ตัดสินใจบอกท่านเพ็งว่า ‘ไป กลับหนองผือ’
‘เอ้า กลับไปยังไงอีก’ ท่านเพ็งนิสัยอย่างนั้น
‘ท่าน.. ไม่ได้ยินหรือ ? เมื่อวานนี้เฒ่าทิดผานมาเล่าให้ฟังนั่นน่ะ’
เราเล่าให้ฟังเหตุผล ท่านก็เข้าใจทันทีเพราะนั่งอยู่ด้วยกันในถ้ำ นี่ละเหตุที่ตัดสินใจกลับไป จวนเข้าพรรษา พอไปถึงหนองผือตรงกับเดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ ก็ประชุมเข้าพรรษา
พอเห็นเราเข้าไปเรื่องก็กระจายออกไปข้างนอก พระเณรจึงพากันหลั่งไหลเข้าไป ปีนั้นจำพรรษาร่วม ๓๐ รูป ไล่เลี่ยกับปีพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นอยู่ ๓๕-๓๖ รูป พระเณรแน่นหนามั่นคง ดูเหมือน ๒๘ หรือ ๒๙ องค์นั่นละ ถึงกลับมาเพื่อสนองคุณชาวบ้านหนองผือ ...”
ผู้เฒ่าทิดผานเป็นลูกศิษย์วัดป่าบ้านหนองผือ ได้เล่าความเปลี่ยนแปลงไปของวัด ถึงกับทำให้ท่านเกิดความรู้สึกสลดหดหู่ใจอย่างมาก จึงคิดตัดสินใจกลับคืนในทันทีด้วยเหตุผลต่อไปนี้
“วัดหนองผือเป็นวัดที่ท่านอาจารย์มั่นจำพรรษาในวาระสุดท้ายของชีวิต และบ้านหนองผือเองก็เป็นบ้านที่มีบุญมีคุณต่อพระกรรมฐานมากมาย พระเณรมาเท่าไร ๆ สามารถเลี้ยงพระได้ทั่วถึงหมด ทั้ง ๆ ที่มีบ้านเพียง ๗๐ หลังคาเรือนเท่านั้น บัดนี้จะกลายเป็นวัดร้าง เหมือนไม่มีใครเหลียวแล คล้ายกับว่าบ้านนี้เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว มันสมควรแล้วเหรอ ? ดูมันเกินเหตุเกินผลไป”
องค์ท่านจึงตัดสินใจย้อนกลับมาจำพรรษาที่นี่อีก.. ทั้งที่เหลือเพียง ๗ วันจะเข้าพรรษาแล้ว บรรดาหมู่เพื่อนพระเณรที่หวังพึ่งพาอาศัย หวังได้รับคำแนะนำอรรถธรรม ข้อวัตรปฏิบัติจากท่าน ก็เลยต่างย้อนกลับมาจำพรรษาที่นี่ด้วยกันจำนวนมาก เลยกลายเป็นว่าในพรรษานั้นมีพระเณรอยู่ด้วยกันถึง ๒๘ องค์ เป็นที่อบอุ่นเย็นใจแก่ชาวบ้านหนองผือเช่นเดิม
ลัก...ยิ้ม
11-06-2020, 02:48
พ่อตาย พ่อยัง
ย้อนมากล่าวถึงคุณยายผู้มีญาณหยั่งรู้ ที่มักมาสนทนาธรรมกับหลวงปู่มั่นบ่อย ๆ ที่บ้านหนองผือแห่งนี้ แกยังคงมีชีวิตอยู่แต่ก็ชราภาพมากแล้ว เวลามาวัด แกจะค้ำด้วยไม้เท้า มาครั้งหนึ่ง ๆ ต้องพักถึง ๕ หน ทั้ง ๆ ที่บ้านของคุณยายก็อยู่ไม่ไกลจากวัดนัก คือราว ๑๐ เส้นกว่า
คุณยายแกสงสารหลานชาย (ชื่อพุด) ซึ่งเคยอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นมาก่อน เกรงว่าจะไม่ทราบถึงคุณธรรมของท่าน (หมายถึงองค์หลวงตา) และอาจปรนนิบัติรับใช้ท่านไม่ดีเท่าที่ควร แกเลยแอบกระซิบหลานชายว่า
“ไอ้พุด ! นี่น่ะ กูจะบอกให้มึงรู้ มึงอย่าพูดให้ใครฟังนะ มึงต้องรู้นะ มึงรู้แล้วยังว่าวัดหนองผือนี้ พ่อตายแล้วพ่อยัง ? มึงรู้ไหม.. พ่อตายแล้วพ่อยัง ?”
จากนั้นแกก็ชี้ไปที่องค์หลวงตา แกเรียกท่านว่า “ท่านมหา” แกกระซิบหลานต่อว่า
“ท่านมหาบัว มาจำพรรษาที่นี่แล้ว องค์นี้กับญาท่านมั่นเป็นอันเดียวกันนะ ให้มึงรู้เสีย ตั้งแต่นี้ต่อไปให้มึงรู้ ท่านมหาบัวครองวัดแทน ครองธรรมแทนแล้ว ครองทุกอย่างสมบูรณ์เต็มที่แล้วนะ ให้มึงเคารพเหมือนกันกับหลวงปู่มั่นนะ มึงอย่าปล่อยอย่าวางนะ ให้มึงคอยแอบปฏิบัติ อุปถัมภ์อุปัฏฐากท่านให้ดีเหมือนหลวงปู่มั่นนะ คุณธรรมอันเดียวกันเลย ไม่มีใครรู้ละ กูกระซิบให้มึง มึงอย่าไปบอกใครนะ”
พระเณรที่วัดป่าบ้านหนองผือระยะนั้นต่างเห็นว่า คุณยายแกออกมาหาหลวงปู่มั่นอย่างไร แกก็ออกมาหาท่านแบบเดียวกัน เหมือนกับสมัยที่หลวงปู่มั่นยังคงมีชีวิตอยู่ไม่ผิดกัน ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า
“... หลวงปู่มั่นเสียไปแล้ว เราไปจำพรรษาที่นั่น แกก็ออกมาจากบ้านมาหาเราตอนเช้า จึงถามแกว่า 'มานี่ พักกี่หน ?’
แกตอบว่า ‘๕ หน’
‘แล้วมาทำไม ?’
‘ก็มันอยากมานี่’ แกพูดอย่างนั้นแหละ นิสัยแกพูดอย่างตรงไปตรงมา
‘มาอะไร ?’ เราว่า
‘ก็มันอยากมานี่ ก็มาแหละ’
แกมาเรื่อย มาหาเรา... แกก็เข้ามาหาเราพร้อมกับหลาน แต่ไม่คุยอะไรกับเรามาก.. เหมือนกับที่เคยคุยกับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น... พอฉันเสร็จแล้วแกก็มา ขึ้นมาคุยธรรมะลั่นเลย สนุกนะ.. แกพูดธรรมะ พูดด้วยความรู้ คนไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน หนังสือตัวเดียวก็ไม่ได้นี่ แกพูดนี้ร่าเริงมาก พระเณรนี้รุมเลย เวลาแกพูดมันน่าฟังทั้งนั้นนี่ พูดด้วยความรู้ออกในแง่ต่าง ๆ รู้พวกอินทร์ พวกพรหม พวกเทวบุตร เทวดา...”
ด้วยนิสัยของหลานชายที่ปิดความลับไว้ไม่อยู่ คำกระซิบของคุณยายจึงเป็นที่รู้กันแม้กระทั่งตัวท่านเอง ดังนี้
“ไอ้หลานก็มากระซิบเราอีก เราถึงขบขันจะตาย แกกระซิบหลาน.. มึงอย่าบอกใครนะ ไม่บอกใครแต่ไปบอกหลวงตาบัวเสียเอง” (หัวเราะ)
ลัก...ยิ้ม
11-06-2020, 15:29
ตาย ๙๙ %
ในพรรษานี้ วันหนึ่งมีโยมมาจากในเมืองได้นำยาถ่ายท้องมาถวายให้พระเณรในวัดฉัน จะด้วยเหตุผลใดนั้นท่านลืมเลือนไปเสีย พระเณรองค์อื่น ๆ เมื่อได้ฉันยานี้ แล้วต่างก็ถ่ายท้องกันแบบปกติตามฤทธิ์ยาถ่ายทั่วไปที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ จึงไม่มีอะไรผิดแปลก
แต่สำหรับท่านเอง หลังจากฉันไปได้ไม่นาน ผลปรากฏว่า ท่านต้องถ่ายท้องอย่างหนักถึง ๒๕ ครั้ง อาเจียน ๒ ครั้ง ความรุนแรงถึงขนาดที่ว่า เศษอาหารนี้พุ่งออกมาติดข้างฝาเลยทีเดียว จนร่างกายอ่อนลง ๆ อย่างรวดเร็ว แม้ว่าท่านจะฉันยาแก้กันแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถแก้ฤทธิ์ยาขนานนี้ได้ ดังนี้
“... มีคนนำยามาขาย ยาขวดแบบนั้น เราก็ไม่เคยเห็นมาก่อน คนขายเขาว่า เขาอยู่กรมการแพทย์ โรงพยาบาลนครพนม บอกจนกระทั่งห้อง ๗ นี่ละ เวลาเป็นเหตุแล้วมันไม่ลืมนะ
วันที่เขามา เราก็ปัดกวาดไปถึงศาลา พอดีเขาก็มาถึงนั้น เราปัดกวาดพอดีเสร็จเรียบร้อย แล้วก็เอาไม้กวาดไปวางไว้แล้ว ก็เลยขึ้นไปศาลา พอขึ้นไปเห็นเขาเปิดหีบออกมา กระเป๋าของเขานั่นละ มียาหลายประเภท แต่ยาขวดนั้นมองไปปั๊บ มันสะเทือนใจทันทีทันใด
‘โอ๊ย ! ยาขวดนี้ฉันไม่ได้นะ ใครฉันตายนะ’
เราว่างี้นะ รู้สึกเสียมารยาท เขาหน้าซีดแห้งไปหมดละ ที่เราไปว่าเขาอย่างนั้น จากนั้นแล้วเราค่อยพลิกใหม่
‘ยาขวดนี้ เป็นยาแก้อะไร’ เราถาม
‘ยาถ่าย ไม่เป็นอะไรละครับ พวกผมมียาห้าม’ พวกขายยามันกล่อมคนเก่ง
เราจึงฉัน ก็ฉันธรรมดา พระองค์ละช้อน ๆ ๆ พระท่านถ่ายธรรมดา พอถึงสองทุ่ม เขาเอายาห้ามมาห้าม พระท่านก็หาย ไอ้เราก็ฉันเท่ากันกับเขา เวลายาห้ามมามันไม่ยอมหายซิ ถ่ายเสียจนตั้งแต่นั้นจนกระทั่งถึง ๘ โมงเช้า ...
เรานั่งอยู่เขียงส้วม ถ่ายท้อง ๒๕ หน เกิดอาเจียนอย่างรุนแรง ๒ หน ความแรงของมัน ทำให้เศษอาหารพุ่งจากนี้ไปติดฝาโน่น ร่างกายอ่อนลงทันที มันจะตายอย่างเห็นได้ชัด อ่อนลง ๆ อย่างรวดเร็ว แน่ะ.. มันสนุกพิจารณากันสบายเลย ตอนมันจะไปจริง ๆ แล้วความรับผิดชอบของร่างกายส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในตัวของเรานี้มันหดมาพร้อม ๆ กัน ข้างล่างก็หดขึ้นมาอยู่กลางหัวใจนี่ ข้างบนก็หดลงไป ข้างซ้ายข้างขวาหดเข้ามาพร้อมกันเลย ลงไปตรงกลาง
ความรับผิดชอบของจิตที่ซ่านออกไปตามร่างกายส่วนต่าง ๆ นี้.. หดตัวเข้ามาอย่างรวดเร็วทีเดียว ตายไป ๙๙% เหลือเพียงเปอร์เซ็นต์เดียว แต่มันแปลกอยู่นะที่ไม่ล้ม
จากนั้นมาก็ปล่อยเลย.. หมด ร่างกายก็หมดความหมาย คือร่างกายเป็นเหมือนท่อนไม้ ท่อนฟืนไปแล้ว หูนี้เลยหนวก ไม่ใช่หนวก ไม่ใช่บอดเสียแล้ว เลยนั้นไปแล้ว เป็นท่อนไม้ ท่อนฟืน ... ประสาทส่วนต่าง ๆ ดับหมด เป็นเหมือนท่อนไม้ไปหมด เวทนาของกายที่มันเป็นอย่างสาหัสนั้น ก็พลันดับวูบ ไม่มีอะไรเหลือ
พอกายหมดความหมาย ทุกขเวทนาก็หมดความหมาย ทุกขเวทนาก็ดับหมด นี่จึงได้เชื่ออย่างแน่ใจว่า คนเราเวลาจะตาย ถ้ามีสติทราบเรื่องของตัวเองอยู่อย่างชัดเจนแล้ว ขณะจะตายนั้นเวทนาต้องดับหมด อันนี้มันดับ ขณะที่เวทนาดับหมด... ยังเหลือแต่ความรู้อันเดียวเท่านั้น ความรู้นั้น.. เราก็พูดไม่ถูกนะ คือตอนที่มันผ่องใส เราก็รู้ว่ามันผ่องใส แต่ก่อนรู้กันทุกระยะ ๆ แต่ตอนนั้นคำว่า “ผ่องใส” หรือ “เศร้าหมอง” มันไม่มี ...
ทั้ง ๆ ที่ทุกขเวทนาอย่างสาหัส พอถึงขั้นจะไปจริง ๆ แล้ว ความรับผิดชอบในความรู้สึกนี้มันหดตัวเข้ามา วูบเดียวเท่านั้นพร้อมกันหมดเลย เข้าไปอยู่ตรงกลางนี้ ตรงกลางนี้ก็สักแต่ว่ารู้นะ จะว่าเป็นจุดเป็นต่อมแห่งผู้รู้อย่างนั้นอย่างนี้ไม่มี พูดได้แต่ว่า “สักแต่ว่ารู้” เท่านั้น แล้วทุกขเวทนาดับ อะไรดับ ร่างกายดับหมดจากความรู้สึกของกายเอง และความรู้สึกของทางประสาท จิตก็เป็นจิต ทุกขเวทนาก็ดับพร้อมกันเลย ...
พอมันมี “สักแต่ว่ารู้” เท่านั้น สังขารมันยังใช้ได้อยู่นะ ความปรุงของจิตยังใช้ได้อยู่ทั้ง ๆ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กายทุกส่วน.. มันหมดความหมายกลายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืนไปหมด แต่ทำไมสังขารนี้อยู่ในวงขันธ์มันปรุงได้ เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามันปรุงได้ แต่ความปรุงอันนี้หรือมันเกี่ยวกับจิต เพราะปรุงออกมามันก็ออกมาจากจิต สัญญาก็ออกมาจากจิต
ตอนมันหดเข้ามาแล้ว เรียบร้อยหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนยังเหลือเปอร์เซ็นต์เดียว เรียกว่า ๙๙% ก้าวเข้ามาถึง ๙๙% พอ ๑๐๐% ก็ดีดพั้บออกเลย ประโยคหลังประโยคสุดท้ายก็จิตเคลื่อนออก แต่นี้ยังไม่เคลื่อน แต่มันปรุงได้ทั้ง ๆ ที่มีแต่ความรู้ที่สักแต่ว่ารู้
แล้วมีอันหนึ่งปรุงถามขึ้นมาว่า ‘หือ ! จะไปเดี๋ยวนี้เชียวหรือ ?’ มันปรุงตอบว่า ‘เอ้า ! ไปก็ไป’
พอกำหนดจิตลงเหมือนกับว่าจะเสริมให้มันไป จะช่วยให้มันไปเลย ‘เอ้า ! จะไปก็ไป’ มันก็ตั้งท่าไป ตั้งหน้าไป แต่แล้วมันกลับไปสนับสนุนกัน มันก็เลยเป็นพลังอันหนึ่ง พอจ่อจิตเข้าไปตั้งท่าจะไป จ่ออยู่กับผู้รู้เท่านั้น ความรับผิดชอบของจิตนี้ซ่านออกไปอีก แทนที่มันจะไปกลับไม่ไป .. ด้วยอำนาจพลังของจิตที่กำหนดจะไปนี้ เลยเป็นพลังทำให้จิตมันซ่านออกไปอีก ให้รับรู้ในสิ่งต่าง ๆ ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ... ทางนี้ก็ขึ้นมา ทางนั้นก็ลงไปข้างล่าง ลงไปทั่วสรรพางค์ ออกทั่วสรรพางค์ร่างกายอย่างรวดเร็วเลย
‘หือ ? ไม่ไปหรือ ? ไม่ไปก็อยู่ซิ’ ว่างั้น
มันไม่เห็นเสียดายหึงหวงอะไรเลย เอ ! มันก็คิดได้นี่นะ มันแปลกอยู่นะ สังขารนี้มันปรุงได้
แน่ะ เป็นอย่างนั้นไม่ลืมนะ ความรู้สึกของเจ้าของเป็นอย่างนั้นจริง ๆ คิดอย่างนั้นด้วยเวลาจะไป ‘จะไปจริง ๆ เหรอ เอ้า ไปก็ไปซิ’ กำหนดปั๊บเพื่อจะช่วยให้มันไปเสีย คือไปอย่างหายห่วงพูดง่าย ๆ ไม่ได้สงสัยอะไรนี่ ระยะนั้นเราก็ไม่ได้สงสัยอะไรแล้ว ..
หายสงสัยทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว พูดตามความจริง เวลานั้นมันจะมาประกาศความจริงให้เราเห็นอยู่ซิ ตอนจะตายนี่ ก็ไม่เห็นมันจะกลัวอะไร มันตามรู้กันทุกระยะ ๆ จนกระทั่งถึงว่า หมดทุกขเวทนาที่เป็นอย่างสาหัสขนาดถึงขั้นจะตาย มันก็รู้ของมันอยู่ตลอดเวลา ไม่พลั้งไม่เผลอ จนทุกขเวทนาในร่างกายนี้ที่เป็นสาหัส.. ดับจนหมด เพราะความรับผิดชอบของจิตมันหดตัวเข้ามา วูบเดียวเท่านั้น ทุกขเวทนาก็เป็นอันว่าดับไปพร้อมกันกับความรับผิดชอบทางด้านร่างกาย
‘เอ้า จะไปเดี๋ยวนี้เชียวเหรอ ? เอ้า ไปก็ไป’
ยังเหลือแต่ความรู้เท่านั้น กำหนดปั๊บเข้าจุดความรู้นั้น ไม่ถึงนาทีนะ.. มันซ่านออกไปอีก พอความรู้นี่มันซ่านออกไปทั่วสรรพางค์ร่างกายแล้ว หูก็เริ่มรู้เริ่มได้ยินเสียง ตาฝ้าฟางก็เหมือนกับมองเห็น ความรู้สึกทางส่วนร่างกายก็รู้ พอความรับผิดชอบมันออกไปสู่อวัยวะส่วนต่าง ๆ ประสาทส่วนต่าง ๆ มันก็รับทราบของมัน ... ทีนี้ทุกขเวทนาก็เริ่มขึ้น ก็สาหัสเหมือนอย่างที่เคยเป็น สาหัสมันก็สาหัสในส่วนร่างกายต่างหาก ไม่ได้สาหัสในจิต ไม่ได้เข้าถึงจิต จิตเป็นปกติอยู่อย่างนั้นธรรมดา ๆ ...
นี่ก็ทำให้คิดเหมือนกันว่า คนเราถ้ามีสติดี ๆ จะทราบเวลาตาย คนเวลาจะตายจริง ๆ เวทนาจะดับหมด เวทนาไม่มีเหลือ จิตถึงจะเคลื่อนตัวออก...”
จากนั้นอาการป่วยของท่านก็ค่อยทุเลาลง ๆ กำลังวังชาก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ และกลับคืนจนเป็นปกติในที่สุด
ลัก...ยิ้ม
11-06-2020, 23:42
หลวงปู่ศรี ติดตามธุดงค์
หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดประชาคมวนาราม จังหวัดร้อยเอ็ด ได้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ในตอนหนึ่งของประวัติว่า
“... ปลายปี ๒๔๙๓-๒๔๙๔ เราได้ติดตามท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ธุดงค์ท่องเที่ยวกรรมฐาน เดินทั้งวันจนค่ำ แต่ว่าท่านไม่ได้สะพายของหนัก เราสะพายช่วยท่าน แม้ลำบากแต่ก็เต็มใจเพราะคิดว่า ‘เรามาสู้สงคราม สงครามโลกแต่ไม่ใช่โลกข้างนอก โลกในตัวเรา ขันธโลก คือโลกขันธ์ ๕ ถ้าผู้ใดชนะตน ท่านเรียกว่าดีกว่าชนะสงครามภายนอกหลายเท่า โลกที่เขาใช้อาวุธยุทธภัณฑ์ฆ่ากันเป็นอีกพวกหนึ่ง แต่ปัญหาของเราโลกอันนี้.. ขันธโลกสู้กับอำนาจฝ่ายต่ำที่มันดึงเราลงไปทางต่ำ ภาษาธรรมะท่านเรียกว่ากิเลส’
ในสมัยครั้งกระโน้นสมัยเมื่อไปอยู่ป่าอยู่เขา เราจะไปอาศัยอะไร ๆ มันก็แสนจะยาก ต้องเอากระบอกไม้ไผ่แทนถ้วยแก้วและกาน้ำ ไปมาสะดวกดี ไม่ต้องระมัดระวัง.. เพียงแต่รักษาเครื่องอัฐบริขารเท่านั้น อย่างอื่นไม่ต้องเกี่ยว หมายความว่าไปอย่างง่าย ๆ ไม่ต้องกังวลในเรื่องอื่น ๆ มาพิจารณาถึงตัวเรา นึกถึงใจเราให้มากขึ้น ถ้าเรามีสติจดจ่ออยู่ตลอด ไม่นานก็จะเกิดความสงบได้สติง่าย ในระยะนี้จำเป็นเหลือเกินที่เราจะพยายามให้มันเกิดขึ้น
รู้จักเรื่องของตัวเอง จึงจะมีความเมตตาสงสารตัวเองเกิดขึ้นในจิตใจของเรา ถ้าจิตใจรู้รสของธรรมะสักอย่างหนึ่ง พอคิดถึงการกระทำซึ่งเราได้กระทำมา ตั้งแต่เรารู้เดียงสามาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้.. จะเกิดสงสารตัวเองจนน้ำตาไหล ว่าการกระทำมาหรือความคิดความเห็นมาแต่ก่อน
‘โอย ! .. น่าสลด น่าสังเวช ห่างกันเหมือนฟ้ากับดิน’
เมื่อเราดำเนินจิตไปสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นความเหลวแหลกของจิตใจที่มันเป็นมาแล้วแต่หนหลัง จิตใจก็หยั่งไปสู่ถึงคุณธรรมได้อย่างดูดดื่ม มีธรรมะมากเท่าไหร่ จิตใจก็ยิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่องมากขึ้นเท่านั้น ...
เราได้ติดตามท่านอาจารย์มหาบัวธุดงค์ไปทางบ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม* และได้อยู่จำพรรษา ๑ พรรษา...”
===========================
* อำเภอคำชะอียังขึ้นอยู่กับจังหวัดนครพนม ระยะนั้นยังไม่มีจังหวัดมุกดาหาร
ลัก...ยิ้ม
11-06-2020, 23:57
กรรมฐานยุคห้วยทราย
ภายหลังหลวงปู่มั่นเข้าสู่นิพพาน องค์หลวงตาได้เข้าจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือได้ ๑ พรรษา จากนั้นท่านก็ไปจำพรรษาที่บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร อยู่ถึง ๔ ปี พระเณรก็หลั่งไหลติดตามไปอยู่ด้วยมากมายตามบ้านเล็กบ้านน้อยแถบนั้น แต่ที่อยู่ในสำนักของท่านจริง ๆ มีประมาณ ๑๐ กว่าองค์ องค์หลวงตากล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ว่า
“เราไปอยู่ห้วยทรายถึง ๔ ปี ห้วยทรายสงัดดี อยู่ตีนเขา บ้านห้วยทรายอยู่ทางด้านตะวันออก ภูเขาอยู่ทางด้านตะวันตก วัดอยู่ทางทิศเหนือของภูเขา จำพรรษาปีแรก เราขึ้นไปจำพรรษาบนเขากับเณรภูบาล (ต่อมาศึกษาจบมหาเปรียญ) ให้หมู่เพื่อนอยู่ข้างล่าง เราขึ้นไปอยู่บนภูเขามันใกล้ ๆ กัน พอถึงเวลาที่จะประชุมก็ลงจากภูเขาไปประชุมที่วัดตีนเขา เราเป็นผู้เทศน์แหละ อาจารย์มหาบุญมี ท่านอยู่วัดข้างล่าง เราอยู่ข้างบน .. ทางผ่านแต่ก่อนไม่มี ลงจากภูเขาก็เข้าวัดตีนเขา..”
องค์หลวงตาสงเคราะห์พระเณรด้วยการเทศนาอบรม สั่งสอนด้วยความเอาใจใส่จริงจัง เข้มงวดทั้งธรรมวินัย ทั้งข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ และเทศน์ให้กำลังใจในการบำเพ็ญเพียร จนพระเณรหลายต่อหลายรูปรวมทั้งฆราวาสเกิดผลภาวนาประจักษ์ใจขึ้นเป็นลำดับ
หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง) จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระอีกรูปหนึ่ง ที่จำพรรษาอยู่ในช่วงเวลานั้น ได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือประวัติว่า
“... ท่านอาจารย์มหาบัว ท่านอยู่ในวัยหนุ่ม ร่างกายแข็งแรง ปราดเปรียว ทำความเพียรเป็นแบบอย่างในทุกอิริยาบถ เป็นที่พึ่งอันมั่นคงของพระเณร เหมือนอย่างที่ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งลาก่อนปีที่ท่านจะนิพพานว่า ‘เมื่อเราตาย ให้หมู่เพื่อนพึ่งมหาบัว’
ในสมัยนั้น สมถะสันโดษมาก กระโถนใช้กระบอกไม้ไผ่ เสนาสนะกุฏิกั้นด้วยใบตองและฟาง แม้กุฏิท่านอาจารย์มหาบัวเอง ก็ยังเป็นฟากมุงด้วยหญ้าคา ประตูหน้าต่างทำเป็นงวงฝาแถบตองผลักไปมา หรือเวิกออกแล้วก็ค้ำเอา
ข้อปฏิบัติที่ท่านถือเคร่งในยุคนั้นคือ ปฏิบัติอย่างหยาบ ๆ ห้ามนอนก่อน ๔ ทุ่ม ถ้าใครนอนก่อน ๔ ทุ่ม ต้องตื่นขึ้นมาทำความเพียรก่อนตี ๔ ถ้าผิดจากนี้ ได้ตักเตือนถึงสามครั้ง ถ้าทำไม่ได้ท่านจะไล่หนีจากวัดทันที
พระกรรมฐานยุคห้วยทรายโดยท่านอาจารย์มหาบัวเป็นผู้นำ ปฏิปทาถอดแบบมาจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ยุคหนองผือทุกอย่าง ท่านตีและเข่นพระเณร โดยมิเห็นแก่หน้า พากเพียรเป็นอย่างมาก วันคืนที่ผ่านไปล้วนแต่ประกอบจิตภาวนาในอิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน ประกอบความพากเพียรด้วยสติปัญญาตลอด
มองไปทางด้านใด เห็นพระเณรต่างเร่งความเพียร เหมือนว่าจะสิ้นกิเลสกันไปหมดทุกคน กิริยาแห่งความขี้เกียจขี้คร้านไม่มีให้เห็น ทุกรูปทุกนามต่างก็เร่งความเพียร เหมือนจะสิ้นกิเลสในวันนี้หรือพรุ่งนี้...”
การแสดงธรรมภาคจิตภาวนาขององค์หลวงตาในช่วง ๔ ปีที่ห้วยทรายนี้ นอกจากท่านจะแสดงธรรมอบรมพระเณรที่อยู่จำพรรษาร่วมกับท่านแล้ว ยังเปิดโอกาสให้พระเณรที่อยู่บริเวณโดยรอบเข้ามาร่วมฟังธรรมด้วย หนึ่งในนั้นคือ ท่านพระอาจารย์มหาบุญมี สิริธโร ซึ่งองค์หลวงตากล่าวยกย่องคุณธรรมของท่านไว้ว่า
“อาจารย์มหาบุญมีนี้ ท่านไปอยู่ห้วยทรายกับเรา ท่านแก่พรรษากว่าเรา ดูเหมือน ๒ พรรษา ท่านเรียนเป็นเปรียญหลังเรา แล้วก็ออกปฏิบัติหลังเรา เราออกก่อน ท่านมาก็มาอยู่กับเราที่ห้วยทราย ท่านออกมาทีแรก.. ท่านมาฝึกหัดทางด้านภาวนา
‘ทีนี้จะออกภาวนาแล้ว’ ท่านว่าอย่างนั้น ท่านออกมาอยู่ห้วยทราย เราอยู่บนเขากับเณรหนึ่ง ให้ท่านอยู่กับพวกพระ อยู่ทางตีนเขาทางนู้น ท่านเป็นตุ๊กตาเลยนะ ท่านไม่ถือเนื้อถือตัว ท่านหมอบให้เราหมด ท่านบอกว่า ท่านเป็นพระอาคันตุกะ เพียงมาอาศัยเท่านั้น มาอาศัยก็มาอาศัยท่านอาจารย์ บอกตรง ๆ เลย มาอาศัยท่านอาจารย์เพื่อจะอบรมทางด้านจิตภาวนา ท่านเอาจริง ๆ ...
คุ้นกันมากกับเรานะ เพราะท่านเคยอยู่กับเราแล้ว จะเรียกตามหลักธรรมชาติ.. อย่างพระโปฏฐิละกับเณรนั้นก็ไม่ผิด ท่านถือเราเป็นอย่างนั้น ท่านเคารพมาก แต่ท่านเป็นอาวุโส ท่านเคารพในทางด้านธรรมะธัมโม ทางพระวินัยเราเคารพท่าน เพราะพระวินัยมีอาวุโสภันเต ธรรมะไม่มี.. ถือคุณธรรมเป็นสำคัญ ท่านนับถือมากทีเดียว
ลัก...ยิ้ม
12-06-2020, 14:37
เข่นหนัก ด้วยอรรถธรรม
ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร วัดป่าแก้วชุมพล จังหวัดสกลนคร เป็นองค์หนึ่งที่ได้อยู่จำพรรษาในระยะนี้ หนังสือประวัติย่อของท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ได้กล่าวถึงความจริงจังขององค์หลวงตาต่อพระเณรยุคบ้านห้วยทรายว่า
“.. ท่านพระอาจารย์มหาบัว ท่านเข้มงวดกวดขันกับพระเณรที่ไปปฏิบัติกับท่านมาก ยามค่ำคืนท่านอาจารย์มหาบัวจะลงเดินตรวจพระเณรในวัดโดยไม่ใช้ไฟฉาย ว่าพระเณรองค์ไหนทำความเพียรอยู่หรือเปล่า ถ้ามองเห็นจุดไฟอยู่ท่านก็จะไม่เข้าไป ถ้าองค์ไหนดับไฟท่านจะเข้าไป เข้าไปจนใต้ถุนกุฏิแล้วฟังเสียงว่าจะนอนหลับหรือเปล่า หรือนั่งภาวนา เพราะคนที่นอนหลับส่วนมากเสียงลมหายใจจะแรงกว่าธรรมดาที่ไม่หลับ
ถ้าหากว่าองค์ไหนนอนหลับก่อน ๔ ทุ่มแล้ว พอตอนเช้าประมาณตี ๔ ท่านจะเดินตรงไปที่กุฏิองค์นั้นแหละและถ้ายังไม่ตื่น ตอนเช้าลงศาลาจะเตรียมบิณฑบาต ท่านจะเทศน์ว่าให้พระเณรองค์นั้น ถ้าท่านได้เตือนถึง ๓ ครั้งแล้วไม่ดีขึ้น ท่านจะขับไล่ออกจากวัด ให้ไปอยู่วัดอื่นโดยพูดว่า
‘ผมสอนท่านไม่ได้แล้ว นิมนต์ออกไปจากวัดเสีย’
ฉะนั้น พระเณรยุคบ้านห้วยทราย ภายใต้การนำของท่านจึงมีความพากเพียร.. ในด้านการทำสมาธิภาวนาเป็นอย่างมาก ต่างองค์ต่างลักกัน (แอบปฏิบัติ) คือบางองค์เวลาหมู่เดินจงกรม จะขึ้นกุฏิแล้วไม่จุดไฟ ทำท่าเหมือนกับว่านอนแต่ความจริงนั่งภาวนา เวลาหมู่ขึ้นจากจงกรมหมดแล้ว จึงค่อยลงเดินก็มี
ท่านอาจารย์สิงห์ทองเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นเหมือนกับว่าพระเณรในวัดนั้นจะไม่ค้างโลกกัน พอตื่นนอนขึ้นมามองไปเห็นแต่แสงไฟ.. โคมสว่างไสวตามกุฏิของพระเณรเหมือนกับไม่นอนกัน
เรื่องอาหารการกิน เขามีกบหรือเขียดตัวเดียวอย่างนี้ เขาก็แบ่งใส่บาตรได้ ๔ บาตร ๔ องค์ก็มี ในคราวที่อดอยาก มะเขือลูกเดียวอย่างนี้ เขาจะผ่าใส่บาตรได้ ๔ องค์ ทั้งนี้เนื่องจากทางอีสานนั้นกันดารน้ำ โดยเฉพาะหน้าแล้งบางแห่งต้องได้กินน้ำในสระ พร้อมทั้งไปตักเอาไกลด้วยเป็น ๒-๓ กิโลเมตรก็มี เพราะขุดบ่อไม่มีน้ำ ถึงจะมีบางแห่งน้ำก็เค็ม กินไม่ได้และสิ่งที่ตามมาด้วยก็คือ ความอดอยากเรื่องอาหารการกิน
อาศัยแก่นไม้ รากไม้ ใบไม้มาต้มฉัน นาน ๆ จะมีน้ำอ้อยก้อนทีหนึ่ง ... ก้อนเดียวแบ่งกันฉัน ๓-๔ องค์ก็ยังพอ .. บางปีพระเณรป่วยเป็นไข้มาลาเรียเกือบหมดทั้งวัด ยังเหลือแค่ท่านพระอาจารย์มหาบัวและพระอีกองค์หนึ่งก็มีเป็นผู้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ปัดกวาดลาดวัด และตักน้ำใช้น้ำฉัน...”
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต วัดภูจ้อก้อ จังหวัดมุกดาหาร เป็นอีกรูปหนึ่งที่อยู่ร่วมจำพรรษาด้วย หลวงปู่หล้าเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนเข้าห้วยทราย และบรรยากาศในยุคบ้านห้วยทรายไว้อย่างน่าประทับใจ ดังนี้
“... (ข้าพเจ้า) พักอยู่วัดโพธิสมภรณ์คืนหนึ่ง แล้วท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็ส่งขึ้นรถยนต์มาลงสกลนคร พักอยู่สุทธาวาส ๑ คืน ก็เดินทางด้วยฝีเท้ามาพักวัดป่าบ้านโคกกับพระอาจารย์อุ่นหนึ่งคืน แล้วไปพักวัดดอยธรรมเจดีย์ประมาณ ๗ วัน เอาฟืนช่วยหลวงปู่กงมาอยู่บ้าง ลาออกจากนั้นก็ไปพักวัดป่าบ้านนาโสกอยู่ประมาณ ๗ วัน มีเณรโส บ้านนาโสก อยากจะไปห้วยทรายด้วย จึงพูดกับเณรว่า
‘ถ้าเณรอยากไปจงไปทีหลัง อย่าได้ไปพร้อมกัน เพราะจะทับถมข้า คล้ายกับข้ามายักยอกเอาเณรไปด้วย’
เณรกล่าว ‘อยากจะไปศึกษากับพระอาจารย์มหาบัวที่วัดป่าห้วยทราย ได้ยินแต่กิตติศัพท์มาหลายปีแล้ว อยากเห็น อยากรู้’..
ตื่นขึ้นเป็นวันใหม่ ฉันเสร็จเรียบร้อยก็กราบลาหลวงพ่อเตรียมเดินทาง ... แล้วโยมก็ไปส่งสองคน ไปส่งถึงแจ้งตะวัน (แจ้งตะวันเป็นชื่อสถานที่) แล้วก็กลับ ต่อแต่นั้นก็ตั้งหน้าเดินตรงข้ามบ้านโพนแดง ข้ามบ้านดงมอนก้านเหลือง ข้ามห้วยบางทราย ไปพักใกล้บ้านสงเปือย ที่ทุ่งนาแห่งหนึ่ง อยู่กลางดง มีเถียงนาว่าง ๆ อยู่หลังหนึ่งก็พอดีกับค่ำ พักนอนที่นั่น .. ฉันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตั้งหน้าภาวนา เดินข้ามบ้านนำคำ บ้านตากแดดเข้าบ้านหนองเอี่ยนทุ่ง แล้วเดินทางตามทางหลวง พอถึงห้วยทรายก็มืดพอดี.. จุดไฟ องค์หลวงปู่มหาก็อยู่ในศาลากำลังเทศน์พระและแม่ชีอยู่
ท่านทักว่า ‘ท่านหล้ามาแล้ว’ ท่านประกาศว่า ‘นี่แหละ..เขียงเช็ดเท้าพระอาจารย์ใหญ่มั่นองค์หนึ่ง’
กราบนมัสการแล้วองค์ท่านก็ถามไถ่ทุกประการ ตกลงได้นอนอยู่ที่ศาลาเพราะกุฏิเต็ม..
