|
ซัวสะเดย..เนียงลออ ซัวสะเดย..เนียงลออ โดยพระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#1
|
||||
|
||||
ซัวสะเดย..เนียงลออ ตอนที่ ๖
เผลอเมื่อไรจะคิดว่าอยู่ในป่าธรรมชาติ เมื่อพักผ่อนกันพอสมควรแล้ว คุณแสงก็พาเดินไปทางขวามือ อ้อมหลบก้อนหินที่เกะกะไปหมดออกไปทางซุ้มประตูบานหนึ่งของกำแพง ทะลุออกมายังป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นสูงสล้าง ถ้าไม่ใช่ยังมีก้อนหินอยู่เต็มไปหมด ก็ต้องคิดว่าเป็นป่าธรรมชาติไปแล้ว... เดินไปตามทางเลือน ๆ ในป่าได้ไม่ไกล ทางขวามือก็มีโรงเรือนที่มุงหลังคาหญ้าแฝก ล้อมด้วยผ้าใบลายทาง มัคคุเทศก์บอกว่าเป็นโรงตัดหิน เมื่อต้องการซ่อมแซมปราสาทแห่งใด ก็จะเอาหินที่กองเกะกะอยู่ทั้งป่านั่นแหละ หาขนาดที่ใกล้เคียงที่สุด มาตัดแต่งแล้วเอาไปซ่อมแซม หรือไม่ก็หาของใหม่มาตัดแต่งให้ได้ขนาด แล้วเอาไปซ่อมในจุดที่ไม่สำคัญ เช่น พื้นทางเดิน เป็นต้น... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 25-08-2014 เมื่อ 01:40 |
สมาชิก 140 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
ข้ามทางลูกรังไปก็เป็นปราสาทหินขนาดมหึมาอีกหลังหนึ่ง ด้านหน้าโรงตัดแต่งหินเป็นทางลูกรังสำหรับรถยนต์ พอพ้นป่าออกมา คุณแสงก็พาเดินข้ามทางรถยนต์ ตรงไปยังตัวปราสาทหินขนาดมหึมาอีกหลังหนึ่ง ซึ่งมียอดปรางค์ที่สมบูรณ์อยู่มากมาย บนยอดปรางค์แต่ละแห่งนั้น มีพรหมพักตร์ขนาดมหึมาอยู่ทุกยอด... “นี่คือปราสาทบายอน (Bayon) เป็นปราสาทหินในพระพุทธศาสนา มีขนาดกว้าง ๑๔๐ เมตร ยาว ๑๖๐ เมตร มีศิลปะการก่อสร้างที่แปลกกว่าทุกแห่ง เพราะด้านบนของยอดปรางค์ แกะสลักเป็นพระพักตร์ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนามหายานที่ว่า พระโพธิสัตว์องค์นี้จะคอยตรวจตราดูสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพื่อช่วยเหลือให้พ้นจากห้วงทุกข์... ตัวปราสาทโดยรอบแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น ประกอบด้วยระเบียงคดชั้นนอก ระเบียงคดชั้นใน ช่วงบนสุดเป็นชั้นของปรางค์ประธาน ยอดปรางค์มีทั้งหมด ๕๔ ยอด แต่พังไปเหลือเพียง ๔๙ ยอด จึงมีพระพักตร์เหลือแค่ ๑๙๖ พระพักตร์ ปรางค์หลักองค์กลางมีความสูงถึง ๔๓ เมตร..” มัคคุเทศก์อรรถาธิบาย... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-06-2014 เมื่อ 08:29 |
