|
ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน รวมประวัติ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพจากทั่วเมืองไทย |
|
คำสั่งเพิ่มเติม |
#621
|
|||
|
|||
การขอนิสัย
“... ขอนิสัย พ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นให้ขอรวมกันหมดทีเดียว ท่านก็ชี้แจงเหตุผลให้ทราบ ขอในเวลาบวชเป็นอย่างหนึ่ง ขอในเวลาที่บวชเสร็จเรียบร้อยแล้วมารวมกันนี้ก็เป็นอย่างหนึ่ง ไม่ขัดต่ออาวุโสภันเต เพราะในขณะนั้นเป็นนามลูกศิษย์ขอนิสัยจากอาจารย์ด้วยกันทั้งนั้น ท่านว่าก็ถูกของท่าน แต่มีแปลกอยู่เราไม่เคยเห็น เณรท่านให้ขอนิสัยเหมือนกันนะ คือความพึ่งพิงสำหรับเณร องค์ไหนหนอ.. ท่านให้ขอนิสัยผมลืมเสียแล้ว พอได้เป็นแบบฉบับอันหนึ่งให้เป็นข้อคิดสำคัญ..." แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-09-2020 เมื่อ 19:48 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#622
|
|||
|
|||
หลักธรรมหลักวินัยเหนืออาวุโสภันเต
“... ไอ้เราจะว่าขวานผ่าซากก็ตาม หรือจะว่าตรงไปตรงมาก็ตาม เหตุผลมียังไง ธรรมมียังไง เราพูดตามนั้นเลย ไม่น่าเลื่อมใสเราบอกว่าไม่น่าเลื่อมใส ผิดเราว่าผิดเลย เรื่องครูเรื่องอาจารย์ว่าเป็นผู้ใหญ่ไม่สำคัญยิ่งกว่าธรรมกว่าวินัย เรื่องหลักธรรมหลักวินัยเป็นหลักสำคัญมากทีเดียว เราเคารพตรงนี้ ถึงเคารพอาวุโสภันเตก็ตาม ก็ต้องเป็นผู้มีหลักธรรมหลักวินัยเป็นเครื่องยืนยันพอที่จะเป็นอาวุโสภันเตได้โดยสมบูรณ์ แล้วควรกราบไหว้บูชาซึ่งกันและกัน เคารพซึ่งกันและกัน ก็ถือในหลักเกณฑ์ของธรรมวินัยเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่จะว่าบวชมาหลาย ๆ พรรษาแล้วก็ว่าเป็นอาวุโส จะให้กราบให้ไหว้เลยอย่างนั้นไม่ได้ ในหลักพระวินัยมี อายุ ๖๐ พรรษายังต้องมาขอนิสัยต่อพระผู้มีพรรษาน้อยกว่า นั่นคือไม่สามารถที่จะรักษาตนได้ อายุพรรษาจึงไม่สำคัญ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-09-2020 เมื่อ 19:48 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#623
|
|||
|
|||
การอดอาหาร อดนอน
“...ดังที่ท่านอดอาหาร ในวัดป่าบ้านตาดนี้เรียกว่าเด่นมาตลอด ใครจะว่าบ้าก็ให้ว่ามา หลวงตาบัวเป็นสมภารวัดป่าบ้านตาด พาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายดำเนินมา ผิดถูกประการใดให้พิจารณา เราเรียนมาก็เรียนมาเพื่อมรรคเพื่อผล เพื่ออรรถเพื่อธรรมอย่างสูงทีเดียวตั้งแต่ต้นเลย การมาปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อมรรคเพื่อผลเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การปฏิบัติเหล่านี้จึงแน่ใจว่าไม่ผิด เช่น อดอาหาร ผ่อนอาหาร อาหารนี่เป็นสำคัญ พยุงทางธาตุขันธ์ แต่เป็นภัยต่อจิตใจได้ถ้าผู้ไม่พินิจพิจารณา เพราะฉะนั้น จึงให้แบ่งสันปันส่วนกันให้พอดี ธาตุขันธ์ก็ให้พอเป็นไปอย่าให้เหลือเฟือจนเกินไป จะกลายเป็นหมูขึ้นเขียงแล้วไม่ยอมลง ต้องมีการฝึกการทรมาน พระเราถ้าฉันมาก ๆ สติไม่ดี ดีไม่ดีล้มเหลว จำให้ดีนะข้อนี้ พระพอผ่อนอาหารลงไปสติจะเริ่มดีขึ้น ผ่อนลงไปหรือตัดอาหารเป็นวัน ๆ ไป.. สติดี ดีขึ้น ปัญญาจะสอดแทรกไปตาม ๆ กัน ส่วนมากอดอาหารผ่อนอาหารนี้ถูกจริตนิสัยของผู้ปฏิบัติมากทีเดียว มากกว่าข้อปฏิบัติอย่างอื่น ๆ อย่างท่านว่าธุดงค์ ๑๓ นั่นก็เพื่อกำจัดกิเลส คำว่าธุดงค์ ก็แปลว่าเครื่องกำจัดกำเลสนั้นแหละ อะไรที่ถูกกับจริตนิสัยของตนให้ยึดมาปฏิบัติ เช่นท่านบอกว่าเนสัชชิก ไม่นอน จะกำหนดสักกี่วันกี่คืนก็แล้วแต่ แล้วปฏิบัติตามนั้น ผลเป็นยังไงบ้าง เราสังเกตดูผล ถ้าไม่ได้ผลทั้งที่เราก็พยายามทำเต็มกำลังตามธุดงค์ข้อนั้น ๆ เราก็แยกเสีย เห็นว่าไม่ถูกก็พลิกไปข้ออื่น สำหรับอดอาหารนี้ไม่มีในธุดงค์ ๑๓ แต่มีในธรรมข้ออื่น เช่น บุพพสิกขา ไม่มีธุดงค์ ๑๓ แต่ก็มีอยู่ในธรรมเช่นเดียวกัน เช่นบุพพสิขาเป็นต้น ในบุพพสิกขาท่านแสดงไว้ว่า ถ้าพระอดอาหารเพื่อโอ้เพื่ออวดแล้ว.. ปรับอาบัติทุกความเคลื่อนไหวเลย ไม่ว่าจะอยู่อาการใดปรับอาบัติเป็นโทษทั้งนั้น ๆ ห้ามอด พูดง่าย ๆ ถ้าฝืนอดไปก็ปรับโทษตลอด อดอาหารเพื่อกิเลสตัณหา คืออดเพื่อโอ้เพื่ออวด เพื่อให้เขายกยอตนว่าเป็นผู้รู้ผู้ฉลาดเพราะอดอาหารอย่างนี้ ปรับอาบัติตลอดเวลา นี่คือข้อธรรม มีในคัมภีร์ เรายกมาแสดงให้ฟัง แต่ถ้าอดเพื่ออรรถเพื่อธรรมแล้วอดเถิด เราตถาคตอนุญาต นี่ธรรมเหมือนกัน คืออดเพื่ออรรถเพื่อธรรม.. อดเถิด เราตถาคตอนุญาต การอดนี้ก็ต้องสังเกตดูจริตนิสัยของตน เหมาะสมกับการอดอาหารหรือไม่เหมาะ ส่วนมากเหมาะ.. เพราะอาหารกับธาตุขันธ์มันเข้ากันได้ ธาตุขันธ์นี้มีกำลังทับจิตใจ การภาวนาไม่ค่อยสะดวก จึงต้องได้ผ่อนสั้นผ่อนยาวอยู่เสมอ ผู้ปฏิบัติอย่าทำสุ่มสี่สุ่มห้า ด้น ๆ เดา ๆ สักแต่ว่าทำไม่เกิดประโยชน์...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-09-2020 เมื่อ 19:50 |
สมาชิก 16 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#624
|
|||
|
|||
ถือธุดงค์เข้าพรรษา
“...นี่เข้าพรรษาแล้วตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไปนั่น ก็จะบิณฑบาตดังธุดงค์ที่เคยปฏิบัติมาทุกปี ประชาชนทั้งหลายมีศรัทธาก็มาใส่บาตรตามเขตที่ปักไว้แล้ว ถือเอากำแพงเก่านี้เป็นบาทฐาน เรียกว่ารับมาถึงนั้นแล้วก็หยุด เราเอาอันนี้เป็นบาทฐานไปเลย ... พระท่านรับบิณฑบาตมาแล้วก็เป็นเรื่องของท่านเอง ข้อวัตรปฏิบัติประจำพระก็คือไม่รับบิณฑบาต ไม่รับอาหารเมื่อเข้าในวัดแล้ว ... ถ้าท่านรับก็ขาดธุดงค์ข้อนี้ ท่านไม่ใช่เย่อหยิ่งจองหองนะ ธุดงค์บังคับไว้ให้เป็นผู้มีความมักน้อย ได้มากได้เท่าไรก็ตามเอาเพียงเท่านี้ ๆ เพื่อจะตัดกิเลสตัวโลภมาก กินไม่พอนั่นเอง ตีลงมาธรรมะจะได้ค่อยเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปเป็นลำดับ นี่การปฏิบัติตน...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 03-09-2020 เมื่อ 16:32 |
สมาชิก 13 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#625
|
|||
|
|||
การเข้าพรรษา
“...ประเพณีการเข้าพรรษานี้ ถือเป็นกิจสำคัญสำหรับพระนับแต่ครั้งพุทธกาลมา เริ่มแรกจริง ๆ ก็ไม่มีการจำพรรษา เห็นมีความจำเป็นเกี่ยวกับการเที่ยวของพระไม่มีเวล่ำเวลา ทำคนอื่นให้ได้รับความเสียหายบ้าง หรือมากน้อยตามแต่พระเณร.. มีจำนวนมากเที่ยวไม่มีเวลาหยุดทั้งหน้าแล้งหน้าฝน เมื่อเขากราบทูลพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องการสัญจรไปมาของพระ พระองค์จึงทรงบัญญัติให้มีการจำพรรษา การอยู่จำพรรษานั้นต้องอยู่ให้ครบไตรมาสคือ ๓ เดือน มีวันนี้เป็นวันเริ่มแรก เพราะเป็นฤดูฝนสมกับการเข้าพรรษา จะอยู่ในสถานที่ใดก็ถือบริเวณนั้นเป็นขอบเขตของตน