พอข้าพเจ้ามาพักวัดป่าสุทธาวาส คุณเพ็ง คุณสีหา พอได้รับทราบข่าวว่า ข้าพเจ้ามาถึงวัดป่าสุทธาวาสจะไปหาพระอาจารย์มหาบัว ขณะนั้นคุณเพ็งคงอยู่กับหลวงปู่มั่น คุณสีหาคงอยู่กับพระอาจารย์วัน ก็พากันชวนกันไปหาพระอาจารย์มหาบัว เพื่อจะได้จำพรรษารวมกันหมู่เก่าอีก เพราะเคยได้อยู่ร่วมกันมาแล้วในยุคหนองผือ รู้จักนิสัยใจคอกันแล้วจะปฏิบัติสะดวก
สมัยนั้นเป็นเวลาฤดูเดือนพฤษภาคมข้างแรม หลังวิสาขบูชา ๒๔๙๖ แล้ว พระอาจารย์มหาได้ปรารภลับหลังกับหมู่ว่า
‘ผมไปอยู่กับหลวงปู่มั่น เสนาสนะเต็มหมด องค์ท่านได้พาหมู่ทำกุฏิให้ผมอยู่ มาบัดนี้ ผมจะได้ทำกุฏิให้ท่านหล้าอยู่ละ ผมเป็นเวรกับองค์หลวงปู่ในตอนนี้อีกแล้ว ใช้เวรไปเสีย’
แล้วได้รีบทำกุฏิมุงหญ้า ปูฟากอีกหลังก็เสร็จไปโดยเร็ว ได้ให้อาจารย์สิงห์ทองไปอยู่ แล้วได้สับเปลี่ยนหลังอื่นให้ข้าพเจ้าไปอยู่ แต่อยู่ใกล้พระอาจารย์มหาทางทิศเหนือนั้น กุฏิที่ปลูกใหม่อยู่ใกล้พระอาจารย์มหาทางทิศใต้ สามเณรโสให้อยู่ข้างใกล้โรงไฟ
ปีนั้นมีพระ ๑๑ รูป สามเณร ๔ องค์ คือ ๑. พระอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้า (อาจารย์มหาบัว) ๒. พระอาจารย์สม ๓. พระอาจารย์สิงห์ทอง ๔. พระอาจารย์นิล ๕. ข้าพเจ้า ๖. คุณเพียร ๗.คุณสุพัฒน์ ๘. คุณเพ็ง ๙.คุณสีหา ๑๐.คุณสี ๑๑. คุณสวาส ๑๒. เณรน้อย ๑๓. เณรน้อยอีก ๑๔. เณรบุญยัง ๑๕. เณรโส
ปฏิปทาของหลวงปู่มหา.. พาทำเหมือนสมัยยุคหนองผือหลวงปู่มั่น เพราะสมัยห้วยทรายแขกโยมยังไม่มาก ประวัติยุคห้วยทราย ก็เป็นยุคที่พระอาจารย์มหาตีและเข่นพระเณรโดยมิได้เลือกหน้าเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่าสมัยบ้านห้วยทรายในยุคนั้น ในศาลาโรงฉันยังได้ใช้กระโถนกระบอกไม้ไผ่บ้านอยู่นะ แม้อยู่ตามกุฏิเป็นส่วนมากก็เหมือนกัน น้ำมันก๊าดก็มีเพียงปีละสองปีบ ผ้าที่จะทำไตรจีวรก็เหลืออยู่หมดวัดเพียงปีละไม้สองไม้เท่านั้น มูลค่าในวัดทั้งหมดรวมกันในวัด บางทีก็ร้อยสองร้อยเท่านั้น
ปรารภไว้เพื่อให้กุลบุตรสุดท้ายคำนึง จะได้ไม่ลืมตัวในสมัยวัตถุนิยมหรูหรา เพราะเกรงกิเลสจะหรูหราขึ้น
ด้านเสนาสนะก็กั้นใบตองและฟางเป็นส่วนมาก พระอาจารย์มหาก็ยังอยู่กุฏิฟางและมุ่งหญ้า ประตูหน้าต่างก็ทำเป็นวงฝาแถบตองผลักไปมา หรือเวิกออกแล้วก็ค้ำเอา
ด้านทำความเพียรมีเวลามากกว่าทุกวันนี้ คราวหนุ่มอยู่.. หลวงปู่มหายิ่งประเปรียวกว่านี้มาก พวกลูกศิษย์ที่ได้ไปหุ้ม (รุมล้อม) หลวงปู่บ้านตาดในยุคปัจจุบันนั้น องค์ท่านอนุโลมที่สุด อย่าว่าองค์ท่านดุเลย...”
ลัก...ยิ้ม
12-06-2020, 22:34
อัศจรรย์.. ความเด็ดเดี่ยวองค์หลวงปู่มหา
ด้วยเหตุที่หลวงปู่หล้าท่านเห็นถึงปฏิปทาความจริงจังขององค์หลวงตา ตั้งแต่สมัยที่ปฏิบัติต่อสู้กับกิเลส กระทั่งถึงระยะที่เป็นครูบาอาจารย์ สอนสั่งพระเณรหลายรุ่นต่อหลายรุ่นด้วยกันมานี้
ดังนั้น เมื่อหลวงปู่หล้าท่านตั้งวัดภูจ้อก้อขึ้นมา มีพระเณรเข้ามาอยู่ศึกษากับท่าน เพื่อให้พระเณรลูกหลานที่อยู่ในการปกครอง ได้เห็นคติแบบฉบับอันงดงาม.. การแสดงธรรมของท่านจึงมักต้องได้กล่าวถึงองค์หลวงตาอยู่เสมอ ๆ
ดังบันทึกฉบับหนึ่ง ที่หลวงปู่หล้าท่านเขียนเป็นจดหมายไว้เป็นอุบายสอนพระ ดังนี้
ลัก...ยิ้ม
13-06-2020, 19:24
โปรดคุณแม่ชีแก้ว
ที่บ้านห้วยทรายแห่งนี้ มีนักปฏิบัติธรรมหญิงท่านหนึ่งนามว่า คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ เวลาภาวนามักจะมีความรู้แปลกพิสดารมาก เมื่อท่านมาจำพรรษาที่บ้านนี้ จึงมีโอกาสได้สนทนาซักถามพร้อมกับให้อุบายทางจิตภาวนาแบบเด็ด จนสามารถพลิกภาวะจิตของคุณแม่ชีแก้วได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังนี้
“.. แม่ชีแก้วที่อยู่บ้านห้วยทรายนี้ เป็นลูกศิษย์ดั้งเดิมของท่านอาจารย์มั่นมาตั้งแต่เป็นสาวโน่นนะ แกภาวนาเป็นตั้งแต่เป็นสาวโน่น ถ้าวันไหนภาวนาแปลก ๆ พอท่านอาจารย์มั่นบิณฑบาตมาถึงนั้น ท่านจะว่า ‘วันนี้ ออกไปวัดนะ’
เพราะท่านหยั่งทราบทุกอย่าง .. ทีนี้พอท่านจะจากที่นั่นไป ท่านก็บอกตรง ๆ เลย บอกว่า ‘นี่ถ้าเป็นผู้ชายแล้ว เราจะเอาไปบวชเป็นเณรด้วย’
อายุตอนนั้นราว ๑๖-๑๗ ปี ‘นี่เป็นผู้หญิง มันลำบากลำบน ไม่เอาไปแหละ อยู่นี่แหละ จะเป็นบ้าครอบครัวเหมือนโลกเขาก็แล้วแต่เถอะ’ ว่าดังนี้แล้วท่านก็ไป ก่อนจะไปท่านสั่งว่า ‘แต่อย่าภาวนานะ’
นี่สำคัญ ท่านสั่งไว้จุดนี้แหละ คือนิสัยแกผาดโผนมาก เรื่องภาวนานี้.. นิสัยผาดโผนมากจริง ๆ เพราะเหินเดินฟ้าดำดิน บินบนในหัวใจ มันออกรู้ออกเห็นหมด เทวบุตรเทวดา อินทร์พรหม เปรต ผีนี้ มันไปรู้ไปหมดนั่นซิ ทีนี้เวลาไม่มีครูมีอาจารย์คอยแนะ คอยบอก กลัวมันจะเสีย
ท่านจึงห้ามไม่ให้ภาวนา ‘เราไปนี้ไม่ต้องภาวนา ต่อไปมันก็จะมีครูมีอาจารย์สอนเหมือนกันนั่นแหละ’
ท่านว่าอย่างนี้ ท่านว่าผ่าน ๆ ไปอย่างนี้แหละ .. ทีนี้นานเข้า ๆ หนักเข้ามันอดไม่ได้ มันอยากภาวนาอยู่ตลอด แกก็เลยภาวนา ก็พอดีเป็นจังหวะที่เราไปที่นั่น พอเหมาะดีเลยเทียว
พอเราไปถึง แกก็มาเล่าให้ฟัง ตอนที่เราไปนั้น เราไปจำพรรษาบนภูเขา ให้หมู่เพื่อนจำพรรษาข้างล่าง เรากับเณรหนึ่งไปจำพรรษาอยู่บนภูเขา บ้านห้วยทรายนั่นแหละ
พอวันพระหนึ่ง ๆ พวกเขาจะไป ไปพร้อมกัน ไปละไปทั้งวัดเขาเลยแหละ พวกแม่ชีแม่ขาวหลั่งไหลกันไป ขึ้นบนภูเขาหาเราตอนบ่าย ๔ โมง ๔ โมงเย็นเขาก็ไป ตอนจวน ๖ โมงเย็นเขาก็กลับลงมา พอไปถึงแกก็เล่าให้ฟัง ขึ้นต้นก็น่าฟังเลยนะ พอแกขึ้นต้นก็น่าฟังทันที
‘นี่ก็ไม่ได้ภาวนา เพิ่งเริ่มภาวนานี่แหละ ญาท่านมั่น.. ท่านไม่ให้ภาวนา’ แกว่าอย่างนั้น ‘ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา’
เราก็สะดุดใจกึ๊ก มันต้องมีอันหนึ่งแน่นอน ลงหลวงปู่มั่นห้าม ไม่ให้ภาวนานี้ต้องมีอันหนึ่งแน่นอน จากนั้นแกก็เล่าภาวนาให้ฟังนี้ โถ.. ไม่ใช่เล่น ๆ พิสดารเกินคาดเกินหมาย เราก็จับได้เลยทันที ‘อ๋อ..อันนี้เอง ที่ท่านห้ามไม่ให้ภาวนา’
พอไปอยู่กับเรา..ไปหาเราก็ภาวนา พูดตั้งแต่เรื่องความรู้ความเห็น ไปโปรดเปรต โปรดผี โปรดอะไรต่ออะไร นรก สวรรค์ แกไปได้หมด รู้หมด แกรู้ ทีนี้เวลาภาวนา มันก็เพลินแต่ชมสิ่งเหล่านี้ ครั้นไปหาเรานานเข้า ๆ เราก็ค่อยห้ามเข้า หักเข้ามาเป็นลำดับลำดานี่แหละ เอากันตอนนี้ ทีแรกให้ออกได้ ‘ให้ออกก็ได้ ไม่ออกก็ได้ .. ได้ไหมเอาไปภาวนาดู ?’
ครั้นต่อมา ‘ไม่ให้ออก’ ต่อมาตัดเลย เด็ดเลย ‘ห้ามไม่ให้ออกเป็นอันขาด’
นั่นเอาขนาดนั้นนะ ทีนี้ให้แกรู้ภายใน อันนั้นเป็นรู้ภายนอก ไม่ใช่รู้ภายใน ไม่ใช่รู้เรื่องแก้กิเลส จะให้แกเข้ามารู้ภายในเพื่อจะแก้กิเลส แกไม่ยอมเข้า เถียงกัน แกก็ว่าแกรู้ แกก็เถียงกันกับเรานี่แหละ ตอนมันสำคัญนะ พอมาเถียงกับอาจารย์ อาจารย์ก็ไล่ลงภูเขา ร้องไห้ลงภูเขาเลย
‘ไป..จะไปที่ไหน..ไป สถานที่นี้ไม่มีบัณฑิต นักปราชญ์ มีแต่คนพาลนะ ใครเป็นบัณฑิต นักปราชญ์ให้ไป..ลงไป..’
ลัก...ยิ้ม
13-06-2020, 19:49
ไล่ลงเดี๋ยวนั้น ร้องไห้ลงไปเลย.. เราก็เฉย น้ำตานี่ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร เราเอาตรงนั้น ไล่ลงไป ‘อย่าขึ้นมานะ แต่นี้ต่อไปห้าม’ ตัดเด็ดกันเลย ไปได้ ๔-๕ วัน โผล่ขึ้นมาอีก ‘.. ขึ้นมาทำอะไร !!!..’
‘เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อน เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อน’ แกว่า
‘มันอะไรกัน นักปราชญ์ใหญ่’ เราว่าอย่างนั้นนะ ว่านักปราชญ์ใหญ่
แกว่า ‘เดี๋ยว ๆ ให้พูดเสียก่อน ๆ’ แกจึงเล่าให้ฟัง คือไปมันหมดหวัง.. แกก็หวังจะพึ่งก็พูดเปิดอกเสียเลย
แกหวังว่า ‘จะพึ่งอาจารย์องค์นี้ ชีวิตจิตใจมอบไว้หมดแล้ว.. ไม่มีอะไร แล้วก็ถูกท่านไล่ลงจากภูเขา เราจะพึ่งที่ไหน ? แล้วเหตุที่ท่านไล่ ท่านก็มีเหตุมีผลของท่านว่าเราไม่ฟังคำท่าน ท่านไล่ นี่ถ้าหากว่าเราจะถือท่านเป็นครูบาอาจารย์แล้ว ทำไมจึงไม่ฟังคำของท่าน เพราะเราอวดดีแล้วมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร ทีนี้ก็เลยเอาคำของท่านมาสอนมาปฏิบัติ มันจะเป็นยังไง ? เอาว่าซิ มันจะจมก็จมไปซิ’
คราวนี้แกเอาคำของเราไป สอนบังคับไม่ให้ออกอย่างว่านั่นแหละ แต่ก่อนมีแต่ออก ๆ ห้ามขนาดถึงว่าไล่ลงภูเขา แกไม่ยอมเข้า มีแต่ออกรู้อย่างเดียว พอไปหมดท่าหมดทาง หมดที่พึ่งที่เกาะแล้ว ก็มาเห็นโทษตัวเอง ‘ถ้าว่าเราถือท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ ทำไมไม่ฟังคำท่าน ฟังคำท่านซิ ทำลงไปแล้วเป็นยังไงให้รู้สิ’ ...
ทีนี้ก็มีแต่บังคับให้อยู่ละ คราวนี้เพราะมันชินพอ พอบังคับให้อยู่ พอแน่วลงอยู่นี้ก็สว่างจ้าขึ้น แล้วก็ปรากฏเป็นนิมิต เรานี้แหละมา.. ถือมีด เรียกว่าอะไรไม่รู้ มีดก็มีดคมกริบ แสงออกแพรวพราว ๆ ทีนี้ให้พิจารณาอย่างนี้นะ การทำลายกายทำลายอย่างนี้ จุดตะเกียงเจ้าพายุมาด้วยนะ หิ้วตะเกียงเจ้าพายุมาด้วยแกว่า.. หิ้วตะเกียงเจ้าพายุมาแล้วก็ฟันเลย ฟันตัวแกนั่นแหละในนิมิตภาวนา ฟันพออันนี้ขาดตก อันโน้นขาดตก ฟันนี้ ๆ ทำอย่างนี้ ๆ แยกกายแยกอย่างนี้ ฟันฟาดมันแหลกไปเลยนะ ฟันแล้ว เขี่ย ๆ เขี่ยออก
‘นี่ ๆ ดูเอา ๆ แล้วแยกออกไป อันไหนเป็นสัตว์ อันไหนเป็นบุคคล อันไหนเป็นหญิง อันไหนเป็นชาย เอ้า.. ดูเทียบดู อันไหนสวย อันไหนงาม เอ้า.. ดู’
ฟันออกจนแหลก ทางนี้ก็ดู เกิดความสลดสังเวชภายในจิตใจ มันเป็นนิมิตอันหนึ่ง.. ออกแต่เป็นธรรม พออันนี้แตกกระจัดกระจายไปจนกระทั่งว่าเกิดความสลดสังเวชตัวเอง พอคราวนี้พึ่บลงอีก คราวหลังนี้เงียบเลย พูดไม่ถูกคราวนี้ จะว่าอัศจรรย์ขนาดไหนพูดไม่ถูก ทีนี้พอจิตถอนขึ้น จากนั้นก็หมอบกราบไปทางภูเขาเลยแกว่า ..
พอทำตามนั้นมันก็เปิดโล่งภายในซิ ทีนี้จำขึ้นเลยเชียว .. นี่แหละที่กลับขึ้นมา กลับขึ้นมาเพราะเหตุนี้ ทีนี้ได้รู้อย่างนั้น ๆ ละ ทีนี้รู้ตามที่เราสอนนะ
‘เออ เอาละ ทีนี้ขยำลงไปนะตรงนี้ ทีนี้อย่าออก อย่ายุ่ง ยุ่งมานานแล้วไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร เหมือนเราดูดินฟ้าอากาศ ดูสิ่งเหล่านั้นน่ะ ดูเปรต ดูผี ดูเทวบุตรเทวดา มันก็เหมือนตาเนื้อเราดู สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร ถอนกิเลสตัวเดียวก็ไม่ได้ นี่ตรงนี้.. ตรงถอนกิเลส’
เราก็ว่าอย่างนี้ ‘เอ้า ดูตรงนี้นะ’
แกก็ขยำใหญ่เลย เอาใหญ่เลย ลงใจไม่นานนะก็ผ่านไป แกบอกแกผ่านมานานนะ ... พ.ศ. ๒๔๙๔ เราไปจำพรรษาที่ห้วยทรายในราวสัก ๒๔๙๔ ละมัง แกก็ผ่าน...”
ลัก...ยิ้ม
14-06-2020, 20:48
หลวงปู่คำดีนิมิตรู้ องค์หลวงตาจะมาพบ
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ องค์หลวงตาหาอุบายหลบหลีกหมู่เพื่อนไปเยี่ยมหลวงปู่คำดี ที่วัดศรีฐาน จังหวัดขอนแก่น องค์ท่านจึงปิดเงียบ ไม่บอกกล่าวให้ผู้ใดทราบเลย แต่ถึงอย่างนั้น หลวงปู่คำดีก็สามารถรับรู้ได้ล่วงหน้า ดังนี้
“... นิมิตท่านสำคัญมาก ปรากฏในภาวนาไม่ผิดพลาดนะ ที่อยู่วัดศรีฐาน.. แต่ก่อนเป็นวัดป่าจริง ๆ เขาเรียกสามเหลี่ยมไปขอนแก่นนั่นน่ะ ที่แยกไปทางชุมแพ แยกไปทางโคราช แยกไปทางไหน สามเหลี่ยมใหญ่นั่นนะ แต่ก่อนเป็นดงทั้งหมด วัดป่าศรีฐานอยู่ตรงนั้นแหละ
เราไป.. เรายังจำได้ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ขโมยหนีจากหมู่เพื่อนไป หาอุบายมาเยี่ยมโยมแม่ เพราะรำคาญพระเณรรุม หาอุบายมาเยี่ยมโยมแม่ ก็มาพักอยู่กับโยมแม่เพียงสองคืนเท่านั้นเอง เราเปิดไปขอนแก่นคนเดียว ทีนี้ท่านได้นิมิต .. ตอนนั้นมันบันดลบันดาลยังไงก็ไม่รู้ แทบจะทุกครั้งเรื่องมันรับกันได้พอดี ๆ อันนี้ท่านนิมิตในภาวนาของท่าน ท่านบอกท่านฝัน ถ้าพูดนอก ๆ ท่านก็บอกว่าฝัน.. จริง ๆ ก็คือฝันภาวนานั่นเอง เป็นไรไปท่านฝันในของท่าน นักภาวนารู้กัน วันนั้นภาวนาอยู่มันเกิดเรื่องราวขึ้นมา พอตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็รีบสั่งพระเลย
‘เอ้อ.. เมื่อคืนนี้ผมได้นิมิตแปลกประหลาดมาก จะมีพระองค์สำคัญ แต่ว่าองค์ไหนท่านก็ไม่ได้บอก จะมีพระองค์สำคัญมาวัดเราในเร็ว ๆ นี้ ถ้ามีพระกรรมฐานมาจากที่ไหนก็ตาม อย่างไรขอให้ได้พบกับเราเสียก่อน’
ท่านจัดพระมาเลยนะ จัดพระมาเฝ้าศาลา ศาลาวัดป่าศรีฐานเป็นป่าจริง ๆ ไม่ให้ไปไหน คือท่านสั่งไว้ว่า ถ้าพระกรรมฐานมาไม่ว่าองค์ใดก็ตาม แก่หรือหนุ่มก็ตามถ้าเป็นพระกรรมฐาน นอกนั้นท่านไม่พูด แล้วมานี้อย่างไรก็ขอให้พบผมเสียก่อน.. ก่อนที่ท่านจะผ่านไปให้ได้พบผมเสียก่อน ผมจะได้พบพระองค์สำคัญเร็ว ๆ นี้ นี้นะ ท่านว่างั้น ท่านจึงจัดพระให้มาอยู่มาเฝ้าศาลา
ครั้นเวลาพระมาเฝ้าศาลา พอดีเราไปที่นั่นองค์เดียว ขโมยหนีนี่ ตีตั๋วก็ไม่ให้ใครทราบ มาเยี่ยมมารดา ๒ คืน นี่ละต้นเหตุที่จากหมู่เพื่อนได้ ถ้าว่าไปเที่ยววิเวก โอ๋ย.. ไม่ได้นะ แหลกเลย รุม..เข้าใจไหม นี่จะไปเยี่ยมมารดาจะไปได้ยังไง จะไปหาที่สงัดยังไง ฟังแต่ว่าไปเยี่ยมแม่เป็นไรล่ะ มันก็หาทางออกได้
เราก็มาพักอยู่กับแม่ ๒ คืน ต่อจากนั้นก็ออก ออกไปไม่ให้ใครทราบ ให้น้องไปตีตั๋วสถานีรถไฟคำกลิ้งนี่ละ ไปลงขอนแก่นแล้วจะไปเข้าในภูเขา ความคิดว่าอย่างนั้น อำเภอภูเวียง พอตีตั๋วแล้วก็ขึ้นรถไฟไปคนเดียว มันก็บันดลบันดาลไปเจอเอาโยมคนหนึ่ง โยมคนนั้นก็คุ้นกับเรา คุ้นมหา.. คุ้นว่างั้นเถอะ แล้วคุ้นกับท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ อุปัชฌาย์เราด้วย
พอไปเจอเราบนรถไฟ ‘เอ้ย ท่านอาจารย์มายังไง..ขึ้นเลย’
‘เป็นบ้าหรือไง’ เราว่างั้น หมดละทีนี้ ความขลังของกู หมดละทีนี้ เป็นบ้าเรอะเราว่างั้น.. มันโมโห มันหมดแล้วความขลังของเรา เขาลบลายหมดแล้ว ไปนี้มันก็จะไปบอกท่านเจ้าคุณว่าเราไปทางไหน ๆ นี่ ท่านจะลงไหน ตีปากเอานะ บอกเท่านั้นพอ ไม่พูดมากนะ ทีแรกถามเราก็ว่าเป็นบ้าเหรอ
‘แล้วท่านอาจารย์จะตีตั๋วลงไหน’
‘นี่ฟาดปากเอานะ’ เลยนิ่งเลย
ทีนี้มันไม่อยู่เฉย ๆ ซิ มันคอยแอบดูเรา เวลาเราจะลงสถานีรถไฟ มันจะไปโคราช เราไปลงขอนแก่น ปั๊บลง..มันเห็นแล้วนะนั่น
พอกลับไปก็ไปหาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ละซิ แว้ด ๆ โอ๋ย.. อยากฟาดปากมันอีก มันโมโห หมดขลัง ไปอยู่ไม่ได้นาน.. ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ให้คนไปตามบอก ‘จะพาไปกรุงเทพฯ’ อย่างนั้นละ..เรื่องราวนะ
พอลงรถไฟก็ไปวัดท่านอาจารย์คำดี ไปองค์เดียว สะพายบาตรไปองค์เดียว พระก็ไม่รู้ว่าเราเป็นใคร พระองค์นั้นท่านเล่าละเอียดลออตามที่ท่านอาจารย์คำดีสั่งนะ
‘ผมมาอยู่ที่นี่ เพราะท่านอาจารย์คำดีสั่งให้ผมมา มาเฝ้าวัดอยู่ที่นี่ คือท่านบอกว่า ท่านได้เหตุว่าจะมีพระองค์สำคัญมาวัดเราเร็ว ๆ นี้ แล้วท่านก็สั่งเอาไว้ว่า ถ้าเป็นพระกรรมฐาน ไม่ว่าหนุ่มว่าแก่ อย่าด่วนให้ท่านไปไหน ให้พบกับท่านเสียก่อน เพราะฉะนั้น ท่านถึงได้สั่งให้ผมมาพักอยู่ที่ศาลา คอยต้อนรับพระ สังเกตพระที่ควรจะได้พบหรือไม่ได้พบ ผมจึงได้มาอยู่นี้’
ก็เลยมาเฝ้าตามท่านสั่ง แกก็เล่าสะเปะสะปะไป แล้วก็ไม่รู้ใครเป็นใคร เราเป็นใคร เราก็มีแต่คอยหลบคอยซ่อนตลอด จะเปิดง่าย ๆ ได้เหรอ ท่านก็พูดสะเปะสะปะไปตามภาษาของแก เป็นพระบวชใหม่ได้สองพรรษา .. เราก็ถาม ตอนนั้นพระไม่รู้เรานะ พระองค์นั้นไม่รู้ เราก็เลยถามว่า ‘ท่านให้มาอยู่ได้กี่คืนแล้ว ได้ ๒ คืนนี้แหละ’ ว่างั้นนะ
จำได้จนกระทั้งชื่อ ชื่อท่านชื่อพระฮวด อย่างนี้ละ ถ้ามีเหตุมันไม่ได้ลืมนะเรา มันจับปั๊บเลย
ที่นี้พอนั่งอยู่นั้น เราดูไปที่ไหน ๆ ท่านก็ว่ามาเฝ้าศาลาเฝ้าอะไร มีสาระอะไรบ้างบนศาลา มีที่ไหนมันก็ไม่มี มีแต่กระบอกไม้ไผ่ตัดเป็นกระโถน แต่ก่อนกระโถนไม่มี ถ้วยดินครอบไว้มุมเสา ๆ แล้วกระโถนนั่นก็คือไม้ไผ่ตัดครึ่ง เอาเป็นกระโถนแทน เราดูก็ไม่เห็นมีอะไร ที่ท่านสั่งไว้นั้นน่าจะเป็นความจริง เราก็คิด ต่อไปท่านก็ถามชื่อ
‘ท่านอาจารย์ชื่อว่ายังไง?’ ... ‘ถามไปทำไม’
‘คือเวลามีพระกรรมฐานมาอย่างนี้แล้ว เวลาไปกราบเรียนท่าน ท่านถามชื่อถามนามก็จะได้กราบเรียนให้ท่านทราบ’
นั่นซิ..เราก็เลยบอกว่า ‘บัว’
‘เหอ ๆ อาจารย์มหาบัวเหรอ !!!’
‘อาจารย์อะไรก็จะเป็นไร’ เราว่างี้ ดุเลย ต่อจากนั้นก็รู้ล่ะซิ
‘โอ๊ย.. ท่านอาจารย์พูดถึงท่านอาจารย์อยู่ตลอดเวลา เทศน์สอนพระนี้ เอาท่านอาจารย์มาขนาบพระอยู่เรื่อย’
ที่นี้พอเราไปนั้น พระยังไม่รู้จักเรานี่ พอตกกลางคืนมาก็คุยธรรมะกัน ตอนเช้าตอนมาฉันจังหัน พระยังไม่รู้เรานี่ รู้เฉพาะท่าน เพราะเราไปอยู่กุฏิข้าง ๆ ท่าน ไปคุยกับท่านตอนกลางคืนแล้วกลับมานอนกุฏิ
ตอนเช้าออกบิณฑบาต พอมาแล้วอันนี้ตอนสำคัญนะ คือท่านนั่งองค์หัวหน้า พอดีเราก็เป็นองค์ที่สองนั่งอยู่ข้าง ๆ ท่าน แล้วพระเณรก็นั่งเป็นแถว ทีนี้เวลาพระเณรแจกอาหารไปใกล้ ๆ ท่าน พอจัดอาหารถวายท่าน ท่านกระซิบ
‘นั่นรู้ไหม..เสือ ?’ ท่านว่าอย่างนั้นนะ
ท่านพูดเบา ๆ ให้รู้เฉพาะพระองค์นั้น แต่เราหูดีก็ได้ยินอยู่ตลอด องค์ไหนก็ตามพอเข้าไปหาท่านใกล้ชิดท่าน ‘ให้รู้นะ..เสือ..ระวังนะ’ .. พระเณรกิริยาท่าทางก็เป็นธรรมดาของพระเณร ที่ท่านไม่ดุ..ว่างั้นเถอะ มันก็อาจเป็นไปอย่างนั้นละ ทีนี้พอท่านกระซิบต่อไปแล้ว องค์ใดผ่านท่านจะกระซิบทั้งนั้นละ เราได้ยินตลอด ๆ เลย แต่เราก็เฉยเหมือนไม่ได้ยิน ..
พอวันหลังมาพระเณรเรียบหมด แปลกอยู่ หลังจากนั้นแล้วเรียบหมด คงรู้กันหมดทั้งวัด นี่ละองค์ที่ท่านเอามาขนาบพวกเราอยู่ทุกวัน คือองค์นี้เอง...”
ลัก...ยิ้ม
15-06-2020, 12:58
ธุดงค์จันทบุรี
อีกคราวหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ องค์ท่านหลบหลีกหมู่เพื่อน แวะไปเที่ยววิเวกทางจังหวัดจันทบุรี ซึ่งท่านได้เล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ ดังนี้
“... เราขโมยหนีจากหมู่เพื่อน จากห้วยทราย มุกดาหาร มาจันทบุรี พ.ศ. ๒๔๙๕ มาหลบภาวนาอยู่ที่วัดป่าคลองกุ้ง ...
ที่ขโมยหนีหมู่เพื่อนไปนะ เพราะลำบาก รำคาญ หาอุบายมาเยี่ยมโยมแม่..จะไปยังไง..ไปเยี่ยมโยมแม่.. มันหาความสงัดที่ไหน มานั่นพระรู้หมดแล้วแหละ ยังไงก็จะเผ่น ที่ไหนแหละ มานี้ปั๊บ มาเยี่ยมโยมแม่สองคืน ปั๊บลงจันทบุรี หนีไปนู้นแหละ ไม่ให้ใครทราบนะ ไปจันทบุรีก็ไม่ให้ใครทราบเหมือนกัน ไปพักอาศัยอยู่กับอาจารย์เฟื่อง*” ... เมื่อเรามาถึงแล้วก็บอกท่านอาจารย์เฟื่อง (โชติโก) ว่า
‘ผมไม่ไปฉันในที่ไหน ๆ ขออย่าให้ผมเกี่ยวข้องกับอะไรต่าง ๆ ส่วนเรื่องการนิมนต์ออกไปฉันที่นั่นที่นี่ตามงานต่าง ๆ ขออย่าให้ผมเกี่ยวข้องเลย ผมมาพักผ่อนภาวนา สบาย ๆ ของผมต่างหาก’
ในตอนนั้น พระวัดป่าคลองกุ้งก็ไม่มาก วัดยังเป็นป่าเป็นดง ส่วนในเรื่องการบิณฑบาต ก็บิณฑบาตกับชาวสวนที่อยู่ในถิ่นแถวนั้น ไม่ได้เข้าไปบิณฑบาตในเมือง อาจารย์เฟื่องท่านก็พาเราไปบิณฑบาตตามบ้านชาวสวน ส่วนพวกพระเข้าไปบิณฑบาตในเมือง ...
อาจารย์เฟื่องเป็นคู่กับอาจารย์เจี๊ยะ อยู่นั่นสบาย คือการถูกนิมนต์ไปฉันที่นั่นที่นี่..ไม่ให้ไปยุ่งเลย ... เราสั่งขาดเลย พอไปอยู่ที่นั่น เราก็เลยเป็นผู้มีพรรษาแก่กว่าท่าน เราก็มอบให้ท่านหมด เราไม่ไปเลยจริง ๆ ท่านดูเหมือนไปแทบทุกวัน เดี๋ยวร้านนั้นนิมนต์ ร้านนี้นิมนต์ไปฉัน เราอยู่ที่นั่นสบาย เป็นป่าล้วน ๆ เรียกว่าวัดป่าคลองกุ้ง ถูกต้อง..มีเท่านั้น นอกนั้นเป็นป่าหมดเลย นั่นแหละเป็นครั้งแรกที่เราไป ไปคนเดียวนั่นแหละ ไปอยู่สบาย ๆ .. เรากับอาจารย์เฟื่องเคยอยู่ด้วยกันที่วัดป่าหนองผือ สกลนคร ส่วนอาจารย์เจี๊ยะ (จุนโท) กับเราก็เคยอยู่ด้วยกันที่วัดบ้านโคกนามน สกลนคร จำพรรษาด้วยกันที่นั่น ก็เลยคุ้นกันมาตั้งแต่อยู่ร่วมสมัยหลวงปู่มั่นโน้น
เพราะฉะนั้น เราถึงมาหลบซ่อนตัวอยู่ทางจันทบุรีนี้ เพราะเราทราบแล้วว่าอาจารย์เจี๊ยะกับอาจารย์เฟื่องอยู่ที่นี่ คุ้นกับท่านมานานมาก
เราจากหมู่เพื่อนมาหลบอยู่จันทบุรี เนื่องจากหมู่เพื่อนรุมตั้งแต่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นมรณภาพลง รุมมากจนกระทั่งไปไม่ได้ว่างั้นเถอะ เราจึงได้เกี่ยวกับหมู่เพื่อนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา คือตั้งแต่ปีหลวงปู่มั่นมรณภาพ ๒๔๙๒ ถวายเพลิงท่านปี ๒๔๙๓ พอเดือนกุมภาพันธ์ หมู่เพื่อนวิ่งตามเรา..ไปไหนตามเกาะอยู่ตลอด พออยู่จันทบุรีพอสมควรแล้วจึงย้อนกลับไปห้วยทราย มุกดาหาร ตามเดิม...”