สมาชิก 137 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ใครว่าเป็นพระพักตร์ของจอมคนแห่งกัมโพชแปลว่าเดาเอาล้วน ๆ เชื่อกันว่าพระพักตร์บนยอดปรางค์นั้น ความจริงเป็นพระพักตร์ของพระองค์ท่าน เป็นความจริงหรือไม่ ? อาตมาถาม จอมคนแห่งกัมโพชแย้มสรวล ก็ยืนอยู่ใกล้ถึงเพียงนี้ เหตุไฉนท่านจึงไม่เปรียบเทียบเอาเองเล่า ? อือม์..ก็มีส่วนคล้ายอยู่นะ แต่พระพักตร์ของจอมคนแห่งกัมโพช เป็นรูปไข่มากกว่า ส่วนพระพักตร์บนยอดปรางค์ออกไปแนว คนหน้าเหลี่ยม แต่อาจเป็นเพราะว่าทรงเครื่องศิราภรณ์เข้าไป เครื่องทรงจึงทำให้พระพักตร์ออกไปทางสี่เหลี่ยมก็ไม่รู้ ? |
สมาชิก 135 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
๔ พักตร์แทนอะไร ? พรหมวิหาร ๔ ? อริยสัจ ๔ ? “แล้วพระองค์ท่านตั้งพระทัยว่า จะสร้างเป็นพระพักตร์ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์จริง ๆ หรือ ?” อดีตมหาราชผู้ยิ่งใหญ่สรวล หึ..หึ..อีกแล้ว ได้ยินทีไรเหมือนกำลังจะเสียค่าโง่ทุกที “เอาเป็นว่าใช่ก็แล้วกัน ส่วนใครจะตีความไปถึง มหาทวีปทั้ง ๔ พรหมวิหาร ๔ อริยสัจ ๔ หรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่ปัญญาของแต่ละบุคคล..” นั่นแน่..มีมหาทวีปทั้ง ๔ ด้วย แสดงว่าเล็งจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่เหมือนกันนี่นา คราวนี้ทรงสรวลดังยิ่งกว่าเดิม “ใครเล่าจักไม่หวังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แม้แต่ท่านเองก็เถอะ แต่นั่นเป็นความปรารถนาในครั้งกระโน้นที่คล้ายคลึงกับท่าน ในปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าหาได้มีความต้องการเช่นนั้นไม่..” ตูก็ไม่เอาแล้วเหมือนกัน เป็นขี้ข้าคนทั้งโลก เหนื่อยตายห่..กันพอดี..! แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วสันต์วิษุวัต : 20-06-2014 เมื่อ 15:21 |
สมาชิก 135 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
"มหาราช" กับ "ทรราช" ต่างกันแค่แนวความคิดเพียงนิดเดียว พวกเราดูความยิ่งใหญ่อลังการของตัวปราสาท ซึ่งก็คือวัดในพระพุทธศาสนานั่นเอง ด้วยความรู้สึกกึ่งชื่นชมกึ่งพรั่นพรึง พระพักตร์มหึมา บ้างเคร่งขรึม บ้างเมตตา ทอดสายพระเนตรลงมา คงเห็นมวลมนุษย์ประหนึ่งผงธุลี ถ้าไร้ซึ่งพรหมวิหาร ๔ แล้วไซร้ ก็คงไม่ต่างกับมดปลวกที่จะบดขยี้ทิ้งเสียเมื่อไรก็ได้..! จินตนาการไปถึงการรบทัพจับศึก บัญชาการให้คนเป็นหมื่นเป็นแสนไปตายเพื่อตนเองได้ ลักษณะเช่นนั้นก็เป็นการเห็นชีวิตผู้อื่นไร้ค่าเช่นกัน ไหนจะระดมคนนับหมื่นนับแสน มาสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตมหึมาเช่นนี้ ผู้คนต้องลำบากล้มตายไปตั้งเท่าไร สิ้นเปลืองทรัพยากรของชาติไปเท่าไร ถ้าแนวความคิดเบี่ยงเบนเพียงนิดเดียว จาก “มหาราช” ก็จะกลายเป็น “ทรราช” ไปทันที..! เป็นเพราะเห็นภัยในวัฏสงสารเช่นนี้เอง มหาราชแห่งกัมโพชจึงละวาง “ศาสตราวุธ” หันมาใช้ “ธรรมาวุธ” ในการปกครองแทน ส่งเสริมให้ประชาชนหันเข้าหากองบุญการกุศล ประดุจพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งปาฏลีบุตร ที่ละเลิก “ยุทธวิชัย” หันมาใช้ “ธรรมวิชัย” นั่นเอง... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 20-06-2014 เมื่อ 13:40 |