ซึ่งจะต้องจำพรรษาอยู่ที่นั้นตลอดไตรมาสคือ ๓ เดือน นี่เป็นประเพณีของพระ.. เราต้องมีการจำพรรษา จะไปเร่ ๆ ร่อน ๆ ไม่มีการจำพรรษาอย่างนั้นไม่ได้ ผิดพระวินัย .. เขตในวัดเรานี้เป็นเขตที่กำหนดได้ง่ายที่สุด มีกำแพง นี่ในบริเวณวัดนี้เป็นเขตที่พระอยู่จำพรรษา กำหนดไตรมาส ๓ เดือน ไม่ได้ไปที่ไหนถ้าหากไม่มีความจำเป็น เมื่อมีความจำเป็นสัตตาหกรณียกิจไปได้ ๗ วันตามหลักพระวินัยแล้วกลับมา อย่างน้อยต้องมาค้างที่วัด ๑ คืนแล้วไปได้อีก ๗ วัน และกลับมาค้างที่วัดอีก ๑ คืน นี่ด้วยความจำเป็นที่จะต้องไปด้วยสัตตาหะฯ ติดต่อกัน ท่านอธิบายไว้ตามพระวินัยละเอียดมากทีเดียว แต่ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นก็ห้ามไปค้างคืนที่อื่น ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 03-09-2020 เมื่อ 16:33 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#626
|
|||
|
|||
สัตตาหกรณียกิจ
“... สัตตาหกรณียกิจ กิจที่ควรจะไปได้มี ๗ วันท่านบอก บิดามารดาป่วย เพื่อนฝูงสหธรรมิก หรือครู หรืออาจารย์ป่วย ท่านก็บอกไว้ตามหลักพระวินัย วัดวาอาวาสชำรุดมากจนจะหาที่หลบที่ซ่อนที่อยู่ไม่ได้ เช่น ศาลาโรงฉัน เป็นต้น ให้ไปหาไม้มาทำมาซ่อมแซม สัตตาหะไปได้ แล้วก็มาค้างวัดคืนหนึ่งแล้วออกไป ภายใน ๗ วันกลับมา หรือพวกศรัทธาญาติโยมที่เป็นศรัทธาใหม่ เช่น พระมหากษัตริย์ นี่ก็ไปได้ ๗ วัน สิ่งที่ควรจะอนุโลมในสิ่งนั้นท่านก็บอกว่ามี ก็พึงอนุโลมตามนี้ อย่าไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้หน้าได้หลัง นั่นดูไม่ได้นะ อยากไปไหนก็สัตตาหะฯ ไปเรื่อย ๆ สัตตาหะฯ ไปโน่น สัตตาหะฯ ไปนี่ เลยไม่ทราบว่าสัตตาหะฯ อะไร เก่งกว่าครูกว่าอาจารย์ไปอย่างนั้น มีแล้วนะ ทุกวันนี้ปรากฏแล้วทั้ง ๆ ที่เป็นครูเป็นอาจารย์นั่นแหละ ให้เห็นได้อย่างชัดเจน...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-09-2020 เมื่อ 17:00 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#627
|
|||
|
|||
ประเคนหรือเทน้ำล้างบาตรก่อนบิณฑบาต
“...ตามพระวินัย พระจะออกบิณฑบาต หรือใช้บาตร ต้องให้เณรหรือญาติโยมประเคนบาตรให้ก่อน ถ้าไม่มีใครประเคน.. เทน้ำล้างบาตรเขย่าไปมา แล้วเททิ้งเสียก็พอ แต่ถ้าเอาผ้าไปเช็ด ฝุ่นละอองจากผ้าก็จะไปติดเปื้อนบาตร เป็นอามิส.. บาตรใช้ไม่ได้ ตามสายตาของโลกเอาผ้าเช็ดแห้งก็สะอาดดีแล้ว แต่จริง ๆ ในผ้าย่อมมีฝุ่นละอองอยู่โดยตามองไม่เห็น...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-09-2020 เมื่อ 17:01 |
สมาชิก 14 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#628
|
|||
|
|||
ไม่บิณฑบาตไม่ฉัน อานิสงส์บิณฑบาต
“...การบิณฑบาต ถือเป็นกิจวัตรสำคัญประจำพระธุดงค์ ในสายตาของท่านไม่ให้ขาดได้เว้น แต่ไม่ฉันก็ไม่จำเป็นต้องไป ขณะไปก็สอนให้มีความเพียรทางภายใน ไม่ลดละทิ้งไปและกลับจนมาถึงที่พัก ตลอดการจัดอาหารใส่บาตรและลงมือฉัน การบิณฑบาตเป็นกิจวัตรข้อหนึ่ง ที่อำนวยผลแก่ผู้บำเพ็ญให้ได้รับความสงบสุขทางใจ คือ เวลาเดินไปในละแวกบ้าน ก็เป็นการบำเพ็ญเพียรไปในตัวตลอดทั้งไปและกลับ เช่นเดียวกับเดินจงกรมอยู่ในสถานที่พัก หนึ่ง เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถในเวลานั้น หนึ่ง ผู้บำเพ็ญทางปัญญาโดยสม่ำเสมอแล้ว