===============================
* เกิดในสกุล เชื้อสาย เมื่อวันอังคาร ที่ ๖ แรม ๖ ค่ำ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ที่บ้านน้ำฉู่ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
พ.ศ. ๒๔๗๘ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ พ.ศ. ๒๔๘๐ พบพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธัมมธโร) และได้ญัตติเข้าคณะธรรมยุติ, พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต, วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ มรณภาพที่ประเทศฮ่องกง, วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ บรรจุพระศพ ณ สถูปญาณวิศิษฏ์ รวมสิริชนมายุได้ ๗๑ ปี พรรษา ๔๙
ลัก...ยิ้ม
16-06-2020, 11:52
นิมิตอัศจรรย์ “สรงน้ำพระพุทธรูปทองคำ” หยั่งรู้อนาคต
ในคืนหนึ่งที่ห้วยทราย มีนิมิตอัศจรรย์ปรากฏขึ้นมา ให้ท่านได้ทราบถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนี้
“... เหตุที่จะบวชโยมแม่มันก็มีต้นเหตุ นู่น.. อยู่ห้วยทราย มันไปเจอทางนู้นแล้ว เป็นขึ้นทางนู้นแล้ว มาก็ได้เล่าให้หมู่เพื่อนฟัง ‘เอ้อ.. ไอ้เรานี้นึกว่าจะไปสะดวกสบาย นี่มันจะไม่สะดวกสบายนะ’
มาพิจารณา คืนนี้ปรากฏเรื่องเกี่ยวกับโยมแม่มาเกี่ยวกับเรา ตลอดถึงเรื่องของโลกนี้ก็มาเกี่ยวกับเรา คือคำว่าโลกมาเกี่ยวกับเรา ได้แก่วันนั้น.. เวลามันแสดงขึ้นภายในจิตใจนี้ เหมือนว่าเรานี่จะขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธเจ้ามากต่อมาก ... เป็นแท่นที่สูงประมาณสัก ๑ เมตร ๓๐ ความสูงนะ เป็นแท่นใหญ่ เราขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นิมิตแสดงออก
ครั้นเวลาก้าวขึ้นไปแล้ว เป็นพระพุทธเจ้ารูปทองคำทั้งแท่ง ๆ เท่าองค์ของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ไปเลย อยู่บนแท่น น้ำที่เรานำไปก็มีน้ำหอม น้ำอะไรที่เป็นน้ำเคารพนับถือนั่นแหละ ขึ้นไปก็ประพรมท่านด้วยความเคารพ เรื่องของในนิมิตมันก็ไม่นาน พระพุทธเจ้าที่อยู่บนแท่น พระเป็นทองคำทั้งแท่ง ไปประพรมท่านด้วยความเคารพ ๆ ๆ ทั่วถึงไปหมด ฟังซิว่าทั่วถึงไปหมดในเวลาไม่เนิ่นนาน
พอก้าวออกจากนั้นมา ดูประชาชนนี้แน่นหมดเลย อ้าว.. นี่มันนิมิตยังไงอีก แต่มันก็รู้ของมันเอง ลงมานี้เขารอรับน้ำพุทธมนต์อยู่ รับน้ำสรงน้ำพุทธมนต์จากเราเต็มไปหมดเลย
พอลงจากแท่นพระพุทธรูปแล้ว ก็ลงมาประพรมน้ำมนต์ให้ประชาชน ไม่ใช่เป็นน้ำอบน้ำหอมที่เราขึ้นประพรมสรงพระพุทธเจ้านะ อันนั้นขึ้นด้วยนิมิต มันขึ้นพอเหมาะพอดีด้วยความเคารพ ภาชนะอะไรที่จะไปสรงน้ำท่านก็เหมาะสมทุกอย่าง ในนิมิตมันพูดไม่ได้มันหากพร้อมกัน พอสรงน้ำไม่เนิ่นนานนักก็ทั่วถึงหมดเลย
เรามาพิจารณาตรองตามเรื่องนี้ ‘เอ๊.. โยมแม่กับเรานี้ ถ้าไม่เอาโยมแม่บวชเห็นจะไม่ได้ มันเกี่ยวพันกันอยู่อย่างนี้’ พิจารณา ผมก็เข้าใจ ๆ ไปตามลำดับของนิมิตที่เป็นเครื่องเทียบเคียง โยมแม่เราก็เอามาบวชตั้งแต่โน้น
ส่วนที่รดน้ำประชาชนนี้ เกี่ยวกับการสั่งสอนประชาชนนั้น เราก็เข้าใจ ส่วนเรื่องสรงน้ำพระพุทธรูปทั้งหลาย เราไม่พูดเท่านั้น เรื่องนิมิตมันก็แปลก
มองไปทางนี้ประชาชนแน่นหมด รอบหมดเลย นี่มันอะไรกันอีก แล้วมันก็เข้าใจ ลงไปทีนี้ประพรมเหมือนกับว่าน้ำพุทธมนต์ให้ประชาชน พอออกจากนี้ไปแล้วก็มีแต่ประชาชน เรื่องพระพุทธเจ้าก็เรียกว่าหาย ผ่านไปแล้วหายเงียบเลย
ทีนี้มีแต่ประชาชนเต็มหมดเลย มองไปไหนสุดสายหูสายตา ฟากจากนั้นไปอีกพักหนึ่งลงต่ำไป มันต่ำกว่ากันประมาณสักวากว่า ๆ เราก็ลงจากฟากนั้นลงไป ทีนี้เวลาประพรมน้ำมนต์ให้ประชาชน รดน้ำมนต์ประชาชนนี้ มันออกจากนิ้วมือออกจากฝ่ามือ พอมือเราสาดน้ำนี้แตกกระจายไปเลย แตกกระจายนี้ทั่วถึงอย่างรวดเร็ว มันก็ชัดเหมือนกันพอส่ายนิ้วมือนี้ ช่า ๆ ๆ ไปหมด น้ำนี้ออกจากนิ้วมือ มันก็ใม่นาน มันทั่วถึงหมดนะ มาก ๆ นั่นน่ะ เพราะมันเป็นในนิมิตให้รู้เรื่องราว พอส่ายมือไปนี้น้ำอันนี้จะออกจากปลายมือ ๆ นี้ ช่า ๆ ๆ สาดนู้นสาดนี้จนรอบหมดในเวลาไม่นานเลย พอจากนั้นปั๊บลงไปแล้ว อ้าว.. จะลงจากที่ประพรมน้ำมนต์ให้ประชาชน
จากนั้นมาเกี่ยวกับโยมแม่ เห็นโยมแม่มาข้างล่าง ตอนนั้นเรายังเหาะอยู่ ประชาชนนั่งอยู่นี้ เหมือนเราเหาะอยู่บนประชาชน น้ำส่ายมือไปนี้ น้ำออกปั๊บ ๆ กำลังก้าวลงไป โยมแม่อีกแล้ว อ้าว.. โยมแม่มาคอยอยู่นั้น ‘อ้าว.. นี่จะไปไหนอีกล่ะ’ ‘ไม่ไปไหนแหละ’
‘จะไปแล้วเหรอ จะไม่กลับเหรอ’ ลักษณะว่างั้น ‘อ๋อ.. ไปทำประโยชน์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะกลับมา’ คือเวลาจะลงมาเห็นอย่างนั้น พอว่างั้นก็เลยลงไป ตอนนี้ยังมัว ๆ นิดหน่อย ดูว่าเวลาจะขึ้นนะ โยมแม่มารออยู่นี่ จะขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธเจ้าและประชาชนทั้งหลาย โยมแม่ว่า ‘เหอ จะไปแล้วเหรอ จะไม่กลับมาแล้วเหรอ’ ว่างั้นนะ
เราบอกว่า ‘จะกลับ คือเราจะไปทำธุระ เรียบร้อยแล้วจะกลับมาหาโยมแม่ รออยู่นี่แหละ’ เราว่างั้น รออยู่นี่ หมายถึงรออยู่บ้านโยมแม่
พอว่าอย่างนั้นแล้วเราก็ผ่านขึ้น สรงน้ำเสร็จแล้ว โยมแม่ปูเสื่อเอาไว้ ก็มีบ้านหลังหนึ่งเล็ก ๆ หลังในนิมิต ปูเสื่อไว้ก็มีน้องชายคนหนึ่ง นั่งอยู่นั้น คอยอยู่ เราก็เหาะลงไปหน้าบ้านขึ้นไปนั่ง พอลงไปแล้วเราก็ไปนั่งเสื่อ โยมแม่ก็นั่งอยู่นี้ น้องชายนั่งอยู่คนหนึ่ง เหมือนกับจะสอนโยมแม่อะไร ๆ นี่แหละ พอดีรู้สึกตัวเสีย พอไปถึงอันนี้ยังไม่ได้สอนว่าไงนะ มันก็รู้ในจิตทันทีเลย ทีนี้จิตมันก็ถอยออกมา เรื่องราวก็เลยหมดไป มันก็เข้าใจทันที
ลัก...ยิ้ม
17-06-2020, 03:36
‘เอ้อ.. เรานี้จะไปไหนไม่พ้นละนะ โยมแม่มาเกี่ยวกันแล้ว ไอ้เด็กน้องชายนี่ มันมีอะไรอีกนะ มันมีอะไรมาเกี่ยวพันกับเราอีกนะ’
จากนั้นไปแล้ว เราจึงได้พิจารณา จึงได้กลับมาบวชโยมแม่ ไปไหนไม่ได้นะ เกี่ยวกับโยมแม่แล้ว ออกมาก็มาบวชโยมแม่ได้อย่างคล่องตัว ไม่มีอุปสรรคขัดข้องประการใดเลย แล้วไอ้น้องชายนั้นก็มีธุระ เราไปเปลื้องเหตุผลกลไกอะไรทุกอย่าง.. ให้ผ่านไปได้เรียบร้อย แน่ะ..มันก็มาเกี่ยวข้องกับเรา เรื่องราวสงบเรียบร้อยไป จากเราเป็นผู้ไประงับเหตุการณ์ต่าง ๆ
ทีนี้ก็มาพิจารณานี้ เราพูดจริง ๆ อ้าว.. ทีนี้จะเปิดนะ เรื่องที่ขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธเจ้านี้ พระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์ เต็มไปหมดเลยอยู่บนแท่น ขึ้นไปแล้ว เป็นพระพุทธรูปทองคำทั้งแท่ง ๆ นี้ มันก็วิ่งถึงกันนี่แหละ ที่ว่าจิตขอให้ได้ถึงวิมุติเถอะน่ะ พอมันจ้าขึ้น.. เท่านี้มันจะถึงกันหมด บรรดาพระพุทธเจ้าไม่ต้องถามกัน เป็นอันเดียวกันหมดเลย ครอบไปหมดเลย ถึงหมด นี่เราแยกออกนะ พออันนี้มันผางเข้าไปจุดนั้นแล้ว มันจะทั่วถึงกันหมด บรรดาพระพุทธเจ้ามีจำนวนมากน้อยทั่วถึงกันหมด เป็นอันเดียวกันเลย ดังที่เคยพูดแล้วเหมือนน้ำมหาสมุทร
ทีนี้ออกจากนี้ไปมันเกี่ยวข้องอะไรอีก นี่ก็มาเกี่ยวข้องกับเรื่องการแนะนำสั่งสอนประชาชนอย่างทุกวันนี้ เห็นไหมล่ะ มันก็พอเป็นพยานได้แล้วมิใช่เหรอ สอนประชาชนมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย.. สอนไม่หยุดไม่ถอย กว้างขวางออกไปจนออกทั่วโลก นี่ที่ว่าเอามือส่ายไปอย่างนี้ มันก็เข้ากันได้ เอาโยมแม่มาบวช แนะนำสั่งสอนโยมแม่ เรื่องราวจึงจบลงไป มันก็เดินตามนั้นไม่เห็นผิด
นี่ได้ออกปากพูดจริง ๆ ให้กับหมู่เพื่อนฟังเรื่องเฉพาะโยมแม่นี่ เรามาพิจารณาตรองตามเรื่องนี้ ‘ผมไปไหนไม่รอดนะ โยมแม่มีมาเกี่ยวข้องแล้ว จะต้องได้เกี่ยวข้องกับโยมแม่ ถ้าไม่เอาโยมแม่บวช.. เห็นจะไม่ได้ มันเกี่ยวพันกันอยู่อย่างนี้’
พิจารณาผมก็เข้าใจ ๆ ไปตามลำดับของนิมิตที่เป็นเครื่องเทียบเคียง โยมแม่เราก็เอามาบวชตั้งแต่โน้น เรื่องโลก เรื่องสงสารมันก็เกี่ยวพันมา ดังที่แนะนำสั่งสอน มันไม่ได้เป็นไปด้วยความเสความแสร้งอะไรนะ มันเป็นไปโดยหลักธรรมชาติ ส่วนที่รดน้ำประชาชนนี้ เกี่ยวกับการสั่งสอนประชาชนนั้น เราก็เข้าใจ ส่วนเรื่องสรงน้ำพระพุทธรูปทั้งหลาย เราไม่พูดเท่านั้น เรื่องนิมิตมันก็แปลก ส่วนที่ขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธเจ้านี้ เราก็ไม่เคยคาดเคยคิด ไม่อาจไม่เอื้อมว่าจะเป็นอย่างนั้น ขึ้นมาแล้วจะได้พูดอย่างนี้ขึ้นมา
ลัก...ยิ้ม
17-06-2020, 03:52
ในหลักธรรมชาติเวลาจิตมันเข้าถึงขั้นของมันเต็มภูมิแล้วถึงพระพุทธเจ้า มันถึงหมดเลย ไม่ต้องไปทูลถามพระพุทธเจ้าองค์ใด ไม่มองดูองค์ใดแหละ เป็นอันเดียวกันแล้วพอ นี่ละธรรม ที่เวลามันเข้าถึงเรียกว่า ธรรมธาตุ วิมุติหลุดพ้นแล้ว จ้าขึ้นเป็นอันเดียวกันหมดเลย นี่มันก็เข้ากันได้ เราก็ไม่สงสัย นิมิตอันนั้นขึ้นมากับจิต ที่มันเป็นมันก็เข้ากันได้ จากนั้นมาที่ว่าจะสั่งสอนประชาชนมืดแปดทิศแปดด้าน เวลาสอนประชาชนก็น้ำที่ประพรมประชาชน มันออกจากนิ้วนะ ออกทุกนิ้ว สาดจ้าไปหมดเลย จนกระทั่งหมดแล้วถึงได้ลงไปหาโยมแม่ มันก็เป็นไปตามนั้น จะให้ว่าไง
นี่เราก็พูด อันนี้มันเกี่ยวกับประชาชน เราพูดกว้าง ๆ ไว้ ธรรมดาอันนี้มันเกี่ยวกับประชาชน พูดให้พระฟัง สำหรับพระพุทธเจ้านั้น เราก็พูดถึงเรื่องหลักธรรมชาติแล้วเป็นอันเดียวกัน ถึงกันหมดเลยไม่ต้องถามกัน ทั่วถึงหมด ส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนในการแนะนำสั่งสอน ก็พูดเท่านั้น เราไม่ได้พูดกว้างขวางอะไรนะ มันก็เป็นไปตามนั้น จะพูดไปอะไรนักหนา แล้วสอนประชาชนเป็นยังไง ทุกวันก็อย่างที่เห็นนั่นแหละ กว้างขวางหรือไม่กว้างขวางก็พิจารณา...”
ลัก...ยิ้ม
17-06-2020, 20:16
องค์ท่านกล่าวถึงความรู้จากนิมิตในครั้งนั้น กับการออกมากู้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในเวลาต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงบั้นปลายชีวิตว่า เป็นสภาวธรรมที่ประจักษ์รู้เห็นได้เฉพาะตน ดังนี้
“... นี่ความรู้ ถ้ามันลงได้เป็นขึ้นในจิตมันจะไปถามใครง่าย ๆ ไม่ถามนะ ความแน่อยู่ในนั้นหมด เช่นอย่างขึ้นไปสรงพระพุทธเจ้านี้ ทางนี้รับกันแล้ว สรงพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็คือ ความรู้นี้เข้าซ่านถึงกันหมดแล้ว ที่รดน้ำประชาชนมันก็เข้าใจ บอกในตัว รู้ในนี้ ๆ เสร็จไม่ต้องไปวินิจฉัย อันนี้เกี่ยวกับการสอนโลก สอนประชาชนเป็นอย่างนี้ ๆ มันก็เป็นอย่างนั้น นี่ความรู้ที่เกิดขึ้นจากจิตใจทางด้านจิตตภาวนา อย่างนี้เราก็ไม่เคยพูดอย่างจะแจ้งเหมือนวันนี้ วันนี้มันเกี่ยวกับโยมแม่มาแล้วก็เลยพูดให้ฟัง
อย่างอื่นก็เหมือนกันนี้ นี่มันเป็นอยู่ในจิตใจ แต่ไม่จำเป็นต้องพูดก็เหมือนไม่รู้ ๆ อันใดที่ควรจะพูดเพราะมันเป็นสักขีพยาน ดังที่เทศน์สอนโลกก็ออกมาแจงกันดู สรงพระพุทธรูปก็คือเข้ากราบซ่านถึงพระพุทธเจ้า.. เป็นอันเดียวกันหมด มันก็เข้าใจ สอนประชาชนเข้าใจจนกระทั่งมาสอนโยมแม่ มันก็ได้เหตุได้ผลไปตามร่องรอยที่รู้แล้ว ๆ บอกว่าเรานี้ไปไหนไม่ได้นะ เวลานี้โยมแม่เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว จะต้องได้เกี่ยวข้องโยมแม่ก่อน มันก็เป็นไปตามนั้น
นี่พูดถึงเรื่องความรู้ภายในจิตใจ ไม่ใช่ธรรมดานะ การปฏิบัติธรรม.. ขอให้ท่านทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ ที่พูดเหล่านี้นั้น เอามาพูดเฉพาะที่พอพูดได้ ๆ ที่พูดไม่ได้มันหนาแน่นครอบโลกธาตุ ความรู้นี่มันซ่านไปหมดเลย อะไรที่ควรพูดไม่ควรพูดมันก็รู้เองในจิตที่รู้ ๆ อันใดที่ควรจะนำออกมาพูดได้ เป็นประโยชน์มากน้อยก็นำมา อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่มันเกลื่อนในสิ่งที่รู้ที่เห็น มันก็เกลื่อน ก็ปล่อยไว้ตามสภาพเป็นจริงเสีย
เรื่องสภาวธรรมทั้งหลายจะปิดธรรมชาติที่รู้นี้ ปิดไม่ได้นะ ถึงการรู้การเห็นไปถามพระพุทธเจ้าที่ไหน ไม่ถาม..ว่างั้นเลย เวลารู้มันประจักษ์ ๆ หายสงสัย ๆ ไปในตัวเลย ท่านจึงว่า สันทิฏฐิโก การแก้กิเลสทุกประเภทก็เป็น สันทิฏฐิโก ไม่ต้องไปถามใคร นี่ละอำนาจแห่งการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย
อย่างที่เรามาสอนโลกนี่ก็เหมือนกัน พาพี่น้องทั้งหลายช่วยชาติบ้านเมืองก็เหมือนกัน เราพิจารณาโดยอรรถโดยธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างไปตลอดจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ดำเนินไปโดยอรรถโดยธรรม เราจะไม่เอาเรื่องโลกเรื่องสงสาร.. เข้ามาเป็นใหญ่เป็นโตยิ่งกว่าธรรมที่เราได้ปฏิบัติ ได้รู้ ได้เห็น แล้วเอาธรรมนี้เป็นเข็มทิศทางเดิน พิจารณาตามธรรม สมควรยังไง ไม่สมควรยังไง จะออกมากน้อย ๆ ออกช่องไหน ๆ มันจะเป็นไปตามธรรม ๆ แล้วก็พาก้าวเดินไปตามที่เป็นมานี้ ..
เดี๋ยวนี้เราเหมือนกับว่า อยู่ในท่ามกลางชาติไทยของเราทั้งชาติ ทั้งศาสนา เพราะเราก็เป็นคนไทย ทั้งชาติทั้งศาสนาก็อยู่กับเราหมด ความรับผิดชอบกระเทือนถึงกันหมดทั่วประเทศไทย แล้วเราก็มาทำประโยชน์เพื่ออุ้มชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ...”
ลัก...ยิ้ม
19-06-2020, 19:16
พาโยมมารดาบวช
ในช่วงพักจำพรรษาที่ห้วยทรายตลอด ๔ ปี องค์ท่านมักออกเที่ยววิเวกตามอัธยาศัย ที่ไปมาอย่างสะดวกสบายเงียบ ๆ ตามลำพัง สถานที่ที่ท่านวิเวกในช่วงนั้น หากไม่นับย่านที่ไกลออกไปเช่นในจันทบุรีแล้ว บริเวณเทือกเขาภูพานในแถบนี้ ท่านออกเที่ยวชมหมด ดังนี้
“ตอนไปอยู่ห้วยทรายก็ขื้นเทือกเขาภูพานทางโน้น เรียกว่าภูเขาตั้งแต่หนองสูง คำชะอี (จังหวัดมุกดาหาร) มาถึงอำเภอสว่าง (สว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร) เราเที่ยวแหลกหมดเลย เที่ยวป่าเที่ยวเขา .. ออกพรรษาแล้วหายเงียบ ๆ ไปอย่างสบาย”
อย่างไรก็ตาม หลังมีนิมิตอัศจรรย์ปรากฏแก่ท่านเช่นนี้แล้ว การท่องเที่ยววิเวกไปตามอัธยาศัยก็มีอันต้องสะดุดลง ดังนี้
“นิมิตแปลกดีนะ นิมิตอันนี้มีแปลกแต่ต้องได้ชม ถ้าลงนิมิตได้แสดงให้เห็นชัด ๆ อย่างนั้น มันไม่ค่อยผิดค่อยพลาดเท่าไร
‘ผมมาพิจารณาดูเรื่องเกี่ยวกับโยมแม่ ภาวนาอยู่นิมิตปรากฏเกี่ยวกับโยมแม่ ถ้าเราได้เอาโยมแม่บวชจะไม่ได้นะ มันเกี่ยวกันอย่างไรจะต้องให้โยมแม่บวช แล้วจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ ตามนิมิตตามความเป็นในสิ่งนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น ๆ ไม่สงสัย’
แล้วเป็นจริง ๆ ตามนั้น เราจึงไม่มีอะไรคิดเพราะเป็นไปตามที่คิดไว้แล้ว มันก็ได้ตั้งสำนัก (จริง ๆ) นี่ว่ายังไง แต่ก่อนผมไม่มีสำนักนี่ ตามนิสัยเราอยู่ที่ไหนเราก็อยู่ของเรา ไปของเราสบาย ออกพรรษาแล้วหายเงียบ ๆ ไปอย่างสบาย หายห่วงเหมือนนกมีแต่ปีกกับหางเท่านั้น...
อันนี้มาเอาโยมแม่บวชจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ แล้วก็เป็นอย่างว่าจริง ๆ พะรุงพะรังเราไม่มีทางแก้ไข เพราะพิจารณาทราบไว้แล้วตั้งแต่โน้น เอามือเขียนจะเอาตีนลบได้ยังไง ถ้าไม่เอาโยมแม่บวชนี้เห็นจะไม่ได้แล้วกัน แต่โยมแม่ก็บวชได้อย่างง่ายดาย โยมแม่ก็ยิ้มเอาเลย
‘แน่ะ ! มันก็เป็นไปตามนั้น’ ...”
จากนั้นท่านจึงจากบ้านห้วยทรายมาที่บ้านตาด เพื่อชักนำให้โยมมารดาออกบวช หลวงปู่หล้าบันทึกเหตุการณ์ในระยะนี้ไว้ว่า
“ ... พอถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ออกพรรษาแล้ว จีวรกาลเสร็จ องค์ท่าน (หมายถึงองค์หลวงตามหาบัว) จะได้ไปเอามารดาบวชขาว องค์ท่านก็คิดละหวนทวนไปมาว่า ถ้าบวชแล้วจะเอาโยมมารดามาอยู่ห้วยทราย คุณชีแก่ ๆ อายุมากตลอดทั้งหนุ่มก็มีอยู่มากแล้ว เกรงจะมาทับถมให้ภาระหนักขึ้นแก่ผู้ที่ท่านบวชก่อน เพราะเป็นโยมมารดาของผู้เป็นเจ้าอาวาส ก็ต้องจะได้ให้เกียรติให้คุณเป็นพิเศษ เกรงจะหนักใจแก่ท่านผู้มีอายุมากและพร้อมทั้งบวชก่อน จึงตกลงใจว่าบวชโยมมารดาแล้วจำจะหาที่อยู่ใหม่ องค์ท่านจึงปรึกษากับคณะสงฆ์ว่า
‘ผมจะได้ไปบวชโยมมารดา ส่วนจะกลับนั้นบอกไม่ถูกเสียแล้ว ส่วนที่จะไปกับผมนั้น จะไปหมดก็ไม่ถูก เวลาอยู่เราก็แย่งกันอยู่ เวลาไปเราก็แย่งกัน มันเป็นเรื่องไม่งามแก่ฝ่ายปฏิบัติ จะเสียวงศ์ตระกูลฝ่ายปฏิบัติ
ฉะนั้น ขอให้คุณสม.. จงพาหมู่อยู่นี้บ้างในพรรษาต่อไปนี้ ทีนี้ส่วนผู้ที่จะไปกับผม คนนั้นคนนี้ผมก็ไม่ว่า ส่วนจะอยู่ที่นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไปกับผมมากก็ลำบากอีก เพราะไม่ทราบว่าจะได้อยู่ที่ใดแน่ จึงเป็นของน่าควรคิดมากแท้ ๆ ในเรื่องนี้’...”
เมื่อถึงบ้านตาด ท่านจึงจัดการบวชชีให้โยมมารดา และให้การอบรมปฏิบัติจิตภาวนา ปีนั้นโยมมารดามีอายุครบ ๖๐ ปีพอดี ท่านเล่าเหตุการณ์ในระยะนั้นว่า
“... พอได้เวลาแล้ว ก็จดหมายมาบอกโยมแม่ว่า ‘จะมาจากห้วยทรายประมาณวันที่เท่านั้น ให้เตรียมพร้อมไว้’
ตั้งใจว่าเมื่อมาแล้วจะเอาโยมแม่บวชทันที พอมาถึงโยมแม่ก็พอดีเตรียมพร้อมไว้แล้วก็จับบวชเลย มีผู้เฒ่าแม่แก้ว (คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ) ที่ติดตามมา ๓ คนนี้มาเพื่อโยมแม่นี่เอง ถ้าไม่อย่างนั้นโยมแม่จะไม่มีเพื่อนฝูงอยู่ เพราะพวกนั้นก็เห็นคุณเรานี่ ...
ทีนี้เราจะบวชโยมแม่นี้ เขาก็ติดตามมาเพื่อมาเป็นเพื่อนฝูงของโยมแม่นั่นละ... พอมาก็จับบวชเลยทันที คล่องตัวเลย ...”
ลัก...ยิ้ม
19-06-2020, 20:46
หลวงปู่เจี๊ยะสร้างวัดให้
จันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีความพิเศษ มีความเคารพเลื่อมใส และมีความเกี่ยวข้องผูกพันยาวนานกับพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตลอดมา มีฆราวาสนักภาวนาและพระภิกษุสามเณรออกบวช.. ปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานจนปรากฏชื่อเสียงเรียงนามจำนวนมาก องค์หลวงตากล่าวถึงต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า
“พระกรรมฐานเรามีมากอยู่ที่จันทบุรีแห่งหนึ่ง ที่จันท์ฯ นี้ต้นเหตุก็ไปจากท่านอาจารย์ลี เราไปที่นั่น เขาค่อยรู้เรื่องรู้ราวแล้ว ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ไปไล่เลี่ยกัน ไปแถวนั้น เลยกลายเป็นตั้งหลักกรรมฐานขึ้นที่จันทบุรี ตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งป่านนี้ วัดกรรมฐานจึงมีมากอยู่เสมอ เพราะสถานที่ทำเลเหมาะ ๆ ๆ มันเป็นป่าเป็นเขาแล้วก็ไปที่จันท์ฯ นั่น มีแต่ครูบาอาจารย์องค์สำคัญ ๆ นะ ท่านอาจารย์ลี ท่านอาจารย์กงมา ท่านอาจารย์จันทร์ และก็ท่านอาจารย์มหาทองสุกที่มาเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดสุทธาวาส จึงว่าจันท์ฯ นี่มีแต่พระดี ๆ พระองค์สำคัญ ๆ ทั้งนั้น ไปตั้งฤกษ์ตั้งแถวเป็นปฐมฤกษ์ได้ดีมากทีเดียว”
ด้วยเหตุนี้เอง จันทบุรีจึงมีสำนักกรรมฐานกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนมาก เฉพาะท่านพ่อลีองค์เดียวจำพรรษาที่จันทบุรี ๑๔ พรรษา ได้สร้างสำนักปฏิบัติที่จันทบุรีมากถึง ๑๑ สำนัก ขอย้อนกล่าวถึงองค์หลวงตา สมัยอยู่ห้วยทราย จังหวัดมุกดาหาร ท่านหาอุบายหนีหมู่เพื่อนพระเณรมาหลบพักอยู่วัดป่าคลองกุ้ง จังหวัดจันทบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ และกลับไปจำพรรษาที่ห้วยทรายเช่นเดิม
พอถึงปลาย ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านตัดสินใจเดินทางออกจากห้วยทราย มาบวชโยมแม่ที่บ้านตาด จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังวัดยางระหง จังหวัดจันทบุรี สมัยนั้นยังเป็นป่าดง รถยนต์เข้าได้เป็นบางเวลา หน้าแล้งรถจี๊ปเข้าไปได้บ้าง ท่านเล่าเหตุการณ์ในช่วงนี้ว่า
“... ที่จะได้ลงมาจันทบุรี ก็เพราะเป็นห่วงโยมแม่ ถ้าโยมแม่บวชแล้วอยู่บ้านตาด จะเป็นสัญญาอารมณ์กับลูกกับหลาน อยู่ในบ้านใกล้บ้านไม่เหมาะ พอบวชโยมแม่แล้วก็พาโยมแม่หนี กลัวจะเป็นกังวลกับลูกหลานบ้านเรือนอะไร ก็พาหลบหนีมาจันทบุรีนี้แหละ
เข้าไปอยู่วัดยางระหงลึก ๆ ที่ท่านถวิลอยู่ พักอยู่วัดยางระหงประมาณ ๓ เดือน ออกจากยางระหงเพราะอาจารย์เจี๊ยะ (จุนโท) มานิมนต์เราว่า
‘พี่สาว เจ้ลุ้ย คุณรัตน์ ซื้อที่ไว้ ๒๖ ไร่ ๓ งาน ๕๓ ตารางวา เป็นจำนวนเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท เป็นทำเลเหมาะสมกับบำเพ็ญกรรมฐาน อยากถวายเป็นวัดกรรมฐาน ก็มองเห็นท่านอาจารย์พอดี เวลานี้ท่านอาจารย์กำลังเที่ยวธุดงค์มา ยังไม่ได้ตั้งรกตั้งรากฐานที่ไหน มาขอนิมนต์ให้ไปที่วัด ใกล้สถานีทดลองฯ’
มานิมนต์เรา เราก็ว่าจะไปดูเสียก่อน เราก็มาจากยางระหง..มาดู ทำเลดีอยู่ก็เลยรับ นั่นละเรื่องราวมัน ที่สามแยกพลิ้วนั่นละ อาจารย์เจี๊ยะพอทราบว่าเรารับเท่านั้นละ แถวคลองแถวอะไร ท่านเป็นคนหนองบัว ทรายงาม แถวนั้นเป็นญาติเป็นมิตรท่านทั้งหมด แถวคลองแถวนั้น พอเรารับเท่านั้น ท่านสั่งคำเดียวเลย คนนั้นเอาหลังนั้น ๆ ต่างคนต่างมาสร้างกุฏิกระต๊อบ ๆ ให้คนละหลัง ๆ เหมือนไม่ได้สร้างวัดนะ เพราะต่างคนต่างมาทำเฉพาะกุฏิของตัว ๆ นี่ท่านอาจารย์เจี๊ยะนะ เป็นคนสั่งทีเดียว เราไม่ได้สร้างอะไรเลยสักนิดเดียว
ที่ครัวโยมแม่ก็อาจารย์เจี๊ยะเป็นคนจัดเอง ไปสั่งให้ไปอยู่รวม ๔ คนทั้งโยมแม่ด้วย นั่นละสร้างวัดที่นั่น อาจารย์เจี๊ยะจึงมีคุณมากต่อเรา คือสร้างวัดทั้งหมดนั้น บรรดาพระกรรมฐานดูเหมือน ๑๑ องค์หรือไง ให้ได้ทุกองค์ ๆ กระต๊อบอย่างของเรานั่น อย่างเดียวกันนี่ละแต่มุงจาก ไม่ใช่หญ้า มุงจาก สร้างปั๊บ ๆ สูงขนาดนี้ แล้วมีพักหนึ่งนั่งภาวนา แล้วก็ทางจงกรม
ก็ท่านเป็นกรรมฐานลูกศิษย์พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านจะไม่รู้เรื่องเหล่านี้ได้ยังไง ท่านก็รู้ สร้างกุฏิตรงไหน ทางจงกรมตรงไหนเหมาะสม ท่านรู้เอง ท่านจัดสั่งหมดเลย เราไม่ได้ไปสร้างกระทั่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ไปนิมนต์เรา.. ออกมากับโยมแม่..ละมา
ท่านเจี๊ยะมาสร้างให้อยู่สบาย เรียกว่าท่านมีคุณต่อเรา ท่านมาสร้างให้อยู่สบาย กุฏิ ๑๒ หลัง ศาลาให้เอาเล็ก ๆ โยมแม่ก็เล็ก ๆ เหมือนกัน ท่านจัดให้หมด เรียกว่าท่านมีคุณต่อเรามากมาย อาจารย์เจี๊ยะ.. เราไม่ลืมนะ เรื่องคุณนี้รู้สึกจะมีเด่นในหัวใจเรา มันเป็นในนิสัยเองเรื่องคุณ ใครได้ทำคุณให้แก่เราเป็นอยู่ลึก ๆ ไม่ลืมนะ
นี่ท่านอาจารย์เจี๊ยะทำนี้ไม่ลืม ไปก็ขึ้นอยู่เลย ท่านอยู่เขาแก้วตอนนั้น ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่เขาแก้ว ท่านกับเราพัวพันกันมาตั้งแต่ไปอยู่สกลนครด้วยกันกับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น รู้จักคุ้นเคยกันมาแต่โน้น กับอาจารย์เฟื่อง อาจารย์เจี๊ยะ สององค์พระชาวจันท์ฯ นะ คุ้นกันมาตั้งแต่สกลนครกับหลวงปู่มั่น เพราะฉะนั้นเวลาเราไปท่านทั้งสอง เฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์เจี๊ยะจึงมารับรองทุกอย่างเลยเทียว
ธรรมดาเราไม่อยู่แหละ รู้สึกมันขวางใจเอาเหลือเกินระหว่างพี่กับน้อง เสียงพี่สาว เสียงไมโครโฟน น้องชายก็เสียงโทรโข่ง ขัดกันเถียงกัน อยู่กระต๊อบเล็ก ๆ บ้านพี่สาวเขาทำโรงน้ำอ้อย
เราไปพักอยู่โรงน้ำอ้อยนี่แหละ ฟังเสียงคุยกันสองคน พี่สาวว่าจะเอาองค์นั้น ทางน้องชายว่ามึงอย่าเอาอีลุ้ย มึงเชื่อกูเถอะน่ะ เถียงกันเราได้ยินชัดเจน
‘ให้มึงเอาอาจารย์มหาบัว มึงต้องการองค์ไหน ๆ มึงคอยดูกูนะ กูพูดผิดไหม อาจารย์องค์นี้มึงเคยเห็นท่านแล้วยัง องค์ที่ว่ากูไม่เคยเห็น.. อย่าว่าแต่มึงเลย ว่าองค์นั้นเทศน์ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ให้ท่านมาอยู่เสียก่อน ดีไม่ดีก็รู้กันเอง” ว่างั้น เถียงกันเราได้ยิน โอ๊ย.. ขบขันกันเอง”
เราจึงได้พาโยมแม่ไปจำพรรษาที่นั้น อาจารย์เจี๊ยะเป็นผู้มีบุญคุณต่อเรามาก เราไม่เคยลืมนะ ฝังลึกมาก เรานี้ไม่เหมือนใคร ถ้าฝังอะไรต้องฝังลึกมาก พูดถึงเรื่องอาจารย์เจี๊ยะที่มีคุณต่อเรา วัดนั้นทั้งหมด สถานีทดลอง เป็นอาจารย์เจี๊ยะทั้งหมดเลยสร้างให้ เอาจริงเอาจังมาก ปรกติท่านก็เคารพเราแค่ไหนแต่ไรมา ตั้งแต่อยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นด้วยกัน ท่านก็รู้อยู่ เป็นพระหนุ่มพระน้อยด้วยกัน ต่อจากนั้นก็เกี่ยวข้องกันมาเรื่อย ๆ ท่านเคารพมาเรื่อย ๆ
พอนิมนต์เราไปที่วัดใกล้สถานีทดลองฯ เราไม่ได้ทำงานอะไร เราไม่ได้เกี่ยวข้อง เป็นสัญญาอารมณ์กับการก่อสร้าง ท่านทำเองทั้งหมด โยมนั่นเอากุฏิหลังนั้น โยมนี้เอากุฏิหลังนี้ ท่านชี้ทีเดียวเลย คนที่ไปอยู่ที่สถานีทดลอง ๆ ย้ายมาจากทางหนองบัว ซึ่งเป็นญาติ ๆ ของท่านทั้งนั้น จะเป็นญาติหรือไม่ก็ตาม ท่านก็คุ้นกับเขาอยู่แล้ว สั่งยังไงก็ได้หมด จึงว่าอาจารย์เจี๊ยะมีคุณต่อเรามากมาย สร้างวัดสร้างวาให้หมด เราไม่ได้ไปแตะ ไม้ชิ้นหนึ่งก็ไม่ได้ไปแตะ ทำเสร็จแล้วเข้าไปอยู่เลยสบาย ทางจงกรมท่านก็ทำให้เหมาะ ๆ หมดเลย สะดวกสบาย อาจารย์เจี๊ยะท่านมีคุณต่อเรามาก...
เรื่องสิ่งปลูกสร้างอะไร ๆ ไม่มีปัญหา ได้คนละ ๑ หลังเลย เราก็เลยอยู่จำพรรษาที่นั่น นั่นละ..ท่านมีคุณต่อเรามากนะ...”
หนังสือประวัติหลวงปู่ฟัก สันติธัมโม วัดเขาน้อยสามผาน จังหวัดจันทบุรี ได้กล่าวถึงพระที่จำพรรษาในครั้งนั้นกับท่าน ดังนี้
“... ในปีนั้น มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ตามท่าน (องค์หลวงตาพระมหาบัว) มาด้วยหลายรูป อาทิ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร พระอาจารย์เพียร วิริโย พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต พระอาจารย์ลี กุสลธโร เป็นต้น โดยในครั้งนั้นพระอาจารย์ฟักขณะยังเป็นฆราวาส ก็ได้พามารดาไปกราบท่านที่วัดนี้ด้วย...”