สมาชิก 138 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
ใครไม่ได้ "ครูดหิน" ก็ถ่ายรูปไป..! ขนาดนี้คนรุ่นหลังบางคน ยังกล่าวหาว่าข้าพเจ้าเอาเงินทองมาทุ่มเทในการสร้างวัดวาอาราม จนประเทศชาติล่มจมเลย ตรัสเหมือนกับจะพ้อ แต่เห็นพระเนตรพราวไปด้วยแววสรวล อาตมาก็เข้าใจทันทีว่าเป็นการล้อเล่นเท่านั้น... การนินทากาเลเหมือนเทแกลบ ไม่เจ็บแสบดังเอาตูดไปครูดหิน แม้องค์พระปฏิมายังราคิน คนเดินดินหรือจะพ้นคนนินทา.. เห็นจอมคนท่านเล่นอาตมาก็เล่นบ้าง แต่การแปลงกลอนโบราณมาเป็นปัจจุบัน เล่นเอาพระองค์ท่าน ทำหน้า เหมือนกำลังไปครูดหินเสียเอง ฮ่า..! เห็นว่าแดดกำลังดี อาตมาจึงเรียกพี่มุกดา แม่ป๋อมกับน้องเล็กที่อยู่ใกล้ ๆ มาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ส่วนลูกปุ๊กขอรูปเดี่ยว โดยเอนตัวนั่งหมิ่น ๆ บนพญานาคที่เป็นระเบียง ทำเอาคุณแสงสะดุ้งเฮือก รีบบอกว่าห้ามนั่งเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นมัคคุเทศก์อย่างเขาอาจจะถูกยึดใบอนุญาตได้ จึงต้องยืนขึ้นแต่โดยดี แล้วผลัดให้แม่ป๋อมถ่ายรูปเดี่ยวของอาตมาบ้าง ส่วนพี่วิไล ป้ามอย คุณอารีกับคุณปัญญา เดินหายเข้าไปภายในตัวปราสาทกันหมดแล้ว... |
สมาชิก 128 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
เข้าไปใหม่ ๆ แทบจะมองอะไรไม่เห็น เมื่อตามเข้าไปในพระปรางค์องค์แรก ซึ่งนับจากทางด้านหลังตัวปราสาทที่พวกเราขึ้นมา ภายในมืดจนแทบจะมองอะไรไม่เห็น ยังดีที่ป้ามอยล้วงไฟฉายขนาดเล็กที่พกติดตัวมาด้วย เปิดส่องให้เห็นพระพุทธรูปปางสมาธิซึ่งแกะจากหิน ประทับอยู่บนฐานเตี้ย ๆ มีสัปทนสีทองกางกั้นอยู่อันหนึ่ง กับเครื่องบูชาพวกดอกไม้บายศรี ที่ตั้งไว้ระเกะระกะไปหมด... คุณปัญญาล้วงเอาไฟแช็กออกมา จุดเทียนในถ้วยดินเผาที่ตั้งอยู่ตรงหน้าพระพุทธรูป จึงเห็นว่ามีโยมผู้หญิงนั่งดูแลสถานที่อยู่คนหนึ่ง เธอหยิบเอาธูปกำใหญ่มาจุดส่งให้พวกเราทุกคนได้ไหว้พระ เมื่อปักธูปแล้ว อาตมาวางเงิน ๑,๐๐๐ เรียลลงในพานเล็กด้านหน้าพระพุทธรูป เพื่อร่วมบุญในการบูรณปฏิสังขรณ์ วัด แห่งนี้ จอมคนแห่งกัมโพชยกพระหัตถ์สาธุ... |
สมาชิก 131 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