เวลาเดินบิณฑบาตขณะที่ได้เห็นหรือได้ยินสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาสัมผัสทางทวาร ย่อมเป็นเครื่องเสริมปัญญาและถือเอาประโยชน์จากสิ่งนั้น ๆ ได้โดยลำดับ หนึ่ง เพื่อดัดความเกียจคร้านประจำนิสัยมนุษย์ที่ชอบแต่ผลอย่างเดียว แต่ขี้เกียจทำเหตุซึ่งเป็นคู่ควรแก่กัน หนึ่ง เพื่อตัดทิฐิมานะ ที่เข้าใจว่าตนเป็นคนชั้นสูง ออกจากตระกูลสูงและมั่งคั่งสมบูรณ์ทุกอย่าง แล้วรังเกียจต่อการโคจรบิณฑบาตอันเป็นลักษณะคนเที่ยวขอทานท่าเดียว...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-09-2020 เมื่อ 19:56 |
สมาชิก 15 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#629
|
|||
|
|||
บิณฑบาตซ้อนผ้าสังฆาฏิ
“...การบิณฑบาต ประเพณีหรือหลักวินัยพระพุทธเจ้ายืนตัวอยู่แล้ว การไปบิณฑบาตในหมู่บ้านให้ครองผ้าซ้อนกัน สังฆาฏิ จีวร เว้นแต่บิณฑบาตตามทุ่งนาหรือในครัว ไม่ได้เข้าบ้าน นี่เป็นประเภทหนึ่ง ใช้ผืนเดียวก็ได้ไม่ขัดข้อง แต่เข้าไปในหมู่บ้านแล้วต้องซ้อนผ้า ฟังให้ดีนะ ... ถ้าลงได้เห็นแล้วเอาจริง ๆ นะ ไม่เหมือนใคร เพราะพระวินัยมีชัดเจนมากทีเดียวประจำองค์พระ ให้ซ้อนผ้า เว้นแต่ฟ้าลงฝนตก อากาศมืดครึ้มฝนจะตก นี่ที่มีข้อยกเว้นในพระวินัย ถ้าอากาศแจ่มใสและเข้าไปในหมู่บ้านด้วย ให้ซ้อนผ้าเข้าไปบิณฑบาต ให้ยึดหลักพระวินัยคือองค์ศาสดา ให้เกาะติดนะ.. ถ้าพลาดจากพระวินัยคือพลาดจากศาสดา เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปพร้อมเลยนะ พระวินัยและธรรมนี้แล คือศาสดาของเธอทั้งหลาย.. แทนเราตถาคตเมื่อเราตายไปแล้ว..” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-09-2020 เมื่อ 17:02 |
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#630
|
|||
|
|||
การขบฉัน
“...การขบการฉันให้สำรวม ตาสำรวมในบาตร และเวลาฉันจังหันนี้.. ตาเหม่อมองไปที่ไหน ๆ นั่นเป็นความไม่มีสติ และเสียศักดิ์ศรีของผู้ฉันในบาตรเป็นอันมากทีเดียว นี่เราเคยเตือน มองดูแพล็บ ๆ มันขวางตานะ เพราะเราไม่เคยปฏิบัติอย่างนั้นมา ปตฺตสญฺญี ปิณฺฑปาตํ มันก็มีทั้งสองภาคไม่ใช่รึ ปตฺตสญฺญี ปิณฺฑปาตํ อันหนึ่งเป็นภาครับบิณฑบาตไม่ใช่รึ ปฏิคฺคเหสุสามีติ สิกฺขา กรณียา คือรับบาตร ทำความสัญญาอยู่ในบาตร ในขณะที่รับบาตรนั่น ปตฺตสญฺญี ปิณฺฑปาตํ ภุญฺชิสฺสามีติ สิกฺขา กรณียา เวลาฉันจังหันก็ให้ทำความสำคัญอยู่ในบาตร ตาก็มองอยู่นี้ อย่าไปเถ่อไปทางเน้น เถ่อไปทางนี้ มองโน้นมองนี้ มองดูเห็นหมู่เพื่อนทำให้ขวางตาอยู่ นี่..ดูไม่ได้นะ ผมเห็นอยู่นี่ เราเคยทำความเข้าใจกับเจ้าของตั้งแต่วันฉันในบาตรมาแล้ว เราทำเอาจริงเอาจังนี่นะ ทำความเข้าใจกับเจ้าของ.. จะไปฉันเหม่อ ๆ มอง ๆ ดูนั่นดูนี่ ทั้งเคี้ยวทั้งกลืน.. หาสติสตังไม่ได้ โอ้.. เสียศักดิ์ศรีของกรรมฐาน อย่างน้อยเป็นอย่างนั้น อย่างมากก็เหลว ความเลื่อนลอย ดูในนั้นในบาตร ปตฺตสญฺญี ทำความเข้าใจ ทำความสำคัญอยู่ในบาตร สำรวมอยู่ในบาตรนั้น ฉันก็อย่าให้ได้ยินเสียงจุ๊บ ๆ จิ๊บ ๆ ให้ระมัดระวังกิริยาอาการของการขบการฉัน ใน ๒๖ ข้อเสขิยวัตรท่านก็บอกไว้แล้ว ท่านสอนหมด..การขบการฉัน การขับการถ่าย โอ้โห.. สอนละเอียดลออมาก พระวินัยละเอียดมากทีเดียว ถ้าหากเราดำเนินตามพระวินัยแล้วจะมีที่ต้องติที่ไหน พระเรามีแต่ความสวยงามทั้งนั้นแหละ ที่โลกเขาต้องติหรือเพื่อนฝูงได้ต้องติ แสลงหูแสลงตา เพราะความไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัยนั่นเอง มันเลยไม่น่าดู อย่ามาทำให้เห็นนะ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-09-2020 เมื่อ 01:43 |