ลัก...ยิ้ม
20-06-2020, 13:38
จันทบุรี.. แดนธรรมกรรมฐาน
หลังจากท่านพระอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท นิมนต์องค์ท่านมาพักและสร้างวัดขึ้นในที่ดินของโยมพี่สาว บริเวณสถานีทดลองกสิกรรมพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ ท่านพระอาจารย์เจี๊ยะเป็นผู้ดูแลในการจัดสร้างเสนาสนะ ให้ได้รับความสะดวกครบถ้วน ใช้เป็นที่พักจำพรรษาได้เป็นอย่างดี มีขอบเขตบริเวณเป็นส่วนเป็นสัดชัดเจน ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายอุบาสิกา
การเกี่ยวข้องสังคมกับประชาชนของท่านนั้น ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนที่จังหวัดจันทบุรีนี้เอง ท่านเล่าถึงสภาพธรรมชาติที่เหมาะสม ประกอบกับพี่น้องชาวจันทบุรีที่มันคงเหนียวแน่นทางพุทธศาสนาไว้ ดังนี้
“... ที่จันท์ฯ มีสถานที่วิเวกสงัดมากทีเดียว เพราะเป็นป่าเป็นเขา พระผู้ปฏิบัติเพื่อตักตวงเอามรรคผล นิพพาน ต้องเป็นผู้เช่นนั้น ...
ได้เทศน์ออกสังคมก็ไปเทศน์ที่เมืองจันท์ฯ เทศน์เหล่านั้นก็เทศน์แต่ไม่ได้อะไรนัก แต่เมืองจันท์ฯ นี่ โห.. เหนียวแน่นมาก นะ ศรัทธาสำคัญมากนะ วันเสาร์ วันอาทิตย์ วันพระนี่ คนเต็มอยู่ นู่น.. สถานีทดลองฯ ไปฟังเทศน์เต็มอยู่
เขายังมาพูดอวดท่านพ่อลี เขาไม่รู้ว่าเรากับท่านพ่อลีคุ้นกันมาตั้งแต่เมื่อไร เขาไปแล้วก็เอามาคุยโม้กับท่านพ่อลี ระยะนั้นท่านพ่อลีท่านอยู่วัดป่าคลองกุ้ง เขาไปเล่าให้ท่านฟังว่า
‘ท่านพ่อ เดี๋ยวนี้ได้พระองค์สำคัญองค์หนึ่งแล้ว มาอยู่ที่วัดสถานีทดลอง’
‘สำคัญอะไร ?’ ท่านก็ว่าซิ ความจริงคุ้นกันมาตั้งแต่เมื่อไรเขาไม่รู้
เขาว่า ‘อู๊ย.. เทศน์นี้เก่งมากทีเดียว เทศน์น้ำไหลไฟสว่างไปเลย ชื่อท่านอาจารย์มหาบัว’ ว่าอย่างงั้น แล้วก็คุยให้ท่านฟังนะ
‘มันต้องอย่างงั้นซิ’ เวลาท่านตอบ ‘มันต้องอย่างงั้นซิ’ พอคำเดียว ความจริงเรากับท่านเคยสนิทสนมกันมานานแล้ว ตั้งแต่ตอนท่านไปพักหนองผือ กราบเยี่ยมหลวงปู่มั่น เขาไม่ทราบว่าเรากับท่านอาจารย์ลีมีอะไรกัน เป็นอะไรกันมาเมื่อไร เขาไม่ทราบนะ เอาหัวเข่าไปอวดท่าน..มีอย่างเหรอ เขาจะไปรู้อะไร ...
เรื่องสมเด็จมหาวีรวงศ์ท่านไม่ค่อยสบาย ต้องนิมนต์ให้ท่านอาจารย์ลีไปด้วย ไปวัดบรมนิวาสแล้วกลับมา ไปแล้วกลับมา ทีนี้เป็นจังหวะที่ท่านพักวัดบรมนิวาส เวลาท่านกลับมาจันท์ฯ เขาออกมา เขาก็มาคุยโม้ให้ท่านฟัง ... เพราะเขาไม่รู้ว่ารู้จักกันมาตั้งแต่เมื่อไรแล้ว ท่านก็อดหัวเราะไม่ได้ ท่านก็ว่าเพียงเท่านั้นละว่า ‘มันต้องอย่างงั้นซิ’ ...
ท่านก็ไปนะ วัดสถานีทดลองเรา ท่านตั้งใจเข้าไปเยี่ยม เสร็จแล้วก็พาเราไปอำเภอขลุงด้วยกันวันนั้น ท่านไปกับญาติโยม พาไปวัดนั้นวัดนี้ รถตู้คันหนึ่งแล้วเรา.. เราไปด้วย เวลาขากลับมาท่านจะเอาเราไปที่วัดคลองกุ้งด้วย ‘โอ๊ย วันนี้ไปยังไม่ได้ วันพรุ่งนี้จะตามไปทีหลัง’
ท่านก็ว่า ‘งั้นวันพรุ่งนี้ไปหาที่วัดนะ มีเวลาน้อย เดี๋ยวจะได้กลับกรุงเทพฯ อีก’
เอาอีกแหละ พอวันหลังก็ตามไปหาท่านที่วัดคลองกุ้งนั่นแหละ ท่านสนิทกับเรามากมาตั้งเมื่อไร พวกนั้นเขาไม่รู้...”
ลัก...ยิ้ม
20-06-2020, 21:00
นิมิต “ทางไม่สะดวก” โยมหริ่งรู้ว่าจะมา
คืนหนึ่งระหว่างพักอยู่ที่สถานีทดลองฯ มีนิมิตปรากฏขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง บอกเตือนถึงความไม่สะดวก ที่จะต้องประสบอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ ดังนี้
“... เราอยู่สถานีทดลองฯ จะไปจังหวัดตราด ตัดสินใจปุบปับในเดี๋ยวนั้นว่าจะไป กลางคืนนิมิตไม่ดีแต่มีความจำเป็นที่จะต้องไปตราด ก็เลยเล่าให้หมู่เพื่อนฟัง เรียกพระมาบอก .. เขาเรียกอะไร มันเป็นเนินหนึ่ง อาจารย์เฟื่องไปพักอยู่ที่เนินนั้น เป็นสวนยาง ที่สงบสงัดดี เราก็ไม่ได้ถามว่าเขาจะถวายวัด.. หรือว่าเขาถวายแล้ว หรือว่าท่านไปพักธรรมดา แต่เป็นทำเลที่เหมาะสมมาก เดินผ่านทุ่งนาไป ไม่มีถนนผ่าน สถานที่เหมาะสมมากในการภาวนา
ตอนนั้นเราไปแบบปุบปับ ท่านเพ็งนี่เราไม่ลืมนะ คือตัดสินใจตอน ๕ โมงเช้า (๑๑.๐๐ น.) จะไปตราด ก็เรียกท่านเพ็งมา
‘เพ็งนี่ ไปเรียกรถมาเดี๋ยวนี้ เรามีธุระด่วน วันนี้ผมจำเป็นที่จะต้องไปจังหวัดตราดด้วยความจำเป็น แล้วให้คอยฟังเสียงของผมด้วยนะ
นิมิตผมไม่ดีนะเมื่อคืน แต่ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่เกี่ยวกับเรื่องเวล่ำเวลามีความคลาดเคลื่อนได้ คราวนี้ผมจะไม่สะดวกนะ หากไม่เป็นภัย เพียงไม่สะดวก’
เมื่อคืนนิมิตแสดงอย่างนั้น แล้วก็ออกเดินทาง จวนเข้าพรรษาแล้วด้วย คอยฟังก็แล้วกัน บอกชัด ๆ เลย ... พอเราเตรียมของปุบปับ ๆ แต่ก่อนรถไม่ค่อยมี มีสองบริษัท บริษัท ร.ส.พ. กับบริษัทเทียนชัย ในระยะเที่ยงมีรถ ร.ส.พ.ไป พอออกไปถึงหน้าสถานีรถประจำทางปั๊บ รถเขาก็มาพอดี เราก็ขึ้นไปถามเขาว่า ‘รถเทียนชัยออกไปหรือยัง ?’
‘อ๋อ ! รถเทียนชัยยังไม่ไป’ เขาว่างั้น พอเขาว่า “รถเทียนชัย” มันสะดุดจิตปุ๊บเหมือนในนิมิต ควรไปรถเทียนชัยหรือไม่ ? มันขวางทันทีเลยนะ
สักเดี๋ยวก็ได้ยินเสียงรถบึ่ง ๆ มา ไปดูซิรถคันไหนมา เขาก็วิ่งปับออกไปดู รถกำลังวิ่งมานี่ ‘รถ ร.ส.พ. ๆ มา’ เขาว่างั้น
‘เอ้า ! ขึ้นคันนี้ ๆ ถ้าไม่ได้ขึ้นคันนี้ ไม่ได้ไป’ เราว่าอย่างนี้นะ
พอไปแล้วก็คงฝนตกทั้งคืนไปถึงจังหวัดตราด พอเลยอำเภอขลุงไปเท่านั้นแหละ โอ้โห ! ฝนตกหนักจนกระเป๋ารถมันต้องได้เดินนำหน้ารถ น้ำฝนมันท่วมสูง กระเป๋ารถคอยทำมือโบกนำทางไปเป็นย่าน ๆ ก็ต้องเป็นอย่างนั้นไปตั้ง ๓ ย่าน ๔ ย่าน พยายามบุกขึ้นเนินไปจนได้ เราจึงลงที่นั่น ไปค้างอยู่คืนเดียว พอกลับมาวันหลังน้ำฝนมันมากยิ่งกว่าอะไร ... รถก็มาได้แค่ ๑๒ กิโลเมตร
เราก็ลงมาเปลี่ยนผ้าอาบน้ำแล้วเอาผ้าจีวรพันคอ ลุยน้ำลึก ๓-๔ แห่ง บางแห่งก็ได้นั่งเรือ บางแห่งไม่มีเรือ ก็ลุยไปพอขึ้นมาถึงที่เนินนั้น เห็นแต่ใบไม้ลาดอยู่ตามนั้น แล้วก็เห็นรถบัสเทียนชัยเครื่องพังอยู่นั้นไปไม่ได้ เห็นคนเอากิ่งไม้มากั้นดารดาษ ฝนพรำทั้งคืน เปียกแฉะไปหมด มีรถคันเดียวทิ้งไว้นั้น รถอื่นไม่มีสักคันเดียว
ไปดูเห็นคนตากฝนกันคิดว่า ‘ถ้าเรามารถคันนี้มันเป็นอย่างนี้เอง’ นี่ละมันถึงได้ขวางในจิต มันไม่ยอมจะขึ้นรถคันนี้ กี่คนมาก็อยู่นั้นหมด ไม่ทราบว่ากลับคืนไปนู้นหรือไปไหนก็ไม่รู้ กลับคืนไปเขาสมิงหรือไปไหนก็ไม่รู้ เราก็ไม่ได้ถามเขา มองดูข้างทางใบไม้ปูเกลื่อนไปหมดเลย มีแต่ขี้ตมขี้โคลนเต็มไปหมด เพราะฝนพรำทั้งคืนนี่ แล้วทำไมคนจะไม่แย่ล่ะ
เรื่องนิมิตนี้ นอกจากมันสำคัญจริง ๆ เราถึงจะยึดเอามาพิจารณา ถ้าธรรมดา ๆ ที่มันเป็นในจิตนิด ๆ ก็ไม่เป็นไร พอตื่นเช้ามาก็ออกจากนั้นแล้วก็มาค้างที่วัดขลุง...”
ลัก...ยิ้ม
22-06-2020, 13:20
เป็นที่น่าประหลาดใจว่า เหตุการณ์การเดินทางในครั้งนี้ขององค์หลวงตา ได้ล่วงรู้มาก่อนแล้วโดยความรู้พิเศษของโยมชาวจังหวัดตราดคนหนึ่ง ดังนี้
“... จังหวัดตราด แต่ก่อนลูกศิษย์มีเยอะแต่ก็คงจะล่วงลับไปแล้ว เพราะแต่ก่อนเป็นคนกลางคนไป เราไม่ได้ไปจังหวัดตราดนาน ลูกศิษย์คงจะหมดไปแล้ว จังหวัดตราดนี้เยอะนะลูกศิษย์ พอพูดถึงเรื่องจังหวัดตราด ก็ทำให้ระลึกถึงที่เคยพูดเสมอว่าโยมหริ่ง..ของเล่นเมื่อไหร่ โยมหริ่งคนจังหวัดตราด เป็นคู่กันกับโยมทองแดง เป็นคนจังหวัดจันท์ฯ ภาวนาเก่งทั้งคู่ ...
โยมหริ่ง...แกอยู่จังหวัดตราดนะคนนี้ อันนี้ก็อีกเหมือนกัน เขาหาว่าแกเป็นบ้า พวกชาววัดด้วยกัน ที่อยู่วัดด้วยกัน ปฏิบัติธรรมอยู่ที่..เขาเรียกอะไรนะ..จากจังหวัดเข้าไป มันเป็นเนิน เป็นเนินแล้วเป็นป่ายาง อาจารย์เฟื่องก็อยู่ที่นั่น ไปตั้งสำนักภาวนาอยู่นั่น มีโยมคนนี้ละกับพวกโยมเขา เป็นสำนักของเขาอีกทางหนึ่ง ท่านอาจารย์เฟื่องก็อยู่อีกทางหนึ่ง นี่ที่สำคัญมากนะ
แกพักอยู่มุมโน้น มีบริเวณที่อุบาสิกาเขาพักอยู่ ดูจะเป็นทางด้านทิศตะวันออก แกวิ่งกุลีกุจอมา แกเป็นคนไม่ชอบพูด ทั้งวันแกจะพูดหรือไม่พูดก็ไม่รู้ นิสัยแกนิ่งเฉย แต่ภาวนาสำคัญนะ แกปุบปับ ๆ ออกมาศาลาเล็ก ๆ พระก็มีอาจารย์เฟื่องกับใครอยู่นั้น แกปุบปับ ๆ ออกมา ลักษณะตาลีตาลานมา ‘โยมหริ่งมาอะไร ?’
‘จะมาอะไรก็ท่านพ่อบัวกำลังมา นี่ท่านกำลังมา ท่านกำลังออกเดินทางมา’ ว่างั้นนะ
‘โยมหริ่งไม่ใช่เป็นบ้าแล้วหรือ’ ใครก็รุมโจมตีแก
‘เป็นบ้ายังไง ท่านกำลังออกเดินทางมาเดี๋ยวนี้ ท่านจะมาที่นี่’
ทีนี้เราก็ไม่เคยไป แต่เราจะไปหาอาจารย์เฟื่องนั่นแหละ จุดนั้นละ แกก็พูดอุบอิบกุลีกุจอตาลีตาลานว่า ‘ท่านจะมาที่นี่’ ใครก็รุมโจมตีแก
‘เอ้า ถ้าหากว่าท่านไม่มาคราวนี้ ต้องเผาศพโยมหริ่งวันนี้’
‘เอ้า เผาก็เผา ก็ท่านมาแล้วนี่น่ะ มาแล้วเดี๋ยวนี้’ ว่างั้นนะ
พอบ่ายประมาณสัก ๔ โมงกว่า ๆ เราก็เข้าถึง พอไปเราก็เดินผ่านทุ่งนาเข้าไปนั้นเลย ไปพวกนั้นก็ยังรอกันอยู่ ทั้งคอยฟังว่าเราจะมาถึงจริง ๆ หรือไม่จริง ถ้าไม่จริงจะฆ่าโยมหริ่ง มีสองทาง.. โยมหริ่งอยู่บนเขียงแล้วละว่างั้นเถอะ
พอเราไป เขาก็ฮือเข้ามาเลย ‘โอ๊ย.. มาจริง ๆ’
‘มาจริง ๆ อะไร’ เขาก็เลยพูด
โยมหริ่งตาลีตาลานมาบอกว่า ‘ท่านพ่อมหาบัวกำลังมา มาบอกเดี๋ยวนี้ ว่าจะฆ่าโยมหริ่งอยู่ คอยฟังถ้าอาจารย์ไม่มา โยมหริ่งต้องตาย’
แกพูดอย่างอาจหาญเสียด้วย นั่นเห็นไหมล่ะ พูดอะไรแกไม่ยอมฟัง บอกว่ามาแล้วเดี๋ยวนี้ ว่างั้นเลย พอ ๔ โมงเย็นเราก็ไปจริง ๆ พวกนั้นก็รออยู่นั้นละ พวกญาติโยมมีหลายคน พระก็มีหลายองค์รออยู่ที่ศาลา รอตามที่โยมหริ่งพูด ว่า ‘ท่านจะมาจริง ๆ เหรอ ท่านไม่เคยมาที่นี่ ท่านจะมาเหรอ’
พอโผล่เข้าไป โอ๊ย.. มาจริง ๆ เสียงฮือฮา ๆ รู้ได้ยังไง ก็โยมหริ่งมาฮือฮา ๆ เป็นบ้าอยู่นี้ ว่ากำลังจะฆ่าโยมหริ่ง พอดีท่านอาจารย์มา โยมหริ่งเลยรอดชีวิตไป ‘ไหนโยมหริ่งอยู่ไหน’
‘อยู่โน้น’ บอกให้มาหาเราไม่ยอมมา กลัว คือกลัวมาก สำหรับเราแกกลัวมาก บอกให้มาเดี๋ยวนี้ มาแกก็มานั่งเฉย ๆ ไม่พูด แต่เวลาพูดตรงไหน จริงตรงนั้นนะ...”
ลัก...ยิ้ม
22-06-2020, 19:55
ฝันหลวงปู่มั่น พาบิณฑบาต
อีกคราวในปีที่สร้างวัดสถานีทดลองฯ คืนหนึ่งองค์ท่านฝันว่าหลวงปู่มั่นพาออกบิณฑบาต มีลักษณะขู่เตือน ดังนี้
“... วันนั้นฝนตกหนัก พระออกไปบิณฑบาตมีหลายสาย ไอ้เราเป็นผู้ใหญ่มักจะเอาเปรียบผู้น้อยล่ะ มันเป็นธรรมดา แล้วผู้น้อยก็ชอบจะให้เราเอาเปรียบเสียด้วยนะ
พระก็เรียนว่า ‘ท่านอาจารย์ ท่านไปบิณฑบาตสายใกล้ ๆ นี้สะดวกดี’
ผู้น้อยก็อยากให้ผู้ใหญ่เอาเปรียบ ผู้ใหญ่อย่างเราก็ว่า ‘เออ ! เรามันผู้ใหญ่ เราไม่สะดวก ไม่เหมือนผู้น้อย มันไม่คล่องตัว เราไปสายใกล้ ๆ นี้ดีกว่า’
ทีนี้พอไปบิณฑบาต เราไปสายใกล้สถานีฯ พระไปหลายสาย เฉพาะอย่างยิ่งแถวคลอง วันนั้นฝนตกหนักได้กั้นร่มไป ทางผ่านมันมีคลองใช้ไม้พาดข้ามไปแล้วก็ไต่ข้าม
ฝนตกมาก ๆ ลื่น พอลื่นพระที่ไปบิณฑบาตก็ตกลงคลองเลย ลงมันไม่ใช่ลงธรรมดา ลงแต่ไม่ล้มนะ ลงแต่ไม่ล้มนะ ตกลงในน้ำยังกั้นร่มอยู่ ข้าวกับน้ำ โอ้ย ! มันเต็มไปหมดเลยนะ คือน้ำเต็มบาตร.. ข้าวไม่ทราบไปไหน แช่กันเลย (หัวเราะ)
ทีนี้ตอนขากลับมาจากบิณฑบาตแล้ว พระท่านมาเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง องค์นั้นว่าอย่างนั้น องค์นี้ว่าอย่างนี้ เรื่องเกี่ยวกับน้ำ เรื่องตกคลอง คือบิณฑบาตตกลงไป.. น้ำก็เข้าบาตรหมดเลย วันนี้ไม่ได้อะไรเลย ได้แต่บาตรเปล่า ๆ มา ถ้ายังเอาน้ำกับข้าวมาก็ไม่ทราบจะเอามาทำอะไร ท่านพูดก็มีเหตุผลทั้ง ๆ ที่เสียดายอยู่
‘สงสารญาติโยมเขาก็สงสาร แต่มันกินไม่ได้จะทำยังไง’ ท่านว่า
... พอพระเณรท่านว่าอย่างนั้นแล้ว เราก็คิด เอ ! เรานี้หัวหน้า.. เอารัดเอาเปรียบหมู่เพื่อนมากไป หมู่เพื่อนเล่าธรรมดาเราก็รู้เจตนา เราก็รู้ เล่าทั้งหัวเราะ
ทีนี้ก็เลยคิดตกลงใจนะ ‘ต่อไปนี้เราจะไปสายอื่น ไปสายนั้นบ้างสายนี้บ้าง ไม่เอาเปรียบหมู่เพื่อนมากเกินไป สายใกล้สายไกล สายไหนไปทุกสายล่ะทีนี้’ คิดตกลงในใจนะ แต่ไม่ได้พูดให้ใครฟัง
พอตกเวลากลางคืนจึงฝันว่า พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเดินบิณฑบาตมา เราก็ยืนอยู่ธรรมดา ท่านมาชวนว่า ‘ไป..ท่านมหา..จะพาไปบิณฑบาต’ ลักษณะขู่ ๆ
‘เอ ! อย่างไร วันนี้เราจะมีความผิดอย่างไรแน่ ๆ’
อย่างนี้ลูกศิษย์กับอาจารย์มันเป็นอย่างนี้แหละนะ ถ้าเห็นอาการของอาจารย์อย่างนั้น ต้องมองเจ้าของมันจะผิดตรงไหนแน่ ๆ เลยอันนี้ เหมือนอย่างพระเณรมันกลัวเรา มันกลัวแบบเดียวกันนี่แหละ (หัวเราะ) ไม่ได้กลัวแบบอื่นนะ ใจทั้งรัก ทั้งสนิท ทั้งกลัว มันเป็นอย่างนั้นแหละ
จากนั้นก็รีบครองผ้า แต่ครองผ้าในความฝันมันไม่ได้ยากนะ มันปุบปับ ๆ เสร็จเรียบร้อยเลย พอเราเดินไปตามหลัง ท่านพูดขึ้นว่า
‘ไอ้ผู้ที่เขาหาน่ะ เขาหาแทบล้มแทบตายนะ ผู้ที่เขาจะหามาให้ทานได้แต่ละทัพพี แต่ละห่อนี้ แต่ละหมกละห่อนี้ เขาแทบล้มแทบตายนะ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้แดดสู้ฝน ไอ้เราถึงเวลาก็ด้อม ๆ ไปเอามากินเฉย ๆ ก็ว่าลำบาก มันจะทรงศาสนาไปได้อย่างไร มีแต่พระขี้เกียจ พระถ้าจะเห็นตั้งแต่ความลำบาก ไม่มองเห็นอรรถเห็นธรรม ไม่คิดเห็นอรรถเห็นธรรมเลยนี้ ทรงศาสนาไปไม่ได้ แล้วยิ่งจะมีแต่พระขี้เกียจอ่อนแอด้วยแล้ว.. ศาสนาจมไปเลย’
พอได้ไม้จากพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นมาตีหัวเราแล้ว เราก็เอาไม้นั่นแหละไปตีหัวหมู่เพื่อน พอตื่นเช้าขึ้นมา เราก็สอนพระว่า
‘นี่เขาหามาแทบล้มแทบตาย กว่าจะมาให้ท่านแต่ละครั้งละหน นี่เดินด้อม ๆ ไปบิณฑบาตตกคลองเท่านั้น ตกคลองมันก็ความเซ่อของคนต่างหาก ไม่ได้เป็นเพราะอะไรนี่นะ นั่นละความไม่สำรวมมันเป็นอย่างนั้น ความเซ่อ ๆ ซ่า ๆ มันเป็นอย่างนั้น’ ตีไปเรื่อย ๆ เลย
ที่ท่านว่า (บิณฑบาต) โปรดสัตว์ ๆ เขาได้เห็นครู่เดียวขณะเดียว เขาก็มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ได้ยินได้ฟังนิดหนึ่ง ๆ เขาก็มีผลมาก มีอานิสงส์มาก และเขาได้ให้ทานนิดหนึ่งก็ตาม มีผลมีอานิสงส์มากที่สุดเลย อะไรให้ทานก็ดี ความเคารพทุกสิ่งทุกอย่างก็ดี อะไรที่จะเกินให้ทาน และเคารพพระพุทธเจ้า พระสาวกทั้งหลาย...”
ลัก...ยิ้ม
23-06-2020, 15:18
เพียงดูรู้ลักษณะคน
อีกเรื่องหนึ่งในปีจำพรรษาที่จันทบุรี ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง* รู้สึกอัศจรรย์ความสามารถของท่านในการดูลักษณะคนเป็นอย่างยิ่ง เพราะสังเกตเพียงเล็กน้อยก็สามารถทราบถึงอุปนิสัยใจคอได้อย่างถนัดชัดเจน
ในวันนั้น ขณะพระเณรกำลังทำงานกันอยู่ ท่านก็บอกให้ดูคน ๆ หนึ่งแล้วจึงพูดขึ้นว่า
“พวกท่านดูคน ๆ นี้เป็นยังไง มาใกล้ชิดติดพันอยู่กับวัดนี้น่ะ”
พระเณรทั้งหลายต่างพากันแปลกใจในคำถามของท่าน เพราะก็ไม่เห็นว่าชายผู้นี้จะมีอะไรผิดปกติไปกว่าคนอื่น ๆ แต่อย่างใด ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองจึงได้ตอบไปว่า
“จะว่ายังไง ? ก็เป็นคนดี ๆ นี่”
ท่านว่า “ใช่เหรอ ? ดูให้ดีนะ”
ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองพูดอย่างมั่นใจว่า “จะดูให้ดีอะไร ก็ดูมาดีแล้ว”
“ให้พิจารณาเสียก่อนนะ” ท่านย้ำ
จากนั้นองค์ท่านก็ได้อธิบายในฉากหลังของชายผู้นั้นว่า “นี่เป็นนักเลงโตนะ สามารถฆ่าคน ๕ คนได้โดยไม่รู้ตัว เพราะมีลักษณะทุกอย่างพร้อมหมดเลย”
ท่านพระอาจารย์สิงห์ทองรู้สึกแปลกใจและยังไม่เชื่อคำพูดของท่าน จึงได้แอบตามไปสืบประวัติเบื้องหลังของชายผู้นั้นอย่างจริงจัง ชนิดจะเอาให้รู้ความจริงให้ได้ เมื่อซักไซ้ไล่เรียงกันอย่างหมดไส้หมดพุงในจุดที่สงสัยแล้ว ผลปรากฏว่าเป็นจริงตามนั้นทุกประการ จึงกลับมาพูดกับท่านว่า
“โอ๊ย.. อัศจรรย์ ท่านอาจารย์ดูคนดูยังไง ทำไมอาจารย์อยู่ ๆ ก็พูดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เขาก็ไม่มีอะไรกับท่านอาจารย์ให้จับพิรุธได้เลย ทั้ง ๆ ที่เขาก็ดิบก็ดีมาตลอด ผมดูเขามาตลอด ยอมท่านอาจารย์เลย”
องค์ท่านเคยกล่าวถึง.. อุปนิสัยใจเด็ดของท่านพระอาจารย์สิงห์ทองให้พระเณรฟังว่า
“ท่านสิงห์ทองนี้เด็ด ! เป็นคนไม่ยอมใครง่าย ๆ และหากไม่ยอมแล้วจะสู้เลย หากยอมแล้วจะยอมจริง ๆ”
===============================
* ท่านอาจารย์สิงห์ทอง เคยจำพรรษากับหลวงปู่มั่นที่บ้านหนองผือ ต่อมาติดสอยห้อยตามองค์หลวงตาไปจำพรรษาที่บ้านห้วยทราย จังหวัดมุกดาหาร, จังหวัดจันทบุรี และที่บ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
ลัก...ยิ้ม
23-06-2020, 15:25
แม่ชีแก้วหยั่งรู้ ... หมาเกิดเป็นลูกเศรษฐี
กล่าวถึงคุณแม่ชีแก้วซึ่งมีความรู้ผาดโผน จนหลวงปู่มั่นต้องสั่งห้ามไว้มิให้ภาวนา ต่อมาเมื่อองค์หลวงตามาพักจำพรรษาที่ห้วยทราย ท่านได้หาอุบายแก้ภาวะจิตของคุณแม่ชีแก้ว จนผ่านเข้าถึงที่สุดแห่งธรรมที่ห้วยทรายนั้นเอง คุณแม่ชีแก้วได้ติดตามดูแลโยมแม่ขององค์หลวงตา ตั้งแต่วันบวชที่บ้านตาดและตามมาพักจำพรรษาที่สถานีทดลองฯ แห่งนี้ด้วย องค์หลวงตาได้เล่าความรู้พิเศษของคุณแม่ชีแก้วที่จันทบุรี
ไว้เช่นกันว่า
“... เรานึกถึงหมาตัวหนึ่งที่อยู่สถานีทดลองฯ มันมีหมา ๓ ตัว ไอ้ช้าง ไอ้สิงห์ ไอ้แพะ มันมักจะมาวัดอยู่เสมอ คือเจ้าของที่เขาถวายที่ เขาเข้าวัดเข้าวาเสมอมันก็มากับเจ้าของ (ชื่อยายลุ้ย เป็นพี่สาวหลวงปู่เจี๊ยะ) ครั้นต่อไปเจ้าของไม่มา เขาก็มาเอง .. ทางจงกรมเรานี้เขาไม่ผ่าน เวลาเขามาทางจงกรม เขาจะเดินเลาะไปนู้น ไปสุดหัวจงกรมเขาถึงจะวกกลับมา เขาไม่เคยผ่านทางจงกรม ไอ้ช้างนี่สำคัญกว่าเพื่อน มันน่ารักทั้งสามตัวแหละ ...
มีแปลกอยู่ แม่ชีแก้วแกสำคัญอยู่นะ แกก็พูดอยู่อย่างนี้แหละจะว่าไง พูดด้วยญาณหยั่งทราบแน่นอนอยู่ ๆ แกก็พูดว่า ‘โอ๊ย น่าเสียดายนะ ไอ้ช้างนี่ไม่นานจะตาย แต่ตายแล้วก็ไม่ไปต่ำละ จะไปเกิดกับเศรษฐีในกรุงเทพฯ ตายแล้วมันจะไปเกิดเป็นลูกเศรษฐีในกรุงเทพฯ’
นั่นบอกแล้วนะ ไอ้ช้างนี่มันก็มากับเพื่อนฝูงอยู่ธรรมดานั่นละ มันก็มาหากินอยู่นี้ละ น่าสงสาร แกพูดอยู่อย่างนี้ นั่นละญาณ..เห็นไหมล่ะ หยั่งทราบแน่นอนเลย บอกว่าน่าสงสารมัน มาหากินอยู่กับหมู่กับเพื่อน ๓ ตัว นี่ไอ้ช้างแกชี้มืออย่างนี้นะ น่าสงสาร ไม่นานมันจะตายแล้ว จะไปเกิดเป็นลูกเศรษฐีในกรุงเทพฯ ไม่ต่ำแหละว่างั้น
บทเวลาจะตายก็เป็นอย่างว่าจริง ๆ สัก ๓-๔ วันมั้ง หลังจากแกพูด มาหากินอยู่กับเพื่อนสามตัวเขา เขาก็ไม่รู้ภาษีภาษาอะไรละ แกพูดอย่างนี้จะให้ว่าไง แกพูดพระฟังทั่วหน้ากัน ... ไม่นานปุบปับตายจริง ๆ
‘โอ๊ย.. ไปแล้ว ตายแล้ว.. ไอ้ช้างตายแล้ว เป็นยังไงไปเกิดที่ไหน ไปที่นั่น...”
ว่างั้น อย่างนั้นแล้วแกแม่นยำมาก ญาณของแกเรื่องหยั่งทราบ...”
ลัก...ยิ้ม
23-06-2020, 21:31
กระแสจิต... โยมหริ่ง โยมทองแดง
อีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ท่านพักทางจันทบุรี เกี่ยวกับกำลังกระแสจิตของคน ดังนี้
“... เท่าที่เด่นมากก็คือ เกี่ยวกับเรื่องคนจะมาทำบุญทำทานนี้ รู้สึกเด่น มันมาผ่านจิตใจของคน กระแสของจิตมันเป็นเหมือนคลื่นอากาศ อย่างไรไม่รู้นะ เหมือนคลื่นวิทยุออกอากาศ นี้เป็นไปตามนิสัยของคน ..