เขาถ่ายรูปกันอย่างนี้ จากนั้นคุณแสงพาเดินทะลุออกไปด้านหลังพระปรางค์ ชี้ไปทางมุมซ้ายมือซึ่งเป็นช่องว่างระหว่างพระปรางค์ที่ไม่กว้างนัก บอกว่าเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกันมาก เพราะเมื่อยืนในมุมนี้แล้ว จะเหมือนกับยืนเอาจมูกชนกับนาสิกของพรหมพักตร์บนยอดพระปรางค์พอดี... อาตมาหันไปหา “มัคคุเทศก์เถื่อน” เพื่อจะถามว่าควรทำเช่นนั้นหรือไม่ ? ลูกปุ๊กก็รี่เข้าไปยืนให้แม่ป๋อมถ่ายรูปเสียก่อน ตามไปด้วยพี่มุกดาอีกคน จอมคนแห่งกัมโพชสรวลแบบไม่ถือสา อาตมาจึงให้น้องเล็กเข้าไปยืนถ่ายรูปมุมนี้บ้าง... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-06-2014 เมื่อ 10:21 |
สมาชิก 125 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#9
|
||||
|
||||
"ยายแฉ่ง" เธอแอบยิ้มอยู่คนเดียว เสร็จแล้วพวกเราต้องรีบจ้ำตามมัคคุเทศก์ตัวจริงไปข้างหน้า เพราะพ่อเจ้าประคุณชี้มุมให้ถ่ายรูปแล้ว ก็เดินดุ่ย ๆ ไปเลย มีพี่วิไล ป้ามอย คุณอารีกับคุณปัญญาตามไปด้วย อาตมาหยุดถ่ายรูปภาพแกะสลักตามขอบประตูและเสาพระปรางค์เป็นระยะ เลยได้ภาพนางอัปสราขี้เล่นมาภาพหนึ่ง ที่คุณเธอยิ้มจนหน้าบานเป็นจานเชิง คงคิดว่าแอบอยู่ข้างเสาแล้วไม่มีใครเห็นกระมัง ? ตามมาทันพวกเราในพระปรางค์องค์ถัดไป ซึ่งข้างในดันเป็นศิวลึงค์เสียนี่ ซ้ำยังมีคนบูชาด้วยการรดน้ำใหม่ ๆ อีกด้วย จะเป็นฝีมือนักท่องเที่ยวที่เดินสวนกับพวกเราหรือเปล่าก็ไม่รู้ ? ถ่ายรูปศิวลึงค์แล้ว อาตมาก็เดินตามคณะออกไปทางด้านหน้า... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-06-2014 เมื่อ 11:29 |
สมาชิก 127 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#10
|
||||
|
||||
ภาพแกะสลักของปราสาท "บรรยงก์" คุณแสงพาพวกเรามาถึงระเบียงด้านทิศตะวันออก ซึ่งหลังคาพังหายไปทั้งแถบ ตลอดผนังที่สูงขึ้นมาจากพื้นประมาณครึ่งเมตร ด้วยความยาว ๓๕ เมตรและความสูง ๓ เมตร ถูกสลักเป็นภาพนูนต่ำ ของขบวนทหารและแม่ทัพนายกอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในขบวนทัพของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นั่นเอง... ภาพสลักถูกแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือด้านบน ตรงกลางและด้านล่าง การจัดขบวนทัพในสมัยนั้นประกอบด้วยกองลาดตระเวนนำ ทัพหน้า ทัพหลวง ทัพหลังและกองเสบียง แต่การแกะสลักที่ค่อนข้างตื้น ประกอบกับเชื้อราที่ขึ้นตามระยะเวลาที่ยาวนาน และแสงแดดที่จัดจ้า ทำให้ภาพบางช่วงต้องเล็งกันนาน กว่าที่จะเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร... การแต่งกายของทหารในภาพ มีรูปแบบความเป็นหมวดหมู่อย่างเห็นได้ชัด โดยแยกจากลักษณะของหมวก เสื้อ และผ้านุ่ง ตลอดจนอาวุธที่แตกต่างกันไป มีทั้งหอกซัด โล่กลม และดั้งที่มีปลายงอนแหลม หากกระแทกใส่หน้าใคร มีหวังบาดเจ็บสาหัส..! |