สมาชิก 13 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#631
|
|||
|
|||
พิจารณาอาหาร ฉันสำรวม
“...ถ้ามีญาติโยมตามออกมาแม้แต่คนหนึ่งขึ้นไป ท่านอนุโมทนา ยถา สัพพีฯ ก่อน แล้วค่อยลงมือฉัน .. ท่านเริ่มทำความสงบ อารมณ์พิจารณาปัจจเวกขณะ ปฏิสังขาโยนิโส ฯลฯ ในอาหารชนิดต่าง ๆ ที่รวมในบาตร โดยทาง อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา บ้าง ทางปฏิกูลสัญญาบ้าง ทางธาตุบ้าง ตามแต่ความถนัดของแต่ละท่าน.. จะพิจารณาแยบคายในทางใด อย่างน้อยประมาณหนึ่งนาทีขึ้นไป แล้วค่อยเริ่มลงมือฉันด้วยท่าสำรวมและมีสติประจำตัวในการขบฉัน.. มีสติระวังการบดเคี้ยวอาหารไปทุกระยะ ไม่ให้มีเสียงดังกรอบแกรบ มูมมาม ซึ่งเสียมารยาทในการฉัน และเป็นลักษณะของความเผลอเรอและตะกละตะกราม ตามองลงในบาตร.. ทำความสำคัญอยู่ในบาตรด้วยความมีสติ ไม่เหม่อมองสิ่งนั้นสิ่งนี้ในเวลาฉัน อันเป็นลักษณะของความลืมตัวขาดสติ... โดยสังเกตระหว่างจิตกับอาหารที่เข้าไปสัมผัสกับชิวหาประสาท และธาตุขันธ์ในเวลากำลังเคี้ยวกลืน ไม่ให้จิตกำเริบลำพองไปตามรสอาหารชนิดต่าง ๆ ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-09-2020 เมื่อ 01:45 |
สมาชิก 11 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#632
|
|||
|
|||
ฉันพอประมาณ เลือกอาหารสัปปายะ
“...ได้อะไรมาจากบิณฑบาตก็ฉันพอยังอัตภาพให้เป็นไป ไม่พอกพูนส่งเสริมกำลังทางกายให้มาก อันเป็นข้าศึกต่อความเพียรทางใจให้ก้าวไปได้ยาก การฉันหนเดียวก็ควรฉันพอประมาณ ไม่มากเกินจนท้องอืดเฟ้อย่อยไม่ทัน เพราะเหลือกำลังของไฟในกองธาตุจะย่อยได้ ความอดความหิวถือเป็นเรื่องธรรมดาของผู้พิจารณาธรรมทั้งหลาย เพื่อความสิ้นทุกข์โดยไม่เหลือ นอกจากฉันหนเดียวแล้วยังสังเกตอาหารอีกด้วยว่า อาหารชนิดใดเป็นคุณแก่ร่างกาย ไม่ทำให้ท้องเสีย และเป็นคุณแก่จิต ภาวนาสะดวก จิตไม่มัวหมองเพราะพิษอาหารเข้าไปทำลาย เช่น เผ็ดมากเกินไป เค็มมากเกินไป ซึ่งทำให้ออกร้อนภายในท้อง ก่อความกังวลแก่จิตใจ ไม่เป็นอันทำความเพียรได้สะดวก เพราะกายกับใจเป็นสิ่งเกี่ยวเนื่องกัน และกระเทือนถึงกันได้เร็ว ท่านจึงสอนให้เลือกอาหารที่เป็นสัปปายะ ซึ่งเป็นคุณแก่ร่างกายและจิตใจถ้าพอเลือกได้ ถ้าเลือกไม่ได้แต่ทราบอยู่ว่าอาหารนี้ไม่เป็นสัปปายะก็งดเสียดีกว่า ฝืนฉันลงไปแล้วเกิดโทษแก่ร่างกาย ทำความทุกข์กังวลแก่จิตใจ ผู้ฉันหนเดียวมักทำความรู้สึกตัวได้ดี ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมในรสอาหารชนิดต่าง ๆ ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-09-2020 เมื่อ 01:46 |
สมาชิก 13 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#633
|
|||
|
|||
ห้ามฉันเนื้อ ๑๐ อย่าง และเนื้อเจาะจงอีก ๓