กระแสจิตนี้แรงไม่ใช่เล่น ถ้าเพ่งแรงไปแรง ถ้าเพ่งเบาไปเบา แผ่ซ่านชุ่มเย็นไปหมด พอพูดอย่างนี้ก็ให้นึกถึง “โยมทองแดง อยู่จันทบุรี” ลูกศิษย์ของเรานี่แหละ เขามาดูถูกอาจารย์ ลูกศิษย์เราเป็นผู้หญิง แกภาวนาเก่งไม่ใช่เล่นนะ ที่ว่าแกนั่งอยู่ศาลาที่สถานีทดลองจันท์ฯ กระแสจิตของแกแรงมาก แกเคารพเราสุดหัวใจ
เราบิณฑบาตมา แกเป็นนิสัยปากเปราะหน่อย ไม่ค่อยเก็บความรู้สึก เป็นอย่างไร รู้อย่างไร ว่าอย่างนั้นเลย โยมทองแดง แกก็เป็นความจริงของแกทางหนึ่งเหมือนกัน แต่ปากเปราะ ‘จะตีปากเอานะ’ เราว่า ผู้นี้เรียกเราท่านอาจารย์ ผู้นั้นเรียกท่านพ่อ พอดีเราเดินมาศาลาหลังเล็ก ศาลาก็ทำพอได้พักเท่านั้น พอเราเดินเข้ามา ว้ากวี้กขึ้นเลยนะ
‘โอ๊ย.. ท่านอาจารย์ ดูซิ ทำไมท่านอาจารย์รัศมีสง่างามหมด ครอบมาเลย แผ่มาหมดเลยเห็นไหม’
‘รัศมีรัดสะหมาอะไร เป็นบ้าเหรอ เดี๋ยวตีปากเอานะ’ เราว่าอย่างนี้ นิ่งเงียบเลย นั่นละ บทเวลาแกจะพูด แกปากเปราะ
‘ก็มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ‘
‘เป็นก็จะเป็นอะไร’
ว่างั้นแหละเรา เราก็ไม่ลืม แกเลยนิ่งเป็นอย่างนั้นคนนี้
แกภาวนาดีทั้งคู่แหละ โยมทองแดงบ้านแกอยู่ทางหนองสำเร็จ ห่างจากวัดไปประมาณกิโลกว่า เราเคยไปบ้านแก แกนิมนต์ไป ไปแกก็พูดปากเปราะอย่างว่า
‘นี่ท่านอาจารย์ เห็นนิพพานแล้วนะ’
‘นิพพานเป็นยังไง’
‘อู๊ย .. นิพพานสง่างามมาก อยู่ทางหนองสำเร็จ’
แกชี้ขึ้นฟ้าไปนู้นละ คือแสงสว่างของแก แกตื่นเงาตัวเอง แต่เราไม่ได้บอก.. เฉย คือนิสัยแกรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้แปลก ๆ จากนั้นมาเล่า.. เราก็ให้พิจารณาอย่างนี้ ๆ จากนั้นมาเล่า.. เราก็ให้พิจารณาอย่างนี้ ๆ เพื่อจะได้เห็นนิพพานชัดเจนมากขึ้น เราว่าอย่างนี้ เราไม่ได้ปฏิเสธนะ แกว่าอะไร.. เราเลยบอกว่าให้พิจารณาอย่างนี้ ๆ จะได้เห็นนิพพาน อันนี้เข้าไปเพื่อเสริมกันแล้วจะได้เห็นงามยิ่งขึ้น แกก็จำเอาไว้เลยแล้วก็ทำ อีกสองวันแกก็ไปหาเรา
‘อู๊ย นิพพานหนองสำเร็จมันนิพพานขี้หมูขี้หมา มันขึ้นนี้แล้วมันสง่าจ้าขึ้นมาเลย โถ.. นิพพานนั้นสู้ไม่ได้เลย’
แน่ะ..เห็นไหมล่ะ อย่างนั้นละ ไม่ได้ปฏิเสธนะ ก็บอกว่าให้ทำอย่างนี้ ๆ แข่งนิพพานนั้นแล้วจะรู้เอง
พอแกพิจารณา แกเอาจริงจังนะ เราว่าอะไร เพราะแกจะลงเต็มที่เลยกับเรา พอเห็นอันนี้แล้ว
‘โอ๋ย.. นิพพานเรา มันนิพพานอะไรก็ไม่รู้’นี่ละ ผู้หญิงคนนี้
ที่นี้มีพระองค์หนึ่งชอบคุย ชอบจะเก่ง ๆ อยู่งั้นละ ลักษณะบ๊งเบ๊งหน่อย ไปที่ไหนก็อยากให้เขายกตัวว่าดี นิสัยมักเป็นอย่างนั้น เรารู้นิสัยแล้ว แกอาจไม่รู้ยิ่งกว่าเรา เพราะเคยสมาคมกันมามากต่อมากแล้วกับพระองค์นี้ ไม่ระบุชื่อแหละ พระองค์นั้นก็ไปบ้านโยมทองแดง บ้านแกอยู่กลางทุ่งนาหลังเดียวห่าง ๆ กึ๊กกั๊กไปถึงแก พอขึ้นไปก็นั่งภาวนา ไป คุยโม้โอ้อวด ก่อนจะนั่งภาวนาก็บอกแกว่า ‘เอ้า ! โยมทองแดง มานั่งภาวนากัน นั่งภาวนาแข่งอาจารย์ นั่งภาวนาแข่งอาจารย์มหาบัวดูหน่อย เป็นยังไงว่ะ’
ปากบ๊งเบ๊งละท่านองค์นี้ แกกับเราเป็นยังไงกัน.. แกก็รู้ดีนี่นะ นี่ละ..แกโกรธตรงนี้ ถ้าว่าโกรธนะ ‘อาตมาก็จะนั่งนี้’
พระนั่งพักบน โยมคนนี้นั่งอยู่ข้างล่างก็นึกว่า เอ้า.. นั่งภาวนาแข่งอาจารย์มหาบัว คือพระนี้หยิ่งอย่างนั้นตลอด.. พระน่ะ พอพระว่าอย่างนั้น โยมคนนี้ก็นึกในใจ ‘โถ.. เราเคารพท่านสุดหัวใจเรา แล้วทำไมถึงให้ภาวนาแข่งอาจารย์มหาบัวล่ะ’
คือนิสัยพระองค์นี้ปีนอยู่เรื่อย ๆ นิสัยของแกเป็นอย่างนั้น พระองค์นั้นพูดเสร็จก็นั่งภาวนาทันที โยมทองแดงแกก็นั่งจีบหมากที่จะเอามาถวายเราในตอนเช้า แกคิดว่า ‘พระอาจารย์องค์นี้ดูถูกอาจารย์เรา พูดคำไหนก็มีแต่ขวางอาจารย์ของเรา อวดเก่งกับอาจารย์ของเราตลอด เป็นยังไงพระองค์นี้.. จะเก่งขนาดไหน ท่านเก่งจริง ๆ หรือ เราจะทดลองดูหน่อย จะดัดนิสัยอาจารย์องค์นี้ให้เห็นประจักษ์สักหน่อยน่ะ เอะอะจะให้เป็นคู่แข่งกับอาจารย์ของเรา..อาจารย์มหาบัว ท่านเก่งขนาดไหนเราจะลองดู’
แกนั่งอยู่ข้างหลัง พระองค์นี้ก็นั่งภาวนา พอแกคิดอย่างนั้นแล้ว ก็เพ่งกระแสจิตในขณะที่มือกำลังจีบหมาก กินหมากอยู่ พอแกกำหนดจิตดีแล้วก็กำหนดเป็นไฟ เพ่งเอาธาตุไฟเผาพระองค์นั้น ใส่จี้เข้าไปก้นเลย ดีดผึงเลยเทียวนะ จนกระโดดตกตูมลงมาจากที่นั่งภาวนา ร้องเสียงดังบ๊งเบ๊งขึ้นเลยว่า
‘ทำไมทำรุนแรงอย่างนี้ โยมทองแดง ทำไมกำหนดไฟเผาอาตมา’
แกว่า ‘เผาอะไร ฉันก็นั่งอยู่ธรรมดานี้ กำลังนั่งจีบหมากอยู่’
ดีดผึงเลยจริง ๆ นะ โดดตกตูมเลย เผาอย่างแรง แกว่าอย่างนั้น นั่นเห็นไหมกระแสจิต นี่ละ..อำนาจของจิต..กระแสของจิต เผาเสียจนพระโดดตกลงมา ทำไมทำรุนแรง เอาไฟมาเผากัน เผายังไงไม่รู้ละ ดุใหญ่เลย
แกว่า ‘เห็นไหม อยากเก่งกว่าอาจารย์เรานัก แล้วไม่เห็นเก่ง เพียงถูกไฟเท่านี้ก็โดดแล้ว อาจารย์เราไม่เห็นโดด ถ้าเก่งกว่าอาจารย์มหาบัวของเราจริง ๆ ก็ให้รู้ซิ ดับไฟดับยังไง เรื่องภาวนาดับกันได้นี่ ไม่เห็นดับได้ มีแต่บ๊งเบ๊ง โดดผึงออกมา นี่แสดงว่าใช้ไม่ได้ อยากมาคุยโม้กับอาจารย์เรา’
แกมาเล่าให้เราฟังทีหลัง แกปากเปราะคนนี้ คือแกคงทดลองเราพอแล้วแหละ แต่เรามันเฉยไม่เคยสนใจ โยมทองแดงแกถือเราเป็นอาจารย์ เคารพเรามากที่สุด ขบขันดีเหลือเกิน พระองค์นั้นมาคุยเหยียบเรา ลูกศิษย์เราซัดเสียก่อน (หัวเราะ) นี่ละอำนาจของจิต
ลัก...ยิ้ม
24-06-2020, 11:26
พลังของจิตโยมทองแดงนี้กำหนดให้รถหยุดก็ได้ พูดอย่างตรงไปตรงมา แน่นอนเลย.. รถจะวิ่งขนาดไหนก็วิ่งเถอะ กำหนดปั๊บ.. นี่หยุดเลย..ไปไม่ได้ กำหนดให้หยุด ๆ เลย เครื่องยนต์กลไกพอกำหนดปั๊บ.. หยุดเลย อย่างนี้ละกำลังของจิต ...
โยมทองแดงแกบอกว่า รถนี้จะให้หยุดเมื่อไร..หยุดได้เลย กำหนดปั๊บใส่นี้..หยุดกึ๊กเลย..ไปไม่ได้ จนเจ้าของเขางง เขามองหน้าเรา คือแกเคยมาแล้วละ เรื่องเคยแต่ไม่พูดเฉย ๆ รถมันกระแทก แต่ก่อนทางไม่ได้ลาดยาง เป็นหินลูกรัง รถมันกระแทก แตงอยู่ในตะกร้าของแกตกออกเรื่อย แกเก็บเข้าเรื่อย แล้วกระแทกตกออกไปเรื่อย มันเป็นยังไงรถคันนี้แกนึกในใจ แกกำหนดใส่รถให้รถไปช้า ๆ คือแกจะขนแตงของแกขึ้น
‘เอ๊ รถนี้มันเคยไปเร็ว ทำไมมันถึงไปอย่างนี้เหมือนเต่า’
เขาว่างั้น เขาว่าของเขาเอง รถมันค่อยไปเอื่อย ๆ เร่งเท่าไร ๆ มันก็ไม่ไป มันเอื่อย ๆ แกก็ขนแตงแกใส่ตะกร้า พอแกขนแตงแกเสร็จแล้วแกก็หยุด ทีนี้รถเขาก็วิ่งปึ๋ง ๆ เอา รถกระแทกอีกตกอีก ตูมตาม ๆ อีก แกกำหนดอีกให้รถช้าอีก
‘เอ๊ รถคันนี้ทำไมวันนี้เป็นอย่างนี้’ เขาว่างั้น ทีแรกเขายังไม่สงสัยแก ‘รถคันนี้ทำไมเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้า ธรรมดาวิ่งเร็ว เร่งขนาดไหนก็ได้ แต่วันนี้ทำไมเร่งแล้วก็ยังเอื่อย ๆ มันเป็นยังไงรถคันนี้’
พอแกเก็บแตงเสร็จแล้วแกก็ปล่อย รถก็บึ่งไปเรื่อย ๆ พอรถวิ่งไปกระแทกอีก แตงตกอีก เก็บอีก ๆ แกกำหนดจิตใส่อีก สุดท้ายเขาเลยมองหน้าแก ‘เหอ เป็นยังไงหรือยายให้รถหยุด’
‘อ้าว ก็ฉันนั่งอยู่บนรถ จะให้รถหยุดยังไง มันก็ขึ้นอยู่กับแกแหละ’ ‘ใช่เหรอ .. ? ?’
สุดท้ายเขาเลยจ้องดูแก เขาแน่ใจว่าเป็นยายคนนี้แหละ เพราะมันหลายหนกว่าจะไปถึงที่ลง รถวิ่งเอื่อย ๆ แล้วหยุด บางทีหยุดจนกว่าแกจะเก็บแตงเสร็จ
พอวิ่งทีไรรถกระแทกแตงตกออกไปอีก เก็บอีกอยู่งั้น แล้วกำหนดจิตให้รถหยุดอยู่เรื่อย จนกระทั่งเขาจับได้ ‘โฮ้..คงเป็นยายคนนี้แหละ ทำให้รถหยุด’
‘อย่ามาหาเรื่องนะ’ แกว่า แกขับไม่ดีเอง แกว่างั้น ความจริงแตงเราตก เราเก็บแตง ก็เลยกำหนดไม่ให้รถมันวิ่งเร็ว บางทีกำหนดให้มันหยุดมันก็หยุด หลายครั้งหลายหนเขาก็เลยงง สุดท้ายก็มองมาหาเรา มองมาหาแกนะ พอแกเก็บแตงเสร็จก็บอกไปซิรถ มันก็ไปเรื่อยของมัน สักเดี๋ยวแตงตกอีก เอาอีกอยู่งั้น นี่พูดถึงเรื่องแกกำหนดให้หยุด หยุดได้จริง ๆ แกแน่นอนมาก แกบอกเรื่องเครื่องยนต์กลไกกำหนดให้หยุด หยุดได้เลยแกเล่า
ท่านอาจารย์ลี ท่านอาจารย์ฝั้น พลังของจิตใช้ในทางนี้เก่งเหมือนกัน กำหนดให้หยุด หยุดได้เลย ๆ เครื่องยนต์กลไก นี่พลังของจิตมันต่างกัน ..
อีกคนชื่อ โยมหริ่ง (ชาวตราด) แกไปกันสองคน ภาวนาเก่งด้วยกันทั้งคู่ คนนี้แกไม่ค่อยพูด ทุกสิ่งทุกอย่างแกรู้มากนะ คนนี้ยิ่งมากกว่านั้นอีก ทีนี้แกไปเรากำลังเย็บผ้าอยู่ที่กุฏิที่สถานีทดลอง แกขึ้นไปสองคนกับโยมทองแดง เราเย็บผ้ากับพระอยู่เฉลียงกุฏิเรา ‘มาทำไม กำลังเย็บผ้า ไม่รู้จักเวล่ำเวลา ยุ่งหาอะไร’
เราว่าเท่านั้นแล้วเราก็หยุด แล้วก็เย็บผ้าของเราไปเรื่อย ๆ แกนั่งนิ่งทั้งสองคน สักเดี๋ยวไม่นานนัก เราไม่พูดด้วยนี่ เราเย็บผ้า เขาดูเรา เราจ้องเขาอยู่ตลอดเวลา ส่งจิตไปที่ไรจ้องเราอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เย็บผ้าท่านก็เย็บแต่จิตจ้องเราอยู่ตลอดเวลา ทีนี้เลยร้อน ร้อนทั้งคู่เลย รู้ด้วยกันทั้งสอง นั่นเป็นอย่างนั้น สักเดี๋ยวแกก็ลงไป แกลงไปแกพูดขบขัน
‘โอ๊ย วันนี้นึกว่าจะไปดูท่านพ่อบัว ที่ไหนได้พอส่งจิตปั๊บท่านจ้องเราอยู่แล้ว ท่านไม่ได้เย็บผ้า จิตท่านจ้องเราอยู่ตลอดเวลา ส่งทีไรจ้องอยู่แล้ว อยู่ไม่ได้เรา กลัวท่านมากเผ่นเลย’
มาดูทีไรท่านจ้องอยู่นี้ เลยถอยจิตออกมา พอจ่อเข้ามาทีไรท่านจ้องเราอยู่แล้ว ถึงสามหน โอ๋ย.. ไม่ได้ เดี๋ยวท่านจะเขกเอา เลยกราบมับ ๆ เปิดหนีลงไปเลย พอตอนบ่าย ๆ โยมหริ่งอยู่ ๆ แกหัวเราะคิก ๆ ขึ้นมาคนเดียว ว่าจะมาดูใจเรา ที่ไหนได้เราดูแกอยู่แล้ว แกไม่ค่อยชอบพูดอะไร นิสัยแกไม่ค่อยชอบพูด ไม่ปากเปราะเหมือนคนอื่น อยู่ ๆ แกก็หัวคิก ๆ ขึ้นมา
โยมทองแดงถาม ‘ป้าเป็นอะไร’
‘อู๊ย.. มันขบขัน เราว่าจะไปดูจิตท่าน โอ๋ย.. ท่านเย็บผ้าอยู่เหมือนไม่ดูไม่อะไร พอส่องจิตเข้าไปทีไรท่านจ้องดูเราอยู่แล้ว ท่านจะตีหน้าผากเรา ท่านเย็บผ้า ท่านดุเราเลยกลัวใหญ่เลย เลยอยู่ไม่ได้ต้องลงมา จ้องไปทีไรท่านจ้องเราอยู่แล้ว ก็เปิดเลยเท่านั้น โหย.. ท่านไม่ได้เย็บผ้านะ .. จิตน่ะ มือท่านเย็บผ้า จิตท่านจ้องอยู่นี้ กลัวท่านก็เลยลงมา มันอดขบขันไม่ได้ เหมือนว่าจะไปต่อยท่าน ที่ไหนได้หมัดท่านจ้องอยู่นี้แล้ว
เลยลงมาหัวเราะกิ๊ก ๆ นะ อย่างนั้นละแกรู้นะ แกไม่ค่อยพูดแหละ พูดอะไรจริงอันนั้นนะ แกพูดตรงไหนแน่ทุกอย่าง แกกลัวมาก กลัวเรา
ก็มีสองคนฝ่ายผู้หญิง คงเสียไปแล้วแหละ เพราะแก่กว่าเราทั้งนั้น โยมทองแดงตอนนั้นดูอายุ ๕๐ แล้ว โยมหริ่งถึง ๖๐ กว่าแล้วแหละ คงเสียไปหมดแล้ว
มีสองคนนี่ละภาวนาดีอยู่ โยมหริ่งก็เก่งทางภาวนา ดูใจคนนี่รู้หมดเลย เพราะฉะนั้น แกมานั่งปั๊บจะมาดูใจเรา
แกภาวนาดีทั้งสอง คิดว่าจะผ่านได้ทั้งสอง เราดูเข้าวิถีแล้ว เข้าวิถีที่จะพ้น.. ไม่ถอยแหละ แต่ตอนนั้นยัง ทางจังหวัดจันท์ฯ มีคนหนึ่ง ทางจังหวัดตราดก็มีคนหนึ่ง เป็นผู้หญิงด้วยกันทั้งนั้น จากนั้นก็ไม่ค่อยปรากฏนัก.. ธรรมดา ๆ แต่สองคนนี่สำคัญอยู่มาก ไปอยู่จันท์ฯ คราวนี้ก็ได้ประโยชน์ สำหรับผู้หญิงก็เด่นอยู่สองคน .. โยมหริ่งจะพ้นได้นะ เพราะเข้าช่องแล้ว เข้าช่องจะไปแล้ว โยมทองแดงก็เหมือนกัน ตอนนั้นยัง หากจะไปถ้าลงเข้าจุดนี้แล้วพุ่งเลย.. ไม่ถอย ส่วนนอกนั้นก็มีธรรมดา พระที่ได้คติเครื่องเตือนใจมีอยู่เยอะ เราไปจำพรรษาที่สถานีทดลองฯ...”
อีกเรื่องหนึ่ง เกิดขึ้นที่สถานีทดลองฯ เช่นกัน แต่คนนี้เป็นโยมผู้ชาย องค์ท่านเล่าไว้ ดังนี้
“.. ที่จันท์ฯ นี่ ลูกศิษย์ก็มีหลายคนนะที่มีจิตประเภทนี้ ที่จันท์ฯ นี้มีหลายคนอยู่ ผู้หญิงมีสองคนกับผู้ชาย ที่เราทราบชัดแล้วก็คือผู้นี้แหละคนหนึ่ง เรียกว่าสามคนก็ได้ ที่ชัดเจนแล้วผู้หญิงก็สองคน คนหนึ่งรู้ทั้งจิต จิตใครเป็นยังไง ๆ แกรู้หมด คนหนึ่งไม่พูดถึง แต่เรื่องภูมิจิตเหมือนกัน มีผู้หญิงสองคนกับผู้ชายคนหนึ่งก็จันท์ฯ ที่สถานีทดลองนั่นละ ..
โยมผู้ชายคนนี้แกมาพูดให้ฟัง ตัวแดงขึ้นนะ แกโมโหให้ตัวเองนั่นแหละ คือแต่ก่อนแกไม่พอใจในการไปวัดไปวา เขามาชวนก็เคียดโกรธแค้นให้เขา ‘ถ้าหากว่าชวนไปแล้วฆ่าเลย แกจะตามฆ่าเลย’ แกว่าอย่างนี้นะ
เวลานี้จิตแกลงแล้ว.. เห็นจิตใจคนอื่น โยมคนนี้นะอยู่ที่สถานีทดลองฯ .. แกมาเล่าให้ฟังเห็นจิตเห็นใจคน ใคร ๆ แกก็เห็น เวลามันกำลังเมาหมัดกิเลสอยู่ เขามาชวนไปวัดโกรธให้เขาทั้งวัน ว่าอย่างนั้นนะแกพูด พูดแล้วดูตัวแก.. ตัวแดงขึ้น แกโมโหให้ตัวเอง แหม เวลามันหนามันหนาขนาดนั้น คือเวลานี้วางแล้ว.. มองเห็นจิตคนอื่น ...
(ทีนี้) ท่านสิงห์ทองเป็นพระขี้ดื้อ พอพูดถึงเรื่องรู้จิตใครต่อใคร ท่านคงคันฟันนะ ท่าอยากให้เขาถาม เขาไม่ถามก็เลย (ถามเอง) .. ‘ส่วนจิตของอาตมาพ้นหรือยัง’
‘จิตท่านยังไม่พ้น แต่ละเอียดมากสุด ไม่เหมือนท่านอาจารย์นี่พ้นแล้ว’
บอกชัด ๆ เลย แกพูดหน้าตาเฉย ท่านสิงห์ทองหน้าซีด ไอ้เราจะหน้าบานหรือหน้าบึ้งก็ไม่รู้ละ แกว่าอย่างนั้นละ แกเล่าให้ฟัง.. เวลาจิตแกผ่องใส แกเห็นจริง ๆ เห็นจิตใจคนอื่น เห็นจริง ๆ ..”
ลัก...ยิ้ม
25-06-2020, 02:48
บ้านพักสามผาน
เมื่อออกพรรษาแล้วท่านได้พาโยมมารดามาพักที่บ้านสามผาน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี (ขณะนั้นยังไม่เป็นวัด) แม้กระนั้น ญาติโยมทางสถานีทดลองฯ ก็ยังได้ตามมาฟังธรรม และนิมนต์ขอให้ท่านกลับไปอยู่เนือง ๆ จนบางครั้งเป็นเหตุให้ญาติโยมทางบ้านสามผานเริ่มรู้สึกอึดอัดอยู่ไม่น้อย เพราะก็เคารพรักท่านเหมือนกัน ไม่อยากให้กลับไป อยากจะให้ท่านอยู่ที่นั่นนาน ๆ หรือหากเป็นไปได้ก็อยากให้อยู่ตลอดไปเลย
ในหนังสือประวัติหลวงปู่ฟัก สันติธัมโม กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลานี้ว่า
“... พอถึงช่วงเวลาที่หลวงตามหาบัวมาจำพรรษาที่จันทบุรี ณ วัดชากใหญ่ อำเภอแหลมสิงห์ ก่อนหลวงตาจะกลับไปอุดรธานี ผู้ใหญ่ปิ๋นได้ไปนิมนต์ท่านขึ้นมาพักบนเขาน้อยสามผาน โดยมีพระอาจารย์ฟักซึ่งยังเป็นฆราวาสตามผู้ใหญ่ไปนิมนต์ด้วย
เมื่อท่านรับนิมนต์ จึงได้พาคณะรวมทั้งโยมมารดาของท่าน ขึ้นมาพำนักที่กุฏิชั่วคราวบนเขา สมความปรารถนาของผู้นิมนต์ ในครั้งนั้นพระอาจารย์ฟักเป็นผู้ถือบริขารของหลวงตาเอง พร้อมทั้งมาอุปัฏฐากรับใช้ ครั้งรุ่งเช้าก็คอยถือย่ามตาม เพื่อนำทางว่าควรไปโปรดญาติโยมทางไหนบ้าง เพราะท่านเป็นคนในพื้นที่ย่อมรู้หนทางเป็นอย่างดี...”
พอดีในตอนนั้น โยมมารดาก็ป่วยมากด้วยโรคอัมพาต จำเป็นจะต้องได้พากลับมาที่บ้านตาด จังหวัดอุดรธานี อีกทั้งโรคของโยมมารดาก็บังเอิญถูกกับยาสมุนไพรของหมอที่นั่น จึงเป็นอันต้องจากชาวจันทบุรีมาด้วยความอาลัยทั้งสองฝ่าย
เพราะเหตุที่ท่านไปจังหวัดจันทบุรีในคราวนั้นเอง จากนั้นมาชาวจันทบุรีก็ได้ตามมาศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่าน ที่วัดป่าบ้านตาดไม่เคยขาด และท่านเองหากมีโอกาสก็จะไปเยี่ยมพี่น้องชาวจันทบุรีอยู่เสมอเช่นเดียวกัน
สำหรับการเที่ยววัดกรรมฐานในจังหวัดอื่น ๆ ของภาคตะวันออก องค์หลวงตาได้เคยกล่าวไว้เช่นกัน แม้มิได้ระบุช่วงเวลาที่แน่ชัดไว้ก็ตาม ท่านได้ยกเอาท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตตโก เป็นต้นเหตุแห่งกรรมฐานในจังหวัดชลบุรี ดังนี้
“... ท่านอาจารย์เกิ่งได้ลูกศิษย์ลูกหามาก เฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายพระอยู่ทางเมืองชลฯ ฆราวาสไม่ค่อยมี แต่พระมีเยอะ ท่านไปอยู่ต้น ๆ บางพระ แถวนั้นแหละ จากนั้นขยายออกวัดวา เราไปเที่ยวหมดแถวนั้นตามหลังท่านไป สำนักท่านอาจารย์เกิ่ง ๆ เราไปเที่ยวตามหลังท่าน ...
เราไปเที่ยวทางโน้น ท่านไปก่อนหน้าแล้ว .. เบิกทางกว้างขวางไว้หมด วงกรรมฐานเข้าใจกันพอสมควรแล้ว เราไปตามหลัง ท่านอาจารย์เกิ่งเบิกทางก่อน สมชื่อสมนามที่ท่านเคยเป็นอุปัชฌาย์ ญัตติปุ๊บเป็นธรรมยุต ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเรียน ก.ไก ก.กา ใหม่.. ตั้งใหม่เลย เป็นผู้ใหม่ใช่ไหมล่ะ นิสัยท่านดูลักษณะท่าทางน่าเกรงขาม”
ลัก...ยิ้ม
25-06-2020, 03:06
พระโปฏฐิละ ใบลานเปล่า
...พระโปฏฐิละ พระพุทธเจ้าท่านเห็นนิสัยองค์นี้สามารถที่จะบรรลุธรรม พระโปฏฐิละกำลังเพลินสอนอรรถสอนธรรมให้โลกสงสารอยู่ พอไปหาท่านก็ใส่ปัญหาเลย โปฏฐิละ ๆ
โปฏฐิละ แปลว่าใบลานเปล่า เรียนเปล่า ๆ หัวโล้นเปล่า ๆ บวชเปล่า ๆ กินข้าวชาวบ้านเปล่า ๆ เข้าใจไหม มีแต่เปล่า ๆ โปฏฐิละ ท่านก็สะดุดใจกึ๊กเลย พระพุทธเจ้าเทศน์โปฏฐิละ..ใบลานเปล่า ๆ เท่านั้น ท่านต้องเล็งเห็นนิสัยของเรา ท่านหยั่งไปทางเป็นมงคลนะ ...
พอกลับมาถึงวัดเตรียมของไปกลางคืนเลย สำนักไหน ๆ สำนักวงกรรมฐาน ครูบาอาจารย์องค์ใดที่เด่นด้วยอรรถด้วยธรรมจริง ๆ ภายในใจ แล้วบึ่งเข้าไปหาองค์นั้น ทีนี้ในวัดนั้นมีแต่พระอรหันต์ จนกระทั่งถึงเณรน้อยก็เป็นอรหันต์ อยู่นี่ ๔-๕ องค์สำเร็จทุกองค์ .. ไปถึงก็เข้าหาพระเถระ มหาเถระ เรื่อยมา ๆ จนกระทั่งสุด เณรสุดท้าย. .ไปถึงองค์ไหนก็ว่า
โอ้ย ผมพึ่งบวชมา ผมไม่รู้ภาษีภาษาอะไร นี่..ท่านรู้นิสัยแล้ว..ว่างั้น
เณรน้อยก็เณรน้อยอรหันต์ โง่เมื่อไร ... เณรน้อยไม่ใช่ขอนซุง บางรายพระไปตบหัวเณร ไม่อยากสึกหรืออีลุง ว่างั้นนะ เรียกลุงนะ ไม่อยากสึกหรือ เณรไปตบหัวเล่นนะ.. เณรก็บอกว่าไม่อยากสึกก็ว่างั้น ก็เป็นอรหันต์แล้วสึกไปหาอะไร สึกไปหาขอนซุงนี้เหรอ ขอนซุงที่กำลังตบหัวอยู่นี้เหรอ เณรเป็นอรหันต์ พระเป็นพระปุถุชน นี้เป็นปุถุชนไปเคาะหัวพระอรหันต์ แต่ก็ดีนะล่ะ พอมาทราบที่หลังแล้ว โอ้ย เห็นโทษจริง ๆ นะ กลับไปขอขมาเณรนะ เณรก็เฉย ก็เป็นอรหันต์จะไปอะไรกับใคร เณรก็ไม่ว่าอะไร ไปตบหัวเณร คือมันน่ารัก ... นี่ขอนซุงไปเคาะทองคำทั้งแท่ง มันเป็นอย่างนั้น มีในตำรา แล้วก็ไปขอขมาเณรนะ...
ที่ว่าพระโปฏฐิละถวายตัวเป็นลูกศิษย์ เป็นลูกศิษย์จริง ๆ เณรนั้นเป็นเหมือนมหาเถระ โปฏฐิละองค์นั้น ก็เป็นเหมือนสามเณรน้อยตามหลังเลยนะ ท่านจริงจังมาก ถ้าลง.. ลงอย่างนั้น เณรหาอุบายวิธีทรมานทุกอย่างนะ นั่นเห็นไหม เณรอรหันต์นะ หาอุบายวิธีทรมานดูทิฐิมานะ จะมีอะไรบ้าง ? บางทีให้ครองผ้าดี ๆ แล้วบอกว่า ผมอยากได้อันนั้นในกอไผ่
กอไผ่หนาม ๆ นั่นน่ะ ได้ครองผ้าเสียก่อนให้ไปเอา พอจะเข้าไปถึง ไปจริง ๆ นะ ไปกอไผ่นี้เข้าไป ให้บุกเข้าไป พอไปถึงจริง ๆ .. เอาละ ผมไม่เอาแล้ว เณรทรมาน บางทีครองดี ๆ จะให้ไปเอาอะไรในน้ำ อยากได้อะไรในน้ำนั้น ครองผ้าดี ๆ ก็ลงไป ครั้นพอผ้าจะเปียกให้ขึ้นมาเสีย ก็หาอุบายวิธีดูทิฐิมานะมีหรือไม่มี พอเห็นว่าจริงจังไม่มีทิฐิมานะ เณรก็เลยเริ่มสอน
พอเณรสอนจนท่านถึงธรรมขั้นสูง เพื่อเป็นการให้เกียรติพระโปฏฐิละที่ท่านเป็นเถระ เณรก็เลยพาพระโปฏฐิละนี้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า นั่น.. ให้เกียรตินะ
พอไปถึงพระพุทธเจ้า เป็นยังไงเณร ลูกศิษย์ของเธอเป็นยังไง
อู้ย.. หายาก หาอย่างนี้หายาก
เวลาจะเข้าด้ายเข้าเข็มจริง ๆ ก็มอบถวายพระพุทธเจ้าให้พระองค์สอน เณรก็หลบก็เพื่อให้เกียรติพระเถระ ไปสำเร็จกับพระพุทธเจ้า เณรสอนเรียบร้อยแล้วนะจวนแล้วก็ไปหาพระพุทธเจ้า
พระองค์ก็ทรงสอนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่เป็นอย่างนั้นละ ท่านถือเนื้อถือตัวเมื่อไร...
ลัก...ยิ้ม
25-06-2020, 14:28
แกล้งดัดเณร
คราวหนึ่งที่ห้วยทราย ท่านมหาต้องหาวิธีดัดนิสัยเณรที่ชอบร้องเสียงดัง เวลามีอะไรมาทิ่มแทงให้เจ็บด้วยความขบขัน เพื่อให้เณรระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ดังนี้
“สัญชาตญาณของมนุษย์เรามันรักษากัน ป้องกันกัน หรือป้องกันตัวอะไรนี้ มันมีของมัน นี่หมายถึงธรรมดา นอกจากจะแกล้งหรือทำตลกเป็นอีกแง่หนึ่ง
ท่านน้อย (ที่ไปอยู่สหรัฐทุกวันนี้) ท่านน้อย หลานท่านสิงห์ทอง ท่านน้อย ท่านอุ่น ตอนนั้นไปอยู่ห้วยทรายด้วย มันเป็นเณร อะไรผ่านนิดหน่อยไม่ได้ แต่ธรรมดานิสัยไม่ชอบพูดนะ เงียบ ๆ แต่อะไรผ่านถ้าเจ็บ.. ว้ากขึ้นเลย เณรร้องนี้เร็ว ‘ว้าก’ ขึ้นเลย
พาเณรนี้เข้าไปเอาไม้กวาด อยู่ในบริเวณวัด เอาไม้กวาดไม้อะไรมา ไปนั้น..พวกปลวก ปลวกไม่ใช่ปลวกเล็ก ๆ น้อย ๆ นะ ปลวกใหญ่
เราก็รู้นิสัยเณรนี้มันร้องเก่ง นี่เป็นนิสัยของมัน พอตื่นนิดหน่อยร้อง ‘แอ้’ ขึ้นเลย พอไปถึงปลวก ปลวกก็ตัวใหญ่ ๆ ไม่ใช่ปลวกตัวเล็ก ๆ มันไม่มีทางก็เดินตามป่าไป มองลงไป เห็นแต่ปลวกเต็ม
บทเวลาจะดัด มีสัญชาตญาณหรือไม่สัญชาตญาณ มันจะดัดกันเป็นยังไง เราไปเห็นปลวกมันเต็มที่ เราก็ทำท่าเซ่อ ทำท่ามองนู้นมองนี้ มันอะไรอยู่แถวนี้ คืออยากให้เณรเซ่อไม่มอง เราก็ดันไว้.. ดันทางที่จะปลอดภัยไว้ เปิดทางที่ปลวกจะฟาดเณรไว้
มันก็เดินไป คอยฟังเสียง ‘ว้าก’ มันมากนะ ปลวกใหญ่ ฟังเสียงมันร้อง ‘ว้าก ๆ’ ร้อง ‘ว้าก ๆ’ เสร็จ เราก็บอกว่า ‘ได้การ ๆ’ คือดัดสันดานเณร เรียกว่าได้การ ไม่ลืมห้วยทราย มันชอบร้อง เณรนี้.. เอะอะร้อง พอดีปลวกฟัดมันเสียเต็มเหนี่ยว เสียงร้องก้าก ๆ เราเลยบอกว่า เออ.. ได้การ ๆ ขบขันดี...”
สมเกียรติ สุโขทัย
25-06-2020, 17:12
อักษรสีเขียวแบบสว่างบนพื้นขาว มองแล้วแสบตาครับ สีน้ำเงิน กับแดงเข้ม ให้ภาพที่ชัดสบายตาครับ
ลัก...ยิ้ม
27-06-2020, 11:37
ดัดคนให้ทันกัน
“... ปลัดอำเภอคำชะอีเขาสนิทสนมกันกับผู้ใหญ่จูม เวลาเขาพูดกับผู้ใหญ่จูม เขาจะบี้จมูกไว้ก่อน ‘ผู้ใหญ่จูมเวลาแต่งตัวนี่ ข้าหลวงสู้ไม่ได้ แต่เวลาเขียนหนังสือเหมือนไก่เขี่ย’
พอดีแกส่งจดหมายมาหาเรา เราอ่านไม่ออก อ่านออกแต่ขำตัวเดียว คือแกชื่อจูม นามสกุล ผิวขำ คำว่า “ผิว” อ่านไม่ออก อ่านได้แต่ “ขำ” ตัวเดียว
สองสามวันแกก็ตามมา แกคงสงสัยอ่านได้มั้ย ‘ท่านอาจารย์ได้รับจดหมายผมแล้วยัง’
‘ได้รับแล้ว’
‘แล้วเป็นอย่างไร อ่านออกไหม’
'ทำไมอ่านไม่ออก ผู้เขียนเขียนได้ ผู้อ่านอ่านไม่ได้มีอย่างเหรอ’
‘ลองอ่านดูซิ’ เราอ่านไม่ออกจริง ๆ นะ เราก็เลยว่า ‘อืออา ๆ ๆ ... ขำ’ เราว่าอย่างนั้น
‘อ้าว ทำไมอ่านอย่างนั้น’
‘ก็เขียนอย่างนั้นนี่’ เราก็ว่า คืออ่านไม่ออกเลย ผิวขำ ผิวก็อ่านไม่ออก ได้แต่ขำตัวเดียว ให้เราอ่าน.. เราก็อ่านอืออา ๆ ๆ ขำ เราว่าอย่างนั้น ทำไมอ่านอย่างนั้นล่ะ อ้าว.. ก็เขียนอย่างนี้นี่ ดัดคนให้มันทันกัน...”
ลัก...ยิ้ม
27-06-2020, 13:06
เลิกปรารถนาพุทธภูมิ
“... เราก็ไม่เคยพูดนะ อย่างนี้นะ เพราะมันเป็นเรื่องผ่านมาแล้ว ไม่ทราบพูดหาอะไร ทีนี้เวลามันสัมผัสเราก็พูดบ้าง มันนานแล้ว แล้วแก (แม่ชีแก้ว) ก็ถาม
‘เท่าที่พิจารณาดูนะ ที่มันรู้มา ญาท่านนี้เคยปรารภพุทธภูมิมานะ แล้วทำไมถึงเลิกเสียล่ะ ใช่ไหม’
แกว่างั้นนะ เราก็ไม่ตอบเลยกระทั่งบัดนี้ ยังไม่ตอบเลยนะ แกถามแบบสงสัยนะ เราก็เฉยเลย แกก็จับคำอะไรเราไม่ได้นะ เราก็ไม่เคยพูดที่ไหนว่าเราเคยปรารถนาพุทธภูมิมา เราก็ไม่เคยพูดที่ไหน แต่แกทำไมนำมาพูดทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยพูดที่ไหนเลยนะ ว่าเราเคยปรารถนาพุทธภูมิหรือไม่ เคยปรารถนาเราก็ไม่เคยพูด แกจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม แกก็ไม่กล้าถามอีกนะ เราก็เฉยมาจนกระทั่งทุกวันนี้ แกตายไปแล้วเราก็เฉย..”