สมาชิก 124 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#11
|
||||
|
||||
กองทัพของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทัพหน้ามีกองกำลังทหารจากประเทศราช บางกลุ่มแต่งกายคล้ายทหารจีน ทั้งหมวก หนวดเครา ตลอดจนเสื้อเกราะและหน้าตา มีขุนศึกที่ถือหอกหรือทวนยาว นั่งบัญชาการมาบนหลังช้างที่มีงาค่อนข้างสั้นแบบ งาปลี ซึ่งเหมาะแก่การทำยุทธหัตถีเป็นอย่างยิ่ง เพราะปะทะเท่าไรก็ไม่ต้องกลัวว่างาของช้างศึกจะแตกหัก... ทัพหลวงมีจอมทัพที่พระหัตถ์ซ้ายถือคันศร พระหัตถ์ขวาถือลูกศร ๓ ดอก ยืนใช้ลูกศรชี้บัญชาการอยู่บนหลังช้างที่มี งาปลี เช่นกัน แต่งาเรียวเล็กกว่าช้างของทัพหน้า รอบข้างเป็นกระบวนช้าง กระบวนม้า และทหารถืออาวุธครบครัน |
สมาชิก 118 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#12
|
||||
|
||||
ตรงนี้น่าจะเป็นกองเสบียง ทัพหลวงนี้เห็นชัดว่าต่างจากทัพอื่น ๆ เพราะมีเครื่องแต่งกายที่ ดูดี กว่าเพื่อน ซ้ำยังมีสัปทน (ฉัตร) ขนาดใหญ่ ตลอดจนบังสูรย์บังแทรกมากมาย รอบข้างเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นแทรกกระบวนทัพอยู่ น่าเสียดายที่แกะตื้นเกินไป จึงไม่งดงามอลังการเท่ากับปราสาทนครวัด... ท้ายสุดเป็นกองเสบียง (เกียกกาย) ที่นุ่งผ้า ขัดเขมร เห็นง่ามก้นอย่างชัดเจน มีวัวเทียมเกวียนที่บรรทุกเสบียงและสัมภาระมากมาย ทหารบางคนจูงหมู บางคนแบกเต่าไปด้วย บางคนกำลังก่อไฟปิ้งปลา บางคนกำลังหุงข้าว ดูแล้วเห็นชีวิตทหารในกองทัพ และชีวิตของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี... เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวชมภาพอยู่หลายคน ประกอบกับภาพที่ค่อนข้างตื้น เมื่อจะถ่ายภาพช่วงยาวตลอดผนัง แสงแดดที่จัดจ้าทำให้ภาพเลือนไปหมด อาตมาจึงถ่ายภาพตรง ๆ ไปเป็นบางช่วงเท่านั้น แล้วเดินตามมัคคุเทศก์กับคณะเข้าไปยังพระปรางค์อีกองค์หนึ่ง... |
สมาชิก 120 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#13
|
||||
|
||||
ไหว้พระทำบุญช่วงขาออกกันอีกรอบ พระปรางค์องค์นี้มีพระพุทธรูปนาคปรกฐาน ๓ ชั้น แกะสลักจากหินทรายสีออกดำ พังพานของพญานาคค่อนข้างชะลูด มีกระถางธูปวางอยู่ตรงหน้าพร้อมกับพานไม่มีฐาน รอบข้างมีแต่กองหินปรักหักพังเต็มไปหมด โยมผู้หญิงใส่เสื้อแขนยาวสีฟ้าเก่า ๆ และกางเกงขายาวสีดำที่เฝ้าอยู่ข้างใน พอเห็นพวกเราเข้าไปก็จุดธูปกำใหญ่กับตะเกียงน้ำมันที่ทำจากกระป๋องปลาตราสามแม่ครัว ส่งให้พวกเรามาแบ่งปันกันเอง... พี่วิไลรับมาแบบไม่เกี่ยงงอน อาตมาและทุกคนจึงรับธูปมาคนละ ๓ ดอก ไหว้พระและอธิษฐานกันตามอัธยาศัย อาตมาปักธูปแล้ว ควักเงินเขมร ๓,๐๐๐ เรียล ใส่ลงในพานตรงหน้าพระพุทธรูป กราบงามสามทีแล้วเดินออกมาด้านนอก โดยมีเสียงสาธุการของจอมคนแห่งกัมโพชดังตามหลังมาด้วย... |