“...เราเป็นผู้ปฏิบัติศีลธรรม.. ไม่ปฏิบัติผิดจะเป็นอะไรไป เราเป็นผู้ขอทาน เขาให้อะไรมาก็กินไปตามเรื่องตามราวเท่านั้นเอง ไม่เป็นการรบกวนเขาให้ยุ่งเหยิงวุ่นวาย อันนี้เป็นเรื่องของโลกเขาเป็นมาตั้งแต่ดั้งเดิม ห้ามอะไรเขาไม่ได้ เรื่องเนื้อ ๑๐ อย่างที่ไม่ให้ฉัน พระองค์ก็ทรงบัญญัติไว้แล้ว นับตั้งแต่เนื้อมนุษย์ แน่ะ..ฟังซิ พระองค์ก็ไม่ให้ฉัน เนื้อหมา เนื้อม้า เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เสือเหลือง เสือดาว เนื้องู เนื้อหมี เนื้อช้าง นี่..เนื้อเหล่านี้ห้ามหมดแล้ว ที่ห้ามก็ห้ามแล้วนี่ แล้วก็ยังมีอุทิสสมังสะ คือเนื้อที่เขาเจาะจงอีก ๓ อย่าง เนื้อเจาะจงเป็นยังไง เขาไปฆ่ามาเพื่อถวายพระ พระเห็นอยู่ไม่ควรฉัน เห็นเขาเอาอาวุธชนิดนี้ไป แล้วได้สัตว์ชนิดนั้นมาตรงกับอาวุธชนิดนี้ เช่น ได้แหเอาไปทอดปลานี้ แล้ววันหลังเขาเอาปลานี้มาถวาย คงเป็นเหมือนกับว่าเขาไปทอดแหเอาปลานี้เพื่อมาให้พระฉัน เมื่อสงสัยอยู่ก็ไม่ควรรับ เมื่อสงสัยอยู่ได้ยินเขาว่างั้นก็ไม่ฉัน หรือเนื้อสด ๆ ร้อน องค์ใดสงสัยอย่าฉัน แน่ะ..ท่านก็บอกอยู่แล้ว องค์ไหนไม่สงสัยก็ฉันได้ บอกชัดเจนอยู่แล้วนี่ ท่านก็บอกไว้แล้วที่ห้ามฉัน ฉันนั้นเป็นอาบัตินั้น ๆ ฉันเนื้อมนุษย์เป็นอาบัติถุลลัจจัย ก็บอกไว้หมด จากนั้นก็ห้ามเนื้ออุทิสสมังสะ ที่เขาเจาะจงบอกไว้แล้ว แม้เช่นนั้นองค์ไหนไม่รู้ไม่เห็นก็ฉันได้..บอกไว้อีก...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-09-2020 เมื่อ 01:48 |
สมาชิก 10 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#634
|
|||
|
|||
กาลิกระคนกัน
“...ไปบิณฑบาตกับท่าน (หลวงปู่มั่น) เขาเอาน้ำตาลงบใส่มาให้ น้ำตาลงบ.. หลักพระวินัยมีนี่ กาลิกระคนกัน ไม่ระคนกัน บอก..เช่นน้ำตาล ถ้านำมาผสมกับข้าว อายุได้แค่ข้าวเท่านั้น จากเช้ายันเที่ยง.. น้ำตาลที่นี่จะหมดอายุถ้าเปื้อนข้าวนะ ถ้าไม่เปื้อนข้าว.. น้ำตาลนี่จะเก็บไว้ได้ตามกาล คือ ๗ วัน คือฉันได้ในเวลาวิกาลตลอดอายุ ๗ วันของมัน ถ้าผสมกับข้าวแล้วจะได้เพียงถึงเที่ยงเท่านั้น เรายกตัวอย่างเฉพาะอันเดียวนะ กาลิกนี่มีถึงสี่กาลิก ยาวกาลิก ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และยาวชีวิก ยาวกาลิก คือประเภทอาหาร รับประเคนแล้ว.. พอถึงเที่ยงหมดอายุแล้ว เอามาฉันอีกไม่ได้ ฉะนั้น..ถ้าเลยหลังฉันแล้ว อาหารมาจริง ๆ พระจึงไม่รับประเคน มีข้อพระวินัยอยู่ ส่วนยามกาลิก ได้ชั่ว ๒๔ ชั่วโมงเป็นอย่างมาก คือพวกน้ำอัฏฐบาน ส่วนสัตตาหกาลิก พวกน้ำอ้อย น้ำตาล เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง อันนี้เมื่อไม่ประเคนกับอาหารประเภทที่อายุสั้น ก็ฉันได้ตามกาลของมัน คือ ๗ วันจึงหมดอายุ เมื่อหมดอายุแล้วต้องเสียสละไปเลยนะ มายุ่งอีกไม่ได้ ส่วนยาวชีวิกนั้นเป็นพวกยา ฉันได้ตลอดกาลของมัน คือจนกระทั่งหมด ยาวชีวิกคือตลอดชีวิตของยานั้น...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-09-2020 เมื่อ 01:49 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#635
|
|||
|
|||
ฉันชามน้อย..ผ้าหลุด รสอาหารเหยียบธรรม
“...มองไป โห..ซดกันเป็นแถวในชามน้อย ๆ ในวัด...แล้วกัน มันเป็นหลักปฏิบัติอันหนึ่งแล้วนี่ นึกในใจ จนกระทั่งไปถึงเณรน้อย เราไปดู..ไม่เห็นเวลาเราไปดู มัวแต่รสเหยียบหัวใจอยู่นั่น รสอะไร ? รสอาหารเหยียบเอา รสธรรมเลยขึ้นไม่ได้ซิ ตาย..พินาศฉิบหายหมด รสอาหารมันเหยียบ รสลิ้นมันไปเหยียบ รสอาหารเข้าไปเหยียบลิ้น รสลิ้นก็เหยียบธรรม แหลกกระจัดกระจายไม่มีเหลือ จึงได้เตือน จะแก้ไข ไม่แก้ไขยังไง ก็บอกทุกคนแล้วนี่ ... แล้วเวลาฉันจังหันก็ผ้าหลุดลุ่ยลงมานี่ มัวแต่เพลินกับรสเท่านั้น ผ้าหลุดลงไปก็ไม่เห็น ไม่สนใจ ดูไป ๆ กลัวจะบกพร่อง กลัวจะเผลอเนื้อเผลอตัวอะไร จึงได้ไปดู ๆ แล้วเป็นยังไง นาน ๆ ดูทีหนึ่ง ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-09-2020 เมื่อ 01:51 |