ลัก...ยิ้ม
27-06-2020, 13:16
ดุเณรร้องไห้
“... ท่านอาจารย์คำดีท่านสอนพระ คือท่านฝึกนิสัยใหม่หมด ท่านเล่าให้เราฟัง นิสัยท่านสุภาพเรียบร้อยมากทีเดียว เรานึกว่าเป็นนิสัยเดิมท่าน เราก็ได้ชมนิสัยท่านเรียบราบมากทีเดียว เวลาสนิทกันนาน ๆ เข้ามาแล้ว ท่านเลยเล่าให้ฟัง ท่านบอกว่า ‘กิริยาอาการที่ผมใช้อยู่ทุกวันนี้ ผมฝึกหัดใหม่นะท่านมหา ไม่ใช่นิสัยเก่าผม’
นี่เราได้ชมว่าท่านฝึกได้เรียบจริง ๆ เป็นใหม่ขึ้นมาหมด ฝึกหัดนิสัยได้ใหม่หมดเลย
‘แต่ก่อนผมนิสัยวู่วาม ให้ทันใจ ใจร้อน อะไรพอขว้าง.. ขว้าง อะไรพอปา.. ปา ต้นเหตุที่จะมาให้ผมดัดนิสัยผมอย่างเด็ดขาด.. เกิดขึ้นจากเณรที่วัดศรัทธาราม โคราช’
ท่านพักอยู่วัดศรัทธาราม เขาถวายผ้ามาแล้ว ‘เณรเย็บเป็นผ้าสบง ทีนี้เณรเย็บผิด เอามาดูก็ผิดจริง ๆ พอเห็นเย็บผ้าผิด ท่านก็เลยฉีกต่อหน้าเณร ผ้าใหม่ ๆ นะ ท่านฉีกผ้าต่อหน้าเณรเลย ท่านไม่สนใจ ตามนิสัยดั้งเดิมของท่านเป็นอย่างนั้น ผ้าใหม่ ๆ เย็บผิดเท่านั้น .. ฉีกเลย
เณรไปนั่งแอบอยู่ต้นเสา ไปร้องไห้อยู่ต้นเสานู้น ท่านไปเห็นไปเจอเข้า เณรที่เย็บผ้าผิด.. ถูก เราทำประชดฉีกผ้านี้ ไปนั่งอยู่ข้างเสาร้องไห้อยู่นั้น เลยไปสะดุดใจอย่างแรง ว่าเณรนี้ได้ร้องไห้เสียใจ หรืออะไรก็ไม่รู้แหละ เกิดจากเหตุที่เราฉีกผ้าที่เณรเย็บผิดนั่นต่อหน้าต่อตาเณร เณรเลยไปนั่งแอบต้นเสาร้องไห้
นั่นละ ท่านนำมาดัดท่าน ท่านว่าอย่างนั้น ท่านเล่าให้เราฟังเอง
‘เรื่องเหล่านี้มันก็มีผิดมีพลาดได้ เย็บสบงจีวร ไม่ว่าอะไรผิดพลาดได้ทั้งนั้น แต่ก็ไม่มีอะไรเสียหาย ผิดพลาดก็ธรรมดา ๆ ความเสียหายมาอยู่ที่เราทำเวลานี้ เอาผ้าที่เย็บผิดนั่นน่ะมาฉีกต่อหน้าต่อตาเณร ผ้าไม่เสีย มันเสียเรา นี่ถ้าเราไม่ฝึกหัดนิสัยใหม่ นิสัยนี้จะไปใหญ่ จะทำให้เสียพระทั้งองค์ คือเรานี้เอง
ตั้งแต่นี้ต่อไป นิสัยอย่างนี้เราจะไม่เอามาใช้เป็นอันขาด เราจะฝึกหัดนิสัยใหม่หมดเลย นิสัยเก่าตัดขาดสะบั้นไปเลย เอานิสัยเรียบร้อยดีงามมาใช้ เพราะฉะนั้น ผมถึงมีนิสัยอย่างนี้ท่านมหา นิสัยเดิมผมไม่ได้เป็นอย่างนี้’
ท่านก็เล่าให้ฟัง เพราะนิสัยท่านเรียบร้อยมาก...”
ลัก...ยิ้ม
28-06-2020, 13:10
พลังจิต.. ท่านพ่อลี
ท่านเล่าถึงพลังจิตของท่านพระอาจารย์ลี ธัมมธโร แห่งวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ดังนี้
“... พูดถึงเรื่องจิต... อย่างสมัยปัจจุบันนี้นะ... คือทำไมถึงทราบกันได้ ก็ทราบในวงปฏิบัติด้วยกันนะสิ ! พระกรรมฐานประสานกันอยู่ตลอดเวลา พวกเราฆราวาสไม่ค่อยทราบกัน.. ภาคปฏิบัติทางด้านจิตภาวนา องค์ไหนเป็นอย่างไร ๆ ท่านจะทราบกันอยู่อย่างลึกลับ อยู่ภายในของท่านนะ ในระหว่างพระกรรมฐานด้วยกัน แต่คนภายนอกนั้นไม่ทราบ เพราะท่านไม่พูด ...
เวลาไปไหน พระกรรมฐานเป็นผู้มุ่งอรรถมุ่งธรรมจริง ๆ เราจะไม่ทราบเลย เหมือนกับว่าผ้าขี้ริ้วห่อทอง ท่านไม่ได้มุ่งพูดอะไรต่ออะไร.. นั่นละ ถ้าความเป็นธรรมจริง ๆ แล้ว จะไม่มีโลกามิสเข้าไปเคลือบไปแฝงเลย... แต่ในวงปฏิบัติด้วยกันแล้ว อย่างไรก็ปิดไม่อยู่ อะไรก็ต้องเปิดสู่กันฟัง เพื่อจะได้แก้ไขกัน มีอะไร ๆ ขัดข้องตรงไหน พอองค์นั้นเล่าให้ฟังแล้ว ขัดข้องตรงไหนองค์นี้จะแก้ให้ทันที แก้ให้แล้วเปิดทางโล่ง.. นั่น..เรื่องของจิตเป็นอย่างนั้น
หลวงปู่มั่น นาน ๆ ท่านจะยกองค์นั้นมา ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านทั้งนั้นละ ทีนี้ยกมาคราวใดจะต้องมีจุดสำคัญ ๆ ที่ท่านจะนำออกมา อย่างท่านอาจารย์ลีท่านก็ว่า
‘ท่านลีนี้นะ กำลังใจดีมาก’
ฟังสิ กำลังใจ พลังของใจ นี่จะยกตัวอย่างให้ประกอบกับคำว่าพลังของธรรม ท่านเฟื่องเป็นคนเล่าให้ฟัง เราไม่ได้อยู่ที่นั่นด้วยละ ท่านอาจารย์ลีนั่งอยู่ ท่านเฟื่ององค์หนึ่งและเด็กชื่อมนูญคนหนึ่งอยู่นี่ แล้วท่านก็นั่ง ตอนนั้นก็คุยธรรมะกันเล็ก ๆ น้อย ๆ นะ
‘เอ้อ.. เราจะพานั่งสมาธิ’
ท่านอาจารย์ลีว่าอย่างนั้น ‘เอ้า เข้าที่’ (นั่งขัดสมาธิ) ท่านว่าอย่างนี้นะ ท่านอาจารย์เฟื่องเล่าให้ฟัง พอว่าอย่างนั้นองค์ท่านอาจารย์ลี .. ท่านไม่ได้นั่งหลับตานี่ ท่านไม่ได้นั่งเข้าที่ ท่านนั่งธรรมดา ‘เอ้ามนูญ ! เข้าที่’
พอนั่งปุ๊บปั๊บ เด็กเข้าที่นั่งสมาธิ ท่านคงเคยสอนมา ท่านอาจารย์เฟื่องนั่งอยู่ทางนี้ ‘เอ้า เราจะให้ตัวลอยนะ’
ท่านอาจารย์ลีกล่าว นี่ละ ที่ว่าพลังของจิต ‘เราจะให้ตัวลอยนะ’ พอว่าอย่างนั้น ‘เอ้า ขึ้น .. ขึ้น...’ แล้วดูมือท่านนะ อาจารย์เฟื่องดู ท่านว่า ท่านทำมือด้วย ‘เอ้า ๆ ขึ้น.. ขึ้น.. ขึ้น..’
ท่านอาจารย์ทำมืออย่างนี้ ขึ้นจริง ๆ เด็กคนนั้นนะ ตัวลอยขึ้น ๆ ... แต่สูงขนาดนี้ .. นี่ละพลังของจิตที่ท่านอาจารย์มั่นว่า ‘พลังของจิตท่านลีนี่ดีมาก’ ... ฟังสิ ! พลังของจิตดีมาก นี่ละ พลังเป็นอย่างนี้ แล้วพอเด็กนี้ลงแล้ว ทางท่านอาจารย์เฟื่องก็คิดมั่นใจว่า ‘ยังไงท่านก็จะให้เราขึ้นคราวนี้ เราจะไม่ยอมขึ้น วันนี้ฝืนกัน’
แล้วก็จริง ๆ สักเดี๋ยวท่านอาจารย์ลีก็ว่า ‘เอ้า เฟื่อง’ ท่านเฟื่องปรารภในใจ ‘ว่าแล้ว’ ทางท่านอาจารย์ลีนั่นว่า ‘เอ้า ๆ ขึ้น ๆ’
ท่านอาจารย์เฟื่องว่า ‘มันจะขึ้นจริง ๆ หว่า ! สู้ท่านไม่ได้ เราไม่ให้ขึ้นนะสิ แต่มัน.. อันนี้มันโยกแล้ว มันแปลก ๆ แล้ว’ ท่านว่า ‘เราก็สู้ ๆ แต่สู้อย่างไรก็...’
อย่าให้พูดเถอะ (ขบขัน) ไอ้เรื่องแพ้อย่ามาพูดเลย คือเรื่องแพ้ท่านอาจารย์ลี ท่านเฟื่องว่า
‘อีกนิดหนึ่งนะ.. ลงเลยนั่น หัวคะมำ ถ้าสมมุติว่าก้นเราไม่ขึ้น หัวเราต้องคะมำ’
ท่านว่าอย่างนั้น นั่นนะ เห็นไหม นั่นไม่ใช่เล่นนะ พอเสร็จแล้ว แล้วท่านก็ยืนอยู่นะ พอเห็นทางนั้นขยุกขยิก ๆ มันจะขึ้นแต่ไม่ขึ้นนี่นะ พอเสร็จแล้วท่านก็หยุด พอหยุดแล้วก็นั่งละ
‘โอ้ย ดื้อ’ (องค์หลวงตาพูดอย่างขบขัน) ท่านอาจารย์ลีพูดอย่างนี้ ท่านไม่พูดมาก ‘เฮ้ย ดื้อ’ (ขบขัน) ผมยังไม่ลืมอยู่นะ ท่านเฟื่องว่า ท่านอาจารย์ลีมียิ้มอยู่บ้างนิดหนึ่ง
นี่ละเรื่องพลังจิต อันนี้ก็จะเป็นได้บางราย... เพราะเป็นเรื่องภายนอก ใช้ภายนอกต่างหาก ตามแต่จริตนิสัยของใครที่จะใช้ในทางไหน ไม่ใช่หลักของศีล สมาธิ ปัญญา มรรคผลนิพพานจริง ๆ อันนั้นเป็นหลักเพื่อจะละ จะถอนกิเลส...
กำลังจิตอันนี้มันเป็นเครื่องใช้.. แล้วแต่ใครจะมีนิสัยวาสนาหนักไปทางไหน เช่น เหาะเหินเดินฟ้า ดำดินบินบน ที่ท่านแสดงไว้ในอภิญญา ๖ หรือวิชชา ๓ ...”
ลัก...ยิ้ม
28-06-2020, 13:28
หลวงตากับหนู
มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นในช่วงจำพรรษาที่ห้วยทราย ทำให้ท่านต้องได้เอ่ยเรียกแมวให้มาขู่หนู ดังนี้
“... เราจะพูดเรื่องหนู เราก็ตัวเท่าหนูตัวหนึ่ง.. มันก็ทำให้แปลกใจเหมือนกัน มันเป็นอะไร หรือว่าแมวนี้มันมีหูทิพย์ตาทิพย์ ในห้องนั้นเอาหมอนแขวนไว้ ที่แขวนก็เพราะกลัวหนูจะกัดนั่นเอง ถึงเอาเชือกมาผูกหมอนนี้แขวนเอาไว้ ก็หนูนี่แหละขึ้นไปกัดเชือกขาดตกลงมา แล้วหนูอีกนั่นแหละเป็นผู้ขยำหมอนแหลกหมด
เราไปเห็นเข้าจึงพูดว่า ‘แมวมันไปไหน ดงนี้ไม่มีแมวเหรอ ทำไมหนูถึงได้พิลึกนักหนา หนูมันมาทำลายศาสนาแหลกหมดแล้วนี่ เห็นไหมในห้องนี้น่ะ’ เราว่างั้น
พอดีตอน ๕ โมงเย็นมันแปลกอยู่นะ เณรไปบอกว่า ‘ที่ครูอาจารย์ถามหาแมว เรียกหาแมวเมื่อเช้านี้ มันมาจริง ๆ แล้วนะ’
‘มันมาอยู่ไหนล่ะ’
‘มันมาอยู่ใต้ห้องเก็บหมอนนั้นแล้ว’ เณรตอบ
เราถาม ‘เอ๊ะ ทำไม มันมาได้ยังไง ?’
‘ก็ไม่ทราบ แมวตัวใหญ่มาก’ เณรว่างั้น
‘มันอยู่ไหนล่ะ’
‘มันหมอบอยู่ใต้ห้องนั้นละ อยู่ที่พื้น’
เณรว่ามันอยู่พื้น แต่ความจริงมันอยู่ใต้ห้องที่หนูกัดหมอนนั่นแหละ ‘อยู่ตรงไหนนะ เราจะไปดูหน่อย’ เราจึงเดินไปดู ไปดูมันอยู่นั่นจริง ๆ ด่าง ๆ สีกระต่ายบ้าง สีขาวบ้าง
ส่วนพระท่านมายืนดูอยู่เต็มไปหมด แล้วแมวเหล่านั้นมันไม่เคยมีมา ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย แล้วก็มีมาบันดลบันดาลเอาวันนั้น อันนี้เราก็ไม่ได้พูดว่าเราศักดิ์สิทธิ์นะ เราพูดถึงเรื่องแมว มันมีหูทิพย์ตาทิพย์ต่างหากนะ
เราจึงบอกแมว พูดกับแมวว่า ‘มึงอย่าไปหากัดหนูนะ กูเรียกพวกมึงมาเฉย ๆ’
แล้วแมวทั้งหลายเหล่านั้นก็มาแทบทุกวัน พอ ๕ โมงเย็นมาแล้ว เดินฉากโน้นฉากนี้.. ตรวจตราปราบขู่หนู ทีนี้พอตกกลางคืนนี้ เขาจะทำท่าฉลาดมากนะ เขาจะร้องเสียงดัง อ๊าว ๆ ๆ อยู่รอบวัด ตั้งแต่นั้นมาหนู... เงียบเลย นี่มันก็แปลก...”
ลัก...ยิ้ม
29-06-2020, 12:22
บ้านหนองกะปาด
“... บ้านหนองกะปาด (อ. คำชะอี จ.มุกดาหาร) เขาเลี้ยงวัวฝูงไว้ วัวฝูงนั้นเมื่อพ่อค้าเขาไปติดต่อ เขาก็ไปซื้อที่เจ้าของเลี้ยงวัวฝูงไว้นั้น ทีนี้พ่อค้าเขาจะให้ตัวละ ‘๓ บาท’ แต่เจ้าของนั่นจะเอาตัวละ ‘๔ บาท’
ทางนั้นให้เขา ๓ บาท ทางนี้ก็ ๔ บาท เรื่อย ๆ ..
เจ้าของผู้ขายวัวมันนั่งชันเข่า มันปล่อยหำไว้นี่น่ะ เรื่องจริงมันเป็นอย่างนั้นว่าไง อันนี้เขาก็มาซื้อวัว เขาจะให้ตัวละ ‘๓ บาท’ ทางนี้ก็ ‘๔ บาท ๆ’ พอดีเมียมันขึ้นมา มันนั่งอยู่ชานกับลูกค้าที่เขามาซื้อวัว พอขึ้นมา มาเห็นผัวนั่งชันเข่า ปล่อยหำเข้าใจไหม ปล่อยหำ
เมียมันเห็นมันอายซิเมีย เมียขยิบตาใส่ปั๊บ เข้าใจไหมล่ะ มันเห็นหำผัวละมันอายเขา ขยิบตาใส่ผัว
ผัวนึกว่าเมียให้ขึ้นราคา พอเมียขยิบตาปั๊บทางนี้ก็ ‘๕ บาท ๆ’ เลย เมียก็เข้าไปในห้อง
‘อู๊ย ตั้งแต่ ๓ กับ ๔ บาทก็ยังไม่ลงกันได้ ทำไมอยู่ ๆ ก็ไป ๕ บาท ๖ บาทยังไงนี่ ไม่เอาแล้วเรา’
เขาก็ลงไป พอเขาลงไปแล้วเมียก็ออกมาบอกว่า ‘ที่เขาจะซื้อตัวละ ๓ บาท มันก็น่าจะขายให้เขาได้แล้วนี่นะ’
‘เอ้า ก็เธอขยิบตาใส่ฉันว่าให้ขึ้นราคา ฉันก็ขึ้นราคาละซิ’
‘ไม่ขยิบยังไง ปล่อยหำให้เขาเห็น มันอายเขาจะตายแล้ว อู๊ย.. เสียดาย เขาไปได้ห้าทวีปแล้ว’
นี่ละ หำนี้หำขาดทุน เข้าใจไหม มันปล่อยหำ หำขาดทุน ไม่ได้กำไร ๔ บาทก็เลยไม่ได้ ยังจะบืนเอา ๕ บาทอยู่ เขาก็เปิดละซี...”
ลัก...ยิ้ม
29-06-2020, 12:41
ท่านพ่อลีกับสมเด็จฯ
“... สมเด็จมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ท่านพูดเรื่องอาจารย์ลี ที่วัดอโศการามนั้นแหละ ท่านนิมนต์ท่านอาจารย์ลีไปที่นั่นเสมอ ท่านมหาสมบูรณ์ด้วยนะ ที่เป็นคู่ติดกันนั้นละ
ก็มีท่านอาจารย์ลีนี่แหละที่เข้ากับท่านได้สนิท มีขู่มีอะไรได้ ขู่สมเด็จฯ ได้เชียวนะท่านอาจารย์ลีน่ะ เพราะท่านนิสัยอาจหาญด้วยนี่นะ พอมาถึงท่านใส่เอาเลย พูดอะไรก็ไม่รู้นะ พูดถึงหลักภาวนา
‘ท่าน (สมเด็จฯ) ก็ไม่ค่อยเชื่อ เรื่องสมาธินี่นะ ท่านไม่ค่อยเชื่อ’
ท่าน (อาจารย์ลี) ว่า ‘แต่ท่าน (สมเด็จฯ) ก็สนใจนะ ท่านหาเหตุผล ท่านศึกษา แต่ท่านไม่เชื่อ ท่านสอบถามเราว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องภาวนา.. เราก็สอดแทรกเข้าไปให้ท่านได้เป็นคติ แต่ท่านก็ยังไม่ยอม.. ในใจของท่านก็ยังไม่ลง’
‘มันเป็นยังไงนะ จะดัดผู้เฒ่าองค์นี้ซักหน่อยนะวันนี้ คอยฟังนะ ไม่นานหรอก’ (อาจารย์ลี) กระซิบบอกพระ
สักพักเดียว (สมเด็จฯ) ก็บอกพระว่า ‘เอาท่านลีขึ้นไปเดี๋ยวนี้ เป็นไร ๆ เป็นไข้ตัวสั่นเชียว ไม่รู้เป็นอะไร อยู่ดี ๆ ก็ตัวสั่น’
‘อ๋อ.. มันไม่เป็นอะไรหรอก ถ้าเราภาวนาเดี๋ยวก็หายสั่น นี่ไม่ภาวนามันก็สั่นนะซิ’ ท่าน (อาจารย์ลี) พูดไป
สมเด็จฯ ก็มองหน้าแต่ไม่พูด
ท่านอาจารย์ลี พูดอีก ‘เดี๋ยวมันก็หาย แบบนี้มันสั่นแบบไม่มีภาวนา ถ้ามีภาวนา.. เดี๋ยวสั่นมันก็หายเอง’
ท่านว่า ท่านเพ่งจิตใส่อย่างนั้น ดัดท่านสมเด็จฯ หลายครั้งหลายหน บางทีเอาร้อน ๆ ร้อนไปทั้งตัว เป็นฟืนเป็นไฟเลยนะ
สมเด็จฯ ท่านว่า ‘ไม่รู้เป็นอะไร อยู่ดี ๆ ก็ร้อนขึ้นมาเฉย ๆ’
แล้วอาจารย์ลีก็ค่อย ๆ สอน คอยแทรกหลายครั้งหลายหน สมเด็จฯ ท่านลงกับท่านอาจารย์ลีนะ
สมเด็จฯ ท่านเล่ามาว่า ‘ท่านอาจารย์ลีมีอะไรสำคัญนะ หลายครั้งหลายหนมีลักษณะเป็นการมาดัดเรา อยู่ดี ๆ มาทำให้เป็นไข้ตัวสั่น พอท่านลีขึ้นมาก็หายเลย แล้วอยู่ดี ๆ ตัวร้อนขึ้นมาเป็นฟืนเป็นไฟ พอเรียกท่านลีขึ้นมาก็หายเลย สงสัยท่านลีคงจะทำเราแหละ’
สมเด็จฯ ท่านพูดเองนะ ครั้นพอท่านอาจารย์ลีมาพูด ก็แบบเดียวกัน ‘นี่ทำสมเด็จฯ ซะหน่อย ผู้เฒ่าทิฐิสูง’ คือท่านเป็นคนทำเอง นี่แหละ ท่านพูดไม่ยิ้ม ไม่ขบขัน แต่เราหัวเราะจะตาย
ท่านอาจารย์ลี ท่านรุนแรงด้านจิต พลังจิตอย่างที่ว่าแหละ...”
ลัก...ยิ้ม
29-06-2020, 23:27
พระสาวก.. ครั้งพุทธกาล
องคุลีมาล
พระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ผู้ชำนาญ มิได้มองลักษณะคนเพียงภายนอกที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น ทรงมองสัตว์โลกด้วยพระญาณหยั่งทราบ รู้รอบการเกิด การตาย และอุปนิสัยแห่งสัตว์ และยังสามารถจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ สามารถพลิกชีวิตผู้ที่กำลังดิ่งอเวจีมหานรก มาสู่การบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เช่น “องคุลีมาล” ดังองค์หลวงตาได้เทศนาไว้ ดังนี้
“... พระองคุลีมาล นั่นมีอุปนิสัยถึงขั้นจะเป็นพระอรหันต์ แต่ก็เพราะความหลงกลของความชั่วช้าลามก พระองคุลีมาลเป็นเด็กอยู่ในสำนักอาจารย์เดียวกัน.. เป็นเด็กดี เด็กทั้งหลายไม่ดี.. มันก็ขี้อิจฉากันซี รวมหัวกันยกโทษองคุลีมาลว่าไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่เด็กคนนี้ดี คืออาจารย์รักนั่นเอง อิจฉา.. เห็นว่าเด็กคนนี้ดี อาจารย์รัก เลยไปฟ้องอาจารย์ให้พลิกสติปัญญาเสียใหม่ แล้วเชื่อกลอุบายของพวกลามกนี่ล่ะ ‘เอ้อ.. เราจะจัดการทีหลัง’ จากนั้นจึงหากลอุบาย เพราะองคุลีมาลบอกนอนสอนง่ายนี่นะ คนดีมันก็ตรงไปตรงมานั่นซี อาจารย์ก็บอกว่า ‘ให้ไปฆ่าคนให้ได้ถึงพันคน ฆ่าใครตายแล้วให้เอาเล็บมาหนึ่งเล็บ พอฆ่าคนถึงพันคน.. ได้เล็บหนึ่งพันเล็บแล้วมา เราจะประสิทธิ์ประสาทวิชาให้’
ทางนี้ก็เชื่อแบบเถรตรงอย่างว่านะ ก็ไปตามฆ่าคน ฆ่าไป ๆ ทีนี้แม่.. ความกังวลก็สุดหัวใจว่างั้นเถอะ สุดท้ายก็ตัดสินใจจะไปหาลูก ลูกมันไม่ได้ว่าแม่นะ.. มันจะเอาเล็บเท่านั้น มันไม่ได้คิดว่าแม่ว่าพ่ออะไร ไม่ได้คำนึงถึงบาปถึงบุญ.. มีตั้งแต่คำนึงถึงวิชาที่จะเอาให้ได้ครบ
พระพุทธเจ้าทรงเล็งญาณเห็นไหมล่ะ ‘โอ๋ ตาย องคุลีมาลนี้ถ้าเทียบแล้ว ตัดกิ่ง ตัดก้าน ตัดดอก ตัดใบ หดเข้ามา ๆ แล้ว คราวนี้เป็นคราวสุดท้ายก็จะถอนลำต้นนี้ขึ้น.. ไม้ต้นนี้ก็จะตาย ตัดกิ่งก้านสาขา ดอกใบไม่ถึงตาย.. ยังไม่เสีย ถ้าถอนต้นโค่นต้นมันลงแล้วตาย ฆ่าใครก็ตามกี่คนก็ตาม.. เหมือนกับตัดกิ่งตัดก้านเข้าใจไหม ยังไม่สามารถที่จะทำลายอุปนิสัยของพระอรหันต์ได้.. ถ้ามาฆ่ามารดาเสียอย่างเดียวเท่านั้น.. หมดเลย’
พระองค์ทรงทราบแล้ว พอตื่นเช้ามาก็เสด็จไปเลย หาองคุลีมาล ไปก็ไล่จะฟัน จะฆ่าพระพุทธเจ้าเอาเล็บ พระพุทธเจ้าก็หลบหลีก
นี่ก็วิ่งไล่ บอกว่า ‘หยุด ๆ’
ท่านก็เอาธรรมะตอบมา ‘เราหยุดแล้ว มีแต่เธอวิ่งตลอด ๆ วิ่งทำความชั่ว’ นั่นเห็นไหมล่ะ ‘เราหยุดทำความชั่วมานานแล้ว หยุดน่ะ.. หยุดทำความชั่ว’
เวลาท่านแก้นะ ทางนี้ไล่ตามท่าน ท่านวิ่ง บอกให้ท่านหยุด ท่านบอกท่านหยุดแล้ว ยังไม่หยุดแต่เธอ.. กำลังจะสร้างบาปสร้างกรรมตลอดเวลา ฟังสะดุดกึ๊กเลย นี่ละ.. อุปนิสัยมี
ทรงเล็งญาณทราบแล้วก็รีบมาสกัด ไม่งั้นหลังจากนั้น.. แม่มาแล้วก็จะฆ่าแม่ ทีนี้อุปนิสัยนี้เหมือนกับถอนต้นไม้ขึ้นทั้งรากเลย .. หมด .. พระองค์จึงมาสอน แล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่ละเรียกว่าเล็งญาณดู
ภัพพา ภัพเพ วิโลกานัง ทรงเล็งญาณดูสัตวโลก ใครมาข้องแห่งตาข่ายคือพระญาณหยั่งทราบ ก็เสด็จไปโปรดคนนั้น...”
ลัก...ยิ้ม
29-06-2020, 23:36
๘. วัดป่าบ้านตาด สมรภูมิฝึกทายาทธรรม
ความเจ็บป่วยของโยมมารดา ทำให้องค์หลวงตาต้องได้หวนกลับมาที่บ้านเกิด และได้สร้างวัดป่าบ้านตาดขึ้นตั้งแต่บัดนั้น กลายเป็นวัดที่เรียบง่าย ไม่หรูหรา แต่มีข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด และเข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่งในวงกรรมฐาน
ลัก...ยิ้ม
29-06-2020, 23:57
ความเป็นมาของวัดป่าบ้านตาด
พรรษาที่ ๒๓ – ๗๗
(พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๕๔)
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
โยมมารดาป่วย หวนกลับบ้านตาด
ด้วยเหตุที่โยมมารดาล้มป่วยด้วยโรคอัมพาต องค์หลวงตาจึงพากลับมารักษาตัวที่บ้านตาด หมอที่รักษาโรคอัมพาตใช้อ้อยดำผสมในสูตรยาด้วย ท่านจึงหาอ้อยดำมาปลูกไว้ข้าง ๆ กุฏิของโยมมารดา หมอทำการรักษาอยู่ถึง ๓ ปี โรคจึงหายขาด
จากการที่ต้องอยู่พยาบาลโยมมารดาเป็นเวลานาน ทั้งโยมมารดาก็มีอายุมากแล้ว การจะหอบหิ้วไปอยู่ด้วยกันในสถานที่ทุรกันดารตามอัธยาศัยเดิมของท่าน.. ที่ชอบหลีกเร้นแต่ผู้เดียวนั้น ก็มีแต่จะสร้างความลำบากให้กับโยมมารดามาก ความคิดก่อตั้งวัดป่าบ้านตาดจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลนี้เอง
ประจวบกับเวลานั้น ชาวบ้านตาดก็ได้ยินกิตติศักดิ์ กิตติคุณของท่านมานานแล้ว มีความประสงค์อยากให้ท่านตั้งวัดขึ้นเช่นกัน จึงได้พร้อมใจกันถวายที่ดิน ทำให้วัดป่าบ้านตาด เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นต้นมา ท่านเล่าเหตุการณ์ในช่วงนั้นไว้ ดังนี้
“... ทีแรกเรามาพักอยู่นอกบ้านทางนู้น เขาจึงนิมนต์ให้มาพักที่ตรงนี่ มีสองเจ้าภาพถวายที่ดิน จึงกลายเป็นวัดขึ้นมา แล้วก็สงบ สงัดดี เป็นเอกเทศ
ประจวบกับโยมมารดาบวชชี เมื่อมีอายุครบ ๖๐ ปีพอดี ส่วนโยมบิดานั้นได้สิ้นชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้วตอนอายุ ๕๕ ปี จากนั้นเราจึงได้พาโยมมารดาไปจำพรรษาด้วยที่จังหวัดจันทบุรีเป็นเวลา ๑ พรรษา โยมมารดาได้ล้มป่วยลงด้วยโรคอัมพาต จึงหวนกลับพามารักษาตัวที่บ้านตาด
โรคของโยมมารดาถูกกับยาหมอที่อยู่บ้านจั่น ซึ่งไม่ห่างจากบ้านตาด (ประมาณ ๔-๕ กิโลเมตร) เรามาพักและรักษาโรคของโยมแม่พร้อม ๆ กัน ทีนี้พอนาน ๆ ไปก็เลยกลายเป็นสร้างวัดป่าบ้านตาดขึ้นมา เรื่องมันเป็นอย่างนั้น...”
ลัก...ยิ้ม
30-06-2020, 15:49
สร้างวัดป่าบ้านตาด
ชาวบ้านตาดเล่าว่า ในเบื้องต้นเมื่อองค์หลวงตาพาโยมมารดากลับจากจันทบุรี ได้พาโยมมารดาและคณะมาพำนักอยู่ที่บริเวณเหล่าภูดิน ซึ่งเป็นที่ดินของโยมบิดามารดาของท่าน และอยู่ทางทิศตะวันออกของโรงเรียนอุดรธรรมานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา และตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านตาด ติดถนนสายบ้านตาด-กกสะทอน
ต่อมาคุณตาก้อน วังคำแหง*๑ และคุณตาบุดสา บัวสอน*๒ ซึ่งมีที่ดินอยู่ติดกัน ได้นิมนต์ไปดูที่ดินซึ่งทั้งสองจับจองไว้ โดยแปลงหนึ่งเป็นที่ดินหัวไร่ปลายนาของคุณตาก้อน ซึ่งมีลักษณะเป็นที่สูงและไม่สามารถใช้ทำนาได้ คุณตาก้อนนี้มีที่น่าอยู่ด้านทิศเหนือทางเข้าวัดป่าบ้านตาด ตั้งแต่ประตูหน้าวัดจนถึงสระน้ำ ส่วนคุณตาบุดสาได้ถวายที่ดินที่ได้จับจองไว้ทำไร่ทำสวนให้แก่องค์ท่าน กว้าง ๘ เส้น ยาว ๘ เส้น ซึ่งอยู่ติดกันกับที่ดินของคุณตาก้อน และเมื่อรวมที่ดินทั้งสองแปลงสองเจ้าของเข้าด้วยกัน จึงเป็นเขตวัดป่าบ้านตาดมาแต่เริ่มแรก
ส่วนชื่อวัดป่าบ้านตาดที่มีชื่อเป็นทางการว่า วัดป่าเกษรศีลคุณ นั้น หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ แห่งวัดป่าบ้านนาคูณ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งอยู่กับองค์หลวงตามาตั้งแต่เริ่มตั้งวัดในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ อธิบายว่า เป็นนามขององค์หลวงตา คือ “บัว” ซึ่งเป็นชื่อของดอกไม้ (คำว่า “เกษร” แปลว่า ดอกไม้)
เกี่ยวกับสภาพวัด และการดำเนินการในช่วงเริ่มต้นสร้างวัดนั้น องค์หลวงตาเคยกล่าวไว้เช่นกันว่า
“... วัดป่าบ้านตาด เมื่อเริ่มสร้างวัดใหม่ ๆ มีพระเณรอยู่ด้วยกันหลายรูป ตอนที่เรามาสร้างวัดนี้นะ วัดนี้เป็นดงทั้งหมด ติดต่อจากนี้ไปถึงอำเภอหนองแสง เป็นดงใหญ่ทั้งนั้น ทะลุปรุโปร่งไปหมด มีแต่ดงแต่ป่า สัตว์นี้เต็มไปหมด มีทุกประเภทของสัตว์ ช้างเป็นโขลง ๆ เต็มดง กระทิง วัวแดง กวาง หมูเป็นฝูง ๆ ฝูงละเป็นร้อย ก็มีหมูป่าในดงนี้ พวกเก้ง พวกกวาง พวกอะไร.. ไก่ป่า ไก่ฟ้า อีเห็น เม่น เต็มดงนี้...
หมูป่าเป็นฝูง ๆ ยังพากันมาอาศัยนอน และเที่ยวหากินอยู่ตามบริเวณหน้ากุฏิพระเณรในเวลากลางคืน ห่างจากที่ท่านเดินจงกรมราว ๒-๓ วาเท่านั้น ได้ยินเสียงมันขุดดิน หาอาหารด้วยจมูกดังตุ๊บตั๊บ ๆ อยู่ในบริเวณนั้น ไม่เห็นมันกลัวท่านเลย เวลาท่านเรียกกันมาดูและฟังเสียงมันอยู่ใกล้ ๆ ก็ไม่เห็นมันวิ่งหนีไป ยังพากันเที่ยวหากินตามสบายในบริเวณนั้นแทบทุกคืน ทั้งหมูและพระเณรเคยชินกันไปเอง แต่ทุกวันนี้ยังมีเหลือเล็กน้อย และนาน ๆ พากันมาเที่ยวหากินทีหนึ่ง ... ต่อไปไม่กี่ปีคงจะเรียบไปเอง
ต้นไม้เดี๋ยวนี้ใหญ่โตแล้ว (ปี ๒๕๕๐) ตอนตั้งวัดแต่ก่อนไม่มี (ชี้ไปทางกุฏิองค์หลวงตา) ถูกเขาทำลายทำสวน ป่าราบไปหมด.. ๕๐ ปีได้ขนาดนี้ต้นไม้ เรียกว่าคนละโลกไปเลย มาอยู่ที่นี่ ทีแรกเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าอะไร (ชี้ไปทางด้านหน้าศาลา) .. พอมาสร้างวัด ต้นไม้ก็ขึ้นขนาดนี้.. ๕๐ ปี ดงต่อกันนะ นานี่ไม่มี เป็นดงต่อไปเป็นดงใหญ่ พวกหมู กวาง เก้ง หมี เสือ สร้างวัดทีแรกมันผ่านเข้ามาในวัด มันเดินผ่านทางที่เข้าบ้าน เสือโคร่งใหญ่ ก็ป่าเขานี่มันผ่านไปผ่านมา .. พวกหมี พวกเสือโคร่ง ผ่านไปผ่านมา
ท่านแสวง (ดูว่าไปตายที่วัดเขาน้อยละมั้ง) ท่านกลัวหมี ทีแรกมันออกมากุฏิเรา กุฏิเราเป็นกระต๊อบ พอมาเจอกุฏิเราเข้า ตีสามมันจะข้ามไปดง ข้ามไปข้ามมา หมีใหญ่ ตัวใหญ่ตัวดำ ๆ เดือนหงาย ๆ มันออกมาหาเรา แต่ยังไม่ทันเห็นเรา เสียงมันดังโครมคราม ๆ มาเจอกุฎิเราแล้วก็เลาะไปเจอเอากุฏิพระแสวง กุฏิมีแต่กระต๊อบนะ พระแสวงยืนตัวสั่นอยู่ในกระต๊อบ มันออกมาเจอกระต๊อบ มันก็หลบอีก มันไม่ผ่าน หลบไปทางนู้น หมีใหญ่มีสองสามตัว รอยมันผ่านไปผ่านมา เดี๋ยวนี้หมด เสือไม่มี พวกสัตว์เนื้อหมด เขาตั้งอำเภอแถวนั้นแหละ ดงใหญ่...
แถวนี้ไม่มีต้นไม้ (ชี้ไปทางกุฏิองค์หลวงตา) เป็นพุ่มหมดเลย ใหญ่ขนาดนี้ต้นไม้ มันเป็นดงเก่าเขามาทำไร่ทำสวน เตียนโล่งไปหมด พอเรามาสร้างวัดที่นี่มันขึ้นใหม่นะนี่ ต้นใหญ่ ๆ ขึ้นใหม่หมดเลย ประมาณ ๕๐ ปี พระก็ดูเหมือน ๑๒ องค์ ปีแรกมาอยู่นี่ ๑๒ องค์ เขารับจำกัด ๑๘ องค์ ..
วัดป่าบ้านตาด (ระยะต่อ ๆ มา) .. มีเนื้อที่กว้างขวางก็ดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เพราะวัดนี้เป็นวัดของแผ่นดิน ทำประโยชน์ก็เพื่อแผ่นดิน
ตั้งแต่สร้างวัด เราก็ทำประโยชน์เรื่อยมา ถนนหนทางทำตั้งแต่บ้านดงเค็งเข้ามาถึงบ้านตาด ให้ลูกศิษย์ลูกหาช่วยกันทำเรื่อยมา
ถนนจากหมู่บ้านเข้ามาถึงวัดนี้ก็เหมือนกัน นี่เราทำเอง ขอชาวบ้าน ขอลูกเต้าหลานเหลนทำ ทางมา แหวกทางมา ขอมาเรื่อย ๆ แล้วก็ขึ้นค่าสินน้ำใจเขา เราไม่ขอเอาเฉย ๆ เราให้ค่าสินน้ำใจตอบแทน ค่าตอบแทนเราก็ไม่ให้ต่ำ ให้สูงไว้เสมอ ๆ เพราะฉะนั้น สองฝั่งทางนี้มันจะมีหลักฝังอยู่ นี่เราก็จ่ายเงินเขาไปหมดแล้ว
สระน้ำหน้าวัดนี้ก็เหมือนกัน เราก็ทำให้เพื่อชาวบ้าน ทางสายหน้าวัดนี้แต่ก่อนมันเป็นดงนะ มันไม่มีบ้าน นี่เราขอเอาไว้ก่อนเลย
หลวงตาบิณฑบาต ไม่ได้บิณฑบาตแต่ข้าวอย่างเดียวนะ แม้กระทั่งถนนหนทางก็ขอบิณฑบาต ขอไปไหนได้หมด เขาก็ว่า ‘อู้ย ! หลวงตาขออะไรได้หมดแหละ’
และเขาก็ให้หมดจริง ๆ นะ ถนนหนทางมันจึงกว้าง ...”