สมาชิก 120 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#14
|
||||
|
||||
กว่าจะเจอทางลงเล่นเอาเดินเกือบรอบ เห็นรูปสลักตามเสาและผนังแล้ว อาตมาอดไม่ได้ที่จะหยุดถ่ายรูปเป็นระยะ นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนก็เดินหามุมที่ตนชอบใจเพื่อถ่ายรูป แต่พวกเขาเดินสวนทางเข้าไป ขณะที่พวกเรากำลังออกมา มีข้อสังเกตว่ารูปสลักของปราสาท "บรรยงก์" หลังนี้ค่อนข้างตื้น บางรูปคล้ายกับภาพร่างเท่านั้น และฝีมือไม่ได้สุดยอดเหมือนกับปราสาทนครวัด แต่ได้ความต่างตรงพรหมพักตร์จำนวนนับร้อยบนยอดปรางค์ที่ไม่เหมือนกับปราสาทหลังใดเลย... หลุดพ้นจากยอดปรางค์และกำแพงระเบียง ที่ส่วนใหญ่เหลือแต่กำแพงกับเสาและกรอบประตู ไม่มีหลังคาเหลืออีกแล้ว พวกเราก็โผล่ออกมาทางด้านทิศตะวันตกของตัวปราสาท แต่ไม่มีบันไดลงทางด้านนี้ จึงต้องเดินวนขวาหาบันไดลง ไปเจอเอาด้านทิศเหนือโน่น ความจริงก็ไม่สูงมากนัก ถ้าไม่กลัวตับทรุดจะกระโดดลงทางทิศตะวันตกไปเลยก็น่าจะได้... |
สมาชิก 117 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#15
|
||||
|
||||
มาถ่ายรูปหมู่ได้ในมุมที่จืดสนิท อาตมาเดินลงไปก่อน แล้วเดินวนกลับไปทางทิศตะวันตก ป้ามอย แม่ป๋อมและพี่มุกดาที่ตามมาทีหลัง ลงบันไดตามมาบ้าง สักครู่ลูกปุ๊กกับน้องเล็กก็ตามมา อาตมาเห็นว่าทางด้านนี้มีที่ว่างพอ สามารถถ่ายรูปปราสาทบายนได้เต็มทั้งหลัง จึงให้ทุกคนมารวมตัวกันถ่ายรูปก่อน แต่น่าเสียดายที่ตัวปราสาทด้านนี้ปรักหักพังไปเสียมาก ภาพจึงออกมาจืดสนิททีเดียว... จากนั้นอาตมาก็เดินตามพี่วิไล คุณแสง คุณปัญญาและคุณอารี ที่เดินขึ้นบนถนนลูกรังไปไกลแล้ว คงจะไปหาว่าคุณราญจอดรถอยู่ที่ไหน พอดีสายตาเหลือบไปเห็นอาคารข้างถนน หน้าตาเหมือนเป็นศาลา มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยองค์ใหญ่ หน้าตักคงจะเกินสี่ศอกอยู่ข้างใน จึงเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ โดยมีป้ามอย แม่ป๋อม พี่มุกดา น้องเล็กและลูกปุ๊กตามไปด้วย... |
สมาชิก 117 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#16
|
||||
|
||||