สมาชิก 13 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#636
|
|||
|
|||
ขนาดบาตรเพื่อการธุดงค์
“...บาตรพระกรรมฐานสายท่านอาจารย์มั่น รู้สึกว่าจะมีขนาดกลางและขนาดใหญ่เป็นส่วนมาก ทั้งนี้เนื่องจากท่านชอบเที่ยวธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ ตามป่าตามภูเขาประจำนิสัย.. บริขารจำเป็นที่ควรนำติดตัวไปด้วยในเวลาออกเที่ยวธุดงค์นั้นไม่มีมาก มีเพียงบาตร สังฆาฏิ จีวร สบง ผ้าอาบน้ำ กลด มุ้ง กาน้ำ เครื่องกรองน้ำ มีดโกน รองเท้า เทียนไขบ้างเล็กน้อย และโคมไฟที่เย็บหุ้มด้วยผ้าขาวสำหรับจุดเทียนเดินจงกรมทำความเพียร ... บริขารบางอย่าง เช่น ผ้าสังฆาฏิ มุ้ง มีดโกน เทียนไข และโคมไฟ ท่านชอบใส่ลงในบาตร ดังนั้น บาตรพระธุดงค์ จึงมักใหญ่ผิดธรรมดาบาตรทั้งหลายที่ใช้กัน เพราะว่าจำต้องใส่บริขารเพื่อความสะดวกในเวลาเดินทาง พอบาตรเต็มบริขารก็หมดพอดี .. บาตรที่มีขนาดใหญ่ เวลาฉันจังหันก็สะดวก เพราะว่าท่านฉันสำรวมในบาตรใบเดียว มีคาวมีหวานท่านรวมลงในบาตรทั้งสิ้น...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-09-2020 เมื่อ 04:38 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#637
|
|||
|
|||
การรักษาบาตร
“...การปฏิบัติต่อบาตร วิธีวางบาตร วิธีล้างบาตร วิธีเช็ดบาตร และวิธีรักษาบาตร... พอฉันเสร็จก็ล้างและเช็ดบาตรให้สะอาดปราศจากลิ่นอาย การล้างบาตรอย่างน้อยต้องล้างถึงสามน้ำ เมื่อเช็ดแห้งแล้วถ้ามีแดดก็ผึ่งครู่หนึ่ง แล้วเก็บไว้ในที่ควร ถ้าอากาศแจ่มใสฝนไม่ตก ก็เปิดฝาไว้เพื่อให้หายกลิ่นที่อาจค้างอยู่ภายใน การรักษาบาตร ท่านรักษาอย่างเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ คนไม่เคยล้าง ไม่เคยเช็ด และไม่เคยรักษาบาตร ท่านไม่อาจมอบบาตรให้อย่างง่ายดาย เพราะกลัวว่าบาตรจะขึ้นสนิม กลัวว่าจะวางไว้ในที่ไม่ปลอดภัย กลัวว่าบาตรจะกระทบของแข็งและกลัวตกลงถูกอะไร ๆ แตกหรือบุบแล้วเกิดสนิมในวาระต่อไป เมื่อเกิดสนิมแล้วต้องขัดใหม่หมดทั้งลูกทั้งข้างนอกข้างใน แล้วระบมด้วยไฟอีกถึงห้าไฟตามพระวินัยจึงจะใช้ได้ต่อไป ซึ่งเป็นความลำบากมากมาย ท่านจึงรักสงวนบาตรมากกว่าบริขารอื่น ๆ ไม่ยอมปล่อยมือให้ใครง่าย ๆ ...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-09-2020 เมื่อ 04:39 |
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#638
|
|||
|
|||
กัปปิยภัณฑ์
“...บางทีเขาเอาปล้าร้าห่อใส่บาตรให้.. กลับพอไปถึงถ้ำ ปลาร้าเป็นปลาร้าดิบและไม่มีญาติโยมสักคน ก็ต้องเอาออก ไม่ได้กิน ภาษาทางภาคนี้เขาเรียกหมากแงว (หมากไฟ) นี่ หมากแงวอย่างอยู่หน้าศาลานี่ เขาเอามาให้กินจะกินได้ยังไง อม ๆ แล้วก็คายทิ้ง เพราะไม่ได้กัปปิยะ มะไฟก็อม ๆ สักลูกสองลูกบ้าง แล้วก็ได้ทิ้งพอรำคาญนี่นะ อมเดี๋ยวมันจะลงคอไป ไม่ได้กัปปิยะก่อน ... กัปปิยภัณฑ์ คือสิ่งจำเป็นที่จะซื้อจะหามาสำหรับพระ แต่พระตถาคตไม่อนุญาตให้พระรับเองหรือเขารับไว้ก็ดี ถ้ามีความยินดีต่อการรับเงินรับทองนั้นปรับอาบัติอีก คือไม่ให้ยินดีในเงินในทอง