........................................................................
*๑ องค์หลวงตาเรียกคุณตาก้อนว่า “ผู้เฒ่าก้อน” หรือ “พ่อออกสิน” เป็นการเรียกชื่อตามชื่อลูกคนโต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวอีสาน คุณตาก้อนมีความเกี่ยวพันเป็นญาติผู้น้องของโยมมารดาขององค์หลวงตา โยมบิดาและโยมมารดาเรียกคุณตาก้อนว่า “น้าบ่าว”
*๒ องค์หลวงตาเรียกคุณตาบุดสาว่า “พ่อออกใจดี” หรือ “เฒ่าใจดี” เพราะความสนิทสนมคุ้นเคยกันแต่ครั้งเป็นฆราวาส โดยองค์หลวงตาเป็นเพื่อนกับน้องชายคนหนึ่งของคุณยายสีกา ภริยาคุณตา วันหนึ่งได้ซ้อมมวย เตะต่อยชกกันเล่นตามประสาวัยรุ่น แล้วถูกคุณยายสีกาผู้เป็นพี่สาวดุด่า กล่าวหาว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ ไร้สาระ อันเป็นการบอกสอนปรามน้อง ๆ ด้วยเกรงจะไปในทางไม่ดี ในขณะที่คุณตาบุดสาผู้เป็นสามี แม้จะนั่งดูหรือเห็นการชกต่อยของน้อง ๆ คุณตาก็ไม่ได้ว่ากล่าวใด ๆ คงนิ่งเฉยเสีย แม้ในเวลาต่อ ๆ มา คุณตาก็จะไม่ค่อยพูด เป็นลักษณะของคนใจดี องค์หลวงตาจึงเรียกคุณตาว่า พ่อออกใจดีหรือผู้เฒ่าใจดีตลอดมา
ลัก...ยิ้ม
30-06-2020, 16:11
ฝังลึกคำพูด “ผู้เฒ่าก้อน”
เมื่อถึงคราวต้องสร้างวัด การปรับที่ปรับทางก็มีความจำเป็นขึ้นมา สิ่งนี้ทำให้ท่านซึ้งในน้ำใจของคุณตาก้อน ญาติฝ่ายโยมแม่ ชนิดฝังลึกไม่มีวันลืม ดังนี้
“... ทีแรกเรามาพักอยู่นอกบ้านทางนู้น เขาจึงนิมนต์ให้มาพักตรงนี้ มี ๒ เจ้าภาพถวายที่ดินจึงกลายเป็นวัดขึ้นมา ดูแล้วก็สงบสงัดดี เป็นเอกเทศ ... ทำถนนเข้ามานี่ สร้างวัดนี้ พ.ศ. ๒๔๙๘ เดือนพฤศจิกายน เดินบุกไปตามคันนา ไม่มีถนนหนทาง พอปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ผู้เฒ่าก้อนเจ้าของนา ๒ แปลงก็ให้ที่ดินทำถนน ทำจากสะพานหน้าวัดเข้ามา ให้เงินเท่าไหร่แกก็ไม่ยอมเอา ผู้เฒ่าก้อนแกบอกว่า
‘เงินไม่เอา จะเอาบุญนี้ ตัดทางเข้ามาเลย’
เราจะเอาอะไรให้แกก็ไม่เอา ให้เป็นล้าน ๆ ก็ไม่เอา จะเอาบุญเท่านั้น คำพูดของผู้เฒ่าเรายังไม่ลืมฝังลึกมากนะ แกบอกว่า ‘จะไต่ไปทำไมคันนา พระตกคันนา มันไม่เหมือนเด็กน้อยตกนะ รีบไปทำถนนเข้าสิ พระตกคันนามันมีบาปด้วยละ’ ...
ผู้เฒ่าก้อนถวายที่ทั้งหมดให้เป็นวัด นาก็ให้เลย นาของแก ตัดทางเข้ามาเลย ผู้เฒ่านี่เป็นคนใจบุญนะ ใจบุญถวายที่นี่ ยกที่ดินถวายทั้งหมดเลยก็เลยได้อยู่ที่นี่ ผู้เฒ่าให้นา ผู้เฒ่านะ.. ตัดเข้ามา มันมีนาสองเจ้า มีเจ้าหนึ่ง ๆ ถ้าหากว่าเขาให้ก็ตัดตรงเข้ามา ถ้าเขาให้นา แบ่งนาให้เป็นทานนะ เราก็ตรงเข้ามาเลย ติดต่อเขาก็ง่ายนิดเดียว เขาอยากให้อยู่แล้ว เขาให้เลย จากนั้นทางมันจึงตรงเข้ามานี่ ...
พอเวลาผู้เฒ่าแก่มากเข้าจริง ๆ เราก็บอกว่า ‘ให้ตายใจ หลับตาให้สบาย หายห่วงนะ หลานจะเผาศพให้เอง’
เวลาผู้เฒ่าตายก็สั่งเขาให้มาเผาที่หน้าประตูวัดได้ แกเป็นเจ้าของที่นี่ เวลาตายก็เราเป็นเจ้าของศพ เป็นเจ้าภาพเลย.. ดูแลทุกอย่าง การทำบุญให้ทาน.. ให้ทุกอย่างครบหมดเลย เผาที่หน้าประตูวัด เราทำบุญให้ทานถึงผู้เฒ่าเรียบร้อยทุกอย่างเลย ...
ผู้เฒ่านี้เป็นน้องแม่ มามีเมียอยู่ทางนี้ เพราะฉะนั้น นา ๒ แปลงนี้จึงมีคุณค่ามาก ลึกซึ้งมากภายในหัวใจและในวัดนี้ เพราะคุณธรรมเป็นของลึกซึ้งมาก เงินล้านสู้ไม่ได้ อันนี้เป็นน้ำใจ น้ำเงินกับน้ำใจต่างกัน น้ำใจนี้ลึกซึ้งมาก...”
สำหรับคุณตาก้อนและคุณตาบุดสานั้น องค์หลวงตาได้แสดงออกให้คุณตาก้อนและลูกหลานเห็นว่า องค์ท่านระลึกถึงความดีงามที่คุณตาก้อนได้ถวายที่ดิน เพื่อสร้างวัดป่าบ้านตาดอย่างเสมอต้นเสมอปลายตลอดมา เช่น ในยุคแรกที่บุกเบิกวัดป่าบ้านตาด ซึ่งมีแม่ชีอยู่ ๔ ท่าน เวลาทำนาท่านจะให้แม่ชีนำกับข้าวมาแขวนไว้ที่ต้นไม้ ตรงคันนาหน้าวัดแล้วบอกว่า
“จะได้มีเวลาทำนา ไม่ต้องกังวลกับการหากับข้าว”
และเมื่อคุณตาก้อนถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ขณะอายุ ๘๙ ปี ท่านก็เมตตาให้นำศพของคุณตาก้อนไปเผาที่บริเวณหน้าวัดป่าบ้านตาด นอกจากนี้ ในยุคที่เหลือแต่ลูก ๆ ของคุณตาก้อน องค์ท่านก็ปรารภว่าไม่ปรารถนาเลย.. ในการที่จะให้ผู้มีศรัทธามาซื้อเอาที่ดิน ตรงบริเวณเหนือทางเข้าวัดป่าบ้านตาดมาเป็นที่ดินของวัด เนื่องจากเป็นที่ดินของผู้มีบุญคุณต่อวัดป่าบ้านตาด แต่เมื่อลูกหลานของคุณตาก้อนกราบเรียนว่า ได้ซื้อที่ดินแปลงอื่นทดแทนแล้ว องค์หลวงตาจึงยอมให้ผู้มีศรัทธาซื้อที่ดินนั้นถวายวัด
สำหรับคุณตาบุดสานั้นถึงคราวเจ็บป่วย จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล องค์หลวงตาก็ได้เมตตารับผิดชอบเงินค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ขณะอายุ ๘๒ ปี คุณตาบุดสาก็ถึงแก่กรรมลง องค์ท่านได้เมตตาช่วยจัดงานศพจนแล้วเสร็จ
ลัก...ยิ้ม
30-06-2020, 16:20
สัญชาตญาณรับผิดชอบ
เหตุการณ์คราวหนึ่งในช่วงกำลังสร้างวัดป่าบ้านตาด องค์ท่านเข้าปกป้องเด็กให้พ้นอันตรายโดยท่านเองยอมเจ็บปวดแสนสาหัส ดังนี้
“... ต่อนี้ปวดมาก ที่รู้ได้ชัดก็คือว่าอยู่ตะวันตกกุฏิเราไป พาเด็กเข้าไปในนั้น สร้างวัดใหม่ ๆ กุฏิของเราที่อยู่ทุกวันนี้ (ตอนนั้น) ยังไม่ได้สร้าง (เพิ่ง) มาสร้างวัดใหม่ ๆ
วันนั้นพาเด็กไปเอาอะไรอยู่ข้างใน แล้วมีต่อรังใหญ่รังหนึ่ง ทีนี้เถาวัลย์กับรังต่อนี่มันเกี่ยวกันกับสายทางที่เราจะไป พอไปผ่านนี่ปั๊บ มันก็กระเทือนรังต่อ มันก็ต่อยเอาเลย
แต่ทีนี้ ไม่มีใครไปผ่านละซีก็วัดป่าด้วย เป็นทำเลของเราอยู่ด้วย ใครไม่กล้าผ่านไปแถวนั้น พอเด็กอายุ ๑๕ ขวบเดินผ่านไป ผ่านเถาวัลย์.. นี่จับเถาวัลย์ดึง รังต่อมันติดอยู่ข้าง ๆ มันเกี่ยวโยงกันกับเถาวัลย์ พอไปดึงนี้ ต่อก็แตกรังออกมาเลย ทางไปนี้
มันใส่เด็กปั๊บ เด็กก็ร้อง “แว้” เด็กร้อง “แว้” เรามองดู มันเป็นต่อ
นี่ที่เรียกว่า สัญชาตญาณรับผิดชอบ มันเป็นของมันเอง พอรู้ว่าเป็นต่อเท่านั้นละ.. ปัดเด็กหนีเลย เพราะมันเป็นช่องเล็ก ๆ
ปัดเด็กออกไปเลย เรากันไว้ให้มันซัดเรา เราก็ยืนกันอยู่นั่น มันก็ฟาดหลังเราปุ๊บเลยต่อทั้งรัง
เด็กดูเหมือนจะตอดได้ตัวเดียวหรือไง อายุ ๑๕ ปีเป็นไข้เลยนะเด็ก ส่วนเรานับไม่ได้เลย ฟังซิ ว่าสัญชาตญาณยืนกันไว้เลย มันจะตามต่อยเด็ก.. ไม่ให้ไป ปิดประตูป่าช่องแคบ ๆ เรายืนกันไว้เลย มันก็ซัดเราเสียจน .. ฟาดเรากลางหลังหมดรังเลย ปวด.. เรากันไว้ให้มันซัดเรา ทีนี้พอเสร็จแล้วให้หมู่เพื่อนมาดู มันเป็นจ้ำ ๆ ๆ แดง ๆ หมดรัง ไข้เลย เด็กถูกต่อยตัวเดียวเท่านั้นก็เป็นไข้ ไอ้เราหมดรังเป็นไข้ทันทีเลย
ตีสอง ตีสามค่อยสงบ ตั้งแต่บ่ายสี่โมงนะ นี่เรียกว่ามันยกขบวนมันทั้งรังเลยนะ ใส่ข้างหลังเรา...”
ลัก...ยิ้ม
02-07-2020, 21:59
บันทึกคำนิมิตฝัน
ขอยกนิมิตที่องค์ท่านบันทึกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ดังนี้
“... คืนวันที่ ๒๓ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔ ตรงกับขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ วันพุธ เวลา ๒๓.๐๐ น. ดังนี้
ขณะนั้นปรากฏว่า เราอยู่วัดแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในป่าเปลี่ยวมาก ห่างจากบ้านไม่มีประมาณ อยู่กับสามเณร ๓ องค์ ไม่รู้จักนาม คล้ายกับว่าเณรอยู่ในวัดของเราขณะนี้ เวลานั้นเป็นเวลาเที่ยงคืนตรง เราพาเณรทำธุระอยู่หน้ากุฏี (กุฏิ) ห่างจากกุฏีประมาณ ๑๐ วาหลวงพอดี เสร็จแล้วล้างมืออยู่ที่หน้ากุฏีนั้นด้วยกัน พอต่างล้างมือเสร็จแล้วเราขึ้นไปกุฏีก่อนเณรทั้งสาม
กุฏีนั้นปรากฏว่าเป็นกุฏี ๒ ชั้น พอเราขึ้นไปถึงกุฏีชั้นบน ปรากฏว่ากุฏีชั้นบนนั้น.. บานประตูเปิดอยู่ก่อนแล้ว แต่เราไม่ได้นึกสงสัยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น จึงตรงเข้าไปในห้องกุฏี พอเข้าไปในห้องปรากฏในสายตาตรงประตูด้านตะวันตก ซึ่งเปิดบานอยู่แล้วเช่นกัน ก็ปรากฏเห็นรูปบุรุษคนหนึ่ง เดินผ่านหน้าประตูแวบเดียวด้วยความเร็วของเขา จึงนึกสงสัยว่าจะเป็นคนชนิดไร ขึ้นมากุฏีในกลางคืนซึ่งเป็นยามดึก ก็รีบสอดสายตาดักฟากมุมเสาตรงประตูด้านหนึ่ง ก็พอดีสายตาไปสบกับบุรุษนั้น ซึ่งลอบ ๆ มอง ๆ เข้ามาข้างในห้องที่เราอยู่
พอเราทราบว่าเป็นผู้ร้าย แน่ในใจแล้ว ทันใดนั้นเขาก็ตรงเข้ามาถึงตัวเราทันที แต่ไม่ได้จับต้องกายของเราแต่อย่างใด เป็นแต่นั่งใกล้ชิดเรามาก แม้เราเองในขณะนั้น ก็ปรากฏว่านั่งกระโหย่งเช่นเดียวกับเขา แล้วจึงถามเขาว่า ‘เข้ามาทำไมกัน’
เขาก็ตอบทันที พร้อมทั้งมือข้างขวาก็ถือปืนสั้นทำท่าขู่เราอยู่ว่า ‘มาฆ่าท่านนั่นเอง’
แล้วเราก็ถามซ้อนอีกว่า ‘จะฆ่าอาตมาทำไม อาตมามีความผิดอะไร หรือท่านต้องการสิ่งของอะไรซึ่งมีอยู่ภายในกุฏี ก็เชิญถือเอาไปตามต้องการ จะมาฆ่าอาตมาเอาประโยชน์อะไรล่า ?’
เขาก็ตอบว่า ‘เมื่อท่านยังอยู่.. จะทำประโยชน์แก่พระศาสนามาก ใคร ๆ เขาก็นับถือท่านมากจนลือกระฉ่อนไปหมดแล้วเวลานี้ เฉพาะอย่างยิ่งหนังสือ “ปัญญาอบรมสมาธิ” ที่ท่านแต่งพิมพ์ไปแล้ว รู้สึกว่าคนสนใจและชอบมากจริง ๆ กำลังจะเป็นหนังสือตัวแทนของท่าน และเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว ถ้าหากว่าฝืนให้ท่านยังมีชีวิตอยู่ต่อไป ศาสนาจะเจริญขึ้นมาก คล้าย ๆ กับสมัยพระพุทธเจ้ายังอยู่และทรงประกาศศาสนาเอง ฉะนั้นผมเห็นเหตุนี้เองจึงจะรีบมาฆ่าท่านเสีย ศาสนาจะได้เสื่อมโทรมไป คนจะได้มืดมนหลงอยู่ในโลกนี้เป็นเวลานาน ๆ ผมนี้คือพญามาร เคยทำลายพระศาสนาและฆ่าพระมามากแล้ว’
ดังนี้ พอพูดกันจบลงเพียงนี้ ก็ปรากฏสามเณรทั้ง ๓ ขึ้นมา บุรุษคนนั้นไม่เห็นมีอาการสนใจอะไรกับเณร นอกจากคุมเชิงกับเราอยู่เท่านั้น เณรก็ไม่อาจพูดอะไรเช่นกันเพราะกลัวเขา ต่อจากนั้น เราก็พูดกับเขาอีกว่า ‘การที่ท่านมาที่นี่ ประสงค์จะฆ่าเราคนเดียวเท่านั้น ไม่ประสงค์อย่างอื่นใช่ไหม’ เขาตอบว่า ‘ใช่’
ถ้าเช่นนั้น เราขอกราบพระ สวดมนต์ และอำลาพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ก่อน เสร็จแล้วค่อยฆ่า เราไม่หนีไปไหนหรอก’ เขาก็ยอมให้ทำ
พอเสร็จแล้ว เราก็เริ่มสั่งเณรว่า ‘เราจะตาย นับแต่ขณะนี้เป็นนาทีสุดท้าย’ เณรก็ทราบอาการจะตายของเราทันที เพราะตัวเหตุผู้จะฆ่าก็นั่งรออยู่แล้ว พวกเณรเห็นถนัดทุกองค์ แต่ไม่กล้าพูดอะไรเพราะกลัวเขา จากนั้นเขาก็เริ่มเอาปืนจ่อเข้าตรงหน้าอกเรา เราเองไม่ปรากฏว่ามีความหวั่นไหวแม้แต่น้อย มีน้ำใจองอาจกล้าหาญจนวินาทีสุดท้าย ขณะที่เขายิงเรานั้นปรากฏเสียว ๆ ร้อน ๆ ที่ทรวงอกแพล็บ ๆ สองครั้ง ในขณะเดียวกันก็ปรากฏขึ้นเป็นคำว่า อรหํ – สวากฺขาโต – สุปฏิปนฺโนฯ ภายในใจอย่างแจ้งชัด โดยที่เรามิได้ว่า แต่เป็นคำปรากฏขึ้นมาเอง’
พอเขาทราบว่าเราตายแล้ว เขาก็พาเณรลงจากกุฏีจะรีบหนี พอลงไปถึงหน้ากุฏี ก็มีคนจำนวนมากมารุมจับเขามัดคอไว้อย่างแน่น ตัวเราเองที่เข้าใจว่าเขาฆ่าตายแล้ว ก็มีความรู้สึกอันหนึ่งซึ่งเหมือนยังไม่ตาย แล้วเดินเข้าไปในบ้าน ผ่านบ้านออกไปทางทิศเหนือ โดยรำพึงในใจว่า
‘การนิพพานเป็นอย่างนั้น โดยไม่มีความทุกข์ร้อนอะไรเลย แม้แต่ขณะจะตาย ในเวลาเขาฆ่าก็ไม่มีอาการเจ็บปวด ตายแล้วก็ไม่ทุกข์ สบายเช่นเดียวกับยังมีชีวิตอยู่’
กำลังเดินรำพึงอยู่อย่างนี้ ก็พอดีบุรุษนั้นวิ่งตามมาทัน แล้วกระโดดเข้าสวมกอดเราทันที เราก็รีบถามเขาอีกทันทีว่า ‘มาสวมกอดเราทำไม’ ตอบว่า ‘มาอาศัยท่าน เขาจะรุมฆ่าผม ผมไม่มีที่พึ่งแล้ว ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของผมด้วย’
เราจึงตอบเขาว่า ‘เวลาเป็นอยู่เห็นเราเป็นข้าศึก เวลาจะตายก็วิ่งมาพึ่ง นี่สมชื่อว่ามารเอาเสียจริง ๆ มารกับอสรพิษเป็นสัตว์ประเภทเดียวกัน ไม่รู้จักบุญคุณของใครทั้งนั้น รู้จักแต่ทำลายโดยถ่ายเดียว’
เขาไม่ตอบว่าอะไร นอกจากกอดรัดเราไว้ ทั้งกลัวเขาจะมาฆ่าจนตัวสั่นริก ๆ ไปเท่านั้น นิมิตมาถึงนี้ก็พอดีรู้สึกตัวตื่นขึ้น จึงทราบว่านิมิตฝันไป จึงรีบบันทึกไว้ในขณะนั้นนั่นเอง...”
ลัก...ยิ้ม
02-07-2020, 22:24
นิมิตปืนจ่อยิง
เมื่อคราวมาอยู่วัดป่าบ้านตาดระยะแรก มีนิมิตเกิดขึ้นแบบถนัดชัดเจน ดังนี้
“... เรื่องนิมิตนี่แปลก ๆ มันเป็นหลายครั้งหลายหน ถ้านิมิตชนิดอย่างชัด ๆ จริง ๆ แล้วไม่ค่อยผิด หลายครั้งหลายหนที่เราเคยเป็น อย่างคราวมาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดทีแรกก็เหมือนกัน
คืนวันนั้น แหม ! นิมิตแสดงออกมานี้ จนกระทั่งเรานี้ไม่กล้าพูดอะไรให้ฟังเลย ทำไมนิมิตจึงเป็นอย่างนี้
นิมิตปรากฏว่า มีกำแพงรอบ เราไปอยู่ตรงกลาง ไม่มีทางออกเลย นายพรานมือแม่นปืนมาขอยิงเราต่อหน้า หันปากกระบอกปืนจ่อมาหาเรา ห่างกันไม่ถึงวา เราก็เปิดผ้าออก เหลือแต่เพียงผ้าอังสะแล้วพูดว่า ‘เอ้า ! ยิงเลย’
พอเขายิง ยิงยังไงก็ไม่เห็นถูก ดังเปรี้ยง ! เปรี้ยง ! อยู่เฉย ๆ จนกระทั่งลูกกระสุนดินดำหมด พอกระสุนหมดแล้วยอมเข้ามาหมอบกราบ ขอกราบท่านหน่อย หมดความสามารถแล้ว มีเท่านี้แหละความสามารถ พอกราบแล้วเขาลุกหนีไป
พวกท่านสิงห์ทอง ใครต่อใครรุมเข้ามาหาเรา
‘เป็นอย่างไร ไม่เป็นผุยผงไปหมดแล้วเหรอท่านอาจารย์’
เสียงปืนนี้ดังสนั่น เข้ามาจับผ้าอังสะของเราดูก็ไม่เห็นมีรอยขาดอะไร แล้วนี่ท่านอาจารย์ดีด้วยอะไร ‘ดีด้วยพุทโธ’ เราว่าอย่างนี้นะ ในนิมิตมันบอก
พอตื่นเช้าขึ้นมานี้ เอ ! มันเรื่องอะไรกันนาถึงได้ฝัน ? ถนัดชัดเจนจริง ๆ แต่ไม่บอบช้ำ หาทางหลีกไม่ได้.. หากไม่บอบช้ำ นี่เป็นเรื่องอะไรนา คือบอกความหมาย มันไม่มีอันหนึ่งคือ เรื่องมาแสดงนิมิตจะแสดงความหมายไปนั้นไปนี้ก็ไม่มี เราจะมาตีความหมายว่าอย่างไหน นิมิตเป็นอย่างนี้
พอตอนบ่าย ๓ โมง พวกตลาดก็มาสิ เอาจดหมายจากท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ พระอุปัชฌายะ มามอบให้ แล้วมีเด็กผู้หญิงสาวคนหนึ่งมาด้วย มาขอฝากเด็กคนนี้บวชเป็นชีในสำนักนี้
‘อ๋อ ! อันนี้เอง คือไม่มีทางไปได้เลย’
จดหมายของท่านเจ้าคุณมาหาเรา แล้วก็พวกตลาดเป็นพวกเจ้าหน้าเจ้าตากันทั้งนั้นละมา มันก็เหมือนเรื่องราวในนิมิต พอมาแล้วเราก็ชี้แจงเหตุผลให้ฟังตามเรื่องตามราว ให้ไปกราบเรียนท่าน
‘เราไม่รับ’
เราหาอุบายพูดอย่างเหมาะสมกับเหตุผลที่เขาจะยอมรับ เขาก็ยินดีจะตกลง
เราบอกว่า ‘เท่าที่มีอยู่นี้ ก็ด้วยความจำเป็นเกี่ยวกับโยมแม่ เราไม่ได้สร้างวัดเพื่อจะสั่งสมแม่ชีแม่ขาวที่ไหนมากมาย มีแต่คนแก่ ๆ อยู่ด้วยกันที่ติดมาด้วยกันแล้ว ถึงเวลาจำเป็นเรารับเท่านี้ คนอื่นเราไม่รับ ขอให้ไปกราบเรียนท่านว่า เรารับด้วยความจำเป็นเกี่ยวกับโยมแม่ ให้โยมแม่มีหมู่เพื่อนอยู่ด้วยกันเฉย ๆ เราไม่ตั้งใจว่าจะสั่งสมแม่ชีแม่ขาวให้มากมายอะไร’
เราก็บอกอย่างนั้น เขาก็เลยไปกราบเรียนท่านเจ้าคุณฯ วันหลังเราก็ตามไปอีก ท่านก็บอก
‘เออ ! บัว ข้อยรู้ความประสงค์ของเจ้าแล้ว เราก็ไม่ติดใจอะไรแล้วละบัว อุบายของเจ้าพูดก็ดี ไม่เห็นมีอะไรขัดข้อง เราไม่ขัดข้องเจ้า เมื่อมีความจำเป็นแล้วเราก็เห็นใจ’
ท่านว่าอย่างนั้น นี่ก็ไม่บอบช้ำ ท่านก็ไม่บอบช้ำ พวกตลาดก็ยอมรับเหตุผลเรา ไม่มีใครโกรธ ใครเคียดอะไรให้เรา นี่ที่ว่ามันไม่บอบช้ำคือ ยิงขนาดนี้ไม่บอบช้ำ อ๋อ ! เรื่องนี้เหรอ เข้ากันปั๊บเลย ...”
ลัก...ยิ้ม
02-07-2020, 23:05
ดูลายมือที่เขาวงพระจันทร์
ครั้งหนึ่ง องค์ท่านมีความจำเป็นต้องไปเขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี จึงได้ถูกชายผู้ดูแลรักษารอยพระบาทคนหนึ่ง จ้องมองดูท่านแบบผิดปกติ ดังนี้
“... เขานิมนต์แกมขอร้องเราไปที่เขาวงพระจันทร์ เจ้าของห้างขายยาเศรษฐีใหญ่ในกรุงเทพฯ เราก็ไม่เคยไปเหยียบบ้านเขาเลย เพราะเราคบคนไม่ได้คบเพื่อเงิน คบเพื่อธรรม ถ้าเป็นแบบโลก ๆ อู๊ย ! ได้โยมอุปัฏฐากใหญ่โต ห้างขายยาใหญ่ เราไม่เคยสนใจแหละ.. เรื่องอุปถัมภ์อุปัฏฐาก เราไม่เคยมีในใจนอกจากธรรม
เขาพาไป มีแต่คนแก่ ๆ ผู้หญิงอายุ ๕๐-๖๐ ผู้ชายมีแต่เพียงคนขับรถคนเดียว ฉันจังหันแล้วไปถึงนั่นตั้ง ๓ ทุ่มกว่าแล้ว จากกรุงเทพฯ ไปถึงก็มืด เขาจัดที่พักให้เราพักที่วัดชายเขาวงพระจันทร์
พอตื่นเช้าเขาก็จัดอาหารมาให้ฉัน เราก็หาอุบายถามว่าใครบ้างจะขึ้นเขาในวันนี้ คนนั้นก็ว่า ‘ฉันก็จะขึ้น’ คนนี้ก็ว่า ‘ฉันก็จะขึ้น’ มีแต่คนจะขึ้นทั้งหมด โอ๊ยตาย ! ไปกับพวกนี้ ๕ ชั่วโมงก็ไม่ถึง เขาก็ย้อนถามเรา ‘แล้วท่านล่ะ ขึ้นไหม ?’
‘โอ๊ย ! ต้องดูเหตุการณ์เสียก่อน เหตุการณ์ควรขึ้นก็ขึ้น ไม่ควรขึ้นก็ไม่ขึ้น’ เราว่าอย่างนี้
ในที่สุดพอมีโอกาสเราก็ขึ้นไปคนเดียว ๑ ชั่วโมงถึงสถานที่เลย ทหารไป ๑ ชั่วโมง ๑๕ นาทีเป็นอย่างเร็ว (ส่วน) ประชาชนต้อง ๒-๓ ชั่วโมง พอไปถึง คนที่ดูแลรักษารอยพระพุทธบาทออกมาต้อนรับ จัดหาน้ำร้อนน้ำชามาถวาย แต่ตาเขาจ้องมองเราจนผิดปกติ
เราดูเขา.. เขาไม่รู้นะ แต่เขาดูเรานี่รู้ชัดเจน มารยาทการดูมันต่างกัน เรามองดูก็รู้ว่าเขาดูเรา หากว่าเป็นคนเป็นอย่างแบบโลกก็แสดงว่ามีพิรุธต่อกัน แต่เราไม่สนใจ
เขาถาม ‘อาจารย์มากับใคร ?’
‘ที่มาตรงนี้ มาคนเดียว’ เราบอก
‘แล้วมีใครมาด้วยไหม ?’
‘มี อยู่กันข้างโน้น เขาจะขึ้นกันมาทีหลัง’
เขาจ้องมองดูแต่เรา เพ่งมองอยู่อย่างนั้น เราฉันน้ำร้อนน้ำชาให้เขานิด ๆ หน่อย ๆ แล้วเขาจ้อง พอเสร็จแล้วเขาบอกว่า ‘ขอดูลายมือ’
เราก็เข้าใจ ‘อ๋อ ! ที่เขาจ้องดูเรา หมายถึงจะขอดูลายมือนี่เอง’
ที่ไม่ลืมคำพูดของเขา ก็คือว่าประโยคคำพูดที่สำคัญ ก็คือ
‘๑. ท่านอาจารย์นี้มีเท่าไรหมด ไม่มีการสั่งสม ถ้าเป็นน้ำในคลองก็ไม่มีแอ่งเก็บน้ำ ไหลเตลิดเปิดเปิงจึงไม่มี แต่ไม่จน
๒. ปากเป็นพุทธะ ตามหลักของเขาคือ วาทะคำพูดสำคัญมาก
๓. ท่านอาจารย์ไม่ใช่พระธรรมดา’
เราก็แปลกใจ เราไม่เคยถามนะ มีแต่เรื่องเขาพูดเอง แล้วเราเฉย.. ไม่สนใจถาม จำได้ ๓ ประโยค...”
ลัก...ยิ้ม
03-07-2020, 14:49
กุฏิ ศาลา.. พออาศัย
หากจะกล่าวว่า วัดของท่านเป็นเสมือนหนึ่งทำนบน้ำอันกว้างใหญ่.. พร้อมเสมอที่จะให้บุคคลได้อาบ ดื่ม ใช้สอย และเพื่อกิจการประโยชน์อื่นใดได้ทุกขณะก็คงไม่ผิดไป เมื่อมีจตุปัจจัยเข้ามามากน้อยเพียงใด ท่านไม่เคยหวงแหนเก็บงำไว้เพื่อตัวของท่าน หรือเพื่อวัดของท่านเลย มีแต่มุ่งทำประโยชน์ช่วยโลกเรื่อยมา
เหตุนี้เอง ภายในวัดป่าบ้านตาดจึงไม่มีสิ่งก่อสร้าง* สวยสดงดงามหรูหราแต่อย่างใด ดังนี้
“... เงินวัดนี้ เงินเพื่อโลก เราไม่ได้เก็บสำหรับวัดนี้ ใครจะมาสร้างอะไรให้ เราไม่เอา นี่ดูซิ
ศาลาของหลวงตาบัว หลังนี้ก็ ๔ หนแล้วนะ เขามาขอสร้าง.. ขอรื้อสร้างใหม่
เราไม่ให้สร้าง สร้างไปหาประโยชน์อะไร สร้างหัวใจซิ ที่ประเสริฐเลิศโลกอยู่ตรงนี้.. ไม่ได้อยู่กับอิฐ กับปูน กับหิน กับทราย ไปสร้างมันหายุ่งอะไร ถ้าไม่ใช่หมาขี้เรื้อนหาเกาในที่ไม่คัน.. ฟาดกิเลส ตัวมันดิ้นมันดีดให้เกาเอาตรงนั้นซิ ไปที่ไหนก็เลยเป็นทำเล เขาเรียกรีสอร์ทรีแสดไปหมดแล้ว เดี๋ยวนี้วัดต่าง ๆ กลายเป็นรีสอร์ทรีแสดไปละ เป็นอย่างนั้นนะ .. ศาสนธรรมเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากยิ่งกว่าวัตถุ เครื่องก่อสร้างให้ความกังวลวุ่นวาย เราคำนึงถึงเรื่องนั้นต่างหากนะ
กุฏิ .. กุฏิเรา ๘ หนมาขอปลูกใหม่ให้ ขอรื้อใหม่ปลูกใหม่ ถ้าไม่ให้รื้อก็ปลูกใหม่.. ไม่เอาทั้งนั้นเรา ถึง ๘ หน.. หนที่ ๘ ก็ขนาบกันใหญ่ซิถึงได้หยุดมา ว่าครูบาอาจารย์อยู่อย่างนี้มันไม่เหมาะสม .. หลังที่สร้างขึ้นนี้เขาส่งเงินมาก็บอกตรง ๆ เลย เขาเห็นเราอยู่กระต๊อบสูงแค่เข่า พื้นก็สับไม้ไผ่เป็นฟากปู สร้างด้วยฟาง มุงด้วยหญ้า เราอยู่นั้นพังไป ๓ หลัง หลังที่ ๔ ถึงได้ปลูกหลังนี้ขึ้นมา (กุฏิหลังปัจจุบัน) เพราะปลวกกินต้นเสาล้มลงปลูกใหม่ ช่างพอทราบว่าเป็นกุฏิของเราก็มาต่อว่าเราที่ศาลา คนก็ยังอยู่มาก ๆ นี้ เขามาต่อว่าเรา.. ยังร้องไห้อีกด้วย บอกว่า
‘ครูบาอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศ มาดูกุฏิแล้วหลังเท่ากำปั้น จะอยู่ได้ยังไง’
‘เอ้า ตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่นี้เป็นยังไง ? ท้องของแม่กับกุฏิหลังนี้อะไรใหญ่กว่ากัน ? กุฏิหลังนี้.. ยืนได้ เดินได้ นั่งได้ นอนได้อย่างสะดวกสบาย ไปมาได้ ในท้องแม่ไปไหนได้ไหม ? คับแคบยิ่งกว่านี้ยังอยู่ได้ตั้ง ๙ เดือน ๑๐ เดือน อันนี้ขนาดนี้แล้วทำไมจะอยู่ไม่ได้ ถ้าต้องการกว้าง ๆ ก็ไปอยู่ทุ่งอยุธยานั่นซิ ...’
เขาไม่ยอมซิ กลับไปเขาส่งเงินตูมมา ทีนี้เราไม่ได้มีข้อสั่งเสีย หรือมีข้อแม้อะไรเอาไว้ จะส่งกลับคืนก็เหมือนประชดกันนี่ เลยได้ฝืนปลูกนะ ...
จากนั้นเราก็สั่งเลยเทียว ใครจะส่งสิ่งส่งของ เงินทองมาให้เกี่ยวกับการก่อสร้างในวัดป่าบ้านตาดนี้แล้ว ต้องให้เราทราบเสียก่อน ถ้าส่งมาสุ่มสี่สุ่มห้าก่อนหน้าอย่างนั้นไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ตกลงกันไว้แล้ว ส่งมาเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ต้องบอกอย่างนั้นเลย เราก็ถือปฏิบัติอย่างนั้นมา ใครจะมาสร้างหากไม่ได้ขออนุญาตให้เป็นที่ตกลงใจกันเสียก่อน เราไม่ให้ทำ ...
ที่อยู่พออยู่ ๆ ไป แต่ทางจงกรมให้เป็นเหวไปเป็นไร (เดินจงกรมมากกระทั่งทางเดินเป็นร่องลึก) นั่นละ ธรรมเจริญ พระพุทธเจ้า พระสาวก ท่านดำเนินอย่างนั้น ท่านไม่ได้เอาวัตถุออกหน้าออกตาอะไร นี่อยู่ที่ไหนมีแต่เรื่องก่อสร้างถือเป็นใหญ่เป็นโต เป็นหลักศาสนาใหญ่โตเชียว เห่อแข่งขันโน่น จะว่าอะไร ...