ไม่รู้ว่าเป็นของเก่าหรือว่าของทำเลียนแบบ พระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ในศาลาที่เหมือนห้องไม่มีข้างฝา เสาทุกต้นเป็นหินแกะสลัก ทำให้แยกไม่ออกว่าเป็นอาคารเก่าสักหลัง ที่สร้างมาพร้อมกับปราสาทบายน แล้วคนมาปั้นพระพุทธรูปเพิ่มทีหลัง หรือว่าตั้งใจทำของใหม่เลียนแบบของเก่าขึ้นมากันแน่ “มัคคุเทศก์เถื่อน” ก็หายพระเศียรไปแล้ว มัคคุเทศก์ตัวจริงก็ไม่อยู่ ทำให้ไม่รู้ว่าจะถามใครดี ? กราบพระแล้วอาตมาหยอดตู้ทำบุญไป ๑,๐๐๐ เรียล แล้วเดินถ่ายรูปรอบบริเวณ มีรูปปั้นปูนหงส์ตัวใหญ่ ที่ใหญ่จนศาลพระภูมิที่อยู่ติดกันโดนบังจนมิดไปเลย เสร็จแล้วรีบจ้ำไปยังรถตู้ที่จอดอยู่ใต้ต้นก้ามปูใหญ่ไกลลิบ ซึ่งมีพี่วิไลโบกมือเรียกอยู่โหวกเหวก โดยมีคุณอารียืนให้กำลังใจ “เจ้านาย” อยู่ใกล้ ๆ ไปถึงก็รีบตะกายขึ้นรถกันโดยด่วน... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ตัวเล็ก : 05-07-2014 เมื่อ 09:44 |
สมาชิก 122 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#17
|
||||
|
||||
วิ่งเข้าเมืองมาจอดแถวนี้แหละ ต้นไม้ใหญ่เยอะดีจริง ๆ อาตมาเสียดายภาพมุมกว้างของปราสาทบายนที่มองจากบนรถ จึงถ่ายไป ๒ ๓ รูป ลองกดดูรูปก็ออกมาไม่เลวทีเดียว คุณปัญญาส่งน้ำเปล่ามาให้ทุกคนแบ่งกัน ขณะที่คุณราญนำรถออก วิ่งผ่านรถนักท่องเที่ยวมากมาย ออกไปทางประตูโกปุระที่มี สะพานเทวดายุดนาค ซึ่งพวกเรามาถ่ายรูปกันก่อนเพลนั่นแหละ วิ่งยาวผ่านหน้าปราสาทนครวัด มาเลี้ยวซ้ายเมื่อพ้นเขตคูเมือง แล้วมุ่งตรงเข้าสู่ตัวเมืองเสียมเรียบไปเลย... ขนาดบ่ายสามครึ่งแล้ว ยังมีรถทัศนาจรวิ่งสวนพวกเราเข้าไปอีก แสดงว่าเวลาไม่ใช่อุปสรรคในการเที่ยวชมปราสาทหินแม้แต่น้อย รถของเรามุ่งเข้าเมืองอย่างเดียว ยิ่งใกล้ตัวเมืองรถราก็ยิ่งหนาแน่นขึ้นเรื่อย จนมาสู่การจราจรในเมืองจริง ๆ ซึ่งติดขัดไม่น้อยเลย เพราะถนนแคบ รถราก็มาก คุณราญนำรถตู้ฝ่าการจราจรไปเรื่อย จนกระทั่งมาถึงบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่เรียงเป็นตับก็จอดลง... |
สมาชิก 121 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#18
|
||||
|
||||
พระศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเสียมเรียบอยู่ในมณฑปหลังนี้ วิไลพาหลวงพี่มาไหว้พระศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเสียมเรียบ ใครมาที่นี่ก็ต้องมาไหว้ขอพร ให้ทำมาหากินเจริญรุ่งเรืองกันทุกคน พี่วิไลแปลงกายเป็น มัคคุเทศก์เถื่อน แทน อ้าว..อาตมาเป็นพระ นอกจากบิณฑบาตแล้วจะให้ไปทำมาหากินอะไรกับใครเขาได้ ? แต่เมื่อเป็นพระก็เต็มใจที่จะกราบไหว้อยู่แล้ว... พวกเราลงจากรถ มองไปยังสิ่งที่เป็นศาลหรือมณฑป มีหลังคาจตุรมุขลดชั้น ข้างบนเป็นยอดแหลม กระเบื้องหลังคาสีอิฐแดง ลวดลายอื่นสีเหลืองทอง มีรั้วรอบขอบชิด ด้านหลังมีร้านขายเครื่องบูชาเต็มไปหมด ที่ขายนกให้ปล่อยก็มาก ผู้คนแน่นขนัดทีเดียว... |