ให้ยินดีในกัปปิยภัณฑ์ต่างหาก กัปปิยภัณฑ์ที่เงินทองจะแลกเปลี่ยนมา.. ให้ยินดีทางโน้นต่างหาก ไม่ให้มายินดีในเงินทอง นี่เป็นข้อผ่อนผัน ... เพียงปัจจัยเครื่องอาศัยเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ท่านให้ระมัดระวังรักษาเอาอย่างมากมาย ดังเราทั้งหลายได้เห็นแล้วในพระวินัยของพระเป็นอย่างไร ในธรรมชาติอันนี้ท่านเข้มงวดกวดขันอย่างไรบ้าง ถึงขนาดที่ต้องสละในท่ามกลางสงฆ์ เป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อไร พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตไว้โดยความมีข้อแม้ ให้ถือเป็นความจำเป็นเพียงกัปปิยภัณฑ์ ไม่จำเป็นในเงินในทอง อย่ายินดีในเงินในทอง ถ้ายินดีอย่างนี้แล้วปรับโทษปรับอาบัติอีก...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-09-2020 เมื่อ 04:41 |
สมาชิก 10 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#639
|
|||
|
|||
เงินทองตกหล่นในวัด
“...ความละเอียดลออของธรรมวินัยพระพุทธเจ้า ตามธรรมดาท่านห้ามจับเงินและทอง ห้าม.. ห้ามเด็ดขาด แต่ทีนี้เมื่อเวลามีสมบัติเงินทองของมีค่ามาตกอยู่ในวัดต้องจับต้องเก็บ ไม่เก็บไม่ได้.. ปรับโทษพระ ตามธรรมดาจับต้องไม่ได้ เมื่อเห็นของมีค่าของผู้ใดก็ตามมาตกอยู่ในสถานที่รับผิดชอบของพระ พระต้องเก็บและโฆษณาหาเจ้าของ ถ้าโฆษณาหาเจ้าของไม่ได้.. หมด เรียกว่าหมดความสามารถแล้ว เอาปัจจัยเอาสมบัติอันนี้ไปแลกเปลี่ยนกัน เอามาทำประโยชน์ส่วนรวมไว้ในวัด เวลาเขามาถามมันสุดวิสัยแล้วก็ชี้บอก นี่..ทำไว้แล้วศาลาหลังนี้ นั่นพระวินัย ถ้าธรรมดาจับไม่ได้ ถ้าตกอยู่ในวัดหรือในบริเวณรับผิดชอบของพระต้องเก็บ ไม่เก็บไม่ได้ ปรับโทษพระ แน่ะ..เป็นอย่างนั้นละ จับแล้วโฆษณาหาเจ้าของไม่มีแล้ว ก็เอาของนี้ที่เป็นของมีค่าไปซื้ออะไรแลกเปลี่ยน.. มาสร้างสาธารณประโยชน์ขึ้นในสถานที่นั่น เป็นอย่างนั้น..พระวินัยของพระท่านสอนอย่างนั้น...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-09-2020 เมื่อ 15:37 |
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#640
|
|||
|
|||
ออกพรรษาแล้วเที่ยวธุดงค์
“...พอออกพรรษาแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นจึงชอบออกเที่ยวธุดงค์ทุก ๆ ปี โดยเที่ยวไปตามป่าตามภูเขาที่มีหมู่บ้านพอได้อาศัยโคจรบิณฑบาต ... นำพระเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านด้วยบทธรรมหมวดต่าง ๆ คือสอนวิธีครองผ้าและท่าสำรวมในเวลาเข้าบิณฑบาต ไม่ให้มองโน่นมองนี่อันเป็นกิริยาของคนไม่มีสติอยู่กับตัว แต่ให้มองในท่าสำรวมและสงบเสงี่ยม มีสติทุกระยะที่ก้าวไปและถอยกลับ ใจรำพึงในธรรมที่เคยบำเพ็ญมาประจำนิสัย ที่โคจรบิณฑบาตถ้ามีหมู่บ้านราว ๔ – ๕ หลังคาเรือน หรือ ๘ – ๙ หลังคา ก็พอเป็นไปสำหรับพระธุดงค์เพียงองค์เดียว ไม่ลำบากอะไรเลย ตามปกติพระธุดงค์กรรมฐานไม่ค่อยกังวลกับอาหารคาวหวานอะไรนัก บิณฑบาตได้อะไรมาท่านก็สะดวกไปเลย แม้ได้เฉพาะข้าวเปล่า ๆ ไม่มีกับเลย ท่านยังสะดวกไปเป็นวัน ๆ เพราะเคยอดเคยอิ่มมาแล้วจนเคยชิน...” แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-09-2020 เมื่อ 15:38 |
สมาชิก 8 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 16 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 16 คน ) | |
|
|