ห้องน้ำพระกรรมฐานเรานะ ในห้องน้ำเห็นแปรงถูฟัน เห็นอะไร ๆ ในห้องน้ำนี้.. บอกชัดเจนแล้วว่าไม่เอาไหน นั่นมันชี้บอกนะ มาถูฟงถูฟันกี่ชั่วโมงกว่าจะเสร็จกว่าจะสิ้น แสดงว่าไม่เอาไหน สติสตังไม่ทราบไปไหน ไม่รู้เลยเหมือนคนตายแล้ว ผู้ที่เป็นนักรบไม่ได้มีอะไรมากนะ เอาแต่จำเป็น ๆ จ่อกันอยู่ตลอดเวลา นี่เรียกว่านักรบ ห้องน้ำไม่มีอะไร มีแต่ที่จำเป็นเท่านั้นนอกนั้นไม่มี อันนี้ในห้องน้ำมีทุกสิ่งทุกอย่าง.. เหมือนเครื่องประดับประดาตกแต่ง .. ดูแล้วอิดหนาระอาใจนะ พึ่งมาพูดนี่ล่ะ ไม่เคยพูดนะนี่.. สำหรับพระทั่ว ๆ ไป มันปล่อยอาลัยตายอยากแล้วแหละ ที่ยังจะพอมีหวังหายใจฟอด ๆ อยู่บ้าง คือพระกรรมฐาน ..
ศาลานี่ (ศาลาใน) ศาลาหลังนี้ก็ ๔ หนแล้วนะ เขามาขอรื้อสร้างใหม่บ้าง ขอยกศาลาใหม่บ้าง ยกขึ้นเราก็ไม่ให้ยก สร้างก็ไม่ให้สร้าง ขยายใหม่เราก็ไม่ขยาย จึงอยู่อย่างนี้ ... เขาก็อยากจะมาทำใหม่ให้ เราก็ไม่เอา ตีเพดานให้เราก็ไม่ให้ตี นั่น.. นี่มันเหมาะแล้ว พอดีแล้ว โก้หรูไปอะไรเรื่องโลก ๆ ให้โก้หรูอยู่ภายในหัวใจซิ.. ใสสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ภายในใจนั่น ของอัศจรรย์อยู่ตรงนั้นต่างหาก ไม่ได้อยู่กับหิน กับทราย กับอิฐ กับปูน กับเหล็กอะไรนี่ .. ทำพออยู่ได้ พอ ...
ยกศาลา (ใน) ศาลาหลังนี้แต่ก่อนเตี้ย ๆ นะ นี่ยกขึ้นแล้ว เขามาขอสร้างใหม่เราไม่เอา สร้างอะไร ๆ ไม่เอาทั้งนั้น สุดท้ายก็เลยมาขอยกศาลาหลังนี้ขึ้นเป็นสองชั้น ชั้นบนชั้นล่างอยู่มา (เช่นปัจจุบัน) .. แล้วคนก็อยู่ข้างล่าง แล้วแขกคนมาก็ให้นอนข้างบนก็เท่านั้นล่ะ สำหรับวัดป่าบ้านตาดเวลานี้มันก็เลอะเทอะแล้ว มีความจำเป็นตั้งแต่เราช่วยบ้านช่วยเมือง แขกคน พระเณรไปมาทั้งวันทั้งคืน ทีนี้การงานเท่าไรมันก็ทำไปเรื่อย ไอ้เราไม่รู้นะ เขาทำ.. เขาทำของเขาเองเราไม่รู้ สุดท้ายก็เลยเป็นศาลาเดือนเก้าไปเลย ...
=================================================
* พระอาจารย์เส็ง เล่าเป็นข้อมูลบันทึกความจำถึงการก่อสร้างเปลี่ยนแปลงในวัดจะเป็นไปด้วยความจำเป็นและมีเหตุผลเสมอ ซึ่งแต่เดิมศาลาไม้ในวัดป่าบ้านตาดนั้นมีพักชั้นเพียง ๒ ระดับ และส่วนที่เป็นพระประธาน ต่อมาราวปี ๒๕๐๓-๒๕๐๔ เพิ่มพักล่างพื้นไม้รูปตัวยู (U) อีกระดับ รวมเป็น ๓ ระดับจนถึงทุกวันนี้ จากนั้นในปี ๒๕๒๓ ปลวกเริ่มกินเสาไม้เดิมจึงเปลี่ยนเป็นเสาคอนกรีตทั้งหมด ๖๘ ต้น ใช้เวลาดำเนินการเพียง ๓ วัน หลังการปรับปรุงเสาศาลาแล้วเสร็จ ในปี ๒๕๒๔ ก็เปลี่ยนเสาไม้กุฏิองค์หลวงตากับอีก ๒ กุฏิ เป็นเสาคอนกรีตด้วยเช่นกัน ต่อมาในปี ๒๕๓๙ ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น จึงยกศาลาขึ้นเป็น ๒ ชั้น และเทพื้นคอนกรีตชั้นล่าง พระเณรจึงย้ายลงมาฉันจังหันด้านล่างศาลานับแต่นั้นมา
ลัก...ยิ้ม
03-07-2020, 15:11
ศาลาใหญ่ บริเวณหน้าวัด เขามาขอไม่รู้กี่ครั้งกี่หน คราวนี้บริษัทกระทิงแดงกับเสี่ยกิมก่ายยกทัพมาขออีก เราพิจารณาเหตุผลเลยอนุญาตให้สร้างศาลาใหญ่ (สร้างต้นปี ๒๕๔๔) แต่ไม่ให้มีปูชั้นนั้นชั้นนี้ เป็นห้องเป็นหับไม่ให้มี.. ให้โล่งไปหมดเลย เขากะความยาวมา ๕๕ เมตร ความกว้าง ๑๕ เมตร เราพิจารณาเหตุผลเรียบร้อยแล้ว เราก็อนุญาตให้เลย เวลาเราอนุญาตฟาดเสีย ๖๐ เมตร กว้างเสีย ๓๐ เมตร เขายิ่งพอใจใหญ่เลยนะ ขนาดนั้นมันถึงพอคน เพราะสถานที่นั่นเป็นสถานที่จะรวมงาน งานแต่ละครั้งคนจะนั่งได้หมด .. เราเคยคิดเมื่อไรว่าเราจะสร้างอย่างนั้น แต่มันก็เป็นเพราะสิ่งเกี่ยวข้องมันเกี่ยวโยงกันมา การช่วยชาติบ้านเมือง ประชาชนมามากมาน้อยทั่วประเทศไทยก็เข้ามาที่นี่ ผู้เกี่ยวข้องกับบุญ - คุณประโยชน์แก่ชาติ แก่ตัวเองแล้ว ก็ต้องเข้ามาหาสถานที่เป็นที่เคารพนับถือ เป็นที่ตายใจได้ เช่น วัด สถานที่นี้ก็คือวัดป่าบ้านตาด ครั้นเวลามาคนเต็มท้องนา ฝนตกฟ้าลงเปียกปอนงอมแงม ดูแล้วดูเล่า มันจะอดคิดได้ยังไงคนเรา เมื่อก่อนเราตัดขาดสะบั้น ๆ นะ มาสร้างไม่ได้ คิดดูซิ ศาลาหลังนี้ (ศาลาใน) เขาจะมาขอสร้างถึง ๔ หนนะ ดุกันแหลกเลย...
กุฏิในวัด ก็ไปถือกรรมสิทธิ์เหมือนอย่างทางโลก ... นี่ก็ได้ยินตามวัดต่าง ๆ ครูบาอาจารย์ท่านก็เคยพูดด้วยความอิดหนาระอาใจให้ฟัง ก็เป็นผลที่เราคิดไว้แล้วทั้งนั้น ก็ไม่ทราบจะค้านยังไง .. เกี่ยวกับเรื่องประชาชนที่เข้าไปอยู่ในวัด สร้างความไม่สงบขึ้น สร้างความทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น สร้างเรื่องสร้างราวขึ้น ยุ่งไปหมดนะ กุฏิหลังไหนไปสร้างแล้วก็ถือกรรมสิทธิ์ ๆ ใครไปแตะไม่ได้ นั่นฟังซิ .. นิสัยของโลกเอามาใช้ในวัดมันก็ขวางวัดล่ะซิ ไม่ขวางยังไง เพราะวัดไม่ได้เหมือนโลก แต่เอานิสัยโลกมาใช้.. ของใครก็ล็อคกุญแจ เวลาไป.. ติดห้ามไว้ด้วยว่า ‘ไม่ให้ใครมาอยู่ ไม่ให้ใครมาเกี่ยวข้อง’ นั่นฟังซิ มีเท่าไรก็มาเป็นของใคร.. ของเราเป็นเจ้าอำนาจอยู่นั้นหมด
ที่เราไม่ให้ทำก็เพราะคิดเรื่องเหล่านี้ แล้วนี่ทำแล้วเป็นจริง ๆ ถ้าอนุญาตก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เราจึงไม่อนุญาตให้ทำ ใครจะมาขอสร้างขนาดไหนก็ตาม เป็นคนใหญ่คนโตขนาดไหน.. ไม่สำคัญยิ่งกว่าเหตุผลคืออรรถ คือธรรม
‘เอ้า มาอยู่เลย วัดนี้คนเคยมาอยู่กันมากแล้วไม่มีอะไรแหละ ไม่จำเป็นต้องสร้างอะไรแหละ มาอยู่เลย อยู่ได้ เขาคับเราคับ เขาแคบเราแคบ เขาแน่นเราก็แน่น เขาลำบากเราก็ลำบาก ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันแหละ’
กำแพงวัด* นี้จะเป็นประโยชน์กั้นสัตว์พวกแมวนี้ตลอดไป แล้วสัตว์ในวัดนี้ก็จะค่อยงอกเงยขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งคือพวกกระแต ลูกกระต่ายนี้อันตรายมาก ... คลองหน้าวัดนี่ขุดลอกออกแล้ว ทีนี้ขยะมันเต็ม เราทำฝายน้ำล้นนี้.. น้ำจะขึ้นมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องขนขยะออกให้หมด เวลาน้ำมามากจะได้ใสสะอาด วัดได้อาศัยนี่ละ .. อย่าว่าแต่ในวัดเลย ทางบ้านก็มาใช้ได้ สระนั้นใช้ได้ตลอด ... คือเราเห็นความจำเป็นของสัตว์ว่าไม่มีน้ำแถวนี้ ไม่มีเลย ก็เลยให้เขามาขุดสระ สระที่มีอยู่ทุกวันนี้ .. เวลาหน้าแล้งก็ได้อาศัยนั้นกินใช้กัน เราทำไว้เพื่อควาย...”
=============================
* กำแพงรอบวัด สูง ๒.๕ เมตร ยาวตลอดอาณาเขตของวัดทั้งสิ้น ๑,๘๘๐ เมตร สร้างเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ ลักษณะเป็นกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก มีประตูเหล็กโปร่งกว้าง ๔ เมตร อยู่หน้าวัดด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และประตูกว้าง ๒ เมตร อยู่ข้างหลังวัดด้านทิศใต้
ลัก...ยิ้ม
04-07-2020, 14:12
วัดนี้ไม่มีโบสถ์ ไม่มีเมรุ
กลางปี พ.ศ. ๒๕๒๒ องค์ท่านกล่าวกับพระเณร เกี่ยวกับการสร้างโบสถ์ภายในวัดว่า
... มีเจ้าศรัทธาท่านหนึ่ง* จะถวายเงินเพื่อสร้างโบสถ์ทั้งหลัง เรายังไม่อาจรับได้ เคยมีบ้างไหมในประเทศไทยและองค์ไหน ที่มีผู้ถวายเงินสร้างโบสถ์ทั้งหลังแล้วไม่รับ นอกจากขรัวตาวาสนาน้อยนี้เท่านั้นจึงไม่อาจรับได้
ที่ไม่อาจรับได้นั้นก็มีเหตุผลเหมือนกัน .. ความจริงหลักธรรมที่เราเล็งอยู่ ยึดถืออยู่ กราบไหว้บูชา เป็นขวัญใจและเทิดทูนสุดจิตสุดใจอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นสิ่งที่ใหญ่โตมากยิ่งกว่าสิ่งใดในโลกธาตุ
สิ่งเหล่านั้นเราไม่ได้เทิดทูนเหมือนธรรม เพราะเป็นเพียงปัจจัยเครื่องอาศัยไปเป็นวัน ๆ เท่านั้น ส่วนธรรมเป็นเรื่องใหญ่โตมากที่ต้องรักสงวน
เรื่องการสร้างโบสถ์สำหรับวัดนี้ยังไม่มีความจำเป็น สิ่งใดที่จำเป็นก็ทำสิ่งนั้น เช่น จิตภาวนาเป็นงานจำเป็นอย่างยิ่ง การทำอุโบสถสังฆกรรมทำที่ไหนก็ได้.. ตามร่มไม้ชายเขาที่ไหนก็ได้ ไม่ขัดข้องอะไร ตามหลักพระวินัยจริง ๆ แล้ว ไม่มีอะไรขัดข้อง การสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ควรให้เป็นที่เป็นฐานที่เหมาะที่ควร ไม่ใช่จะสร้างดะไปหมด
การสร้างโบสถ์หลังหนึ่งเป็นยังไง นับตั้งแต่เริ่มแรกตกลงกับช่างในการสร้างโบสถ์เป็นยังไง ถนนหนทางเข้าไปในวัดจนถึงบริเวณที่จะสร้างโบสถ์จะต้องเปิดโล่ง ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งถึงวันสร้างโบสถ์สำเร็จ.. ต้องบุกเบิกไปหมดยิ่งกว่าโรงงาน คนงานก็ต้องมีทั้งหญิงทั้งชายจำนวนมากมาย ที่จะเข้ามานอนกองกันอยู่นี้ ทั้งช่างทั้งคนงานไม่ทราบมาจากแห่งหนตำบลใด
บางรายหรือส่วนมากก็ไม่เคยรู้เลยว่าศาสนาเป็นอย่างไร พระเณรในวัดท่านปฏิบัติอย่างไร แล้วเขาจะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย พอเป็นความสงบ งามตา แก่พระเณรในวัดได้ยังไง มันต้องเหมือนกับเอายักษ์ เอาเปรต เอาผี เข้ามาทำลายวัดนั่นเอง
ในขณะที่เปิดโอกาสตกลงกันเรียบร้อยแล้วนั้นน่ะ ไม่ว่าผู้คนหญิงชาย รถราต่าง ๆ ต้องเข้าต้องออกกันตลอดเวลา ประตูวัดปิดไม่ได้เลย และสถานที่ที่จะสร้างโบสถ์ขึ้นมาให้เป็นของสง่างามแก่วัด แก่พระสงฆ์ในวัด แต่พระเณรกลับตายกันหมดจากจิตภาวนา จากมรรคผลนิพพาน ที่ควรจะได้จะถึงจากสมณธรรม... คือ จิตภาวนา แล้วจะเอาอะไรมาเป็นความสง่างามอร่ามตา
ลองพิจารณาดูซิ นี่เราคิดอย่างนั้น และพูดอย่างนี้นะ จะเป็นความคิดผิด พูดผิด หรือถูกประการใดบ้าง ? ...
สิ่งก่อสร้างอีกอย่างหนึ่ง หากไม่มีความจำเป็นจริง ๆ องค์หลวงตาไม่ส่งเสริมให้สร้างขึ้นในวัด คือ เมรุ ซึ่งท่านให้เหตุผลไว้ ดังนี้
... สักกาโร ปุริสัง หันติ มันฆ่าคน ใครได้มาก็นับห้านับสิบละซิ ได้มานับเท่านั้นนับเท่านี้ สุดท้ายนับแต่เงิน ไม่ได้นับธรรมละซิ ไม่ได้หาธรรม ยิ่งมีเมรุวัดไหนด้วยแล้วนั่นละ วัดนั้นล่ะ.. เป็นวัดแหลกเหลวหมดเลย ไม่มีชิ้นดีแหละ พูดได้เต็มปาก.. นับแต่เงินทั้งนั้น วันยังค่ำ.. คืนยันรุ่งจะเป็นอะไรไป นับอรรถนับธรรมที่ไหน.. พูดให้เต็มปาก โลกมันเต็มเปาจะว่าไง ไม่ให้พูดเต็มปากได้เหรอ มีใครจะมานิมนต์ให้ไปฉันที่ไหน.. เราไม่ให้ไป วัดนี้ไม่ให้ไปเราตัดไว้หมดเลย เพื่อให้พระได้บำเพ็ญภาวนา เมื่อได้คุณงามความดีแล้ว.. พระกับโยมแยกกันไม่ออก โลกกับธรรมแยกกันไม่ออก
พระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวช.. ใครติดตามพระองค์ เวลาเป็นศาสดาเอกของโลก.. ใครทำประโยชน์ให้แก่โลกได้มากยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าไม่มี นั่นฟังซิ แยกกันออกไหมล่ะ ...
===============================
* เป็นบุคคลสำคัญระดับประเทศ
ลัก...ยิ้ม
04-07-2020, 23:06
เครื่องใช้ไม้สอยตามเหตุผล
องค์ท่านแสดงธรรมกล่าวให้เห็นถึงหลักปฏิบัติของวัด และเครื่องใช้ไม้สอยภายในวัดอันเหมาะสมแก่บรรพชิต ดังนี้
“... เก้าอี้ เราก็ไม่ให้มี .. ให้ระวังนะ มีพระพุทธรูปใหญ่อยู่ที่ไหน หามายุ่งยากนัก คนนั้นก็ถวายพระพุทธรูป คนนี้ถวายพระพุทธรูป.. เลยเกลื่อน พระก็เกรงใจจะว่าไง.. รับไว้ ๆ เลยเกลื่อนตั้งแต่เศษเหล็กเศษทอง หัวใจคนไม่ได้เป็นทอง ทำอย่างสบาย ๆ คิดอย่างง่าย ๆ คิดแล้วไปซื้อพระพุทธรูป เขาขายแล้วเอามาให้พระแบกหาม.. พระพุทธรูปเต็ม (ไปหมด) อย่าทำนะสำนักเรา.. ให้เป็นขึ้นมาที่นี่นะ พระพุทธรูปเป็นเครื่องหมายแห่งการเคารพบูชา แต่ความเอาจริงเอาจังแล้ว จะน้อมเข้ามาสู่จิตใจปฏิบัติสำรวมระวังใจเจ้าของ...
เขาจะถวายรถยนต์ เอามาทำไมรถเต็มแผ่นดิน จะขึ้นคันไหน ลูกศิษย์คนไหนเขาพร้อมเสมอ อยากให้ขึ้นรถเขา เรามีเหตุมีผลทุกอย่างที่ห้ามอะไร พระหามาอะไร หารถ..ไม่ใช่ฆราวาสนี่... อันนี้เป็นเรื่องของโลกเขาใช้กัน พระเป็นเพียงอาศัยความสะดวกไปกับเขาเท่านั้น จะมาเป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นตัวของตัว เป็นเจ้าของรถของราขึ้นมา มันก็เหมือนโลกเขาน่ะซิ..
ไฟฟ้า เขาจะเอาเข้ามา.. เราก็ห้ามมานานแล้ว นี่ถ้าเอาไฟเข้ามา ลองดูซิ สิ่งที่แอบแฝงเข้ามา ที่จะตามเข้ามาให้วัดเสีย มาฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมกันเต็มวัดวา เลอะ ๆ เทอะ ๆ ไปหมด ไม่ทราบว่าวิทยุ โทรทัศน์ ตู้เย็น จะแอบตามกันมา...
โทรศัพท์ ก็จะมาติดขึ้นอีก.. มาขอ ๒ ครั้งแล้วนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดมาติดต่อเรา จะขอตั้งโทรศัพท์ที่วัด เพื่อการติดต่อสะดวก.. นี่เราก็ไม่เอา เพราะผลประโยชน์ที่จะได้มีเพียงนิดเดียว ผลเสียที่ตามมานี้มากต่อมาก.. พรรณนาไม่จบไม่สิ้นเลย
สมควรแล้วเหรอ จะเอาช้างแลกแมว มันจะกริ๊งกร๊าง ๆ ทั้งวันทั้งคืน.. ไม่มีเวลาเลย ทางไหนก็โทรมา ผู้รับสายหนีไปไหนไม่ได้แหละ...
วันหนึ่ง ๆ จะเข้ามาเท่าไร แม้แต่มาจังหัน มาวัดมาวาก็โทรเข้ามา... อย่าว่าแต่ข้างนอกจะโทรเข้ามาเลย ข้างในนี้ก็เป็นบ้าไปเลยแหละ .. โทรแหลก นั่น..ฟังซิ
เราก็ให้เหตุผลกับผู้ว่าฯ ไป ก็อุดรฯ กับวัดนี้ไม่เห็นไกลกัน มีเหตุผลอะไร มีความจำเป็นอะไร รถวิ่งไปหาครู่เดียวก็ได้ ... ความมีโทรศัพท์เป็นความเสียหายมากมาย แล้วพระเณรจะคึกคะนองขึ้นอีก เราว่ายังงี้เลย จึงไม่ยอมให้ตั้ง
‘ทุกสิ่งทุกอย่าง เราคิดด้วยเหตุผลทั้งนั้น ไม่ว่าจะอนุญาต ไม่ว่าจะห้าม .. เอ้า ! ให้ค้านมา ว่างั้นเลย ถ้าเหนือนี้เรายอมรับ.. ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าไม่เหนือแล้ว เราไม่ทำนะ .. ไม่ใช่เรามีทิฐิมานะไม่ให้ทำนะ เราต้องการเหตุผลนี่ รักษาศาสนาก็ต้องรักษาด้วยเหตุด้วยผล อะไรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับวัดกับวา ศาสนา พระเณร ก็ต้องมีเหตุผลซิ ทำแบบสุ่มเดาได้เหรอ’...”
ลัก...ยิ้ม
05-07-2020, 11:24
ข้อวัตรปฏิบัติวัดป่าบ้านตาด
วัดป่าบ้านตาด ตั้งอยู่ ณ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บนพื้นที่กำแพงล้อมรอบ ๑๖๕ ไร่ ๑๕ ตารางวา (พื้นที่ใหม่ ๓๑๗ ไร่) ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ รอบ ๆ เป็นที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำดี ทำนาได้ผลดีกว่าที่อื่น สภาพภายในเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอันสงบเรียบง่าย
ด้วยเหตุที่มีกำแพงล้อมรอบบริเวณอย่างมิดชิด จึงรักษาต้นไม้และสัตว์ป่าให้รอดพ้นจากการทำลาย หรือการลักลอบเข้ามาฆ่าสัตว์ในบริเวณได้ บรรยากาศในเขตอภัยทานแห่งนี้ จึงร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่นานาพันธุ์ และเป็นที่พึ่งพิงอันอบอุ่น และปลอดภัยแก่สัตว์น้อยใหญ่หลากชนิด อาทิ ไก่ป่า กระรอก กระแต แย้ นก ฯลฯ ที่นั้นคือ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อก้าวย่างเข้าสู่บริเวณวัด จะสัมผัสกับความร่มรื่นชุ่มตาเย็นใจกับธรรมชาติของป่า ได้ยินเสียงของแมลงมีปีกหมู่ใหญ่ร้องเสียงก้องกังวานสนั่นไพรในบางฤดูกาล ปะปนด้วยเสียงขันของไก่ป่าซึ่งออกเที่ยวหากินอย่างแข็งขัน.. ชนิดไม่มีวันหยุดงานเหมือนมนุษย์เรา
ครั้นเดินต่ออีกประมาณ ๕๐ เมตร จะพบศาลาการเปรียญอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นศาลาไม้เนื้อแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังใหญ่ และมีเพียงหลังเดียวในวัดนี้ เดิมทีเป็นศาลาชั้นเดียวยกพื้นเตี้ย แต่ภายหลังถูกยกให้สูงขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
ด้านบนศาลานั้น เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เป็นพระประธานของวัด ชั้นต่างระดับที่ใช้สำหรับตั้งพระพุทธรูป บนชั้นมีรูปถ่ายของครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ดังนี้
หลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง หลวงปู่ฝั้น วัดป่าอุดมสมพร ท่านพ่อลี วัดอโศการาม ด้านหลังพระพุทธรูป บนฝาผนังมีรูปถ่ายของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นอยู่ด้านขวา สำหรับด้านซ้ายของพระพุทธรูป มีพระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)
ตู้ด้านขวาของพระพุทธรูปนั้น เป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของหลวงปู่มั่น รวมทั้งอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ
องค์หลวงตาใช้สถานที่ชั้นบนของศาลาแห่งนี้ แสดงธรรมแก่พระภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนเป็นที่ประชุมทำสังฆกรรมร่วมกัน เช่น ลงอุโบสถ อธิษฐานเข้าพรรษา สวดปวารณาและกรานกฐิน เป็นต้น
ด้านล่างศาลานั้นใช้เป็นที่สำหรับฉันจังหัน นอกจากนั้นองค์หลวงตายังใช้เป็นที่แสดงพระธรรมเทศนา และปฏิสันถารกับศรัทธาฆราวาสญาติโยม ที่มาจากทุกสารทิศอย่างไม่ขาดสายไม่เว้นแต่ละวัน
ลัก...ยิ้ม
05-07-2020, 12:55
ประกาศที่นี้เป็นวัด
ป้ายที่เขียนไว้ว่า “ที่นี้เป็นวัด เป็นสถานที่ภาวนาเพื่อความสงบใจ ไม่มีกิจจำเป็น.. ไม่ควรมาเพ่นพ่าน” เพื่อให้มาวัดแล้วมีความสำรวมระวังใจ เฉพาะอย่างยิ่งมาดูวัดป่าบ้านตาดว่าเป็นอย่างไร ท่านดำเนินอย่างไร พระมีหลักมีเกณฑ์ มีธรรมวินัย มีความพ้นทุกข์เป็นจุดหมายปลายทาง เหมือนพวกระเกะระกะไหม มาไม่มีหลักมีเกณฑ์ในใจเลย หัวใจที่สว่างจ้ากับจมอยู่ในมูตรในคูถ คือกิเลสตัณหาทั้งหลายนี้ มันดูกันไม่ได้.. ต่างกันราวฟ้ากับดิน ภาษาธรรม เราอยู่กับธรรม.. พระปฏิบัติท่านมีสติสตัง.. มันรำคาญหนักเข้าเลยติดประกาศไว้
ป้ายประกาศธรรมออกให้รู้กันเสียบ้าง ธรรมพระพุทธเจ้า ธรรมพระอรหันต์เป็นยอดธรรมทั้งนั้น
ลัก...ยิ้ม
05-07-2020, 13:05
กุฏิที่พักของพระเณร
ที่พักของพระภิกษุสามเณรแต่ละรูป เป็นร้านเรียบง่ายคล้ายกระต๊อบเล็ก ๆ พอแก่การบังแดดฝนหรือลม และเพื่อป้องกันการรบกวนจากสัตว์เลื้อยคลาน หรือกันความชื้นจากพื้นดินและอื่น ๆ จึงยกร้านให้สูงขึ้นจากพื้นประมาณ ๑-๑.๕๐ เมตร
ร้านมีขนาดเพียงพอสำหรับนอนคนเดียว มีหลังคาสังกะสี ผนังทั้ง ๔ ด้านใช้ผ้าแป้งดิบ หรือจีวรเก่า ๆ ซึ่งแทนฝาเพื่อกันลมกันฝน และใช้มุ้งกลดกันยุง ภายในใช้เก็บบริขารที่จำเป็นของพระภิกษุสามเณร เช่น บาตร กลด ไตรจีวร เสื่อ ผ้าห่ม ตะเกียง เทียนไข หนังสือธรรมะและของใช้ที่จำเป็นอื่น ๆ
ด้านหัวนอนจะมีพระพุทธรูปหรือรูปครูบาอาจารย์ติดไว้ เพื่อกราบไหว้บูชาเป็นอนุสติ และเป็นกำลังใจในการบำเพ็ญภาวนา รอบ ๆ ร้านมีบริเวณพอเหมาะ.. ไม่กว้างจนเกินไป
ทุก ๆ ร้านมีทางเดินจงกรมอย่างน้อย ๑ สายอยู่ใกล้บริเวณ และมักทำไว้ใต้ร่มไม้ใหญ่ ทางจงกรมมีขนาดกว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๒๕-๓๐ ก้าวเดินปกติ ในยามค่ำคืนขณะเดินจงกรมจะใช้โคมเทียนจุดสว่างพอมองเห็นทาง ร้านเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วบริเวณภายในวัดทั้งในเขตกำแพงชั้นในและกำแพงชั้นนอก แต่ละร้านจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพื่อให้มองไม่เห็นกัน
ทางที่จะเข้าไปถึงร้านเป็นทางแคบคดเคี้ยวเลี้ยวลด ซึ่งทำให้มองเห็นร้านได้ยาก พระเณรที่เข้าพักในร้าน จึงเหมือนเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่งท่ามกลางป่าลึกเพียงองค์เดียว อันเป็นโลกแห่งความสงบร่มเย็น ไกลจากเสียงรบกวนใด ๆ ทั้งปวง จึงสัปปายะ สะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรม
สำหรับกุฏิที่มีฝาผนังทำด้วยไม้ถาวร มีประมาณ ๑๐ กว่าหลัง โดยมากเป็นกุฏิของพระเถระ ภิกษุสูงอายุ หรือกุฏิรวมของฆราวาสที่มาพักภาวนาชั่วคราวช่วงสั้น ๆ ซึ่งมีแนวเขตจัดแยกออกจากกัน ระหว่างพระภิกษุสามเณร ฆราวาสชายและหญิงอย่างเป็นระเบียบ
ลัก...ยิ้ม
06-07-2020, 13:13
กิจวัตรประจำวันพระเณร
กิจวัตรหลักประจำวันของพระเณร ก็คือการนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม เพื่อฝึกฝนสติปัญญา และชำระกิเลส..ตัวร้อนรุ่มกระวนกระวายอยู่ภายในจิตใจให้เหือดแห้งไป ดังนั้น โดยปกติพระภิกษุสามเณรในวัดจึงไม่รับกิจนิมนต์ไปฉันในที่ใด ๆ นอกวัด เพื่อให้มีเวลาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยการบำเพ็ญเพียรภาวนาแต่เพียงอย่างเดียว
ในยามเช้า พระภิกษุผู้มีหน้าที่จะจัดอาสนะองค์หลวงตาอย่างละเอียดประณีตด้วยความเคารพบูชายิ่ง
ช่วงเช้ามืดก่อนบิณฑบาต จะเป็นการเตรียมสถานที่สำหรับฉันจังหัน โดยทั้งพระและเณรต่างช่วยกันทำความสะอาด จัดอาสนะ กระโถน ขัดถูพื้นศาลาด้วยกาบมะพร้าว ปัดกวาดศาลา และบริเวณรอบ ๆ อย่างสามัคคีพร้อมเพรียง
งานการทุกสิ่งทุกอย่าง ท่านจะพยายามทำอย่างขันแข็ง มีสติ และเป็นระเบียบเรียบร้อยตามที่ครูบาอาจารย์สอนเน้นอยู่เสมอตลอดมา
พอได้อรุณ วันใดที่ท้องฟ้าดูเป็นปกติ ไม่มีวี่แววฝนจะตก ท่านจะครองจีวรซ้อนสังฆาฏิ แล้วออกบิณฑบาตโดยพร้อมเพรียงกัน เดินมุ่งหน้าไปทางหมู่บ้านตาด ระยะทางไปกลับประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร ขากลับแวะรับบาตรจากญาติโยม ที่มาจากในเมืองและต่างจังหวัดบริเวณหน้าวัดอีกครั้งหนึ่ง
เส้นทางเดินบิณฑบาตแต่อดีตมี ๒ สาย พระสายแรก ประกอบด้วยพระหนุ่มมีกำลังขาแข็งแรง ต้องเดินออกกำลังไปไกลพอสมควรประมาณ ๒.๕ กม. ส่วนพระสายที่สอง จะออกเดินห่างจากสายที่ ๑ ประมาณ ๕-๑๐ นาที (ในช่วงที่องค์หลวงตาอายุกว่า ๗๐ ปี ท่านก็ยังคงเดินบิณฑบาตเข้าหมู่บ้าน โดยจะขึ้นไปดัดตนบนศาลาก่อนออกบิณฑบาตประมาณ ๑๕ นาที จากนั้นจะเดินตามหลังพระที่ออกบิณฑบาตไปก่อนทั้งสองสาย โดยทั้งสองสายจะไปหยุดรอที่ กม. ๑ เพื่อจัดขบวนแล้วให้องค์หลวงตานำเดินไปหมู่บ้านตาดเป็นอุตราวัฏ)
ผู้ที่มาใส่บาตรก็เรียงรายอยู่หน้าบ้านของตน ทุกคนไม่ว่าผู้ใหญ่ เด็ก พากันพนมมือนบไหว้เมื่อแถวพระผ่านมา ปัจจุบันมีสายบิณฑบาตเพิ่มอีกหนึ่งสาย ระยะทางใกล้กว่าสายที่ ๒ ไม่มากนัก
เมื่อองค์หลวงตาชราภาพมากขึ้น ท่านก็บิณฑบาตย่นเข้า ๆ ให้พอเหมาะกับกำลังธาตุขันธ์ที่อ่อนลง ระยะต่อมาก็เมตตาบิณฑบาตบริเวณหน้าวัดเท่านั้น องค์ท่านฝึกธาตุขันธ์โปรดญาติโยมเช่นนี้อยู่หลายปี.. ทั้ง ๆ ที่ต้องรับและเทบาตรสลับไปสลับมาจำนวนมากเป็นร้อย ๆ บาตรทีเดียว และในที่สุด วันหนึ่งองค์ท่านก็ล้มลงขณะบิณฑบาตนั่นเอง
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ องค์หลวงตาออกบิณฑบาตภายในสวนแสงธรรมตามปกติ ต่อมาเนื่องจากผู้คนหลั่งไหลมาทำบุญใส่บาตรเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่านต้องถ่ายบาตรเป็นร้อยถึงสองร้อยกว่าครั้งต่อวัน การก้มและเงยศีรษะบ่อย ๆ ทำให้เวียนศีรษะ (ระยะนั้นองค์ท่านอายุ ๘๔ ปีแล้ว) ในเมื่อธาตุขันธ์ไม่อำนวย องค์หลวงตาจึงงดการบิณฑบาต และให้พระอุปัฏฐากนำบาตรขององค์หลวงตาออกรับบาตรแทน โดยในช่วงเวลาเดียวกันนี้องค์ท่านจะไปเดินจงกรม ท่านกล่าวว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
เมื่อเสร็จจากบิณฑบาต พระเณรและฆราวาสต่างช่วยกันจัดอาหารหวานคาวเป็นหมวดหมู่ใส่ถาดไว้ เพื่อให้ญาติโยมทั้งที่มาพักปฏิบัติธรรม และที่มาทำบุญตอนเช้าได้รับประทานหลังพระฉันเสร็จแล้ว
เมื่อพระเณรจัดอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว องค์หลวงตาจะอนุโมทนาให้พร จากนั้นพระเณรท่านจะพิจารณาอาหารในบาตรก่อนด้วย ปฏิสังขาโย นิโสฯ เสร็จแล้วฉันในบาตรด้วยอาการสำรวม เงียบกริบ เหมือนไม่มีใครรับประทานอาหารอยู่ในบริเวณนั้น
เสร็จการฉันเช้าแล้ว ผู้มาทำบุญเช้าพร้อมใจกันฟังเทศน์จากองค์หลวงตา หลังฟังเทศน์เสร็จญาติโยมพากันกลับ
สำหรับพระเณรต่างองค์ต่างกลับร้านที่พักปฏิบัติธรรม มีการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาตลอดวัน อาจมีการพักผ่อนบ้างแล้วความอุตสาหะพยายามของแต่ละองค์
ช่วงเวลาบ่าย เป็นเวลาที่พระมารวมกันฉันน้ำร้อนหรือน้ำปานะ.. ที่โรงไฟหรือโรงต้มน้ำร้อนแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ สัก ๑๕-๓๐ นาที อันเป็นการพักเหนื่อยจากการภาวนา เสร็จจากนี้ก็แยกย้ายเข้าที่ภาวนาต่อ จนถึงในช่วงประมาณบ่าย ๓ โมง พระเณรพร้อมเพรียงกันออกมาทำข้อวัตร ปัดกวาดร้าน และบริเวณทางเดินตลอดถึงรอบศาลา จากนั้นขัดถูทำความสะอาดพื้นศาลา เติมน้ำล้างเท้าบริเวณรอบศาลา และในห้องน้ำ ห้องส้วมให้เต็ม
ช่วงเวลาค่ำ เป็นช่วงเวลาที่พระเณรเข้าที่เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ไหว้พระสวดมนต์ ตามอัธยาศัยเฉพาะตน ส่วนในระยะที่องค์หลวงตามีธาตุขันธ์แข็งแรงอยู่นั้น ท่านจะเรียกประชุมเทศนาอบรมพระสัปดาห์ละครั้งโดยประมาณ ต่อมาระยะหลังเมื่อชราภาพมากขึ้นก็เว้นการประชุมพระห่างออกไปเรื่อย จนกระทั่งงดโดยสิ้นเชิงในปี ๒๕๓๙ เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เฉพาะในวันเข้าพรรษาและวันกฐินเท่านั้น ที่ท่านยังคงเมตตาแสดงธรรมอบรมพระในช่วงเวลา ๑๕ ปีสุดท้าย..ก่อนจะละขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน
vBulletin® v3.8.11, Copyright ©2000-2025, vBulletin Solutions Inc.