สมาชิก 119 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#19
|
||||
|
||||
มัคคุเทศก์ตัวจริงหนีไปซื้อเครื่องบูชา หลวงพ่อสองพี่น้องนี้ชื่อ องค์เจก กับ องค์จอม ตามประวัติว่าเป็นพี่น้องกัน รักกันมาก ต่อมาป่วยตายทั้งคู่ พ่อเขาก็เลยสร้างพระพุทธรูปสองพี่น้องนี้ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับลูกสาวทั้งสองคน กลายเป็นหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ที่ใคร ๆ ก็เคารพกราบไหว้ วิไลรู้แค่นี้แหละ.. แหม..ประวัติสั้นกระจึ๋งเดียว ยังไม่ทันลงรถได้ครบคนก็จบซะแล้ว มัคคุเทศก์ตัวจริงก็ถูกคุณอารีลากตรงดิ่งไปหาซื้อเครื่องบูชา เจรจาต่อรองกับแม่ค้ามะพร้าวอ่อนอยู่ ไม่มีโอกาสได้ถามรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เมื่อลงรถแล้วพวกเราจึงเดินเข้าไปบ้าง... เพิ่งเห็นว่าที่นี่ก็ใช้มะพร้าวอ่อนเป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนประเทศพม่า แต่เขามีดอกบัวกับธูป ๓ ดอก เทียน ๑ เล่ม ปักอยู่บนลูกมะพร้าวอ่อน ล้อมรอบด้วยใบพลูที่ม้วนจีบแล้วใช้อะไรเป็นแกนก็ไม่รู้ ปักอยู่ ๔ มุม... ของบูชาอย่างอื่นที่เห็นก็มีพวงมาลัยดอกมะลิ ดอกบัวที่มัดเป็นกำมีทั้งที่พับแล้วและยังไม่พับ กล้วยน้ำว้า ธูปเทียนและผ้าสีต่าง ๆ เสียงแม่ค้าร้องเรียกลูกค้าให้แซ่ไปหมด ส่วนใหญ่พูดไทยได้แทบทั้งนั้น... |
สมาชิก 118 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#20
|
||||
|
||||
ยุวกาชาดที่นี่มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อาตมาเดินเลาะข้างรั้วมณฑป ผ่าน ยุวกาชาด ทั้งชายและหญิงเป็นสิบ ที่ตั้งตู้ชักชวนให้คนบริจาคเพื่อสาธารณกุศล เพิ่งเคยเห็นยุวกาชาดผู้ชายก็ที่นี่แหละ มิหนำซ้ำทุกคนยังมีผ้าพันคอที่ม้วนแบบลูกเสือของเราเสียอีก ทีแรกอาตมายังหลงประเด็นว่าเป็นลูกเสือสำรอง แต่ตรากาชาดสีแดงโร่บอกชัดว่าไม่ใช่ลูกเสือ เออ..ดีเว้ย บ้านเราเด็กผู้หญิงมาแย่งเด็กผู้ชายฝึกลูกเสือ ที่นี่เด็กผู้ชายมาแย่งเด็กผู้หญิงฝึกยุวกาชาด หักกลบลบล้างแล้วเสมอกันพอดี... ทุกคนยกมือไหว้ โลกไทย แบบพร้อมเพรียงกัน อาตมาควักเงินออกมาปึกหนึ่งหยอดใส่ตู้ไปทีละใบ กว่าจะหมดก็ได้ ๘,๐๐๐ เรียลพอดี ทำเอาบรรดายุวกาชาด ชอบใจเป็นการใหญ่ ที่ โลกไทย บริจาคคนเดียวตั้งเยอะแยะ อาตมาจึงขอถ่ายรูปพวกเขาไปทั้งกลุ่มเลย... |
สมาชิก 112 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ สุธรรม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|